ศิลปะเรียลลิสม์ (Realism)

โดย โสมนัส ไชยา

ศิลปะเรียลลิสม์เกิดขึ้นประมาณกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 จนถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 (ค.ศ. 1850-1880) มีจุดเริ่มต้นในประเทศฝรั่งเศส โดยกลุ่มศิลปินชาวฝรั่งเศสกลุ่มหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการทํางานของกลุ่ม "นีโอ-คลาสสิคอิสม์" (คลาสสิคใหม่ คือความเคลื่อนไหวทางศิลปะซึ่งมีสุนทรียภาพแบบกรีกและโรมัน) และ "กลุ่มโรแมนติกอิสม์" (จินตนิยม) ที่ยึดถือประเพณีหรือตัวตนเป็นหลัก หรือแสดงความคิดฝันเอาตามใจตนเอง ศิลปินเรียลลิสม์เห็นว่าศิลปะทั้งสองไม่ได้แสดงความกลมกลืนของชีวิต ยังคงลักษณะความเป็นอุดมคติอยู่ หาใช่ความจริงไม่

"The Interior of My Studio A Real Allegory" 1856 AD.
จิตรกรรมสีน้ำมันบนผ้าใบ
โดย กูร์แแบร์ (Gustave Courbet)
เป็นภาพภายในสตูดิโอเขียนภาพของตนเอง

ศิลปะเรียลลิสม์ (Realism) หรือ ศิลปะสัจนิยม โดยทั่วไปหมายถึง การสร้างงานที่เหมือนจริงดังที่ปรากฏอยู่ในธรรมชาติ รวมถึง การสร้างสรรค์ภาพงานในเชิงวิพากษ์วิจารณ์สังคม (socially critical images) ภาพเกี่ยวกับชีวิตของคนเมืองและชนบท พวกชาวไร่ชาวนาในช่วงยุคสมัย จากประสบการณ์ตรงของชีวิต เช่น ความยากจน การปฏิวัติ ความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยการเน้นรายละเอียดเหมือนจริงมากที่สุด

โดยลักษณะผลงานการแสดงออกที่สำคัญของแบบอย่างศิลปะเรียลลิสต์ คือ

1. มีรูปแบบและการแสดงออกอย่างเหมือนจริง เน้น ความจริงที่ศิลปิน ในอดีตเคยรังเกียจ โดยกล่าวหาว่าเป็นสิ่งสามัญและเป็นของพื้น ๆ ปราศจากคุณค่า ทางความงาม เช่น สภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชนชั้นต่ำ ผู้ยากไร้ หรือสภาพอาคาร ที่อยู่อาศัยอันซอมซ่อ

2 . นำเสนอความจริงในทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์มากกว่า เน้นการแสดง เรื่องราวเนื้อหา ความงามในธรรมชาติหรือความงามที่เกินจริงแบบอุดมคติ

ทั้งนี้ ศิลปะเรียลลิสม์ในเวลาต่อมาได้ให้แนวทางกับศิลปะอิมเพรสชั่นนิสม์ กล่าวคือ ศิลปินเริ่มเรียนรู้แสงสีประกอบในวัตถุ รู้จักสังเกตแสงสีตามบรรยากาศต่างๆจากภาพที่เกิดจากความจริง ซึ่งศิลปินสำคัญในกลุ่มนี้ ได้แก่ โดเมียร์ (Daumier) ชอบวาดรูปชีวิตจริงของความยากจน คูร์เบต์ (Courbet) ชอบวาดรูปชีวิตประจำวันและประชดสังคม มาเนต์ (Manet) ชอบวาดรูปชีวิตในสังคมเช่นการประกอบอาชีพ เป็นต้น

ผลพวงจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมได้สร้างปัญหาแก่สังคมและเศรษฐกิจมากมาย มีคนจน ชนชั้นกรรมาชีพเพิ่มขึ้น ศิลปินเรียลลิสม์ต้องการนําเสนอปัญหาในงานศิลปะ เพื่อนําความจริงตีแผ่ให้เพื่อนมนุษย์ได้รับรู้ โดยมักปฏิเสธเรื่องราวเกี่ยวกับคนชั้นสูงหรือคนรวย แต่เลือกสะท้อนภาพความลำบากของชนชั้นล่าง แสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมตามพันธกิจซึ่งพวกเขาเห็นว่าภาระหน้าที่ของศิลปินคือการถ่ายทอดเรื่องราวที่สอดคล้องกับสภาพสังคม และสอดคล้องกับชีวิตความเป็นอยู่ร่วมสมัย

อ้างอิง

รู้ไปโม้ด.( 2551). เรียลลิสม์. สืบค้นเมื่อ 29 มกราคม 2557, จาก http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TURONWIzVXdNekF6TURNMU1RPT0=&sectionid=Y25Wd1lXbHRiMlJs&day=TWpBd09DMHdNeTB3TXc9PQ==.

Art by heart.ศิลปะแบบเรียลลิสม์ (Realism). สืบค้นเมื่อ 29 มกราคม 2557, จาก http://writer.dek-d.com/art-is-art/story/viewlongc.php?id=636863&chapter=3.

ศศิธร เฑียรเดชสกุล. ( 2552, 28 พฤศจิกายน).ศิลปะแบบเรียลิสม์. สืบค้นเมื่อ 29 มกราคม 2557, จาก http://www.thaigoodview.com/node/49382.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น