ศิลปกรรมลัทธินีโอ – อิมเพลสชั่นนิสม์ (Neo- Impressionism)

โดย พชรพรรณ ประเสริฐศรี

ในการเขียนงานจิตรกรรมในยุคสมัยใหม่ มีวิธีการเขียนที่หลากหลาย แต่ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดจากการเขียนจิตรกรรมในแบบนีโอ-อิมเพลสชั่นนิสม์ คือ จิตรกรรมในลักษณะนี้ใช้เพียงปลายพู่กัน!!!

ลัทธินีโอ-อิมเพลสชั่นนิสม์เริ่มมีบทบาทหลังจากที่ศิลปะแบบอิมเพลสชั่นนิสม์ลดบทบาทลง โดยผู้นำของลัทธินี้คือเซอราท์กับซียัค

แนวคิดในการสร้างศิลปะแบบนีโอ-อิมเพลสชั่นนิสม์มาจากแนวคิดทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องแสง (ซึ่งเป็นอนุภาค) เป็นที่มาของงานเขียนในลักษณะการแต้มเป็นจุด โดยการใช้สีในการเขียนงานจิตรกรรมจะไม่ใช้วิธีการผสมสีบนจานสี แต่จะใช้วิธีแต้มสีที่ปลายพู่กันสีหนึ่งแล้วไปแต้มกับสีอีกสีหนึ่ง  แล้วจะได้สีที่ผสมกันในสายตาของผู้ดู วิธีการดังกล่าวเกิดจากแนวคิดที่ว่า การผสมสีในดวงตาจะได้ความสว่างสดใสมากกว่าการผสมสีบนจานสี

ลักษณะของวิธีการเขียนงานจิตรกรรมจะเขียนโดยการแต้มเป็นจุดขนาดเล็กด้วยสีที่สดใสและไม่มีการเกลี่ยสีนั้น ทำให้ลักษณะการเขียนงานจิตรกรรมเช่นนี้ถูกเรียกว่า ลัทธิจุดสี หรือ Pointillism หรือ Divisionism

การเขียนงานจิตรกรรมในลัทธิจุดสีนี้ต่างจากการเขียนงานจิตรกรรมของลัทธิอิมเพลสชั่นนิสม์ ดังนี้

1.ในการเขียนงานจิตรกรรมของลัทธิจุดสีจะใช้พู่กันแต้มสีให้เป็นจุดซึ่งจะได้สีที่มีความสว่างชัดเจน ส่วนลัทธิอิมเพลสชั่นนิสม์จะใช้รอยพู่กัน  ฝีแปรงหยาบ และไม่มีการเกลี่ยสี

2.ลัทธิจุดสีจะเน้นรูปทรงวัตถุบนพื้นภาพ มากกว่าลัทธิอิมเพลสชั่นนิสม์  การปรับรูปทรงของลัทธิจุดสีเป็นการปรับรูปทรงที่มองเห็นตามธรรมชาติให้เป็นโครงสร้างที่ง่ายขึ้น โดยมีการนำโครงสร้างเรขาคณิตมาช่วยด้วยเล็กน้อย การปรับโครงสร้างดังกล่าวจึงช่วยให้การระบายสีแบบแต้มจุดง่ายขึ้น หรืออาจจะช่วยให้ภาพมีความซับซ้อนขึ้นได้

ศิลปินที่มีชื่อเสียงในลัทธินีโอ-อิมเพลสชั่นนิสม์

1.จอร์จปีแอร์ เซอราท์ ในตอนแรกเริ่ม เซอราท์เขียนงานจิตรกรรมในแบบอิมเพลสชั่นนิสม์ แต่เนื่องจากเซอราท์ศึกษาศิลปกรรมควบคู่กับการค้นคว้าเกี่ยวกับทฤษฎีของแสง ทำให้เขาเกิดแนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงานในแบบนีโอ-อิมเพลสชั่นนิสม์ขึ้น โดยศิลปะแบบนีโออิมเพลสชั่นนิสม์ของเซอราท์ทำให้ซียัคและปิสซาร์โรเกิดความสนใจและได้วาดภาพในแบบนีโอ-อิมเพลสชั่นนิมส์


Sunday Afternoon on the Island of La Grande Jette,1884-1886

2.พอล ซียัค จิตรกรชาวฝรั่งเศส ที่มีความเฉลียวฉลาดและมีความเพียรพยายามสูง ซียัคเริ่มเขียนงานจิตรกรรมในแบบอิมเพลสชั่นนิสม์ ต่อมาเมื่อเขาพบกับ เซอราท์ เขาจึงได้เปลี่ยนแนวจิตรกรรมมาเป็นแบบ นีโอ-อิมเพลสชั่นนิสม์  และซียัคยังกลายเป็นบุคคลสำคัญในการเผยแพร่ทฤษฎีและหลักการของลัทธินีโออิมเพลสชั่นนิสม์


Port- marseille

3.คามิลล์ ปีสซาโร จิตรกรชาวฝรั่งเศส ปีสซาโรศึกษาศิลปะและเริ่มเขียนภาพตั้งแต่อายุ 11 ปี โดยเขาเริ่มเขียนภาพในลักษณะอิมเพลสชั่นนิสม์และเป็นแกนนำของลัทธิอิมเพลสชั่นนิสม์ ภายหลังปีสซาโรได้เปลี่ยนแนวจิตรกรรมมาเป็นแบบนีโอ-อิมเพลสชั่นนิสม์


The Boulevard Montmatre on a Winter Morning

สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าจะเป็นงานจิตรกรรมชิ้นไหน หรือใช้วิธีการเขียนในลักษณะใด ผลงานทุกชิ้นที่จิตรกรทุกท่านเขียนขึ้นจากความคิด ความสุข และความตั้งใจของพวกเขา ล้วนแล้วแต่มีค่าไม่แพ้เงินตราเลยทีเดียว

อ้างอิง

ป้องชาติ ประเสริฐยิ่ง.ประวัติศาสตร์ศิลปะ.2550. ค้นข้อมูลเมื่อ 28 มกราคม 2557 จาก http://knowledge.eduzones.com/knowledge-2-12-43185.html

Tlemovie.ศิลปกรรมลัทธินีโออิมเพลสชั่นนิมส์ Neo – Impressionism Art.2551. ค้นข้อมูลเมื่อ 28 มกราคม 2557 จาก http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=tlemovie&group=5


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น