จิ๋นซีฮ่องเต้ จักรพรรดิผู้รวมแผ่นดินจีนเป็นหนึ่งเดียว

โดย นิภาวัลย์  แซ่ปึง

ทุกยุคสมัย ทุกๆพื้นที่บนโลก หากมีการอยู่ร่วมกันของกลุ่มชน ซึ่งเป็นบุคคลต่างครอบครัว ต่างถิ่นฐานมาอยู่ร่วมกันบนผืนดินอาณาเขตเดียวกันแล้ว ต่างจำเป็นต้องมีผู้นำซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มชนนั้น แต่ผู้นำจะเป็นบุคคลที่แสนเฉลียวฉลาด สร้างความเข้มแข็งให้กับพี่น้องเผ่าพันธุ์ตน หรือเป็นบุคคลแสนเลวที่นำพาเผ่าพันธุ์ไปสู่จุดมืดมนนั้นก็แตกต่างกันไป เช่นเดียวกับ บุคคลในตำนานผู้ยิ่งใหญ่ของแผ่นดินจีน ซึ่งมีนามว่า “จิ๋นซีฮ่องเต้” จักรพรรดิแห่งราชวงศ์ฉิน

ฉินอ๋อง(จิ๋นซีฮ่องเต้) ไม่มีข้อมูลแน่ชัดเกี่ยวกับประวัติการประสูติของพระองค์ แต่ได้รับการสันนิษฐานว่าพระองค์ประสูติเมื่อเดือนพฤศจิกายน/ธันวาคม พ.ศ. 283 และสวรรคตเมื่อ กันยายน พ.ศ. 333ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลยืนยันแน่ชัดว่าพระองค์เป็นบุตรของใคร แต่เชื่อว่าน่าจะเป็นบุตรของเสนาบดีคนสำคัญของแคว้นฉิน ชื่อ หลี่ปู้เหว่ย กับมารดาที่เป็นนางสนมชื่อ เจ้าจี

ฉินอ๋อง(จิ๋นซีฮ่องเต้) สืบบัลลังก์ตั้งแต่พระองค์อายุเพียง 14 ปี แต่ก็ทรงเป็นอ๋องพระองค์แรกที่สามารถรวบรวมแผ่นดินจีนที่แตกแยกเป็นแว่นแคว้น ต่างภาษา ต่างแนวคิด ต่างขนบธรรมเนียมประเพณีให้สามารถเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว และทรงสถาปนาพระองค์เองให้เป็นจักรพรรดิ(ฮ่องเต้- 始皇) องค์แรกของแผ่นดินจีน โดยการรวมแผ่นดินให้เป็นปึกแผ่นในครั้งนี้พระองค์ทรงใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จ คือรวมอำนาจทั้งหมดไว้ที่ศูนย์กลาง มีความเด็ดขาดและรุนแรงส่งผลให้ต้องเกิดความสูญเสียเป็นอย่างมาก


ที่มา : http://www.samkok911.com/

มาตรการการรวมแผ่นดินของจิ๋นซีฮ่องเต้ อาทิ การใช้กำลังทางทหารในการโจมตีเมืองต่างๆเพื่อรวบรวมให้เป็นประเทศเดียวกัน การเผาตำราและประหารนักปราชญ์ที่คัดค้านการกระทำของพระองค์ เพื่อให้ทุกคนมีแนวคิด แนวปฏิบัติไปในทางเดียวกัน เพราะการรวมประเทศให้เป็นหนึ่งเดียวหากทุกคนมีความคิดที่แตกต่างและมีสิทธิ์การวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างเสรี ก็จะเกิดความขัดแย้งทะเลาะเบาะแว้งกันไม่จบสิ้นและจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไม่ได้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ประเทศจีนมีภาษาจีนและใช้เงินตราแบบเดียวกันจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้พระองค์ยังริเริ่มสร้างสิ่งมหัศจรรย์ของโลกในปัจจุบัน ซึ่งทำให้ประเทศจีนเป็นที่ กล่าวขานเลื่องลือและเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก คือ กำแพงเมืองจีน หรือ กำแพงหมื่นลี้ (长城 )ซึ่งเป็นการเกณฑ์ชาวบ้านและเชลยศึกไปสร้างกำแพงนี้ เพื่อรักษาอาณาเขตและป้องกันชนเผ่าจากทางเหนือ การก่อสร้างครั้งนี้ได้สูญเสียชีวิตมนุษย์ไปเป็นจำนวนมากและนอกจากนี้ยังทรงสร้างสุสานอันยิ่งใหญ่ ที่เมืองซีอานในปัจจุบันซึ่งเป็นเมืองหลวงในสมัยนั้นไว้เป็นปริศนาให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาและไขความเป็นจริงต่อไป



ที่มา : http://www.soccersuck.com/

แต่ทุกอย่างเมื่อมีจุดเริ่มต้นก็ย่อมมีจุดจบ ความยิ่งใหญ่ของราชวงศ์ฉินเองก็ไม่สามารถหลุดพ้นจากกฎนี้ไปได้ หลังจากจิ๋นซีฮ่องเต้สวรรคตเพียง 3 ปี ราชวงศ์ฉินก็เสื่อมลงเพราะความโหดร้ายทารุณและความเป็นเผด็จการของจักรพรรดิจิ๋นซีเอง และกษัตริย์ซึ่งเป็นทายาทของพระองค์ในสมัยต่อมาไร้ความสามารถ รวมทั้งถูกหักหลังจากคนสนิท จึงทำให้เกิดการปฏิวัติของชาวนาภายใต้การนำของ เล่าปัง ที่เรียกว่า “กบฏชาวนา” ขึ้น ดังนั้นความคาดหวังของจักรพรรดิจิ๋นซีที่จะให้ราชวงศ์ฉินมีทายาทเป็นฮ่องเต้สืบทอดราชวงศ์ฉินต่อจากพระองค์ไปอีกเป็นหมื่นรุ่น ก็มิอาจจะเป็นจริงได้.

การรวบรวมแผ่นดินให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย การสูญเสียและความอยุติธรรมนั้นคือสิ่งที่มักเกิดขึ้นอยู่เป็นนิจ เพราะก่อนจะเกิดความสมบูรณ์แบบย่อมต้องมีผู้เสียสละเสมอ แต่การเสียสละครั้งนั้นได้มาด้วยความสำเร็จและความยิ่งใหญ่เพียงใดนั้น คือสิ่งที่ จิ๋นซีฮ่องเต้ บุคคลผู้เป็นทั้งทรราชที่ผู้คนสาปแช่งและเป็นบุคคลที่ผู้คนให้ความเคารพนับถืออย่างล้นหลาม ได้สอนให้เราทุกคนได้รู้ว่า การจะลงมือทำงานใหญ่ ต้องใจแข็ง เกิดประโยชน์และไม่สูญเปล่า  แม้จะใช้เวลาไม่ถึง 12 ปี แต่ได้วางรากฐานสำคัญให้กับชาวจีนตราบจนปัจจุบัน.


อ้างอิง

นงนุช สมิทธิ์เมธีรักษ์. ประวัติจิ๋นซีฮ่องเต้. (2550). สืบค้นเมื่อ 20 กันยายน 2558, จาก : http://knowledge.eduzones.com/knowledge-2-4-43957.html

ประวัติของจิ๋นซีฮ่องเต้. (2553). สืบค้นเมื่อ 20 กันยายน 2558, จาก : http://board.postjung.com/488928.html

ษณอนงค์ คำแสนหวี. สาระจากเมืองมังกร. (2556). สืบค้นเมื่อ 20 กันยายน 2558, จาก : http://www.sana-anong.com/v4/dragon_city_detail.php?id=43&page=4

秦朝. (2558). สืบค้นเมื่อ 20 กันยายน 2558, จาก : https://zh.wikipedia.org/wiki/%E7%A7%A6%E6%9C%9D







อ่านเพิ่มเติม »

กบฏโพกผ้าเหลือง

โดย ณัฐภัทร ทักษิณสิทธิ์

เมื่อกล่าวถึงประเทศจีน เราก็จะทราบดีว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดขึ้นอยู่เสมอ ทั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการปกครอง โดยการปกครองต้องมีผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง และจะมีทั้งกลุ่มผู้ที่ชื่นชอบ และกลุ่มผู้ที่ไม่ชอบในการปกครองนั้น ซึ่งพร้อมที่จะต่อต้านผู้ปกครองอยู่เสมอ ดังที่ปรากฏออกมาให้เราได้ยินอยู่บ่อยๆในนามว่า “กบฏ” กบฏมีอยู่ให้เห็นในทุกอารยธรรม ทุกยุคสมัย และกบฏที่มีชื่อเสียงโด่งดังในสมัยประวัติศาสตร์จีน เช่น กบฏไท่ผิง กบฏนักมวย กบฏโพกผ้าเหลือง เป็นต้น

กบฏโพกผ้าเหลือง เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 184 – ค.ศ. 205 ตรงกับสมัยจักรพรรดิเลนเต้(รัชกาลที่ 24 แห่งราชวงศ์ฮั่น ค.ศ. 168 – ค.ศ. 189) เป็นจุดกำเนิดให้แผ่นดินจีนเข้าสู่ยุคแห่งการแตกแยก มีจุดประสงค์เพื่อล้มล้างราชวงศ์ฮั่น สร้างความโกลาหล ระหองระแหง เป็นเหตุให้หัวเมืองต่างๆแข็งข้อและฉวยโอกาสตั้งตนเป็นใหญ่แตกเป็นก๊ก รบพุ่งแย่งชิงอำนาจกัน  กระทั่งเหลือ 3 ก๊กที่ยืนหยัดสู้รบกันอยู่ได้ ดังที่รู้จักกันในนาม สามก๊ก



ในสมัยจักรพรรดิฮวนเต้ (รัชกาลที่ 3 ก่อนสิ้นราชวงศ์ฮั่น) เหตุที่พระองค์ไม่มีพระโอรส จึงได้ขอลูกของเล่าจั้ง เชื้อพระวงศ์ชั้นสูงของราชวงศ์ฮั่นมาเลี้ยง และตั้งชื่อว่า “เลนเต้” ทรงโปรดพระโอรสเลนเต้มาก ขนาดที่ตั้งให้เป็นรัชทายาทองค์ต่อไป ครั้นจักรพรรดิฮวนเต้สวรรคต เลนเต้ได้รับราชสมบัติเถลิงนาม “จักรพรรดิเลนเต้” ด้วยวัย 12 พรรษาและได้สถาปนาพระราชมารดาเป็นพระพันปีหลวงตังไทเฮา

กระทั่งล่วงไป 10 กว่าปี จักรพรรดิเลนเต้เริ่มไม่สนพระทัยในราชการบ้านเมือง หลงระเริงในสุรานารี มอมเมามัวมาย เชื่อถือและเคารพแต่ขันทีที่เป็นมิจฉาทิฐิ ขนาดที่เรียกหนึ่งในขันทีว่า “พระชนกบุญธรรม” ขันทีประพฤติผิดกลับเป็นถูก ปล่อยให้ขันทีรีดไถประชาชนคล้ายรีดเลือดกับปู และเหตุด้วยราคาข้าวที่พุ่งกระฉูด ประกอบกับการเก็บภาษีที่โหดเกินใครของราชสำนัก เพื่อมาสร้างปราการกำแพงป้องกันภัยจากต่างชาติ ทั้งๆที่ภัยภายในกำลังจะเกิดก็ยังไม่สนใจ และภัยพิบัติน้ำท่วมใหญ่จากแม่น้ำฮวงโห กลับกระทำตนตามใจแห่งพระองค์จนเสียซึ่งราชประเพณี ผู้ใดไม่ฟังโอวาทก็ปลดจากราชการ กฎหมายแผ่นดินเต็มไปด้วยความยุ่งเหยิง  และเกิดโจรปล้นสะดมในอาณาเขต ประชาชนได้รับความเดือนร้อน แร้นแค้นทุกหย่อมหญ้า เกิดเป็นปัญหาที่ทะลักเหมือนเขื่อนแตกใส่ราชสำนัก

ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้มีสามพี่น้องนาม เตียวก๊ก เตียวโป้ เตียวเหลียง ภายใต้อุดมการณ์ล้มล้างราชวงศ์ฮั่น ที่มี 10 ขันทีปกครองอยู่เบื้องหลัง ร่วมกันตั้งตนเป็นกลุ่มผู้นำการกบฏด้วยการสั่งสมบารมี จากการเป็นหมอสมุนไพรบำบัดรักษาชาวบ้านที่เจ็บป่วย ผู้คนเมื่อได้รู้ข่าวก็นับถือเตียวก๊กเป็นอันมากจนถวายตนเป็นศิษย์ เตียวก๊กเก็บเล็กผสมน้อยรวบรวมศิษย์ชาวบ้านและชาวนา จากร้อยเป็นพันเป็นหมื่นจนขยายเป็นกองทัพศิษย์ติดอาวุธในที่สุด คาดว่ามีผู้ร่วมก่อการประมาณ 1,000,000 คน และแจกจ่ายผ้าเหลืองแก่เหล่ากองทัพตนให้โพกศีรษะเพื่อเป็นสัญลักษณ์สำคัญในการก่อกบฏไล่ยึดครอง ขยายอำนาจไปยังหัวเมืองต่างๆ จึงได้รับการขนานนามว่า “กบฏโพกผ้าเหลือง ( ค.ศ. 184–205 )”

ภายหลังที่เตียวก๊กผู้นำการกบฏป่วยตาย ก็ทำให้กบฏโพกผ้าเหลืองไม่แข็งแรงเหมือนเดิม อ่อนกำลังเรื่อยไปทุกที และก็ถูกปราบปรามโดยกองทัพจากทางราชสำนัก สุดท้ายก็เหลือเพียงกองกำลังติดอาวุธที่มีทหารไม่กี่พันนาย และล่มสลายลงในที่สุด เมื่อปี ค.ศ. 205 และแล้วภารกิจในการล้มราชวงศ์ฮั่นของเตียวก๊กก็ไม่สำเร็จ แต่ก็ถือได้ว่า ทำให้เกิดความแตกแยกครั้งยิ่งใหญ่ในแผ่นดินจีนได้เยอะทีเดียว

แผ่นดินจีนได้ชื่อว่ายิ่งใหญ่ไพศาลก็จริง แต่กว่าจะรวมมาเป็นผืนแผ่นดินเดียวกันได้ ก็ต้องแลกมาด้วยการสูญเสียที่มากมายมหาศาลเช่นกัน และเหตุการณ์ทั้งดีร้ายได้เกิดวนเวียนไม่รู้จบสิ้น ดังจะเห็นมีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์โจว ราชวงศ์ฉิน มาราชวงศ์ฮั่น ก็ได้เกิดกบฏโพกผ้าเหลือง ทำให้ประชาชนแตกแยก ระหองระแหง เกิดเป็นสามก๊ก เป็นเหตุให้สิ้นสุดราชวงศ์ฮั่น ดังมีคำกล่าวว่า “เดิมแผ่นดินจีนทั้งปวงนั้น เป็นสุขมาช้านานแล้วก็เป็นศึก ครั้นศึกสงบแล้วก็เป็นสุข (สามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน)) ” และจะเห็นว่าผู้ที่มีกำลังต่างก็ต้องการความเป็นใหญ่ สร้างความน่าเชื่อถือของตน เพื่อช่วงชิงความเป็นใหญ่ ให้ได้มาซึ่งอำนาจสูงสุดในการปกครองผู้คน “อำนาจ” เป็นแรงขับให้ผู้คนเกิดความทะเยอทะยาน ไม่ว่าจะกี่ยุคกี่สมัย จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราควรจะเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เพื่อเป็นสิ่งย้ำเตือนว่า เราจะไม่หวนกลับมาทำให้ประวัติศาสตร์ที่ไม่ดีเกิดขึ้นอีกครา



อ้างอิง

เจ้าพระยาพระคลัง(หน). สามก๊ก. พิมพ์ครั้งที่ 27. นนทบุรี : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า 2000, 2555.

สุภฤกษ์ บุญทอง. สามก๊ก(ฉบับการ์ตูน). ปทุมธานี : สกายบุ๊ก, 2554.

คอสมอส. “จิ๋นซีฮ่องเต้” ใน บันทึกโลกฉบับรวมเล่ม 1-2. หน้า 33-40. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊ค (2006). 2552.

วิกิพิเดีย. กบฏโพกผ้าเหลือง. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%9A%E0%B8%8F%E0%B9%82%E0%B8%9E%E0%B8%81%E0%B8%9C%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87 . (วันที่สืบค้นข้อมูล : 5 ตุลาคม 2558).

วิกิพิเดีย. ราชวงศ์ฮั่น. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%A8%E0%B9%8C%E0%B8%AE%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%99 .
 (วันที่สืบค้นข้อมูล : 5 ตุลาคม 2558).


อ่านเพิ่มเติม »

เหลาจวงกับปรัชญาลัทธิเต๋า

โดย เกษราภรณ์  กล้าดี

ประเทศจีนเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก คนในประเทศจีนส่วนใหญ่นอกจากจะนับถือบรรพบุรุษแล้ว ยังนับถือลัทธิขงจื๊อ คริสต์ อิสลาม พุทธศาสนา  และ “ลัทธิเต๋า”  ก็ถือเป็นอีกหนึ่งปรัชญาที่มีอิทธิพลต่อสังคม วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนจีนเป็นอย่างมาก

ลัทธิเต๋าเกิดขึ้นในยุคเดียวกันกับลัทธิขงจื๊อ ( ยุคชุนซิวถึงยุคจ้านกั๋ว ) ปรัชญาเต๋าสนับสนุนให้ผู้คนหันหน้าเข้าหาธรรมชาติ  ออกจากความยุ่งเหยิง มีคัมภีร์ที่สำคัญและมีชื่อเสียงคือ คัมภีร์เต๋าเต๊กเก็ง โดยมีบุคคลสองท่านที่โดดเด่นมีความคิดเห็นเช่นเดียวกับปรัชญานี้นั่นคือ เหลาจื้อ  (老子)  และจวงจื้อ  (庄子) คัมภีร์เต๋าเต๊กเก็ง จึงได้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ปรัชญาเหลา-จวง”                          



ภาพเหลาจื้อ
ที่มา : http://www.somboon.info/

เหลาจื้อเป็นคนตั้งลัทธิเต๋าขึ้นมา  ท่านได้สร้างแนวปรัชญาต่างๆมากมายไว้ในคัมภีร์เต๋าเต๊กเก็ง และได้รับการยกย่องให้เป็นศาสดาของปรัชญาลัทธิเต๋า  ประวัติของเหลาจื้อโดยทั่วไปคือ ในสมัยนั้นท่านเป็นผู้ดูแลแผ่นไม้ไผ่ที่เปรียบเสมือนหนังสือ และทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์ในหอสมุดหลวงเมืองโลยั้ง มณฑลโฮนาน เป็นคนชอบเก็บตัว ไม่เข้าสังคมกับใคร ไม่มักใหญ่ใฝ่สูง  แต่ความคิดของเขาในด้านศาสนาและปรัชญากลับเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง

วิธีหาความสุขของเหล่าจื๊อคือ เหลาจื้อต้องการให้มนุษย์ดำเนินชีวิตให้เรียบง่ายไปตามธรรมชาติ  ไม่ฝืนธรรมชาติ ดังที่เหลาจื้อกล่าวไว้ว่า “คนที่ยืนเขย่งเท้า ย่อมยืนอยู่ไม่ได้นาน  คนที่ก้าวขายาวเกินไปย่อมเดินไปไม่ได้ไกล” เหลาจื้อยังต้องการให้คนรักสงบ รู้จักตัวเอง  เน้นให้คนเป็นคนอ่อนโยนแต่ก็เข้มแข็ง มีดีอยู่ในตัวแต่ไม่โอ้อวด ดังที่เขากล่าวไว้ว่า “ผู้มีความรู้แต่ทำตัวเหมือนว่าไม่รู้ เป็นผู้ประเสริฐ  ผู้ไม่มีความรู้แต่ทำตัวเหมือนรู้ เป็นผู้ไม่ประเสริฐ”  และเนื่องจากที่เหลาจื้อเป็นผู้ที่มีความรู้ที่ลึกซึ้งและกว้างขวาง เหลาจื้อจึงได้เผยแพร่ความรู้ไปทุกหนทุกแห่ง และเขายังเป็นผู้เขียนคัมภีร์เต๋าเต๊กเก็งอีกด้วย


ภาพคัมภีร์เต้าเต๋อจิง 
ที่มา :  http://www.wikiwand.com/

ส่วนจวงจื้อ นักปรัชญาจีนอีกผู้หนึ่งในลัทธิเต๋า  จวงจื้อนั้นถึงแม้จะเกิดหลังจากเหลาจื้อหลายร้อยปีแต่ก็มีความเลื่อมใสในปรัชญาเต๋าและเลื่อมใสในคำสอนของเหลาจื้อมาก เขาเป็นผู้ประกาศคำสอนของเหลาจื่อ ให้ปรัชญาเต๋าได้กลายเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายและเพิ่มเติมหลักความคิดให้เต๋าเป็นปรัชญาที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น  จวงจื้อเป็นคนที่เฉี่อยชา ไม่ค่อยขยัน  ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายและมักน้อย

แต่เนื่องจากที่เขาเลื่อมใสในคำสอนของเหลาจื้อ ปรัชญาของจวงจื้อจึงมีความหมายไปในทำนองเดียวกันที่มุ่งสอนคนดำเนินชีวิตให้สอดคล้อง กลมกลืนกับธรรมชาติ  ใช้ชีวิตตามป่าเขา หาความสงบ เป็นอยู่อย่างเรียบง่าย ไม่ต้องทำตัวให้เด่น(ภาพจวงจื่อที่มา :  www.jiewfudao.com/วัฒนธรรมจีน/เหล่าจวงกับปรัชญาลัทธิเต๋า)    เพราะเมื่อเด่นจะเป็นทุกข์  ดังที่จวงจื้อเปรียบว่า ต้นไม้ที่สูงใหญ่จะถูกโค่นล้มได้ง่าย เพราะคนมักจะนำเอาไปทำเป็นเสาบ้าน คานบ้าน ไม่ยั่งยืน  หากเป็นต้นไม้ที่คดงอ ผู้คนก็ไม่อยากจะนำไปใช้ประโยชน์ ต้นไม้นี้ก็จะยืนต้นอยู่ได้นาน  แนวคิดปรัชญาของเหลาจื้อและจวงจื้อมีส่วนคล้ายกันมาก  จึงทำให้คนรุ่นหลังเรียกทั้งสองรวมกันว่า "เหลาจวง"

ถึงแม้ว่าปรัชญาของจวงจื้อจะคล้ายคลึงกันกับปรัชญาของเหลาจื้อ แต่ก็ยังมีส่วนแตกต่างกันนั่นคือปรัชญาของจวงจื้อเน้นธรรมชาติตามแบบปรัชญาของเหลาจื้อ แต่ปรัชญาของจวงจื้อจะเข้มงวดกว่า เช่น เหลาจื้อให้คาวมสำคัญกับการปกครองประชาชนอย่างที่ประชาชนไม่รู้ตัวว่าถูกปรกครองอยู่ แต่จวงจื้อให้แต่ละคนปกครองตัวเอง สันโดษ กลมกลืนกับธรรมชาติ  และวิธีการสอนของจวงจื้อจะออกเป็นแนวนิทาน นำนิทานมาประกอบการอธิบายเพื่อให้เข้าใจหลักปรัชญาได้ง่าย ขึ้น

จะเห็นได้ว่าแนวคิดที่ทำให้ผู้คนได้ยึดถือและนำไปเป็นหลักในการดำเนินชีวิต ทั้งในเรื่องการรู้จักตนเองและการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายตามธรรมชาติ  ถึงแม้ว่าจะมีหลากหลายศาสนาและลัทธิที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ แต่ทุกศาสนาต่างมุ่งสอนให้ผู้คนเป็นคนดี และใช้ชีวิตอยู่บนพื้นฐานของคุณธรรม
         

อ้างอิง

พจนา  จันทรสันติ. วิถีแห่งเต๋า หรือ คัมภีร์เต๋าเต็กเก็งของปราชญ์เหลาจื๊อ. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ: เคล็ดไทย, 2525

老庄与道家思想-เหล่าจวงกับปรัชญาลัทธิเต๋า. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๕๘ จาก: https://sites.google.com/site/caijiajialaoshi/laozhuangyudaojiasixiang

ปรัชญาสำนักเต๋าDaoism. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๕๘  จาก:  http://www.philospedia.net/daoism.html.

ฟื้น  ดอกบัว. ปวงปรัชญาจีน.  พิมพ์ครั้งที่๒.  กรุงเทพฯ: ศยาม, ๒๕๔๒

อ่านเพิ่มเติม »

สมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย (Victoria) ราชินีผู้เหนือราชาทั้งปวง

โดย จิตตกร ธิลา

อังกฤษเป็นประเทศซึ่งเป็นเพียงเกาะเล็กๆแต่น่าทึ่งประเทศหนึ่ง เพราะเป็นจักรวรรดิสมัยใหม่ที่มีดินแดนมากที่สุดในโลก จนถูกขนานนามว่า ดินแดนที่พระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน (the sun never set in the British Empire) คงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าผู้ที่อยู่เบี้องหลังความสำเร็จดังกล่าวนี้คือสมเด็จพระราชินี Victoria  เธอนำพาประเทศอังกฤษสู่ความยิ่งใหญ่เทียบเท่าได้กับ พระเจ้า Alexander เพราะสามารถยืดเมืองขึ้นได้ไปถึงอินเดียและ แอฟริกา หลักฐานชิ้นสำคัญที่เป็นอนุสรณ์สถานแก่การได้รับชัยชนะครั้งนี้คือ เพชร Koh-I-Noor ที่ประดับอยู่บนมงกุฎของราชินีอังกฤษนั่นเอง
       
เจ้าหญิงวิกตอเรีย (Victoria) ทรงเป็นพระราชบุตรีพระองค์เดียวของเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ดยุกแห่งเคนต์และสแตรเธิร์น (Prince Edward, Duke of Kent and Strathearn) ซึ่งเป็นบุตรองค์ที่ 4 ใน พระเจ้าจอร์จที่ 3 เจ้าหญิงวิกตอเรียทรงประสูติที่พระราชวัง Kensington เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม คศ. 1819 และ เสด็จสวรรคตในวันที่ 22 มกราคม 1901 ด้วยอาการหลอดพระโลหิตแตกในสมอง หลังจากที่ได้ทรงครองราชย์เป็นเวลานาน 64 ปี ถือเป็นราชินีผู้ที่เคยครองราชย์นานที่สุดก่อนที่สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 (Elizabeth II) โค่นสถิติดังกล่าว


ที่มา: http://www.express.co.uk/        

ชีวิตในวัยเด็ก อาจจะพูดได้ว่าพระนางเจ้าวิกตอเรียเป็นคนที่ Lucky in game แต่ non lucky in family life เพราะชีวิตด้านครอบครัวของพระนางนั้นไม่สวยงามเท่าใดนัก พระราชบิดาของพระนางสิ้นพระชนฆ์เมื่อพระนางอายุ 6 ชันษา รวมถึงพระสวามีผู้เป็นที่รักก็ทรงสวรรคตเมื่อพระชนฆ์มายุ 42 ชันษา ในแง่ของการศึกษา ต้องเข้าใจบริบทของการศึกษาในยุคนั้นที่ไม่นิยมการส่งผู้หญิงไปเรียนหนังสือในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย ทำให้ชีวิตในวัยเด็กของพระนางต้องอยู่ในจารีตเวียงวังอย่างเข้มงวด ภายได้การให้การศึกษาและคำแนะนำของ Louise Lehzen ผู้สอนพระนางทางด้านศาสนา ภาษาต่างประเทศ ปรัชญาต่างๆ พระนางต้องอยู่ภายใต้การควบคุมอันเข้มงวด ทำให้ทรงอึดอัดบ้าง แต่ก็ตระหนักถึงภาระหน้าที่ที่จะได้ขึ้นเป็นผู้นำและมีภาระหน้าที่อันยิ่งใหญ่

พระนางเจ้าวิคทอเรียทรงอภิเษกกับเจ้าชาย Albert แห่งเยอรมัน ทรงมีพระราชโอรสธิดา 9 พระองค์ในเวลา 17 ปีการมีโอรสธิดามากนี้ทำให้ เจ้าชาย Albert และ ราชินีวิกทอเรียได้ชื่อว่าเป็นปู่และย่าแห่งยุโรป เพราะ พระโอรสธิดา รวมถึงพระราชนัดดา ได้ทำการสมรสกับราชวงศ์ต่างๆใยบุโรป เช่นจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี เดนหมาก ในทางตรงกันข้าม เรื่องดังกล่าวก็ก่อให้เกิดการถ่ายทอดโรค hemophilia ในหมู่ราชวงศ์ยุโรปเช่นกัน เจ้าชาย Albert สิ้นพระชนม์ด้วยวัย 42 ปี นำความเสียใจมาให้แก่พระนางเจ้าวิกทอเรียเป็นอย่างมาก

ในยุคสมัยของพระนางเจ้าวิคทอเรีย อังกฤษดำเนินนโยบายแผ่ขยายอำนาจสู่การเป็นเจ้าอาณานิคม จริงๆแล้วอาณาจักรอังกฤษมีการแผ่ขยายอาณาจักรมานานก่อนการขึ้นครองราชย์ของพระนาง ตั้งแต่รัชสมัย สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 การแผ่ขยายอำนาจของอังกฤษมักจะไปเป็นในรูปของการตั้งบริษัทสัญชาติอังกฤษเพื่อทำการค้า แต่ในสมัยของพระนางมีปัจจัยที่ทำให้การขยายอณานิคมเป็นไปได้อย่างมาก เนื่องจาก ผลการวางรากฐานบริษัทสัญชาติอังกฤษในที่ต่างๆ สร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นอย่างมาก การปฏิวัติอุสาหกรรรมทำให้อังกฤษต้องแสวงหาวัตถุดิบและตลาดใหม่ๆ และการจัดการอาณาจักรให้มีเอกภาพทางการเมือง พระนางทรงจัดการความสัมพันธ์กับรัฐบาลและรัฐมนตรีได้เป็นอย่างดี ทรงมีความสัมพันธ์อันดีกับ Lord Melbourne ในช่วงต้นราชการ แม้จะมีการเปลี่ยนก็ทรงมีความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลทั้งหลาย

จักรวรรดิบริติชที่ 2 ในยุคของพระนางเจ้าวิคทอเรียเท่านั้นสรุปได้ว่าในปี 1920 พื้นที่ราว 25,899,881 ตารางกิโลเมตร และประชากรราว 400 ล้านคนได้เพิ่มเข้ารวมกับจักรวรรดิบริติช   กินพื้นที่ของประเทศ อเมริกา แคนนาดา บางส่วนของทวีปแอฟริกาไต้ อินเดีย ออสเตรีย พม่า มาเลเซีย และยังมีดินแดนที่อังกฤษไม่ได้ยืดครองแต่ได้ผลประโยชน์อย่างมากในการทำสนธิสัญญา เช่น จีน (สนธิสัญญานานกิง) ไทย (สนธิสัญญาเบาริ่ง) ที่สามารถยืดครองประเทศต่างๆได้มากมายอันเนื่องมาจาก ความทันสมัยของอาวุธยุโธปกรณ์ ต่างๆ และความฉลาดทางการทุต ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การยืดตนองอินเดียโดยทำให้เจ้าแต่ละรัฐรบกันเองให้อ่อนแอ หากจะกล่าวถึงความฉลาดทางการทุตที่เป็นตัวอย่างชัดเจน คือ การมีพระลิขิตของสมเด็จพระราชินีวิคทอเรีย ถึงเจ้าอินทวโรรสเจ้าผู้ครองล้านนนา เรื่อง การขอพระราชธิดา เจ้าดารารัศมีเป็นบุตรบุญธรรม แสดงถึงการใช้อุบายทางการทุตอย่างแยบคาย การขยายอำนาจของอังกฤษในรูปแบบของจักรวรรดิ นำความมั่งคั่งมาสู่ประเทศอังกฤษเป็นอย่างมาก



ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ความสามารถอังกฤษได้ลดน้อยถอยลงและต้องทยอยคืนอิสรภาพให้แก่ประเทศต่างๆ อันเนื่องมาจากการทำสงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง ทำให้อังกฤษบอบช้ำเป็นอย่างมากแต่ผลกระทบจากการปกครองของอังกฤษก็ยังคงส่งผลทั้งด้านดีและเสียมาถึงยุคหลัง ในด้านดี เช่น อังกฤษได้วางรากฐานการศึกษาสมัยใหม่ ให้แก่ประเทศภายใต้เครือจักรภพ รวมทั้งการถ่ายทอดศิลปะวิทยาการสมัยใหม่แพร่หลายไปทั่วโลก ส่วนในด้านเสีย ได้แก่ การนำเข้าทรัพยากรที่มีค่าจำนวนมากเกินไปโดยเจ้าของประเทศไม่ได้ยินยอม การซื้อทรัพยากรในราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริงจากสนธิสัญญาที่ไมเป็นธรรม แต่ขายสินค้าในราคาสูงจนเกิดการขาดดุลทางการค้า  การกลืนวัฒนธรรมเนื่องจากอังกฤษเผยแพร่วัฒนธรรมเข้าไปอย่างมาก เกิดการเลียนแบบวิถีชีวิตแบบตะวันตก รวมทั้งสร้างความแตกแยกจากการที่อังกฤษได้รวมเอาประเทศเล็กประเทศน้อยที่เป็นชนเผ่าต่างๆ รวมเข้าด้วยกัน ซึ่งหลายๆชนเผ่าเหล่านี้มีภูมิหลังความขัดแย้งทางประวัติศาสตร์ ศาสนา และวัฒนธรรม จึงก่อให้เกิดความขัดแย้งภายในประเทศเหล่านั้นหลังได้รับเอกราช

ชีวิตสมเด็จพระราชินีวิกตอเรียสะท้อนให้เห็นถึงการชีวิตที่ต้องใช้ความสามารถและความพยายามอย่างมาก เพราะอาจจะพูดได้ว่า ในยุคนั้นการยอมรับผู้หญิงให้มีบทบาทสูงนั้นค่อนข้างน้อย พระนางต้องอาศัยความอดทนต่อคนและชีวิตอันโศรกเศร้าจากการสุญเสียพระราชสวามี ความเฉลียวฉลาด ความสามารถในการจัดการกับคนอย่างละมุนละม่อม เพื่อทำให้เกิดความมีเอกภาพ อันเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างความยิ่งใหญ่ให้แก่จักรรวรรดิอังกฤษ  การได้มาซึ่งอำนาจของพระนางอาจเป็นเพราะโชคช่วย แต่เพราะความสามารถของพระนางจึงทำให้พระนางดำรงในพระอิสริยยศอย่างสง่างาม และกลายเป็นพระราชินีผู้เป็นที่รักของชาวอังกฤษ


อ้างอิง
                                                                                                               
Queen Victoria Biography.(ม.ป.ป) สืบค้นเมื่อ 29 กันยายน 2558, จาก  http://www.biography.com/people/queen-victoria-9518355                                                                  
John Simkin.1997  Queen Victoria สืบค้นเมื่อ สืบค้นเมื่อ 29 กันยายน 2558, จาก http://spartacus-educational.com/PRvictoria.htm

The official website of British Monachy. Victoria.ม.ป.ป สืบค้นเมื่อ เมื่อ 29 กันยายน 2558, จาก http://www.royal.gov.uk/historyofthemonarchy/kingsandqueensoftheunitedkingdom/thehanoverians/victoria.aspx                                                                                                                                                      
Wikipedia. British empire.(ม.ป.ป). สืบค้นเมื่อ 29 กันยายน 2558, จาก https://en.wikipedia.org/wiki/British_Empire

วิกิพีเดีย. สมเด็จพระราชินีวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร. สืบค้นเมื่อ 29 กันยายน 2558 https://th.wikipedia.org/                                           

BBC.Queen Victoria's Empire.2003 - Complete Documentary- สืบค้นเมื่อ 29 กันยายน 2558, จาก https://www.youtube.com/watch?v=N3Nt2DDLKmw

อ่านเพิ่มเติม »

จักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 จักรพรรดิองค์สุดท้ายของเยอรมนี

โดย ศศิวิมล ผลไม้

จักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2  แห่งเยอรมนี หรือ พระเจ้าไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 2 เป็นหนึ่งในบุคคลที่รู้จักมากที่สุดของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง พระองค์เป็นผู้ที่นำพาเยอรมนีเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แต่สุดท้ายเยอรมนีก็ได้รับความพ่ายแพ้จนทำให้พระองค์ต้องสละราชสมบัติเป็นจักรพรรดิองค์สุดท้ายของเยอรมนี

จักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 ทรงมีพระนามเต็มว่า ฟรีดริช วิลเฮล์ม วิคเตอร์ อัลเบิร์ต หรือที่ รู้จักในนาม พระเจ้าไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 2 เป็นพระราชโอรสองค์โตใน พระจักรพรรดิ ฟรีดริชที่ 3 กับ สมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย ประสูติเมื่อวันที่ 26 มกราคม ค.ศ. 1859 พระองค์ทรงเสกสมรสกับ เจ้าหญิงออกัสตา วิคตอเรียเจ้าหญิงจาก  ปรัสเซีย มีพระราชโอรส 6 พระองค์และพระราชธิดา 1 พระองค์ พระเจ้าไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 2 ทรงดำรงวาระตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 1888 ถึง    9 พฤศจิกายน 1918  รวมระยะเวลา 31 ปี


ภาพ จักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 แห่งเยอรมนี

ชีวิตในวัยเยาว์ของพระองค์ พระองค์เริ่มเรียนหนังสือตั้งแต่ 7 ขวบ  โดย พระองค์ต้องตื่น 6 โมงเช้าในฤดูร้อน และ 7 โมงในฤดูหนาวสิ้นสุดการเรียนในแต่ละวัน 6 โมงเย็นหรือ หนึ่งทุ่มแล้วแต่ฤดูได้พักสองครั้ง คือพักรับประทานอาหารเช้าและอาหารกลางวัน พักไม่เกิน 45นาที เนื้อหาก็ประกอบไปด้วย ประวัติศาสตร์ เลขคณิต ศาสนา ภูมิศาสตร์ต่อมามีการเพิ่มภาษา กรีก อังกฤษ ฝรั่งเศส ในบรรดาอาจารย์ทั้งหมดต่างก็เห็นพ้องว่าพระองค์ ฉลาด ความจำเยี่ยมและมีพรสวรรค์ด้านภาษา นับเป็นเรื่องที่หนักหนามากสำหรับเด็กตัวเล็กที่เกิดมาก็รับภาระอันใหญ่หลวงไม่แปลกใจเลยที่พระองค์ถูกเคี่ยวเข็ญตั้งแต่เด็กๆ ต่อมาพระองค์สำเร็จด้านการทหารและทรงเป็นผู้ที่มีความชื่นชมในศักยภาพทางทหารเป็นอย่างมาก

เยอรมนีในยุคสมัยภายใต้การปกครองของจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2  เป็นรัฐที่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วเกิดความเปลี่ยนแปลงคือมีประชากรเพิ่มขึ้น เมืองและนครต่างๆเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและเต็มไปด้วยคนหนุ่มคนสาวที่ละทิ้งที่ดินเพื่อแสวงหาโอกาสในเมืองอุตสาหกรรมและเกิดการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของชนชั้นแรงงานเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตจากชนบทสูชีวิตในโรงงาน การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจสมัยนี้เป็นแนวทางสู่การพัฒนาทางการเมือง  พระเจ้าไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 2 เป็นประมุขในขณะนั้นเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ทางการที่คับแคบพระองค์ต้องการที่จะใช้กำลังทางทหารขยายอิทธิพลของจักรวรรดิเยอรมันไปทั่วโลก จนตัดสินพระทัยนำเยอรมนีไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 และในที่สุดเยอรมนีก็พ่ายแพ้ไปในที่สุด

อีกหนึ่งที่ผิดพลาดจากการตัดสินพระทัยของพระองค์คือทรงประกาศให้วันที่ 24 มีนาคมเป็นวันหยุดให้พักการรบ 1 วันด้วยความประมาทที่คิดว่าจะเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ ปรากฏว่าการรุกของเยอรมนีหยุดชะงักไป การขาดแคลนรถถังหรือปืนใหญ่เคลื่อนที่ทำให้ฝ่ายเยอรมันไม่สามารถรวมกำลังกันรุกต่อไปได้ การตัดสินพระทัยที่ผิดพลาดอย่างมหันต์นี้เป็นเหตุสำคัญที่ทำให้ฝ่ายมหาอำนาจกลางพ่ายแพ้ไปในที่สุดและต้องเสียค่าปฏิกรรมสงครามแก่ประเทศที่ชนะอย่างมหาศาลเยอรมีในขณะนั้นต้องเสียทั้งเงินและเกียรติภูมิเป็นอันมาก

หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ยุติลงในปี 1918 พระองค์ทรงสละราชสมบัติ และเสด็จไปประทับที่ประเทศเนเธอร์แลนด์   เยอรมนีก็ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบสาธารณรัฐ เป็นอันว่าจักรวรรดิเยอรมนีก็ต้องล้มสลายไป  พระองค์ได้สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 1941 จากโรคก้อนเลือดอุดตันในปอดที่ประเทศเนเธอแลนด์ เมื่อพระชนม์ 82 พรรษา  และในทุกๆปีจะมีการแสดงความเคารพในวันครบรอบการสิ้นพระชนม์ของพระองค์เพื่อเป็นการแสดงความเคารพจักรพรรดิเยอรมนีองค์สุดท้าย ฮิตเลอร์ก็ได้ส่งพวงหรีดใหญ่โตเยี่ยงนาซีประดับดอกลิลลี ออฟ เดอะวัลเลย์ไปมอบให้ในงานปลงพระศพของพระองค์  

แม้ว่าจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 นำพาเยอรมนีพ่ายแพ้ทำให้ราชวงศ์ที่ปกครองล่มสลาย แต่ชาวเยอรมันก็ได้ให้ความเคารพในฐานะจักรพรรดิองค์สุดท้ายของเยอรมนี  การตัดสินพระทัยของจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2ได้สร้างบทเรียนที่สำคัญให้แก่โลกได้รู้คือการประมาทแม้แต่วินาทีเดียวก็สามารถนำพาซึงหายนะได้โดยเฉพาะในยามสงครามแม้เสียววินาทีก็สำคัญ  บทเรียนของจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2ก็ไม่ได้ทำให้เยอรมนีกลัวความพ่ายแพ้หรือสำนึกต่อความสูญเสียแต่อย่างใดในเวลาต่อมาเยอรมนีก็นำพาโลกเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สองที่ขยายไปทั่วภูมิภาคของโลกที่นำโดย อดอฟ ฮิตเลอร์ และสุดท้ายเยอรมนีก็พ่ายแพ้ไปอีกครั้งไม่ว่าฝ่ายไหนจะแพ้หรือชนะย่อมเกิดความสูญเสียเสมอ    อย่างไรก็ตามการตัดสินใจด้วยสงครามไม่ใช่การตัดสินใจที่ดีที่สุดแต่การตัดสินใจด้วยความสันติวิธีต่างหากล่ะคือสิ่งที่ดีที่สุด


อ้างอิง    

การรุกฤดูใบไม้ผลิ.  (ม.ป.ป).  ค้นเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2558, จาก : https://sites.google.com/site/sngkhramlokkhrangthi12/sen-thang-khxng-sngkhram/kar-ruk-vdu-bimi-phli

สมใจ  ไพโรจน์ธีระรัชต์.  (2550).  ประวัติศาสตร์เยอรมนีสมัยใหม่.  กรุงเทพ:มหาวิทยาลัยรามคำแหง

Catrine Clay.  (2553).   คิง ไกเซอร์ ซาร์ สามกษัตริย์ผู้นำโลกเข้าสู่สงคราม.  กรุงเทพ:มติชน

ไกเซอร์วิลเฮล์มที่2แห่งเยอรมนี.  (2554).  ค้นเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2558, จาก : http://www.tiewrussia.com/catalog.php?idp=530

อ่านเพิ่มเติม »

นิโคลา เทสลา (Nikola Tesla)

โดย ณัฐฐิญา สุทธิโสมสุข

ชะตาชีวิตของมนุษย์เราไม่มีความแน่นอน บางคนมีสติปัญญาล้ำเลิศเข้าขั้นอัจฉริยะ แต่แทนที่จะมีความมั่งคั่งสุขสบายจากความสามารถ กลับถูกโชคชะตาเล่นตลกเพราะถูกโกง หรือหักหลังจนสิ้นเนื้อประดาตัว อย่างอัจฉริยะที่ถูกโลกลืมคนหนึ่งที่ชื่อว่า นิโคลา เทสลา (Nikola Tesla) นักวิทยาศาสตร์ร่วมสมัยกับ โทมัส เอดิสัน เขาเป็นนักประดิษฐ์ที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของอเมริกา แต่ถ้าถามว่าใครเป็นนักประดิษฐ์และนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียง ทุกคนคงตอบว่าโทมัส เอดิสัน น้อยคนนักที่จะรู้จักกับนิโคลา เทสลา

นิโคลา เทสลา เกิดเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ค.ศ. 1886 ที่เมืองสมิลจาน เดิมคือออสเตรีย - ฮังการี ซึ่งปัจจุบันคือสาธารณรัฐโครเอเชีย (Croatia) และถึงแก่กรรมวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2486 (86 ปี) เป็นนักประดิษฐ์ นักฟิสิกส์ วิศวกรเครื่องกล และวิศวกรไฟฟ้า เขาไม่เพียงเป็นอัจฉริยะเจ้าของสิทธิบัตรกว่า 300 รายการ แต่ยังเป็นบิดาแห่งวงการวิศวกรรมศาสตร์ไฟฟ้า มีชื่อเสียงโด่งดังทัดเทียมเอดิสันในครึ่งแรกของชีวิต



เทสลาได้ประดิษฐ์ขดลวดเทสลา หรือ Tesla coil และค้นพบมอเตอร์เหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้าที่สามารถใช้งานได้เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1888 และเขาก็ได้พยายามขายสิทธิบัตรมอเตอร์ไฟฟ้านี้ แต่ก็ถูกปฏิเสธครั้งแล้วครั้งเล่ากว่าจะสามารถทำให้มอเตอร์เหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้าได้รับการยอมรับ จึงทำให้ชื่อของเขาถูกนำมาใช้เป็นหน่วยหลักของแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อเป็น เกียรติในเวลาต่อมา อีกทั้งเขายังเป็นผู้ค้นพบวิธีการสื่อสารแบบไร้สาย ซึ่งเป็นที่มาของเทคโนโลยี wireless ที่เราใช้กันในปัจจุบัน

ในปี ค.ศ.1899 เทสลาสร้างห้องแล็บที่ Colorado Springs สร้างคอยล์ขนาดยักษ์เพื่อสร้างสนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีความถี่สูงมากจนสามารถส่งกระแสไฟ 10,000 วัตต์ ผ่านอากาศไปจุดดวงไฟ 200 ดวง ที่อยู่ไกลถึง 40 กิโลเมตรได้ เทสลาเชื่อว่าเขาได้ค้นพบความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ครั้งสำคัญ และเพื่อจะพิสูจน์ความจริงดังกล่าว เขาก็ต้องการเงินทุนมากขึ้น ซึ่งในปี ค.ศ. 1900 เขาก็ได้นายทุนชื่อ John Pierpont Morgan มาเป็นผู้สนับสนุนและให้เงินทุน ซึ่งเทสลาต้องตอบแทนโดยการมอบการควบคุมสิ่งที่เขาได้จดลิขสิทธิ์เอาไว้ ทำให้เทสลาตกเป็นเหยื่อของกฎหมายทางธุรกรรมที่ผูกมัดเขา เพราะมอร์แกนได้ลงทุนไปกับบริษัทที่ใช้กระแสไฟฟ้าสลับ และเขาก็ไม่ต้องการจะให้ระบบไฟฟ้าไร้สายของเทสลามาเป็นคู่แข่ง เมื่อถูกขโมยเอาลิขสิทธิ์ต่างๆ รวมทั้งขาดการอุดหนุนทางการเงิน ความฝันของเทสลาเกี่ยวกับพลังงานที่ไร้สายก็ถึงจุดจบ เขาต้องเริ่มต้นใหม่โดยขาดทั้งเงินและงานเมื่ออายุได้ 50 ปี

เทสลาไม่เข้าใจหลักมนุษยสัมพันธ์ หรือการวางตัวกลางฝูงชน เทสลามักอธิบายความคิดของเขาโดยใช้เหตุผลทางทฤษฎี และหวังให้คนฟังต้องเข้าใจและยอมรับทุกอย่างที่เขาพูด เทสลาชอบอ้างว่า เขาสาบานตอนเป็นเด็กว่าจะทุ่มเทเวลาทั้งหมดให้กับงาน และจะไม่เสียเวลากับการแต่งงาน แต่เมื่อเขาแก่ตัวลง ปากจัดมากขึ้นและมีคนนับถือน้อยลง เขาจึงไม่มีคนใกล้ชิดคอยฟังหรือเป็นกำลังใจให้ สมาชิกในครอบครัวเพียงคนเดียวที่เขาติดต่อด้วยในช่วงบั้นปลายชีวิตคือหลานชายชื่อ ซาวา โคซาโนวิช (Sava Kosanovich)

ในวันที่ 5 มกราคม 2586 เทสลาโทรศัพท์ไปหาพันเอกเออร์สไกน์ (Erskine) รัฐมนตรีสงครามของอเมริกาเสนอยกความลับของขีปนาวุธ 'โทรกำลัง' ให้ทั้งหมด เออร์สไกน์ไม่รู้ว่าเทสลาคือใครคิดว่าเขาเป็นแค่คนบ้าจึงพูดบอกเขาว่าจะติดต่อกลับแต่ก็ลืม ซึ่งนั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่เทสลาติดต่อกับโลกภายนอก เทสลาเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจล้มเหลวในห้องโรงแรมที่ New York City เมื่อวันที่ 7 มกราคม ค.ศ. 1943 ถึงแม้ว่าเขาจะมีชื่อเสียงและมีอิทธิพลต่อโลกของเรามาก เขากลับเสียชีวิตทั้งที่มีหนี้สินมากมายและอย่างโดดเดี่ยว

หลังจากที่เขาเสียชีวิตลงFBIได้สั่งการให้สำนักงานทรัพย์สินคนต่างชาติ หรือ The Office of Alien Property เข้ายึดทรัพย์สินทุกชิ้นของเขา บั้นปลายชีวิตของเขาจึงแตกต่างจากโทมัส เอดิสันมาก ในขณะที่เอดิสันเป็นที่รู้จักกันในนามนักประดิษฐ์แห่งศตวรรษ ส่วนเรื่องราวของเทสลากลับมีความยาวเพียงแค่หนึ่งย่อหน้าในหนังสือประวัติศาสตร์ ได้รับการจดจำเพียงหน่วยวัดสนามแม่เหล็กที่เรียกว่าเทสลาเท่านั้น ซึ่งดูไม่เหมาะสมเลยกับอัจฉริยะที่นำแสงสว่างและพลังงานมาให้กับคนเป็นล้านๆ คน ได้ใช้เพียงแค่กดสวิตซ์ไฟฟ้าเท่านั้น


อ้างอิง

ทีมงานทรูปลูกปัญญา. (2556). นิโคลา เทสลา อัจฉริยะสติเฟื่อง ที่โลกลืม. เข้าถึงเมื่อ 18 กันยายน 2558, จาก http://www.trueplookpanya.com/new/cms_detail/knowledge/25171-037137/

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. (2558). นิโคลา เทสลา. เข้าถึงเมื่อ 18 กันยายน 2558, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/นิโคลา_เทสลา

myfirstbrain.com. (n.d.). นักวิทยาศาสตร์ของโลกนิโคลา เทสลา. เข้าถึงเมื่อ 18 กันยายน 2558, จาก http://www.myfirstbrain.com/student_view.aspx?id=56580

อ่านเพิ่มเติม »

เซอร์ ลานเซลอต ( Sir Lancelot du Lac )

โดย ณัชชา ไชยแสง

ในบรรดาอัศวินโต๊ะกลมแห่งเกาะอังกฤษแล้วนั้น คงไม่มีใครไม่รู้จักเซอร์ลานเซลอตผู้ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นอัศวินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและได้รับความไว้วางใจจากอาเธอร์มากที่สุด กระทั่งได้รับการแต่งตั้งจากกษัตริย์อาเธอร์ให้เป็นองครักษ์คอยอารักขาราชินีของพระองค์ เกว็นนีเวียร์ และสาเหตุนี้นำมาซึ่งการสะบั้นความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของอัศวินผู้ซื่อสัตย์และกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่รวมถึงเหล่าอัศวินโต๊ะกลม

อัศวินชื่อดังแห่งเกาะอังกฤษ เซอร์ ลานเซลอต  (Sir Lancelot du Lac) เป็นบุตรชายของกษัตริย์บันแห่งเบนวิคและพระราชินีอิไลเน ลานเซล็อตได้รับการแต่งตั้งจากอาเธอร์ให้เป็นอัศวินโต๊ะกลมคนแรก ว่ากันว่าลานเซลอตนั้นเป็นอัศวินผู้มีฝีดาบยอดเยี่ยมและยังเป็นยอดนักสู้อีกด้วยเนื่องจากเมื่อครั้งเยาว์วัยเขาได้หายตัวไปและเทพธิดาวิเวียนแห่งทะเลสาบได้รับเอาไว้ในความดูแลและได้ฝึกฝนทั้งวิชาดาบ การขี่ม้า และการต่อสู้ให้แก่เขา ภายหลังเมื่อลานเซลอตได้ร่วมเป็นหนึ่งในอัศวินโต๊ะกลมจะเห็นได้ว่าเขาเป็นอัศวินที่มากฝีมือและยังเป็นสุภาพบุรุษผู้พร้อมจะเสียสละและช่วยเหลือผู้อื่นอยู่เสมอ นอกจากนี้ในบางตำนานได้กล่าวเอาไว้ว่าลานเซลอตเป็นบิดาของเซอร์กาลาฮัดอีกด้วย (อัศวินโต๊ะกลมคนสุดท้าย และเป็นผู้พบจอกศักดิ์สิทธิ์) แต่บางตำนานกล่าวไว้ว่าลานเซลอตเพียงรับเด็กชายเข้ามาไว้ในความดูแลตามคำแนะนำของแม่ชีเท่านั้น


เซอร์ ลานเซลอต อัศวินโต๊ะกลมแห่งคาเมล็อต

ครั้งหนึ่งเมื่อเหล่าอัศวินได้รับภารกิจให้ออกตามหาจอกศักดิ์สิทธิ์ เซอร์ลานเซลอตก็ได้ออกค้นหาเช่นเดียวกันหากแต่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากจอกนั้นจะปรากฏต่อหน้าผู้บริสุทธิ์เท่านั้น ถึงแม้จะเป็นอัศวินผู้เพียบพร้อมสักเพียงใด แต่เนื่องจากลานเซลอตนั้นถือได้ว่าเป็นผู้ที่ไม่บริสุทธิ์จากบาปที่แอบลักลอบเป็นชู้รักของราชินีเกว็นนีเวียร์ทำให้เขาไม่สามารถทำภารกิจในคราวนี้ให้สำเร็จได้ ซึ่งผู้ที่พบจอกนั้นก็คือเซอร์กาลาฮัดนั่นเอง

มีตำนานมากมายกล่าวถึงความรักต้องห้ามระหว่างลานเซลอตกับราชีนีเกว็นนีเวียร์ บ้างก็ว่าลานเซลอตนั้นพบรักกับพระนางก่อนที่จะอภิเษกกับกษัติย์อาเธอร์เสียอีก ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้วว่าลานเซลอตนั้นนอกจากจะเป็นอัศวินคนสนิทของอาเธอร์แล้วนั้น ยังได้รับเกียรติให้เป็นองครักษ์ประจำตัวราชินีเกว็นนีเวียร์อีกด้วย ครั้งหนึ่งเมื่อทั้งสองได้ลักลอบมีสัมพันธ์กัน เซอร์มอร์เดร็ดได้ล่วงรู้ถึงความสัมพันธ์นี้เข้าจึงได้นำความไปแจ้งให้กษัตริย์อาเธอร์ทราบ พระองค์จึงได้มีรับสั่งให้นำตัวราชินีไปเผาทั้งเป็น เมื่อลานเซลอตรู้ว่าพระนางต้องโทษประหารจึงได้เข้าชิงตัวพระนางระหว่างที่ถูกมัดรอเผาที่เสากลางเมืองทำให้เกิดการต่อสู้กันระหว่างเหล่าอัศวินและเซอร์ลานเซลอต การต่อสู้ส่งผลให้ เซอร์กาเร็ต หนึ่งในอัศวินโต๊ะกลมผู้มีศักดิ์เป็นน้องของเซอร์กาเว็นต้องจบชีวิตลง การเสียชีวิตของเซอร์การเร็ตทำให้เหตุการณ์ในครั้งนั้นทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ถึงขนาดที่เซอร์กาเว็นลั่นวาจาว่าจะเอาชีวิตเซอร์ลานเซลอตเพื่อแก้แค้นให้น้องชายให้ได้ ความสัมพันธ์ของเหล่าอัศวินโต๊ะกลมจึงเริ่มสั่นคลอนและไม่มีทางเหมือนเดิมได้อีกต่อไป

เมื่อช่วยชีวิตราชินีเกว็นนีเวียร์ได้สำเร็จ ทั้งสองจึงได้หลบหนีไปอาศัยอยู่ปราสาทที่ห่างไกลออกไป บางตำนานกล่าวว่าทั้งสองหนีไปที่ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างนั้นก็เกิดสงครามที่คาเมลอตเนื่องจากเซอร์มอร์เดร็ดต้องการเป็นใหญ่ จึงได้ตั้งตัวเป็นศัตรูกับอาเธอร์ ด้วยความที่ลานเซลอตรู้สึกผิดและยังจงรักภักดีต่อกษัตริย์ของตนอยู่ จึงได้ส่งสาส์นเตือนไปยังอาเธอร์ให้ระงับศึกไปก่อนในช่วงเจ็ดวันนี้ มิฉะนั้นพระองค์และเหล่าอัศวินโต๊ะกลมจะต้องจบชีวิตลงในสงครามนี้ อาเธอร์จึงทำตามและส่งสาส์นไปขอระงับศึกกับมอร์เดร็ด แต่ยังไม่ทันพ้นวันที่หกสงครามก็ได้เปิดฉากขึ้นและอาเธอร์ถูกสังหารด้วยคมดาบของมอร์เดร็ด ทางด้านลานเซลอตนั้นเพิ่งจะรวบรวมกองทัพเพื่อมารบช่วยอาเธอร์ได้สำเร็จ แต่เมื่อเขามาถึงก็สายไปเสียแล้ว ภายหลังสงครามสิ้นสุด ราชินีเกว็นนีเวียร์ได้หนีไปบวชอยู่ในที่ห่างไกลส่วนลานเซลอตไม่อาจทำใจยอมรับกับทุกสิ่งที่เกิดขึ้นเขาจึงขังตัวเองและไม่ออกมาเผชิญโลกภายนอกอีกเพื่อเป็นการไถ่โทษในทุกอย่างที่เขาได้ทำลงไป

แม้จะไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัดว่าลานเซลอตมีตัวตนจริงหรือเป็นเพียงตำนานหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ แต่จากเรื่องของอัศวินผู้ยิ่งใหญ่นี้ทำให้เราเรียนรู้ว่ามิตรภาพของเพื่อนนั้นมีค่ายิ่ง เราควรเก็บรักษามิตรภาพนั้นเอาไว้ให้ดี หากสูญเสียมันไปแล้วย่อมยากที่จะนำกลับคืนได้อีก ดังเช่นลานเซลอตที่พยามทำทุกวิถีทางเพื่อจะเชื่อมความสัมพันธ์ของเขากับเหล่าอัศวินและเจ้านายที่รักอีกครั้งแต่ไม่สำเร็จ นอกจากนี้ความแตกแยกยังเป็นเหตุให้ศัตรูอาศัยช่วงเวลาอ่อนไหวในการเข้าโจมตีอีกด้วย


อ้างอิง

ขจรศักดิ์ เลาห์สัฒนะ. (2554). เซอร์ลานสล็อต อัศวินอหังการ์. สืบค้นเมื่อ 3 ตุลาคม 2558 จาก: http://www.geocities.ws/kyo_petrucci/legendkingarthur03.html

Sir Lancelot at Camelot. (2007).  Retrieved October 3, 2015 from: http://www.sir-lancelot.co.uk

Joe, J. (2000). Lancelot du lac. Retrieved October 3, 2015 from: http://www.timelessmyths.com/arthurian/lancelot.html

Currin, N. (2009). Sir Lancelot Du Lac (Launcelot). Retrieved October 3, 2015 from: http://www.kingarthursknights.com/knights/launcelot.asp

อ่านเพิ่มเติม »

เนเฟอร์ติติ ราชินีผู้งดงามแห่งไอยคุปต์

โดย นิสาธาร  พุ่มเรือง

ในบรรดาราชินีที่โด่งดังและงดงามมากที่สุดในประวัติศาสตร์อียิปต์คงจะหนีไม่พ้นพระนางเนเฟอร์ติติราชินีแห่งอียิปต์โบราณซึ่งได้รับการยกย่องมานานหลายพันปีว่าเป็นเจ้าของใบหน้าที่งดงามสมบูรณ์แบบ ดังจะเห็นในรูปปั้นท่อนบนของพระนางที่เป็นหลักฐานยืนยันความงดงามนี้ ซึ่งรูปปั้นนี้เองได้จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์อียิปต์แห่งชาติในนครเบอร์ลินประเทศเยอรมนี

ด้วยพระศิริโฉมอันงดงามนี้ ตามตำนานกล่าวไว้ว่า อียิปต์ไม่เคยสร้างหญิงใดจะงามเท่า และพระศิริโฉมของพระนางยังถูกประดับอยู่ทุกวิหารทั่วแผ่นดิน แต่ทว่าเรื่องราวชิวิตในบั้นปลายของพระนางกลับเลือนหายไปจากหน้าของประวัติศาสตร์อย่างน่าอัศจรรย์


รูปปั้นพระนางเนเฟอร์ติติ 
แสดงในพิพิธภัณฑ์อียิปต์แห่งชาติประเทศเยอรมนี
ที่มา : http://0.static-atcloud.com/

ชีวิตวัยเด็กของพระนางเนเฟอร์ติติยังไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าบิดาและมารดาของพระนางเป็นใคร แต่มีทฤษฎีกล่าวไว้ 3 ทฤษฎี คือ ทฤษฎีแรก พระนางอาจเป็นธิดาของเอย์ (ผู้ที่ได้เป็นฟาโรห์หลังฟาโรห์ตุตันคาเมน) กับมเหสี เทย์ และ อีกทฤษฎีกล่าวไว้ว่า พระนางคือเจ้าหญิงทาดูคีปา ธิดาของกษัตริย์ทัชรัตตาแห่ง มีทานนี โดยในคำภีร์โบราณได้มีการกล่าวถึงชื่อ นีเมรีธิน ที่เป็นอีกชื่อหนึ่งของพระนาง แต่ยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการ หรืออีกทฤษฎีคือ พระนางเนเฟอร์ติติเป็นธิดาของ ซีดามุน ซึ่งเป็นน้องสาวต่างมารดาของฟาโรห์อาเมนโฮเทปที่ 3 เนื่องจากมีหลักฐานที่บ่งบอกว่าทั้งสองมีความสัมพันธ์ทางสายเลือดกัน แต่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่อาจสรุปได้ว่าพระนางเนเฟอร์ติติเป็นบุตรของใคร

ต่อมา พระนางเนเฟอร์ติติได้อภิเษกสมรสกับอาเมนโฮเทปที่ 4 แต่ทว่าในตอนแรกอาเมนโฮเทปที่ 4 นั้นมี พระคู่หมั้นอยู่แล้วคือ เจ้าหญิงสตามันแต่พระองค์ ไม่ยินยอมที่จะอภิเษกด้วยโดยพระองค์ได้ทำการผัดผ่อนเรื่องงานอภิเษกเรื่อยมา จนกระทั่งเจ้าหญิงสตามันสิ้นพระชนม์ และเมื่อพระราชบิดาของพระองค์ ฟาโรห์อาเมนโฮเทปที่ 3 สิ้นพระชนม์ อาเมนโฮเทปที่ 4 (ในเวลาต่อมาได้เปลี่ยนพระนามใหม่ว่า อเคนาเตน) จึงอภิเษกสมรสกับพระนางเนเฟอร์ติติและแต่งตั้งให้เป็นราชินีแห่งอิยิปต์ ซึ่งทรงมีธิดาด้วยกัน 6 พระองค์ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่พระนางไม่ทรงมีโอรสกับองค์ฟาโรห์เลย ดังนั้นโอรสของฟาโรห์อาเมนโฮเทปที่ 4 กับภรรยาอื่นจึงได้ครองบัลลังก์แทนซึ่งโอรสของฟาโรห์อาเมนโฮเทปที่ 4 องค์นั้นคือ ฟาโรห์ตุตันคาเมน ผู้โด่งดังนั่นเอง

ภายหลังจากครองราชได้ไม่นานฟาโรห์อาเมนโฮเทปที่ 4 ได้ปฏิรูปศาสนาโดยให้ประชาชนหันไปนับถือเทพเจ้าเพียงองค์เดียวคือ สุริยเทพอาเตน ทั้งนี้เพื่อลดทอนอำนาจของเหล่านักบวช และพระองค์เองก็ได้ทรงเปลี่ยนพระนามเป็น อเคนนาเตน การปฏิรูปศาสนาในครั้งนี้ฟาโรห์อเคนนาเตน ทรงได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากพระนางเนเฟอร์ติติผู้เป็นมเหสีของพระองค์ซึ่งพระนางทรงมีอิทธิพลกับองค์ฟาโรห์มากในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ จากเหตุการณ์การปฏิรูปศาสนานี้ได้สร้างความไม่พอใจให้กับเหล่านักบวชและประชาชนเป็นอันมาก ทำให้หลังจากปฏิรูปศาสนาได้ไม่นานฟาโรห์อเคนนาเตน ได้ทรงมีบัญชาให้สร้างเมืองหลวงขึ้นมาใหม่คือเมืองอเคนาเตน ที่อยู่ห่างไปทางเหนือของเมืองหลวงเดิมคือเมืองทีบส์ ทรงย้ายสมาชิกในราชวงศ์ ตลอดจนขุนนาง และข้าราชบริพารใกล้ชิดไปอยู่ที่เมืองหลวงใหม่นี้ ที่ใจกลางนครมีมหาวิหารของเทพอาเตนกับมีพระราชวังหลวง และมีอาคารพักอาศัยของข้าราชบริพารอยู่รอบนอก


ภาพแกะสลักของพระนางเนเฟอร์ติติ กับฟาโรห์อเคนาเตน และพระธิดาทั้งสามพระองค์ 
แสดงในพิพิธภัณฑ์อียิปต์แห่งชาติประเทศเยอรมนี

ศิลปกรรมภายในพระราชวังหรือวิหารต่างๆในเมืองอเคนาเตน มักจะมีรูปสลักหรือภาพวาดเกี่ยวกับ พระนางเนเฟอร์ติติซึ่งเป็นหลักฐานว่า พระนางเนเฟอร์ติติเป็นยอดหญิงงามแห่งยุคโบราณอย่างแท้จริง ภาพวาดที่น่าพิศวงชิ้นหนึ่งแสดงฉากพระราชินีเนเฟอร์ติติผู้ดุดันในชุดนักรบขณะฟาดคฑาใส่เหล่าข้าศึก ส่วนภาพอื่นๆ มักจะเป็นรูปพระนางกับฟาโรห์อเคนาเตน และพระธิดา งานศิลปะที่เกี่ยวข้องกับพระนางเนเฟอร์ติตินั้นมีอยู่มากมายทั้งที่ตามปกติแล้วภาพในวิหารมักจะจำกัดเฉพาะองค์ฟาโรห์เท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากองค์ฟาโรห์อาจพยายามป่าวประกาศว่า พระนางก็ได้ปกครองเคียงข้างพระองค์ในฐานะคู่เทวราชที่ศักดิ์สิทธิ์สมกัน

ในช่วงท้ายของรัชสมัยอเคนาเตน เรื่องราวชิวิตของพระนางได้หายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ แต่จะเป็นด้วยเหตุผลใดนั้นยังไม่แน่ชัด แต่ได้มีการตั้งข้อสันนิษฐานเอาไว้อย่างหลากหลาย อาทิเช่น พระนางอาจสิ้นพระชนม์ก่อนพระสวามีจึงทำให้เรื่องราวของพระนางหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ หรืออีกข้อสันนิษฐานหนึ่งคือ ในครั้งที่ทรงร่วมกับองค์ฟาโรห์ปฏิรูปศาสนาได้สร้างความไม่พอใจให้บุคคลหลายกลุ่มจึงทำให้มีศัตรูมากมายจึงต้องทรงปกครองอียิปต์แบบไม่เปิดเผยพระองค์ และได้ทรงพยายามประนีประนอมกับบุคคลดังกล่าวโดยการรื้อฟื้นศาสนาเดิมขึ้นมาใหม่ แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ เพราะหลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระนางได้มีการทำลายภาพของพระนางตามพระราชวังและวิหารต่างๆ

อีกข้อสันนิษฐานหนึ่งกล่าวว่า พระนางเนเฟอร์ติติได้ครองบัลลังก์หลังพระสวามีสิ้นพระชนม์โดยใช้ชื่อว่า สเมนกาเร โดยทรงครองราชย์ในระยะเวลาสั้นๆ ที่เมือง อเคนาเตน ก่อนที่ฟาโรห์ตุตันคาเมนจะขึ้นครองราชย์แล้วย้ายเมืองหลวงกลับไปที่เมืองทีบส์ดังเดิม

แม้ว่าภายหลังจากพระสวามีของพระนางสิ้นพระชนม์ชิวิตของพระนางได้เกิดความพลิกผันเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นเหตุให้เรื่องราวชีวิตของพระนางเลือนหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ของอียิปต์ และก็ยังคงเป็นปริศนาจนถึงปัจจุบัน แต่ความยิ่งใหญ่และความงดงามของพระนางเนเฟอร์ติติก็ยังเป็นที่เลื่องลือไม่เสื่อมคลาย แม้กาลเวลาจะล่วงผ่านมานับพันปีแล้วก็ตาม


อ้างอิง

ขจรศักดิ์ เลาห์สัฒนะ. (ม.ป.ป.). Nefertiti.ค้นเมื่อ 22 กันยายน 2558 จาก http://www.geocities.ws/kyo_petrucci/storynefertiti.html

ชญา ปิยะชาติ. (2556). สตรีทรงอำนาจของโลกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ : ยิปซี กรุ๊ป.
นายยะ. (2552). รูป เนเฟอร์ติติ ราชินีที่สวยที่สุดและทรงงดงามกว่าคลีโอพัตรา. ค้นเมื่อ 22 กันยายน 2558 จาก http://atcloud.com/stories/49207

ไบรอัน เฟแกน. (2548). อียิปต์ ปฐพีแห่งฟาโรห์. แปลจาก Egypt of the pharaohs. กรุงเทพฯ : อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.

ยุวดี. (2557). ประวัติศาสตร์ เนเฟอร์ติติ ราชินอียิปต์ผู้หายสาปสูญ.  ค้นเมื่อ 22 กันยายน 2558 จาก http://teen.mthai.com/variety/80067.html

รัฐ มหาดเล็ก และคณะ. (2549). พงศาวดารไอยคุปต์. กรุงเทพฯ : พี วาทิน พับลิเคชั่น.

วชิรญา บัวศรี. (2509). นางพญาไอยคุปต์. กรุงเทพฯ : คลังวิทยา.

อ่านเพิ่มเติม »

อธีนา...เทพีแห่งสติปัญญาและการสงคราม

โดย ภัสวรรณ ถวิลไพร

ในปัจจุบันเหล่าเทพเจ้า วีรบุรุษและสัตว์ในตำนานของกรีกได้ถูกหยิบยกนำมาสร้างเป็นทั้งภาพยนตร์ การ์ตูนและวรรณกรรมมากมาย หรือแม้กระทั้งวีดีโอเกมเองก็ยังได้นำเทพเจ้ากรีกมาเป็นตัวละครภายในเกมอีกด้วย  ทำให้หลายๆ คนได้คุ้นเคยกับชื่อของเหล่าเทพเจ้ากรีกอยู่บ้าง โดยเฉพาะเทพแห่งโอลิมปัส และในบรรดาเทพทั้งหลาย ได้มีเทพีองค์หนึ่งซึ่งได้ถูกยกให้เป็นเทพีแห่งปัญญาและการสงคราม ผู้ยึดมั่นในความถูกต้อง และยังเป็นเทพีที่ได้รับการนับถือจากชาวกรีกมากที่สุดองค์หนึ่ง นั่นคือ “อธีนา”

เทพีอธีนา เป็นธิดาของเทพีเมทิส ซึ่งเป็นเทพีแห่งภูมิปัญญา แต่เนื่องจากมีคำทำนายว่าลูกที่เกิดจากเมทิสจะเป็นผู้โค่นบัลลังก์ของซูส เมทิสจึงถูกซูสกลืนเข้าไปในท้องขณะที่พระนางยังตั้งครรภ์อยู่ แต่อธีนาก็ไม่ได้รับอันตรายแต่อย่างใด จนวันหนึ่งขณะที่ซูสกำลังประชุมกับเหล่าเทพ พระองค์เกิดปวดเศียรอย่างรุนแรง ไม่มีเหล่าเทพองค์ใดช่วยคลายอาการปวดนี้ได้ จึงได้ให้เฮเฟสตัสใช้ขวานผ่าพระเศรียรออก ปรากฏเป็นเทพีอธีนาที่โตเต็มวัย สวมชุดเกาะ ถือหอกที่มือ พร้อมทั้งกระโดดออกมา โดยมีนกฮูกที่แสดงความเฉลียวฉลาดกับโอลีฟ (มะกอก) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความหวังและชัยชนะ เป็นสัตว์และต้นไม้ประจำพระองค์ ที่ออกมาพร้อมกัน



ถึงแม้จะมีคำทำนายดังกล่าวแต่อธีนาก็กลับกลายเป็นถึงธิดาคนโปรดของซุส พระองค์มีสายตาที่เฉลียบแหลม สามารถมองเหตุการณ์ต่างๆได้อย่างทะลุปรุโปร่ง ยังยึดมั่นความยุติธรรมและความถูกต้อง ทำให้พระองค์มักจะประทับอยู่เคียงข้างซุสในเวลาประชุมเหล่าเทพเพื่อคอยให้ความเห็นและคำปรึกษาแก่พระบิดาอยู่เสมอ

นอกจากจะเป็นเทพีแห่งปํญญาแล้ว พระองค์ยังเป็นตัวแทนสงครามที่เอาชนะด้วยกลยุทธ์ ซึ่งต่างจากแอรีส เทพเจ้าแห่งสงครามที่เน้นการใช้พละกำลังมากกว่า พระองค์จะคอยสนับสนุนเหล่าวีรบุรุษให้สามารถทำภารกิจที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จ และยังมีเทพีไนกี้ เทพีแห่งชัยชนะอยู่บทพระหัตถ์ขวาของพระองค์อีกด้วย

หลังจากอธินาได้ถือกำเนิดขึ้นไม่นาน ก็ได้เกิดเหตุการณ์ให้เทพีอธีนาได้แสดงออกถึงความมีปัญญาอันเฉลียวฉลาดของพระองค์ขึ้น เหตุการณ์ดังกล่าวได้เริ่มขึ้นเมื่อผู้นำชาวฟีนีเชียคนหนึ่งนามว่าซีครอบส์ ได้พาเหล่าประชาชนอพยพเข้ามายังกรีก และได้ร่วมกันสร้างนครขึ้นในแคว้น Attica ภายได้การเฝ้ามองของเหล่าเทพโอลิมปัส และเมื่อนครดังกล่าวเริ่มมีความสวยงามและความน่าอยู่มากขึ้น เหล่าเทพก็ต่างแสดงความปรารถนาที่จะครองครองและตั้งชื่อนครแห่งนี้ ทำให้เกิดการโต้เถียงระหว่างเทพ จนสุดท้ายเหลือเพียงโพไซดอนและอธีนาที่ยังแก่งแย่งกันอยู่

เพื่อยุติปัญหาที่เกิดขึ้นซุสจึงให้ต่างฝ่ายสร้างของที่มีประโยชน์ที่สุดให้แก่มนุษย์ โพไซดอนได้สร้างม้าขึ้นมา (บางตำนานก็ว่าโพไซดอนได้สร้างน้ำพุด้วย) ส่วนอธีนาสร้างต้นมะกอก ที่มนุษย์สามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน เนื่องจากชาวกรีกไม่ชอบการสงครามมากนัก และเห็นถึงประโยชน์มากมายของต้นมะกอก ชาวกรีกจึงตกลงเลือกมะกอกของอธีนาเหนือม้าของโพไซดอน  และตั้งชื่อนครว่า “เอเธนส์” เพื่อเป็นเกียรติแก่อธีนา


ที่มา : http://www.indepencil.com/

โดยปกติแล้วอธีนาเป็นเทพีในฝ่ายดีไม่ทำร้ายผู้อื่น แต่ในยามที่โกรธแล้วอธีนาก็พร้อมจะระเบิดอารมณ์อันโกรธเกรี้ยวและน่ากลัวของพระองค์ออกมา เช่น การสาปเมดูซ่าให้มีหน้าตาน่าเกลียดน่ากลัวและมีผมเป็นงู การสั่งเพอร์ซีอุสให้ไปสังหารเมดูซ่าที่หมายจะล้างแค้นพระองค์ และเพื่อไม่ให้ใครกล้าท้าทายเทพเจ้า พระองค์ได้สาปให้อรัคเน่ (ผู้ทะนงในความสามารถด้านการทอผ้าของตนแถมยังท้าทายพระองค์ให้ลงมาประลองฝีมือทอผ้าด้วย) ให้กลายเป็นแมงมุมและถักทอใยตลอดไป

ถึงแม้อธีนาในยามโกรธจะทำให้ผู้คนหวาดกลัว แต่พระองค์ก็คอยให้ความช่วยเหลือ ดูแลเหล่าวีรบุรุษและมนุษย์อยู่เสมอ ทำให้ชาวกรีกนับถือเทพีองค์นี้มากและได้สร้างวิหารเพื่อถวายแด่อธีนาขึ้นมามากมาย รวมทั้งวิหารที่งดงามที่สุด นั่นคือ พาร์ธีนอน ตั้งอยู่ที่เนินอะโครโปลิส ในกรุงเอเธนส์ วิหารดังกล่าวถือเป็นวิหารที่สวยงามและยิ่งใหญ่มากที่สุดวิหารหนึ่งและมีชื่อเสียงโด่งดังมาจนถึงปัจจุบัน

ในยุคสมัยของความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถอธิบายสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นมาได้นั้น เหล่าเทพและตำนานต่างๆได้ถูกลดบทบาทลงกลายเป็นแค่เพียงเทพนิยายปรัมปราหรือเรื่องเล่าสืบต่อกันมา จากความเชื่อในเรื่องเทพเจ้าของคนในอดีต ก็ได้กลายเป็นเพียงความชอบของคนในปัจจุบัน แต่ด้วยเรื่องราวที่เข้มข้นของบรรดาเทพที่มีร่างกายและความรู้สึกนึกคิดที่ไม่ต่างจากมนุษย์ทั่วไป ทำให้เรื่องราวของเทพ วีรบุรุษและสัตว์ในตำนานของกรีกยังคงเป็นที่ชื่นชอบ ได้รับความสนใจจากผู้คนเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนี้


อ้างอิง

ตำนานเทพเจ้ากรีก(ตอนที่9):อาธีน่า เทวีแห่งปัญญา. (2011). ค้นเมื่อ 10 กันยายน 2558 จาก
http://www.indepencil.com/ตำนานเทพเจ้ากรีกตอนที่9/

อาเธน่า (Athena) เทพีแห่งปัญญา สงคราม และงานหัตถกรรม. (2010). ค้นเมื่อ 10 กันยายน 2558 จาก http://variety.phuketindex.com/faith/อาเธน่า-athena-2935.html

Kititus OP. (2556). Athena อาเธน่า เทพีมิเนอร์วาผู้ครองปัญญา. ค้นเมื่อ 10 กันยายน 2558 จาก
http://legendtheworld.blogspot.com/2013/09/athena-goddess-warfare.html

อ่านเพิ่มเติม »

มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King Jr.)

โดย วรินทร์รัตน์ สิทธิเสนา

ในประเทศแถบแอฟริกา การเหยียดสีผิวถือเป็นเรื่องที่ร้ายแรงมาก  คนผิวดำถูกจำกัดสิทธิ์อย่างมากมาย อาทิเช่น การเข้าถึงการศึกษา  การสาธารณูปโภค รวมถึงการใช้สิทธิ์ต่างๆ ในฐานะพลเมืองที่เท่าเทียมกัน จึงเป็นเหตุให้ชายผู้หนึ่งลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อต่อต้านการเหยียดสีผิวและเรียกร้องสิทธิที่คนผิวสีสมควรที่จะได้รับ ชายคนนั้นมีชื่อว่า “ มาร์ติน   ลูเธอร์  คิง  จูเนียร์” (Martin Luther  King Jr.)


ที่มา http://p4.s1sf.com/

มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ เกิดวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2472  เป็นที่รู้จักในนามของ “นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวอเมริกัน” เขาเกิดที่แอตแลนตา รัฐเจอร์เจียร์ และเป็นลูกของพระแบปทิส ลูเธอร์จบการศึกษาด้านศาสนา จากมหาวิทยาลัยโครเซอร์  มหาวิทยาลัยแพนซิลวาเนีย และมหาวิทยาลัยบอสตัน เขามีศาสนาเข้ามาอยู่ในชีวิตของเขาตั้งแต่เด็กและนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาทำงานอย่างหนักเพื่อความเท่าเทียมกันของมนุษยชนในฐานะที่เขาเป็นคนผิวดำคนหนึ่ง

แม้กระทั่งในอเมริกาคนผิวดำถูกจำกัดสิทธิต่างๆมากมาย เช่น  สิทธิในการขึ้นรถเมล์  การสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และยังรวมไปถึงการเหยียดสีผิวที่รุนแรงมากในสหรัฐอเมริกา จึงเป็นเหตุให้เขาหันมาเรียกร้องสิทธิของคนผิวดำมาตลอดชีวิตและในที่สุดเขาก็ประสบความสำเร็จ เนื่องจากศาลพิจารณาและตัดสินว่า  การแบ่งแยกที่นั่งในการขึ้นรถเมล์เป็นเรืองที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และนั่นเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้เขาได้ขึ้นเป็นผู้นำของกระบวนการเคลื่อนไหวด้านสิทธิพลเมืองอย่างสันติในสหรัฐอเมริกา

ผลงานที่โดดเด่นและทำให้เขามีชื่อเสียง คือ การพูดสุนทรพจน์เรื่อง “ฉันมีความฝัน” (I have a dream) ที่อนุสาวรีย์ลิงคอล์นในวอชิงตัน ดี.ซี. ในครั้งนั้นมีผู้เข้าร่วมมากถึง 200,000 คน โดยมีเนื้อหาปลอบใจคนผิวดำว่า ถึงแม้ว่าวันนี้จะพบกับความยากลำบากแค่ไหน และพรุ่งนี้จะเป็นเช่นไร เราก็ยังมีความฝัน และความฝันนั้นจะเป็นความฝันที่ฝังลึกลงไปในความฝันของชาวอเมริกัน  ฝันที่ว่าประเทศนี้จะสามารถดำรงอยู่ด้วยความหมายที่แท้จริงของหลักการที่บอกว่า “มนุษย์ทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน”


ที่มา http://writersrelief.com/

การพูดสุนทรพจน์ในครั้งนั้น ได้ถูกยอมรับว่าเป็นหลักการสำคัญในขบวนการเคลื่อนไหวด้านสิทธิพลเมืองแบบสันติ และมีเนื้อหาที่พูดถึงการเท่าเทียมกันซึ่งมันเป็นสิ่งที่ปรากฏชัดเจนอยู่ในรัฐธรรมนูญของประเทศสหรัฐอเมริกา  การพูดสุนทรพจน์ในครั้งนี้ยังเป็นการเคลื่อนไหวหรือการประท้วงแบบสันติ  มีเนื้อหาที่พูดถึงความฝันและความเท่าเทียมกันของมนุษย์ ไม่ได้มีการพูดถึงความรุนแรงใดๆ ทั้งสิ้น

การพูดสุนทรพจน์ของมาร์ติน  ลูเธอร์  และการตัดสินของศาลในครั้งนั้นทำให้เขาได้รับชัยชนะอย่างยิ่งใหญ่ และไม่ใช่เพียงแค่เขาเท่านั้นที่ชนะ  ยังรวมไปถึงคนผิวดำทั้งมวลที่อาศัยอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาด้วย  และนอกจากนั้นเขายังให้ความสนใจกับการปรับปรุงสภาพสังคมของคนผิวดำและคนยากจนให้มีสภาพสังคมที่ดีขึ้นอีกด้วย

แต่แล้วในที่สุดเขาก็ต้องจบชีวิตลงจากการถูกลอบยิงที่เมืองเมมฟิส รัฐเทนเนสซี เขาเสียชีวิตลงในวันที่ 4 เมษายน ปี 1968 โดยคนที่ยิงเขาคือ เจมส์  เอิร์ล  เรย์  ซึ่งเป็นคนผิวขาว และถูกจับกุมในภายหลังที่ประเทศอังกฤษ  โดยถูกตัดสินให้ติดคุกนานถึง 99 ปี

ความพยายามและความมีมานะของเขาทำให้เขาสามารถเรียกร้องสิทธิที่เขาและคนผิวดำที่อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาสมควรที่จะได้รับมาได้ และเขายังได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านความยุติธรรมทางเชื้อชาติมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ด้วย


อ้างอิง

personworld  directory.    เขียนเมื่อวันที่ 25 พ.ย 2557.  มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King Jr.). (ออนไลน์). สืบค้นจาก: http://personworld.exteen.com/20141125/martin-luther-king-jr

Siam Intelligence. ค้นเมื่อวันที่ 22 พ.ย. 58.   ข้าพเจ้ามีความฝัน.   (ออนไลน์). สืบค้นจาก: http://www.siamintelligence.com/i-have-a-dream/

Sanook.   เขียนเมื่อวันที่ 26 พ.ย. 56.  มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์. (ออนไลน์). สืบค้นจาก http://guru.sanook.com/4113/

อ่านเพิ่มเติม »

ลุดวิจ ฟาน เบโทเฟน (Ludwig van Beethoven)

โดย รินรดา  คมฤทัย

ลุดวิจ ฟาน เบโทเฟน นักดนตรีและนักประพันธ์เพลงในยุคคลาสสิค เป็นบุคคลผู้ริเริ่มดนตรียุคโรแมนติก ผู้ที่ไม่เคยย่อท้อต่ออุปสรรคทางการได้ยิน และสามารถสร้างสรรค์ผลงานการประพันธ์ออกมาได้อย่างสวยงาม

ลุดวิจ ฟาน เบโทเฟน (Ludwig van Beethoven) เกิดที่เมืองบอนน์ ประเทศเยอรมัน ในวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ.1770 เป็นบุตรของครอบครัวนักดนตรีโจฮันน์ ฟาน เบโทเฟน นักร้องประจำราชสำนักแห่งกรุงบอนน์ และมาเรีย แมคดาเลนนา โดยครอบครัวของเบโทเฟนนั้นมีเชื้อสายเฟลมิช จากเมืองเมเชเลน ประเทศเบลเยียม แม่ของเบโทเฟนเสียชีวิตเนื่องจากโรควัณโรคกำเริบ ทำให้พ่อติดเหล้าอย่างนักและโดนไล่ออกจากงาน เบโทเฟนจึงต้องทำหน้าที่ดูแลบิดาและน้องของเขา



เบโทเฟนเริ่มเล่นดนตรีตอนอายุ 5 ปี โดยการบังคับจากพ่อที่หวังจะทำให้เบโทเฟนมีความสามารถเหมือนกับโมสาร์ท จากการกระทำของพ่อทำให้เบโทเฟนเกิดความรู้สึกเกลียดการเล่นดนตรี แต่เนื่องจากในตอนนั้นเขามีภาระทางบ้านที่ต้องดูแล จึงเป็นแรงผลักดันให้เบโทเฟนตั้งใจเรียนดนตรี จนสามารถแสดงคอนเสิร์ตครั้งแรกได้เมื่อตอนอายุ 7 ขวบ ที่เมืองโคโลญจน์ และเขาได้เริ่มเรียนดนตรีอย่างจริงจังกับคริสเตียน กอทท์ลอบ นีฟ หัวหน้าวงดนตรีในสำนักของเจ้าเมืองบอนน์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นบุคคลผู้ที่สร้างความสามารถทางด้านดนตรีให้กับเบโธเฟนมากที่สุด เบโธเฟนเริ่มงานด้านดนตรีในตำแหน่งผู้ช่วยของ นีฟ ต่อมาได้รับตำแหน่งหัวหน้าวงดนตรีในสำนักของเจ้าเมืองบอนน์ เมื่อมีอายุได้ 12 ปี ก็เริ่มที่จะประพันธ์เพลงเปียโนได้ด้วยตนเอง

เบโทเฟนได้พบกับโยเซฟ ไฮเดน บุคคลผู้ที่เคยทำงานอยู่ในราชสำนักกรุงบอนน์ ในปี 1792 ขณะที่ไฮเดนเดินทางกลับจากอังกฤษและแวะเยี่ยมราชสำนักกรุงบอนน์ที่ทำงานเก่าของตน เขาได้เห็นถึงความสามารถและแววอัจฉริยะของเบโทเฟน จึงได้เสนอให้เบโทเฟนไปเรียนดนตรีกับตนเองที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรียขณะอายุ 16 ปี ตอนอยู่เวียนนาเบโทเฟนมีโอกาสเล่นดนตรีให้โมสาร์ทชม โมสาร์ทได้ชื่นชมในความสามารถของเบโทเฟนอย่างมากถึงขนาดกล่าวว่า "จงคอยดูเด็กคนนี้ให้ดี วันหนึ่งเขาจะดังก้องไปทั่วโลก" ขณะที่เบโทเฟนประสบความสำเร็จในฐานะนักเปียโนเอก พ่อของเขาก็ได้ป่วยหนักและเสียชีวิตลง

ประมาณปี 1796 อายุ 26 ปี เบโทเฟนได้เริ่มมีปัญหาหูตึง ปี 1800 หันมาประพันธ์เพลงอย่างจริงจัง ได้ย้ายไปอยู่ในเมืองเล็กๆ นอกเวียนนาชื่อ Heiligenstadi ตามคำแนะนำของแพทย์ในปี 1801 ประมาณปี 1814 เขาได้เริ่มประพันธ์เพลงที่มีพลังเต็มไปด้วยความรู้สึกที่ระบายออกมาอย่างรุนแรงและงดงามเพราะสูญเสียการได้ยินเสียงสูงๆ เป็นเพลงที่แสดงออกถึงอารมณ์ที่ชัดเจน มีความเสรีและแหวกแนว แตกต่างจากแบบแผนของเพลงในสมัยนั้น จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า "เป็นนักดนตรีนอกแบบแผน ทำให้เกิดอันตรายต่อศิลปะทางดนตรี"

ปี 1819 เขาได้หยุดแสดงคอนเสิร์ตในที่สาธารณะเนื่องจากหูทั้งสองข้างของเขาได้สูญเสียการได้ยินอย่างถาวร แต่ยังคงประพันธ์เพลงต่อมาจนเกิดเพลง Symphony no.3 ซึ่งเป็นเพลงแรกที่ใส่อารมณ์และความรู้สึกอย่างรุนแรงโดยละทิ้งกฎเกณฑ์ของยุคคลาสสิคทั้งหมด นอกจาก Symphony no.3 แล้วเพลงที่ได้ประพันธ์ตอนสูญเสียการได้ยินยังมี Symphony no.5 และ Symphony no.9 ด้วย เบโทเฟนปรากฎตัวครั้งสุดท้ายในการแสดงคอนเสิร์ต Symphony no.9  ในปี 1824

ปี1826 โรคลำไส้ได้กำเริบและทำให้อาการของเบโทเฟนทรุดหนักลง จนในวันที่ 26 มีนาคม 1827 เบโทเฟนได้เสียชีวิตลงที่กรุงเวียนนา ขณะที่มีอายุ 57 ปี และศพของเขาได้ฝังอยู่ที่สุสานในกลางกรุงเวียนนา

ลักษณะเพลงของเบโทเฟนคือการใช้จังหวะขัดและการใช้เสียงที่ไม่กลมกลืนในการสร้างความตึงเครียดและความตื่นเต้นในบทเพลง รวมถึงการใช้ความเงียบสร้างความตึงเครียดด้วย ใช้เทคนิคและรูปแบบเพลงในยุคคลาสสิค แต่ได้เพิ่มพลังความเข้มข้นลงไปทำให้ดนตรีในยุคนั้นจึงเป็นที่มาของดนตรีในรูปแบบใหม่

ผลงานในการเปลี่ยนแนวดนตรีของเขา ทำให้นักวิชาการทางดนตรีตั้งชื่อยุคของดนตรีในสมัยนั้นขึ้นใหม่ขึ้นว่า ยุคโรแมนติก นั่นเอง


อ้างอิง

บีโธเฟน  อัฉริยะผู้ไม่ยอมแพ้. (2010). ค้นข้อมูล 3กันยายน2558, จาก www.unigang.com/Article/5367

ลุควิค ฟาน เบโธเฟน (Ludwig van Beethoven). (2014). ค้นข้อมูล 29สิงหาคม2558, จาก https://marinaiso.wordpress.com/

ลุดวิก แวน บีโธเฟน (Ludwig van Beethovan). (2014). ค้นข้อมูล 29สิงหาคม2558, จาก http://personworld.exteen.com/

Ludwig van Beethoven. (2015). ค้นข้อมูล 3กันยายน2558, จาก http://en.wikipedia.org/

อ่านเพิ่มเติม »

เขมรแดง : การปฏิวัติของประชาชน

โดย มัทนียา เสาสูง

พูดถึงโศกนาฏกรรมในดินแดนของ “ประเทศกัมพูชา” หลายคนจะต้องนึกถึงตำนานการสังหารประชนชนผู้บริสุทธิ์ด้วยความอำมหิต ที่เกินกว่าจะเรียกได้ว่าเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองในช่วงที่เขมรแดงเรืองอำนาจ

ย้อนรอยไปเมื่อกัมพูชายุคใหม่เริ่มต้นขึ้นใน พ.ศ.2497 หลังจากได้รับเอกราชตามข้อตกลงเจนีวา สมเด็จเจ้านโรดมสีหนุขึ้นปกครองประเทศ แต่เนื่องจากในช่วง พ.ศ.2508 ประเทศกัมพูชาได้รับผลกระทบจากสงครามเย็น เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ความวุ่นวายทางการเมือง และการเดินขบวนประท้วงของนักศึกษา ประชาชน ที่ก่อจลาจลขึ้นที่อำเภอซัมลูด จังหวัดพระตะบอง ทำให้รัฐบาลที่นำโดย นายพลลอน นอล ได้นำทหารเข้าปราบปรามในพื้นที่ ประชาชนและกลุ่มปัญญาชนปารีสที่ถูกเรียกว่า ฝ่ายซ้าย จึงหนีเข้าป่าไปรวมกับกลุ่มเขมรแดง

กลุ่มปัญญาชนปารีส (Paris Student Group) เป็นกลุ่มนักศึกษาชาวกัมพูชาที่ได้ทุนการศึกษาไปศึกษาต่อยังกรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยมีบุคคลสำคัญต่างๆ ที่เป็นสมาชิก ได้แก่ พล พต (ซาลอธซาร์) เอียง ซารี  เขียว สัมพันธ์ ซอน เซน ฮูนิม บุคคลเหล่านี้ได้ร่วมกันจัดตั้งขบวนการคอมมิวนิสต์ ลัทธิมาร์กซิกสต์-เลนินนิสต์ แล้วเดินทางกลับสู่ประเทศกัมพูชา ในพ.ศ.2518 และหลังจากนั้นได้มีการรวมเข้ากับพรรคคอมมิวนิสต์เขมร (กลุ่มเขมรแดง) เพื่อล้มล้างกลุ่มรัฐบาลลอน นอล


นายพล พต ผู้นำกลุ่มเขมรแดง

หลังจากการปราบปรามจลาจล นายพลลอน นอล ได้ทำการรัฐประหาร แต่แล้วก็ถูกกลุ่มเขมรแดงทำการยึดอำนาจการปกครองได้สำเร็จ ในวันปีใหม่ของกัมพูชา คือ วันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2518 ทำให้ประเทศตกอยู่ภายใต้อำนาจของพล พตในขณะนั้น

ในช่วงปี พ.ศ. 2518 - 2522 กัมพูชาตกอยู่ในอำนาจของการใช้ความรุนแรง โดย นายพล พต ผู้นำกลุ่มเขมรแดง ได้ทำการปรับปรุงระบบเศรษฐกิจของกัมพูชาให้อยู่ในแบบสังคมนิยม พึ่งพาตัวเองโดยไม่รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ และไม่เป็นพันธมิตรกับชาติใดๆ กลายเป็นประเทศโดดเดี่ยว ปิดโรงเรียน โรงพยาบาล โรงงานต่างๆ ยกเลิกระบบธนาคาร การเงิน โดยเชื่อว่าอุดมการณ์นี้จะนำพาประเทศไปสู่ความรุ่งเรืองเหมือนในอดีต

กลุ่มเขมรแดงได้กวาดต้อนประชาชนในเมืองหลวงออกไปยังชนบทเพื่อทำเกษตรกรรม โดยต้องการให้ทั้งประเทศมีแต่ชนชั้นกรรมาชีพ ทุกคนเป็นชาวไร่ชาวนา ทำเกษตรกรรมโดยไม่ใช้เครื่องทุ่นแรง ทำงานวันละ 12 ชั่วโมงโดยไม่หยุดพัก และกวาดล้างคนที่เป็นปฏิปักษ์ทางความคิดอย่างไร้เหตุผล เช่น คนที่สวมแว่นตาที่ดูเหมือนมีความรู้ นักปราชญ์ ปัญญาชน อาจารย์ นักศึกษา แพทย์ วิศวกร ศิลปิน ราชวงศ์ ฯลฯ ทำให้ประชาชนล้มตายเป็นจำนวนมาก จากความอดอยาก การทารุณกรรมที่โหดร้าย การถูกจองจำในคุก ‘ตรวล สแลง’ และการถูกฆ่าเนื่องจากลัทธิชาตินิยมที่กลุ่มเขมรแดงต้องการรักษาไว้แต่คนเชื้อสายกัมพูชาอย่างเดียวเท่านั้น ทำให้เกิด ‘ทุ่งสังหาร’ ที่มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ประชาชนผู้บริสุทธิ์มากถึง 2 ล้านคน


ที่มา: http://www.baanmaha.com/

ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2522 เขมรฝ่ายเวียดนามบุกยึดเข้ากรุงพนมเปญ เขมรแดงแตกแยกไปอยู่ตามตะเข็บชายแดน หลังจากมีการต่อสู้ในกลุ่มเขมรแดงเพื่อแย่งชิงอำนาจกันเองนั้น ในปีพ.ศ. 2536 เขมรแดงได้หมดอำนาจลงหลังจากUNสนับสนุนให้มีการจัดเลือกตั้งใหญ่ กลุ่มกองกำลังเขมรแดงถูกจับกุม และนายพล พตสิ้นใจตายในกระท่อมคุมขัง ในวันที่ 15 เมษายน พ.ศ.2541

ในระยะเวลา 4 ปีที่กลุ่มเขมรแดงได้เรืองอำนาจในระบอบเผด็จการ จนเกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไปเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ประชาชนกว่าสามล้านคนได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนระบอบการปกครองนี้ และถึงแม้ว่าวันเวลาจะผ่านไปกว่า 40 ปีแล้ว แต่อย่างไรก็ตามเหตุการณ์นี้ก็ยังเป็นที่สะเทือนใจและถือเป็นบทเรียนทางประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของโลกมาจนทุกวันนี้


อ้างอิง

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์. (2014). พล พต เขมรแดงผู้จุดไฟนรกในกัมพูชา. ค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2558, จาก http://www.prachatai.com/journal/2014/01/51483.

Namretteb. (นามแฝง). พอล พต:ย้อนอดีตทุ่งสังหาร. ค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2558, จาก https://lonesomebabe.wordpress.com/2009/12/11/พอล-พต-ทุ่งสังหาร-นรกบนด/

ThaiPX2012. (นามแฝง). (2555). เขมรแดง. ค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2558, จาก http://kritanut.blogspot.com/2012/04/blog-post.html.

อ่านเพิ่มเติม »

กองทหารโรมันไร้พ่าย ลีเจียนแนร์ (Legionaires)

โดย นิธิ  อึงพินิจพงศ์

เป็นที่ทราบกันดีว่าอาณาจักรโรมันนั้นเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่มากที่สุดใน อารยธรรมตะวันตกในช่วงยุคคลาสสิค โรมันได้มอบอารยธรรม มากมายไว้ให้กับชาวโลก ซึ่งเป็นรากฐานของวิทยาการที่นำมาประยุกต์ใช้อยู่ในทุกๆวันนี้  และหนึ่งในนั้นคือ การทหารที่มีประสิทฺธิภาพอันสูงส่งของชาวโรมัน ที่สามารถเอาชนะและรวบรวมพื้นที่รอบๆ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไว้ภายใต้ชื่อของโรมได้สำเร็จ

กองทหารมืออาชีพของโรมันเหล่านี้ถูกจัดตั้งเป็นรูปเป็นร่างขึ้นเมื่อปี 107 BC โดย มาริอัส (Gaius Marius) ผู้เป็นแม่ทัพโรมันในสมัยนั้น ทำให้ทหารเป็นอาชีพที่มีเกียรติและน่าภาคภูมิใจสำหรับชาวโรมัน ผู้ที่เป็นทหารเป็นด้วยความสมัครใจต้องรับราชการทหารเป็นเวลา 25 ปี ซึ่งใน 5 ปีสุดท้ายจะเป็นงานที่เบาสำหรับทหารผ่านศึก เมื่อเกษียณแล้วทางการจะสนับสนุนชีวิตของทหารผ่านศึกเต็มที่ในกรณีที่ต้องการออกไปประกอบอาชีพส่วนตัว


ที่มา : http://www.truthnet.org/

กองทหารโรมันถูกจัดแบ่งเป็นกลุ่มๆ เหมือนระบบ กองทัพ กองพัน กองร้อย ของทหารในปัจจุบัน ซึ่งใน กองทัพจะมีทหาร 6,000 คนเรียกว่า ลีเจียน (Legion ) แล้วแบ่ง เป็น 10 กองพันละ 600 คนเรียกว่า คอร์ฮอรท์ ( Cohort ) และแบ่งเป็น 6 กองร้อยอีกมีทหาร 100 คนเรียกว่า เซนจูรี่ ( Century ) ซึ่งในแต่ละเซนจูรี่ ต้องดูแลกันและกัน จึงประกอบไปด้วยทหารหลายแบบ เช่น พ่อครัว ช่างเย็บ ช่างตีเหล็ก หมอ เป็นต้น

เมื่อมีการแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจนทหารโรมันก็สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างพี่น้อง เมื่อถึงเวลารบพวกเขาสามารถแปรแถว ตั้งโล่ให้เป็นกระบวนทัพต่างๆ มากมายได้ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีสุดในชื่อของ กระบวนทัพเต่า เทสทูโด ( Testudo ) ที่ทหารโรมันสามารถป้องกันการโจมตีจากระยะไกลได้ เมื่อข้าศึกเข้าประชิด แล้วพวกเขาได้ทำการขว้างหอกที่มีประสิทธิภาพสูงออก ไปใส่ศัตรูก่อนจะทำการเข้าประทะอย่างมีระเบียบ ทหารโรมันยืนชิดติดกันตั้งโล่ขึ้น ที่ศัตรูอยากที่จะต่อกรได้



นอกจากนี้ประกอบกับยุทธอุปกรณ์ที่ประสิทธิภาพสูงแล้วยิ่งทำให้พวกเขาแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ด้วยชุดเกราะและหมวกจากเหล็กสามารถปกป้องทหารโรมันได้เป็นอย่างดี รวมถึงอาวุธอย่าง
  • ดาบสั้น (Gladius) จากเหล็ก แม้ไม่รุนแรง แต่สร้างบาดแผลฉกรรจ์ และทำให้เสียชีวิตได้ง่ายๆ
  • หอกสำหรับขว้าง (Javelins) ที่ปลายหอกออกแบบมาคล้ายฉมวกที่แทงเข้าไปแล้วดึงออกไม่ได้
  • เครื่องยิงธนู ขนาดเล็ก (Scorpion) ขนาดใหญ่ (Ballista) มีพลังในการทำลายล้างสูง

 แต่อย่างไรก็ตามชีวิตที่น่าภาคภูมิใจของทหารโรมันนั้นไม่ได้เป็นแต่เพียงเครื่องจักรสังหารเท่านั้น แต่ในยามสงบก็สามารถทำงานพัฒนาด้านอื่นๆ ได้ เช่นกัน โดยเฉพาะในการก่อสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ ให้กับชุมชน เช่น ท่อส่งน้ำ การสร้างถนน ป้อมปราการ หรือแม้กระทั่ง สิ่งก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่อย่างวิหาร พาร์เธออน นั้นก็เป็นผลงานของทหารโรมัน ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ทหารโรมันยังทำหน้าที่เป็นตำรวจ คอยดูแลความสงบแก่ประชาชนในยามสงบอีกด้วย


อ้างอิง

Sumner, G. and Raffaele D'Amato. Arms and Armour of the Imperial Roman Soldier. Frontline Books, 2009.

Watson, G.R. The Roman Soldier. Cornell University Press, 1993.

Matyszak, Philip. Legionary: the Roman soldier's (unofficial) manual. Thames & Hudson, 2009.

Cowan, Ross, and Angus McBride. Roman Legionary: 58 BC - AD 69. Osprey Publishing, 2003.

Legionaires.  Wikipedia. [ออนไลน์] สืบค้นเมื่อ 13 กันยายน 2558.  จาก : https://en.wikipedia.org/wiki/Legionary.

Roman army.  Wikipedia. [ออนไลน์] สืบค้นเมื่อ 13 กันยายน 2558.  จาก : https://en.wikipedia.org/wiki/.

อ่านเพิ่มเติม »

ตำนานกษัตริย์อาเธอร์กับอัศวินโต๊ะกลม

โดย อธิปัตย์ รัตนะ

ในบรรดากษัตริย์ยอดนักรบในตำนาน เชื่อว่าหลายท่านคงนึกถึงชื่อของกษัตริย์อาเธอร์ (King Arthur) แห่งหมู่เกาะบริเทน มาเป็นอันดับต้นๆ เรื่องราวของกษัตริย์อาเธอร์นั้นเป็นหนึ่งในตำนานที่คนทั่วโลกรู้จักกันดี และได้ถูกเล่าขานนับเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยกลาง (หรือยุคมืด) ซึ่งเชื่อกันว่าพระองค์ทรงเป็นวีรบุรุษที่กอบกู้ดินแดนอันวุ่นวายให้กลับมาเป็นปึกแผ่นอีกครั้งหนึ่ง

แม้ว่านามของกษัตริย์อาเธอร์จะมีชื่อเสียงโด่งดังจากเกาะอังกฤษก็ตาม แต่จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์กลับบอกว่าพระองค์เป็นผู้นำของชาวเวลส์และไอริชที่เข้าต่อสู้กับชาวแองโกลแซกซอนหรือชาวอังกฤษในปัจจุบัน นอกจากนั้นตัวตนที่แท้จริงของพระองค์นั้นยังไม่ปรากฏชัดเจนว่าเป็นกษัตริย์หรือนักรบจากชนชาติใดกันแน่ แต่อย่างไรก็ตามตำนานของกษัตริย์อาเธอร์ก็ได้ปรากฏในหนังสือประวัติศาสตร์กษัตริย์แห่งบริเทน ซึ่งถูกเขียนขึ้นโดยเจฟฟรีย์ แห่งมอนมัท (Geoffry of Monmouth) นักบวชชาวอังกฤษแห่งศตวรรษที่สิบสอง ซึ่งถือเป็นเอกสารที่เป็นลายลักษณ์อักษรชิ้นแรกที่มีการกล่าวถึงพระนามของ กษัตริย์อาเธอร์


รูปภาพ กษัตริย์อาเธอร์และเหล่าอัศวินโต๊ะกลม

เรื่องราวของตำนานนี้คาดว่าเกิดขึ้นในช่วงยุคกลางของยุโรป ราวคริสต์ศตวรรษที่ 5 โดยเริ่มจากยูเทอร์ เพนดรากอน (Uther Pendragon) กับพี่ชายนามว่าออเรลิอานัส แอมโบรซิอุส ได้นำทัพข้ามมาจากฝรั่งเศสเพื่อทำสงครามกับราชาวอร์ติเกิร์นผู้ครองอังกฤษในตอนนั้น หลังจากได้รับชัยชนะ ออเรลิอานัสจึงได้ขึ้นครองบัลลังก์แทน แต่หลังจากนั้นไม่นานออเรลิอานัสก็ถูกชาวแซกซอนลอบปลงพระชนม์ ทำให้ยูเทอร์ขึ้นปกครองอังกฤษ ต่อมายูเทอร์ได้แอบมีความสัมพันธ์กับเลดี้ไอเยอร์น่า ภริยาของดยุกแห่งคอร์นวอลล์ และได้ลูกนอกสมรสขึ้นมาคนหนึ่ง ซึ่งเด็กคนนั้นก็คือ อาเธอร์นั่นเอง

ต่อมาเมอร์ลิน พ่อมดแห่งยุคผู้เป็นที่ปรึกษาของยูเทอร์ ได้พายูเทอร์ไปเอาดาบศักดิ์สิทธิ์เอ็กซ์คาลิเบอร์จากทะเลสาบ โดยเทพธิดาแห่งทะเลสาบได้ชูดาบนี้ขึ้นเหนือน้ำเพื่อมอบดาบให้ ด้วยพลังของดาบทำให้ยูเทอร์เกือบจะรวบรวมแผ่นดินทั้งหมดมาไว้ได้ หากแต่ยูเทอร์ไม่ได้ดูแลบ้านเมืองอย่างที่กษัตริย์ควรจะเป็น พ่อมดเมอร์ลินจึงใช้เวทมนตร์นำดาบเอ็กซ์คาลิเบอร์ไปปักไว้บนแท่งหินและได้จารึกคำไว้ว่า ‘ผู้ใดที่สามารถชักดาบขึ้นจากแท่งหินนี้ได้ เขาผู้นั้นจะได้ครอบครองแผ่นดินทั้งปวงบนเกาะอังกฤษ’


รูปภาพ ดาบเอ็กซ์คาลิเบอร์ ที่ถูกปักไว้บนแท่งหินรอผู้ที่สมควรมาดึงออก

เมื่อยูเทอร์พลาดท่าให้กับเมอร์ลินก็ไม่ได้ดูแลบ้านเมืองอีกต่อไปจนกระทั่งยูเทอร์เสียชีวิตลง บัลลังก์จึงไร้ผู้ครอง มีผู้คนหลายคนอยากขึ้นเป็นกษัตริย์มากมายและได้ไปลองดึงดาบเอ็กซ์คาลิเบอร์จากแท่งหิน หากแต่ไม่มีใครสามารถดึงดาบเล่มนั้นขึ้นมาได้ จนเวลาผ่านไปถึง 15 ปี พ่อมดเมอร์ลินได้พาเด็กหนุ่มคนหนึ่งมาดึงดาบโดยหวังจะให้เขาเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งเด็กหนุ่มคนนั้นสามารถดึงดาบขึ้นมาได้อย่างง่ายดายจนได้ขึ้นเป็นกษัตริย์และเด็กหนุ่มคนนั้นก็คือ อาเธอร์ นั่นเอง

เมื่ออาเธอร์ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ พระองค์ทรงปราบอริราชศัตรูจนหมดสิ้น ไม่ว่าจะเป็นพวกแซกซอน สกอตแลนด์ ไอร์แลนด์ นอร์เวย์ เดนมาร์ก ฝรั่งเศส ฯลฯ โดยมีเมอร์ลินเป็นที่ปรึกษาคนสำคัญ นอกจากนั้นอาเธอร์ยังได้ก่อตั้งกลุ่มทหารกลุ่มหนึ่งขึ้นมา โดยเรียกว่า  กลุ่มอัศวินโต๊ะกลม (Knights of the round table) ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ได้รับเกียรติยศสูงสุดในราชสำนักของกษัตริย์อาเธอร์ โดยโต๊ะกลมที่ประชุมของพวกเขาแสดงให้เห็นถึงความเท่าเทียมกันของสมาชิกทุกคน ไม่มีหัวโต๊ะหรือท้ายโต๊ะ

ซึ่งเรื่องราวสำคัญของตำนานนี้ก็คือ การผจญภัยของเหล่าอัศวินโต๊ะกลมที่ออกตามหาจอกศักดิ์สิทธิ์ (The holy grail) ของพระเยซู ซึ่งเป็นจอกที่พระองค์ได้ใช้ดื่มไวน์ร่วมกับศานุศิษย์ในพระกระยาหารมื้อสุดท้าย (The last supper) และจอกใบนี้ยังใช้รองรับพระโลหิตของพระเยซูในยามถูกตรึงกางเขน  เล่ากันว่าจอกใบนี้มีอำนาจวิเศษสถิตย์อยู่ และด้วยเหตุนี้จึงทำให้อัศวินทั้งหลายได้ออกตามหาจอกศักดิ์สิทธิ์เพื่อให้ได้ครอบครองตำแหน่งอภิอัศวินอันทรงเกียรติ


รูปภาพ เหล่าอัศวินที่ออกค้นหาจอกศักดิ์สิทธิ์

การค้นหาจอกศักดิ์สิทธิ์ของอัศวินมีหลายตำนาน โดยบางตำนานบอกว่าอัศวินที่พบคือ เซอร์เปอร์ซิวาล ซึ่งเขาได้รับจอกศักดิ์สิทธิ์จากลุงของเขาเอง โดยลุงของเขาทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์จอก แต่อีกตำนานบอกว่า เซอร์กาลาฮัด อัศวินผู้มาถึงโต๊ะกลมในช่วงหลังต่างหากที่เป็นผู้ได้รับจอกใบนี้ โดยได้รับจากญาติอาวุโสเช่นเดียวกัน

หลังจากอัศวินโต๊ะกลมนามว่าแลนเซล็อตกลับจากการค้นหาจอกศักดิ์สิทธิ์อย่างผิดหวังนั้น เขาได้แอบมีความสัมพันธ์กับกวินีเวียร์ มเหสีของพระเจ้าอาเธอร์ ซึ่งบางตำนานบอกว่าทั้งคู่รักกันมาตั้งแต่กวินีเวียร์ยังไม่ได้สมรสกับพระองค์ แต่ทว่ามอร์เดร็ดอัศวินโต๊ะกลมอีกคนได้บังเอิญเห็นเข้าจึงนำเรื่องไปบอกกับพระเจ้าอาเธอร์ ทำให้กลายเป็นเรื่องใหญ่โตขึ้น และเหล่าอัศวินก็ถูกแบ่งออกเป็นสองกลุ่มโดยกลุ่มแรกจงรักภักดีต่อพระเจ้าอาเธอร์เหมือนเดิม ส่วนอีกกลุ่มเข้าข้างแลนเซล็อต และเกิดศึกกลางเมืองขึ้น อัศวินโต๊ะกลมส่วนใหญ่ต่างเสียชีวิตในศึกครั้งนี้ และมอร์เดร็ดที่ต้องการครอบครองบัลลังก์ ก็ได้หักหลังพระเจ้าอาเธอร์ โดยเข้าต่อสู้กับพระองค์ที่คัมลานน์ แต่เขากลับถูกพระเจ้าอาเธอร์สังหารด้วยหอกทำให้เสียชีวิต ทว่าพระเจ้าอาเธอร์เองก็ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการต่อสู้เช่นกัน

และก่อนที่พระเจ้าอาเธอร์จะสิ้นพระชนม์พระองค์ได้มอบดาบเอ็กซ์คาลิเบอร์ให้ เซอร์เบเดเวียร์ อัศวินโต๊ะกลมที่ยังเหลืออยู่ ให้นำดาบไปคืนที่ทะเลสาบที่เดิมและได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะกลับมาเกิดใหม่เพื่อปกป้องแผ่นดินของเกาะบริเทนอีกครั้ง  เมื่อเบเดเวียร์ไปยังทะเลสาบและขว้างดาบศักดิ์สิทธิ์ลงไปได้มีแขนของเทพธิดาแห่งทะเลสาบชูขึ้นจากน้ำมารับดาบไป สุดท้ายแล้วพระเจ้าอาเธอร์ก็ได้สิ้นพระชนม์ลง พระศพของพระองค์ได้ถูกนำไปล่องแพไปสู่เกาะอวาลอน อันเป็นดินแดนแห่งสรวงสวรรค์ โดยมีเหล่าเทพธิดาห้อมล้อมแพไว้ เป็นอันจบตำนานกษัตริย์อาเธอร์

เรื่องราวของกษัตริย์อาเธอร์แม้ว่าจะมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์กล่าวอ้างถึง แต่ก็ไม่สามารถระบุได้ว่าแท้จริงแล้วพระเจ้าอาเธอร์เป็นใครกันแน่ อย่างไรก็ตามตัวตนที่แท้จริงของพระองค์อาจเป็นนักรบผู้กล้าหาญที่ทรงอำนาจและมีคุณธรรม ซึ่งผู้คนในยุคมืด อาจระลึกถึงช่วงเวลาอันสงบสุขในอดีต และโหยหาวีรบุรุษที่จะนำความสงบสุขกลับมาอีกครั้ง และ พระเจ้าอาเธอร์ อาจเป็นตัวแทนของสิ่งนั้นก็เป็นได้ และนี่อาจเป็นที่มาที่แท้จริงของกษัตริย์ยอดนักรบผู้นี้


อ้างอิง

Rookie Blacksmith. (2558). Excalibur ประวัติของสุดยอดดาบในตำนานจากอังกฤษ. ค้นเมื่อ 10 กันยายน 2558, จาก : http://www.metalbridges.com/excalibur-story/

กษัตริย์อาเธอร์กับอัศวินโต๊ะกลม. (2556). ค้นเมื่อ 10 กันยายน 2558, จาก : http://guru.sanook.com/6050/

ตำนานอาเธอร์ กษัตริย์ในตำนานแห่งหมู่เกาะบริเทน. (2558). ค้นเมื่อ 10 กันยายน 2558, จาก : http://writer.dek-d.com/souleater01/story/viewlongc.php?id=554165&chapter=84

อัศวินโต๊ะกลม. (2557). ค้นเมื่อ 10 กันยายน 2558, จาก : https://th.wikipedia.org/wiki/อัศวินโต๊ะกลม



อ่านเพิ่มเติม »