เนเฟอร์ติติ ราชินีผู้งดงามแห่งไอยคุปต์

โดย นิสาธาร  พุ่มเรือง

ในบรรดาราชินีที่โด่งดังและงดงามมากที่สุดในประวัติศาสตร์อียิปต์คงจะหนีไม่พ้นพระนางเนเฟอร์ติติราชินีแห่งอียิปต์โบราณซึ่งได้รับการยกย่องมานานหลายพันปีว่าเป็นเจ้าของใบหน้าที่งดงามสมบูรณ์แบบ ดังจะเห็นในรูปปั้นท่อนบนของพระนางที่เป็นหลักฐานยืนยันความงดงามนี้ ซึ่งรูปปั้นนี้เองได้จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์อียิปต์แห่งชาติในนครเบอร์ลินประเทศเยอรมนี

ด้วยพระศิริโฉมอันงดงามนี้ ตามตำนานกล่าวไว้ว่า อียิปต์ไม่เคยสร้างหญิงใดจะงามเท่า และพระศิริโฉมของพระนางยังถูกประดับอยู่ทุกวิหารทั่วแผ่นดิน แต่ทว่าเรื่องราวชิวิตในบั้นปลายของพระนางกลับเลือนหายไปจากหน้าของประวัติศาสตร์อย่างน่าอัศจรรย์


รูปปั้นพระนางเนเฟอร์ติติ 
แสดงในพิพิธภัณฑ์อียิปต์แห่งชาติประเทศเยอรมนี
ที่มา : http://0.static-atcloud.com/

ชีวิตวัยเด็กของพระนางเนเฟอร์ติติยังไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าบิดาและมารดาของพระนางเป็นใคร แต่มีทฤษฎีกล่าวไว้ 3 ทฤษฎี คือ ทฤษฎีแรก พระนางอาจเป็นธิดาของเอย์ (ผู้ที่ได้เป็นฟาโรห์หลังฟาโรห์ตุตันคาเมน) กับมเหสี เทย์ และ อีกทฤษฎีกล่าวไว้ว่า พระนางคือเจ้าหญิงทาดูคีปา ธิดาของกษัตริย์ทัชรัตตาแห่ง มีทานนี โดยในคำภีร์โบราณได้มีการกล่าวถึงชื่อ นีเมรีธิน ที่เป็นอีกชื่อหนึ่งของพระนาง แต่ยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการ หรืออีกทฤษฎีคือ พระนางเนเฟอร์ติติเป็นธิดาของ ซีดามุน ซึ่งเป็นน้องสาวต่างมารดาของฟาโรห์อาเมนโฮเทปที่ 3 เนื่องจากมีหลักฐานที่บ่งบอกว่าทั้งสองมีความสัมพันธ์ทางสายเลือดกัน แต่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่อาจสรุปได้ว่าพระนางเนเฟอร์ติติเป็นบุตรของใคร

ต่อมา พระนางเนเฟอร์ติติได้อภิเษกสมรสกับอาเมนโฮเทปที่ 4 แต่ทว่าในตอนแรกอาเมนโฮเทปที่ 4 นั้นมี พระคู่หมั้นอยู่แล้วคือ เจ้าหญิงสตามันแต่พระองค์ ไม่ยินยอมที่จะอภิเษกด้วยโดยพระองค์ได้ทำการผัดผ่อนเรื่องงานอภิเษกเรื่อยมา จนกระทั่งเจ้าหญิงสตามันสิ้นพระชนม์ และเมื่อพระราชบิดาของพระองค์ ฟาโรห์อาเมนโฮเทปที่ 3 สิ้นพระชนม์ อาเมนโฮเทปที่ 4 (ในเวลาต่อมาได้เปลี่ยนพระนามใหม่ว่า อเคนาเตน) จึงอภิเษกสมรสกับพระนางเนเฟอร์ติติและแต่งตั้งให้เป็นราชินีแห่งอิยิปต์ ซึ่งทรงมีธิดาด้วยกัน 6 พระองค์ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่พระนางไม่ทรงมีโอรสกับองค์ฟาโรห์เลย ดังนั้นโอรสของฟาโรห์อาเมนโฮเทปที่ 4 กับภรรยาอื่นจึงได้ครองบัลลังก์แทนซึ่งโอรสของฟาโรห์อาเมนโฮเทปที่ 4 องค์นั้นคือ ฟาโรห์ตุตันคาเมน ผู้โด่งดังนั่นเอง

ภายหลังจากครองราชได้ไม่นานฟาโรห์อาเมนโฮเทปที่ 4 ได้ปฏิรูปศาสนาโดยให้ประชาชนหันไปนับถือเทพเจ้าเพียงองค์เดียวคือ สุริยเทพอาเตน ทั้งนี้เพื่อลดทอนอำนาจของเหล่านักบวช และพระองค์เองก็ได้ทรงเปลี่ยนพระนามเป็น อเคนนาเตน การปฏิรูปศาสนาในครั้งนี้ฟาโรห์อเคนนาเตน ทรงได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากพระนางเนเฟอร์ติติผู้เป็นมเหสีของพระองค์ซึ่งพระนางทรงมีอิทธิพลกับองค์ฟาโรห์มากในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ จากเหตุการณ์การปฏิรูปศาสนานี้ได้สร้างความไม่พอใจให้กับเหล่านักบวชและประชาชนเป็นอันมาก ทำให้หลังจากปฏิรูปศาสนาได้ไม่นานฟาโรห์อเคนนาเตน ได้ทรงมีบัญชาให้สร้างเมืองหลวงขึ้นมาใหม่คือเมืองอเคนาเตน ที่อยู่ห่างไปทางเหนือของเมืองหลวงเดิมคือเมืองทีบส์ ทรงย้ายสมาชิกในราชวงศ์ ตลอดจนขุนนาง และข้าราชบริพารใกล้ชิดไปอยู่ที่เมืองหลวงใหม่นี้ ที่ใจกลางนครมีมหาวิหารของเทพอาเตนกับมีพระราชวังหลวง และมีอาคารพักอาศัยของข้าราชบริพารอยู่รอบนอก


ภาพแกะสลักของพระนางเนเฟอร์ติติ กับฟาโรห์อเคนาเตน และพระธิดาทั้งสามพระองค์ 
แสดงในพิพิธภัณฑ์อียิปต์แห่งชาติประเทศเยอรมนี

ศิลปกรรมภายในพระราชวังหรือวิหารต่างๆในเมืองอเคนาเตน มักจะมีรูปสลักหรือภาพวาดเกี่ยวกับ พระนางเนเฟอร์ติติซึ่งเป็นหลักฐานว่า พระนางเนเฟอร์ติติเป็นยอดหญิงงามแห่งยุคโบราณอย่างแท้จริง ภาพวาดที่น่าพิศวงชิ้นหนึ่งแสดงฉากพระราชินีเนเฟอร์ติติผู้ดุดันในชุดนักรบขณะฟาดคฑาใส่เหล่าข้าศึก ส่วนภาพอื่นๆ มักจะเป็นรูปพระนางกับฟาโรห์อเคนาเตน และพระธิดา งานศิลปะที่เกี่ยวข้องกับพระนางเนเฟอร์ติตินั้นมีอยู่มากมายทั้งที่ตามปกติแล้วภาพในวิหารมักจะจำกัดเฉพาะองค์ฟาโรห์เท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากองค์ฟาโรห์อาจพยายามป่าวประกาศว่า พระนางก็ได้ปกครองเคียงข้างพระองค์ในฐานะคู่เทวราชที่ศักดิ์สิทธิ์สมกัน

ในช่วงท้ายของรัชสมัยอเคนาเตน เรื่องราวชิวิตของพระนางได้หายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ แต่จะเป็นด้วยเหตุผลใดนั้นยังไม่แน่ชัด แต่ได้มีการตั้งข้อสันนิษฐานเอาไว้อย่างหลากหลาย อาทิเช่น พระนางอาจสิ้นพระชนม์ก่อนพระสวามีจึงทำให้เรื่องราวของพระนางหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ หรืออีกข้อสันนิษฐานหนึ่งคือ ในครั้งที่ทรงร่วมกับองค์ฟาโรห์ปฏิรูปศาสนาได้สร้างความไม่พอใจให้บุคคลหลายกลุ่มจึงทำให้มีศัตรูมากมายจึงต้องทรงปกครองอียิปต์แบบไม่เปิดเผยพระองค์ และได้ทรงพยายามประนีประนอมกับบุคคลดังกล่าวโดยการรื้อฟื้นศาสนาเดิมขึ้นมาใหม่ แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ เพราะหลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระนางได้มีการทำลายภาพของพระนางตามพระราชวังและวิหารต่างๆ

อีกข้อสันนิษฐานหนึ่งกล่าวว่า พระนางเนเฟอร์ติติได้ครองบัลลังก์หลังพระสวามีสิ้นพระชนม์โดยใช้ชื่อว่า สเมนกาเร โดยทรงครองราชย์ในระยะเวลาสั้นๆ ที่เมือง อเคนาเตน ก่อนที่ฟาโรห์ตุตันคาเมนจะขึ้นครองราชย์แล้วย้ายเมืองหลวงกลับไปที่เมืองทีบส์ดังเดิม

แม้ว่าภายหลังจากพระสวามีของพระนางสิ้นพระชนม์ชิวิตของพระนางได้เกิดความพลิกผันเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นเหตุให้เรื่องราวชีวิตของพระนางเลือนหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ของอียิปต์ และก็ยังคงเป็นปริศนาจนถึงปัจจุบัน แต่ความยิ่งใหญ่และความงดงามของพระนางเนเฟอร์ติติก็ยังเป็นที่เลื่องลือไม่เสื่อมคลาย แม้กาลเวลาจะล่วงผ่านมานับพันปีแล้วก็ตาม


อ้างอิง

ขจรศักดิ์ เลาห์สัฒนะ. (ม.ป.ป.). Nefertiti.ค้นเมื่อ 22 กันยายน 2558 จาก http://www.geocities.ws/kyo_petrucci/storynefertiti.html

ชญา ปิยะชาติ. (2556). สตรีทรงอำนาจของโลกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ : ยิปซี กรุ๊ป.
นายยะ. (2552). รูป เนเฟอร์ติติ ราชินีที่สวยที่สุดและทรงงดงามกว่าคลีโอพัตรา. ค้นเมื่อ 22 กันยายน 2558 จาก http://atcloud.com/stories/49207

ไบรอัน เฟแกน. (2548). อียิปต์ ปฐพีแห่งฟาโรห์. แปลจาก Egypt of the pharaohs. กรุงเทพฯ : อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.

ยุวดี. (2557). ประวัติศาสตร์ เนเฟอร์ติติ ราชินอียิปต์ผู้หายสาปสูญ.  ค้นเมื่อ 22 กันยายน 2558 จาก http://teen.mthai.com/variety/80067.html

รัฐ มหาดเล็ก และคณะ. (2549). พงศาวดารไอยคุปต์. กรุงเทพฯ : พี วาทิน พับลิเคชั่น.

วชิรญา บัวศรี. (2509). นางพญาไอยคุปต์. กรุงเทพฯ : คลังวิทยา.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น