เหลาจวงกับปรัชญาลัทธิเต๋า

โดย เกษราภรณ์  กล้าดี

ประเทศจีนเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก คนในประเทศจีนส่วนใหญ่นอกจากจะนับถือบรรพบุรุษแล้ว ยังนับถือลัทธิขงจื๊อ คริสต์ อิสลาม พุทธศาสนา  และ “ลัทธิเต๋า”  ก็ถือเป็นอีกหนึ่งปรัชญาที่มีอิทธิพลต่อสังคม วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนจีนเป็นอย่างมาก

ลัทธิเต๋าเกิดขึ้นในยุคเดียวกันกับลัทธิขงจื๊อ ( ยุคชุนซิวถึงยุคจ้านกั๋ว ) ปรัชญาเต๋าสนับสนุนให้ผู้คนหันหน้าเข้าหาธรรมชาติ  ออกจากความยุ่งเหยิง มีคัมภีร์ที่สำคัญและมีชื่อเสียงคือ คัมภีร์เต๋าเต๊กเก็ง โดยมีบุคคลสองท่านที่โดดเด่นมีความคิดเห็นเช่นเดียวกับปรัชญานี้นั่นคือ เหลาจื้อ  (老子)  และจวงจื้อ  (庄子) คัมภีร์เต๋าเต๊กเก็ง จึงได้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ปรัชญาเหลา-จวง”                          



ภาพเหลาจื้อ
ที่มา : http://www.somboon.info/

เหลาจื้อเป็นคนตั้งลัทธิเต๋าขึ้นมา  ท่านได้สร้างแนวปรัชญาต่างๆมากมายไว้ในคัมภีร์เต๋าเต๊กเก็ง และได้รับการยกย่องให้เป็นศาสดาของปรัชญาลัทธิเต๋า  ประวัติของเหลาจื้อโดยทั่วไปคือ ในสมัยนั้นท่านเป็นผู้ดูแลแผ่นไม้ไผ่ที่เปรียบเสมือนหนังสือ และทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์ในหอสมุดหลวงเมืองโลยั้ง มณฑลโฮนาน เป็นคนชอบเก็บตัว ไม่เข้าสังคมกับใคร ไม่มักใหญ่ใฝ่สูง  แต่ความคิดของเขาในด้านศาสนาและปรัชญากลับเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง

วิธีหาความสุขของเหล่าจื๊อคือ เหลาจื้อต้องการให้มนุษย์ดำเนินชีวิตให้เรียบง่ายไปตามธรรมชาติ  ไม่ฝืนธรรมชาติ ดังที่เหลาจื้อกล่าวไว้ว่า “คนที่ยืนเขย่งเท้า ย่อมยืนอยู่ไม่ได้นาน  คนที่ก้าวขายาวเกินไปย่อมเดินไปไม่ได้ไกล” เหลาจื้อยังต้องการให้คนรักสงบ รู้จักตัวเอง  เน้นให้คนเป็นคนอ่อนโยนแต่ก็เข้มแข็ง มีดีอยู่ในตัวแต่ไม่โอ้อวด ดังที่เขากล่าวไว้ว่า “ผู้มีความรู้แต่ทำตัวเหมือนว่าไม่รู้ เป็นผู้ประเสริฐ  ผู้ไม่มีความรู้แต่ทำตัวเหมือนรู้ เป็นผู้ไม่ประเสริฐ”  และเนื่องจากที่เหลาจื้อเป็นผู้ที่มีความรู้ที่ลึกซึ้งและกว้างขวาง เหลาจื้อจึงได้เผยแพร่ความรู้ไปทุกหนทุกแห่ง และเขายังเป็นผู้เขียนคัมภีร์เต๋าเต๊กเก็งอีกด้วย


ภาพคัมภีร์เต้าเต๋อจิง 
ที่มา :  http://www.wikiwand.com/

ส่วนจวงจื้อ นักปรัชญาจีนอีกผู้หนึ่งในลัทธิเต๋า  จวงจื้อนั้นถึงแม้จะเกิดหลังจากเหลาจื้อหลายร้อยปีแต่ก็มีความเลื่อมใสในปรัชญาเต๋าและเลื่อมใสในคำสอนของเหลาจื้อมาก เขาเป็นผู้ประกาศคำสอนของเหลาจื่อ ให้ปรัชญาเต๋าได้กลายเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายและเพิ่มเติมหลักความคิดให้เต๋าเป็นปรัชญาที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น  จวงจื้อเป็นคนที่เฉี่อยชา ไม่ค่อยขยัน  ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายและมักน้อย

แต่เนื่องจากที่เขาเลื่อมใสในคำสอนของเหลาจื้อ ปรัชญาของจวงจื้อจึงมีความหมายไปในทำนองเดียวกันที่มุ่งสอนคนดำเนินชีวิตให้สอดคล้อง กลมกลืนกับธรรมชาติ  ใช้ชีวิตตามป่าเขา หาความสงบ เป็นอยู่อย่างเรียบง่าย ไม่ต้องทำตัวให้เด่น(ภาพจวงจื่อที่มา :  www.jiewfudao.com/วัฒนธรรมจีน/เหล่าจวงกับปรัชญาลัทธิเต๋า)    เพราะเมื่อเด่นจะเป็นทุกข์  ดังที่จวงจื้อเปรียบว่า ต้นไม้ที่สูงใหญ่จะถูกโค่นล้มได้ง่าย เพราะคนมักจะนำเอาไปทำเป็นเสาบ้าน คานบ้าน ไม่ยั่งยืน  หากเป็นต้นไม้ที่คดงอ ผู้คนก็ไม่อยากจะนำไปใช้ประโยชน์ ต้นไม้นี้ก็จะยืนต้นอยู่ได้นาน  แนวคิดปรัชญาของเหลาจื้อและจวงจื้อมีส่วนคล้ายกันมาก  จึงทำให้คนรุ่นหลังเรียกทั้งสองรวมกันว่า "เหลาจวง"

ถึงแม้ว่าปรัชญาของจวงจื้อจะคล้ายคลึงกันกับปรัชญาของเหลาจื้อ แต่ก็ยังมีส่วนแตกต่างกันนั่นคือปรัชญาของจวงจื้อเน้นธรรมชาติตามแบบปรัชญาของเหลาจื้อ แต่ปรัชญาของจวงจื้อจะเข้มงวดกว่า เช่น เหลาจื้อให้คาวมสำคัญกับการปกครองประชาชนอย่างที่ประชาชนไม่รู้ตัวว่าถูกปรกครองอยู่ แต่จวงจื้อให้แต่ละคนปกครองตัวเอง สันโดษ กลมกลืนกับธรรมชาติ  และวิธีการสอนของจวงจื้อจะออกเป็นแนวนิทาน นำนิทานมาประกอบการอธิบายเพื่อให้เข้าใจหลักปรัชญาได้ง่าย ขึ้น

จะเห็นได้ว่าแนวคิดที่ทำให้ผู้คนได้ยึดถือและนำไปเป็นหลักในการดำเนินชีวิต ทั้งในเรื่องการรู้จักตนเองและการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายตามธรรมชาติ  ถึงแม้ว่าจะมีหลากหลายศาสนาและลัทธิที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ แต่ทุกศาสนาต่างมุ่งสอนให้ผู้คนเป็นคนดี และใช้ชีวิตอยู่บนพื้นฐานของคุณธรรม
         

อ้างอิง

พจนา  จันทรสันติ. วิถีแห่งเต๋า หรือ คัมภีร์เต๋าเต็กเก็งของปราชญ์เหลาจื๊อ. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ: เคล็ดไทย, 2525

老庄与道家思想-เหล่าจวงกับปรัชญาลัทธิเต๋า. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๕๘ จาก: https://sites.google.com/site/caijiajialaoshi/laozhuangyudaojiasixiang

ปรัชญาสำนักเต๋าDaoism. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๕๘  จาก:  http://www.philospedia.net/daoism.html.

ฟื้น  ดอกบัว. ปวงปรัชญาจีน.  พิมพ์ครั้งที่๒.  กรุงเทพฯ: ศยาม, ๒๕๔๒

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น