กฎหมายสิบสองโต๊ะ (Law of The twelve Table) กฎหมายแห่งโรม

โดย บัญชาฤทธิ์ พลพันธ์

“ที่ใดมีสังคม ที่นั่นย่อมมีกฎหมาย” (Ubi societas , ibi jus)  

สุภาษิตละตินข้างต้นแสดงนัยยะที่ว่ากฎหมายถูกสร้างขึ้น เมื่อมนุษย์ได้มีการรวมตัวกันและมีการปฏิสัมพันธ์กันเป็นสังคม กฎหมายจึงเป็นเสมือนหลักเกณฑ์กำหนดความประพฤติของคนในสังคมเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย กฎหมายที่ใช้อยู่ในแต่ละสังคมก็ย่อมแตกต่างกันออกไป โดยในอดีตกฎหมายถูกกำหนดผ่านจารีตประเพณีที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นอันถือเป็นบรรทัดฐานทางสังคม แต่เมื่อสังคมมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้น ถึงขั้นที่สามารถประดิษฐ์อักษรขึ้นใช้ได้ จึงมีการนำเอาจารีตประเพณีนั้นมาบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรดังเช่น กฎหมายสิบสองโต๊ะของชาวโรมัน ซึ่งถือได้ว่าเป็นครั้งแรกที่มีการรวบรวมกฎหมายขึ้น และเป็นการยอมรับว่ากฎหมายควรเป็นสิ่งที่เปิดเผยให้คนทั่วไปได้รู้ได้เห็นและศึกษาหาเหตุผลได้

มูลเหตุของการเกิดขึ้นของกฎหมายสิบสองโต๊ะนั้น เนื่องจากชาวโรมันแบ่งชนชั้นเป็น 2 พวกใหญ่ ๆ คือ พวกแพทริเชียน (Patricians) ซึ่งเป็นชนชั้นปกครอง ชนชั้นสูงหรือคนมั่งมี เป็นผู้มีที่ดินมาก และพวกเพลเบียน (Plebeians) เป็นชนชั้นที่ถูกปกครอง ราษฎรสามัญที่ยากจน และมักจะตกเป็นทาส (Slave) ของพวกแพทริเชียนโดยหนี้สิน พวกเพลเบียนมีจำนวนมากกว่าพวกแพทริเชียน แต่ไม่มีอำนาจหรืออิทธิพลใด ๆ ในการปกครองเพราะอำนาจส่วนใหญ่ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม รวมไปถึงศาสนาล้วนอยู่ในมือของพวกแพทริเชียน ประกอบกับกฎหมายของกรุงโรมไม่ได้มีบัญญัติไว้แน่นอน พวกแพทริเชียนจึงเปลี่ยนแปลงและตัดสินคดีความตามความพึงพอใจและเป็นประโยชน์กับฝ่ายตนโดยอ้างจารีตประเพณี ซึ่งไม่ได้ป็นลายลักษณ์อักษร สร้างความไม่พอใจให้พวกเพลเพียนที่ถูกกดขี่ข่มเหง จึงเกิดการเรียกร้องกับทางการโรมันให้มีการบัญญัติกฎหมายขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อคุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ให้กับประชาชนชาวโรมันทุกคน


ภาพชนชั้นในสังคมของชาวโรมัน
ที่มาภาพ: https://i.pinimg.com/

ทางการโรมันจึงได้มีการคัดเลือกคณะกรรมการจำนวน 10 คน เรียกว่า เดเซมวีร์ (Decemvirs) ซึ่งประกอบด้วยพวกแพทริเชียนเป็นส่วนใหญ่เป็นผู้จัดทำกฎหมายขึ้น กฎหมายนี้เป็นการรวบรวมเอาจารีตประเพณีที่ใช้เป็นกฎหมายอยู่ในขณะนั้นมาบันทึกเป็นลายลักษณ์ โดยจารึกลงบนแผ่นทองแดง (โต๊ะบรอนซ์) จำนวน 10 โต๊ะ ในปี 451 ก่อนคริสต์ศักราช และได้รับการรับรองโดยสภา Senate และ Carnitia Centuriata ในระยะต่อมาในปี 450 ก่อนคริสต์ศักราชได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอีกคณะหนึ่ง จำนวน 3 คน ซึ่งเลือกจากพวกเพลเบียนให้ทำหน้าที่จัดทำกฎหมายเพิ่มเติมอีก 2 โต๊ะ รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 12 โต๊ะ แล้วนำไปตั้งประกาศไว้ในที่ฟอรัม (Forum) หรือที่สาธารณะใจกลางเมืองให้ชาวโรมันได้ทราบทั่วกัน และรู้จักกันอย่างแพร่หลายในนามของ “กฎหมายสิบสองโต๊ะ”

สำหรับบทบัญญัติของกฎหมายสิบสองโต๊ะนั้น ซึ่งได้มาจากฉบับที่คัดลอกเพื่อการศึกษาเป็นส่วนตัวและจากเอกสารอื่น ๆ ทำให้ทราบว่าประกอบด้วย

          โต๊ะที่ 1, 2 และ 3 เกี่ยวกับวิธีการพิจารณาความแพ่งและการบังคับคดี
            โต๊ะที่ 4                  เกี่ยวกับอำนาจบิดาในฐานะเป็นหัวหน้าครอบครัว
            โต๊ะที่ 5, 6 และ 7     เกี่ยวกับการสืบมรดกและทรัพย์สิน
            โต๊ะที่ 8              เกี่ยวกับการละเมิด หรือกฎหมายอาญา
            โต๊ะที่ 9              เกี่ยวกับกฎหมายมหาชน
            โต๊ะที่ 10              เกี่ยวกับกฎหมายศักดิ์สิทธิ์
            โต๊ะที่ 11 ,12      เป็นกฎหมายเพิ่มเติม ซึ่งรวมทั้งกฎหมายห้ามมิให้มีการสมรสระหว่าง
                                                    พวกชนชั้นสูง (Patrician) กับพวกสามัญชน (Plebeians)


ภาพชาวโรมันศึกษากฎหมายสิบสองโต๊ะ
ที่มาภาพ: http://skyridgeairlines.weebly.com/

เป็นที่น่าเสียดายว่ากฎหมายสิบสองโต๊ะถูกทำลายในปี 390 ก่อนคริสต์ศักราช เนื่องจากโรมถูกพวกโกล(Goul) รุกราน และถูกเผา ทำให้กฎหมายสิบสองโต๊ะถูกทำลายไปด้วย และไม่เป็นที่เชื่อได้อย่างแน่นอนว่ากฎหมายสิบสองโต๊ะที่ศึกษาอยู่ในภายหลังจะถูกต้องตามต้นฉบับจริงหรือไม่ แต่การจัดทำกฎหมายสิบสองโต๊ะขึ้นมานั้นได้บรรลุตามวัตถุประสงค์ในการช่วยให้พวกแพทริเชียนและเพลเบียน มีความความสามัคคีกัน ทำให้ชาวโรมันรู้กฎหมายเท่าเทียมกัน แก้ไขกฎหมายบางส่วนที่ไม่ยุติธรรมแก่สามัญชน อีกทั้งลดการตึงเครียดในการต่อสู้ทางการเมืองและสังคม แม้ประมวลกฎหมายฉบับนี้ยังไม่ใช่เรื่องวิชาการที่จะนำมาสร้างระบบกฎหมายที่ดีได้ แต่ก็เป็นผลงานทางด้านกฎหมายที่ทำให้กฎหมายได้เริ่มพัฒนาขึ้นเป็นลำดับ กฎหมายสิบสองโต๊ะยังถือเป็นต้นแบบของกฎหมายที่ถูกพัฒนามาเป็นประมวลกฎหมายของโรม นั่นก็คือ ประมวลกฎหมายจัสติเนียน ที่มีเนื้อหาสาระละเอียดและมีระบบระเบียบ เป็นประโยชน์ในการศึกษาและเป็นแม่บทของประมวลกฎหมายของโลกในเวลาต่อมา

การที่บุคคลจะอยู่ร่วมกันในสังคมจึงจำเป็นที่จะต้องรู้จักกฎหมายเพื่อปฏิบัติตนตามกฎหมาย หรือไม่ละเมิด ไม่ฝ่าฝืนตามที่กฎหมายนั้นบัญญัติไว้ ซึ่งถือเป็นเป้าประสงค์สำคัญแห่งการเกิดขึ้นของกฎหมาย เพื่อที่จะทำให้คนในสังคมนั้น ๆ อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข

อ้างอิง

ชาญชัย แสวงศักดิ์ และวรรณชัย บุญบำรุง. (2543). สาระน่ารู้เกี่ยวกับการจัดทำประมวลกฎหมายของต่าง
ประเทศและของไทย. กรุงเทพฯ:นิติธรรม.

ทศพร มูลรัตน์. (2559). ระบบกฎหมายของโลก. สืบค้นเมื่อ 12 กันยายน 2562, จาก
https://www.baanjomyut.com/library/global_community/05_2_2.html

ลูกศร. (2554). การศึกษากฎหมาย. สืบค้นเมื่อ 12 กันยายน 2562, จาก http://smartlaw-pp.blogspot.com/

สุเมธ จานประดับและคณะ. (2550). ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย และระบบกฎหมายหลัก. กรุงเทพฯ:
มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น