ทอมัส อัลวา เอดิสัน (Thomas Alva Edison) พ่อมดแห่งเมนโลพาร์ก

โดย ปริญญา วานิช

หลายคนคงเคยได้ยินคำคมที่ถูกพูดถึงกันมากจากการสร้างแรงบันดาลใจที่ว่า “genius is one percent inspiration and ninety-nine percent perspiration” หรือที่แปลเป็นภาษาไทยอย่างไพเราะคือ “อัจฉริยะเกิดจากแรงบันดาลใจเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ และอีก 99 เปอร์เซ็นต์คือความอุตสาหะ” วาทะดังกล่าว  Thomas Alva Edison หรือ โทมัส อัลวา เอดิสัน ยอดนักประดิษฐ์ผู้เป็นต้นแบบที่สร้างสรรค์งานประดิษฐ์ต่างๆ

ผลงานหลายชิ้นของเขาได้สร้างแรงบันดาลใจให้ใครหลายคนเชื่อว่า ความอุตสาหะ พากเพียร จะทำให้เกิดความเป็นอัจฉริยะขึ้นได้ในตัวเอง เฉกเช่นกับ โทมัส อัลวา เอดิสัน ที่ทำงานอย่างหนักด้วยความอุตสาหะ พากเพียร จนได้ชื่อว่าเป็นผู้มีความสามารถหลากหลายหรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นบุคคลที่มีความเป็นอัจฉริยะคนหนึ่งก็ว่าได้ อีกทั้งยังเป็นนักประดิษฐ์และนักธุรกิจชาวอเมริกัน ที่ประดิษฐ์อุปกรณ์สำคัญๆมากมาย จนได้รับฉายาว่า “พ่อมดแห่งเมนโลพาร์ก” (The Wizard of Menlo Park ) เป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มนำหลักการของ การผลิตจำนวนมาก และกระบวนการประดิษฐ์ มาประยุกต์รวมกันได้อย่างลงตัว


ที่มา :  https://www.compgamer.com/

โทมัส อัลวา เอดิสัน (Thomas Alva Edison) เกิดเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1847 ณ เมืองมิลาน (Milan) รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา เป็นลูกคนที่ 7 และคนสุดท้าย ของนายแซมมวล เอดิสัน (Samuel “The Iron Shovel” Edison, Jr.) และนางแนนซี แมทธิวส์ เอลเลียต (Nancy Matthews Elliott) ขณะที่เขาเกิด บิดาของเขามีอายุ 43 ปี และมารดาของเขามีอายุ 37 ปี ในช่วงวัยเด็ก ทุกคนมักเรียกเอดิสันว่า “อัล” วัยเด็กของอัลเขาเป็นคนที่สนใจในเรื่องรอบตัวไม่ใช่แต่ตำราคร่ำครึเพียงเท่านั้น และมีนิสัยที่ชอบถามคนอื่นๆเมื่อเกิดความสงสัย เพื่อที่จะทำให้เกิดความเข้าใจในเรื่องต่างๆอย่างถ่องแท้ และนอกจากนี้เขายังชอบทดลองทำอะไรใหม่ๆด้วยตัวเอง จนบางครั้งก็นำความเดือดร้อนมาให้แก่เขาเองและคนรอบข้างอยู่เสมอๆ เช่น เมื่อเขาทดลองเกี่ยวกับไฟด้วยตนเองก็ทำให้เกิดเพลิงไหม้ในที่สุด แต่ยังโชคดีที่ชาวบ้านสามารถดับเพลิงไว้ได้ทัน

เอดิสันมีนิสัยรักการอ่านหลงใหลในหนังสือที่มีภาพเนื้อหาและการทดลองทางวิทยาศาสตร์ จึงทำให้เขาสนใจและทดลองตามหนังสือที่ได้อ่าน บิดามารดาของเขาจึงสร้างห้องใต้ดินเพื่อให้เขาได้ทดลองต่างๆตามหนังสือ และเขาก็ได้ทำการทดลองมากมายในห้องใต้ดินนั้น  เมื่อเอดิสันอายุได้เพียง 12 ขวบ ใน ค.ศ. 1859 เอดิสันตัดสินใจออกหางานทำเพื่อหารายได้พิเศษโดยการขายลูกอมและหนังสือพิมพ์บนรถไฟ ต่อมา ค.ศ. 1860 เอดิสันประสบอุบัติเหตุซึ่งส่งผลให้การได้ยินของเขาเสื่อมลง เขาจึงมีปัญหาด้านการได้ยิน ทำให้หูชั้นในของเขาติดเชื้อและมีลักษณะเกือบจะเป็นหูหนวก ต่อมาในขณะที่ได้ทำการทดลองในรถไฟก็เกิดเพลิงไหม้ขึ้นเขาจึงถูกไล่ออกและถูกทำร้ายร่างกายก็ยิ่งส่งผลต่อการได้ยินของเขาไปอีก

ค.ศ. 1863 เอดิสันเข้าเป็นพนักงานส่งโทรเลข และในปีเดียวนั้น เขาเปลี่ยนบริษัททำงานถึง 4 ครั้ง ตามสถานที่ต่าง ๆ ในอเมริกาและแคนาดา ค.ศ. 1864 เขาประดิษฐ์เครื่องบันทึกการนับคะแนน และยื่นขอจดสิทธิบัตร แต่เครื่องนั้นไม่ได้ถูกนำไปใช้งานแต่อย่างใด ในปี ค.ศ. 1869 เขาเดินทางไปยังนิวยอร์ก และเปิดบริษัทวิศวกรไฟฟ้าขึ้น บริษัทนี้ถือได้ว่าประสบความสำเร็จและเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก ต่อมาไม่นานใน ค.ศ. 1871 เขาสร้างอาคารซึ่งเปิดเป็นโรงงานและศูนย์วิจัย และได้พบรักและแต่งงานกับ แมรี สติลเวลล์ (Mary Stilwell) ผู้มีอายุน้อยกว่าเอดิสันถึง 8 ปี และในปีนั้น แนนซีผู้เป็นมารดาของเอดิสัน ก็เสียชีวิตลงในวัย 61 ปี

ค.ศ. 1876 เขาสร้างอาคารโรงงานและศูนย์วิจัยใหม่ที่เมนโลพาร์ก (Menlo Park) รัฐนิวเจอร์ซีย์ และเริ่มลงมือประดิษฐ์โทรศัพท์ ในปี ค.ศ. 1877 เอดิสันประดิษฐ์เครื่องบันทึกเสียงขึ้น และเป็นที่มาของฉายา “พ่อมดแห่งเมนโลพาร์ก” ที่เขาสามารถประดิษฐ์เครื่องบันทึกเสียงนี้ขึ้นมาได้สำเร็จ


เอดิสันใน ค.ศ. 1877
ที่มา : https://upload.wikimedia.org/w

ต่อมาในปี ค.ศ. 1878 เอดิสันเริ่มศึกษาค้นคว้าคิดที่จะทำหลอดไฟ เพราะไฟส่องสว่างในสมัยนั้นสามารถก่อให้เกิดไฟไหม้ได้ง่าย เขาจึงมีความคิดที่ประดิษฐ์หลอดไฟขึ้นมา

ค.ศ. 1879 เขาประดิษฐ์หลอดไฟไส้คาร์บอนสำเร็จ และเริ่มออกแบบสวิตช์เปิด-ปิดหลอดไฟให้ติดตั้งในบ้านเรือนได้ง่าย นับเป็นจุดเริ่มต้นของหลอดไฟบนโลกใบนี้ที่เราอาศัยอยู่
ค.ศ. 1880 เขาเปลี่ยนไส้หลอดไฟจากคาร์บอนเป็นไม้ไผ่ญี่ปุ่น เพราะหลอดคาร์บอน ส่องสว่างได้นาน 40 ชั่วโมง แต่หลอดไม้ไผ่ญี่ปุ่น ส่องสว่างได้นานถึง 900 ชั่วโมง
ค.ศ. 1882 เขาสร้างโรงจ่ายกระแสไฟฟ้าขึ้นที่นิวยอร์ก และเริ่มประกาศเทคโนโลยีหลอดไฟให้เป็นที่รู้จัก
ค.ศ. 1883 เขาประดิษฐ์หลอดไฟรุ่นใหม่ที่ใช้ในครัวเรือนทั่วไปได้ ทำให้หลอดไฟแพร่กระจายไปตามจุดต่าง ๆ ของโลกเร็วขึ้น
ค.ศ. 1884 แมรี ภรรยาของเขาเสียชีวิตลงด้วยโรคไทฟอยด์ในวัยเพียง 29 ปีเท่านั้น
ค.ศ. 1886 เอดิสันจึงแต่งงานใหม่กับมินา มิลเลอร์ (Mina Miller) ผู้มีอายุน้อยกว่าเอดิสันถึง 19 ปี
ค.ศ. 1891 เขาประดิษฐ์เครื่องถ่ายภาพตัดต่อสำเร็จ บันทึกภาพเคลื่อนไหว ซึ่งนำไปสู่การสร้างภาพยนตร์ ในปี ค.ศ. 1893 ที่สร้างโรงถ่ายภาพยนตร์แห่งแรกของโลกได้
ในปี ค.ศ. 1896 บิดาของเอดิสันเสียชีวิตลงในวัย 92 ปี และในปีนั้น เอดิสันรู้จักกับ เฮนรี ฟอร์ด (Henry Ford) ซึ่งต่อมาทั้งคู่ก็เป็นเพื่อนสนิทกัน
ค.ศ. 1898 เขาเริ่มประดิษฐ์แบตเตอรี่ และประดิษฐ์สำเร็จใน ค.ศ. 1909 ใช้เวลานานถึง 11 ปี
ค.ศ. 1912 เกิดการใช้เครื่องถ่ายภาพตัดต่อและเครื่องบันทึกเสียงพร้อมกัน ทำให้เกิดเป็น ภาพยนตร์ที่มีทั้งภาพและเสียงในยุคสมัยนั้น

หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ค.ศ. 1931 ทอมัส อัลวา เอดิสัน ยอดนักประดิษฐ์ชาวอเมริกันแห่งศตวรรษที่ 19 ก็ได้เสียชีวิตลงด้วยโรคเบาหวานและไตวาย ถือเป็นการจบชีวิตของผู้ประดิษฐ์หลอดไฟฟ้า และเจ้าของสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์กว่า 1,000 รายการ นอกจากนั้นนักประดิษฐ์ผู้นี้ยังได้ก่อตั้งบริษัทผลิตภาพยนตร์ ชื่อ Edison Trust ต่อมานิตยสารไลฟ์ (Life) ได้ยกย่องให้นักประดิษฐ์ผู้มีนามว่า ทอมัส อัลวา เอดิสัน เป็น “หนึ่งใน 100 คนที่สำคัญที่สุดในช่วง 1,000 ปีที่ผ่านมา” ถือเป็นนักอัจฉริยะทางความคิดที่เป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญของโลกเลยก็ว่าได้

ตลอดระยะเวลากว่า 84 ปีที่เอดิสันมีชีวิตอยู่บนโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอยู่ตลอดเวลา แม้ชีวิตจะประสบกับปัญหาต่างๆ มากมายมาโดยตลอด แต่สิ่งหนึ่งที่เอดิสันไม่เคยละทิ้งคือความพยายามความมุ่งมั่นและอุตสาหะ กระทำในสิ่งที่ตนเองชื่นชอบและมองว่าเป็นสิ่งที่ดี นั่นคือ การค้นคว้าและทดลองทางวิทยาศาสตร์เพื่อคิดค้นพัฒนาสิ่งต่างๆอยู่ตลอดเวลา แม้กระทั่งช่วงหนึ่งของชีวิตที่ต้องขึ้นไปขายของเพื่อยังชีพหรือกระทั่งการทดลองทางเคมีหลายอย่างที่ทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ หรือการถูกทำร้ายร่างกาย ทั้งหมดทั้งมวลล้วนเกิดขึ้นจากความล้มเหลวทั้งสิ้น เอดิสันเกิดความล้มเหลวในการทดลองค้นคว้าสร้างสิ่งประดิษฐ์ต่างๆมานับครั้งไม่ถ้วน ขณะที่คนอื่นมองว่าการที่ได้ทดลองมาเกือบพันครั้งแล้วยังไม่ประสบความสำเร็จ และยิ่งทำให้ชีวิตล้มเหลว แต่เอดิสันกลับมองว่า “เขาได้เรียนรู้มากกว่าใครคนอื่น”  ความล้มเหลวของชีวิตของนักประดิษฐ์ผู้นี้ถือเป็นบทเรียนที่สามารถสร้างราคาให้แก่ใครหลายคนได้ หรืออาจสร้างแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตของมนุษย์ไม่มากก็น้อย สมควรอย่างยิ่งที่จะยกฉายา ให้กับ Thomas Alva Edison หรือ โทมัส อัลวา เอดิสัน สุดยอดนักประดิษฐ์ผู้สร้างประโยชน์ให้แก่มวลมนุษย์ว่าเป็น “พ่อมดแห่งเมนโลพาร์ก” อย่างที่สุด


อ้างอิง

คัสซินส์ มาร์กาเร็ต. (2511). โธมัส อัลวา เอดิสัน. พระนคร: ก้าวหน้า.

แพลตต์ ริชาร์ด. (2549). สิ่งประดิษฐ์ของโลก. กรุงเทพฯ: พิมพ์ดี.

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี.(2562).ทอมัส เอดิสัน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 18 กุมพาพันธ์ 2561, จาก: https://th.wikipedia.org/wiki/ทอมัส_เอดิสัน

สุรศักดิ์  พงศ์พันธุ์สุข. (2553). 20 ยอดนักวิทยาศาสตร์ผู้ทรงอิทธิพล (5). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 22 กุมพาพันธ์ 2561, จาก: http://www0.tint.or.th/nkc/nkc53/content/nstkc53-022.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น