พระแม่กาลี เทวีผู้ทรงมหิทธา

โดย โชคชัย คำจันทา

หนึ่งในเทวีผู้ทรงมหิทธาในศาสนาฮินดู นั่นคือ “พระแม่กาลี” หรือ “กาลิกา” ซึ่งใครหลายคนคงทราบกันดีว่าพระแม่กาลีนั้นเป็นอวตารปางหนึ่งของพระอุมาเทวี ซึ่งทรงมีอำนาจอิทธิฤทธิ์ในการปราบปรามสิ่งชั่วร้ายทั้งปวง มีเทวานุภาพอันแรงกล้าสามารถสร้างความวิบัติแก่เหล่าอสูรอย่างรุนแรง นอกจากนี้พระแม่กาลียังมีรูปกายที่แฝงเร้นไว้ซึ่งความน่ากลัว หากผู้บูชาพระแม่กาลีอย่างถูกต้องและเคร่งครัดพระแม่ก็จะประทานความแข็งแกร่ง ความกล้าหาญ และอำนาจเหนือผู้อื่น



ตามตำนานกล่าวว่า องค์พระศรีมหาอุมาเทวีเทพสตรีแห่งสวรรค์ ชายาของพระศิวะ มีความประสงค์ที่จะออกปราบอสูรร้าย ซึ่งพระองค์ได้ขอพรต่อพระศิวะผู้เป็นเจ้าเพื่อให้ได้รับชัยชนะในครั้งนี้ แล้วจึงเสด็จออกบำเพ็ญตบะทำพิธีศักดิ์สิทธิ์ให้มีฤทธิ์อำนาจปราบศัตรูร้ายได้ทั้งปวง ซึ่งได้ทำพิธีในเขตอุทยานป่าหิมพานต์ โดยพระศรีมหาอุมาเทวีได้ทรงมอบหมายให้องค์ขันทกุมาร ซึ่งเป็นโอรสของพระศิวะและพระแม่อุมาเทวีรับหน้าที่ดูแลไม่ให้ใครย่างกรายเข้าไปในพิธีโดยเด็ดขาด

เมื่อเวลาผ่านไปพระศิวะจึงได้เสด็จเข้าไปในอุทยานเพื่อให้รู้แน่ว่าเกิดเหตุอันใดขึ้น พระองค์ก็ได้พบกับพระขันทกุมารจึงสอบถามและขอเข้าพบพระอุมาเทวี พระขันทกุมารจึงไม่สามารถให้พระศิวะเข้าพบพระแม่อุมาเทวีได้ด้วยทรงรับสั่งไม่ให้ใครย่างกรายเข้ามาขณะทำพิธี เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงเกิดการโต้เถียงกันขึ้นและเกิดการปะทะกำลังกันระหว่างพระขันทกุมารกับพระศิวะ เหตุการณ์ผ่านไปไม่นานนักพระแม่อุมาเทวีบำเพ็ญตบะเสร็จจึงได้เสด็จออกมา แต่สิ่งที่ปรากฏกลายเป็นรูปลักษณ์ที่เปลี่ยนไปจากเดิมเป็นพระแม่กาลี!! โดยองค์พระขันทกุมารเมื่อเห็นพระแม่กาลีก็ทรงทราบได้ว่านี่คือพระมารดาของตน

พระแม่อุมาได้ฟังคำจากพระขันทกุมารว่าพระศิวะไม่มีความเกรงใจและจะผ่านเข้าไปในพิธีให้ได้ พระแม่กาลีจึงเกิดความโมโห ตาถลนออกนอกเบ้า หน้าตาดุดัน แลบลิ้นยาวน่าเกลียดน่ากลัว ทำปากแบะกว้างเห็นเขี้ยวโง้ว มีเลือดไหลจากมุมปากและตามมือและลำตัว ส่งกลิ่นคาวคลุ้งไปทั่ว ทรงตรงเข้าหาพระศิวะทันทีด้วยความโมโห เมื่อพระศิวะเห็นถึงกับตกใจรีบหลบหนีไปทันที พระแม่กาลีก็ทรงไล่ตามจนพระศิวะพ้นจากเขตอุทยานไป จากนั้นพระนางจึงย้อนกลับไปหาพระขันทกุมารด้วยเห็นถึงความซื่อสัตย์ จงรักภักดี ไม่ยอมผิดคำสัตย์ที่พระองค์ทรงมอบหมายให้ ถึงแม้ว่าพระศิวะจะเป็นพระบิดาของตนก็ตาม เหตุการณ์นี้จึงเป็นที่พอพระทัยแก่พระแม่กาลีเป็นอย่างมาก



จากนั้นพระแม่กาลีจึงรีบเสด็จออกจากอุทยานโดยทันทีเพื่อตามล่าสังหารอสูรทารุณ ซึ่งไม่นานพระองค์ก็ได้เผชิญหน้ากับอสูรทารุณ และเกิดการต่อสู้กันด้วยเวลาที่ยาวนาน เหตุนี้ทำให้พระแม่กาลีทรงใช้ดาบฟันคออสูรขาด เลือดของอสูรก็หยดลงพื้น อสูรจำนวนมากจึงผุดขึ้นมาจากหยดเลือดเหล่านั้น อสูรที่เพิ่มทวีขึ้นเรื่อยๆ ตามหยดเลือดของอสูรทารุณ พระแม่กาลีเห็นดังนั้นจึงคิดว่าคงไม่มีวันฆ่าอสูรตนนี้ให้ตายได้เป็นแน่ พระองค์จึงคิดกลอุบายเพื่อจะเอาชัยชนะในครั้งนี้ให้ได้ โดยการตัดหัวของอสูรพร้อมทั้งดูดกินเลือดอสูรก่อนที่เลือดจะตกลงพื้น เมื่อกินจนหมดสิ้นแล้วรูปกายของพระแม่กาลีจึงอ้วนใหญ่ขึ้น และในมือนั้นถือหัวของอสูรที่ตัดร้อยเป็นพวงไว้ อสูรทารุณจึงสิ้นฤทธิ์ลง

หลังจากชนะอสูรพระนางทรงดีพระทัยจึงกระโดดโลดเต้นเพื่อฉลองชัยชนะ แต่ด้วยตบะอันแรงกล้าทำให้เกิดความเดือดร้อน ต่อโลกธาตุทั้งปวงเมื่อพระนางกระทืบพระบาท พระศิวะจะเข้าห้ามปรามก็เกรงความดุร้ายของพระนาง จึงใช้อุบายทรงทอดพระกายลงบนพื้นที่พระนางจะกระทืบพระบาท เมื่อพระกาลีเห็นพระศิวะที่พื้น ด้วยปางหนึ่งที่เป็นพระปารวตี ซึ่งรักและภักดีในพระศิวะยิ่งก็ทรงชะงักและหยุดการกระทำนั้น เหล่าเทวดาทั้งหลายทั้งมวลจึงยกย่องพระศิวะและพระแม่กาลี พากันศรัทธาในพระองค์ยิ่งขึ้นจากการปราบอสูรร้ายและการแก้ไขเหตุการณ์ในครั้งนี้


เทวรูปพระแม่กาลีศิลปะบาหลี
ที่มา : https://th.wikipedia.org/

ตามความเชื่อว่าพระแม่กาลีนั้นทรงมีความลึกลับที่สุดในบรรดาเทพเทวาทั้งปวง พระนางทรงมีความดุดัน เกรี้ยวกราด รูปลักษณ์และอุปนิสัยล้วนเต็มไปด้วยความน่ากลัว แต่กระนั้นพระนางก็จะทำลายเฉพาะอสูร ปีศาจ และมนุษย์ที่กระทำการชั่วร้ายเท่านั้น เพราะพระแม่กาลีก็คือเทพที่ปกป้องคุ้มครองผู้กระทำความดีเช่นเดียวกันกับเทพทุกพระองค์ ฉะนั้นแม้ผู้ที่บูชาพระแม่อย่างเคร่งครัด แต่เป็นคนที่ไม่ดีมีความคิดที่ชั่วร้าย พระแม่ท่านก็จะทำลายบุคคลผู้นั้นเสียเช่นกัน



ตามตำราอินเดียโบราณที่เมืองกัลกัตตากล่าวไว้ว่าการบูชาพระแม่กาลี ผู้บูชามักจะสังเวยพระแม่ด้วยเลือดแพะ น้ำสีแดง เพราะน้ำสีแดงถือเป็นสิ่งสำคัญมากเนื่องจากสีแดงคือ สีแห่งพลัง ที่มีการเคลื่อนไหว เป็นสีแห่งการกำเนิดและความเร่าร้อนตลอดจนเปรียบได้ดั่งโลหิตของอสูรร้าย นอกจากนี้ยังมีการถวายขนมสีแดง อาหารคาว (เป็นเทพองค์เดียวของฮินดูที่ถวายเนื้อสัตว์อาหารคาวได้) เนื้อสัตว์จะต้องปรุงสุกหรือกึ่งสุกกึ่งดิบแล้วนำมาถวายได้ แต่ห้ามถวายเนื้อวัวเนื้อควาย ควรใช้เนื้อไก่หรือเนื้อเป็ด ถ้าถวายอาหารคาวก็ควรมีเหล้าถวายด้วย แต่ถ้าถวายเพียงขนมก็ไม่จำเป็นต้องมีเหล้า

ผู้บูชาที่เคร่งครัดจำต้องสวดบูชาสรรเสริญพระแม่กาลีด้วยมนต์ที่ถูกต้องอย่างสม่ำเสมอที่ว่า
"โอม ศรี มหากาลิกาไย นะมะห์
โอม เจมาตากาลี
โอม สตี เยมา ตา กาลี
โอม ศรี มหากาลี มาตา นมัช"
นอกจากนี้จำต้องทำสมาธิทุกวันเพื่อประกอบ "ปราณยาม" หรือการทำสมาธิด้วยการหายใจเข้า-ออกโดยลากให้ยาวสุดเป็นระยะเวลาเท่าๆ กัน อย่างสม่ำเสมอทุกวัน และควรถือศีลอดบ้างเป็นครั้งคราวเพื่อถวายแด่พระองค์



พระแม่กาลียังคงได้รับความนิยมและเคารพนับถือมากในปัจจุบันดังจะเห็นได้จากการนำเสนอผ่านสื่อซีรีส์เรื่อง พระมหากาลี เทพีพิทักษ์โลก โดยมีการดัดแปลงโครงเรื่องหรือตำนานเพียงบางส่วนแต่ก็ยังคงเหลือเค้าโครงเดิมของตำนานเป็นส่วนมาก ไม่เพียงแต่เค้าโครงเรื่องเท่านั้นแต่รูปลักษณ์ของพระแม่กาลียังผิดแผกแปลกไปจากเดิมตามยุคสมัย เพื่อง่ายต่อการนำเสนอเรื่องราวผ่านสื่อและผู้ที่รับชมสื่อจะสามารถเข้าถึงสารได้ง่ายมากยิ่งขึ้น เพราะผู้นำเสนอต้องการที่จะกล่าวถึงบทบาทสำคัญของพระแม่กาลี อีกทั้งยังเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นให้คนหันกลับมาเคารพและศรัทธาพระแม่กาลีเป็นจำนวนมากดั่งเช่นในอดีต

ถึงแม้ว่าความเชื่อและศรัทธาในพระแม่กาลี มิได้มากล้นเหมือนดังในอดีต หากแต่ยังคงไว้ซึ่งตำนานที่มีมาอย่างยาวนาน และประวัติศาสตร์ที่ยังถูกเล่าขานสืบต่อกันมาผ่านสื่อซีรีส์หรือภาพยนตร์ต่างๆ ล้วนแล้วแต่อยากจะสื่อเรื่องราวให้ทุกผู้ทุกคนได้รับรู้และตระหนักถึงความสำคัญของพระองค์ ทั้งนี้รูปแบบการนับถือในปัจจุบันก็อาจจะแตกต่างกันออกไปตามกาลเวลาที่ผ่านไป


อ้างอิง

สยามคเณศ.(ม.ป.ป.) พระแม่กาลี เทวีผู้ทรงมหิทธา. สืบค้นเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2562, จาก :
https://siamganesh.com/kali.html?

วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี.(ม.ป.ป.) กาลี. สืบค้นเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2562, จาก :
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%B5

sanook. (2556).พระแม่กาลี. สืบค้นเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2562, จาก :
https://guru.sanook.com/2702/

popcornfor2.(2561) [ภ.อินเดีย] มหากาลี เทวีพิทักษ์โลก. สืบค้นเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2562, จาก :
http://www.popcornfor2.com/cafe/view-7820

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น