เอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ (Edward Jenner) ผู้ปราบโรคร้าย...ไข้ทรพิษ

โดย อารียา บุญมาก

ย้อนกลับไปในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18  “โรคไข้ทรพิษ” หรือ “โรคฝีดาษ”  ได้ทำให้ผู้คนทั่วโลกล้มตายเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเชื้อโรคสามารถแพร่กระจายไปในอากาศจากละอองน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วยหรือจากการสัมผัสกับผิวหนังที่มีแผลฝีดาษ ซึ่งโรคนี้ไม่มีหนทางใดที่จะสามารถรักษาให้หายได้ หากมีชีวิตรอดอาจต้องตาบอดหรือมีแผลที่น่าเกลียดติดตัวไปตลอดชีวิต

ซึ่งในยุโรปแต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตจากโรคฝีดาษประมาณ 400,000 ราย โดยเฉพาะเด็กแรกเกิดในประเทศสวีเดนประมาณ 10% ต้องสังเวยชีวิตให้กับโรคร้ายนี้ทุกปี  จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1796  เอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ (Edward Jenner) นายแพทย์ชาวอังกฤษได้คิดค้นวัคซีนป้องกันโรคไข้ทรพิษขึ้นและได้ทำการทดลองใช้เพื่อป้องกันการติดเชื้อ นับแต่นั้นเป็นต้นมาอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคไข้ทรพิษก็น้อยลง จนในที่สุดโรคระบาดนี้ก็ได้ถูกกวาดล้างไปจนหมด



เอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ (Edward Jenner)  เกิดเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ. 1749 ที่เมืองเบิร์กเลย์ ประเทศอังกฤษ เป็นบุตรชายของนักสอนศาสนา เขาเป็นคนฉลาดและช่างสังเกต ในช่วงวัยเด็กเขาได้ประดิษฐ์บอลลูนที่สามารถลอยขึ้นบนท้องฟ้าได้ แต่ผู้คนกลับเชื่อว่าที่บอลลูนสามารถลอยได้นั้นเป็นเพราะมีผีสิงอยู่ มิใช่เพราะความสามารถของเขา เมื่อจบการศึกษาจากชั้นมัธยมแล้ว เจนเนอร์ได้เขาศึกษาวิชาแพทย์ต่อที่มหาวิทยาลัยบริสตอล เมื่อสำเร็จการศึกษาก็ได้เข้าทำงานเป็นแพทย์ฝึกหัดที่เมืองเบิร์กเลย์บ้านเกิดของเขากับศัลยแพทย์ประจำเมือง ต่อมาเจนเนอร์ได้เดินทางไปยังกรุงลอนดอน เพื่อศึกษาวิชาแพทย์กับ จอห์น ฮันเตอร์ ศัลยแพทย์ผู้มีชื่อเสียง หลังจากจบการศึกษาแล้วเขาก็ได้เปิดคลีนิคอยู่ที่กรุงลอนดอน
       
ต่อมาในปี ค.ศ. 1792 โรคไข้ทรพิษได้แพร่ระบาดอย่างหนักไปทั่วทั้งทวีปยุโรป ซึ่งนั่นก็รวมถึงประเทศอังกฤษด้วย มีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่มักเป็นเด็ก เจนเนอร์จึงเริ่มศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับโรคไข้ทรพิษ  และวันหนึ่งเขาก็ได้สังเกตเห็นว่า หญิงรีดนมวัวส่วนมากจะเป็นแผลฝีวัว มีแผลพุพองตามง่ามมือเพียงเท่านั้น แต่ไม่มีผู้ใดป่วยเป็นโรคไข้ทรพิษเลย เจนเนอร์จึงทดลองนำน้ำหนองในแผลของหญิงรีดนมวัวมาสกัดเป็นวัคซีน โดยการทำให้เชื่ออ่อนตัวลง จากนั้นได้นำวัคซีนไปทดลองกับสัตว์หลายชนิดจนกระทั่งในวันที่ 14 พฤษภาคม ค.ศ. 1796 เขาได้นำวัคซีนนั้นมาใช้กับคนเป็นครั้งแรก โดยฉีดให้กับ เจมส์ ฟีพส์ (James Phipps) เด็กชายวัย 8 ขวบ ผู้ที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงดี ซี่งเขาได้ใช้วิธีการกรีดผิวหนังที่แขนให้เป็นแผล แล้วนำหนองฝีวัวใส่ลงไป ผลทำให้เจมส์ป่วยเป็นไข้เล็กน้อย หลังจากนั้นอีกประมาณ 2 เดือน เจนเนอร์ได้นำเชื้อไข้ทรพิษมาฉีดให้กับเจมส์อีกครั้ง ปรากฏว่าเจมส์ไม่ป่วยเป็นโรคไข้ทรพิษเลย ซึ่งก็ถือได้ว่านี่คือ “การปลูกฝี” ครั้งแรกของโลก



เมื่อเจนเนอร์ได้ทำการทดลองหลายครั้งจนมั่นใจและได้ปรับปรุงวัคซีนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เขาจึงนำผลการทดลองส่งให้กับทางราชสมาคมแห่งกรุงลอนดอน (Royal Society of London) แต่ผลงานของเขากลับไม่ได้รับความสนใจแม้แต่น้อย เขาจึงตีพิมพ์ผลงานผ่านหนังสือโดยใช้ชื่อหนังสือเล่มนี้ว่า An Inquiry into the Causes and Efects of the Variolae Vaccine  ภายในหนังสือมีเนื้อหาเกี่ยวกับการป้องกันโรคไข้ทรพิษ โดยการปลูกฝีที่สกัดจากน้ำหนองของผู้ที่ป่วยเป็นโรคฝีดาษวัว ซึ่งผลงานของเขาถูกคัดค้านจากวงการแพทย์ว่าเป็นเรื่องหลอกหลวง แต่ประชาชนบางส่วนยังคงเชื่อถือและพากันมาให้เขาปลูกฝี ปรากฏว่าวิธีการของเขาสามารถป้องกันโรคไข้ทรพิษได้เป็นอย่างดี ผลงานของเขาจึงได้รับการยอมรับจากผู้คนในเวลาต่อมา  และในปี ค.ศ.1800 ผลงานของเขาชิ้นนี้ได้รับการรับรองผลจากทางรัฐสภาของประเทศอังกฤษพร้อมกับเงินจำนวน 10,000 ปอนด์ เพื่อใช้ในการผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้ทรพิษ และต่อมาได้รับเงินทุนสนับสนุนอีกจำนวน 20,000 ปอนด์ เพื่อใช้ในการค้นคว้าเรื่องวัคซีนอื่นๆ ต่อไป

นอกจากนั้น เจนเนอร์ยังมีผลงานการค้นคว้าอื่นๆ อีก ได้แก่ การค้นพบวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า และโรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) การค้นพบว่าจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดการเน่าเสีย การค้นพบวิธีการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์โดยการนำมาต้ม หรือเรียกว่า พาสเจอร์ไรเซชั่น (Pasteurization) และการค้นพบวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรค วัณโรค โรคคอตีบ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผลงานที่มีความสำคัญต่อมนุษยชาติ

หากวันนั้นเขาสิ้นหวังและท้อถอย เพียงเพราะการไม่ได้รับความเชื่อถือและถ้อยคำดูถูกจากผู้อื่น ก็คงจะมีประชากรโลกจำนวนมากที่อาจต้องเสียชีวิตไปจากโรคภัยร้ายนี้ ความมุ่งมั่นและคุณงามความดีของเอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ ได้สร้างคุณูประการให้โลกเป็นอย่างสูง และ ภายหลังการเสียชีวิตของเขา เมื่อวันที่ 25 มกราคม ค.ศ. 1823 รัฐบาลอังกฤษจึงจัดสร้างอนุสาวรีย์ที่จัตุรัสฟอลการ์ เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่แสดงถึงการช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ให้รอดพ้นจากโรคไข้ทรพิษ


อ้างอิง

วิกิพีเดีย. (2558). โรคฝีดาษ. ค้นเมื่อ 22 สิงหาคม 2558, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/โรคฝีดาษ

วิทยา ปานะบุตร, วิสิทธิ์ โรจน์พจนรัตน์. (2554). บุคคลสำคัญของโลก . ใน บุญศรี ไพรัตน์ (บรรณาธิการ), ความรู้รอบตัวฉบับรอบรู้ 2554 (หน้า 60).กรุงเทพมหานคร:สำนักพิมพ์พัฒนาศึกษา

Ruttxiah. (2555). เอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ (Edward Jenner). ค้นเมื่อ 22 สิงหาคม 2558 จาก
http://www.thaigoodview.com/node/129601

อ่านเพิ่มเติม »

สงครามอิรัก (Iraq war)

โดย เกรียงศักดิ์ พรมมินทร์

ตะวันออกกลางนับเป็นภูมิภาคหนึ่งที่ถือว่า มีสงครามเกิดขึ้นบ่อยมาก ทุกครั้งที่เกิดสงครามก็มักจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประชาคมโลกในมิติต่างๆ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง และวัฒนธรรมเสมอ อย่างไรก็ตามพื้นที่แห่งนี้ก็ยังเป็นดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรโดยเฉพาะน้ำมันที่มีเป็นจำนวนมหาศาล ด้วยเหตุนี้เองประเทศมหาอำนาจต่างๆ จึงพยายามที่จะเข้าไปมีบทบาทในภูมิภาคนี้ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ให้กับประเทศของตน โดยการเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของประเทศต่างๆ ในตะวันออกกลาง ซึ่งก็มักจะนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงมากขึ้น จนกลายเป็นสงคราม เช่น สงครามอัฟกานิสถาน และสงครามอิรัก  เป็นต้น

สงครามอิรักถือเป็นสงครามความขัดแย้งสงครามหนึ่งที่เกิดจากการเข้าแทรกแซงของประเทศมหาอำนาจในภูมิภาคตะวันออกกลาง นำโดยสหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร สาเหตุของสงครามนั้นเป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ วันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2544 ที่มีการก่อวินาศกรรมทำลายอาคาร World Trade Center และอาคาร Pentagon  โดยกลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะ (Al-Qaeda) ที่มีนาย โอซามา บิน ลาดิน (Osama Bin laden) เป็นผู้สั่งการ ผลจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ได้สร้างความสั่นคลอนต่อความมั่นคงและความปลอดภัยของสังคมโลกเป็นอย่างมาก ประเทศมหาอำนาจต่างๆ จึงต้องเร่งสร้างมาตรการทางทหารเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวขึ้นอีก รวมทั้งการจัดการกับประเทศที่ให้การสนับสนุนการก่อการร้ายดังกล่าว


ที่มา: http://variety.thaiza.com/

ด้วยเหตุนี้เองมหาอำนาจโลกอย่างสหรัฐอเมริกาที่นำโดยประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช (George W. Bush) จึงได้ประกาศทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย (War on Terror) ขึ้น โดยมุ่งเป้าไปที่ประเทศต่างๆ ที่ให้การสนับสนุนการก่อการร้ายในรูปแบบต่างๆ  โดยปฏิบัติการทำลายล้างเครือข่ายการก่อการร้ายเริ่มต้นที่ประเทศอัฟกานิสถานเป็นประเทศแรก และตามมาด้วยประเทศอิรัก และประเทศต่างๆ เช่น คิวบา ลิเบีย เป็นต้น

เหตุผลที่ จอร์จ บุช ใช้อ้างสำหรับการทำสงครามอิรัก มีด้วยกัน 3 ข้อ ได้แก่ ข้อแรก เพื่อเป็นการปลดอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (Weapons of mass Destruction - WND) ซึ่งคาดว่าอิรักมีไว้ครอบครอง และอาจคุกคามความมั่นคงของสหรัฐและพันธมิตรในอนาคต ข้อสอง เพื่อต้องการยุติการสนับสนุนการก่อการร้ายของประธานาธิบดี ซัสดัม ฮุสเซน (Sasdum Husein) ที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องและอยู่เบื้องหลังการปฏิบัติการของกลุ่มตาลีบัน และ ข้อสาม เพื่อเป็นการปลดปล่อยชาวอิรักออกจากอำนาจเผด็จการของซัสดัม ฮุสเซน

สงครามอิรัก หรืออาจเรียกกันหลายๆ ชื่อ เช่น การยึดครองอิรัก สงครามอ่าวครั้งที่สอง หรือ ปฏิบัติการเสรีภาพอิรัก ได้เปิดฉากอย่างเป็นทางการในวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2546 โดยการโจมทางอากาศของกองทัพสหรัฐอเมริกา ปฏิบัติการโจมตีนี้เน้นทำลายเป้าหมายที่สำคัญๆ อันเป็นฐานบัญชาการของผู้นำหน่วยต่อต้านในอิรัก ซึ่งจากนั้นไม่กี่สัปดาห์กองทัพสหรัฐอเมริกาก็สามารถทำการยึดกรุงแบกแดดได้ พร้อมกับการประกาศให้บุคคลต่างๆ ที่เป็นผู้นำในการต่อต้านปฏิบัติเสรีภาพอิรักครั้งนี้เข้ามอบตัว หนึ่งในคนจำนวนหลายๆ คนนั้นก็มีคนสำคัญคือ ประธานาธิบดี ซัสดัม ฮุสเซน ที่สหรัฐต้องการตัวเป็นอย่างมาก ซึ่งในท้ายที่สุด  ซัสดัม ฮุสเซน ก็ต้องถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยกฎหมายของตัวเอง อันเนื่องมาจากความผิดที่เคยกระทำไว้ในอดีตด้วยการก่ออาชญากรรมต่อมนุษย์ชาติ ในเหตุการณ์การฆาตกรรมชาวอิรักชีอะฮ์ 148 คนในเมืองดูเญล เมื่อ ปี พ.ศ. 2525

ปฏิบัติการในครั้งนี้แม้สหรัฐอเมริกาจะสามารถเข้ายึดครองอิรักได้โดยไม่ยากนัก แต่สงครามก็ยังมิได้สงบ ยังมีการต่อสู้ประปรายเกิดขึ้นทั่วประเทศ และจากการเข้ายึดครองอิรักเป็นเวลากว่าหนึ่งปี คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมีมติอนุญาตให้คณะผู้ตรวจการเข้าตรวจสอบอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูงตามเหตุผลที่ จอร์ท ดับเบิ้ลยู บุช กล่าวอ้างไว้ และหลังจากการตรวจสอบปรากฏว่า ไม่พบอาวุธอานุภาพทำรายล้างสูงแต่อย่างใดนอก จากนั้นสำนักข่าวกรองกลางของสหรัฐอเมริกา (CIA) ก็ไม่สามารถหาหลักฐานที่น่าเชื่อมาแสดงให้เห็นว่า ซัสดัม ฮุสเซนกับอัลกออิดะ มีความเชื่อมโยงหรือเป็นพันธมิตรกัน



สงครามดำเนินมาได้ 7 ปีกว่า ประธานาธิบดีผู้ซึ่งได้รับเลือกตั้งใหม่ นายบารัค ฮุสเซียนโอบามา(Barack Hussein Obama)ได้ประกาศ “ปฏิบัติการอรุณใหม่” เพื่อแทนที่ “ปฏิบัติการเสรีภาพอิรัก” โดยกำหนดให้มีการถอนกำลังรบภายใน 18 เดือน โดยคงทหารอย่างน้อย 50,000 นายไว้ในประเทศอิรัก เพื่อให้คำแนะนำในการฝึกกองกำลังความมั่นคงอิรัก การจัดหาข่าวกรอง และการตรวจตรา โดยได้เริ่มปฏิบัติการอรุณใหม่นี้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2553 และท้ายที่สุดสหรัฐอเมริกาและประเทศพันธมิตรได้ถอนกองกำลังออกจากภูมิภาคนี้พร้อมประกาศยุติสงครามอิรักอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2554

สงครามอิรักถือเป็นสงครามหนึ่งที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ การรุกรานอิรักของสหรัฐอเมริกาจะด้วยเหตุใดๆก็ตาม การทำสงครามในครั้งนี้ได้นำมาซึ่งความสูญเสียทั้งชีวิตมนุษย์และทรัพย์สินของชาวอิรักและอเมริกันจำนวนมหาศาล อนาคตของอิรักหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่ไม่มีใครสามารถตอบได้แน่ชัด แต่อย่างไรก็ตามผลที่สุดแล้วชาวอิรักเท่านั้นที่จะเป็นผู้กำหนดชะตากรรมของตนเอง ไม่ใช่มหาอำนาจจากดินแดนไหน หรือประเทศอื่นใด


อ้างอิง

กฤตสนัย  ชมพูยศ และคนอื่นๆ.  (2554).  สงครามอิรัก.  (ออนไลน์).  สืบค้นเมื่อ 20 สิงหาคม 2558 จาก  https://lookponglunla.wordpress.com/สงครามอิรัก/

พิธพร  กลิ่นเฟื่อง.  (2555).  ย้อนรอย สงครามอิรัก ค.ศ. 2003.  (ออนไลน์).  สืบค้นเมื่อ 20 สิงหาคม 2558 จาก  http://thaicafe.blogspot.com/2012/08/2003.html

สุริยะ  พรสุริยะ.  (ม.ป.ป.).  สงครามอิรักวิเคราะห์เชิงยุทธศาสตร์.  (ออนไลน์).  สืบค้นเมื่อ 20 สิงหาคม 2558 จาก  http://www.navy.mi.th/ians/document/misc/nvipdoc2.html

คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย.  (2543).  สถานการณ์สงครามอิรัก.  (ออนไลน์) สืบค้นเมื่อ 20 สิงหาคม 2558 จาก  http://www.baanjomyut.com/library/global_community/04_9.html


อ่านเพิ่มเติม »