สงครามอิรัก (Iraq war)

โดย เกรียงศักดิ์ พรมมินทร์

ตะวันออกกลางนับเป็นภูมิภาคหนึ่งที่ถือว่า มีสงครามเกิดขึ้นบ่อยมาก ทุกครั้งที่เกิดสงครามก็มักจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประชาคมโลกในมิติต่างๆ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง และวัฒนธรรมเสมอ อย่างไรก็ตามพื้นที่แห่งนี้ก็ยังเป็นดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรโดยเฉพาะน้ำมันที่มีเป็นจำนวนมหาศาล ด้วยเหตุนี้เองประเทศมหาอำนาจต่างๆ จึงพยายามที่จะเข้าไปมีบทบาทในภูมิภาคนี้ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ให้กับประเทศของตน โดยการเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของประเทศต่างๆ ในตะวันออกกลาง ซึ่งก็มักจะนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงมากขึ้น จนกลายเป็นสงคราม เช่น สงครามอัฟกานิสถาน และสงครามอิรัก  เป็นต้น

สงครามอิรักถือเป็นสงครามความขัดแย้งสงครามหนึ่งที่เกิดจากการเข้าแทรกแซงของประเทศมหาอำนาจในภูมิภาคตะวันออกกลาง นำโดยสหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร สาเหตุของสงครามนั้นเป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ วันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2544 ที่มีการก่อวินาศกรรมทำลายอาคาร World Trade Center และอาคาร Pentagon  โดยกลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะ (Al-Qaeda) ที่มีนาย โอซามา บิน ลาดิน (Osama Bin laden) เป็นผู้สั่งการ ผลจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ได้สร้างความสั่นคลอนต่อความมั่นคงและความปลอดภัยของสังคมโลกเป็นอย่างมาก ประเทศมหาอำนาจต่างๆ จึงต้องเร่งสร้างมาตรการทางทหารเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวขึ้นอีก รวมทั้งการจัดการกับประเทศที่ให้การสนับสนุนการก่อการร้ายดังกล่าว


ที่มา: http://variety.thaiza.com/

ด้วยเหตุนี้เองมหาอำนาจโลกอย่างสหรัฐอเมริกาที่นำโดยประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช (George W. Bush) จึงได้ประกาศทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย (War on Terror) ขึ้น โดยมุ่งเป้าไปที่ประเทศต่างๆ ที่ให้การสนับสนุนการก่อการร้ายในรูปแบบต่างๆ  โดยปฏิบัติการทำลายล้างเครือข่ายการก่อการร้ายเริ่มต้นที่ประเทศอัฟกานิสถานเป็นประเทศแรก และตามมาด้วยประเทศอิรัก และประเทศต่างๆ เช่น คิวบา ลิเบีย เป็นต้น

เหตุผลที่ จอร์จ บุช ใช้อ้างสำหรับการทำสงครามอิรัก มีด้วยกัน 3 ข้อ ได้แก่ ข้อแรก เพื่อเป็นการปลดอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (Weapons of mass Destruction - WND) ซึ่งคาดว่าอิรักมีไว้ครอบครอง และอาจคุกคามความมั่นคงของสหรัฐและพันธมิตรในอนาคต ข้อสอง เพื่อต้องการยุติการสนับสนุนการก่อการร้ายของประธานาธิบดี ซัสดัม ฮุสเซน (Sasdum Husein) ที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องและอยู่เบื้องหลังการปฏิบัติการของกลุ่มตาลีบัน และ ข้อสาม เพื่อเป็นการปลดปล่อยชาวอิรักออกจากอำนาจเผด็จการของซัสดัม ฮุสเซน

สงครามอิรัก หรืออาจเรียกกันหลายๆ ชื่อ เช่น การยึดครองอิรัก สงครามอ่าวครั้งที่สอง หรือ ปฏิบัติการเสรีภาพอิรัก ได้เปิดฉากอย่างเป็นทางการในวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2546 โดยการโจมทางอากาศของกองทัพสหรัฐอเมริกา ปฏิบัติการโจมตีนี้เน้นทำลายเป้าหมายที่สำคัญๆ อันเป็นฐานบัญชาการของผู้นำหน่วยต่อต้านในอิรัก ซึ่งจากนั้นไม่กี่สัปดาห์กองทัพสหรัฐอเมริกาก็สามารถทำการยึดกรุงแบกแดดได้ พร้อมกับการประกาศให้บุคคลต่างๆ ที่เป็นผู้นำในการต่อต้านปฏิบัติเสรีภาพอิรักครั้งนี้เข้ามอบตัว หนึ่งในคนจำนวนหลายๆ คนนั้นก็มีคนสำคัญคือ ประธานาธิบดี ซัสดัม ฮุสเซน ที่สหรัฐต้องการตัวเป็นอย่างมาก ซึ่งในท้ายที่สุด  ซัสดัม ฮุสเซน ก็ต้องถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยกฎหมายของตัวเอง อันเนื่องมาจากความผิดที่เคยกระทำไว้ในอดีตด้วยการก่ออาชญากรรมต่อมนุษย์ชาติ ในเหตุการณ์การฆาตกรรมชาวอิรักชีอะฮ์ 148 คนในเมืองดูเญล เมื่อ ปี พ.ศ. 2525

ปฏิบัติการในครั้งนี้แม้สหรัฐอเมริกาจะสามารถเข้ายึดครองอิรักได้โดยไม่ยากนัก แต่สงครามก็ยังมิได้สงบ ยังมีการต่อสู้ประปรายเกิดขึ้นทั่วประเทศ และจากการเข้ายึดครองอิรักเป็นเวลากว่าหนึ่งปี คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมีมติอนุญาตให้คณะผู้ตรวจการเข้าตรวจสอบอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูงตามเหตุผลที่ จอร์ท ดับเบิ้ลยู บุช กล่าวอ้างไว้ และหลังจากการตรวจสอบปรากฏว่า ไม่พบอาวุธอานุภาพทำรายล้างสูงแต่อย่างใดนอก จากนั้นสำนักข่าวกรองกลางของสหรัฐอเมริกา (CIA) ก็ไม่สามารถหาหลักฐานที่น่าเชื่อมาแสดงให้เห็นว่า ซัสดัม ฮุสเซนกับอัลกออิดะ มีความเชื่อมโยงหรือเป็นพันธมิตรกัน



สงครามดำเนินมาได้ 7 ปีกว่า ประธานาธิบดีผู้ซึ่งได้รับเลือกตั้งใหม่ นายบารัค ฮุสเซียนโอบามา(Barack Hussein Obama)ได้ประกาศ “ปฏิบัติการอรุณใหม่” เพื่อแทนที่ “ปฏิบัติการเสรีภาพอิรัก” โดยกำหนดให้มีการถอนกำลังรบภายใน 18 เดือน โดยคงทหารอย่างน้อย 50,000 นายไว้ในประเทศอิรัก เพื่อให้คำแนะนำในการฝึกกองกำลังความมั่นคงอิรัก การจัดหาข่าวกรอง และการตรวจตรา โดยได้เริ่มปฏิบัติการอรุณใหม่นี้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2553 และท้ายที่สุดสหรัฐอเมริกาและประเทศพันธมิตรได้ถอนกองกำลังออกจากภูมิภาคนี้พร้อมประกาศยุติสงครามอิรักอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2554

สงครามอิรักถือเป็นสงครามหนึ่งที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ การรุกรานอิรักของสหรัฐอเมริกาจะด้วยเหตุใดๆก็ตาม การทำสงครามในครั้งนี้ได้นำมาซึ่งความสูญเสียทั้งชีวิตมนุษย์และทรัพย์สินของชาวอิรักและอเมริกันจำนวนมหาศาล อนาคตของอิรักหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่ไม่มีใครสามารถตอบได้แน่ชัด แต่อย่างไรก็ตามผลที่สุดแล้วชาวอิรักเท่านั้นที่จะเป็นผู้กำหนดชะตากรรมของตนเอง ไม่ใช่มหาอำนาจจากดินแดนไหน หรือประเทศอื่นใด


อ้างอิง

กฤตสนัย  ชมพูยศ และคนอื่นๆ.  (2554).  สงครามอิรัก.  (ออนไลน์).  สืบค้นเมื่อ 20 สิงหาคม 2558 จาก  https://lookponglunla.wordpress.com/สงครามอิรัก/

พิธพร  กลิ่นเฟื่อง.  (2555).  ย้อนรอย สงครามอิรัก ค.ศ. 2003.  (ออนไลน์).  สืบค้นเมื่อ 20 สิงหาคม 2558 จาก  http://thaicafe.blogspot.com/2012/08/2003.html

สุริยะ  พรสุริยะ.  (ม.ป.ป.).  สงครามอิรักวิเคราะห์เชิงยุทธศาสตร์.  (ออนไลน์).  สืบค้นเมื่อ 20 สิงหาคม 2558 จาก  http://www.navy.mi.th/ians/document/misc/nvipdoc2.html

คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย.  (2543).  สถานการณ์สงครามอิรัก.  (ออนไลน์) สืบค้นเมื่อ 20 สิงหาคม 2558 จาก  http://www.baanjomyut.com/library/global_community/04_9.html


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น