เทศกาล ลา โตมาตินา (La Tomatina) สงครามมะเขือเทศ

โดย มลธิชา ว่องทั่ง

เมื่อพูดถึงเทศกาลสุดแปลกก็คงจะหนีไม่พ้นเทศกาลปามะเขือเทศหรือ La Tomatina ของประเทศสเปนซึ่งหากคุณมองเพียงเผินๆ เทศกาลนี้คงเหมือนกับฉากหนึ่งในหนังฆาตกรรมเป็นแน่ เพราะเต็มไปด้วยสีแดงคล้ายเลือด แต่จริงๆ แล้วสีแดงเหล่านั้นก็คือ มะเขือเทศจำนวนมหาศาล ที่ผู้คนเอามาปาใส่กันอย่างสนุกสนาน และหากครั้งหนึ่งในชีวิตคุณอยากจะได้รับประสบการณ์ ' World's Biggest Food Fight ' หรือสงครามอาหารที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก!!  La Tomatina เป็นเทศกาลที่คุณไม่ควรพลาดแต่ประการใด

ที่มา: https://www.zipeventapp.com/blog/2017/08/29/la-tomatina-spain-in-august/
เทศกาลปามะเขือเทศเป็นเทศกาลที่ถูกจัดขึ้นในทุกวันพุธสุดท้ายของเดือนสิงหาคมของทุกๆ ปี ในเมือง Buñol จังหวัด Valencia ของประเทศสเปน ซึ่งอยู่ห่างจาก Valencia ไปเพียง 30 กิโลเมตร โดยปกติแล้วเมือง Buñol มีจำนวนประชากรเพียง 9,000 คนเท่านั้น แต่เมื่อถึงเทศกาลปามะเขือเทศผู้คนกว่า 30,000 คน จากทั่วทุกมุมโลกล้วนมารวมตัวกันเพื่อเข้าร่วมเทศกาลปามะเขือเทศจำนวนกว่าร้อยตันใส่กัน นับว่าเป็นสงครามอาหารที่สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้เป็นอย่างดีเลยที่เดียว

อย่างที่ทราบกันมาแล้วว่าเทศกาลนี้เป็นเทศกาลที่ให้ผู้เข้าร่วมได้มาปามะเขือเทศใส่กันแต่ทว่ามันเริ่มขึ้นมาได้อย่างไร?? หากย้อนกลับไปเมื่อ ค.ศ.1944 มีขบวนพาเหรดประจำปีผ่านมากลางเมือง มีขบวนยักษ์หัวโตอย่าง Gigantes y Cabezudos และมีคนกลุ่มหนึ่งต้องการที่จะเข้าร่วมขบวนพาเหรดในครั้งนั้นแต่ถูกขัดขว้าง จึงเกิดเหตุทะเลาะวิวาทเกิดและประกอบบริเวณนั้นมีแผงขายมะเขือเทศอยู่ด้วย และดูเหมือนว่ามะเขือเทศนี่แหละก็เป็นอาวุธที่ดีทีสุด ณ เวลานั้น ผู้คนจึงได้ใช้มะเขือเทศปาใส่กันจนมีตำรวจเข้ามาห้ามสงครามจึงหยุดลง และปีต่อมาก็พบว่ามีเหตุทะเลาะวิวาทกันแบบนี้อีกซ้ำๆ ทุกปี แม้จะมีการแก้ปัญหาโดยการย้ายแผงมะเขือเทศออกไป แต่แล้วก็ไม่ประสบความสำเร็จเพราะพวกเขาได้นำมะเขือเทศมาจากบ้านแทน จึงได้เกิดเป็นเทศกาลสุดแปลก La Tomatina สืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้

ที่มา: http://lively.mcot.net/view/55e40f3bbe047077fb8b45f4
La Tomatina มีกำหนดจัดขึ้นเป็นประจำทุกๆ ปี ในวันพุธสุดท้ายของเดือนสิงหาคม ในระหว่างเวลา 11-13 นาฬิกา ณ บริเวณ Plaza del Pueblo ซึ่งเทศกาลจะเริ่มขึ้นเมื่อมีผู้กล้าปีนขึ้นไปบนเสาที่ทาด้วยน้ำมันเพื่อเอาแฮมที่อยู่ด้านบนของเสาลงมา โดยผู้คนที่รอให้กำลังใจอยู่ด้านล่างมีการร้องเพลงกันอย่างสนุกสนาน และหลังจากนั้นจะมีรถบรรทุกที่ขนมะเขือเทศ 100 กว่าตันเข้ามาในงาน มะเขือเทศเหล่านั้นเป็นมะเขือเทศจาก Extremadura ซึ่งเป็นมะเขือเทศที่มีราคาถูกและคุณภาพไม่ได้ดีนัก จากนั้นจะมีการปล่อยน้ำจากท่อใหญ่ลงมา นั่นเป็นสัญญาณที่แสดงว่าสงครามมะเขือเทศได้เริ่มขึ้นแล้ว!!

จากนั้นผู้คนจะเริ่มขว้างปามะเขือใส่กันอย่างสนุกสนานเหมือนทำสงคราม ซึ่งการทำสงครามนี้ก็ต้องมีกฎเกณฑ์ร่วมกันเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย คือ ทุกคนจะต้องไม่ปาขวดหรือของแข็งใส่กัน รวมทั้งไม่ฉีกเสื้อผ้ากันและกัน ไม่ทำพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาท และเมื่อมีสัญญาณประทัดหรือเสียงปืนดังขึ้นจะต้องหยุดการปามะเขือเทศทันที และก่อนที่จะปามะเขือเทศต้องมีการนวดให้มะเขือน่วมก่อน นอกจากนั้นยังมีคำแนะนำอื่นๆ สำหรับผู้ที่สนใจ ก่อนจะเข้าร่วมสงครามมะเขือเทศ ควรใส่เสื้อผ้าเก่าๆ เพราะมันจะเลอะไปด้วยมะเขือเทศที่ซักไม่ออก ไม่ควรใส่รองเท้าแตะเพราะจะลื่นได้ง่าย และสิ่งที่สำคัญคือ ควรใส่แว่นตากันน้ำด้วย เพราะมะเขือเทศมีฤทธิ์เป็นกรดอาจทำให้ตาอักเสบได้

หลังจากนั้น 1 ชั่วโมง เสียงของปืนใหญ่จะดังขึ้น เป็นสัญญาณที่ว่าสงครามมะเขือเทศได้จบลงแล้วทุกคนที่เข้าร่วมต้องหยุดการปามะเขือเทศใส่กันทันที แล้วหันมาช่วยกันเก็บกวาดคราบมะเขือเทศ เพื่อให้เมือง Buñol กลับมาสะอาดและสวยงามอีกครั้ง

เทศกาลนี้ได้จัดสืบเนื่องต่อๆ กันมาจนถึงปัจจุบันนี้ เป็นเวลา 74 ปี (ค.ศ.1944-2018) จากที่เล่นสนุกสนานกันแค่ในเมือง Buñol กลายมาเป็นเทศกาลยอดนิยม ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่ต้องการมาสัมผัสเทศกาลสุดแปลกนี้ ทำให้ตอนนี้มีการเก็บค่าเข้าและจำกัดจำนวนคนเข้าไปร่วมเล่นสงครามมะเขือเทศ เพื่อมุ่งหวังสร้างความเป็นระเบียบมากยิ่งขึ้น

เทศกาลปามะเขือเทศจึงเป็นอีกหนึ่งเทศกาลที่มีความน่าสนใจไม่แพ้ไปกว่าเทศกาลอื่นๆ ในประเทศแถบละติน ซึ่งหากคุณเป็นคนหนึ่งที่ชอบสัมผัสกับความแปลกๆ ใหม่ๆ แบบเลอะเทอะ สงครามอาหารครั้งนี้น่าจะตอบโจทย์ของคุณได้อย่างดีเลยทีเดียว


อ้างอิง

เทศกาลแบบนี้ก็มีด้วย เทศกาลปามะเขือเทศ(LA TOMATINA).สืบค้นเมื่อ12 มกราคม 2561,จาก http://lively.mcot.net/view/55e40f3bbe047077fb8b45f4

Kookai(2016). LA TOMATINA: YOU NEED TO BE THERE ไปมาแล้ว! เทศกาลปามะเขือเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลก.สืบค้นเมื่อ12 มกราคม 2561, http://www.makeajourney.co/la-tomatina-lifetime/

Tomatina Festival.La Tomatina.สืบค้นเมื่อ12 มกราคม 2561,จาก http://www.latomatina.org/

La Tomatina Festival.สืบค้นเมื่อ12 มกราคม 2561,จาก https://www.spanish-fiestas.com/festivals/la-tomatina/

อ่านเพิ่มเติม »

เทศกาลสู้วัวกระทิง (La corrida de toros)

โดย ปรัชญา คงโนนกอก

กระทิง หรือ วัวสู้ศึก (Toro Bravo) คือ หนึ่งในสัตว์สัญลักษณ์ประจำชาติของประเทศสเปน เนื่องจากกระทิงสายพันธุ์นี้มีความเก่าแก่ และเป็นสัตว์ที่มีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม เเละวิถีชีวิตของชาวสเปนมาอย่างช้านาน โดยเฉพาะ "เทศกาลสู้วัวกระทิง" คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อพูดถึงประเทศสเปนแล้วต้องนึกถึงเทศกาลนี้ แต่ทราบหรือไม่ว่าเบื้องหลังของเทศกาลนี้ได้มีการสังเวยชีวิตทั้งสัตว์และคนไปเป็นจำนวนมากมาย

เทศกาลสู้วัวกระทิง (ระหว่างมาทาดอร์และวัวกระทิง
ที่มา: https://hilight.kapook.com/view/102506
การสู้วัวกระทิง คือรูปแบบศิลปะ กีฬา และวัฒนธรรมที่มีความแน่นแฟ้นกับสเปนมาอย่างช้านาน มีความเชื่อว่ามีมาตั้งแต่ยุคโรมันที่นิยมเห็นการต่อสู้ฆ่ากันระหว่าง คนกับคน และ คนกับสัตว์  ซึ่งการสู้วัวกระทิงอย่างเป็นทางการได้เริ่มขึ้นเพื่อเป็นเกียรติยศในพิธีบรมราชาภิเษกของกษัตริย์ Afonso VIII แห่งสเปน

แต่เดิมการสู้วัวกระทิงเป็นกีฬาของพวกชนชั้นสูง และมีการสู้วัวบนหลังม้า จนกระทั่งมาถึงสมัยหนึ่ง กษัตริย์ Felipe V ได้สั่งห้าม และ คัดค้านไม่ให้จัดการแข่งขันกีฬาชนิดนี้อีก เพราะเชื่อว่าจะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีแก่ประชาชน และ เป็นกีฬาที่โหดร้าย แต่หลังจากนั้นคนสามัญธรรมดากลับได้รับเอากีฬานี้มาเล่นเป็นกีฬาของตน

สนามสู้วัวกระทิงที่เก่าแก่ที่สุดตั้งอยู่ที่เมืองทางใต้ของ Ronda แต่เมืองใหญ่อย่าง Madrid ก็ยังคงมีสนามสู้วัวเช่นกัน อย่างสนามสู้วัวกระทิง Las Ventas จุคนได้ถึง 23,800 ที่นั่ง สนามนี้สร้างตั้งแต่ปี 1922 ถึง 1929 เพื่อรองรับความนิยมของประชาชนที่เพิ่มขึ้นในสมัยนั้น ถือเป็นสนามสู้วัวกระทิงที่ยิ่งใหญ่ของสเปน และเป็นที่จัดการแข่งขันอันทรงเกียรติที่สุดของประเทศอีกด้วย และในสมัยนั้นเนื่องจากว่าสามัญชนไม่สามารถที่จะซื้อม้ามาเป็นเครื่องมือในการเล่นได้ จึงเปลี่ยนรูปแบบเป็นการสู้ตัวเปล่า ปราศจากอาวุธ หรือ มีอาวุธเพียงน้อยชิ้นเท่านั้น และใน  ปี1830  Pedro Romero ผู้เป็นบิดาแห่งการสู้วัวสมัยใหม่ ได้ก่อตั้งโรงเรียนสู้วัวกระทิงอย่างเป็นระบบขึ้น และมาทาดอร์ (Matador) นักสู้วัวกระทิง ก็ยังคงรักษาและคงไว้ซึ่งรูปแบบการต่อสู้นี้มาตลอดจนถึงปัจจุบัน

วัวกระทิงที่ถูกแทงด้วยปฏัก และ ฉมวก
ที่มา: https://sites.google.com/
เทศกาลสู้วัวกระทิง มีกำหนดจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 19 เดือนมีนาคม จนถึงวันที่ 12 เดือนตุลาคม ของทุกปี ในทุกวันอาทิตย์ช่วงเวลา 7 โมงเย็น หรือหนึ่งทุ่ม แต่ในช่วง เทศกาล San Isidro (ซาน อิสิโดร) ในกรุงมาดริด เป็นเทศกาลสู้วัวที่มีชื่อเสียงที่สุดจะจัดขึ้นต่อเนื่องกันเป็นเวลา 27 วัน  ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน ในแต่ละรอบจะมีมาทาดอร์ 3 คน สู้กับกระทิง 6 ตัว (เวลาต่างกัน) โดยเฉลี่ยใช้เวลาราว 2 ชั่วโมง

ขั้นตอนของการสู้วัวโดยทั่วไป ก่อนที่วัวกระทิงจะถูกปล่อยเข้าสู่สนาม จะมีพิธีการเดินสวนสนามของ มาทาดอร์ และเหล่าผู้ช่วยของเขา หลังจากนั้น วัวกระทิงจะถูกปล่อยเข้ามาสู่สนาม การแข่งขันจึงเริ่มขึ้น ในด่านแรก Cape Stage มาทาดอร์จะทดสอบความแข็งแกร่งของวัวกระทิง โดยการเดินหลอกล่อ หรือ ยั่วยุ เพื่อให้วัวกระทิงโมโห หรือเริ่มจู่โจม หลังจากนั้นด่านที่ 2 คือ Picador Stage วัวกระทิงจะถูกจู่โจมด้วยเหล่าปิคาดอร์ 2 คน (พวกคนที่ขี่ม้า(ม้าถูกปิดตา)) โดยจะใช้ปฏักทิ่มไปที่หลัง และกล้ามเนื้อคอของวัว เพื่อตัดกำลังไม่ให้วัวยกหัวของมันขึ้นได้ และ จะบิดเปิดแผลให้เลือดออกมากที่สุด จากนั้นพวกบันเดอริลโรที่เดินเท้าจะคอยใช้ท่อนฉมวกสีสันสดใสทิ่มแทงไปบนหลังวัว เพื่อกระตุ้นแรงต่อสู้ของกระทิง ทำให้มันฮึด ต่อมา จะเริ่มอ่อนแรงลง และหยุดไล่ในที่สุด

และด่านสุดท้าย คือ Killing Stage มาทาดอร์จะปรากฏตัวขึ้น มาทาดอร์ทุกคนจะเปรียบการแข่งขันแต่ละครั้งเป็นครั้งสุดท้าย ดังนั้นพวกเขาจะสวมใส่ชุดที่เรียกว่า Traje de luz ปักเย็บด้วยดิ้นทอง ซึ่งเป็นชุดที่แพงที่สุด แต่ไม่มีเสื้อเกราะ หากพลาดท่าอาจถึงแก่ชีวิตได้ ในด่านนี้ มาทาดอร์จะมาพร้อมกับผ้าสีแดง พร้อมกับดาบยาวที่เอาไว้เพื่อแทงไปที่บริเวณโหนกหลัง (จุดที่เป็นเส้นเลือดใหญ่) มาทาดอร์จะพุ่งเข้าใส่วัวกระทิงในครั้งแรกหากพลาด ครั้งที่สองเขาก็จะพยายามสังหารวัวให้ตาย เมื่อวัวกระทิงล้มลงเหล่าผู้ช่วยจะวิ่งออกมาเพื่อนำมันออกนอกสนามโดยจะผูกเขาของมันด้วยโซ่และถูกลากไปรอบ ๆ สนาม เพื่อให้ความบันเทิงครั้งสุดท้ายแก่ผู้ชม ในเกมนี้ผู้ตาย คือวัวกระทิง แต่ก็มีบ้างที่มาทาดอร์โดนขวิดเสียชีวิต แต่ถึงอย่างนั้นมันก็คงตายอยู่ดี ด้วยฝีมือมาทาดอร์คนอื่น

วัวกระทิงที่อยู่ในคอก
ที่มา : https://sites.google.com/
สิ่งที่อยู่เบื้องหลังของเทศกาลนี้ ก็คือ วัวกระทิงไม่มีแม้โอกาสในการป้องกันตัวเอง และ มีโอกาสน้อยมากที่จะรอดชีวิตไปได้ วัวจะถูกทอนกำลังให้อ่อนล้าก่อนด้วยวิธีการต่างๆ  เช่น ปล่อยกระสอบทรายหล่นบนหลัง การถูกวางยาก่อนที่จะถูกปล่อยลงสนาม และอีกวิธีหนึ่ง คือการเล็มเขาของวัวเพื่อให้การทำงานของมันเสียศูนย์ และมีการนำทางที่ไม่สมดุล  ซึ่งอุปนิสัยที่แท้จริงของวัวกระทิง  คือ พวกมันเป็นสัตว์รักสงบ  ก่อนหน้าการต่อสู้เป็นเวลาหลายชั่วโมง วัวจะถูกขังในที่แคบๆ อย่างโดดเดี่ยว และก่อนจะถูกปล่อยเข้าไปในสังเวียนมันจะถูกทิ่มแทงด้วยฉมวก โดยหมายความว่า มันได้รับบาดเจ็บ และโชกเลือดอยู่แล้ว

ในด่านการต่อสู้ต่างๆ นั้นวัวกระทิงจะถูกทั้งหอกแทงพร้อมทั้งยังถูกโจมตีด้วยฉมวกอีก การกระทำเหล่านี้ทำให้วัวช็อก หอบสำลัก และร้องออกมา มันจะอ่อนล้า และเคลื่อนไหวลำบากยิ่งขึ้น หลังจากเวลาผ่านไปไม่นาน Matador จะคลุมหัวของมันด้วยผ้าแดง แล้วแทงด้วยดาบ โดยที่ดาบนั้นจะทะลุเข้าถึงหัวใจและทำให้มันขาดใจตายทันที โอกาสของวัวที่จะตายได้เร็ว คือ เมื่อมันถูกแทงเข้าไปในปอดซึ่งจะทำให้มันกระอักเลือดออกมาทั้งปากและจมูก แล้วจมอยู่ในกองเลือดของมันเอง

การประท้วงให้หยุดการสู้วัวกระทิงของกลุ่มสิทธิสัตว์
ที่มา : http://m.prachachat.net/
ปัจจุบันได้มีเสียงคัดค้าน และขอให้ยุติกีฬาชนิดนี้จากกลุ่มพิทักษ์สิทธิสัตว์  เนื่องจากมองว่าเป็นการทารุณกรรมสัตว์ นอกจากนี้ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ประกอบกับปัญหาเศรษฐกิจต่างๆ ทำให้ความนิยมในกีฬาสู้วัวกระทิงในระยะหลังลดลงอย่างต่อเนื่อง คนจำนวนมากเห็นว่ากีฬานี้คือตัวแทนของความโบราณ และ มีแหล่งบันเทิงอื่นอีกมากมาย เช่น โทรทัศน์ Social network ฯลฯ ที่ช่วยให้ผ่อนคลาย และ เกิดความบันเทิง เข้ามาแทนที่

ประกอบกับ การแข่งขันแต่ละรอบในปัจจุบันมีคนดูไม่เกินร้อยละ 25 ถึง 30 ของ จำนวนที่นั่ง และ อายุคนดูเฉลี่ยอยู่ที่ 50 ปี และโดยเฉพาะเมื่อวันที่  20 พฤษภาคม ค.ศ. 2014 ได้มีการยกเลิกการแข่งขันที่สนามใหญ่อย่าง Las Ventas ลง เนื่องจากว่า Matador ไม่สามารถเอาชนะวัวได้ใน 3 ศึกแรก ซึ่งเป็นการยกเลิกเทศกาลสู้วัวกระทิงไปในรอบ 35 ปี อีกทั้งเทศกาลสู้วัวกระทิงของเมืองตอร์เดซียัส ซึ่งถูกจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ต่อเนื่องมานานเกือบ 500 ปี ก็ถูกต่อต้านอย่างหนัก จากกลุ่มรณรงค์เพื่อปกป้องสิทธิสัตว์ รวมทั้งชาวสเปนอีกกว่าล้านคนที่ร่วมกันลงชื่อ และเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 2016 จึงถือเป็นชัยชนะครั้งแรกในการยุติเทศกาลที่โหดร้ายนี้ลงได้อย่างถาวร

ไม่ว่าคน หรือ สัตว์ก็ล้วนเเล้วแต่รักชีวิตของตนเองทั้งนั้น ไม่มีใครอยากถูกทำร้าย หรือ ถูกทารุณกรรมอย่างโหดเหี้ยม ยิ่งไปกว่านั้นการที่นำสัตว์ประจำชาติมาอยู่ในสังเวียนแห่งความตายนี้ แทนที่จะอนุรักษ์ไว้ ยิ่งเป็นการกระทำที่ไม่น่าส่งเสริม ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า วัวกระทิงสายพันธุ์นี้จะสูญพันธุ์ไปตลอดกาล และกลายเป็นเพียงตำนานบอกเล่าสู่ลูกหลานเท่านั้น พวกเราสามารถช่วยชีวิตสัตว์ที่น่าสงสารเหล่านี้ได้ ด้วยการช่วยกันปฏิเสธและไม่สนับสนุนการทรมานหรือฆ่าสัตว์เพื่อความบันเทิงเช่นนี้


อ้างอิง: 

David Thyberg, Leaf Group, Information on Bullfighting in Spain. Accessed on 2 February 2018, Retrieved from http://traveltips.usatoday.com/

Spanish Fiestas Discover the real Spain, Bullfighting History. Accessed on 2 February 2018, Retrieved from https://www.spanish-fiestas.com/

การสู้วัวกระทิง Bull Fighting. สืบค้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561, จาก : https://sites.google.com/site/

เทศกาลสู้วัวกระทิงในสเปนถูกยกเลิก หลังมาทาดอร์พ่าย 3 ราย. สืบค้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561, จาก : http://hilight.kapook.com/view/102506

มาทาดอร์ นักสู้ผ้าแดงแห่งสเปน. สืบค้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561, จาก : http://www.europetouch.in.th/main/InformationDetail.html

สนามสู้กระทิงที่สำคัญที่สุดในสเปน Las Ventas. สืนค้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561, จาก :
https://www.expedia.co.th/Las-Ventas-Madrid.d6066929.Place-To-Visit

สเปนยกเลิกสู้วัวกระทิงในตอร์เดซียัสครั้งแรกในรอบ500ปี. สืบค้นเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2561, จาก : https://www.thaich8.com/news_detail/7784                                                                                                   

อ่านเพิ่มเติม »

“ฉิงชิง” จาก “โสเภณี” สู่ "ราชินีโจรสลัดเเห่งทะเลจีนใต้"

โดย ธีรภัทร์ ช้างแก้ว

“ฉิงชิง” ซึ่งถือเป็นบุคคลที่มีเรื่องราวอันน่าเหลือเชื่อ จากอดีตโสเภณีที่ต้องพบกับชะตาชีวิตอันผกผันจนทำให้เธอเป็นโจรสลัดที่น่าเกรงขามที่สุดในทะเลจีนใต้ จนเป็นที่กล่าวขานกันว่า แม้แต่ราชสำนักในยุคราชวงศ์ชิงอันยิ่งใหญ่ของจีน ยังต้องยอมแพ้ต่อโจรสลัดกลุ่มนี้ จนถึงขั้นที่ทางราชสำนักจีนพระราชทานอภัยโทษให้แก่ ฉิงชิง และสมาชิกโจรสลัดกลุ่มนี้ทุกคน เรื่องของฉิงชิงจึงได้ถูกจารึกในประวัติศาสตร์ ด้วยฉายาว่า “ราชินีโจรสลัดแห่งทะเลจีนใต้”

อ่านเพิ่มเติม »