สงครามนโปเลียน (Napoleonic Wars)

โดย พีระยุทธ ประวันทา

ภายหลังการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี ค.ศ.1789 ทั่วทั้งยุโรปได้มีการปฏิรูปกองทัพกันอย่างขนานใหญ่ โดยเฉพาะมีการนำระบบเกณฑ์ทหารรูปแบบใหม่ ฝรั่งเศสได้ก้าวขึ้นสู่การเป็นมหาอำนาจทางการทหารภายใต้การนำของนโปเลียน โบนาปาร์ต ความขัดแย้งระหว่างฝรั่งเศสและชาติต่างๆในทวีปยุโรปในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นตัวจุดชนวนทำให้เกิดสงครามที่นองเลือดที่สุดเหตุการณ์หนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ยุโรป


สมรภูมิเอาสเทอร์ลิทซ์ (Battle of Austerlitz)
ที่มา https://en.wikipedia.org/

สงครามนโปเลียน (Napoleonic Wars) เป็นสงครามที่เกิดขึ้นในช่วงที่ฝรั่งเศสอยู่ภายใต้การปกครองของนโปเลียน โบนาปาร์ต ทั้งนี้ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าสงครามนโปเลียนนั้นเกิดขึ้นเมื่อใด ซึ่งอาจเป็นวันที่นโปเลียนทำการรัฐประหาร 18 บรูแมร์ หรือเป็นช่วงที่เรียกว่าสงครามการปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolutionary War) ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1799 ถึงปี 1802 แต่โดยทั่วไปนับตั้งแต่วันที่อังกฤษประกาศสงครามกับฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ.1803

สงครามนโปเลียนเกิดขึ้นเนื่องจากความขัดแย้งที่สืบเนื่องมาตั้งแต่เกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส ภายหลังจากเหตุการณ์ประหารชีวิตพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และการประกาศก่อตั้งสาธารณรัฐฝรั่งเศสขึ้น ทำให้ประเทศต่างๆในทวีปยุโรปเริ่มสั่นคลอน ออสเตรีย ปรัสเซีย และอังกฤษซึ่งเป็นพันธมิตรหลัก ได้ร่วมกันประกาศสงครามกับฝรั่งเศสเพื่อที่จะล้มล้างการปฏิวัติ แต่ฝรั่งเศสก็สามารถต่อต้านเอาไว้ได้  ในขณะเดียวกันนโปเลียน โบนาปาร์ตดำรงตำแหน่งเป็นแม่ทัพภาคอิตาลีและได้ทำการยุทธ์ที่อิตาลี จนทำให้ออสเตรียซึ่งเป็นพันธมิตรหลักถอนตัวออก และถูกบีบบังคับให้ลงนามในสนธิสัญญาคัมโปฟอมิโอ (the Treaty of Campo Formio)

จากนั้นฝรั่งเศสได้เคลื่อนทัพไปยังอียิปต์ภายใต้การนำของนโปเลียน เพื่อตัดการเชื่อมต่อการส่งกำลังบำรุงระหว่างอินเดียและอังกฤษ เนื่องจากฝรั่งเศสเล็งเห็นว่ากองทัพฝรั่งเศสไม่สามารถสร้างความเสียหายกับกองทัพอังกฤษได้ เพราะอังกฤษมีกองทัพเรือที่เข้มแข็ง ในการรบที่อียิปต์ นโปเลียนสามารถเอาชนะกองทัพมัมลุกได้อย่างง่ายดาย แต่ทางด้านกองทัพเรือฝรั่งเศสได้พ่ายแพ้อย่างยับเยินต่อกองทัพเรืออังกฤษ ในที่สุดอังกฤษและฝรั่งเศสตกลงลงนามในสนธิสัญญาอาเมียงส์ (Treaty of Amiens) เป็นการสงบศึกกันชั่วคราว


การรุกรานรัสเซียของฝรั่งเศส

จนกระทั่งนโปเลียนได้ประกาศตนเป็นจักรพรรดิในปี ค.ศ.1804 และวางแผนยึดเกาะอังกฤษ ทั้งสองฝ่ายได้รบกันในยุทธนาวีทราฟัลการ์ โดยฝรั่งเศสเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ทำให้ล้มเลิกการบุกเกาะอังกฤษและหันไปทำสงครามกับออสเตรียอีกครั้งและได้รับชัยชนะอย่างงดงามที่สมรภูมิเอาสเทอร์ลิทซ์ ในสงครามครั้งต่อไปฝรั่งเศสต้องการให้รัสเซียถอนตัวจากโปแลนด์จึงได้ทำสงครามกับรัสเซีย ทหารฝรั่งเศสสามารถผลักดันให้ทหารรัสเซียออกไปได้ จนทำให้พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 1 แห่งรัสเซียต้องทำสนธิสัญญาสงบศึกที่ทิลซิท (Tilsit)

ในปี ค.ศ.1807 ได้เกิดสงครามที่คาบสมุทรไอบีเรีย (Peninsular War) กองทัพฝรั่งเศสภายใต้การนำของนายพลณ็อง อ็องด็อชร่วมกับกองทหารที่ยืมมาจากสเปน เข้ารุกรานและยึดครองโปรตุเกสเนื่องจากโปรตุเกสไม่ยอมรับระบบการค้าของฝรั่งเศส (Continental System) หลังจากนั้นจึงหันไปโจมตีสเปน ทำให้เกิดการลุกฮือของประชาชน เมื่ออังกฤษเห็นว่าชาวสเปนต่อต้านฝรั่งเศส อังกฤษจึงทำสงครามกับฝรั่งเศสโดยผนึกกำลังกับสเปนและโปรตุเกส จนกระทั่งสามารถเอาชนะได้ในที่สุด

ต่อมาในปี ค.ศ.1812 นโปเลียนทำการบุกรัสเซียเพื่อบังคับให้รัสเซียเข้าร่วมระบบการค้าของฝรั่งเศส (Continental System) เพื่อให้รัสเซียยุติการติดต่อค้าขายกับพ่อค้าอังกฤษและจะต้องยุติการยึดครองโปแลนด์ ซึ่งรัสเซียไม่เห็นด้วย ในการรบครั้งนี้รัสเซียได้ใช้ยุทธวิธีร่นถอยและทำลายทุกสิ่งที่อาจเป็นประโยชน์ต่อศัตรูหรือยุทธวิธีสกอชท์เอิร์ธ (Scorched earth) เมื่อฝรั่งเศสมาถึงกรุงมอสโคพบว่าทั้งเมืองกลายเป็นเมืองร้าง ฝรั่งเศสจึงถอนกำลังและถูกกองทัพรัสเซียไล่ติดตาม นอกจากนี้ยังต้องเผชิญกับฤดูหนาวอันโหดร้ายของรัสเซียทำให้ทหารเสียชีวิตไปถึง 370,000 นาย จากจำนวนทหารทั้งหมด 650,000 นาย ปรัสเซีย ออสเตรีย และชาติพันธมิตรอื่นๆเมื่อเห็นฝรั่งเศสเพลี้ยงพล้ำจึงรวมตัวกันเพื่อทำสงครามกับฝรั่งเศสอีกครั้ง


สมรภูมิวอเตอร์ลู (Battle of Waterloo)
ที่มา: https://www.telegraph.co.uk/

จนกระทั่งกองทัพพันธมิตรสามารถบุกมาถึงกรุงปารีส นโปเลียนตัดสินใจสู้ต่อแต่ไม่เป็นผล นโปเลียนถูกเนรเทศไปยังเกาะเอลบาและพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 แห่งราชวงศ์บูรบงได้กลับมาปกครองฝรั่งเศสภายหลังจากถูกล้มล้างราชวงศ์ไปในสมัยปฏิวัติ แต่นโปเลียนสามารถหลบหนีออกมาได้และยึดอำนาจคืน ซึ่งเรียกช่วงเวลาดังกล่าวว่าสมัยร้อยวัน และได้ทำสงครามกับอังกฤษและปรัสเซียที่สมรภูมิวอเตอร์ลูในปี ค.ศ.1815 นับเป็นสงครามสุดท้ายในสงครามนโปเลียน สงครามครั้งนี้จบลงด้วยการพ่ายแพ้ของนโปเลียน นโปเลียนถูกบีบให้สละราชบัลลังก์อีกครั้งและถูกเนรเทศไปยังเกาะเซนต์ เฮเลนา เป็นอันสิ้นสุดสงครามนโปเลียน

สิ่งที่ทุกคนได้รับจากเหตุการณ์ในครั้งนี้นับว่าเป็นบทเรียนแห่งความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ไม่ต่างไปจากมหาสงครามโลกทั้งสองครั้ง นอกจากนี้สิ่งที่ได้รับจากเหตุการณ์ในครั้งนี้คือเกิดการประชุมใหญ่แห่งเวียนนาเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นภายหลังจากสงครามนโปเลียน ซึ่งส่งผลให้กลายเป็นต้นแบบของการก่อตั้งสันนิบาตชาติในสงครามโลกครั้งที่1และสหประชาชาติในสงครามโลกครั้งที่2 นับว่าเป็นความพยายามของมนุษยชาติที่ต้องการที่จะแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นและไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต


อ้างอิง :

การปฏิวัติฝรั่งเศสและสงครามนโปเลียน. ค้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 261, จาก http://history-ofthailand.blogspot.com/2012/11/blog-post_4766.html

นิยาย สงครามนโปเลียน. ค้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2561, จาก https://writer.dek-d.com/hoshino/story/view.php?id=1584479

สงครามนโปเลียน. ค้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2561, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/สงครามนโปเลียน

สงครามนโปเลียน [หน้าต่างโลก]. ค้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2561, จาก http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2007/05/K5456207/K5456207.html


อ่านเพิ่มเติม »

ไล่ตงจิ้น (Lai Dong Jin) แห่ง “พรรคกระยาจก” ในโลกยุคปัจจุบัน

โดย ธนัชฌา  คำดำ

หากจะกล่าวถึงบุคคลที่เป็นตัวอย่างคงต้องหยิบยกเรื่องราวจากชีวิตจริงของ ไล่ตงจิ้น ขอทานที่เป็นแบบอย่างในการประสบความสำเร็จ ถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ ในชีวิต เพื่อสร้างกำลังใจและแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่ท้อแท้และหมดหวังให้ได้ก้าวเดินต่อไป


ไล่ตงจิ้น

ไล่ตงจิ้น (Lai Dong Jin) เกิดวันที่ 20 มีนาคม 1959 ที่หมู่บ้านตงซื่อ จังหวัดไถจง ประเทศไต้หวัน ครอบครัวของเขามีพ่อเป็นขอทานตาบอด และมีแม่เป็นคนไอคิวต่ำ สติไม่สมประกอบ และมีโรคประจำตัวเป็นลมบ้าหมู เขาเรียกแทนตัวเองว่า “พรรคกระยาจก” เพราะทั้งครอบครัวเป็นขอทาน สมัยนั้นยังไม่มีความรู้เรื่องการคุมกำเนิดจึงทำให้เขามีพี่น้องร่วมท้องเดียวกันถึง 12 คน ไล่ตงจิ้นเป็นลูกคนที่สองต่อจากพี่สาวคนโต น้องชายคนโตของเขาก็มีอาการสติไม่สมประกอบเช่นเดียวกับแม่ ที่มาของชื่อไล่ตงจิ้น เพราะตอนหมอตำแยทำคลอดมีมังกรเขียวปรากฏตัวบนท้องฟ้า พ่อดีใจมากจึงตั้งชื่อว่าตงจิ้น ส่วนเรื่องที่พักอาศัยครอบครัวนี้ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง เพราะต้องเร่ร่อนขอทานไปตามเมืองต่างๆ นอนกลางดินกินกลางทราย พักพิงตามสถานที่ทั่วไปนับไม่ถ้วนไม่ว่าจะเป็นใต้ต้นไม้ ใต้สะพาน ตลาดสด เล้าหมู โรงเรียน สวนสาธารณะ สถานีรถไฟ ป่าช้า ทุ่งนา ล้วนแปรผันไปตามสภาพอากาศและฤดูกาล แต่ที่ที่เข้าไปพักบ่อยที่สุดก็จะเป็นศาลเจ้าในสุสาน เพราะมีสาเหตุสำคัญว่าคนตายจะไม่ลุกขึ้นมาไล่ตะเพิดพวกเขาอย่างแน่นอน เรียกได้ว่าเป็นชีวิตที่ผ่านร้อน ผ่านหนาว ผ่านพายุโหมกระหน่ำมาแล้วทั้งสิ้น

ตั้งแต่เริ่มจำความได้ชีวิตก็เร่ร่อนพเนจรไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ไล่ตงจิ้นเริ่มออกเร่ร่อนขอทานตั้งแต่อายุขวบกว่า สิ่งที่พ่อภูมิใจและชื่นชมในตัวเขาคือตอนที่เขาอายุเพียง 2 ขวบ แต่สามารถเดินเท้าไปขอทานได้ระยะทางไกลถึง 40 กิโลเมตร ทุกครั้งที่เหล่าพรรคกระยาจกเดินเข้าไปถึงหมู่บ้านก็จะกลายเป็นที่ดึงดูดความสนใจและเป็นที่น่ารังเกียจของชาวบ้านที่พบเห็นเสมอ พวกเขาเดินทางไปที่ต่าง ๆ ด้วยเท้าเปล่า เดินทุกวัน ๆ เข้าก็กลายเป็นทำให้เท้าด้านจนเป็นชั้นหนา บางครั้งหากพลาดไปเหยียบตะปูหรือเศษกระจก พ่อของเขาก็จะมีวิธีรักษาแบบแปลก ๆ และมีความพิเศษเฉพาะตัว คือจะใช้ดินทรายปิดปากแผลไว้ ชีวิตของพวกเขาห่างไกลจากความอนามัยเป็นอย่างมาก ระหว่างเดินทางพ่อก็ได้สอนหลาย ๆ สิ่ง หลาย ๆ อย่างให้แก่เขา ถึงแม้พ่อจะเป็นคนที่ไม่มีการศึกษาแต่สิ่งที่พ่อสอนนั้นล้วนเป็นเรื่องที่ออกมาจากใจทั้งสิ้น

ความกดดันในชีวิตสอนให้ไล่ตงจิ้นโตเร็วกว่าเด็กปกติทั่วไป เพราะเขาต้องเป็นเสาหลักของครอบครัวเลี้ยงดูพรรคกระยาจกทั้ง 14 ชีวิต ตั้งแต่อายุ 4 ขวบด้วยตนเอง บางครั้งต้องออกไปรับจ้างตามงานศพ ขอเศษอาหารที่เหลือจากงานเพื่อมาประทังชีวิตคนในครอบครัว ขอเสื้อผ้าของคนตายที่ไม่ใช้แล้วมาใส่ ซึ่งเขาเรียกว่าชุด “ท่านชายตกยาก”  ออกเดินขอทานตามบ้านเพื่อขอข้าวขอน้ำ ได้มากบ้างน้อยบ้างตามยถากรรม แต่เขาจะนึกถึงคนในครอบครัวก่อนเสมอแม้ตัวเองจะต้องอดก็ตาม พร้อมจะเสียสละทุกอย่าง ทำได้ทุกอย่างเพื่อความอยู่รอดของทั้งชีวิตและครอบครัว แต่นอกจากอุปสรรคของการออกไปขอทานจะเป็นการฝ่าฝนตก ฝ่าพายุออกไปขอทานแล้ว ยังมีสิ่งที่เลวร้ายกว่านั้นอีกก็คือโจร กว่าจะขอทานได้เงินมาแต่ละบาทไม่ใช่ง่าย ๆ ยังต้องมาถูกพวกโจรเอาเงินที่มีอยู่ทั้งหมดไปอีก แต่อย่างไรก็ตามอุปสรรคเหล่านี้ก็ไม่สามารถทำให้เขาล้มลงได้ มีแต่จะทำให้เขายิ่งแข็งแกร่งขึ้นกว่าเดิมเท่านั้น

สุดท้ายก็มาถึงวันที่หยุดพเนจร พวกเขามีบ้านอยู่จากการที่ไปขอลงทะเบียนชื่อในบ้านเกิด โชคดีที่ได้สิทธิ์เพราะพ่อมีหลักฐานแสดงตนจากใบเกิดที่เขียนโดยหมอตำแย และเจ้าหน้าที่เมตตาสงสารจึงให้ความช่วยเหลือ และสิ่งนี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นชีวิตใหม่ เพราะทำให้เขาได้มีโอกาสไปเรียนหนังสือ ระหว่างเรียนเขาก็ต้องขอทานไปด้วย ทั้งนั่งขอทานทั้งทำการบ้านทั้งอ่านหนังสือ ต้องพยายามใช้เวลาที่ผ่านไปทุกนาทีให้คุ้มค่าที่สุดเท่าที่จะทำได้  จึงทำให้เขาเรียนเก่งและมีผลการเรียนดีจนได้รับใบประกาศอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเรียน ด้านศิลปะ ด้านกีฬา และด้านความประพฤติ โรงเรียนทำให้เขาได้รักความรักและความอบอุ่นเพราะได้พบเจอคุณครูและเพื่อนที่ใจดีต่อเขามาก เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมจึงได้ไปเรียนต่อสายอาชีวะ เนื่องจากฐานะทางบ้านไม่สามารถทำให้เรียนต่อในมหาวิทยาลัยได้

ไม่มีอะไรที่ได้มาง่าย ๆ ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตล้วนมาจากความมานะพยายามของตนเอง นี่เป็นประโยคที่เขาระลึกไว้อยู่เสมอ จึงทำให้เขามุ่งมั่นและพยายามจนสำเร็จ ในที่สุดเขาก็มีบริษัทเป็นของตนเอง เขามีการวางแผนการใช้เงิน ทำให้มีรายได้จำนวนมาก และได้ฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ มากมายจนได้แต่งงานและมีลูกจนกลายเป็นครอบครัวที่อบอุ่น เขาได้ต่อสู้กับเรื่องราวในชีวิตมามากมายนับไม่ถ้วน จนได้เป็น “บุคคลดีเด่น” ของไต้หวัน เพราะเขามีหัวใจที่ไม่ยอมแพ้ มีความอดทน และมุมานะพยายามเป็นที่ตั้ง ทำให้เขาประสบความสำเร็จในชีวิต ทั้งหน้าที่การงานและชีวิตครอบครัวที่แสนจะอบอุ่น


รับรางวัล 10 เยาวชนยอดเยี่ยมแห่งปี 1999

ขอเพียงแค่เรามีความอดทนความสำเร็จก็สามารถเกิดขึ้นได้เสมอ เรื่องราวของไล่ตงจิ้นเป็นตัวอย่างและแรงบันดาลให้กับบุคคลต่าง ๆ ได้อย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความอดทน ความพากเพียร ความกตัญญู และการมุ่งมั่นพัฒนาตนเองโดยไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคปัญหาใด ๆ สามารถศึกษาเพื่อเป็นความรู้ ประสบการณ์และแบบแผนการดำเนินชีวิตที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง นอกจากนี้เขายังได้เป็น 1 ใน 10 เยาวชนยอดเยี่ยมแห่งปี 1999  และได้รับรางวัลนักเขียนยอดเยี่ยมปี 2000 อีกด้วย

คุณไม่ได้พังเกินกว่าที่จะซ่อมแซม เมื่อคุณล้มคุณสามารถลุกขึ้นยืนใหม่ได้อีกครั้ง จงเรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้น ภูมิใจกับบาดแผลของตัวเอง และพึงระลึกไว้เสมอว่ากว่าจะมาถึงวันนี้เราต้องผ่านอะไรมาบ้าง ต้องเผชิญอะไรมาบ้าง และนำสิ่งเหล่านั้นมาเป็นแรงผลักดันให้แข็งแกร่งขึ้นกว่าเดิม


อ้างอิง : 

ไล่ตงจิ้น. (2557). ไล่ตงจิ้น ลูกขอทานผู้ไม่ยอมแพ้ต่อชะตาชีวิต. แปลจาก Beggar  Child. แปลโดย วิลาวัลย์  สกุลบริรักษ์. กรุงเทพฯ: อินสปายร์.

วัชรีย์  เพชรรัตน์. (2559). ไล่ตงจิ้น ลูกขอทานผู้ไม่ยอมแพ้ต่อชะตาชีวิต. มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์,
12(2), 230-233.

ศรีวรรณ  มีคุณ. (2550). ไล่ตงจิ้น ลูกขอทานผู้ไม่ยอมแพ้ต่อชะตาชีวิต. การศึกษาและการพัฒนาสังคม,
3(1), 131-133.

อ่านเพิ่มเติม »

มารี กูว์รี (Marie Curie) มารดาแห่งวิทยาศาสตร์เคมี

โดย ตรีวิภา จันทะสุวรรณ

เมื่อพูดถึงนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียง ผู้ที่ทำคุณูปการที่สำคัญให้กับโลก เราก็มักจะนึกถึงนักวิทยาศาสตร์ที่เป็นผู้ชายเสียส่วนใหญ่ อาจสืบเนื่องมาจากมายาคติหรือสภาพสังคมในยุคสมัยก่อนที่ยังไม่ค่อยเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้รับการศึกษาสูงๆและทำงานได้อย่างกว้างขวางมากนัก แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีนักวิทยาศาสตร์หญิงคนหนึ่งที่ได้ทำคุณูปการที่สำคัญต่อชาวโลก ซึ่งเป็นการเปิดประตูสู่การรักษาโรคมะเร็งและโรคผิวหนังบางชนิด ซึ่งมีคุณค่าต่อมวลมนุษยชาติและการแพทย์เป็นอย่างมาก

มารี กูว์รี (Marie Curie) ชื่อเดิมของเธอคือ มารียา สโคลดอลสกา (Marja Sklodowska) เกิดที่กรุงวอร์ซอร์ประเทศโปแลนด์ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ.1867 เป็นลูกคนสุดท้องในจำนวน5คน บิดาของเธอคือ ศาสตราจารย์วลาดิสลาฟ สโคลดอลสกา เป็นอาจารย์สอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ที่โรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในกรุงวอร์ซอร์ ด้วยการที่เธอติดตามบิดาของเธอเข้าไปที่ห้องทดลองวิทยาศาสตร์ตั้งแต่เด็กๆ จึงทำให้เธอได้เรียนรู้การทดลองและมักอ่านหนังสือเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมากและไม่ค่อยออกไปเล่นเหมือนเด็กๆทั่วไป จึงทำให้เธอชอบและหลงใหลในวิทยาศาสตร์นับแต่นั้นเป็นต้นมา


มารี กูวร์รี
ที่มา : http://www.wikiwand.com/

มารีเป็นเด็กที่เรียนหนังสือเก่ง เธอเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาด้วยรางวัลเหรียญทองเมื่ออายุ16ปี แต่บิดาขาดทุนทรัพย์ที่จะส่งเธอเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา มารีจึงต้องหยุดเรียน แต่ความมุ่งมั่นที่จะเรียนต่อของเธอนั้นไม่หยุดยั้ง เธอจึงทำงานเป็นครูอนุบาลสอนเด็กๆลูกผู้ดีชนชั้นสูง เพื่อเก็บเงินส่งตนเองไปเรียนต่อที่ประเทศฝรั่งเศส เพราะที่โปแลนด์ไม่รับนักศึกษาหญิงและเธอยังได้ส่งเสียพี่สาวของเธอ โบรเนีย (Bronia)เรียนแพทย์ที่กรุงปารีส ระหว่างนั้นเธอก็ศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองไปด้วย เมื่อโบรเนียเรียนจบ เธอก็ได้ส่งเสียมารีเรียนต่อเพื่อเป็นการตอบแทน

ค.ศ.1893 มารีในอายุ23ปีก็ได้ไปศึกษาต่อที่กรุงปารีส เธอเข้าเรียนสาขาวิชาฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยซอร์บอน (Sorbonne) ด้วยความที่เธอเป็นคนขยันมุ่งมั่น เธอจึงสอบได้ที่หนึ่งในสาขาฟิสิกส์และในปีถัดมาก็สอบได้ที่สองในสาขาคณิตศาสตร์

ด้วยเงินที่พี่สาวส่งให้เธอใช้นั้นไม่เพียงพอ เธอจึงต้องหางานทำ และในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ.1894 มารีได้เป็นผู้ช่วยในห้องปฏิบัติการทางเคมีของ ปิแอร์ กูว์รี (Pierre Curie) ศาสตราจารย์ชาวฝรั่งเศสสาขาฟิสิกส์ และทั้งสองได้แต่งงานกันในปีค.ศ.1895 ในเดือนกุมภาพันธ์ปีเดียวกันนั้น มีนักฟิสิกส์ชาวฝรั่งเศสชื่อว่า อองรี เบคเคอเรล (Henri Becquerel) ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของปิแอร์ ได้พบปรากฏการณ์ที่ธาตุยูเรเนียมมีการปล่อยพลังงานออกมาได้เองตามธรรมชาติในอัตราคงที่โดยบังเอิญ ซึ่งต่างจากรังสีเอกซ์ที่ผลิตขึ้นมา สิ่งนี้เป็นการจุดประกายให้มารีและปิแอร์ค้นคว้าทดลองเกี่ยวกับยูเรเนียมอย่างจริงจัง และทั้งสองพบว่ามีพลังงานที่ถูกปล่อยออกจากแร่พิตช์เบลนด์ ซึ่งเป็นออกไซด์ชนิดหนึ่งของธาตุยูเรเนียม มารีได้แยกธาตุออกจากแร่พิตช์เบลนด์เป็นส่วนย่อย จนกระทั่งพบธาตุที่แผ่รังสีได้มากกว่ายูเรนียมถึงสี่เท่า มารีตั้งชื่อธาตุนั้นว่า พอลโลเนียม เพื่อเป็นเกียรติแก่โปแลนด์บ้านเกิดของเธอ


ปิแอร์ กูว์รี และ มารี กูว์รี
ที่มา : https://commons.wikimedia.org/

เมื่อขั้นตอนแรกสำเร็จ ต่อไป คือการแยกธาตุเรเดียมออกจากแร่พิตช์เบลนด์ ในค.ศ.1898 ทั้งสองได้ทำการค้นคว้าทดลองอย่างจริงจังจนสามารถแยกเรเดียมบริสุทธิ์ได้ในปี ค.ศ.1902 มีชื่อว่า “เรเดียมคลอไรด์” ซึ่งสามารถแผ่รังสีได้มากกว่ายูเรเนียมถึงสองล้านห้าแสนเท่า เรเดียมบริสุทธิ์นี้มีคุณสมบัติที่สำคัญคือ สามารถให้แสงสว่างและความร้อนได้ เมื่อแผ่รังสีไปยังวัตถุอื่น วัตถุนั้นจะเปลี่ยนสภาพเป็นธาตุกัมมันตรังสี สามารถแผ่รังสีและให้ความร้อนเช่นเดียวกับเรเดียม และด้วยคุณสมบัติที่สามารถให้ความร้อนต่อผิวหนังนี้ จึงทำให้นำมาใช้รักษาโรคผิวหนังบางชนิดและโรคมะเร็งได้ จากการค้นพบครั้งนี้ทำให้ทั้งสองได้รับรางวัลเหรียญทองเดวี่จากราชสมาคมกรุงลอนดอนของอังกฤษ และโนเบลในสาขาฟิสิกส์ในปีค.ศ.1903 ร่วมกับเบคเคอเรล ผู้ค้นพบรังสีจากธาตุยูเรเนียม แต่ด้วยความใจกว้างของทั้งสอง พวกเขากลับไม่จดสิทธิบัตรผลงานนี้ แต่เลือกที่จะเผยแพร่ให้สาธารณชนรับรู้อย่างละเอียดแทน


แร่พิตช์เบลนด์

แต่สิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น เมื่อเช้าวันที่ 19 เมษายน ค.ศ.1906 ปิแอร์ กูว์รี ประสบอุบัติเหตุทางจราจรเสียชีวิตทันที ทำให้มารีต้องทำงานค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์ต่อไปแต่เพียงผู้เดียว ต่อมามหาวิทยาลัยในปารีสได้ให้เงินก้อนหนึ่งกับมารีในการจัดตั้งสถาบันวิจัยเรเดียม เพื่อค้นคว้าวิจัยธาตุเรเดียมทางการแพทย์ เธอวิจัยทุ่มเทอย่างเต็มที่ จนทำให้เธอได้รับรางวัลโนเบลครั้งที่สองในปีค.ศ.1911 จากการศึกษาวิจัยทางด้านเคมีค้นคว้าประโยชน์จากเรเดียมเพิ่มเติม และเป็นคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลถึงสองครั้ง

แต่การค้นคว้าต้องหยุดชะงักเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่1 ผู้ชายที่ทำงานในสถาบันถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร มารีจึงตัดสินใจเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครร่วมกับลูกสาวคนโต อีแรน ตั้งแผนกรถเอกซเรย์เคลื่อนที่เพื่อช่วยรักษาทหารที่บาดเจ็บตามหน่วยต่างๆ จากเรื่องราวที่ผ่านมาของเธอ จะเห็นได้ ว่ามารีได้ทำผลงานและได้รับรางวัลเด่นๆดังนี้

1.ค้นพบแร่พอลโลเนียม เรเดียม
      2. แยกเรเดียมบริสุทธิ์ได้
3.ได้รับรางวัลเหรียญทองเดวี่จากราชสมาคมลอนดอนแห่งอังกฤษ
4.รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ครั้งที่1ค.ศ.1903
5.รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีครั้งที่2 ค.ศ.1911

เมื่อสงครามสิ้นสุดลง มารีกลับมาทำงานต่อที่สถาบันวิจัยเรเดียม แต่เนื่องจากสารกัมมันตภาพรังสีของเรเดียมนั้นเป็นพิษต่อร่างกายและเธอได้รับสารนั้นติดต่อกันเป็นระยะเวลายาวนาน ทำให้สุขภาพของเธอเริ่มทรุดโทรม อ่อนเพลีย ไม่ค่อยมีเรี่ยวแรง ไขกระดูกของเธอถูกทำลาย มารี กูว์รี เสียชีวิตด้วยโรคลูคิเมียในวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ.1934 จะเห็นได้ว่า สิ่งที่เธอกระทำเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นกลับส่งผลกระทบต่อเธอถึงชีวิต แต่ถึงกระนั้น เธอก็ได้ทำคุณูปการที่สำคัญยิ่งซึ่งเป็นการต่อชีวิตผู้ป่วยอีกหลายชีวิตให้อยู่รอด


อ้างอิง 

ฝ่ายชุมชนและผู้ด้อยโอกาส สํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ. (มปป.) . “มารี คูรี มารดาแห่งวงการเคมี”. [ระบบออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2561, จาก: http://nstda.or.th/rural/public/100%20articles-stkc/10.pdf

ปาริชาต เสือโรจน์. 2556. “มาดามมารี คูรี่ (Marie Curie)”. [ระบบออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2561, จาก: http://oillyt.blogspot.com/2013/09/marie-curie.html

บัวอื่น. 2552. “มารี คูรี สตรีผู้ได้ดับเบิ้ลโนเบล”. [ระบบออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2561, จาก:  http://www.vcharkarn.com/varticle/39294


อ่านเพิ่มเติม »

ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล (Florence Nightingale) สตรีแห่งดวงประทีป

โดย ปิยฉัตร บุญรอด

บุคคลสำคัญในอดีตท่านหนึ่งที่สนับสนุนการพยาบาลให้รุ่งเรือง จากอาชีพที่ถูกมองว่าเป็นอาชีพสำหรับคนการศึกษาน้อย จนกลายมาเป็นอาชีพที่ทรงเกียรติ และได้บุกเบิกความรู้ด้านพยาบาลศาสตร์ยุคใหม่และยังมีบทบาทในการพัฒนาด้านสถิติศาสตร์ บุคคลท่านนั้นคือ ฟลอเรนซ์  ไนติงเกล

ท่ามกลางความหวังมืดหม่นที่จะเหลือรอดชีวิตแต่ผู้ป่วยกลับรู้สึกมีความหวังขึ้นทุกครั้งเมื่อได้เห็นแสงสว่างจากตะเกียงที่มิสฟลอเรนซ์ ไนติงเกล มักจะจุดเพื่อใช้เดินดูผู้ป่วยในยามค่ำคืน ภาพนี้นี่เองที่ทำให้เธอถูกขนานนามในเวลาต่อมาว่า Lady of the Lamp ซึ่งต่อมาได้กลายมาเป็น ‘ตะเกียงไนติงเกล’ สัญลักษณ์แห่งคำมั่นสัญญาของผู้ที่สำเร็จการศึกษาในวิชาชีพพยาบาลให้ตระหนักถึงความอดทน ความเอื้ออารีต่อผู้ป่วยนั้น


ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล สตรีแห่งดวงประทีป
ที่มา : https://www.makers.com/

ฟลอเรนซ์  ไนติงเกล (Florence Nightingale) เกิดในตระกูลคหบดีอังกฤษ ณ เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ในปีค.ศ.1820 โดยได้รับการศึกษาอย่างดีตามแบบกุลสตรีชั้นสูงทำให้ฟลอเรนซ์มีความสามารถสูงทั้งสามารถพูดได้หลายภาษาอีกทั้งยังมีกิริยางามสง่า โดยเธอปรารถนาในการเรียนด้านพยาบาลศาสตร์ แต่ครอบครัวของเธอนั้นคัดค้านอย่างหนักอีกทั้งในขณะนั้นอาชีพพยาบาลถือเป็นอาชีพชั้นต่ำสำหรับคนมีการศึกษาน้อยในสังคม ต่อมาเมื่อเธออายุ 30 ปี จึงได้เป็นพยาบาลตามความต้องการของตน  โดยได้วางแผนเดินทางไปแสวงหาประสบการณ์ในการเป็นพยาบาลกับคณะแม่ชีพยาบาลดีคอนเนสที่รับดูแลเด็กกำพร้าที่สถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าไครเซอร์เวิร์ธประเทศเยอรมัน โดยใช้เวลาประมาณ 3 เดือนเศษและได้ขอศึกษาดูงานการบริหารจัดการโรงพยาบาลบางแห่งในประเทศฝรั่งเศสระหว่างเดินทางกลับประเทศอังกฤษ

ต่อมาเกิดสงครามไครเมียซึ่งเป็นสงครามระหว่างรัสเซียกับอังกฤษและฝรั่งเศสกับตุรกี โดยกองทัพของอังกฤษนั้นมีบุรุษพยาบาลดูแลเหล่าทหารที่บาดเจ็บอยู่แต่บุรุษพยาบาลเหล่านั้นไม่ได้ถูกฝึกมาเพื่อดูแลทหารที่บาดเจ็บจากสงคราม ในขณะที่กองทัพรัสเซียและตุรกีนั้นมีแม่ชีคอยติดตามไปกับกองทัพเพื่อดูแลทหารที่บาดเจ็บ ฟลอเรนส์และสตรีอาสาสมัครอีก 38 คนจึงอาสาเข้าช่วยทหารที่บาดเจ็บที่โรงพยาบาลแบแรท เมืองสตาคูรี่ ภายในโรงพยาบาลนั้นผู้ป่วยอยู่กันอย่างแออัดและสกปรก ฟลอเรนซ์จึงได้ทำสถิติพบว่าการเสียชีวิตของทหารส่วนใหญ่มาจากการติดเชื้อมากกว่าการตายในสงครามจึงตัดสินใจปฎิรูปโรงพยาบาลใหม่โดยใช้เวลา 6 เดือนในการปรับปรุงสุขอนามัยในโรงพยาบาลและค่ายทหาร ส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตจาก 46%ลดลงเหลือเพียง 2% เท่านั้น หลังสงครามจบลงโรงพยาบาลต่างๆ ก็ปิดตัวลง ฟลอเรนซ์กลับไปยังประเทศอังกฤษเป็นคนสุดท้าย


ฟลอเรนซ์ ไนติงเกลและเหล่าอาสาสมัคร
ที่มา : http://www.countryjoe.com/

หลังจากฟลอเรนซ์กลับมาจากสงครามไครเมียก็ได้เขียนข้อเสนอแนะเกี่ยวกับรัฐบาลในการปรับปรุงสุขอนามัยของกองทัพ แต่งตำราเกี่ยวกับการบริหารจัดการโรงพยาบาลและตำราทางการพยาบาล และได้ก่อตั้งโรงเรียนพยาบาลไนติงเกลที่โรงพยาบาลเซนต์โทมัส ริมแม่น้ำเทมส์ กรุงลอนดอน ในปี ค.ศ.1860 โดยถือเป็นต้นแบบให้แก่โรงเรียนพยาบาลทั่วโลก

จากผลงานของฟลอเรนซ์ ไนติงเกลนั้นส่งผลให้ชื่อเสียงของเธอนั้นแพร่กระจายเป็นวงกว้าง นักกวีนักแต่งเพลงหรือแม้กระทั้งนักดนตรีได้ทำบทประพันธ์ต่างๆเกี่ยวกับเธอเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังเกิดกระแสที่หญิงชั้นสูงอยากเป็นพยาบาลมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ยังถือเป็นสตรีคนแรกที่ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงที่ไม่เคยพระราชทานแก่สตรีผู้ใดมาก่อน โดยพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่7ได้มาพระราชทานให้ท่านที่เตียงนอน ซึ่งขณะนั้นมิสไนติงเกลมีอายุค่อนข้างมากและสูญเสียสายตาทั้งสองข้าง

ต่อมาเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม ค.ศ.1910 ในขณะที่ไนติงเกลมีอายุ 90 ปีซึ่งมีอาการป่วยต่อเนื่องมาตั้งแต่เมื่อครั้งสงครามไครเมียได้จากไปอย่างสงบโดยทิ้งพิธีกรรมไว้ว่าให้จัดพิธีศพอย่างเรียบง่ายและนำไปฝังไว้กับครอบครัวของตนที่เมืองแฮมเชียร์ ต่อมาเหล่าบรรดาศิษย์ได้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ฟลอเรนซ์ ไนติงเกลขึ้นที่ด้านหน้าโรงพยาบาลเซนต์โทมัส กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เพื่อรวบรวมผลงานต่างๆไง้เพื่อการศึกษาและค้นคว้า

แม้ฟลอเรนซ์ ไนติงเกลจะจากไปแต่เธอก็ได้มอบผลงานอันเป็นมรดกที่ล้ำค่าไว้ให้แก่คนรุ่นหลัง ได้สืบสานเจตนารมณ์และทำให้การพยาบาลนั้นมีความรุ่งเรืองก้าวหน้าจนถึงทุกวันนี้ ดังนั้นเธอจึงเหมาะสมแล้วกับฉายา สตรีแห่งดวงประทีป ผู้จุดประกายความฝันให้แก่เหล่าผู้ที่มีเป้าหมายในทางเดินสีขาวสายนี้


อ้างอิง :

พิพิธภัณฑ์ประวัติคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.- มิสฟลอเรนซ์ ไนติงเกล. (ม.ป.ป.). สืบค้น 21 กุมภาพันธ์ 2018, จาก http://cene.nurse.cmu.ac.th:81/museum/index.php/museum-introduction/exhibition/part2/missflorencenightingale.html

ประวัติฟลอเรนซ์ ไนติงเกล - ครูพยาบาล - GotoKnow. (ม.ป.ป.). สืบค้น 21 กุมภาพันธ์ 2018, จาก https://www.gotoknow.org/posts/490616

ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล. (2017, สิงหาคม 1). ใน วิกิพีเดีย. สืบค้น จาก https://th.wikipedia.org/

ย้อนที่มา ‘ตะเกียงไนติงเกล’ แสงสว่างที่ถูกจุด เพื่อมอบให้ ตูน บอดี้สแลม – THE STANDARD THE STANDARD : STAND UP FOR THE PEOPLE. (ม.ป.ป.). สืบค้น 21 กุมภาพันธ์ 2018, จาก https://thestandard.co/kaokonlakao-historys-badasses-florence-nightingale/

อ่านเพิ่มเติม »

เทศกาลดิวาลี (Diwali) ในประเทศอินเดีย

โดย ปรียานันท์ จันไตร

คนไทยส่วนใหญ่อาจจะเคยชินกับเทศกาลฉลองปีใหม่ซึ่งนับวันที่ 1 มกราคมตามปีปฏิทินเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามแบบชาวตะวันตก หรือคุ้นเคยกับการเฉลิมฉลองการขึ้นปีใหม่ไทยด้วยการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ในเทศกาลสงกรานต์ หรือการไหว้พระขอพรตามศาลเจ้าต่างๆ สำหรับปีใหม่จีนในช่วงวันตรุษจีน แต่รู้หรือไม่ว่าชาวอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดูก็มีการเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่เช่นกันและยิ่งใหญ่อลังการไม่แพ้เทศกาลอื่นๆ โดยเทศกาลนี้มีชื่อว่า ดิวาลี หรือดีปาวาลี



เทศกาลสำคัญของชาวฮินดูถือว่าเป็นทั้งวันปีใหม่ของอินเดีย และเป็นวันบูชาพระแม่ลักษมีเทวีด้วย  มักจะมีขึ้นประมาณเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายนของทุกๆ ปี (ตรงกับช่วงหลังออกพรรษาของบ้านเรา)  โดยวันนี้นับว่าเป็นวันที่มีความสำคัญมากที่สุดในปฏิทินของชาวฮินดูและจัดเป็นเทศกาลที่เฉลิมฉลองอย่างสนุกสนานที่สุดด้วย

เทศกาลดีวาลี (Diwali) หรือ ดีพาวลี (Deepavali) จะเรียกแบบที่หนึ่งหรือที่สองก็ได้ มี หมายความว่า แถวแห่งตะเกียงเป็นเทศกาลแห่งการประดับไฟของชาวฮินดู ชาวอินเดียส่วนใหญ่เชื่อกันว่า พระนางลักษมี เทวีแห่งความมั่งคั่ง จะเสด็จลงมาเยี่ยมเยือนทุกบ้านเพื่อนำพาโชคลาภมาให้ เทศกาลดิวาลี จึงถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวฮินดูผู้คนจะทำความสะอาดบ้าน เพราะเชื่อว่าพระนางจะไปเยือนบ้านที่สะอาดที่สุดเป็นแห่งแรก

และยังความเชื่ออีกว่า เป็นวันประสูติของพระมหาลักษมี และเป็นวันฉลองชัยที่ พระกฤษณะ เอาชนะนรกสูร เนื่องจากอสูรตนนี้อาศัยอยู่ในความมืด และเมื่อใดก็ตามมีผู้จุดตะเกียงเพื่อใช้แสงสว่างเมื่อนั้นนรกสูรจะโดนสังหาร เมื่อพระกฤษณะทรงรับรู้ถึงเรื่องราวต่างๆ จึงฆ่าอสูรเสีย ดังนั้นจึงเชื่อว่าการจุดประทีบ เป็นการขับไล่นรกอสูร หรือสิ่งไม่ดีต่างๆ และเป็นการอัญเชิญ พระกฤษณะ หรือ เทพเจ้าต่างๆ (สิ่งดี)เข้ามาช่วยปัดเป่าสิ่งไม่ดีต่างๆ ออกไป ดิวาลีเป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวงนั่นหมายถึงเป็นวันแห่งความสุกสว่างของแสงจันทร์ พระจันทร์เต็มดวงในวันดีปาวาลีนี้ถือเป็นการเต็มดวงครั้งแรกของปีใหม่ เรียกว่า "การติก อมาวาสยา"  แม้ในความมืดแสงจันทร์ยังสว่างเฉิดฉายก็มิต้องเกรงกลัวภยันตรายใดๆ มาแผ้วพาน การบูชาพระแม่ลักษมีในวันพระจันทร์เต็มดวงจึงเป็นการระลึกถึงพระคุณแห่งแสงจันทร์ด้วย
                             


ทั้งนี้นอกจากตะเกียงน้ำมันใบเล็กผู้คนจำนวนมากนิยมวาดภาพสัญลักษณ์รังโกลีด้วยแป้งหลากสีสันและดอกไม้ไว้ที่ประตูทางเข้าบ้าน ตกแต่งบ้านเรือนของพวกเขาอย่างสวยงามด้วยไฟกระพริบบ้างด้วยดิยาบ้าง มีการเล่นดอกไม้ไฟอย่างสนุกสนานในตอนกลางคืนและเป็นช่วงเวลาที่หาซื้อของขวัญโดยเฉพาะขนมหวานและผลไม้แห้งมาแลกเปลี่ยนกันระหว่างเพื่อนฝูงญาติพี่น้องและเพื่อนบ้าน เทศกาลนี้มีความเกี่ยวข้องกับไฟดังนั้นจึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า เทศกาลแห่งแสงไฟ (The Festival of Lights)

เมื่อถึงเทศกาลทุกบ้านเรือนจะมีการจุดบูชาไฟโดยใช้ตะเกียงดินเผาใบเล็กทำเป็นภาชนะ หรือเรียกกันในชื่อว่า ดิยา (Diya) ซึ่งเป็นตะเกียงดินเผาใบเล็กที่ใช้น้ำมันเนย หรือน้ำมันพืชเป็นเชื้อเพลิงมีฝ้ายหรือสำลีเป็นไส้ตะเกียงและดิยานี้ถือเป็นสัญลักษณ์ของเทศกาลดิวาลีอีกด้วย ผู้คนจึงนิยมซื้อหามาจุดกันในทุก ๆ ที่ของบ้าน ไม่ว่าจะเป็นหลังคาบ้าน ห้องรับแขกห้องครัว แม้แต่ในห้องน้ำ รวมถึงมีการเล่นดอกไม้ไฟกันด้วยและอีกอย่างคือรวมทั้งยังนิยมแขวนดอกไม้และใบมะม่วงไว้ตามประตูและหน้าต่าง เพื่อต้อนรับสิ่งดีงาม ความสุข ความเจริญ และความรุ่งเรืองเข้ามาภายในบ้านอีกด้วย

และในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ ชาวอินเดียจำนวนมากจะสวมเสื้อผ้าชุดใหม่และซื้อเสื้อผ้าชุดใหม่ให้กับสมาชิกในครอบครัวมีการแลกเปลี่ยนของขวัญ เลี้ยงอาหาร และแจกขนมหวานนานาชนิด ให้กับทั้งคนในครอบครัว เพื่อนบ้าน และมิตรสหายผู้มาเยี่ยมเยือน พร้อมจุดพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟกันอย่างสนั่นหวั่นไหว โดยเชื่อว่าจะเป็นการขับไล่สิ่งชั่วร้ายและสิ่งอัปมงคลให้หมดไป จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมเด็กๆจึงชอบเทศกาลนี้เป็นอย่างมาก

เทศกาลดีวาลีจึงเป็นเทศกาลแห่งความสนุกสนานและเป็นที่ชื่นชอบของเด็กๆ มากเลยทีเดียวและไม่เฉพาะแต่ชาวฮินดูในประเทศอินเดียเท่านั้นที่เฉลิมฉลองเทศกาลนี้ ทั้งเชน ซิกข์ รวมทั้งศาสนาอื่นๆ ทั่วอินเดียก็มีส่วนร่วมกันอย่างสนุกสนานในเทศกาลนี้ด้วยกัน ก็ขอให้เทศกาลแห่งแสงไฟนี้นำความสว่างสดใส และร่ำรวยมั่งคั่ง มาสู่ชีวิตของทุกคน


อ้างอิง

ตินัย นุตกุล. (2555) ดิวาลี : เทศกาลแห่งแสงสว่าง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2561,  จาก: http://newdelhi.thaiembassy.org/th

เทศกาลบูชาพระแม่ลักษมี และวันปีใหม่ของอินเดีย. (ออนไลน์).  สืบค้นเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2561, จาก:  https://kamonwanfong.wordpress.com

เทศกาลและวันสำคัญของอินเดีย. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ  8 กุมภาพันธ์ 2561,  จาก: https://learningpune.org/india-
อ่านเพิ่มเติม »

อเลปโป (Aleppo) สมรภูมิแห่งความขัดแย้งในซีเรีย

โดย ปรียนิตย์  กาษี

เมื่อพูดถึงซีเรียผู้คนมักนึกถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ คงไม่มีสงครามใดได้รับความสนใจจากทั่วโลกมากไปกว่าสงครามกลางเมือง ประเทศซีเรีย ที่เมือง “อเลปโป (Aleppo) ภูมิภาคตะวันออกกลาง กลายเป็นเป็นสมรภูมิสงครามความขัดแย้งที่ ก่อความเสียหาย สภาพความเป็นอยู่ของผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการเมืองและความเสียหายที่มาจากสงคราม หลายเมืองที่เป็นพื้นที่มรดกโลก ถูกทำลายเหลือเพียงซากปรักหักพัง สงครามที่เกิดขึ้นจากกลุ่มคนผู้มีอำนาจ ทำไม ถึงได้สร้างความเสียหายความรุนแรงและความน่าหดหู่ของสงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นได้มากขนาดนี้ ?

อเลปโป (Aleppo) หรือ ฮะลับ เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศซีเรีย และเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ซึ่งเป็นเขตผู้ว่าราชการที่มีประชากรมากที่สุดในประเทศ มีจำนวนประชากรอย่างเป็นทางการ 2,132,100 คน (ค.ศ. 2004) เป็นหนึ่งในเมืองที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเลแวนต์ ร่วมหลายศตวรรษที่เมืองที่ใหญ่ที่สุดในเกรตเตอร์ซีเรีย และเป็นเมืองใหญ่เป็นอันดับ 3 ของอาณาจักรออตโตมัน รองจากอิสตันบูลและไคโร


เมืองอเลปโปก่อนสงครามกลางเมือง
ที่มา: https://mic.com/articles/

อเลปโปเป็นหนึ่งในเมืองที่เก่ามีคนอาศัยอยู่อย่างต่อเนื่องยาวนาน มีคนอาศัยอยู่ตั้งแต่ช่วงต้นของ 6 สหัสวรรษก่อนคริสต์ศักราช ได้รับการกล่าวถึงในหินคูนิฟอร์มในเอบลาและเมโสโปเตเมียที่กล่าวถึง ความช่ำชองในการค้าและการทหาร และด้วยประวัติอันยาวนาน อาจเป็นสาเหตุให้เป็นจุดยุทธศาสตร์ เป็นจุดกึ่งกลางระหว่างทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกับเมโสโปเตเมีย
                                       
ก่อนสงครามในซีเรียจะเกิดขึ้น ชาวซีเรียได้เผชิญกับปัญหาการว่างงาน คอร์รัปชัน การขาดเสรีภาพทางการเมือง ตลอดจนการปราบปรามอย่างเข้มงวดโดยรัฐ จนกระทั่งกลางเดือนมีนาคม ปี 2554 การลุกฮือของประชาชนเพื่อต่อต้านรัฐในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง หรือ อาหรับสปริง (Arab Spring) ก็ได้จุดชนวนการประท้วงต่อต้านระบบการปกครอง ภายใต้การนำของประธานาธิบดี บาชาร์ อัล อัสซาด และรัฐบาลซีเรีย ที่กดขี่พวกเขามากว่า 40 ปี

ในช่วงเริ่มแรก กลุ่มกบฏผู้ต่อต้านรัฐบาล ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วเป็นชาวมุสลิมนิกายซุนนี มีเพียงแค่ป้ายและเพลงเป็นเครื่องมือในการเรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตยในครั้งนั้น แต่หลังจากที่รัฐบาลซีเรีย ซึ่งอยู่ภายใต้อิทธิพลของชาวมุสลิมนิกายชีอะห์ ได้มีกำลังปราบปรามต่อกลุ่มกบฏอย่างรุนแรง เช่น การใช้กำลังทหารจับกุม และการบังคับให้สูญหาย (forced disappearance) กลุ่มกบฏจึงหันมาจับอาวุธ ในขณะที่ ทหารซีเรียส่วนหนึ่งซึ่งไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลก็จัดตั้งกองกำลังปลดปล่อยซีเรีย (Free Syrian Army: FSA) ขึ้น เพื่อเป็นปีกทางการทหารให้แก่กลุ่มกบฏ ทำให้การต่อสู้เพื่อปกป้องตนเองของกลุ่มกบฏ ได้ถูกยกระดับไปสู่การต่อสู้เพื่อขับไล่กองกำลังรักษาความปลอดภัยของรัฐ และกลายเป็นสงครามกลางเมืองในที่สุด


ที่มา : https://www.cnn.com/

ความพยายามของประธานาธิบดีอัสซาดที่จะปราบปรามกลุ่มกบฏ ซึ่งนำไปสู่การใช้กำลังและความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งการทรมานและสังหาร การใช้อาวุธเคมี ตลอดจนการปล่อยตัวนักโทษกลุ่มซาลาฟีญิฮาด (Salafist-Jihadists) ซึ่งเป็นชาวมุสลิมนิกายซุนนีที่มีแนวคิดสุดโต่ง เพื่อให้เข้าร่วมกับกลุ่มกบฏ และทำให้พวกเขาสูญเสียความชอบธรรมในการต่อสู้กับรัฐบาล

สถานที่สำคัญที่ทำให้เกิดสมรภูมิสงครามทางการเมืองคือ “อเลปโป”ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของซีเรีย และเป็นเมืองเก่าแก่ที่มีคนอยู่อาศัยเป็นเวลานาน ตั้งอยู่ซึ่งระหว่างทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและดินแดนตะวันออก ทำให้อเลปโปเป็นศูนย์กลางการค้าของภูมิภาค ที่มีความสำคัญทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา ตั้งแต่ซีเรียได้รับอิสรภาพจากฝรั่งเศสในปี 2489 อเลปโปก็ได้พัฒนาเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมของประเทศ ในขณะเดียวกัน ประชากรในอเลปโปก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากประมาณ 3 แสนคนในช่วงที่ได้รับอิสรภาพ เป็นประมาณ 2.3 ล้านคนในปี 2547 อเลปโปจึงเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของซีเรีย และมีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์มาก แม้จะไม่ใช่เมืองหลวงของประเทศก็ตาม



ต่อมาในเดือนกรกฎาคม ปี 2555 อเลปโปได้กลายเป็นสมรภูมิที่สำคัญของสงครามกลางเมืองซีเรีย เมื่อกลุ่มกบฏสามารถได้ยึดครองดินแดนทางเหนือของซีเรียอย่างไรก็ตาม กองกำลังของกลุ่มกบฏไม่สามารถยึดครองอเลปโปได้อย่างเด็ดขาด อเลปโปจึงถูกแบ่งเป็นสองฝั่ง ได้แก่ ฝั่งตะวันตก ซึ่งควบคุมโดยรัฐบาลซีเรีย และฝั่งตะวันออก ซึ่งควบคุมโดยกลุ่มกบฏ

นับตั้งแต่นั้น การสู้รบในอเลปโปก็ทวีความรุนแรงและขยายวงกว้างไปจนถึงเขตเมืองเก่า (Old City) ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยยูเนสโก (UNESCO) โดยตั้งแต่ปลายปี 2013 เป็นต้นมา กองกำลังฝ่ายรัฐบาลได้หันมาต่อสู้โดยการทิ้งระเบิดถัง (barrel bomb) ทางอากาศ ผลจากการสู้รบทำให้สถานที่สำคัญหลายแห่งในอเลปโปถูกทำลาย ทั้งตลาดนัดกลางแจ้ง มัสยิดอุมัยยะห์ (Umayyad Mosques) และป้อมปราการแห่งอเลปโป (Citadel of Aleppo) ซึ่งเป็นปราสาทที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ด้านสภาพความเป็นอยู่ องค์กรสิทธิมนุษยชน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International) ถึงกับออกโรงเตือนเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2558 ว่า การใช้ชีวิตในอเลปโปนั้น “increasingly unbearable” หรือ “ย่ำแย่เหลือทนลงไปทุกขณะ”


                                       
เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2559 สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นภาพสะท้อนของผลพวงจากสงคราม ความขัดแย้ง และ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นซึ่งคนที่เดือดร้อนที่สุดและได้รับผลกระทบก็ไม่พ้นประชาชน ที่ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใครเพื่อเอาชีวิตรอด ไม่มีใครและสถานที่ไหนที่ปลอดภัย ปืนใหญ่ยังคงยิงถล่มอย่างต่อเนื่องซึ่งบ้านเรือนประชาชน โรงเรียนและโรงพยาบาลล้วนอยู่ในแนววิถีกระสุน ประชาชนตกอยู่ท่ามกลางความหวาดกลัว เด็กๆได้รับความบอบช้ำทางจิตใจ ความเสียหายไม่สามารถประเมินได้ สี่ปีมาแล้วที่ประชาชนในเมืองอเลปโปต้องตกอยู่ท่ามกลางสงครามที่โหดร้ายและสถานการณ์ก็มีแต่จะเลวร้ายลงเรื่อยๆสำหรับพวกเขา ไม่ต้องสงสัยเลยว่านี่คือความขัดแย้งที่เลวร้ายที่สุดอีกครั้งหนึ่งในโลกยุคปัจจุบัน
                                     
ประชาชนหลายหมื่นถูกบังคับให้ต้องอพยพออกจากบ้านเรือนของพวกเขาและจำนวนไม่น้อยที่ต้องหลบหนีออกจากที่พักชั่วคราวที่พวกเขาใช้พักพิงระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานของเมืองถูกทำลายจนย่อยยับ น้ำและไฟฟ้าถูกตัดขาดและในบางพื้นที่ก็แทบจะไม่มีทั้งน้ำและไฟฟ้าให้ใช้ ประชาชนต้องเสี่ยงดื่มน้ำที่ไม่สะอาดถูกสุขอนามัย ซึ่งไอซีอาร์ซีและสภาเสี้ยววงเดือนแดงอาหรับแห่งประเทศซีเรียได้เริ่มขนส่งน้ำดื่มเข้าไปในพื้นที่เพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนตามมาตรการฉุกเฉิน


ที่มา: https://www.aljazeera.com/

ต่อมา ไอซีอาร์ซีเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอนุญาติให้องค์กรด้านมนุษยธรรมสามารถเข้าถึงประชาชนที่กำลังต้องการความช่วยเหลือในพื้นที่ทุกแห่งของเมืองเช่นเดียวกับพื้นที่ห่างไกลที่อยู่ในบริเวณดังกล่าว การยุติการสู้รบด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรมเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อเปิดทางให้ความช่วยเหลือถูกส่งเข้าไปในพื้นที่และมีเวลาพอที่จะซ่อมแซมบริการพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับประชาชน
                                             
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาสมรภูมิสงครามใน ซีเรีย - อเลปโป กลายเป็นเป็นสมรภูมิสงครามความขัดแย้งที่ สร้างความเสียหาย ที่มาจากกลุ่มผู้มีอำนาจ ได้ทำลายสิ่งที่มีความสำคัญ ในพื้นที่มรดกโลกเป็นสิ่งที่ควรอนุรักษ์ไว้กลับถูกทำลายโดยผู้มีอำนาจ ประชาชนผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับต้องถูกลูกหลงล้มตายเป็นจำนวนมาก กลายเป็นเหตุการณ์ที่ผู้คนทั่วโลกได้จดจำในความสูญเสียครั้งนี้ในประเทศซีเรีย


อ้างอิง

พลอย ธรรมาภิรานนท์(2560).ซีเรีย 101: จากสงครามกลางเมือง สู่สงครามตัวแทน(ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2561, จาก: https://www.the101.world/thoughts/syria-101/

ซีเรีย-อเลปโป ความขัดแย้งที่เลวร้ายที่สุดในโลกยุคปัจจุบัน.(2559). สืบค้นเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2561, จาก : http://blogs.icrc.org/th/2016/08/22/1321-peter-maurer-syria-aleppo/

สงครามซีเรีย ย้อนปมความขัดแย้งสู้สมรภูมิเลือด.(2556). สืบค้นเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2561, จาก: https://hilight.kapook.com/view/90189

อ่านเพิ่มเติม »

ขงเบ้ง ปราชญ์ผู้หยั่งรู้ดินฟ้ามหาสมุทร

โดย สุวพิชญ์ เชื้อศรีนนตรี

ในประวัติศาสตร์อันยาวนานนับพันปีของประเทศจีน ไม่มีใครที่ไม่รู้จักยุค “สามก๊ก” ซึ่งเป็นยุคที่แผ่นดินจีนแบ่งออกเป็น 3 แคว้น แต่ละแคว้นต่างก็มีผู้นำและแม่ทัพที่เก่งกล้ามากความสามารถเพื่อทำศึกสงครามระหว่างกัน เมื่อมีแม่ทัพแล้วก็ย่อมต้องมีกุนซือคู่กายแม่ทัพ เฉกเช่นหยินและหยาง และในบรรดากุนซือทั้งหลายผู้ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด นั่นก็คือ “ขงเบ้ง” หรือ “จูกัดเหลียง” กุนซือผู้ยิ่งใหญ่และเป็นปราชญ์คนสำคัญแห่งแผ่นดินจีน ผู้ที่ได้รับฉายาจากบังเต็กกงว่า "ฮกหลง" ที่หมายถึง มังกรซุ่มหรือมังกรหลับ

ขงเบ้ง มีชื่อจริงว่า จูกัดเหลียง หรือ จูเก่อเลี่ยง (Zhuge Liang) เกิดเมื่อปี ค.ศ. 181 เป็นชาวหยางตู เมืองหลางหยาหรือมณฑลซานตง ประเทศจีนในปัจจุบัน ขงเบ้งเป็นบุตรชายคนที่ 2 ของจูกัดกุ๋ย ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยของเจ้าเมืองในแถบไท่ซาน ขงเบ้งมีรูปร่างสูง ในหน้าขาวนวลดุจหยก ถือพัดขนนก โพกผ้ามีไหมห้อยระย้า บุคลิกสุขุม รอบคอบ ฉลาด มีเมตตา รอบรู้ศาสตร์ศิลป์ด้านต่างๆ ทั้งวิทยาศาสตร์ โหราศาสตร์ การเมืองการปกครอง การทูต ภูมิศาสตร์และอีกหลากหลาย


ที่มา : http://www.samkok911.com/

เมื่อขงเบ้งอายุได้เพียงแค่ 10 ปี ก็ต้องกลายเป็นกำพร้า เนื่องจากบิดาและมารดาเสียชีวิต ขงเบ้งต้องไปอยู่ในการดูแลของจูกัดเหี้ยนผู้เป็นอา และจูกัดเหี้ยนยังรับดูแลพี่น้องคนอื่นที่เหลืออีกด้วย ในขณะที่อยู่ภายใต้การอุปการะของผู้เป็นอา ขงเบ้งได้มีโอกาสเรียนรู้การเป็นขุนนาง จนกระทั่งจูกัดเหี้ยนเผชิญกับมรสุมทางการเมืองจนต้องพากันอพยพลงใต้ไปขอพึ่งพิงกับเล่าเปียว ใช้ชีวิตด้วยการทำไร่นาเพื่อยังชีพกับพี่น้องคนอื่นๆ และได้เริ่มศึกษาศาสตร์แขนงต่างๆ ในกระท่อมบนภูเขาโงลังกั๋ง เมื่อถึงวัยอันควรขงเบ้งแต่งงานกับนางหวังเย่อิง บุตรีของอองเสหงัน

ขงเบ้ง ได้มาเป็นกุนซือให้กับเล่าปี่เมื่ออายุได้เพียง 26 ปี จากคำแนะนำของชีซีที่ทำให้เล่าปี่ต้องฝ่าความหนาวไปคารวะด้วยตนเองที่กระท่อมไม้ไผ่บนภูเขาโงลังกั๋งถึงสามครั้งสามครา แม้ว่าช่วงแรกขงเบ้งจะไม่ได้เป็นที่ยอมรับของบรรดาทหารจ๊กก๊ก แต่ด้วยความสามารถและผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ด้วยการทลายทัพของแฮหัวตุ้น แม่ทัพเอกของโจโฉที่เนินพกบ๋อง ทำให้ขงเบ้งได้รับการยอมรับนับถือและเป็นที่เลื่องลือถึงความสามารถอันปราดเปรื่อง


ภาพที่เล่าปี่มาตามหาจูกัดเหลียงที่กระท่อมไม้ไผ่ที่เขาโงกังลั๋ง
ที่มา : http://oknation.nationtv.tv/

กลศึกที่ทำให้ขงเบ้งเป็นที่กล่าวขานถึงมากที่สุดคือ “ยุทธการศึกเซ็กเพ็กหรือศึกผาแดง” ระหว่างกองทัพฝ่ายพันธมิตรของเล่าปี่กับซุนกวนและอีกฝ่ายคือกองทัพของโจโฉ ในฤดูหนาวปี ค.ศ. 208 ก่อนหน้าที่จะเกิดศึกเซ็กเพ็ก ขงเบ้งรับอาสาเป็นทูตเจรจาเกลี้ยกล่อมซุนกวนให้ร่วมทำศึกตอสู้กับโจโฉ ซุนกวนได้แต่งตั้งจิวยี่เป็นแม่ทัพใหญ่ในการทำศึก จิวยี่นั้นอิจฉาริษยาขงเบ้งคิดหวังกำจัดเสียให้สิ้นซาก จึงวางอุบายสั่งให้ขงเบ้งทำลูกเกาฑัณฑ์หรือลูกธนูไฟจำนวนสิบหมื่นให้เสร็จภายในเวลาสิบวันแต่ขงเบ้งขอเวลาเพียงสามวันเท่านั้น จิวยี่จึงคาดโทษประหารชีวิตไว้หากขงเบ้งไม่สามารถนำลูกเกาฑัณฑ์มาครบจำนวนตามสัญญา ขงเบ้งจึงวางกลยุทธ์จูงแพะติดมือโดยแสร้งว่าจะบุกโจมตีค่ายของโจโฉนำหุ่นฟางไปลวงระดมลูกธนูนับแสนดอกจากทัพของโจโฉ ขึ้นแท่นเรียกลมสลาตันอ่านโองการบัญชาฟ้าดิน และวางกลยุทธ์อยู่เบื้องหลังในการช่วยจิวยี่เผาทำลายทัพของโจโฉกำลังพลเกือบล้านจนหมดสิ้น จนถูกขนานนามว่า “ผู้หยั่งรู้ดินฟ้ามหาสมุทร” และจากเหตุการณ์โจโฉแตกทัพเรือในครั้งนี้ ทำให้เกิดการคานอำนาจทั้งสามฝ่ายขึ้นระหว่างจ๊กก๊กของเล่าปี่ วุยก๊กของโจโฉ และง่อก๊กของซุนกวน

ปี ค.ศ. 211 หลังจากยึดนครเฉิงตูได้แล้ว ขงเบ้งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเสนาธิการกองทัพควบตำแหน่งแม่ทัพฝ่ายซ้ายและได้รับมอบหมายให้บริหารนครเฉิงตูอีกด้วย

หลังจากเล่าปี่ได้ปราบดาภิเษกตนเองขึ้นเป็นฮ่องเต้เจียงหวู่ตี้ ได้แต่งตั้งขงเบ้งเป็นสมุหนายก “เฉิงเซี่ยง” (Prime Minister) มีราชโองการประกาศยกย่องคุณความชอบของขงเบ้ง นอกจากดำรงตำแหน่งสมุหนายกแล้ว ขงเบ้งยังควบตำแหน่งราชเลขาและนายอาลักษณ์ และในเวลาต่อมาเมื่อเตียวหุยได้สิ้นชีพลง ขงเบ้งจึงได้รับตำแหน่งสมุหกลาโหม มีอำนาจบังคับบัญชากองทัพเหล่าขุนพลและนายทหารทั้งปวงของจ๊กก๊ก

ในปี ค.ศ. 223 หลังจากพระเจ้าเล่าปี่สิ้นพระชนม์จากการประชวรหนัก พระเจ้าเล่าเสี้ยนได้ขึ้นครองราชย์สืบต่อมา ทรงแต่งตั้งขงเบ้งขึ้นเป็น “อู่เซียงโหว” (Lord of Wuxiang) ควบตำแหน่งเจ้ามณฑลเอ๊กจิ๋ว(เสฉวน) “อี้โจวมู่” มีอำนาจสูงสุดในการบริหารดูแลกิจการทั้งภายในและภายนอกทั้งหมดของอาณาจักรจ๊กก๊ก

ในปี ค.ศ. 225 ช่วงฤดูใบไม้ผลิ ขงเบ้งบัญชาการกองทัพลงใต้บุกปราบปรามชนเผ่าอานารยชนที่ทำการก่อกบฏ และจากชื่อเสียงของเบ้งเฮ้กผู้นำชนเผ่าทางใต้บริเวณยูนนาน ขงเบ้งจึงสั่งประกาศให้จับเป็น จากการโดนจับตัวแล้วปล่อยไปถึงเจ็ดครั้ง และในครั้งสุดท้ายขงเบ้งจะปล่อยเบ้งเฮ้กไปอีก แต่เบ้งเฮ้กไม่ยอมไปทำให้เบ้งเฮ้กพ่ายแพ้ให้กับขงเบ้ง

ในปี ค.ศ. 234 เดือนที่แปด ขงเบ้งที่มีอาการป่วยเรื่อยมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้ อาการได้ทรุดหนักลงอย่างหนัก ในที่สุดก็สิ้นชีพลงในค่ายทหารในวัย 54 ปี  หากแต่ก่อนตายขงเบ้งได้วางกลยุทธ์ยืมซากกู้ชีพ โดยการนำศพของตนไว้บนเกวียนด้วยท่านั่งพร้อมด้วยธงศึกเพื่อหลอกให้สุมาอี้เชื่อว่าขงเบ้งยังไม่ตาย ด้วยกลนี้เองทำให้กองทัพของขงเบ้งยกทัพเดินทางกลับเอ๊กจิ๋วจากการทำศึกกับสุมาอี้ได้อย่างปลอดภัย


จูกัดเหลียง ภาพวาดจากหนังสือ "Wan hsiao tang-Chu chuang -Hua chuan"

หลังจากขงเบ้งได้สิ้นชีพลงแล้วทัพจ๊กก๊กก็ได้ถอยทัพกลับนครเฉิงตูไปจนหมดสิ้น พระเจ้าเล่าเสี้ยนได้พระราชทานพระราชโองการ ประกาศยศขงเบ้งเป็นพระยาผู้สู้ศึกด้วยความจงรักภักดี “จงอู่โหว” (Loyal and Martial Lord) และศพของขงเบ้งถูกฝังไว้บนเชิงเขาเตงกุนสัน ที่เมืองฮั่นจงตามความปรารถนาสุดท้ายของขงเบ้งที่ให้ภูเขาเป็นดั่งสุสาน โดยก่อนการสิ้นชีพของขงเบ้งได้ประพันธ์ตำราพิชัยสงคราม 36 บทขึ้นมาและได้มอบให้เกียงอุยเป็นผู้ดูแลและรักษาต่อไป ซึ่งเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวกับแม่ทัพ 50 ประการ และศาสตร์การปกครอง 16 ประการ

แม้ว่าในปัจจุบันนี้ประเทศจีนจะไม่ได้อยู่ในภาวะสงครามแล้ว แต่จะเห็นได้ว่ามีการนำกลยุทธ์และหลักการต่างๆ ของขงเบ้งที่ใช้ในการทำศึกสงครามมาปรับใช้เป็นกลยุทธ์ในเชิงการค้า อีกทั้งการบริหารจัดการ การปกครองประเทศ หรือแม้แต่การปรับปรุงพัฒนาตนเอง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความฉลาดปราดเปรื่องและรอบรู้สรรพวิชาอย่างแตกฉานของขงเบ้งที่ไม่ว่าในอดีตหรือปัจจุบันผู้คนทั้งหลายต่างยอมรับและต้องการความสามารถเช่นนี้ของเขาอย่างยิ่ง



อ้างอิง

จูกัดเหลียง.  (2560). สืบค้นเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2561, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/จูกัดเหลียง

ทำนุ นวยุค.  (2547).  ยอดขุนพลจากปัญญาขงเบ้ง.  กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ.

ไป่ลี่หมิง.  (2552).  อ่านความคิดขงเบ้ง.  พิมพ์ครั้งที่ 2.  กรุงเทพฯ: ณ ดา สำนักพิมพ์.

ยศไกร.  (2558).  เจาะลึกเหล่าขุนพลสามก๊ก.  สืบค้นเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2561, จาก https://writer.dek-d.com/eagle/story/viewlongc.php?id=10590&chapter=15

เล่า ชวน หัว.  (2546).  เปิดหน้ากากขงเบ้ง ภาคหนึ่ง.  พิมพ์ครั้งที่ 8.  กรุงเทพฯ: เคล็ดไทย.

อ่านเพิ่มเติม »