เทศกาลดิวาลี (Diwali) ในประเทศอินเดีย

โดย ปรียานันท์ จันไตร

คนไทยส่วนใหญ่อาจจะเคยชินกับเทศกาลฉลองปีใหม่ซึ่งนับวันที่ 1 มกราคมตามปีปฏิทินเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามแบบชาวตะวันตก หรือคุ้นเคยกับการเฉลิมฉลองการขึ้นปีใหม่ไทยด้วยการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ในเทศกาลสงกรานต์ หรือการไหว้พระขอพรตามศาลเจ้าต่างๆ สำหรับปีใหม่จีนในช่วงวันตรุษจีน แต่รู้หรือไม่ว่าชาวอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดูก็มีการเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่เช่นกันและยิ่งใหญ่อลังการไม่แพ้เทศกาลอื่นๆ โดยเทศกาลนี้มีชื่อว่า ดิวาลี หรือดีปาวาลี



เทศกาลสำคัญของชาวฮินดูถือว่าเป็นทั้งวันปีใหม่ของอินเดีย และเป็นวันบูชาพระแม่ลักษมีเทวีด้วย  มักจะมีขึ้นประมาณเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายนของทุกๆ ปี (ตรงกับช่วงหลังออกพรรษาของบ้านเรา)  โดยวันนี้นับว่าเป็นวันที่มีความสำคัญมากที่สุดในปฏิทินของชาวฮินดูและจัดเป็นเทศกาลที่เฉลิมฉลองอย่างสนุกสนานที่สุดด้วย

เทศกาลดีวาลี (Diwali) หรือ ดีพาวลี (Deepavali) จะเรียกแบบที่หนึ่งหรือที่สองก็ได้ มี หมายความว่า แถวแห่งตะเกียงเป็นเทศกาลแห่งการประดับไฟของชาวฮินดู ชาวอินเดียส่วนใหญ่เชื่อกันว่า พระนางลักษมี เทวีแห่งความมั่งคั่ง จะเสด็จลงมาเยี่ยมเยือนทุกบ้านเพื่อนำพาโชคลาภมาให้ เทศกาลดิวาลี จึงถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวฮินดูผู้คนจะทำความสะอาดบ้าน เพราะเชื่อว่าพระนางจะไปเยือนบ้านที่สะอาดที่สุดเป็นแห่งแรก

และยังความเชื่ออีกว่า เป็นวันประสูติของพระมหาลักษมี และเป็นวันฉลองชัยที่ พระกฤษณะ เอาชนะนรกสูร เนื่องจากอสูรตนนี้อาศัยอยู่ในความมืด และเมื่อใดก็ตามมีผู้จุดตะเกียงเพื่อใช้แสงสว่างเมื่อนั้นนรกสูรจะโดนสังหาร เมื่อพระกฤษณะทรงรับรู้ถึงเรื่องราวต่างๆ จึงฆ่าอสูรเสีย ดังนั้นจึงเชื่อว่าการจุดประทีบ เป็นการขับไล่นรกอสูร หรือสิ่งไม่ดีต่างๆ และเป็นการอัญเชิญ พระกฤษณะ หรือ เทพเจ้าต่างๆ (สิ่งดี)เข้ามาช่วยปัดเป่าสิ่งไม่ดีต่างๆ ออกไป ดิวาลีเป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวงนั่นหมายถึงเป็นวันแห่งความสุกสว่างของแสงจันทร์ พระจันทร์เต็มดวงในวันดีปาวาลีนี้ถือเป็นการเต็มดวงครั้งแรกของปีใหม่ เรียกว่า "การติก อมาวาสยา"  แม้ในความมืดแสงจันทร์ยังสว่างเฉิดฉายก็มิต้องเกรงกลัวภยันตรายใดๆ มาแผ้วพาน การบูชาพระแม่ลักษมีในวันพระจันทร์เต็มดวงจึงเป็นการระลึกถึงพระคุณแห่งแสงจันทร์ด้วย
                             


ทั้งนี้นอกจากตะเกียงน้ำมันใบเล็กผู้คนจำนวนมากนิยมวาดภาพสัญลักษณ์รังโกลีด้วยแป้งหลากสีสันและดอกไม้ไว้ที่ประตูทางเข้าบ้าน ตกแต่งบ้านเรือนของพวกเขาอย่างสวยงามด้วยไฟกระพริบบ้างด้วยดิยาบ้าง มีการเล่นดอกไม้ไฟอย่างสนุกสนานในตอนกลางคืนและเป็นช่วงเวลาที่หาซื้อของขวัญโดยเฉพาะขนมหวานและผลไม้แห้งมาแลกเปลี่ยนกันระหว่างเพื่อนฝูงญาติพี่น้องและเพื่อนบ้าน เทศกาลนี้มีความเกี่ยวข้องกับไฟดังนั้นจึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า เทศกาลแห่งแสงไฟ (The Festival of Lights)

เมื่อถึงเทศกาลทุกบ้านเรือนจะมีการจุดบูชาไฟโดยใช้ตะเกียงดินเผาใบเล็กทำเป็นภาชนะ หรือเรียกกันในชื่อว่า ดิยา (Diya) ซึ่งเป็นตะเกียงดินเผาใบเล็กที่ใช้น้ำมันเนย หรือน้ำมันพืชเป็นเชื้อเพลิงมีฝ้ายหรือสำลีเป็นไส้ตะเกียงและดิยานี้ถือเป็นสัญลักษณ์ของเทศกาลดิวาลีอีกด้วย ผู้คนจึงนิยมซื้อหามาจุดกันในทุก ๆ ที่ของบ้าน ไม่ว่าจะเป็นหลังคาบ้าน ห้องรับแขกห้องครัว แม้แต่ในห้องน้ำ รวมถึงมีการเล่นดอกไม้ไฟกันด้วยและอีกอย่างคือรวมทั้งยังนิยมแขวนดอกไม้และใบมะม่วงไว้ตามประตูและหน้าต่าง เพื่อต้อนรับสิ่งดีงาม ความสุข ความเจริญ และความรุ่งเรืองเข้ามาภายในบ้านอีกด้วย

และในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ ชาวอินเดียจำนวนมากจะสวมเสื้อผ้าชุดใหม่และซื้อเสื้อผ้าชุดใหม่ให้กับสมาชิกในครอบครัวมีการแลกเปลี่ยนของขวัญ เลี้ยงอาหาร และแจกขนมหวานนานาชนิด ให้กับทั้งคนในครอบครัว เพื่อนบ้าน และมิตรสหายผู้มาเยี่ยมเยือน พร้อมจุดพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟกันอย่างสนั่นหวั่นไหว โดยเชื่อว่าจะเป็นการขับไล่สิ่งชั่วร้ายและสิ่งอัปมงคลให้หมดไป จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมเด็กๆจึงชอบเทศกาลนี้เป็นอย่างมาก

เทศกาลดีวาลีจึงเป็นเทศกาลแห่งความสนุกสนานและเป็นที่ชื่นชอบของเด็กๆ มากเลยทีเดียวและไม่เฉพาะแต่ชาวฮินดูในประเทศอินเดียเท่านั้นที่เฉลิมฉลองเทศกาลนี้ ทั้งเชน ซิกข์ รวมทั้งศาสนาอื่นๆ ทั่วอินเดียก็มีส่วนร่วมกันอย่างสนุกสนานในเทศกาลนี้ด้วยกัน ก็ขอให้เทศกาลแห่งแสงไฟนี้นำความสว่างสดใส และร่ำรวยมั่งคั่ง มาสู่ชีวิตของทุกคน


อ้างอิง

ตินัย นุตกุล. (2555) ดิวาลี : เทศกาลแห่งแสงสว่าง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2561,  จาก: http://newdelhi.thaiembassy.org/th

เทศกาลบูชาพระแม่ลักษมี และวันปีใหม่ของอินเดีย. (ออนไลน์).  สืบค้นเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2561, จาก:  https://kamonwanfong.wordpress.com

เทศกาลและวันสำคัญของอินเดีย. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ  8 กุมภาพันธ์ 2561,  จาก: https://learningpune.org/india-

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น