ขงเบ้ง ปราชญ์ผู้หยั่งรู้ดินฟ้ามหาสมุทร

โดย สุวพิชญ์ เชื้อศรีนนตรี

ในประวัติศาสตร์อันยาวนานนับพันปีของประเทศจีน ไม่มีใครที่ไม่รู้จักยุค “สามก๊ก” ซึ่งเป็นยุคที่แผ่นดินจีนแบ่งออกเป็น 3 แคว้น แต่ละแคว้นต่างก็มีผู้นำและแม่ทัพที่เก่งกล้ามากความสามารถเพื่อทำศึกสงครามระหว่างกัน เมื่อมีแม่ทัพแล้วก็ย่อมต้องมีกุนซือคู่กายแม่ทัพ เฉกเช่นหยินและหยาง และในบรรดากุนซือทั้งหลายผู้ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด นั่นก็คือ “ขงเบ้ง” หรือ “จูกัดเหลียง” กุนซือผู้ยิ่งใหญ่และเป็นปราชญ์คนสำคัญแห่งแผ่นดินจีน ผู้ที่ได้รับฉายาจากบังเต็กกงว่า "ฮกหลง" ที่หมายถึง มังกรซุ่มหรือมังกรหลับ

ขงเบ้ง มีชื่อจริงว่า จูกัดเหลียง หรือ จูเก่อเลี่ยง (Zhuge Liang) เกิดเมื่อปี ค.ศ. 181 เป็นชาวหยางตู เมืองหลางหยาหรือมณฑลซานตง ประเทศจีนในปัจจุบัน ขงเบ้งเป็นบุตรชายคนที่ 2 ของจูกัดกุ๋ย ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยของเจ้าเมืองในแถบไท่ซาน ขงเบ้งมีรูปร่างสูง ในหน้าขาวนวลดุจหยก ถือพัดขนนก โพกผ้ามีไหมห้อยระย้า บุคลิกสุขุม รอบคอบ ฉลาด มีเมตตา รอบรู้ศาสตร์ศิลป์ด้านต่างๆ ทั้งวิทยาศาสตร์ โหราศาสตร์ การเมืองการปกครอง การทูต ภูมิศาสตร์และอีกหลากหลาย


ที่มา : http://www.samkok911.com/

เมื่อขงเบ้งอายุได้เพียงแค่ 10 ปี ก็ต้องกลายเป็นกำพร้า เนื่องจากบิดาและมารดาเสียชีวิต ขงเบ้งต้องไปอยู่ในการดูแลของจูกัดเหี้ยนผู้เป็นอา และจูกัดเหี้ยนยังรับดูแลพี่น้องคนอื่นที่เหลืออีกด้วย ในขณะที่อยู่ภายใต้การอุปการะของผู้เป็นอา ขงเบ้งได้มีโอกาสเรียนรู้การเป็นขุนนาง จนกระทั่งจูกัดเหี้ยนเผชิญกับมรสุมทางการเมืองจนต้องพากันอพยพลงใต้ไปขอพึ่งพิงกับเล่าเปียว ใช้ชีวิตด้วยการทำไร่นาเพื่อยังชีพกับพี่น้องคนอื่นๆ และได้เริ่มศึกษาศาสตร์แขนงต่างๆ ในกระท่อมบนภูเขาโงลังกั๋ง เมื่อถึงวัยอันควรขงเบ้งแต่งงานกับนางหวังเย่อิง บุตรีของอองเสหงัน

ขงเบ้ง ได้มาเป็นกุนซือให้กับเล่าปี่เมื่ออายุได้เพียง 26 ปี จากคำแนะนำของชีซีที่ทำให้เล่าปี่ต้องฝ่าความหนาวไปคารวะด้วยตนเองที่กระท่อมไม้ไผ่บนภูเขาโงลังกั๋งถึงสามครั้งสามครา แม้ว่าช่วงแรกขงเบ้งจะไม่ได้เป็นที่ยอมรับของบรรดาทหารจ๊กก๊ก แต่ด้วยความสามารถและผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ด้วยการทลายทัพของแฮหัวตุ้น แม่ทัพเอกของโจโฉที่เนินพกบ๋อง ทำให้ขงเบ้งได้รับการยอมรับนับถือและเป็นที่เลื่องลือถึงความสามารถอันปราดเปรื่อง


ภาพที่เล่าปี่มาตามหาจูกัดเหลียงที่กระท่อมไม้ไผ่ที่เขาโงกังลั๋ง
ที่มา : http://oknation.nationtv.tv/

กลศึกที่ทำให้ขงเบ้งเป็นที่กล่าวขานถึงมากที่สุดคือ “ยุทธการศึกเซ็กเพ็กหรือศึกผาแดง” ระหว่างกองทัพฝ่ายพันธมิตรของเล่าปี่กับซุนกวนและอีกฝ่ายคือกองทัพของโจโฉ ในฤดูหนาวปี ค.ศ. 208 ก่อนหน้าที่จะเกิดศึกเซ็กเพ็ก ขงเบ้งรับอาสาเป็นทูตเจรจาเกลี้ยกล่อมซุนกวนให้ร่วมทำศึกตอสู้กับโจโฉ ซุนกวนได้แต่งตั้งจิวยี่เป็นแม่ทัพใหญ่ในการทำศึก จิวยี่นั้นอิจฉาริษยาขงเบ้งคิดหวังกำจัดเสียให้สิ้นซาก จึงวางอุบายสั่งให้ขงเบ้งทำลูกเกาฑัณฑ์หรือลูกธนูไฟจำนวนสิบหมื่นให้เสร็จภายในเวลาสิบวันแต่ขงเบ้งขอเวลาเพียงสามวันเท่านั้น จิวยี่จึงคาดโทษประหารชีวิตไว้หากขงเบ้งไม่สามารถนำลูกเกาฑัณฑ์มาครบจำนวนตามสัญญา ขงเบ้งจึงวางกลยุทธ์จูงแพะติดมือโดยแสร้งว่าจะบุกโจมตีค่ายของโจโฉนำหุ่นฟางไปลวงระดมลูกธนูนับแสนดอกจากทัพของโจโฉ ขึ้นแท่นเรียกลมสลาตันอ่านโองการบัญชาฟ้าดิน และวางกลยุทธ์อยู่เบื้องหลังในการช่วยจิวยี่เผาทำลายทัพของโจโฉกำลังพลเกือบล้านจนหมดสิ้น จนถูกขนานนามว่า “ผู้หยั่งรู้ดินฟ้ามหาสมุทร” และจากเหตุการณ์โจโฉแตกทัพเรือในครั้งนี้ ทำให้เกิดการคานอำนาจทั้งสามฝ่ายขึ้นระหว่างจ๊กก๊กของเล่าปี่ วุยก๊กของโจโฉ และง่อก๊กของซุนกวน

ปี ค.ศ. 211 หลังจากยึดนครเฉิงตูได้แล้ว ขงเบ้งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเสนาธิการกองทัพควบตำแหน่งแม่ทัพฝ่ายซ้ายและได้รับมอบหมายให้บริหารนครเฉิงตูอีกด้วย

หลังจากเล่าปี่ได้ปราบดาภิเษกตนเองขึ้นเป็นฮ่องเต้เจียงหวู่ตี้ ได้แต่งตั้งขงเบ้งเป็นสมุหนายก “เฉิงเซี่ยง” (Prime Minister) มีราชโองการประกาศยกย่องคุณความชอบของขงเบ้ง นอกจากดำรงตำแหน่งสมุหนายกแล้ว ขงเบ้งยังควบตำแหน่งราชเลขาและนายอาลักษณ์ และในเวลาต่อมาเมื่อเตียวหุยได้สิ้นชีพลง ขงเบ้งจึงได้รับตำแหน่งสมุหกลาโหม มีอำนาจบังคับบัญชากองทัพเหล่าขุนพลและนายทหารทั้งปวงของจ๊กก๊ก

ในปี ค.ศ. 223 หลังจากพระเจ้าเล่าปี่สิ้นพระชนม์จากการประชวรหนัก พระเจ้าเล่าเสี้ยนได้ขึ้นครองราชย์สืบต่อมา ทรงแต่งตั้งขงเบ้งขึ้นเป็น “อู่เซียงโหว” (Lord of Wuxiang) ควบตำแหน่งเจ้ามณฑลเอ๊กจิ๋ว(เสฉวน) “อี้โจวมู่” มีอำนาจสูงสุดในการบริหารดูแลกิจการทั้งภายในและภายนอกทั้งหมดของอาณาจักรจ๊กก๊ก

ในปี ค.ศ. 225 ช่วงฤดูใบไม้ผลิ ขงเบ้งบัญชาการกองทัพลงใต้บุกปราบปรามชนเผ่าอานารยชนที่ทำการก่อกบฏ และจากชื่อเสียงของเบ้งเฮ้กผู้นำชนเผ่าทางใต้บริเวณยูนนาน ขงเบ้งจึงสั่งประกาศให้จับเป็น จากการโดนจับตัวแล้วปล่อยไปถึงเจ็ดครั้ง และในครั้งสุดท้ายขงเบ้งจะปล่อยเบ้งเฮ้กไปอีก แต่เบ้งเฮ้กไม่ยอมไปทำให้เบ้งเฮ้กพ่ายแพ้ให้กับขงเบ้ง

ในปี ค.ศ. 234 เดือนที่แปด ขงเบ้งที่มีอาการป่วยเรื่อยมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้ อาการได้ทรุดหนักลงอย่างหนัก ในที่สุดก็สิ้นชีพลงในค่ายทหารในวัย 54 ปี  หากแต่ก่อนตายขงเบ้งได้วางกลยุทธ์ยืมซากกู้ชีพ โดยการนำศพของตนไว้บนเกวียนด้วยท่านั่งพร้อมด้วยธงศึกเพื่อหลอกให้สุมาอี้เชื่อว่าขงเบ้งยังไม่ตาย ด้วยกลนี้เองทำให้กองทัพของขงเบ้งยกทัพเดินทางกลับเอ๊กจิ๋วจากการทำศึกกับสุมาอี้ได้อย่างปลอดภัย


จูกัดเหลียง ภาพวาดจากหนังสือ "Wan hsiao tang-Chu chuang -Hua chuan"

หลังจากขงเบ้งได้สิ้นชีพลงแล้วทัพจ๊กก๊กก็ได้ถอยทัพกลับนครเฉิงตูไปจนหมดสิ้น พระเจ้าเล่าเสี้ยนได้พระราชทานพระราชโองการ ประกาศยศขงเบ้งเป็นพระยาผู้สู้ศึกด้วยความจงรักภักดี “จงอู่โหว” (Loyal and Martial Lord) และศพของขงเบ้งถูกฝังไว้บนเชิงเขาเตงกุนสัน ที่เมืองฮั่นจงตามความปรารถนาสุดท้ายของขงเบ้งที่ให้ภูเขาเป็นดั่งสุสาน โดยก่อนการสิ้นชีพของขงเบ้งได้ประพันธ์ตำราพิชัยสงคราม 36 บทขึ้นมาและได้มอบให้เกียงอุยเป็นผู้ดูแลและรักษาต่อไป ซึ่งเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวกับแม่ทัพ 50 ประการ และศาสตร์การปกครอง 16 ประการ

แม้ว่าในปัจจุบันนี้ประเทศจีนจะไม่ได้อยู่ในภาวะสงครามแล้ว แต่จะเห็นได้ว่ามีการนำกลยุทธ์และหลักการต่างๆ ของขงเบ้งที่ใช้ในการทำศึกสงครามมาปรับใช้เป็นกลยุทธ์ในเชิงการค้า อีกทั้งการบริหารจัดการ การปกครองประเทศ หรือแม้แต่การปรับปรุงพัฒนาตนเอง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความฉลาดปราดเปรื่องและรอบรู้สรรพวิชาอย่างแตกฉานของขงเบ้งที่ไม่ว่าในอดีตหรือปัจจุบันผู้คนทั้งหลายต่างยอมรับและต้องการความสามารถเช่นนี้ของเขาอย่างยิ่ง



อ้างอิง

จูกัดเหลียง.  (2560). สืบค้นเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2561, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/จูกัดเหลียง

ทำนุ นวยุค.  (2547).  ยอดขุนพลจากปัญญาขงเบ้ง.  กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ.

ไป่ลี่หมิง.  (2552).  อ่านความคิดขงเบ้ง.  พิมพ์ครั้งที่ 2.  กรุงเทพฯ: ณ ดา สำนักพิมพ์.

ยศไกร.  (2558).  เจาะลึกเหล่าขุนพลสามก๊ก.  สืบค้นเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2561, จาก https://writer.dek-d.com/eagle/story/viewlongc.php?id=10590&chapter=15

เล่า ชวน หัว.  (2546).  เปิดหน้ากากขงเบ้ง ภาคหนึ่ง.  พิมพ์ครั้งที่ 8.  กรุงเทพฯ: เคล็ดไทย.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น