การสิ้นสุดราชวงศ์กาเปเตียง

โดย ตรีนภา  วิชัยโย

Capetian Armorial
ประเทศฝรั่งเศสถูกจัดให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งด้านการคมนาคม การขนส่ง เทคโนโลยี และเศรษฐกิจ อีกทั้งปัจจัยทางด้านสถาปัตยกรรม แฟชั่น และมนต์เสน่ห์ของชาวฝรั่งเศส ทำให้ประเทศฝรั่งเศสเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวมากที่สุดในโลกเลยทีเดียว อีกทั้งเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ โดยในอดีต ประเทศฝรั่งเศสปกครองโดยสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะราชวงศ์กาเปเตียง ที่มีความสำคัญทั้งในด้านการปกครองประเทศ ด้านศาสนา ด้านสังคมเศรษฐกิจ และถือเป็นราชวงศ์ที่เก่าแก่ที่สุดราชวงศ์หนึ่งอีกด้วย

ราชวงศ์กาเปเตียง คือราชวงศ์ที่ปกครองฝรั่งเศสในสมัยกลาง มีพระเจ้าอูก กาแป (Hugh Capet) แห่งฝรั่งเศสเป็นต้นราชวงศ์ ทรงขึ้นครองราชย์เมื่อ ค.ศ. 987 แต่ราชวงศ์นี้ได้สิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1328 เนื่องจากการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าชาร์ลที่ 4 ที่ทรงไร้ทายาทสืบทอดราชวงศ์
                                                           

พระเจ้าอูก กาแป 


พระเจ้าชาร์ลที่ 4
ที่มา : https://www.geni.com/

บรรพบุรุษของราชวงศ์กาเปเตียง คือ ตระกูลโรแบร์เตียง (Robertian) ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นเคานต์แห่งปารีสในอาณาจักรแฟรงก์ตะวันตก หรือประเทศฝรั่งเศสในปัจจุบัน ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 9 และ 10 ตระกูลโรแบร์เตียงอภิเษกกับราชวงศ์กาโรแล็งเฌียง ราชวงศ์ที่ปกครองอาณาจักรแฟรงก์ตะวันตกขณะนั้น ทำให้ตระกูลโรแบร์เตียงบางคนได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ด้วย แต่ใน ค.ศ. 987 ราชวงศ์กาโรแล็งเฌียงสิ้นสุดลงในอาณาจักรแฟรงก์ตะวันตก และอูก กาแป กษัตริย์แห่งฝรั่งเศสที่สืบเชื้อสายจากตระกูลโรแบร์เตียงจึงได้ขึ้นครองราชย์เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์กาเปเตียง 

อูกเป็นกษัตริย์แห่งฝรั่งเศสที่มาจากการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 987 โดยกลุ่มบุคคลสำคัญชาวแฟรงก์ อาดัลเบอโรสามารถโน้มน้าวเหล่าบุคคลสำคัญได้ว่าราชบัลลังก์ควรได้มาจากการเลือกตั้งมากกว่าการสืบทอดทางสายเลือด และชาร์ลส์แห่งโลร์แรน ผู้ท้าชิงชาวกาโรแล็งเฌียงที่ถูกต้องตามกฎหมายที่เหลืออยู่เพียงคนเดียวไม่เหมาะที่จะปกครอง อูกจึงได้รับการสวมมงกุฎในวันที่ 5 กรกฎาคม ค.ศ. 987

คำว่า “กาเปเตียง” มาจากพระนามของพระเจ้าอูก กาแป ทั้งที่ “กาแป” มิได้เป็นนามสกุล แต่เป็นฉายานาม แต่กษัตริย์ฝรั่งเศสก็ทรงใช้ “กาแป” เป็นพระนามของพระราชสกุล เช่นเมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศสทรงถูกประหารด้วยเครื่องประหารกิโยติน ใน ค.ศ. 1793 การปกครองปฏิวัติในสมัยนั้นบันทึกในมรณบัตรว่า “หลุยส์ กาแป”

รัชสมัยของอูกมีเหตุการณ์ที่สำคัญคือ ชาร์ลส์แห่งโลร์แรนพยายามแสดงสิทธิ์ของตนเพื่อแย้งอูกที่ 1 (เคานต์แห่งบลัวส์) และฟุลค์ แนร์รา (เคานต์แห่งอองฌู) แต่อูกกลับสนับสนุนพวกเขา และในปี ค.ศ. 993 อูกได้รับความช่วยเหลือจากอาร์ชบิชอปในแผนการขัดขวางการส่งตัวอูกกับพระโอรส โรแบรต์ ไปให้ออตโตที่ 3 ทำให้การส่งตัวไม่ประสบผลสำเร็จ แต่การที่ไม่มีใครถูกลงโทษจากเหตุการณ์นี้ แสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอของราชวงศ์ใหม่กาเปเตียง อูกยังสามารถรักษาบัลลังก์ไว้ได้ อาจเพราะศัตรูที่ร่วมมือกันต่อต้านพระองค์นั้นไร้ซึ่งความสามารถที่จะแย่งชิงบัลลังก์

ต่อไปจะขอยกตัวอย่างพระราชกรณียกิจที่สำคัญของกษัตริย์บางพระองค์แห่งราชวงศ์กาเปเตียงเพื่อให้
ผู้อ่านได้ทราบถึงความสำคัญของราชวงศ์กาเปเตียงค่ะ


ที่มา : https://th.wikipedia.org/

พระเจ้าฟิลิปที่ 1 แห่งฝรั่งเศส

ในปี ค.ศ. 1094 พระองค์ทรงถูกตัดขาดจากศาสนา (excommunicate)  โดยอูกแห่งดี (Hugh of Die) อาร์ชบิชอปแห่งลียงเป็นครั้งแรก และหลังจากไม่มีข่าวหรือการเคลื่อนไหวอะไรอยู่เป็นเวลานาน สมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 2 ก็ทรงประกาศคว่ำบาตรเป็นครั้งที่สองในสภาสังคายนาแห่งแคลร์มง (Council of Clermont) และกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามครูเสดครั้งที่ 1


ที่มา : https://th.wikipedia.org/

พระเจ้าหลุยส์ที่ 6 แห่งฝรั่งเศส 

พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ราชวงศ์กาเปเซียงองค์แรกที่ทรงมีบทบาทในการรวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางภายใต้การนำของพระมหากษัตริย์ และเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกผู้มีความแข็งแกร่งตั้งแต่การแยกจักรวรรดิการอแล็งเฌียง อธิการซูว์เฌแห่งมหาวิหารแซ็ง-เดอนีกล่าวถึงพระองค์ว่าเป็นผู้ที่มีพระอุปนิสัยหนักแน่นที่ไม่เหมือนบรรพบุรุษของพระองค์ก่อนหน้านั้น
                                                   

ที่มา : https://th.wikipedia.org/

พระเจ้าหลุยส์ที่ 7 แห่งฝรั่งเศส 

พระองค์ทรงมีการศึกษาสูงและมีความศรัทธาทางศาสนาอย่างมุ่งมั่นเหมาะสมในหน้าที่ทางศาสนามากกว่าการปกครองบ้านเมือง เมื่อยังทรงพระเยาว์ พระองค์ทรงใช้เวลาส่วนใหญ่ที่มหาวิหารแซงต์เดนีส์และทรงสร้างความสัมพันธ์กับแอ็บบ็อทซูแฌร์ผู้มีบทบาทสำคัญในต้นรัชสมัยของพระองค์

รัชสมัยของพระองค์เป็นรัชสมัยที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งระหว่างอำนาจของขุนนางจากตระกูลต่าง ๆ โดยเฉพาะตระกูลอองชู (อองเฌแว็ง) ที่เป็นช่วงของการเริ่มต้นของความขัดแย้งระหว่างราชอาณาจักรฝรั่งเศสและราชอาณาจักรอังกฤษ และการเข้าร่วมในสงครามครูเสดครั้งที่ 2
                                                                     

ที่มา : https://th.wikipedia.org/

พระเจ้าหลุยส์ที่ 9 แห่งฝรั่งเศส 

พระองค์เป็นพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศสพระองค์เดียวที่ทรงได้รับการประกาศเป็นนักบุญ ในปี ค.ศ. 1297 โดยสมเด็จพระสันตะปาปาบอนิเฟซที่ 8 ซึ่งทำให้มีสถานที่ต่าง ๆ ที่ตั้งชื่อตามพระองค์อยู่มากมาย
                                                                     

ที่มา : https://th.wikipedia.org/

พระเจ้าฟิลิปที่ 4 แห่งฝรั่งเศส

ความขัดแย้งทางทหารที่รู้จักกันดีที่สุดในรัชสมัยของพระเจ้าฟิลิปที่ 4 คือสงครามกับพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 แห่งอังกฤษ ในช่วงเดียวกันนี้พระองค์ยังได้เข้าเป็นพันธมิตรกับราชอาณาจักรสกอตแลนด์ ซึ่งเริ่มในรัชสมัยของจอห์น บัลลิออลเพื่อต่อต้านแผนการรุกรานฝรั่งเศสของพระเจ้ากรุงอังกฤษ

ปัจจุบันเชื้อสายราชวงศ์กาเปเตียงที่ยังมีพระชนม์ชีพและถือพระราชสมบัติอยู่ คือ พระเจ้าเฟลิเปที่ 6 แห่งสเปนและแกรนด์ดุ๊กเฮนรี่แห่งลักเซมเบิร์ก แต่เป็นเชื้อสายราชวงศ์กาเปเตียงผ่านทางราชวงศ์บูร์บง ซึ่งเป็นราชวงศ์ย่อยของราชวงศ์กาเปเตียง พร้อม ๆ กับราชวงศ์ฮับส์บูร์กซึ่งเป็นหนึ่งในสองราชวงศ์ที่มีอำนาจมากที่สุดในยุโรป ปกครองยุโรปนานเกือบห้าศตวรรษ

หากมองย้อนกลับไปแล้ว ราชวงศ์กาเปเตียงมีความสำคัญต่อยุโรปเป็นอย่างมาก ด้วยพระปรีชาสามารถของพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ในทุก ๆ ด้าน ทั้งด้านการปกครอง ด้านสังคม ด้านศาสนา ทำให้ฝรั่งเศสสมัยนั้นพัฒนาจนสามารถทัดเทียมกับประเทศที่ปกครองโดยราชวงศ์ที่มีความยิ่งใหญ่กว่าประเทศของตนได้ หากแต่ราชวงศ์ต้องสิ้นสุดลงเพราะพระเจ้าชาร์ลที่ 4 ทรงไร้ทายาทสืบทอดราชวงศ์ แต่ปัจจุบันราชวงศ์กาเปเตียงที่ยังมีพระชนม์ชีพและถือพระราชสมบัติอยู่ คือ กษัตริย์แห่งสเปนและแกรนด์ดุ๊กแห่งลักเซมเบิร์กผ่านทางราชวงศ์บูร์บง ซึ่งเป็นสาขาย่อยของราชวงศ์กาเปเตียงนั่นเอง


อ้างอิง  

pi-nu (นามปากกา). สงครามร้อยปี(Hundred Years’War)..ว่าด้วยเรื่องดินแดน. สืบค้นเมื่อ 27 กันยายน 2561, จาก : https://pi-nu.blogspot.com/2012/10/hundred-yearswar.html

Unknow. Capetian dynasty. Retrieved 25 September 2018, from :  https://en.wikipedia.org/wiki/Capetian_dynasty#Current_Capetian_rulers

New World Encyclopedia. Hugh Capet. Retrieved 26 September 2018, from : http://www.newworldencyclopedia.org/entry/Hugh_Capet

บริษัท เลทส์ ซี ฮอลิเดย์. ข้อมูลทั่วไปฝรั่งเศส. สืบค้นเมื่อ 25 กันยายน 2561, จาก :
https://www.letsseeholiday.net/


อ่านเพิ่มเติม »

โรมุลุส เอากุสตุลุส (Romulus Augustulus) จักรพรรดิโรมันองค์สุดท้าย และเหตุการณ์ที่นำไปสู่การล่มสลายของจักรวรรดิโรมัน

โดย ธนัญญา ตันชวลิต

ประวัติของจักรพรรดิโรมุลุส เอากุสตุลุส แม้จะไม่ปรากฏรายละเอียดมากนัก หากแต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระองค์นั้นเป็นสาเหตุหลักที่นำไปสู่การล่มสลายของจักรวรรดิโรมันตะวันตก ซึ่งถูกนำเสนอผ่านประวัติของพระองค์และสามารถเชื่อมโยงให้เห็นถึงปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งภายใน และการแย่งชิงอำนาจทางการเมือง โดยถึงแม้ว่าโรมุลุส เอากุสตุลุสจะดำรงตำแหน่งเป็นจักรพรรดิในช่วงเวลานั้น หากแต่อำนาจทางการปกครองกลับขึ้นอยู่กับบิดาของพระองค์แทบทั้งสิ้น ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันตะวันตกนั้นจึงมิใช่จากพระองค์เอง หากแต่เป็นบุคคลที่อยู่รายล้อมพระองค์ ความสำคัญในรัชสมัยของพระองค์จึงมิใช่พระราชกรณียกิจของจักรพรรดิ หากแต่เป็นเหตุการณ์ที่นำไปสู่การสิ้นสุดของจักวรรดิโรมันตะวันตกซึ่งเคยรุ่งโรจน์และมีอำนาจเหนืออาณาจักรอื่นทั้งปวง

โรมุลุส เอากุสตุลุส (Romulus Augustulus) หรือเรียกสั้นๆ ว่า เอากุสตุลุส พระองค์ทรงเป็นจักรพรรดิโรมันพระองค์สุดท้าย ชื่อเดิมคือ ฟลาวิอุส โรมูลุส ประสูติราวช่วง ค.ศ.​461 ส่วนการสวรรคตไม่อาจทราบหลักฐานที่แน่ชัด ซึ่งจากการคาดการณ์น่าจะเป็นช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 5 ทรงขึ้นครองราชย์ขณะที่ยังเป็นวัยรุ่น ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม ค.ศ.​475 ถึงวันที่ 4 กันยายน ค.ศ.​476 ซึ่งเป็นวันที่พระองค์ถูกถอดออกจากราชบัลลังก์หลังจากครองราชย์ได้เพียง 10 เดือนเศษๆ เท่านั้น นักวิชาการจึงถือว่าการสิ้นสุดรัชกาลของพระองค์เป็นการสิ้นสุดของจักรวรรดิโรมันตะวันตก และเป็นจุดเริ่มต้นของสมัยกลางในยุโรปตะวันตก


โรมุลุส เอากุสตุส หรือ เอากุสตุลุส จักรพรรดิโรมันพระองค์สุดท้าย

บิดาของพระองค์คือ ฟลาวิอุส โอเรสเตส ทหารและนักการเมืองโรมันเชื้อสายเยอรมัน ผู้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นผู้ช่วยของอัตติลา จักรพรรดิชาวฮันผู้ครองจักรวรรดิฮัน (Attila the Hun) และบางครั้งก็ถูกส่งไปเยือนกรุงคอนสแตนติโนเปิลโดยการทูต หลังจากที่อัตติลาเสียชีวิต โอเรสเตสได้เข้าร่วมรับใช้จักรวรรดิตะวันตก โดยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการทหารจากจักรพรรดิจูเลียส เนโพส จึงทำให้มีอำนาจในการควบคุมกองทัพเมื่อราว ค.ศ.474

ส่วนมารดาของพระองค์เป็นลูกสาวของเคานท์ โรมุลุส ผู้ปกครองเมืองพาสซัว ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของแคว้นบาวาเรียในประเทศเยอรมนีปัจจุบัน ไม่ปรากฎหลักฐานว่าเอากุสตุลุสมีพี่น้องหรือแต่งงานกับใคร แต่เนื่องด้วยพระองค์เป็นบุตรของชนชั้นสูงที่ถือว่ามีอำนาจสูงสุดของรัฐบาลในช่วงสมัยนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าพระองค์คงได้รับการศึกษาอย่างดีเช่นเดียวกับเด็กชายจากครอบครัวผู้ดีมีสกุลอื่นๆ

ตำแหน่งนายทหารที่ได้รับทำให้โอเรสเตสได้รับการสนับสนุนจากกองกำลังมากกว่าจักรพรรดิของพวกเขาเอง ในช่วงเวลาขณะนั้นกองทหารรักษาการณ์ของอิตาลีเกือบทั้งหมดประกอบไปด้วยทหารรับจ้างชาวเยอรมัน ความรู้สึกจงรักภักดีต่อจักรวรรดิจึงน้อยลงมาก ซึ่งถ้าพวกเขาจะเกิดความจงรักภักดีมันก็จะเกิดจากเพื่อนร่วมชาติที่มีเชื้อสายเดียวกัน ซึ่งนั่นก็อาจหมายถึง โอเรสเตส นายทหารลูกครึ่งโรมัน-เยอรมัน

เหตุการณ์ก่อนการขึ้นครองราชย์ของโรมุลุส เอากุสตุลุส เกิดขึ้นในเดือนกันยายน ค.ศ.474 ซึ่งอยู่ในช่วงรัชสมัยของจักรพรรดิจูเลียส เนโพส ได้มีการแต่งตั้งให้โอเรสเตส บิดาของโรมุลุสขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารที่มีอำนาจสูงสุดในกองทัพโรมัน เมื่อเห็นโอกาสโอเรสเตสจึงได้ทำการก่อรัฐประหาร และประสบความสำเร็จเมื่อโอเรสเตสสามารถควบคุมรัฐบาลที่เมืองราเวนนา (เมืองหลวงของจักรวรรดิโรมันตะวันตก) ไว้ได้ และทำการยึดอำนาจจากจักรพรรดิองค์ก่อนหน้า คือ จักรพรรดิจูเลียส เนโพส ทำให้จักรพรรดิจูเลียสต้องหลบหนีไปยังแคว้นดัลเมเชียและปกครองอยู่ที่นั่นจนกระทั่งสวรรคต หลังจากนั้นโอเรสเตสจึงใช้อำนาจที่มีปูทางขึ้นสู่อำนาจให้แก่ลูกชาย

โอเรสเตสได้กลายเป็นผู้ปกครองโรมันตะวันตกไปโดยปริยาย ถึงแม้ว่าเขาจะไม่มีสิทธิชอบธรรมในการสถาปนาตนเองขึ้นสู่ราชบัลลังก์ก็ตาม แต่กระนั้นโอเรสเตสก็ได้แต่งตั้งลูกชายของตนที่เกิดจากภรรยาชาวโรมันให้ขึ้นเป็นจักรพรรดิแทน เพราะเขาคิดว่าชาวโรมันจะเต็มใจยอมรับลูกชายของเขาผู้ซึ่งมีสายเลือดโรมันในตัวเป็นจักรพรรดิมากกว่าตนเอง ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตามโอเรสเตสก็ยังมีความมุ่งมั่นที่จะแต่งตั้งลูกชายของตนขึ้นเป็นจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันตะวันตก หากแต่การแต่งตั้งดังกล่าวไม่ได้รับการเห็นชอบหรือยอมรับจากจักรพรรดิในจักรวรรดิไบเซนไทน์ (โรมันตะวันออก) คือ เซโนและบาซิลิคุส

หลังจากได้ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันตะวันตก พระองค์ทรงได้รับการสถาปนาพระนามว่า โรมุลุส เอากุสตุส ซึ่งประกอบด้วยคำว่า โรมุลุส เป็นชื่อของบุคคลในตำนานการก่อตั้งกรุงโรม กับ เอากุสตุส (ออกัสตัส ทายาทของจูเลียส ซีซาร์ และเป็นผู้สถาปนาจักรวรรดิโรมัน) ซึ่งได้มีการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นความบังเอิญที่จักรพรรดิโรมันองค์สุดท้ายจะทรงได้รับพระนามมาจากจักรพรรดิพระองค์แรก อีกทั้งบางคนยังได้ตั้งชื่อเล่นให้พระองค์ใหม่ว่า โมมีลลุส ที่แปลว่า เด็กหน้าไม่อาย และ โรมุลุส เอากุสตุลุส ที่แปลว่า เอากุสตุสน้อย คำกล่าวล้อเลียนนั้นเป็นการแสดงให้เห็นว่าผู้คนที่ยอมรับโรมุลุสในฐานะจักรพรรดิในช่วงเวลานั้นมีไม่มากนัก อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนไม่ได้ให้ความเคารพจักรพรรดิเช่นเขา

ตลอดระยะเวลากว่าร้อยปีก่อนที่จักรพรรดิโรมุลุสขึ้นครองราชย์ จักรวรรดิโรมันตะวันตกมีความเสื่อมโทรมเป็นอย่างมาก อำนาจทางการเมืองและดินแดนก็หดหายไปเรื่อย ๆ ขณะที่จักรวรรดิฝั่งตะวันออกที่ต่อมาเรียกว่า จักรวรรดิไบเซนไทน์ กลับยิ่งร่ำรวยและมีอำนาจมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องด้วยจักรพรรดิโรมุลุส ทรงมีพระชนมายุแค่ 14 ชันษา พระองค์จึงมิได้ปกครองด้วยตนเอง เพราะอำนาจการบริหารตกไปอยู่กับบิดาของพระองค์ทั้งหมด หรือเรียกอีกอย่างว่า สำเร็จราชการแทน ถึงแม้ว่าจะมีพระนามของพระองค์ปรากฏอยู่บนเหรียญกษาปณ์ของบางเมือง เช่น โรมัน ราเวนนา และมิลาน แต่กลับไม่พบอนุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อเชิดชูเกียรติพระองค์เลย เนื่องจากพระองค์เพิ่งขึ้นครองราชย์ ขณะเดียวกันอำนาจที่แท้จริงก็ไปตกอยู่กับบิดา นอกจากนี้ยังคงเป็นเพราะเรื่องของภาวะเศรษฐกิจและการเมืองด้วย

ภายในเวลาเพียงแค่สิบเดือนหลังจากที่จักรพรรดิโรมุลุสขึ้นครองราชย์ กบฏทางการทหารที่รุนแรงก็เกิดขึ้น เหตุที่ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งนี้ คือ บริเวณส่วนอื่น ๆ ของจักรวรรดิโรมันตะวันตก เจ้าของที่ดินถูกบังคับให้ส่งมอบสมบัติถึงสองในสามของทรัพย์สินที่พวกเขามีให้แก่ชาวเยอรมัน เพื่อเป็นการสร้างสัมพันธมิตรกับชาวเยอรมันภายในจักรวรรดิ อย่างไรก็ตามนโยบายนี้ไม่เคยถูกนำมาใช้กับอิตาลี โอเรสเตสได้ทำสัญญาขึ้นโดยตกลงจะมอบที่ดินให้แก่ทหารชาวเยอรมันหากพวกเขาช่วยขับไล่จักรพรรดิจูเลียส เนโพส เมื่อสามารถขับไล่ได้สำเร็จโอเรสเตสกลับเลือกที่จะลืมข้อตกลงดังกล่าว แต่กองกำลังเยอรมันไม่เต็มใจที่จะปล่อยให้ปัญหาถูกลืม และเรียกร้องต่อผลประโยชน์ที่พวกเขาควรจะได้รับ

ชนเผ่าเยอรมัน 3 เผ่า คือเผ่าเฮรูลี เผ่าตูรซีลิงกิ และเผ่าสกีเรียน รวมตัวกันต่อต้านอำนาจทางการปกครองของจักรพรรดิโรมุลุสและบิดา จนกระทั่งในที่สุดเมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ.​476 กองทัพชนเผ่าเยอรมันภายใต้การนำของโอโดเซอร์ ก็นำกำลังกองทัพเข้าตีฝ่าแนวชายแดนเข้ามาในคาบสมุทรอิตาลี


จักรพรรดิโรมุลุสทรงยอมอ่อนน้อมต่อโอโดเซอร์

ในวันที่ 23 สิงหาคม โอโดเซอร์ได้ตั้งตนเป็นกษัตริย์องค์แรกของอิตาลี และในอีก 5 วันต่อมา โอเรสเตส บิดาของจักรพรรดิโรมุลุส ก็ได้ถูกทหารของโอโดเซอร์เข้าจับกุมและสังหารที่เมืองปิอาเซนซา ทางตอนเหนือของอิตาลี ส่วนจักรพรรดิโรมุลุสหลบหนีไปจากสนามรบ กล่าวกันว่าพระองค์ทรงหลบไปอยู่ที่เมืองราเวนนา

เดือนต่อมา โอโดเซอร์ได้ทำการปลดจักรพรรดิโรมุลุสออกจากตำแหน่ง จึงอาจกล่าวได้ว่าจักรวรรดิโรมันตะวันตกที่ยืนยาวมาเกือบ 500 ปีก็ถึงกาลสิ้นสุดลง

แทนที่โรมุลุสจะถูกประหารเช่นเดียวกับบิดาของเขา แต่โอโดเซอร์เห็นว่าพระองค์ยังเด็กเกินไปที่จะตาย จึงไว้ชีวิตแล้วให้ไปอยู่ที่ปราสาทลูคูลลูสในเมืองกัมพาเนีย ทางตอนใต้ของอิตาลี พร้อมทั้งให้เงินเป็นค่าใช้จ่ายปีละ 6000 เหรียญทองตลอดไป

หลังการประหารโอเรสเตสบิดา ของจักรพรรดิโรมุลุสและปลดเอากุสตุสซึ่งก็คือจักรพรรดิองค์สุดท้ายออกจากตำแหน่ง บรรดาพระราชลัญจกร และราชภัณฑ์ต่าง ๆ ในราชสำนักก็ได้ถูกส่งไปให้จักรพรรดิเซโนแห่งจักรวรรดิโรมันตะวันออก

ในขณะเดียวกันนั้นจักรวรรดิโรมันตะวันออกนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 474 ซึ่งถูกปกครองโดยจักรพรรดิเซโน (Flavius Zeno) ได้รับความเดือดร้อนเมื่อทราบว่าโอโดเซอร์จากเผ่าเยอรมันโจมตีกรุงโรม และปลดจักรพรรดิองค์สุดท้ายแห่งฝั่งตะวันตก คือ จักรพรรดิโรมุลุส ออกุสตุส ออกจากบัลลังก์ ทำให้จักรพรรดิฝั่งตะวันออกต้องส่งพระเจ้าธีโอโดริค แห่งชาวออสโตรกอท (Ostrogoths) มายึดกรุงโรมคืน ต่อมาสี่ปีภายหลังแห่งสมรภูมิรบ ผู้นำทั้งสอง คือ โอโดเซอร์และพระเจ้าธีโอดอริคจึงได้มีการตกลงที่จะพักรบชั่วคราวและทำข้อตกลงในการแบ่งเขตการปกครองอิตาลี แต่การแบ่งเขตอำนาจนั้นก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เมื่อพระเจ้าธีโอดอริคได้สังหารโอโดเซอร์ และกองกำลังของพระเจ้าธีโอดอริคยังสังหารวงศาคณาญาติของโอโดเซอร์ทั้งหมด เนื่องจากต้องการตัดทอนกองกำลังของโอโดเซอร์ ต่อมาแม้ว่าจักรพรรดิโรมันตะวันออกต้องการส่งพระเจ้าธีโอดอริคไปต่อสู้เพื่อยึดกรุงโรมคืนจากโอโดเซอร์ หากแต่พระเจ้าธีโอดอริคกลับตั้งอาณาจักรในอิตาลีเสียเอง

พระเจ้าธีโอดอริคสถาปนาตนเองขึ้นเป็นพระราชาของอิตาลี ไม่ใช่จักรพรรดิของจักรวรรดิโรม ตระกูลของจักรพรรดิทางฝั่งจักรวรรดิโรมันตะวันตกจึงถือว่าสิ้นสุดลง และตกอยู่ภายใต้การปกครองของชาวเยอรมัน จึงถือได้ว่าเหตุการณ์นี้เป็นการสิ้นสุดการปกครองของจักรพรรดิในจักรวรรดิโรมันตะวันตกหรือเป็นการสิ้นสุดของจักรวรรดิโรมันตะวันตกโดยสมบูรณ์ ส่วนจักรวรรดิโรมันตะวันออกยังคงปกครองกรีซ เอเชียไมเนอร์ ซีเรีย ปาเลสไตน์ และอียิปต์ เป็นที่รู้จักกันในนามของจักรวรรดิไบเซนไทน์ จึงถือว่าอาณาจักรโรมันที่มีอิทธิพลมากที่สุดในโลกซึ่งมีอายุยาวนานกว่า 500 ปี ถึงคราวสิ้นสุด

จากการศึกษาประวัติของจักรพรรดิโรมุลุส เอากุสตุลุส แสดงให้เห็นว่าบุตรจะดีหรือเลวนั้นขึ้นอยู่กับการขัดเกลาทางสังคมจากสถาบันครอบครอบเป็นสำคัญ นอกจากนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบของอำนาจ ที่เมื่อผู้ใดครอบครองก็มักจะเกิดความเห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ และกระหายที่จะมีอย่างไม่สิ้นสุด เป็นสิ่งอันตรายที่มักจะนำภัยมาสู่ตนเอง เช่นเดียวกับจุดจบที่โอเรสเตสต้องพบเจอ
         

อ้างอิง  

ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง. 2558. Life of the Week: Romulus Augustus, สืบค้นเมื่อ 28 กันยายน ปี 2561, จาก : https://www.historyextra.com/period/roman/life-of-the-week-romulus-augustus/

ชัยจักร ทวยุทธานนท์. 2017. โรมุลุส เอากุสตุลุส : จักรพรรดิโรมันองค์สุดท้าย. ออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 1 กันยายน ปี 2561, จาก :  http://www.gypzyworld.com/article/view/447

ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง. 2551. ประวัติศาสตร์ยุโรปเพิ่มเติม (โรมุลุส), สืบค้นเมื่อ 28 กันยายน ปี 2561, จาก : https://writer.dek-d.com/12455/story/viewlongc.php?id=399957&chapter=41

 ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง. 2559. Romulus Augustus – The Last Emperor of Rome, สืบค้นเมื่อ 24 ธันวาคม ปี 2561, จาก : http://www.italiantribune.com/romulus-augustus-the-last-emperor-of-rome/
     
อ่านเพิ่มเติม »

ดวงตาแห่งโฮรุส (The Eyes of Horus) : สัญลักษณ์แห่งมหาเทพ ‘โฮรุส’

โดย ศิรินภา เฉื่อยไธสง

ไอคุปต์ ดินแดนอียิปต์โบราณที่ซึ่งมีอารยธรรมเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีตำนานและเรื่องเล่ามากมายได้ถูกบันทึกและเล่าขานสืบต่อมา ซึ่งล้วนแล้วแต่น่าสนใจทั้งสิ้น ชาวไอคุปต์นับถือเทพเจ้าหลายองค์ และหนึ่งในสามเทพที่ได้รับการนับถือมากที่สุดในอียิปต์โบราณ ผู้ซึ่งนำความสันติยาวนานมาสู่ดินแดนอียิปต์  “เทพโฮรุส” ผู้มีดวงตาที่รู้แจ้ง ผู้ทิ้งไว้ซึ่งสัญลักษณ์อันได้รับการนับถือประหนึ่งเป็นตัวแทนพระองค์ พบมากในศิลปะโบราณและยังคงได้รับการเคารพในปัจจุบัน นั่นคือ “ดวงตาแห่งโฮรุส  (The Eyes of Horus)”
           
เทพโฮรุส (Horus) ทรงเป็นโอรสของเทพโอซีริส (Osiris) เทพแห่งชีวิตหลังความตาย ผู้ซึ่งปกครองยมโลกอันเป็นดินแดนแห่งวิญญาณ เทพโอซีริสทรงเปี่ยมด้วยเมตตาและต่อต้านความรุนแรงทุกรูปแบบ อีกทั้งเป็นผู้นำพาดินแดนอียิปต์โบราณหลุดพ้นจากความป่าเถื่อนสู่ดินแดนแห่งอารยธรรม  และ เทพีไอซิส (Isis) เทพีแห่งความรัก  ความอุดมสมบูรณ์และการรักษา นอกจากนี้ชาวอียิปต์ยังมีความเชื่อว่าพระนางเป็นผู้สอนชาวอียิปต์ให้รู้จักการปั่นด้ายและทอผ้า ทำแป้งสาลี รวมถึงการกสิกรรมต่างๆ เทพและเทพีทั้งสองได้รับการนับถืออย่างมาก ไม่ต่างจากโฮรุสบุตรของพระองค์ ด้วยเชื่อว่าดินแดนไอคุปต์รุ่งเรือง และมากด้วยสันติสุขนับคณาในช่วงเวลานั้น


ที่มา: https://writer.dek-d.com/

เทพโฮรุส (Horus) เป็นหนึ่งในเทพที่ได้รับการนับถือสูงสุดในอียิปต์ มีเทพีฮาธอร์ (Hathor) เทพีแห่งความรัก ความสุข การแต่งงาน การเต้นรำ และความงดงาม เป็นพระชายา รูปลักษณ์เทพโฮรุสอันเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปคือชายหนุ่มที่มีพระเศียรเป็นเหยี่ยว มีพระเนตรทั้งสองเป็นดวงอาทิตย์และดวงจันทร์  ชาวไอยคุปต์ต่างสรรเสริญพระองค์ในฐานะเทพผู้กล้า ราชันย์แห่งชัยชนะและการแก้แค้น เทพแห่งแสงสว่างและเทพแห่งความหวัง พระองค์ทรงพิชิตเทพเสต (Seth) เทพแห่งความมืดและการทำลายล้าง ซึ่งเป็นพระปิตุลาของพระองค์เอง และได้ทวงคืนราชบรรลังก์อันเป็นของพระองค์โดยชอบธรรมกลับคืน ซึ่งนั่นเป็นการทำให้ความมืดดำหายไปจากโลก โฮรุสจึงถือเป็นผู้นำความสงบและสันติกลับคืนสู่ดินแดนอียิปต์โบราณ  พระองค์คือฟาโรห์ผู้ปกครองไอคุปต์ให้สงบสุขเป็นเวลายาวนานหลายร้อยปี นอกจากนี้ชาวอียิปต์โบราณต่างเชื่อว่าฟาโรห์องค์สุดท้ายคือเทพโฮรุสที่ในภาคมนุษย์ที่สถิตลงมาเพื่อปกครองแผ่นดิน โดยมีคำเรียกแทนฟาโรห์ว่า ‘Living Horus’
   
บทสรรเสริญเทพโฮรุส
“...ขอให้เทพเจ้าโฮรุสผู้กล้าหาญ โอรสแห่งเทพเจ้าโอซิริสทรงพระเจริญ...
...ขอความรุ่งเรืองจงบังเกิดแด่ เทพโฮรุส ผู้แข็งแกร่ง ครองฉมวกเป็นอาวุธ ผู้กล้าผู้พิชิตเสต
ราชบุตรองค์เดียวในโอซิริส เทพโฮรุสแห่งเอดฟู เทพแห่งการล้างแค้น!...” (ชลิตดา. ตำนานอียิปต์โบราณ (ฉบับสมบูรณ์).  กรุงเทพฯ : พิมพ์คำ. 2548. หน้า 95)


ที่มา: https://io9.gizmodo.com/
           
ดวงตาแห่งโฮรุส สัญลักษณ์จากอียิปต์โบราณ เป็นพระนามของเทพโฮรุส หนึ่งในเทพผู้มีอำนาจมากที่สุดและโดดเด่นที่สุดแห่งไอคุปต์ เดิมชาวอียิปต์เรียกสัญลักษณ์นี้ว่า ‘Wedjat’ หรือ ‘Udjat’ ตามพระนามของเทพธิดาวัดเจต (Wadjet) เทพีผู้ปกครองอียิปต์ล่าง แต่โดยมากเรื่องราวของสัญลักษณ์นี้มักถูกโยงเข้ากับเทพโฮรุสเสียมากกว่า ดวงตาแห่งโฮรุส มีลักษณะคล้ายดวงตามนุษย์แต่มีหางตาอย่างเหยี่ยว ตามลักษณะพระเศียรของเทพโฮรุส บ้างก็ปรากฏหยดน้ำตาบริเวณด้านล่างของดวงตาด้วย

สัญลักษณ์นี้คาดว่าเป็นดวงตาข้างซ้ายของเทพโฮรุส โดยอ้างจากตำนานหนึ่ง อันเป็นเรื่องราวการแย่งชิงราชบัลลังก์ภายหลังเทพโอซีริส (Osiris) สิ้นพระชนม์ เทพเสต (Seth) และเทพโฮรุส (Horus) ได้ต่อสู้กันทั้งทางการศึกและการใช้เล่ห์อุบาย  และระหว่างการต่อสู้ เทพเสต ได้ควักลูกตาซ้ายของโฮรุสออก แต่ภายหลังดวงตานั้นก็ถูกฟื้นฟูจนเกือบสมบูรณ์ โดยมีเทพีฮาธอร์ (Hathor) ผู้เป็นชายาช่วยรักษา และเมื่อดวงตาของตนหายดีแล้ว โฮรุสก็นำดวงตามอบให้แด่โอซิริสผู้เป็นพระบิดา เพื่อให้ดวงตานั้นฟื้นฟูพลังชีวิตของบิดาตน ด้วยตำนานดังกล่าวดวงตาของโฮรุสจึงมักถูกใช้เป็นสัญลักษณ์แห่งการเสียสละ การฟื้นฟู และการปกป้อง

ชาวอียิปต์โบราณเชื่อถือว่า ดวงตาแห่งโฮรุส เป็นสัญลักษณ์แห่งการปกป้องคุ้มครอง โดยมีเรื่องเล่าถึงความเชื่อนี้ว่า ลูกเรือชาวอียิปต์คนหนึ่งได้วาดสัญลักษณ์ดวงตาแห่งเทพโฮรัสไว้บนคันธนูของตน ก่อนแล่นเรือไปบนเส้นทางที่เต็มไปด้วยอันตราย เป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งที่ชายหนุ่มคนนั้นสามารถเดินทางผ่านน่านน้ำที่ไม่คุ้นเคยได้อย่างปลอดภัย ต่างเชื่อกันว่า ดวงตาแห่งโฮรุส ที่เขาวาดไว้บนบนคันธนู ได้ช่วยนำทางเรือและคุ้มครองเขาให้ปลอดภัย เสมือนมีเทพโฮรุสผู้ฉลาดหลักแหลม และมีดวงตาที่มองทะลุได้อย่างรู้แจ้งเห็นจริงคอยช่วยเหลือนั่นเอง ทั้งนี้ ดวงตาแห่งโฮรุส ยังได้รับการเปรียบว่าเป็นสัญลักษณ์ของความรอบรู้ สุขภาพดี และความมั่งคั่ง มีพลังอำนาจที่ส่งผลต่อการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันให้กับโลกที่ไม่มีความมั่นคง และแก้ไขสิ่งที่ไม่เที่ยงธรรมอีกด้วย

ดวงตาแห่งโฮรุส ยังถือเป็นสัญลักษณ์ของการเกิดใหม่กลับมาอีกครั้ง อาจเชื่อมโยงไปถึงเทพโฮรัสผู้ซึ่งไม่มีวันตาย แม้จะถูกลอบปลงพระชนม์หรือสิ้นชีพไปกี่ครั้งคราพระองค์ก็ยังคงคืนชีพกลับมาเสมอ สัญลักษณ์นี้จึงถูกพบว่าเป็นสัญลักษณ์ที่ถูกจารึกลงบนหีบศพ ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันสุขภาพของผู้วายชนม์ และเพื่อให้ร่างฟื้นคืนขึ้นมาได้ เมื่อ ‘คา’ กลับมา และสัญลักษณ์นี้ยังมีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นทางให้แก่ฟาโรห์ในยามที่เดินทางจากดินแดนแห่งชีวิตไปสู่ดินแดนแห่งความตาย คนโบราณจึงเคารพดวงตาของฮอรัสเป็นดังตัวแทนของอาณาจักรใหม่อันเป็นนิรันดร์จากฟาโรห์องค์หนึ่งไปสู่ฟาโรห์อีกองค์หนึ่ง


ที่มา: https://www.imdb.com/

สัญลักษณ์ ดวงตาแห่งโฮรุส นี้ ยังคงได้รับความนิยมและนับถืออย่างมากในปัจจุบันดังจะเห็นได้จากภาพยนตร์ เทพนิยาย รวมไปถึงวงการต่างๆที่ได้นำไปเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงออกถึงความเชื่อนี้ ปัจจุบันผู้คนนิยมนำดวงตาแห่งโฮรุสไปดัดแปลงเป็นเครื่องรางและเครื่องประดับต่างๆ เพื่อง่ายต่อการพกพา แต่ยังคงยึดถือตามความหมายเดิมของอียิปต์โบราณ คือเป็นเครื่องหมายแห่งการปกป้องคุ้มครอง ความอุดมสมบูรณ์ ความรู้ พลังอำนาจ และสุขภาพที่ดี

ถึงแม้ว่าความเชื่อและศรัทธาใน ดวงตาแห่งโฮรุส จะมิได้มากล้นเหลือดังในอดีต หากแต่ยังคงไว้ซึ่งความขลังดังตำนานที่มีมาอย่างยาวนาน และประวัติศาสตร์แห่งทวยเทพที่ยังคงถูกเล่าขานสืบต่อมาผ่านสัญลักษณ์นี้ เพียงแต่รูปแบบการเคารพอาจแตกต่างออกไป หรือคงเหลือศรัทธาอยู่ในชนเฉพาะกลุ่มมิสิ่งเคารพของคนส่วนใหญ่เช่นในอดีต แต่ถึงอย่างไรความเชื่อในสัญลักษณ์แห่งมหาเทพนี้ ก็ยังคงสืบต่อมาจวบจนปัจจุบันมิได้สูญหายไปตามกาลเวลาแต่อย่างใด


อ้างอิง

etatae333.  (2557).    เทพฮอรัส (Horus) โอรสแห่งโอซิริส. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 28 กันยายน 2561, จาก: http://www.cmxseed.com/cmxseedforumn/index.php?topic=96175.0

Eye of Horus.  [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 24 ธันวาคม 2561, จาก :  https://en.wikipedia.org/wiki/Eye_of_Horus

Mythologian NET.  (ม.ป.ป.) The Eye of Horus (The Egyptian Eye) and Its Meaning. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 28 กันยายน 2561, จาก : http://mythologian.net/eye-horus-egyptian-eye-meaning/

ชลิตดา. ตำนานอียิปต์โบราณ (ฉบับสมบูรณ์). (2548).  กรุงเทพฯ : พิมพ์คำ.

สมฤทธี บัวระมวล, บก.เรียบเรียง.  ตำนานอียิปต์โบราณ ยุครุ่งอรุณแห่งอารยธรรมโลก.  (2542).  กรุงเทพฯ : คุ้มคำ.
         

อ่านเพิ่มเติม »

โกโก้ : ประวัติศาสตร์ที่อัดแน่นอยู่เต็มฝัก!

โดย พิมชนก บุญแจ้ง

จากฝักสู่แก้วโปรด

เมื่อพูดถึงเครื่องดื่มแก้วโปรด โกโก้ร้อน โกโก้เย็น หรือโกโก้ปั่น ก็เป็นหนึ่งในคำตอบในดวงใจของใครหลายๆ คน ด้วยกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์กับรสชาติเข้มข้นติดปลายลิ้น ถ้าได้ดื่มโกโก้ร้อนในช่วงหน้าหนาวก็จะทำให้ร่างกายอบอุ่น หรือจะเป็นโกโก้เย็น โกโก้ปั่นในหน้าร้อน ก็ทำให้สดชื่นในครั้งแรกที่ยกดื่ม และเมื่อถามถึงขนมที่ทุกคนโปรดปราน ช็อกแลต ก็เป็นที่หนึ่งในดวงใจของใครหลายๆ คนเช่นกัน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นโกโก้หรือช็อกโกแลต ทั้งสองอย่างนี้ก็ล้วนทำมาจากเมล็ดของต้นคาเคา (Cacao) หรือต้นโกโก้นั่นเอง


เมล็ดโกโก้

ที่มาของแก้วโปรด

แต่หากพูดถึงต้นกำเนิดของโกโก้ ต้องย้อนไปถึงสมัยอเมริกาโบราณ ในพื้นที่ เมโสอเมริกา หรือ อเมริกากลาง นั้นมีอารยธรรมสำคัญที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 อารยธรรม ได้แก่ โอลเม็ก (Olmec) มายา (Maya) และแอซเท็ก (Aztec) โดยชนเผ่ามายานั้นเป็นชนกลุ่มแรกที่สร้างเครื่องดื่มรสเข้มข้นจากเมล็ดโกโก้ ซึ่งความน่าสนใจนั้นอยู่ที่พวกเขามีความเชื่อว่า

"โกโก้นั้นคือของขวัญจากพระเจ้า"

โกโก้เป็นพืชสกุล Theobroma มีถิ่นกำเนิดบริเวณ Upper Amazon Basin จากประเทศเม็กซิโก ถึงประเทศเปรูในปัจจุบัน ซึ่งเป็นบริเวณป่าฝนเขตร้อน (Tropical Rainforest) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Theobroma cacao L. (สัณห์ ละอองศรี, ออนไลน์) ซึ่ง Theobroma เป็นภาษากรีก หมายถึง Food of the Gods หรือ อาหารของพระเจ้านั่นเอง!

โกโก้เป็นพืชพื้นเมืองในเขตร้อนของทวีปอเมริกา ทุกวันนี้เรายังไม่รู้ว่าใครคือผู้เริ่มต้นปลูกโกโก้เป็นคนแรก แต่เท่าที่ทราบ คำว่าโกโก้เองมีรากศัพท์มาจากคำว่า กากาว ในภาษามายา และพอถึง 1100 ปีก่อนคริสตศักราช ชาวมายายุคแรกๆ ก็รู้จักนำโกโก้มาทำเป็นเครื่องดื่มกันแล้ว สูตรการปรุงช็อกโกแลตของชาวมายาเริ่มจากการตาก คั่ว และบดเมล็ดโกโก้ที่ผ่านการหมักมาแล้ว จากนั้นจึงนำผงที่ได้ไปผสมน้ำ ปรุงแต่งรสชาติด้วยอบเชย พริก และวนิลลา ก่อนจะรินใส่หม้ออีกใบสลับกันไปมาจนเกิดฟองขึ้นด้านบน ซึ่งถือเป็นส่วนที่เลิศรสที่สุด (เอ. อาร์. วิลเลียมส์, น. 114)

ต่อมาประมาณ ค.ศ. 1500 กองทัพสเปนได้ยกทัพมาบุกอเมริกากลางและเม็กซิโก และได้รู้จักประโยชน์ของโกโก้ พร้อมนำกลับไปยังสเปน และค้นพบว่าเมล็ดมีรสเลิศ และอร่อยกว่าเมล็ดพืชอื่น ซึ่งในช่วงแรกมีการใช้ผงเมล็ดมาชงน้ำ และดื่มแบบเย็น ๆ ซึ่งมีรสขม เป็นฟอง จึงยังไม่นิยมมากนัก ต่อมาปรับเปลี่ยนวิธีชงเป็นแบบร้อน ทำให้มีรสหวาน และมีกลิ่นหอมมากขึ้น หลังจากนั้น สเปนจึงเริ่มเพาะปลูกโกโก้จำนวนมากเป็นชาติแรกในยุโรป เพื่อแปรรูปเป็นเครื่องดื่มโกโก้ และวิวัฒนาการแปรรูปมาเป็นช็อกโกแลตที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน (puechkaset, ออนไลน์)


อักษรภาพภาษามายาเขียนว่าคาเคา แปลว่า โกโก้

ภาชนะสำหรับบรรจุและเสิร์ฟช็อกโกแลตของชาวมายาประดับลวดลายเป็นภาพกษัตริย์ ชนชั้นสูง รวมถึงเทพเจ้าขณะทรงดื่มเครื่องดื่มชนิดนี้ ส่วนสามัญชนอาจมีโอกาสได้ดื่มช็อกโกแลตในงานเลี้ยงฉลอง (เอ. อาร์. วิลเลียมส์, น. 114)


ศิลปะของชนเผ่ามายาแสดงภาพของกษัตริย์กับถ้วยโกโก้

นอกจากที่เมล็ดโกโก้จะถูกนำมาผลิตเป็นเครื่องดื่มของพระเจ้าแล้ว มันยังถูกใช้ประหนึ่ง “เงินตรา” เพื่อใช้เป็นหน่วยกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า เช่น อาหาร หรือเครื่องแต่งกายในวัฒนธรรมของชาวมายาและชาวแอซเท็กด้วยเช่นกัน (ณัฐพล เดชขจร, ออนไลน์)

ในช่วงที่ชาวสเปนบุกเข้ามาในอาณาจักรของชาวมายาโบราณช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 นั้น พวกเขาก็ได้ลิ้มรสเครื่องดื่มโกโก้ด้วย แต่แน่นอนว่าชาวสเปนไม่ชอบเครื่องดื่มรสขมเฝื่อนที่ปรุงรสและกลิ่นด้วยวัตถุดิบแสนประหลาดเหล่านี้เลย พวกเขาจึงได้ลองนำน้ำตาลอ้อยผสมลงไป พอรสชาติของโกโก้หวานขึ้น มันก็อร่อยขึ้นตามไปด้วย นอกจากนั้นแล้วชาวสเปนยังดื่มโกโก้แบบร้อนๆ ไม่เหมือนกับโกโก้ต้นฉบับของชาวมายาโบราณที่ดื่มกันแบบเย็นชืด นั่นจึงทำให้เครื่องดื่มโกโก้เริ่มมีรสชาติใกล้เคียงกับที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบันนับตั้งแต่นั้นมา (ณัฐพล เดชขจร, ออนไลน์)

ลิ้มรสแก้วโปรด

ปัจจุบันเมล็ดโกโก้ได้ถูกแปรรูปให้กลายเป็นทั้งโกโก้และช็อกโกแลต ซึ่งต่างกันที่กรรมวิธีในการผลิต โดยช็อกโกแลตนั้นทำมาจากเมล็ดโกโก้ที่ไม่ผ่านการแยกไขมันโกโก้ออกมา ทำให้มีปริมาณไขมันอยู่มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ส่วนโกโก้นั้นทำมาจากเมล็ดโกโก้ที่ผ่านการรีดไขมันออกจนหมด ทำให้มีปริมาณไขมันอยู่ 0 – 20 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยในเรื่องการบำรุงสมอง มีสารต้านอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยงโรคหัวใจ และช่วยลดอาการเครียดหรือเศร้าซึมได้ดี

ไม่น่าเชื่อว่าเครื่องดื่มและขนมในดวงใจของใครหลายๆ คนนั้นมีต้นกำเนิดมานานนับพันปี และยังเป็นส่วนสำคัญในวิถีชีวิตของชนเผ่ามายา เป็นเครื่องดื่มสำหรับกษัตริย์ ชนชั้นสูง และเทพเจ้า นอกจากนี้ยังมีค่ามากจนสามารถแลกกับสิ่งของต่างๆ ได้อีกด้วย แต่กว่าจะมาเป็นเครื่องดื่มรสขมติดปลายลิ้นจนถึงทุกวันนี้ ยุคแรกเริ่มของการดื่มโกโก้นั้นก็ได้มีการปรุงแต่งโดยการเพิ่มเครื่องเทศเข้าไปมากมาย และเพื่อที่จะได้เข้าถึงต้นตำรับแท้ๆ ลองเพิ่มอบเชย พริก และวนิลลา ลงในโกโก้แก้วโปรดของคุณเพื่อลิ้มรสชาติหรูเลิศที่เป็นต้นตำรับจากชาวมายา


อ้างอิง

ณัฐพล เดชขจร. (2560). ประวัติศาสตร์ฉบับย่อของ “ช็อกโกแลต”, ค้นเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2561, จาก: http://www.gypzyworld.com/article/view/428

สัณห์ ละอองศรี. (2558). Botanical characteristic of Cocoa ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของโกโก้, ค้นเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2561, จาก: https://www.cocoathailandcenter.com/15514952/botanical-characteristic-of-cocoa

เอ. อาร์. วิลเลียมส์. 2552. ปริศนาเร้นลับของอารยธรรมมายา. แปลจาก Mysteries of maya. แปลโดย คุณากร วาณิชย์วิรุฬห์. กรุงเทพฯ: เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก

Puechkaset. โกโก้ สรรพคุณ และการปลูกโกโก้, ค้นเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2561, จาก: https://puechkaset.com/โกโก้/
     

อ่านเพิ่มเติม »

กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติซาปาติสต้า (Zapatista)

โดย กฤษณะ ทรัพย์แสนพูน

ซาปาติสต้า (Zapatista) หรือ กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติซาปาติสต้า เป็นกลุ่มปฏิวัติติดอาวุธอันมีฐานที่มั่นอยู่ในรัฐเชียปัส ซึ่งเป็นรัฐที่จนที่สุดในประเทศเม็กซิโก ซึ่งตั้งแต่ปี 1994 เป็นต้นมา ขบวนการนี้ได้ประกาศสงครามกับรัฐบาลเม็กซิโก โดยที่ฐานสังคมของกองทัพส่วนใหญ่เป็นชนพื้นเมืองแต่มีผู้สนับสนุนอื่นอยู่บ้างในเขตเมืองและจากนานาชาติโดยผ่านเว็บ

กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติซาปาติสต้า เป็นการก่อการขึ้นของภาคประชาสังคมที่ปฏิเสธต่อระบบหลักของเม็กซิโกและระบบทุนนิยมในหลายนัยยะด้วยกัน ขบวนการซาปาติสตาเป็นการก่อการของคนอินเดียนที่ไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐทั้งในระบบการเมืองและระบบยุติธรรม เป็นการก่อการขึ้นในภาคชนบทและหัวเมืองในรัฐเชียร์ปัส ซึ่งเป็นที่ที่อยู่อาศัยของตน

ผู้นำขบวนการนี้คือรองผู้บัญชาการมาร์โกส (Marcos) ซึ่งรู้จักกันในอีกชื่อว่า (Delegate Zero) และเขาแตกต่างจากผู้บัญชาการซาปาติสตาคนอื่น ๆ ตรงที่รองผู้บัญชาการมาร์โกสไม่ใช่ชาวมายาพื้นเมือง กองทัพซาปาติสตานี้ได้ชื่อมาจากนายเอมีเลียโน ซาปาตา (Emiliano Zapata) นักปฏิรูปเกษตรกรรมและผู้บัญชาการของกองทัพปลดปล่อยชาวใต้แห่งชาติ (Liberation Army of the South) ในสมัยการปฏิวัติเม็กซิโก สมาชิกซาปาติสตามองว่าพวกตนเป็นทายาททางความคิดของซาปาตา และในหมู่บ้านซาปาติสตาจะมีภาพฝาผนังเป็นรูปของบุคคลสำคัญที่เป็นผู้จุดประกายอุดมการณ์ของกองทัพ เช่น ซาปาตา เช เกวารา และรองผู้บัญชาการมาร์โกส (Subcomandante Marcos)

กองทัพซาปาติสต้าได้หลุดออกจากระบบโครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจ รวมถึงทั้งการเมืองของรัฐบาลประเทศเม็กซิโกอย่างสิ้นเชิง อันเป็นการปกครองตนเองของชาวพื้นเมืองอย่างแท้จริง ซึ่งนั่นเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการไม่สามารถที่จะไปด้วยกันได้ของกระบวนการโลกทุนนิยมที่ในระดับรัฐ-ชาติ กำลังเร่งรัดต่อการสถาปนาข้อตกลงทางการค้าเสรีที่จะมีต่อกัน แต่ส่วนที่เป็นภายในของเม็กซิโกกลับถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลังจากรัฐและระบบที่ตนเองดำรงอยู่ และกำลังจะถูกทิ้งขว้างจากกติกาใหม่ระหว่างรัฐที่กำลังจะสถาปนาขึ้นระหว่างกันของระบบโลกอีก

จุดยืนของกลุ่มซาปาติสตาคือการต่อต้านโลกาภิวัตน์หรือปฏิโลกาภิวัตน์ (anti-globalization) และการต่อต้านทุนนิยมหรือเสรีนิยมใหม่ (anti-neoliberalism) ระบบเศรษฐกิจที่ได้รับการส่งเสริมโดยประธานาธิบดีเม็กซิกันหลายต่อหลายคนนับ จาก ค.ศ.1982 เป็นต้นมา ในขณะที่สำหรับการเมืองภายในกลุ่มชนพื้นเมืองของพวกเขา จุดยืนของซาปาติสตาคือการต่อสู้ให้ได้มาซึ่งอำนาจในการบริหารจัดการทรัพยากรของตนโดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิในที่ดินที่พวกเขาอาศัยอยู่


แผนที่แสดงรัฐเชียปัส ฐานที่มั่นของกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติซาปาติสตา

ข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ หรือ The North American Free Trade Agreement (NAFTA) นับเป็นตัวอย่างหนึ่งของนโยบายเสรีนิยมใหม่ การปฏิวัติซาปาติสตาเริ่มต้นขึ้นในปี 1994 พร้อม ๆ กันกับการผ่านข้อตกลงดังกล่าวเพราะกองกำลังซาปาติสตาเชื่อว่าสิ่งเหล่านั้นจะมาทำลายสิทธิของชุมชนพื้นเมืองต่างๆ ในเม็กซิโกให้ยากจนลง อุดมการณ์ของกลุ่มซาปาติสตาเป็นส่วนผสมของสังคมนิยมเสรี (libertarian socialism) การปกครองส่วนท้องถิ่นแบบเสรี (libertarian municipalism) มาร์กซิสต์เสรี (liberatian Marxism) และแนวคิดทางการเมืองแบบชนพื้นเมืองเผ่ามายา ซึ่งแท้จริงแล้วอุดมการณ์เหล่านี้ไม่ได้เชื่อมโยงกับอุดมการณ์การต่อสู้ดั้งเดิมของเอมีเลียโน ซาปาตา ในด้านการปฏิรูปสังคมเกษตรแต่อย่างใด

กองกำลังซาปาติสตาเพื่อการปลดปล่อยประชาชาติประกาศที่จะต่อสู้เพื่อความเป็นอิสระของชนพื้นเมืองในฐานะที่เป็นหนทางของการแก้ปัญหาอันหนึ่งยิ่งไปกว่านั้น รองผู้บัญชาการมากอสเชื่อว่าการต่อสู้นั้นเป็นไปเพื่อสิทธิและความเป็นอิสระต่าง ๆ ของผู้คนชาวมายันเช่นเดียวกับความโปร่งใสของรัฐบาลโดยทั่วๆ ไป ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการถกเถียงกันถึงเรื่องการอพยพที่ผิดกฎหมายในสหรัฐอเมริกา โดยการกระตุ้นและสนับสนุนพลเมืองเม็กซิกันให้หางานต่างๆ ทำได้ในประเทศของตนมากกว่าที่จะส่งออกแรงงานอันเนื่องมาจากการคอรัปชั่นของรัฐบาลและการรังควาญ

เหตุการณ์ที่สำคัญมากสุดบางอย่างในประวัติศาสตร์ของขบวนการซาปาติสตา เป็นวันที่ข้อตกลงนาฟตา (NAFTA) มีผลบังคับใช้เป้าหมายของกองทัพซาปาติสตาเพื่อการปลดปล่อยแห่งชาติไม่จำเป็นต้องเอาชนะรัฐบาลเม็กซิกัน แต่เพื่อเรียกร้องความสนใจจากโลกให้หันมามองเรื่องของการกระจายความมั่งคั่ง อันลักลั่นส่วนใหญ่ของเชียปา และเพื่อประท้วงการเซ็นสัญญาข้อตกลงนาฟตา ซึ่งกองกำลังซาปาติสตารู้สึกว่าได้ไปช่วยทำให้ช่องว่างระหว่างความรวยความจนถ่างกว้างมากยิ่งขึ้นในเชียปาส ขบวนการซาปาติสตาไม่ได้เรียกร้องความเป็นอิสระจากเม็กซิโก แต่ค่อนข้างต้องการที่จะปกครองตนเองมากกว่า โดยการเรียกร้องว่าทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกดึงเอาไปจากเชียปาส ต้องเป็นประโยชน์โดยตรงต่อผู้คนของเชียปาส ยกตัวอย่างเช่น กว่า 90 เปอร์เซนต์ของน้ำที่เหมาะสำหรับดื่มกินมาจากเชียปาส กระนั้นก็ตามชุมชนจำนวนมากในเชียปาสกลับต้องทนทุกข์ เพราะพวกเขาไม่สามารถเข้าถึงน้ำสะอาดได้ด้วยความอยุติธรรมเหล่านี้คือสิ่งที่กองกำลังซาปาติสตาต้องการที่จะกล่าวถึง

การปะทะกันด้วยอาวุธชั่วระยะเวลาสั้นๆ ในเชียปาส สิ้นสุดลงในวันที่ 12 มกราคม 1994 ด้วยการประกาศหยุดยิงฝ่ายเดียวโดยกองกำลังซาปาติสตา และก็ไม่เคยมีการเผชิญหน้ากันอย่างเต็มรูปแบบอีกเลยนับจากนั้นเป็นต้นมา รัฐบาลเม็กซิกันได้ดำเนินนโยบายสงครามแบบไม่รุนแรงแทนด้วยการใช้กองกำลังพลเรือน (para-military) เป็นกลุ่มๆ ในความพยายามที่จะควบคุมการกบฎ ขณะที่ซาปาติสตาได้พัฒนาการเคลื่อนไหวของตนและการรณรงค์ผ่านสื่อหนังสือพิมพ์ Comunicados อยู่ตลอด เกี่ยวกับคำประกาศฉบับที่หกจากป่าลาคานดอน (Six Declarations of the Lacandon Jungle) ว่าจะไม่มีปฏิบัติการทางทหารอีกต่อไปในฝ่ายของพวกเขา การปรากฏขึ้นมาของอินเตอร์เน็ตระหว่างประเทศอย่างกว้างขวาง ได้กระตุ้นการเป็นภาคีกับขบวนการเคลื่อนไหวของกลุ่มฝ่ายซ้ายระหว่างประเทศเป็นจำนวนมาก



การพบปะกัน ระหว่างทวีปเพื่อมนุษยชาติและต่อต้านลัทธิเสรีนิยมใหม่ หรือที่เรียกว่า The Intercontinental Encounters for Humanity and against Neoliberalism ถือเป็นการประชุมนานาชาติในเชียปาสซึ่งเป็นเจ้าภาพโดยขบวนการซาปาติสตาในปี 1994 ซึ่งยังผลให้เกิดขบวนการกลุ่มซาปาติสตาอื่น ๆ ขึ้นมานอกเม็กซิโก รวมไปถึงซาปาติสตาเอสเส็กส์ตะวันตกในลอนดอนตะวันออกด้วย (the West Essex Zapatista in East London) รัฐบาลได้มีการเจรจากับกองทัพซาปาติสตา และได้บรรลุข้อตกลงในบันทึกซาน แอนเดรส (1996) โดยยินยอมให้มีการปกครองตนเองและสิทธิพิเศษแก่ประชากรพื้นเมือง แต่อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดี Zedillo และพรรคปฏิวัติ (the Institutional Revolutionary Party) (PRI), กลับเพิกเฉยต่อข้อตกลงดังกล่าว และยังได้เพิ่มกองกำลังทหารเข้าไปในท้องที่ด้วย รัฐบาลใหม่โดยการนำของประธานาธิบดี Fox ในปี 2001 กองกำลังซาปาติสตาได้เดินแถวเข้าไปยังเมือง Mexico City เพื่อเสนอเรื่องราวกรณีของพวกเขาต่อรัฐสภาเม็กซิกัน ข้อตกลง Watered-down agreements ได้ถูกปฏิเสธโดยฝ่ายกบฏต่าง ๆ ซึ่งได้มีการสร้างเขตปกครองอิสระขึ้นมา 32 แห่งในเชียปาส, ด้วยเหตุดังนั้นบางส่วนของข้อตกลงจึงไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล แต่ก็ได้ทุนมาสนับสนุนจากองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ

ในเดือนกรกฎาคม ขบวนการซาปาติสตาได้นำเสนอประกาศฉบับที่หกของป่าลงคานดอน ในประกาศฉบับใหม่นี้ ซาปาติสตาเรียกร้องการรณรงค์ทางเลือกแห่งชาติ (หรือที่เรียกว่า "การรณรงค์บนเส้นทางอื่น" - the Other Campaign) ซึ่งตรงกันข้ามกันกับการรณรงค์ของประธานาธิบดีที่แพร่หลายและเป็นที่ยอมรับทั่วไป บรรดาซาปาติสตาทั้งหลายได้เชื้อเชิญองค์กรฝ่ายซ้ายแห่งชาติต่าง ๆ จำนวน 600 องค์กรมายังพื้นที่อันเป็นเขตแดนของพวกเขา ซึ่งมีทั้งกลุ่มคนพื้นเมืองและองค์กรเอกชนนอกภาครัฐต่าง ๆ (NGOs) เพื่อที่จะมาฟังแถลงการณ์ของพวกเขาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนซึ่งการประชุมได้สิ้นสุดลงในวันที่ 16 กันยายน อันเป็นวันที่เม็กซิโกมีการเฉลิมฉลองความเป็นอิสระจากสเปน ในการพบปะกันนี้ รองผู้บัญชาการมากอส เรียกร้ององค์กรต่าง ๆ เข้าร่วมกันเป็นภาคีอย่างเป็นทางการต่อประกาศฉบับที่หก (the Six Declaration), และรายละเอียดของการเดินทางเป็นเวลา 6 เดือนของซาปาติสตาไปยัง 31 รัฐของเม็กซิกัน ซึ่งได้เกิดขึ้นพร้อมๆ กันกับการรณรงค์เกี่ยวกับการเลือกตั้งที่เริ่มต้นขึ้นในเดือนมกราคม 2006



กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติซาปาติสต้าไม่มีทางเอาชนะรัฐบาลเม็กซิกันในการสู้รบ แต่ในแง่ของ "สงครามถ้อยคำ" หรือ "สงครามความคิด" แล้ว ซาปาติสต้าได้ชัยชนะอย่างท่วมท้นอาจเป็นเพราะพวกเขายึดหลักคำสอนของดอน อันโตเนียว หมอผีชาวเผ่ามายา ผู้เปรียบเสมือนพ่อบุญธรรมและอาจารย์ของรองผู้บัญชาการมาร์กอส ดอน อันโตเนียวฝากถ้อยคำไว้กับมาร์กอสว่า  "หากเจ้าไม่สามารถเลือกเหตุผลและกำลังได้พร้อมกันสองอย่าง จงเลือกเหตุผลก่อนเสมอ แล้วปล่อยให้ศัตรูเลือกกำลังไป ในบางสนามรบ พละกำลังเป็นสิ่งที่ทำให้ได้ชัยชนะก็จริง แต่เหตุผลต่างหากที่จะทำให้เราได้ชัยชนะในการต่อสู้โดยรวม คนที่มีพละกำลังไม่มีทางค้นหาเหตุผลจากความแข็งแกร่งของตนเอง ในขณะที่เราสามารถค้นพบความแข็งแกร่งจากเหตุผลได้เสมอ"

กลุ่มดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการต่อสู้ต่อรองกับสิทธิมนุษยชนที่มนุษย์แต่ละคนควรจะได้รับสิทธิในถิ่นที่ตนอาศัยอยู่ ถูกกีดกันไม่ให้ได้รับการเตรียมการขั้นพื้นฐานนี้ ไม่มีที่ดิน ไม่มีงาน ไม่มีหมอ ไม่มีอาหาร ไม่มีการศึกษา ไม่มีสิทธิที่จะเลือกตั้งผู้บริหารบ้านเมืองอย่างเสรีและตามหลักประชาธิปไตย ไร้อิสระเสรีจากการครอบงำของต่างชาติต้องอยู่อย่างปราศจากสันติภาพและความเป็นธรรม ทั้งแก่ตัวเราเองและลูกหลาน อธิปไตยของชาตินั้นโดยเนื้อหาและโดยดั้งเดิมแล้วอยู่กับประชาชน อำนาจทางการเมืองทั้งหลายเกิดขึ้นจากประชาชนและมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือประชาชนในทุกโอกาส ประชาชนมีสิทธิอันไม่อาจเพิกถอนได้ในการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงลักษณะของรัฐบาลของตนได้โดยต้องต่อสู้กับความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่เกิดขึ้นรวมทั้งวาทกรรมที่รัฐได้สร้างขึ้นเพื่อเปลี่ยนสิทธิที่พวกเขาจะได้รับให้เกิดประโยชน์แก่รัฐศูนย์กลาง

เนื่องจากซาปาติสตากลายเป็นสัญลักษณ์ระดับโลกของการต่อต้านขัดขืนรูปแบบใหม่ เราจึงมักลืมไปว่า สงครามในเชียปัสไม่เคยยุติลงจริงๆ มาร์กอสนั้น แม้จะปิดบังตัวตนที่แท้จริงแต่เขาก็แสดงบทบาทท้าทายอย่างเปิดเผยในการเมืองของเม็กซิโก โดยเฉพาะในช่วงการแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างดุเดือดเมื่อ ค.ศ.2006 แทนที่จะสนับสนุนผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสายซ้ายกลาง อันเดรส มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์ เขากลับนำขบวน "การรณรงค์ทางเลือกอื่น" คู่ขนานกับการเลือกตั้งแทน โดยเรียกร้องให้หันมาสนใจประเด็นปัญหาที่ผู้สมัครทั้งหลายละเลยนับตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นมา เกิดความรุนแรงขยายวงกว้างอย่างเห็นได้ชัดมีทั้งการข่มขู่โดยยิงปืนขึ้นฟ้า รุมทำร้ายทุบตีอย่างป่าเถื่อน และมีรายงานว่าครอบครัวชาวซาปาติสตาจำนวนมากถูกขู่ฆ่า ข่มขืนและหั่นเป็นชิ้นๆ อีกไม่นาน กองทหารในค่ายก็จะมีข้ออ้างให้เข้าไปฟื้นฟู "สันติภาพ"ระหว่างกลุ่มชาวพื้นเมืองที่ทะเลาะวิวาทกันเอง ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ซาปาติสตาพยายามสงบนิ่งต่อความรุนแรงและเปิดโปงการยั่วยุต่าง ๆ นานา แต่เพราะการเลือกไม่ยอมหนุนหลังโลเปซ โอบราดอร์ในการเลือกตั้งเมื่อ ค.ศ. 2006 ทำให้ขบวนการสร้างศัตรูที่ทรงอำนาจขึ้นมา

เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม ค.ศ. 1997 ครบรอบ 10 ปีพอดี ปฏิบัติการซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการต่อต้านซาปาติสตา กองกำลังกึ่งทหารกลุ่มหนึ่งเปิดฉากยิงใส่โบสถ์เล็กๆ ในหมู่บ้านอัคเตอัล สังหารชาวพื้นเมืองไปถึง 45 คน ในจำนวนนี้มีเด็กและวัยรุ่นเสียชีวิต 16 คน บางศพถูกสับด้วยมีดมาเชตี ตำรวจของมลรัฐได้ยินเสียงปืน แต่ไม่ทำอะไรเลย ในช่วงหลายสัปดาห์มานี้ หนังสือพิมพ์ในเม็กซิโกตีพิมพ์บทความจำนวนมากรำลึกถึงวาระครบรอบสิบปีของการสังหารหมู่ แต่ในรัฐเชียปัส ประชาชนจำนวนมากบอกว่า สถานการณ์ในวันนี้ให้ความรู้สึกคุ้นเคยอย่างน่าขนลุก ทั้งกองกำลังกึ่งทหาร ความตึงเครียดที่ทวีขึ้น ความเคลื่อนไหวลับๆ ล่อๆ ของกองทัพ การถูกโดดเดี่ยวอีกครั้งจากส่วนอื่น ๆ ของประเทศ พวกเขาส่งความวิงวอนขอร้องมาสู่ผู้คนที่เคยสนับสนุนพวกเขาในอดีต โปรดอย่ามองแต่อดีต โปรดมองไปข้างหน้าและช่วยป้องกันการสังหารหมู่อัคเตอัลครั้งใหม่ก่อนที่มันจะเกิดขึ้น

เหตุการณ์และกระบวนการของกลุ่มดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงขบวนการเคลื่อนไหวซาปาติสตานี้ว่าเป็น การปฏิวัติครั้งแรกในแบบโพสต์โมเดิร์น เนื่องจากซาปาติสตาเป็นกลุ่มปฏิวัติที่หลีกเลี่ยงการติดอาวุธมาตั้งแต่กองทัพรัฐบาลเม็กซิโกได้ปราบปรามการลุกฮือของพวกเขาด้วยกำลังในปี พ.ศ. 2537 กลุ่มซาปาติสตาหันมาใช้ยุทธศาสตร์การต่อสู้แบบใหม่อย่างทันควันโดยดึงดูดการสนับสนุนจากชาวเม็กซิโกและกลุ่มสังคมนิยม-อนาธิปไตย (socialist-anarchist) จากนานาชาติ โดยที่พวกเขาใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตในการกระจายข้อมูลข่าวสาร และการระดมแรงสนับสนุนจากกลุ่มเอ็นจีโอ (NGOs) และกลุ่มนักต่อสู้เพื่อสังคมต่างๆ การเคลื่อนไหวของกลุ่มซาปาติสตานี้ยังได้รับการโฆษณาประชาสัมพันธ์จากวงดนตรีเช่น Rage Against the Machine และ Leftöver Crack ผ่านเพลงของพวกเขา เช่น เพลง People of the Sun และยังหันมาใช้ความคิดที่เป็นภูมิปัญญาแทนการใช้กำลังเหมือนกองทัพอื่น ๆ เนื่องจากมีผู้นำอย่างมาร์กอส นักปฏิวัติผู้เชื่อมั่นในศักยภาพของประชาชนที่คิดเองได้ทำเองเป็น ผู้แสดงให้เห็นว่าทฤษฎีนั้นก่อรูปมาจากการปฏิบัติ สู้เพื่อเสรีภาพ ความยุติธรรม และประชาธิปไตย


อ้างอิง

ภัควดี วีระภาสพงษ์. (2550).  ซาปาติสต้า:การปฏิวัติของวันพรุ่งนี้. สืบค้นเมื่อ 25 กันยายน 2561, จาก:  http://oknation.nationtv.tv/blog/YPD/2007/05/08/entry-1

ภัควดี วีระภาสพงษ์. (2551). "ซาปาติสตา" บนเส้นด้าย : นาโอมี ไคลน์ รายงานจากซานคริสโตบัล สืบค้นเมื่อ 24 ธันวาคม 2561, จาก:  https://prachatai.com/journal/2008/01/15461

อภิวัฒน์ วิลาวดีไกร. (2547). ซาปาติสต้า กองทัพปลดปล่อยแห่งเม็กซิโก. กลุ่มเพื่อนประชาชน.
(2551). ขบวนการซาปาติสตากับการก่อการขึ้นของอำนาจประชาชน. สืบค้นเมื่อ 25 กันยายน 2561, จาก: http://oknation.nationtv.tv/blog/soontorn/2008/11/20/entry-1


อ่านเพิ่มเติม »

ไอซิส (Isis) เทพีผู้ยิ่งใหญ่

โดย กิตติยา เพียตุ

ชาวอียิปต์นับถือบูชาเทพเจ้าหลายองค์ (Polytheism) โดยเชื่อว่าธรรมชาติซึ่งบันดาลความผาสุก ความดีงาม หรือความหายนะให้แก่มนุษย์นั้น ล้วนแล้วแต่เป็นการกระทำของเทพเจ้าทั้งสิ้น แต่ละเมืองของอียิปต์จะมีเทพเจ้าประจำเมือง ชาวอียิปต์โบราณเชื่อว่าคนตายแล้วจะกลับคืนชีพมาใหม่เหมือนดวงอาทิตย์ที่หายลับขอบฟ้าในยามเย็น และกลับขึ้นมาใหม่ในวันรุ่งขึ้น ความเชื่อเรื่องเทพเจ้าจึงฝังลึกในวิถีชีวิตของชาวอียิปต์โบราณ โดยในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะ เทพีไอซิส ซึ่งเป็นเทพีที่ได้รับความนิยมนับถือมากองค์หนึ่ง
     

เทพีไอซิส

ลักษณะของเทวีไอซิสมีสัญลักษณ์แทนพระองค์ได้หลายแบบ โดยพระนางอาจเป็นมนุษย์ที่มีศีรษะเป็นวัว หรืออาจมีดวงจันทร์สวมอยู่บนศีรษะ บางครั้งก็จะสวมมงกุฎรูปดอกบัว นอกจากนี้จะมีหูเป็นข้าวโพด หรือถือขาแพะเอาไว้ในมือ ซึ่งแสดงถึงสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ แต่ถ้าเป็นลักษณะของรูปปั้น มักจะเป็นรูปของพระมารดากำลังให้นมเทพเจ้าฮอรัสอยู่ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงการคุ้มครองเด็กจากโรคภัยไข้เจ็บ ส่วนบนศีรษะก็จะมีเขาสองเขา และมีวงสุริยะอยู่ตรงกลาง

เทพีไอซิสเป็นธิดาของเทพรากับเทพีนุต (หรือ เทพีนัต) ซึ่งต้นกำเนิดของพระนางเริ่มมาจาก หลังจากที่เทพราได้อภิเษกกับเทพีนุตแล้วเทพราปรารถนายิ่งนักที่จะได้โอรสธิดา แต่เทพีนุตก็ไม่ทรงครรภ์เทพราทรงพิโรธ จึงได้สาปว่าเทพีนุตไม่มีวันที่จะตั้งครรภ์ได้เทพีนุตเสียใจเป็นอันมากจึงได้ไปปรึกษาเทพธอทแห่งความรอบรู้ ซึ่งหลงรักเทพีนุตตลอดมาเทพธอทจึงแลกเปลี่ยนว่าถ้าเทพีนุตมีโอรสธิดาให้เทพราได้ พระนางต้องมอบความรักให้แก่เทพธอทซึ่งเทพีนุตก็ได้ตอบตกลง จนในที่สุดเทพีนุตได้ให้กำเนิดโอรสธิดาทั้งหมด 5 พระองค์ ได้แก่ เทพโอซีริส เทพฮามาร์คิส เทพเซต เทพีไอซิส และเทพีเนฟธิส

เทพีไอซิสได้หลงรักเทพโอซิริส ซึ่งเป็นพี่น้องกันได้หลงรักกันตั้งแต่อยู่ครรภ์ของเทพีนุต เทพีไอซิสคิดอยากให้เทพโอซิริสได้ขึ้นครองบัลลังก์ไอยคุปต์จึงใช้สติปัญญาของพระนางลวงเทพรา จนเทพราหลงบอกพระนามจริงซึ่งผู้ใดรู้จะมีอิทธิฤทธิ์ยิ่งใหญ่ พระนางเลยมอบฤทธิ์ให้แก่เทพโอซิริส เทพราจึงสละบัลลังก์ให้แก่เทพโอซิริส เมื่อเทพโอซิริสขึ้นเป็นเทพราชาพระองค์จึงจัดอภิเษกสมรสกับเทพีไอซิสเป็นพระราชินี ในช่วงที่พระองค์ปกครองอยู่นั้น อียิปต์เจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก ทรงสอนให้ประชาชนเรียนรู้อารยธรรมและประดิษฐ์สิ่งของต่างๆ มากมาย
                               

เทพีไอซิสและเทพโอซิริส

เมื่อเทพเซตที่ถือว่าเป็นเทพแห่งความชั่วร้ายเห็นดังนี้จึงเกิดความอิจฉาริษยา จึงอยากจะขึ้นปกครองแทนโอซิริส จึงได้วางแผนฆ่าโอซิริส แล้วนำโลงไปลอยในแม่น้ำไนล์  ทำให้เทพีโอซิสเสียใจเป็นอย่างมาก และในขณะนั้นพระนางได้ตั้งครรภ์อยู่ด้วย โอรสของเทพีไอซิสคือเทพฮอรัส และด้วยความรักที่พระนางมีต่อเทพโอซิริส พระนางจึงได้ออกไปตามหาสามีทั่วแม่น้ำไนล์

ในที่สุดเทพีไอซิสก็พบพระศพของเทพโอซิริสแต่เทพเซตก็สามารถตามหาพระศพเจอเช่นกันเทพเซตจึงทำการฉีกศพเทพโอซิริสจนขาดวิ่นและโยนศพนั้นทิ้งไปทั่วไอยคุปต์ทำให้เทพีไอซิสต้องออกตามหาพระศพของเทพโอซิริสอีกครั้ง โชคร้ายกว่านั้นคือเทพเซตได้ส่งงูร้ายตามไปสังหารเทพฮอรัสที่ยังเป็นเพียงแค่ทารกจนตาย เพื่อที่จะได้ขจัดเสี้ยนหนามที่ขวางทางการขึ้นเป็นราชาให้หมดไป

เทพีไอซิสต้องการแก้แค้นเทพเซตจึงแปลงกายเป็นเทพีเนฟธิสเพื่อขอคำสาบานจากเทพเซตว่าจะไม่ทำร้ายโอรสของพระนางอีกจนกว่าโอรสของพระนางจะทำร้ายท่านซึ่งจะทำให้เทพโฮรัสสามารถฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้อีกครั้งอย่างสำเร็จและปลอดภัยจนกว่าจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ด้วยความที่เทพเซตคิดว่าเทพีเนฟธิสเป็นผู้พูดเทพเซตจึงตกปากรับคำสาบานนั้นไป ทันใดนั้นเองเทพีไอซิสแปลงกายกลับสู่ร่างเดิมทำให้เทพเซตโกรธแค้นเป็นอย่างมาก

หลังจากที่ติดตามหาชิ้นส่วนของเทพโอซิริสมาตลอดหลายปีเทพีไอซิสก็สามารถตามหาชิ้นส่วนได้จนครบ และนำชิ้นส่วนกลับมาประกอบพิธีศพได้อีกครั้ง โดยมีเทพอานูบิส เทพแห่งความตาย เป็นผู้ทำพิธีศพให้ โดยพิธีศพมีการพันผ้ารอบศพและลงน้ำยา จนก่อให้เกิดเป็นมัมมี่นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หลังจากประกอบพิธีศพแล้วเทพโอซิริสก็สามารถไปถึงดินแดนแห่งความตายได้ พระองค์ได้ขึ้นเป็นใหญ่ถึงขนาดเป็นราชาแห่งโลกของคนตาย

เมื่อฮอรัสเติบโตขึ้น ได้รับการฝึกเพลงอาวุธและเวทมนต์จากพระมารดาและเทพฮามาคิสต์ผู้เป็นลุง เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้ว ฮอรัสและฮามาคิสต์พร้อมเหล่านายทัพ ก็ยกไพร่พลมาชิงบัลลังก์คืน และล้างแค้นให้พระบิดา กองทัพของเซตปะทะกับกองทัพของฮอรัสที่เอ็ดฟู ริมแม่น้ำไนล์ และสงครามก็เริ่มขึ้น หลังจากต่อสู้ได้ไม่นานทหารของเซต ก็เริ่มล่าถอย ฮามาคิสต์ได้กลายร่างเป็นสฟิงส์ยักษ์ และตะปบเหล่าทหารศัตรูที่กำลังแตกพ่ายเอาไว้ได้ แต่เซตยังไม่ยอมแพ้ พระองค์โจนลงแม่น้ำไนล์ และได้แปลงร่างเป็นฮิปโปยักษ์เข้าเล่นงานฮอรัส  ฮอรัสกระโดดขึ้นหลังของมัน และเสกฉมวกเหล็กยาวสามสิบฟุตแทงลงไปยังศรีษะฮิปโป ทะลุผ่านสมอง ยังผลให้เทพเซตสิ้นพระชนม์ทันที ซึ่งเหตุการณ์นี้ทำให้ฮอรัสได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองเมืองอย่างสงบสุขในเวลาต่อมา


เซตต่อสู้กับฮอรัส
ที่มา http://www.komkid.com/

กล่าวได้ว่าเทพีไอซิสเป็นเทพีผู้เปี่ยมไปด้วยความรักที่มีต่อสามีและลูกของตน  ผู้คนต่างยกย่องตำนานรักของเทพีไอซิสและเทพโอซิริสว่าเป็นตำนานรักที่ยิ่งใหญ่ตำนานหนึ่ง จึงทำให้ผู้คนศรัทธาในตัวของพระนางเป็นอย่างมาก และในปัจจุบันชาวอียิปต์ก็ยังนับถือและศรัทธาเทพีไอซิสอยู่


อ้างอิง 

ตำนานศึกเทพเจ้าแห่งไอยคุปต์ สืบค้นเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2561, จาก http://www.komkid.com/ตำนาน/ศึกเทพเจ้าไอยคุปต์/

เทพีแห่งสันติภาพไอซิส (Isis). สืบค้นเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2561, จาก
http://phoebeistelling.blogspot.com/2017/02/isis.html#!/2017/02/isis.html

เทพเจ้าอียิปต์โบราณ รูปและตำนานเทพเจ้าแห่งอียิปต์. สืบค้นเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2561, จาก
http://www.oceansmile.com/Egypt/God.htm

Legend Isis เทวีไอซิส พระแม่แห่งอียิปต์. สืบค้นเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2561, จาก
http://legendtheworld.blogspot.com/2013/09/isis-goddess-of-fertility.html

อ่านเพิ่มเติม »

ชนเผ่าอินูอิต (Inuits) กับเรื่องที่คุณไม่เคยรู้

โดย กมลทิพย์  พิมพเนตร

บนโลกของเรานี้มีคนหลากหลายชนเผ่าอาศัยอยู่มากมายทั่วทุกมุมโลก กระทั่งดินแดนอาร์คติกที่มีอากาศหนาวเหน็บ ในดินแดนนี้ดวงอาทิตย์ไม่ได้ส่องแสงตลอดปี มีช่วงเวลายาวนานหลายเดือนที่ท้องฟ้ามืดมน มีลมพัดกรรโชก หิมะและแผ่นน้ำแข็งปกคลุมผืนดินและผืนน้ำ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีกลุ่มคนที่สามารถอาศัยอยู่ซึ่งก็คือชนเผ่าพื้นเมือง อินูอิต (Inuits) หรือที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันในชื่อ เอสกิโม (Eskimos) หลาย ๆ คนอาจจะคุ้นหูกับชื่อชนเผ่านี้ แต่มีน้อยคนที่จะทราบประวัติความเป็นมาและวิถีชีวิตของชาวอินูอิตจริง ๆ ว่าพวกเขาใช้ชีวิตกันอย่างไร นับถือศาสนาหรือมีความเชื่ออย่างไรบ้าง


ครอบครัวอินูอิตในยุคที่มีภาพถ่าย
ที่มา : https://sites.google.com/

คำว่า เอสกิโม มีความหมายว่า “คนที่กินเนื้อดิบ” ชาวอินูอิตไม่ชอบคำเรียกนี้เท่าไรนักเหมือนกับเป็นการเหยียดหยามกัน ซึ่งชื่อนี้ได้มาจากชาวพื้นเมืองอินเดียนแดงของอเมริกาที่ใช้เรียกพวกเขา แต่พวกเขากลับชอบให้เรียกว่า ชาวอินูอิต (Inuit) มากกว่า ชาวอินูอิตนั้นสืบเชื้อสายมาจากชนพื้นเมืองในเอเชียที่อพยพข้ามสะพานแผ่นดินเบอริ่ง (Bering land bridge) ที่เชื่อมระหว่างไซบีเรียและอลาสก้าของอเมริกา พวกเขาข้ามมาในยุคน้ำแข็งเมื่อประมาณ 13,000 ปีก่อน ทำให้บางคนมีหน้าตาคล้ายคลึงกันกับชาวเอเชีย และใช้ชีวิตสืบต่อเนื่องมาหลายต่อหลายรุ่นที่นี่ ทำให้สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้เป็นอย่างดี

ชาวอินูอิตมักตั้งถิ่นฐานโดยอยู่อาศัยรวมกันเป็นกลุ่ม ปัจจุบันชาวอินูอิตมีการสร้างบ้านเป็นหลังเหมือนกับบุคคลทั่วไปและอาศัยอยู่ร่วมกันกับคนในเมือง ซึ่งในกรีนแลนด์จะนิยมสร้างบ้านจากหินและไม้ ซึ่งมีความคงทนแข็งแรง ในอลาสก้าบริเวณชายฝั่งอ่าวไซบีเรียนจะสร้างบ้านด้วยไม้ ในอดีตชาวอินูอิตอาศัยในกระท่อมที่ทำจากน้ำแข็งหรือที่เรียกว่า อิกลู (Igloo)

การก่อสร้างอิกลูทำโดยการนำน้ำแข็งที่ถูกตัดเป็นก้อนสี่เหลี่ยมให้มีขนาดที่เหมาะสมแล้วนำไปวางซ้อนกันเป็นชั้น ๆ เมื่อสร้างเสร็จแล้วจะมีลักษณะคล้ายโดม โดยเจาะทางเข้าไว้ที่ระดับต่ำเพื่อป้องกันลมหนาวจากภายนอกพัดเข้ามาด้านใน ภายในจะมีหนังสัตว์ขึงไว้ที่ผนังเพื่อใช้เป็นฉนวนสำหรับกักเก็บความร้อนที่เกิดจากการจุดตะเกียงหรือความร้อนจากร่างกายมนุษย์

ชาวอินูอิตจะใช้กระท่อมอิกลูเป็นที่พักชั่วคราวในทุ่งหิมะ ขณะออกล่าสัตว์ ในฤดูหนาวพวกเขามักรวมตัวอยู่กันเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ส่วนในฤดูร้อนก็จะรวมตัวกันน้อยลงหรือแยกกันอยู่เป็นครอบครัว ชาวอินูอิตจะไม่อยู่อาศัยเป็นหมู่บ้านที่เป็นที่พักอาศัยถาวร แต่จะอาศัยอยู่ในเต้นท์หนังสัตว์ในบริเวณที่สามารถตกปลา ล่าสัตว์ เก็บพืชได้มากที่สุด เพื่อสะสมอาหารไว้รับประทานในฤดูหนาว
     

ชาวอินูอิตอาศัยอยู่ในกระท่อมน้ำแข็งอิกลู

อาชีพหลักของชาวอินูอิต คือ การทำประมงจับปลาและส่งออก และอาชีพโดยทั่วไปอีกอย่าง คือ ล่าสัตว์ซึ่งทำกันมาตั้งแต่ในอดีต เนื่องจากบริเวณที่ชาวอินูอิตอาศัยอยู่ ใกล้ขั้วโลกเหนือ อากาศจึงหนาวเย็นมาก ทำให้มีพืชพันธุ์น้อย เพื่อการดำรงชีวิตให้อยู่รอดจึงต้องอาศัยการล่าสัตว์มากกว่า พวกเขามักประกอบอาหารด้วยปลาชนิดต่าง ๆ และบริโภคสัตว์ทุกชนิดทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำที่สามารถจับได้ที่นี่ เช่น นก ไข่นก เรนเดียร์ หมีขั้วโลก วัวมัสก์อ็อกซ์ สิงโตทะเล วอลรัส แมวน้ำ ไปจนถึงปลาวาฬ

พวกเขามักบริโภคอาหารเหล่านี้แบบแช่แข็ง ดิบ หรือต้ม โดยจะใส่เครื่องเทศน้อยมาก เก็บรักษาอาหารโดยการหมักดองไว้ในดินหรือน้ำแข็ง เนื่องจากเป็นดินแดนที่หนาวมากจึงไม่ต้องใช้ตู้เย็นในการเก็บรักษาอาหารเพียงแค่ใส่ไว้ในน้ำแข็งก็ทำให้อาหารเน่าเปื่อยช้าลงแล้ว และยังนำเนื้อปลามาตากแห้ง นอกจากเนื้อสัตว์แล้วพืชผักที่ชาวอินูอิตมักบริโภค ได้แก่ เบอร์รี่ (โครว์แบร์รี่และเคลาด์แบร์รี่) หญ้า หัวมันต่าง ๆ และสาหร่าย


 สภาพที่อยู่อาศัยปัจจุบันของชาวอินูอิตในกรีนแลนด์
ที่มา : https://www.imagekind.com/

ชาวอินูอิตเป็นชนเผ่าที่มีชีวิตสงบสุข ดำรงชีพด้วยการล่าอาหาร พวกเขาสวมใส่เสื้อผ้าที่ทำมาจากหนังและขนสัตว์ที่ได้จากการล่าซึ่งให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายอย่างมาก และยังใช้ไขมันวาฬทาตัวเพื่อรักษาความอบอุ่นของร่างกาย โดยทั่วไปแล้วชาวอินูอิตจะไม่อาบน้ำกันเพราะในสภาพแวดล้อมที่หนาวเย็นแบบนั้น ความจำเป็นต้องรักษาความร้อนของร่างกายเป็นเรื่องสิ่งสำคัญ ดังนั้นการอาบน้ำจึงไม่จำเป็น และในสภาพเช่นนี้แบคทีเรียไม่ค่อยมีการเจริญเติบโตมากนัก

แต่ในปัจจุบันนี้พวกเขาอยู่ในบ้านที่สร้างความอบอุ่นได้ จึงอาบน้ำบ่อยขึ้นและออกไปล่าวาฬน้อยลง และในบางพื้นที่มีการออกกฎหมายควบคุมการล่าสัตว์ ชาวอินูอิตยังสามารถออกล่าสัตว์แต่ทำได้ในจำนวนที่น้อยลง การสวมใส่เสื้อผ้าจากขนสัตว์จึงพบเห็นน้อยลงด้วย หรืออาจจะสวมใส่เพียงในพิธีสำคัญ เช่น การแต่งงาน  เป็นต้น

ภูมิปัญญาที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาวอินูอิต ได้แก่ การประดิษฐ์เรือแคนูจากหนังแมวน้ำเพื่อใช้ในการล่าสัตว์ในน้ำ การใช้ไขมันของปลาวาฬ วอลรัส และแมวน้ำให้เชื้อเพลิง การประดิษฐ์เลื่อนลากและกระโจมจากหนังกวางกับกระดูกวาฬ โดยใช้สุนัขเป็นจำนวนมากลากเลื่อนเป็นพาหนะที่นิยมใช้กัน ซึ่งสิ่งที่ยังคงพบเห็นได้ทั่วไปในปัจจุบันตามบ้านเรือนของชาวอินูอิต คือการลากเลื่อนโดยสุนัข       

และนอกจากนี้ชาวอินูอิตยังมีความเชื่อเรื่องหลังความตาย ในอดีตพวกเขาไม่มีการจัดงานศพ มีเพียงพิธีกรรมหนึ่งโดยพิธีที่ว่าคือการนำคนเฒ่าคนแก่ของชนเผ่าไปปล่อยทิ้งไว้บนภูเขาน้ำแข็ง แล้วปล่อยให้พวกเขาเหล่านั้นเผชิญกับอากาศที่หนาวเย็น ไม่มีน้ำและอาหาร พวกเขาอาจถูกแช่แข็งและอดอาหารจนตายในที่สุด ซึ่งชาวอินูอิตนั้นมีความเชื่อว่ามันเป็นการสร้างความสบายใจให้กับคนแก่ที่ไม่อยากเป็นภาระของครอบครัว เชื่อกันว่ามันเป็นการทำเพื่อคนที่รักเพื่อให้พวกเขาได้เดินทางไปในที่ดีๆ ดังนั้น ลูกหลานทุกคนจึงส่งพวกเขาสู่ความตายอย่างสง่างาม แต่ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปชาวอินูอิตจึงเปลี่ยนพิธีกรรมนั้นมาเป็นการฝังศพตามความเชื่อทางศาสนา เนื่องจากคนส่วนมากได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์

ปัจจุบันนี้ชาวอินูอิตส่วนมากอาศัยอยู่บริเวณไซบีเรีย และทางตอนเหนือของทวีปอเมริกา ได้แก่ อลาสก้า แคนาดา และกรีนแลนด์ที่เป็นเกาะขนาดใหญ่ที่สุดของโลกที่อยู่ใกล้กับขั้วโลกเหนือมากที่สุด ในบริเวณเหล่านี้มีผู้อาศัยอยู่น้อยมากเมื่อเทียบกับขนาดของพื้นที่ทั้งหมด เช่น กรีนแลนด์ที่ทั้งประเทศมีประชากรเพียง 56,186 คน จากการสำรวจเมื่อปี 2016 โดยประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวอินูอิต และชาวเดนมาร์กเพียง 13% และกระจายเป็นกลุ่มในแคนาดาราว 1 แสนคน

ชาวอินูอิตในปัจจุบันมีการใช้ชีวิตปกติร่วมกับคนในเมืองและคนชาติอื่นๆ มีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างมาก แต่ยังคงความเป็นอินูอิตไว้ เช่น การออกล่าปลาวาฬในบางโอกาศ การรับประทานเนื้อแมวน้ำ และการใช้สุนัขลากเลื่อนเป็นยานพาหนะหลัก มีการรักษาและสืบทอดวัฒนธรรมดังเดิม สามารถพบเห็นสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ได้ในบ้านเรือนทั่วไปของชาวอินูอิตหรือพิพิธภัณฑ์ที่เก็บรวมรวบประวัติศาสตร์


อ้างอิง

ชนิษา  สิงห์นวล.  (2561).  พิธีศพของ ชาวเอสกิโม.  สืบค้นเมื่อ 23 กันยายน 2561, จาก:
https://prapayneeplaek.blogspot.com

My Tangmo.  (2555). ชาวเอสกิโม.  สืบค้นเมื่อ 23 กันยายน 2561, จาก: http://toey-satjapot.blogspot.com

Oporshady.  (2557).  กรีนแลนด์ เกาะใหญ่ ณ แดนเหนือสุดขั้วโลก.  ค้นเมื่อ 23 กันยายน 2561, จาก:
https://travel.mthai.com/world-travel

Puma.  (2557).  แดนเถื่อนอาร์คติก (Arctic wilderness).  สืบค้นเมื่อ 23 กันยายน 2561, จาก:
www.komkid.com/แดนเถื่อนอาร์คติกarctic-wilderness

วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล.  (2561).  เถื่อน Travel Season 2 ตอน Arctic ขั้วโลกเหนือสองฤดู. 
สืบค้นเมื่อ 23 กันยายน 2561, จาก: https://www.youtube.com/watch?v=4rPgoL052BA
อ่านเพิ่มเติม »

วินาศกรรมช็อกโลก! ตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ (World Trade Center)

โดย ชัญญานุช รู้บุญ

ตึกแฝดที่สูงเฉียดฟ้ากลายเป็นสัญลักษณ์ของประเทศที่ทั่วโลกต่างขนานนามเรียกว่าประเทศมหาอำนาจ ตึกที่มีทั้งความสวยงาม ความทันสมัย และความโดดเด่นเพราะมีการออกแบบที่ไม่เหมือนใคร แต่แล้วตึกที่เรียกได้ว่าเป็นดั่งสัญลักษณ์ของประเทศสหรัฐอเมริกา มาบัดนี้ได้หายไปในชั่วพริบตาเหลือไว้แต่เพียงร่องรอยความโศกเศร้าเสียใจเมื่อนึกย้อนกลับไปถึงวันที่ตึกถล่มและไฟลุกไหม้คร่าชีวิตผู้คนไปหลายพันคน จากสิ่งที่เคยยิ่งใหญ่กลายเป็นเพียงแค่ซากปรักหักพัง อันเป็นสิ่งที่ผู้คนทั่วโลกและสหรัฐอเมริกาไม่เคยลืมเลือน

ตึกเวิลด์เทรด เซ็นเตอร์ (World Trade Center) เป็นตึกที่มีความสูง 530 เมตร และ 431 เมตร มีกลุ่มอาคารรวมกันอยู่ทั้งหมด 7 อาคาร กลางมหานครนิวยอร์ก เริ่มต้นก่อสร้างอาคารครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1966 ก่อนที่ตึกแรกจะแล้วเสร็จในปี ค.ศ. 1970 และตึกที่ 2 เสร็จในปี ค.ศ. 1972 มีพิธีการเปิดตึกอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 4 เมษายน ค.ศ. 1973 ตึกเวิลด์เทรดแห่งนี้ได้รับการออกแบบโดยสถาปนิกลูกครึ่งอเมริกัน-ญี่ปุ่น นามว่า มิโนรุ ยามาซากิ ร่วมกับบริษัท เอเมอร์รี่ รอทแอนด์ซันส์ ซึ่งตัวตึกนี้สร้างขึ้นจาก เหล็กกล้าและอะลูมิเนียม                               


ภาพ ตึกเวิลด์เทรด 

วันที่ 11 กันยายน 2544 กลายเป็นวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญของโลกและเป็นเหตุการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดที่เกิดขึ้นในอเมริกาเมื่อเครื่องบินโดยสารได้พุ่งเข้าชนตึกแฝดเวิลด์เทรดโดยพุ่งเข้าชนที่ตึกเวิลด์เทรดเหนือก่อน หลังจากนั้นจึงพุ่งเข้าชนตึกเวิลด์เทรดใต้ ก่อนที่อาคาร 110 ชั้นจะถล่มและเกิดไฟลุกไหม้จนไม่เหลือเค้าโครงของอาคารเดิมอยู่เลย

โดยเหตุการณ์นี้เริ่มขึ้นเมื่อเช้าวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2544 มีกลุ่มโจรจี้เครื่องบินจำนวน 19 คนยึดเครื่องบินพาณิชย์สี่เครื่องระหว่างทางไปซานฟรานซิสโกและลอสแอนเจลิสหลังนำเครื่องขึ้นจากบอสตัน เนวาร์ค และวอชิงตัน ดี.ซี. กลุ่มโจรเหล่านี้เจตนาเลือกจี้เครื่องบินที่ต้องบินเป็นระยะทางไกลเพราะมีน้ำมันอยู่มาก

โดยเมื่อเวลา 8.46 น. โจรจี้เครื่องบินห้าคนนำเที่ยวบินอเมริกันแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 11 พุ่งเข้าชนกับตึกเหนือของเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ และเมื่อเวลา 9.03 น. โจรอีกห้าคนได้นำเที่ยวบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 175 พุ่งเข้าชนตึกใต้ จากนั้นคนร้ายห้าคนนำเที่ยวบินอเมริกันแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 77 พุ่งเข้าชนอาคารเพนตากอนเมื่อเวลา 9.37 น.
   
ส่วนเที่ยวบินที่สี่ ภายใต้การควบคุมของคนร้ายสี่คน ชนยูไนเต็ดแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 93 ใกล้กับแชงค์วิลล์ รัฐเพนซิลเวเนีย เมื่อเวลา 10.03 น. หลังผู้โดยสารสู้กับคนร้าย เป้าหมายแท้จริงของเที่ยวบิน 93 นั้นเชื่อกันว่าน่าจะเป็นอาคารรัฐสภาหรือไม่ก็ทำเนียบขาว จากวินาศกรรมครั้งนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 2,996 คน ประกอบด้วยโจรจี้เครื่องบิน 19 คน และเหยื่อ 2,977 คน
 

ภาพ ตึกเวิลด์เทรดและอาคารเพนตากอนหลังจากถูกเครื่องบินพุ่งชน 

เหตุการณ์ในครั้งนี้อเมริกาได้พุ่งเป้าสงสัยไปที่กลุ่มผู้ก่อการร้ายอัลกออิดะฮ์อย่างรวดเร็ว โดยมีบิน ลาเดน เป็นผู้นำกลุ่ม ซึ่งได้ปฏิเสธความเกี่ยวข้องในตอนแรก แต่ต่อมาในภายหลังบิน ลาเดน ก็ได้ยอมรับและบอกถึงชนวนในการก่อเหตุครั้งนี้เนื่องมาจากความโกรธแค้นอเมริกาจากการที่อเมริกาสนับสนุนอิสราเอล การคงทหารสหรัฐประจำการไว้ในซาอุดิอาระเบีย และการลงโทษต่ออิรัก


ภาพ นายโอซามา บิน ลาเดน 

ส่วนสาเหตุที่กลุ่มผู้ก่อการร้ายเจาะจงถล่มตึกเวิลด์เทรดและตึกเพนตากอนนั้นสืบเนื่องมาจากตึกเวิลด์เทรดนับว่าเป็นสัญลักษณ์ทุนนิยมของอเมริกาที่รวมความมั่งคั่งทางธุรกิจการเงิน การค้าข้ามชาติ แต่ความมั่งคั่งนี้เบื้องหลังคือการเอาเปรียบประเทศอื่นของอเมริกา ดังนั้นการทำลายตึกเวิลด์เทรดที่เปรียบเสมือนตัวแทนของอเมริกาก็เหมือนกับทำลายอเมริกาไปด้วยเช่นกัน

ส่วนการขับเครื่องบินชนตึกเพนตากอนนั้น ผู้ก่อการร้ายต้องการทำให้อเมริกาขาดความน่าเชื่อถือซึ่งก็ได้ผลเมื่อนานาประเทศส่วนใหญ่มองว่าอเมริกาหละหลวมเรื่องการรักษาความปลอดภัยไม่อาจพึ่งพาได้อีกต่อไป ขนาดว่าสถานที่สำคัญลับสุดยอดอย่างตึกเพนตากอนอเมริกายังรักษาป้องกันไว้ไม่ได้

หลังจากเกิดเหตุการณ์ถล่มตึกเวิลด์เทรด สหรัฐอเมริกาจึงดำเนินมาตรการตอบโต้เหตุวินาศกรรมนี้โดยทันทีด้วยการเริ่มสงครามต่อต้านการก่อการร้าย การรุกรานอัฟกานิสถานเพื่อขับรัฐบาลตอลิบัน ซึ่งให้ที่พักพิงแก่สมาชิกอัลกออิดะห์ ซึ่งเป็นกลุ่มของบิน ลาเดน

ในด้านผลกระทบจากเหตุการณ์ตึกถล่มในครั้งนี้ได้ส่งผลอย่างกว้างขวางและรุนแรงต่อสหรัฐอเมริกา หลายประการด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการเมืองภายในประเทศจะเห็นถึงความร่วมมือร่วมใจเป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกันของทุกองค์กร ส่วนทางด้านการเมืองระหว่างประเทศ เนื่องจากสหรัฐฯ ต้องการความสนับสนุนของประเทศต่าง ๆ ในการตอบโต้เครือข่ายก่อการร้ายสากล จึงมีการประกาศให้ประเทศต่าง ๆ เลือกว่าจะสนับสนุนการปราบปรามการก่อการร้ายหรือเป็นศัตรูกับสหรัฐฯ พร้อมทั้งให้ผลประโยชน์ตอบแทนที่เป็นรูปธรรมแก่ประเทศที่ให้การสนับสนุนในทันที

ต่อมาทางด้านเศรษฐกิจ คาดว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐฯ ชะลอตัวซึ่งจะกระทบต่อประเทศที่เป็นระบบเศรษฐกิจพึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศและการส่งออกไปยังสหรัฐฯ เป็นต้น

ดังนั้นเหตุการณ์ในครั้งนี้จึงนับว่าเป็นเหตุการณ์ที่มีความสำคัญต่อทั่วโลกเพราะนานาประเทศล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องหลังจากที่เกิดเหตุการณ์นี้ ทั้งในด้านที่ให้ความช่วยเหลือและได้รับความเดือดร้อน แต่ทว่าการโจมตีอันโหดร้ายในครั้งนี้อาจจะไม่เกิดขึ้น ถ้าหากสหรัฐอเมริกาไม่เป็นฝ่ายเริ่มในการไปบุกรุกหรือขยายอำนาจในพื้นที่ของประเทศอื่นก่อน ฉะนั้นการก่อการร้ายในครั้งนี้จึงอาจจะไม่มีฝ่ายใดถูกหรือผิดเพราะทั้งสองฝ่ายต่างก็ไปรุกล้ำทำลายประเทศอื่นเหมือนกัน สิ่งนี้จึงเป็นเหมือนบ่อเกิดสงครามระหว่างประเทศอย่างไม่รู้จบไม่รู้สิ้นอยู่เรื่อยมา
                   

อ้างอิง

โจอี้ เและ ทอมมี่. (2544). ย้อนตำนานอาหรับ-ยิวที่มาของเหตุการณ์ช็อกโลก .ใน ถล่มอเมริกา , (น 125). (ม.ป.ท.) : สำนักพิมพ์สันทราย

มณีรัตน์ รูปประดิษฐ์.(2555).ผลกระทบจากการก่อการร้าย สหรัฐอเมริกา, สืบค้นเมื่อ 27 กันยายน 2561.จาก: https://www.gotoknow.org/posts/140323

อุทัย เลิกสันเทียะ. (2560). รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ฯ, สืบค้นเมื่อ 27 กันยายน 2561.จาก: http://www.tnews.co.th/contents/356912

admin. (2560). ประวัติของ ตึกเวอร์เทส เวอร์เทส เซ็นเตอ, สืบค้นเมื่อ 27 กันยายน 2561. จาก: http://www.kenchiku-interior-shikakunavi.com/ประวัติของ-ตึกเวอร์เทส-เซ็นเตอ

อ่านเพิ่มเติม »

อาณาจักรเกาหลีโบราณ โกโชซอน

ไม่ระบุชื่อ | 12:12 | | Be the first to comment!
โดย อัจฉรา แสนทีสุข

ภาพยนตร์ชุดที่บันทึกเรื่องราวประวัติศาสตร์ของประเทศเกาหลีนั้นเป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก โดยเผยแพร่วัฒนธรรมต่างๆ ผ่านทางเนื้อเรื่องเพื่อให้ผู้ชมได้เข้าถึงเรื่องราวประวัติศาสตร์ผ่านทางจอภาพ เป็นที่น่าสนใจว่าหากเรารู้เรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในยุคนั้นๆ อาณาจักรนั้นๆ จะทำให้เราเข้าใจเนื้อหาเรื่องราวของภาพยนตร์เหล่านั้นได้ดียิ่งขึ้นหรือไม่ จะดียิ่งถ้าได้ถ่ายทอดเรื่องราวของเกาหลีโบราณสักเรื่อง และหวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้เข้าชมบทความนี้ โดยเรื่องราวที่เล่าผ่านบทความนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับอาณาจักรเกาหลีโบราณ โกโชซอน



“โกโซซอน” เป็นคำที่ใช้เรียกกันในปัจจุบัน หมายถึงอาณาจักรเกาหลีโบราณซึ่งเมื่อครั้งอดีตตามการเรียกขานของทันกุน (ตำนานผู้สร้างอาณาจักรโชซอนโบราณ) และในบันทึกได้รู้จักกันในนามของ “โชซอน” และชาวเกาหลีโบราณมีความเชื่อในตำนานเทพเจ้าว่าเทพสูงสุด คือ ยุลเรียล เป็นผู้ให้กำเนิดเทวีมาโกะ เทวีมาโกะก็ได้ให้กำเนิดเทวีอีก 2 องค์ คือ กุงวี และโชวี และทั้งสององค์ก็ได้ให้กำเนิดเทวดาหญิงชายหนึ่งคู่ เป็นต้นกำเนิดเหล่าเทวดาต่างๆ ให้กำเนิดขึ้นสืบต่อโดยอาศัยอยู่ในเขตคามสวรรค์ที่เรียกว่า มาโกซุง ต่อมานั้น ยุลเรียลได้ทรงสร้างแผ่นดินและมหาสมุทร โดยประกอบขึ้นจากธาตุทั้ง 5 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ และอากาศ (ธาตุทั้ง 5 นี้ปรากฏอยู่บนธงชาติของเกาหลีใต้ ล้อมรอบสัญลักษณ์ ยิน หยาง อันหมายถึงสิ่งแทนสวรรค์และโลกหรือแผ่นดิน) ธาตุทั้ง 5 นี้ก็คือบ่อเกิดที่ทำให้เกิดสรรพสิ่งรวมถึงสิ่งมีชีวิตทั้งหมดขึ้นบนโลกขยายเผ่าพันธุ์สืบต่อมา


ที่มา : https://m.terms.naver.com/

ตำนานการสร้างประเทศเกาหลีในยุคเริ่มแรกชื่อว่า โชซอน แต่ในประวัติศาสตร์ราชวงศ์สุดท้ายก่อนที่ประเทศเกาหลีจะเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ก็ได้เรียกขานว่า โชซอนเช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงมีการเรียกอาณาจักรเกาหลีเริ่มแรกว่าโกโชซอน ซึ่ง “โก” นั้นแปลว่าโบราณหรือเก่า ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วจึงแปลว่าโซชอนโบราณ

ยุคสมัยของโกโชซอนนี้อยู่ในช่วงของยุคสำริดและก้าวสู่ยุคเหล็กตอนปลาย มีการอ้างอิงจากการค้นพบเครื่องมือเครื่องใช้ของชาวโกโชซอน โดยสมัยโกโชซอนนั้นเริ่มตั้งแต่ 2333 ไปจนถึง 108 ปีก่อนคริสตศักราช

กลุ่มคนที่หลั่งไหลเข้ามาจากจีนนั้น มีการสร้างอาณาจักรโชซอนโบราณ ที่ผสมผสานทางชาติพันธุ์กับพวกชนเผ่าพื้นเมืองทั้งเหนือและใต้เดิม โดยที่มีการนำศิลปะวิทยาการและเทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงความเป็นอยู่ของชนพื้นเมืองเดิม จากที่เคยอยู่อาศัยในถ้ำ ก็เปลี่ยนแปลงเป็นการสร้างบ้านเรือนด้วยไม้และระบบปล่องไฟในฤดูหนาว การเกษตรกรรมทำไร่ทำนา การเลี้ยงตัวไหม การทอผ้า การถลุงเหล็ก และประเพณีการฝังศพแบบเนินดินหรือการทำฮวงซุ้ยแบบเดียวกันกับประเพณีของชาวจีน

อีกทั้งอาณาจักรโกโชซอนมีการจัดระบบการปกครองและสร้างระบบกฎหมายขึ้นเป็นครั้งแรก ๆ ในระหว่างความรุ่งเรืองอันยาวนานกว่า 900 ปี

การตั้งถิ่นฐานนับเป็นอาณาจักรแห่งแรกที่ตั้งอยู่ตอนใต้ของแมนจูเรียและอยู่ทางตอนเหนือของคาบสมุทรเกาหลี ชาวโกโชซอนอยู่กันเป็นชุมชนซึ่งมีการเกษตรกรรมและเพราะปลูกเพื่อยังชีพ บันทึกของจีนได้กล่าวว่าโกโชซอนเป็น นักรบคนเถื่อนแห่งตะวันออก ซึ่งสมัยราชวงศ์โจว โกโชซอนอยู่ใกล้กับแมนจูเรียมีพื้นที่ติดต่อกันจึงถูกเรียกรวมไปกับคนเถื่อนนอกที่ราบภาคกลางของจีน

ในบันทึกของแคว้นฉีราชวงศ์โจวมีการติดต่อสัมพันธ์กันระหว่างแคว้นฉีและโกโชซอน และเมื่อเกิดสงครามระหว่างรัฐช่วงปลายราชวงศ์โจวก็ได้มีการอพยพเข้ามาในโกโชซอนเป็นจำนวนมาก



บันทึกประวัติศาสตร์อีกเล่มคือ ฮวานดาน โกกี เป็นบันทึกของเกาหลี มีเรื่องราวที่แตกต่างกันออกไปคือในประวัติศาสตร์ผู้สืบบัลลังก์ต่อจากยุคสมัยของทันกุน วังกอม เป็นโอรสของทันกุน วังกอม ชื่อว่าดันกุน ปูรู ในปี 2240 ก่อนคริสตศักราช  โดยที่ว่ากันก่อนที่ดันกุน ปูรูจะสืบทอดบัลลังก์นั้นพระบิดาได้ส่งไปเมืองจีนและได้พบกับเซี่ยหยู ซึ่งดันกุน ปูรูได้บอกวิธีการสร้างฝายทดน้ำให้แก่เซี่ยหยูเพื่อแก้ปัญหาให้แก่ประชาชนจนเซี่ยหยูได้เป็นกษัตริย์ต้นราชวงเซี่ย บันทึกนี้กล่าวไว้อีกว่ามีกษัตริย์อีก 45 พระองค์ที่ได้ครองราชย์สืบต่อกันตั้งแต่ 2333 ปีก่อนคริสตศักราช ถึง 237 ปีก่อนคริสศักราช

อย่างไรก็ตามบันทึกของจีนนั้นได้กล่าวถึงเรื่องราวของ “จี้จื่อ” โดยที่เกาหลีเรียกขานกันว่า “กีจา” ได้เดินทางไปยังโกโชซอน 507 ปีก่อนคริสตศักราช และได้ขึ้นครองราชย์ในโกโชซอน ในประวัติศาสตร์จีนกล่าวถึงจี้จื่อว่าเป็นอาจารย์ของตี้ชิงกษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ชาง จี้จื่อถูกขังด้วยความที่กษัตริย์นั้นเกิดความไม่พอพระทัย ต่อมาเนื่องจากราชวงศ์ชางได้ล่มสลายโจวอู๋หวังจึ้งได้ปล่อยตัวของจี้จื่อและเนรเทศออกนอกเมืองจีน จี้จื่อได้พาคนออกจากเมืองจีนไปด้วยจำนวน 5000 คน และได้เดินทางมาจนถึงโกโชซอน ด้วยความที่เป็นผู้รอบรู้จึงได้ตำแหน่งขุนนางไป และได้เป็นกษัตริย์ต้นราชวงศ์ซึ่งเรียกว่า “กีจาโชซอน”


ที่มา : https://m.blog.naver.com/

เนื่องด้วยบันทึกทั้งสองฝั่งนั้นทำให้เกิดความสับสนในช่วงระยะเวลาไม่น้อย แต่ก็ยังมีเหตุการณ์สำคัญในสมัยโกโชซอนยุคปลายตรงกับยุคของราชวงศ์ฮั่นของจีน เกิดการก่อตั้งอาณาจักรแห่งใหม่ทางตอนใต้ของคาบสมุทรเกาหลี โดยประวัตศาสตร์ได้ถ่ายทอดเรื่องราวไว้ ว่ามีขุนพลจากจีน “เหว่ยมั่ง” จากแคว้นเอี๋ยนลี้ภัยมายังโกโชซอน ละเข้ารับใช้จุนผู้ปกครองโกโชซอนในขณะนั้น ได้รับคำสั่งให้ปกป้องดินแดนทางทิศตะวันตก แต่เหว่ยมั่งกับก่อการกบฏยึดอำนาจมาเป็นของตนและก่อตั้งราชวงศ์เหว่ยมั่งโชซอนขึ้น กษัตรย์จุนและทหารจำนวนหนึ่งได้หนีไปตั้งอาณาจักรใหม่ชื่อว่า “อาณาจักรฮัน” โดยพื้นที่นั้นคือเมืองอิกซานในจังหวัดจอลลาเกาหลีใต้ในปัจจุบัน

ในยุคของเหว่ยมั่งได้ขยายอำนาจอย่างกว้างขวางจนถึงในสมัยของหยูฉู่ เมืองจีนนั้นตรงกับยุคราชวงศ์ฮั่น กษัตริย์ “ฮั่นหวูตี้” ได้นำกองทัพเข้ามาโจมตีโกโชซอนจนสำเร็จ ในปี 108 ก่อนคริสตศักราชโกโชซอนจึงได้ตกเป็นเมืองขึ้นของจีนเป็นครั้งแรก ต่อมาอาณาจักรโชซอนโบราณนั้นได้ถูกแบ่งออกเป็น 4 แคว้นด้วยกัน ได้แก่ มณฑลนังนัง มณฑลชินบอน มณฑลอินดุล และมณฑลฮยอนโด แต่เน้นปกครองแค่ที่มณฑลนังนังเท่านั้น เพราะมีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณที่สุด เวลาต่อมาพระเจ้าชอยรีได้ประกาศเอกราชจากราชวงศ์ฮั่นให้แก่มณฑลนังนัง แต่ก็ต้องล่มสลายลงจากการถูกโจมตีโดยโกคูรยอในปีคริสตศักราช 313 สามารถขับไล่จีนออกไปได้สำเร็จ เมื่อโกคูรยอได้ผนวกดินแดนนังนังเข้ากับโกคูรยอแล้วจึงก้าวเข้าสู่ยุคสามอาณาจักร หรือเรียกอีกอย่างว่ายุคสามก๊กนั่นเอง

ดังนั้นเมื่ออารยธรรมของจีนจึงเริ่มหลั่งไหลและเข้ามามีอิทธิพลต่อชาวเกาหลี ตั้งแต่ในสมัยราชวงศ์ฮั่นของจีน นี่เองที่ได้เริ่มรับเอาพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง พระพุทธศาสนาจากจีนได้เริ่มเข้ามาในดินแดนเกาหลีต้ังแต่นั้นมา อย่างไรก็ตามการบันทึกการสร้างบ้านแปงเมืองของชาวเกาหลีที่มีบันทึกอย่างจริงจังเกิดขึ้นเม่ือ 57 ปีก่อนคริสต์ศักราช

จากประวัติศาสตร์ทำให้เห็นว่ามีการเข้ามารุกรานพื้นที่โดยส่วนใหญ่จากเมืองจีน เป็นเหตุให้ต้องมาการเสียเอกราชในช่วงระยะเวลาหนึ่ง มีการเกิดอาณาจักรต่างๆ ขึ้นซึ่งยังไม่ได้รวมกันเป็นอาณาจักรเดียว อีกทั้งยังได้อิทธิพลในด้านการสร้างตัวอักษรไปจนถึงการนับถือศาสนาซึ่งในยุคนั้นเป็นการรุ่งเรืองของศาสนาพุทธในอาณาจักรเกาหลีเป็นอย่างมาก เมื่อมีตัวอักษรจึงมีบันทึกเรื่องราวไปจนถึงกฎหมายต่างๆ อีกด้วย อาณาจักรโกโชซอนเจริญไปจนเมื่อมีการเข้าโจมตีของโกคูรยอจึงทำให้อาณาจักรโบราณนั้นสิ้นสุดลง โกโชซอนนับเป็นอาณาจักรแรกของเกาหลีที่ได้ทิ้งเรื่องราวไว้ให้รุ่นหลังได้ศึกษากันต่อไป
     

อ้างอิง

วีระชัย โชคมุกดา. (2555). ประวัติศาสตร์เกาหลี แผ่นดินแห่งความแตกแยกจากอดีตถึงปัจจุบัน. กรุงเทพฯ : ยิปซี.

พระราชปริยัติมุนี (เทียบ สิริญาโณ/มาลัย), อรทัย มีแสง และเดชฤทธิ์ โอฐสู. (2561). พระพุทธศาสนาในสาธารณรัฐเกาหลี: ประวัติศาสตร์ พัฒนาการ ความสัมพันธ์ทางสังคมและสถานการณ์ปัจจุบัน. วารสารบัณฑิตศึกษาปริทรรศน์. 14(12). 2.

runlawan. ยุคโกโชซอน. สืบค้นเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2561 จาก : https://kimchulbeer.wordpress.com/ประวัติศาสตร์/ยุคโกโชซอน/

ศูนย์วัฒนธรรมเกาหลี. ประวัติศาสตร์. สืบค้นเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2561 จาก : http://thailand.korean-culture.org/th/about-kcc/korean-history.html

อาณาจักรโชซอนโบราณ "KOCHOSUN". สืบค้นเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2561 จาก : https://www.dek-d.com/board/view/1476768/?fbclid=IwAR2Ebg0lUr0KVZ5ZZwp6A1s0U3nd5bYIR8XCjTTk6B3buOOJkFHZGE4vgbE
อ่านเพิ่มเติม »

ชองกเยชอน (Cheonggyecheon) คลองแห่งประวัติศาสตร์เกาหลี

โดย อารยา วานิชกร

เชื่อว่าผู้ที่ชื่นชอบการดูหนังและซีรีส์เกาหลี หลายๆ คน ณ ที่นี้ คงจะเคยพบเห็นผ่านตามากันบ้างแล้วแน่ๆ หรือบางคนที่เคยมีโอกาสได้ไปเที่ยวประเทศเกาหลีก็คงจะรู้จักกับสถานที่แห่งประวัติศาสตร์เกาหลีแห่งนี้เป็นอย่างดี สถานที่แห่งนี้มีชื่อว่า คลองชองกเยชอน เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจยอดฮิตของชาวเกาหลี นักท่องเที่ยวที่ผ่านไปมามักจะแวะถ่ายรูปเพื่อบันทึกเรื่องราวภาพความทรงจำกับคลองที่มีทัศนียภาพแสนสวยงามแห่งนี้

คลองชองกเยชอน (청 계 천) เป็นพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงโด่งดังอีกหนึ่งแห่งของประเทศเกาหลี ปรากฏในภาพยนตร์ ซีรีส์ มิวสิควิดีโอต่างๆ มากมาย และคลองชองกเยชอนแห่งนี้ก็ได้เคยปรากฏในฉากหนึ่งทั้งในภาพยนตร์ไทยเรื่องกวนมึนโฮ ซึ่งหากใครจำได้ คลองแห่งนี้คือคลองเดียวกับในฉากที่พระเอกและนางเอกตะโกนอยู่บนพะสาน โดยข้างล่างนั่นก็คือคลองชองกเยชอนนั่นเอง และนอกจากนี้ยังได้ปรากฏในซีรีส์ไทยเรื่อง Full House วุ่นนักรักเต็มบ้านอีกด้วย ซึ่งนอกจากจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับพักผ่อนหย่อนใจแล้ว คลองใจกลางเมืองแห่งนี้ยังเป็นสถานที่เต็มเปี่ยมไปด้วยเรื่องราวประวัติศาสตร์สำคัญของประเทศเกาหลีมากมาย


ภาพคลองชองกเยชองในปัจจุบัน
ที่มา: http://www.cityclock.org/

คลองชองกเยชอน เป็นแม่น้ำสายย่อมๆตั้งอยู่ใจกลางกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งมีความยาวประมาณ 5.84 กิโลเมตร โดยไหลจากทางทิศตะวันตกไปยังทิศตะวันออก คลองชองกเยชอนนี้จะไหลไปรวมกับคลองอีกหนึ่งสายที่ชื่อว่า จุงนังชอล (중랑천) คลองทั้งสองสายจะไหลรวมกันลงไปสู่แม่น้ำฮัน  ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักที่ไหลผ่านใจกลางกรุงโซลประเทศเกาหลีใต้นั่นเอง

อาจกล่าวได้ว่าคลองชองกเยชอนเป็นคลองแห่งประวัติศาสตร์ของเกาหลีก็ว่าได้ เนื่องจากคลองแห่งนี้เป็นถิ่นที่อยู่ร่วมกับคนเกาหลีมาหลายยุคหลายสมัย ถูกปรับปรุงพัฒนามาหลายครั้งจนกระทั่งกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันสวยงามอย่างเช่นในปัจจุบัน คลองชองกเยชอนนี้มีอายุเก่าแก่กว่า 600 ปี นับตั้งแต่สมัยกษัตริย์แทจงแห่งราชวงศ์โชซอน

ในอดีตนั้นคลองชองกเยชอนเป็นลำน้ำที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่เนื่องจากกรุงโซลในสมัยนั้นประสบปัญหาน้ำท่วมและปัญหาขาดแคลนน้ำสลับไปมาอยู่เสมอ คลองแห่งนี้จึงได้รับการบูรณะเพื่อใช้เป็นคลองระบายน้ำ ประกอบกับช่วงที่เกิดสงคราม ประเทศญี่ปุ่นได้เข้ามาเข้ายึดครองเกาหลี ผู้คนมากมายอพยพมาอาศัยอย่างแน่นหนาบริเวณพื้นที่ริมคลอง น้ำในคลองที่เคยใสสะอาดนั้นเริ่มเน่าเสียและส่งกลิ่นเหม็นเป็นอย่างมาก ญี่ปุ่นในช่วงนั้นจึงได้เปลี่ยนชื่อคลอง จากคลองชองกเยชอนซึ่งมีความหมายว่าสายน้ำที่ใสสะอาด เป็นคลองทาเกซอน หมายถึง สายน้ำที่เน่าเหม็นแทน และภายหลังเมื่อคลองแห่งนี้ได้รับการปรับปรุงสภาพน้ำให้ดีขึ้นแล้วจึงกลับมาใช้ชื่อ คลองชองกเยชอนดังเดิมจนถึงปัจจุบัน

ในปี 1948-1960 กรุงโซลหนาแน่นและเต็มไปด้วยประชากรจำนวนมากที่ได้อพยพเข้ามาตั้งรกรากในเมืองหลวง โดยได้ตั้งบ้านเรือนชั่วคราวบริเวณริมลำคลอง มีการทิ้งขยะของเน่าเสียและสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ  คลองแห่งนี้จึงมีสภาพเสื่อมโทรม เกิดมลพิษทางน้ำ ซึ่งเป็นผลมาจากชุมชุนแออัดที่มาอยู่อาศัยบริเวณริมน้ำนั่นเอง

นอกจากนี้ประเทศเกาหลีในช่วงนั้นได้อยู่ในช่วงเข้าสู่ยุคแห่งการพัฒนา มีการสร้างร้านค้า ธุรกิจขนาดเล็กใหญ่และอาคารบ้านเรือนมากมายถูกสร้างขึ้นตลอดริมลำคลอง มีการสร้างถนนทับพื้นที่คลองและสร้างทางด่วนยกระดับคร่อมทับคลองในปี 1968 นอกจากคลองแห่งนี้จะรับขยะและของเสียจากบ้านเรือนที่ตั้งริมคลองแล้ว คลองแห่งนี้ได้กลายเป็นที่รองรับมลพิษของเสียจากทางด่วนด้วย น้ำในคลองถูกทิ้งให้เน่าเสีย สกปรก ไม่น่าอยู่ ซึ่งนับว่าเป็นปัญหาใหญ่หลวงที่ส่งผลกระทบต่อหลายๆด้าน โดยเฉพาะคุณภาพชีวิตของคนในเมือง ในแต่ละปีเกาหลีใต้ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่อซ่อมแซมและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยรอบ
 

ภาพคลองชองกเยชอนในอดีต

จากสภาพที่เสื่อมโทรมดังกล่าว ในปี 2003 คลองชองกเยชอนได้รับการบูรณะ เพื่อเป็นการยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในเมือง โครงการนี้จึงริเริ่มโดยนายกเทศมนตรีอีมยอง บัก (이명박) โดยการรื้อทางด่วนและถนนโดยรอบออก พร้อมกับมีการฟื้นฟูธรรมชาติและสภาพแลดล้อมทั้งทองฝั่งของคลอง  โครงการบูรณะคลองนี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์รวมถึงได้รับแรงคัดค้านมากมายจากผู้ประกอบการธุรกิจต่าง ๆ เนื่องจากผู้ที่อาศัยอยู่ต้องย้ายออกจากบริเวณพื้นที่เลียบคลอง  แรงคัดค้านส่งผลให้มีการประชุมเจรจาเพื่อร่วมกันแก้ไขหาทางออกหลายครั้ง จนในที่สุดโครงการบูรณะคลองชองกเยชอนก็บรรลุผล และมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2005 ได้ใช้งบประมาณไปกว่า 1 หมื่นล้านบาท

ภาพคลองชองกเยชอนในปัจจุบัน
ที่มา: http://blog.hwa2u.com/

คลองชองกเยชอนโฉมใหม่นี้มีน้ำใสสะอาด ธรรมชาติโดยรอบได้ถูกฟื้นฟู บริเวณคลองแห่งนี้ถูกปกคลุมไปด้วยความร่มรื่น มีน้ำพุตลอดแนว มีทางเดินเลียบริมคลอง พร้อมทั้งมีระบบระบายน้ำที่ทันสมัย มีนกและปลาต่างๆ อาศัยอยู่และมีจำนวนมากขึ้นทุกปี คลองชองกเยชอนยังได้ช่วยลดอุณหภูมิของพื้นที่เมืองโดยรอบลงกว่า 36 % มีตึกเก่าแก่อายุราว 40-50 ปี เรียงรายอยู่จำนวนมาก มีลานศิลปวัฒนธรรม นับว่าเป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ นอกจากนี้ยังเพียบพร้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกสบายต่างๆ ถือเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของเมืองต่างๆ


ภาพคลองชองกเยชอนเมื่อยามค่ำคืนเต็มไปด้วยแสงสีงดงามตระการตา
ที่มา: http://www.govivigo.com/

ปัจจุบันลำน้ำคลองชองกเยชอนนี้ไหลผ่านย่านธุนกิจ ทั้งชองเกพลาซ่า และมีสะพาน 22 แห่งข้ามคลอง มอบบรรยากาศที่ผ่อนคลายและสดชื่นให้ผู้ที่ได้แวะเวียนไปเที่ยวชม ด้วยทัศนียภาพในยามราตรีนั้นมีความตระการตา เป็นสวรรค์แห่งธรรมชาติที่อยู่ท่ามกลางความคึกคักของใจกลางเมือง เป็นพื้นที่ที่มีมิติประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม ธุรกิจการเงินและสิ่งแวดล้อมที่ทันสมัย ทำให้คลองชองกเยชอนนั้นเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมในหมู่คนเมืองและนักท่องเที่ยวต่างถิ่นเป็นอย่างดี


อ้างอิง 

ส้ม มินโฮ. (2553). เกาหลีสุดที่รัก : คู่มือเที่ยวเกาหลีใต้ตามรอยซีรี่ส์ตลอดกาล. กรุงเทพฯ : ซันมูนทรี

สถานที่ท่องเที่ยวในเกาหลี. [เว็บบล็อก] สืบค้นเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2561, จาก:
http://www.jidapaenter.com/

 Cheonggyecheon. วิกิพีเดีย. สืบค้นเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2561, จาก:
 https://en.wikipedia.org/wiki/Cheonggyecheon

อ่านเพิ่มเติม »