ศาสนาโซโรอัสเตอร์ (Zoroastrianism) รากฐานแห่งศรัทธา

โดย อานนท์  รอยเวียงคำ

ในปัจจุบัน ศาสนาที่คนนับถือมากที่สุดในโลก ได้แก่  ศาสนาคริสต์ และศาสนาที่มีผู้ให้ความสนใจและมีผู้นับถือเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ได้แก่ ศาสนาอิสลาม แน่นอนว่า ทั้งสองศาสนานับเป็นศาสนาที่สำคัญที่ยิ่งใหญ่ของโลก อย่างไรก็ตาม ยังมีศาสนาที่มีผู้นับถือเพียง 2 แสนคนทั่วโลก แต่กลับเป็นศาสนาที่มีผลต่อมนุษยชาติทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างลุ่มลึกกว้างขวางที่สุดตลอดระยะเวลา 2 พันปีที่ผ่านมา ซึ่งได้แก่ ศาสนา "โซโรอัสเตอร์"


รูปโซโรอัสเตอร์ 

ศาสนาโซโรอัสเตอร์เกิดขึ้นในช่วง 600-500ปี ก่อนคริสตศักราช  เป็นศาสนาที่เกิดขึ้นในอาณาจักรเปอร์เซียโบราณ ซึ่งในปัจจุบันคือ ประเทศอิหร่านโดยมีศาสดาชื่อ ซาราทุสตรา (Zarathustra) ซึ่งมีชื่อเรียกในภาษากรีกว่า โซโรอัสเตอร์ (Zoroaster)  ความเป็นมาของศาสนาโซโรอัสเตอร์เริ่มจากที่โซโรอัสเตอร์ได้รับประสบการณ์ทางจิต เริ่มค้นหาสัจธรรมบนโลก วิเคราะห์โลกและธรรมชาติๆ รวมถึงการที่เป็นคนมักชอบสังเกตเกี่ยวกับปรากฏการณ์ธรรมชาติต่างๆ ทำให้สังเกตุเห็นความเป็นไปของโลกทั้งสองด้าน อันได้แก่ กลางวันและกลางคืน ความมืดและความสว่าง หรือความดีและความชั่ว ไม่มีอำนาจใดเปลี่ยนความชั่วให้เป็นความดีได้ ดังความดีเปลี่ยนกลับเเป็นความชั่วไม่ได้ ดังนั้น การที่นักบวชหรือหมอผีที่อวดอ้างว่ามีอำนาจเหนือธรรมชาติย่อมเป็นไปไม่ได้ ทำให้โซโรอัสเตอร์ประกาศศาสนาเนื่องจากมีความมั่นใจและได้รับประสบการณ์จิต ที่เทพเจ้าแห่งความดีมอบหมายให้เปลี่ยนแปลงความชั่วเป็นความดี นับตั้งแต่ตอนนั้นก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นขึ้นของศาสนาโซโรอัสเตอร์

ในสมัยที่อาณาจักรเปอร์เซียถูกปกครองด้วยกษัตริย์ วิศตาสปา (Vishtaspa) ซึ่งทรงนับถือศาสนาโซโรอัสเตอร์ และประกาศเป็นศาสนาประจำราชอาณาจักร นับเป็นจุดแสดงให้เห็นถึงการเติบโตของศาสนานี้เป็นอย่างมาก ดังนั้น ศาสนาโซโรอัสเตอร์ เป็นศาสนาที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งของชาวอิหร่านยุคก่อนที่จะหันมานับถือศาสนาอิสลาม โดยในปัจจุบันยังมีชาวอิหร่านที่นับถือศาสนาโซโรอัสเตอร์อยู่ และมีชาวปาร์ซีในประเทศอินเดียที่อพยพมาจากอิหร่าน เนื่องจากถูกคุกคามจากศาสนาอิสลามในช่วงอิสลามยึดอำนาจเปอร์เซีย ยังคงนับถือศาสนาโซโรอัสเตอร์อยู่ 

ที่สำคัญศาสนาโซโรอัสเตอร์ เป็นต้นแบบทัศนคติในเรื่องทวินิยมของโลก คือ เป็นเรื่องของความเชื่อของ 2 สรรพสิ่งที่คู่กัน ได้แก่ ความดีและความชั่ว และจุดหมายปลายทางของมนุษย์คือ มีความเชื่อชีวิตหลังความตายเรื่องการพิพากษาจากพระเจ้า ได้แก่ อหุระมาซดะ โดยผู้ทำดีจะได้ขึ้นสวรรค์ ผู้ทำชั่วจะตกนรก และ เป็นผู้ริเริ่มในการนำวิชาโหราศาสตร์ เวทย์มนต์มาสอน และเป็นศาสนาที่มีอิทธิพลต่อพัฒนาการของศาสนายูดาห์และการเกิดขึ้นของศาสนาคริสต์

ตามหลักคำสอนของศาสนาโซโรอัสเตอร์ คือ  โลกคือสมรภูมิแห่งสงครามอันศักดิ์สิทธิ์ของฝ่ายความดีและความชั่ว ซึ่งมีตัวแทนเป็นเทพเจ้า ได้แก่ ฝ่ายความดีมี เทพเจ้าอหุระมาซดา (Ahura Mazda) เป็นแม่ทัพ และฝ่ายความชั่ว มีพญามารอังคระไมนุย (Angra Mainyu ) เป็นแม่ทัพ อหุระมาซดา ทรงเป็นเทพเจ้าแห่งแสงสว่างหรือปัญญา และเป็นผู้สร้างสิ่งดีทั้งปวง ส่วนอังคระไมนุย เป็นมารในศาสนาโซโรอัสเตอร์มีลักษณะตรงข้ามกับ อหุระมาซดา คือ เป็นผู้สร้างสิ่งเลวร้ายทั้งปวง

แนวคิดการแบ่งฝั่งเทพ และ ฝั่งมาร ของศาสนาโซโรอัสเตอร์ มีอิทธิพลต่อแนวคิดทวินิยมแนวเทพเจ้ากับซาตานของศาสนายิว หรือศาสนายชูดาห์ รวมไปถึงศาสนาอื่นๆ ที่ต่อยอดจากศานายูดาห์อีกที โดยมีความเป็นไปได้ว่า อาจเกิดจากที่พระเจ้า ไซรัสมหาราช ( Cyrus the Great ) แห่งเปอร์เซีย ได้ยึดอำนาจกรุงบาบิโลนและปลดปล่อยผู้คนเชื้อชาติต่างๆ ที่เป็นเชลยศึกของกรุงบาบิโลนให้เป็นอิสระ ซึ่งชาวยิวก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกปลดปล่อย  จึงได้รับคติของศาสนาโซโรอัสเตอร์ เช่น การสู้รบระหว่างทพเจ้าแห่งแสงสว่าง(พระยาห์เวย์) และ เทพเจ้าแห่งความมืด (ซาตาน)


Ahura Mazda 
 

Angra Mainyu 
ที่มา : https://www.pinterest.com/

นอกจากนี้ยังมีคำกล่าวในคัมภีร์ยัสนะ 3 ว่า “ ในเบื้องต้นแห่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ได้มีวิญญาณแห่ง อหุระมาซดา และ อังคระไมนุย ซึ่งแทนความดีและความชั่ว เทพทั้ง 2 นี้ ได้พบกันเพื่อสร้างชีวิตและศีลธรรมสากลโลกที่จะเกิดมีขึ้น พญามารได้ถูกสร้างขึ้นสำหรับคนชั่ว ส่วนอหุระมาซดา เพื่อคนที่บริสุทธิ์ที่มีศรัทธา คนชั่วย่อมเลือกวิญญาณฝ่ายชั่ว คนที่บริสุทธิ์และมีศรัทธาย่อมเลือกฝ่ายวิญญาณดี มนุษย์มีอิสระในการเลือกของตนเอง เขาอาจจะเลือกสิ่งดีหรือชั่ว และเขาก็จะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของเขา”

จากคำสอนดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ศาสนาโซโรอัสเตอร์เน้นเจตจำนงเสรี หรือ Free will คือการเปิดโอกาสให้มนุษย์เลือกทำดีหรือทำชั่ว แต่ในที่สุดก็จะมี “วันพิพากษา” ที่ผู้ตายสามารถคืนชีพมาได้อีกครั้ง ซึ่งแนวคิดวันพิพากษาและการฟื้นคืนชีพ เป็นแนวคิดอีกแนวคิดหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อศาสนายูดาห์ และศาสนาคริสต์ และที่สำคัญ ชีวิตหลังความตายถูกกำหนดขึ้นจากความสมดุลระหว่างความดีกับความชั่วที่ผู้นั้นได้กระทำขณะที่มีชีวิตอยู่ รวมทั้งการใช้วาจาและความคิด มีอยู่ 2 อย่างในการลบล้างความชั่วนั้นคือการ สารภาพบาป และไม่กลับมาทำอีก ซึ่งเหมือนกับพิธี Treasury of Merit ของศาสนาคริสต์

ศาสนาโซโรอัสเตอร์ยังมีอิทธิพลในทางอ้อมไปไกลถึงประเทศจีน เพราะมีความเกี่ยวพันกับลัทธิแมณี และพรรคเม้งก้าหรือพรรคจรัสที่เป็นที่รู้จักในนิยายกำลังภายในของจีน ซึ่งลัทธิแมณี ก่อตั้งโดยท่าน แมณี (Mani) ชาวกรุงบาบิโลน ซึ่งขณะนั้นเป็นเมืองขึ้นของเปอร์เซีย โดยผสมผสานลัทธิความเชื่อของศาสนาโซโรอัสเตอร์ ศาสนาพุทธ และศาสนาคริสต์ โดยเชื่อว่าคำสอนของศาสนาตนมีความสมบูรณ์มากกว่าคำสอนของ โซโรอัสเตอร์ พระพุทธเจ้า และ พระเยซู กล่าวคือ การนำเอาคำสอนศาสนาอื่นที่มองว่าศาสนาเหล่านั้นเป็นการนำร่องเท่านั้น มาทำให้คำสอนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ลัทธิแมนีเริ่มเผยแผ่เมื่อท่านแมนีอายุ 27 ปี โดยเดินทางไปเอเชียกลาง อินเดีย และทางตะวันตกของจีน และจึงกลับเปอร์เซีย เมื่อกลับมาถึงบ้านเกิดเมืองนอนก็ถูกเบียดเบียนจากพระในศาสนาพื้นเมืองและถูกกษัตริย์บาหรัมที่ 1 ทรมานและถลกหนังจนตาย

ลัทธิแมณีได้เข้าสู่ประเทศจีนในช่วงราชวงศ์ถังโดยการติดต่อค้าขายระหว่างจีนกับเปอร์เซียบนเส้นทางสายไหม ซึ่งลัทธินี้มีชื่อภาษาจีน(แต้จิ๋ว) ว่า เม้งก้า แม้ลัทธิเม้งก้าจะมีแนวปฏิบัติที่ไม่เหมือนลัทธิแมณีอยู่บ้าง เช่น ไม่กินเหล้า กินอาหารมังสวิรัติ แต่หลักๆใหญ่ๆ เช่นเรื่องเทพเจ้าแห่งแสงสว่างและพญามารแห่งความมืดยังคงเหมือนกัน

ลัทธิเม้งก้าในจีนมีบทบาทสำคัญทางการเมือง เช่น รัชสมัยถังหวู่จงฮ่องเต้ ราชวงศ์ถัง ลัทธิเม้งก้าได้เป็นลัทธินอกกฎหมายเนื่องจากมีคำสอนเน้นหนักไปในทางต่อต้านชนชั้นปกครอง จึงทำให้ลัทธินี้แพร่หลายในหมู่คนที่ถูกกดขี่อย่างรวดเร็วในสมัยราชวงศ์ซ่ง และพยายามโค่นล้มราชสำนักนักหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ แต่พอถึงปลายราชวงศ์หยวน ก็มีกบฏโพกผ้าแดงซึ่งเป็นพลพรรคของลัทธิเม้งก้าและดอกบัวขาวได้โค่นล้มราชวงศ์หยวน และจูหยวนจางได้สถาปนาราชวงศ์หมิงขึ้น ซึ่งคำว่าหมิง มาจากต้าหมิง ซึ่งได้ตั้งชื่อตามลัทธิหมิงเจี๊ยว (ลัทธิเม้งก้าในภาษาจีนกลาง)


รูป ศาสดาแมณี 

จากบทความข้างต้น จะเห็นได้ว่า ระบบความเชื่อหรือศาสนาที่มีคนรู้จักน้อยมากในปัจจุบัน อย่างเช่น ศาสนาโซโรอัสเตอร์ อาจจะซุกซ่อนในความคิด แนวคิด คำสอน วิถีชีวิต และศิลปวัฒนธรรมในอารยธรรมต่างๆ อย่างแนบเนียน ซึ่งในโลกยุคโลกาภิวัตน์ในปัจจุบัน ที่เดินไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว หรือแม้กระทั่งการเปลี่ยนแปลงในอดีตย่อมทำให้เกิดวิวัฒนาการทางความเชื่อและศาสนา นั่นย่อมแสดงให้เห็นว่า บางสิ่งบางอย่างที่เราคิดเราทำอยู่ในวันนี้ บางทีอาจจะมีอิทธิพลในวันข้างหน้าก็เป็นได้


อ้างอิง

กรกิจ ดิษฐาน.( 2560). จูหยวนจางกับลัทธิเม้งก่า gypzyworld . สืบค้นเมื่อ วันที่ 27 กันยายน 2561,จาก:  http://www.gypzyworld.com/article/view/820

บัญชา ธนบุญสมบัติ.(2555).ท่องยานเวลาบุกฝ่าอารยธรรม. กรุงทพฯ : สำนักพิมพ์สารคดี
ประทีป สาวาโย.(2545). สิบเอ็ดศาสนาของโลก. กรุงทพฯ : สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์.

Beliefnet. (n.d.) .10 Things You Didn’t Know About Zoroastrianism. Retrieved September 27, 2018, from beliefnet  web site :  http://www.beliefnet.com/faiths/zoroastrianism/

Hammering Sheid. (2013). Zoroastrianism: Little Religion, Big Influence. Retrieved September 25, 2018, from hammeringshield web site  :  https://hammeringshield.wordpress.com/2013/09/01/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น