สตรีชั้นสูงในพระราชวังต้องห้าม

โดย วนิดา  บานเย็น

สตรีเป็นความสวยงามของโลกใบนี้ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเติมแต่งสีสันให้สังคมหรืออารยธรรมหนึ่งๆ ให้สามารถที่จะดำเนินต่อไปได้ สตรีไม่ได้เป็นเพียงสัญลักษณ์ของเพศที่อ่อนแอแต่กลับมีอำนาจมากมายที่จะทำให้อารยธรรมนั้นเจริญหรือถูกทำลายได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการมีอำนาจในการครอบครองจักรพรรดิและประชาชนทั่วไปหรือการมีอำนาจในหมู่สตรีด้วยกัน จะเห็นได้ชัดเจนในสังคมจีนโบราณ โดยเฉพาะจะขอกล่าวถึงสมัยราชวงศ์ชิงของจีน พระราชวังต้องห้ามนั้นขึ้นชื่อเรื่องการมีนางกำนัล นางสนม ข้าราชบริพานที่เป็นสตรีเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดการแก่งแย่งชิงดี แบ่งชนชั้นหรือการทำร้ายกันเองในหมู่สตรีด้วยกัน ทำให้พระราชินีที่มีอำนาจในการดูแลฝ่ายในต้องจัดการดูแล เพื่อให้เกิดความมีระเบียบในพระราชวัง


รูปที่ 1. พระราชวังต้องห้ามหรือกู้กง

สตรีเป็นองค์ประกอบหลักที่อาศัยอยู่ในวัง ซึ่งในสมัยราชวงศ์ชิงภายในวังได้แบ่งหน้าที่การดูแลองค์จักรพรรดิออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ พระราชินี นางสนม นางกำนัลและข้าราชบริพาร โดยพระราชินีเป็นประมุขฝ่ายในที่มีอำนาจมากที่สุดและยังเป็นบุคคลที่ได้รับความรัก ความเมตตา และเป็นที่โปรดปรานมากที่สุดขององค์จักรพรรดิ ตำแหน่งราชินี หรือ Hoàng hậu (หว่าง เหิ่ว) ได้รับการพระราชทานจากจักรพรรดิ ซึ่งพระราชินีมีหน้าที่ในการช่วยองค์งจักรพรรดิดูแลกิจการต่างๆ ภายในพระราชวัง ถึงแม้ว่าจะดำรงตำแหน่งสูงสุดของฝ่ายใน แต่ก็ต้องทรงงานหนักด้วย เช่น ในทุกๆ วัน จะต้องดูแลงานในพระราชวังทั้งหมด ดูแลนางสนม นางกำนัลและข้าราชบริพารที่อยู่ใต้อำนาจการปกครอง อีกทั้งคอยปรนนิบัติองค์จักพรรดิในเรื่องต่างๆ

ต่อมาตำแหน่งของนางสนมหรือผู้ที่กำลังเข้ารับการฝึกฝนก่อนถูกยกฐานะให้เป็นนางสนม ภาพสะท้อนอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงอำนาจขององค์จักรพรรดิคือ การเลือกและแต่งตั้งสตรีที่เป็นที่โปรดปรานขึ้นมาเป็นพระสนม ซึ่งจะอยู่ภายใต้การดูแลและการแต่งตั้งของพระราชินี นอกจากนี้แล้วตำแหน่งพระสนมสามารถแบ่งได้ 7 ระดับ ได้แก่ หวงกุ้ยเฟย กุ้ยเฟย เฟย ผิน กุ้ยเหริน ฉางจ้ายและตาอิ้งตามลำดับการโปรดปรานขององค์จักรพรรดิซึ่งการจัดลำดับเหล่านี้มีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพระสนมในวังเช่น จำนวนข้าวหรือเงินเบี้ยหวัดประจำปีที่จะได้รับตามระดับชั้นของตำแหน่งซึ่งส่งผลต่อข้าทาสบริวารและผู้รับใช้ในแต่ละตำหนักที่จะได้รับมาก น้อยลดหลั่นแตกต่างกันไป ทั้งนี้การจัดลำดับของพระสนมนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าบิดาของเหล่าสตรีเหล่านี้จะมีตำแหน่งสูงเพียงใด

นอกเหนือจากตำแหน่งสนมทั้ง 7 ระดับแล้ว ยังมีสตรีอีกจำนวนหนึ่งที่รอการพระราชทานลำดับ พระสนม ซึ่งเป็นสตรีที่อยู่ในทะเบียนที่ยังอยู่ระหว่างการรอถวายตัว โดยมักมาจากครอบครัวชาวบ้านสามัญ ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีความงามเป็นที่ประจักษ์ บรรดาสตรีที่เข้ามาใหม่จะยังไม่ได้ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มของสนม 7 ระดับนั้น จะถูกเรียกว่าเป็นโฉมงามที่ไม่อยู่ในลำดับชั้น ซึ่งสตรีที่จะมาเป็นข้าหลวงในวังนั้นแม้จะเป็นตระกูลไพร่หลวง แต่ก็มีฐานะที่ต่างกันบางคนอาจจะเป็นลูกขุนนางชั้นสูง


รูปที่ 2. ข้าหลวงในราชวงศ์ชิง

ถ้าเป็นลูกขุนนางมีหน้ามีตาก็จะได้รับตำแหน่งถวายงานนางในระดับกุ้ยเหรินขึ้นไป หรือเจ้านายชั้นสูง ก็จะได้รับตำแหน่งพระสนมสูงศักดิ์ มีชีวิตที่สบายกว่า แต่ว่าถ้าเป็นลูกของขุนนางระดับล่าง อาทิ ทหารล้อมวัง ข้าราชการน้อย ๆ ก็จะไปถวายงานในระดับเจ้าจอมหรืออาจจะต้องทำงานหนัก นางในแต่ละคนนั้นจะมีนางข้าหลวงมาคอยรับใช้ในจำนวนต่างกันไป  สำหรับที่มาของเหล่าสตรีทั้งหลายที่อยู่ในพระราชวังนั้น ส่วนใหญ่มาจากบุตรของขุนนางในราชสำนัก และตามเมืองต่างๆ การส่งตัวบุตรีเข้าพระราชวังของเหล่าขุนนางนั้นถือเป็นเกียรติอย่างสูง เป็นความภาคภูมิใจ ตลอดจนความสำเร็จของวงค์ตระกูล ในการที่บุตรีของตนมีโอกาสเข้ามารับใช้โอรสแห่งสวรรค์ เป็นไปได้ว่าขุนนางเหล่านี้มุ่งจะใช้เป็นเครื่องปูทางเพื่อเป็นฐานทางอำนาจของเหล่าขุนนาง

การเป็นข้าหลวงในวังของราชวงศ์ชิงนั้นจะต้องเรียนประเพณีในวังกับท้าวนางผู้ใหญ่ก่อน ที่เรียกว่า “โมโม่” หรือ “กู้กู” ซึ่งมีกฎระเบียบที่รัดตัว เช่น ห้ามยิ้มเห็นฟัน ห้ามหัวเราะเสียงดัง ถ้าอยู่เวรตอนถวายงานห้ามกินอาหารที่มีกลิ่นแรง ห้ามกินจนอิ่มหรือน้อยเกินไปก็และห้ามกินทุกอย่างที่จะทำให้ผายลม เมื่อถึงเวลานอนห้ามนอนหงาย ต้องนอนตะแคงเท่านั้น เพราะถือว่าถ้านอนหงายจะเป็นการดูถูกเทวดารักษาวัง ห้ามพูดคำหยาบ ห้ามพูดคำไม่เป็นมงคลเช่นตาย ฆ่า เป็นต้น เวลาโกรธคนห้ามด่า เรื่องการด่าเป็นธรรมเนียมที่เคร่งครัดมากในวังจีนสามารถที่จะตีได้แต่ด่าไม่ได้เพราะถือว่าคนในวังล้วนแล้วแต่สืบเชื้อสายมาจากต้นสกุลแมนจูเหมือน ๆ กัน ดังนั้นเมื่อนางข้าหลวงทำผิดจึงถูกหวดเป็นประจำ

แม้ชีวิตนางข้าหลวงจะดูหนักเพราะการมีกฎระเบียบข้อบังคับที่มากเกินไป แต่การใช้ชีวิตอยู่ในวังก็ถือว่าสุขสบายเช่นเดียวกันเพราะทางพระราชวังได้จัดให้มีการเรียนหนังสือการเรียนวิชาชีพชั้นสูงในด้านต่างๆ พร้อมได้รับเงินเดือนทุกเดือน และได้กินอยู่อย่างสุขสบาย

จะเห็นได้ว่าสตรีที่อยู่ในพระราชวังต้องห้ามนั้นมีทั้งนางสนม นางกำนัล ข้าราชบริพารในระดับต่างๆ อีกทั้งพระราชินีที่ทำหน้าที่ในการดูแลพระราชวังฝ่ายในโดยทำหน้าที่ดูแลความเรียบร้อย อาจจะทำให้เกิดความวุ่นวายจากการที่มีสตรีเป็นจำนวนมาก ซึ่งการจะเข้ามาเป็นสตรีในวังได้จะต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนจึงจะผ่านการคัดเลือกให้เข้ามาอยู่ในวังและเมื่อเข้ามาแล้วจะต้องเรียนรู้กฎระเบียบต่าง ๆ ของพระราชวัง เพื่อที่ทุกคนจะได้ปฎิบัติตามและดำเนินตามแบบแผนเดียวกัน แม้ว่าชีวิตความเป็นอยู่ในช่วงแรกๆ จะดูลำบากและอดทนกับสิ่งต่างๆ มากมาย แต่สตรีเหล่านี้ก็ได้รับสิ่งตอบแทนที่มีคุณค่าทั้งภายในและภายนอกที่พวกนางตั้งใจไว้นั่นเอง


อ้างอิง 

นิลพัท. (2558).   กว่าจะเป็นนางใน – ยศนางในสมัยราชวงศ์ชิงและการคัดเลือกเข้าสู่วัง. สืบค้นเมื่อ25 กันยายน 2561, จาก: http://www.reurnthai.com/index.php?topic=6201.0

มรกตวงศ์ ภูมิพลับ. (2553). สตรี และชีวิตในพระราชวังต้องห้าม. สืบค้นเมื่อ 25 กันยายน 2561, จาก: http://www.thaiworld.org/th/thailand_monitor/answer.php?question_id=1010

Natsuo. (2556).   ระดับขั้นตำแหน่งนางในและตำแหน่งเชื้อพระวงศ์แบบละเอียดของราชวงศ์ชิงแห่งจีน. สืบค้นเมื่อ23 ธันวาคม 2561, จาก: https://pantip.com/topic/30613438

Sahaburapa.(2560). สาวจีนยุคโบราณกับการเข้าวังเป็นนางข้าหลวง. สืบค้นเมื่อ 25 กันยายน 2561, จาก: http://plodlock.com/2017/08/10/saojeen/


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น