อาเรส (Ares) เทพแห่งสงคราม

โดย  ธีรยุทธ สมิตาสิน

อาเรส หรือ เเอรีส (Ares) หรือที่ชาวโรมันเรียกว่า มาร์ส (Mars) เป็นเทพเจ้าแห่งสงคราม นอกจากนี้ยังเป็นหนึ่งในสิบสองเทพแห่งโอลิมปัสด้วย โดยเป็นบุตรองค์หนึ่งของเทพซูส กับเทวีฮีรา อาเรสยังเป็นที่เกลียดชังของเทพ และมนุษย์ทั้งปวง เว้นแต่ชาวโรมัน ผู้มีนิสัยชอบการสงคราม


Ares Canope Villa Adrianar
ที่มา: https://www.tumnandd.com/

ประวัติของเทพอาเรสกล่าวไว้ว่า เทพอาเรสเป็นหนึ่งในโอรสระหว่างองค์เทพซูสกับเทวีฮีร่า และทรงเป็นโอรสที่ถูกพระบิดาตราหน้าว่า “เจ้าเป็นที่น่ารังเกียจ น่าชัง มากที่สุดในบรรดาลูกของข้าทั้งหมด เจ้าทั้งโหดร้าย และดื้อด้านเหมือนกับแม่เจ้าไม่ผิด!”  ซึ่งก็ถือว่าเป็นคำพูดที่ตรงกับอุปนิสัยใจคอของเทพอาเรสมากที่สุด

ความสามารถของเทพอาเรสคือ มีพละกำลังเหนือกว่ามนุษย์ปกติ ยิ่งหากเกิดสงครามจะทำให้อาเรสนั้นแข็งแกร่งขึ้น มีสัตว์ประจำตัวคือ เหยี่ยว และสุนัขมังกรไฟอาวุธของอาเรสนั้นส่วนใหญ่ที่ปรากฏในตำนานกรีกจะเป็นหอก แต่อาเรสสามารถใช้อาวุธทุกชนิดไม่ว่าจะเป็น ขวาน มีด ดาบ มาใช้ในการรบได้ทั้งสิ้น

นอกจากเทพอารีส จะมีนิสัยดังกล่าวแล้ว อาเรสยังเป็นเทพที่หุนหันพลันแล่น โมโหง่าย และรักในความรุนแรงเป็นอย่างมาก ซึ่งถือเป็นอุปนิสัยที่แตกต่างกับเทพีอะธีนาเป็นอย่างมาก แม้ว่าพระองค์จะเป็นเทวีแห่งสงครามเช่นกัน แต่เทพีอะธีนานั้นมีลักษณะนิสัยที่สุขุมนุ่มลึก ฉลาด และเต็มไปด้วยความกล้าหาญ ทำให้ได้รับการยกย่องจากมนุษย์และเทพทั้งปวง

ด้วยเหตุผลที่ว่ามานี้ จึงทำให้เทพอาเรสรู้สึกอิจฉาริษยาเป็นอย่างมาก และตัดพ้อว่า “เหตุใดฟ้าที่ส่งให้อาเรสมาเกิดแล้ว จึงต้องส่งเอะธีนามาเกิดด้วยเล่า” ทำให้เมื่อทั้งสองต้องพบกันทีไร ก็มักจะเกิดเหตุทะเลาะวิวาทกันเสียทุกครั้งไป



ตามตำนาน มีเหตุการณ์การทะเลาะกันที่สำคัญอยู่ครั้งหนึ่ง เกิดขึ้นเมื่อทั้งสองไปพบกันกลางทาง และเกิดมีปากเสียงกันอย่างเคย เทพอาเรสโกรธมาก จึงบันดาลโทสะขว้างจักรอันมีฤทธิ์แรงกล้าไม่ต่างกับอสนีบาตขององค์ซูสเทพ เข้าใส่อะธีนาแต่เจ้าแม่ก็หลบได้ทัน แล้วทรงทุ่มหินที่วางอยู่ข้างๆ ตอบกลับไป แต่พอดีว่าหินก้อนนั้นไม่ใช่หินธรรมดา กลับเป็นหินที่ตั้งไว้เพื่อบอกอาณาเขต  เมื่อหินนั้นกระทบถูกร่างของอาเรส ก็ทำให้อาเรสถึงกับล้มลง เทพีอะธีนาจึงได้กล่าวเยาะเย้ยเทพอาเรสด้วยว่า “เจ้าโง่! ศึกครั้งนี้ ก็น่าจะทำให้เจ้ารู้ได้แล้วใช่ไหมว่าพละกำลังของเรามีมากขนาดไหน คราวหน้าคราวหลังอย่าคิดจะมารบกวนเราอีกต่อไปเลย!”

การเป็นเทพแห่งสงครามตามปกติ จะต้องชนะการรบในทุกที่ แต่สำหรับเทพอาเรสแล้วกลับเป็นผลในทางตรงข้าม เพราะเขามักจะปราชัยเสียมากกว่า เพราะนอกจากจะพ่ายแพ้แก่เทวีอะธีนาแล้ว เทพอาเรสยังพ่ายแพ้ต่อมนุษย์อีกหลายคนด้วย เช่น เฮอร์คิวลิส ผู้ที่เคยสังหารโอรสของอาเรสมาแล้ว ส่วนในครั้งที่ผู้เป็นพ่อเข้าช่วยลูก ก็เกือบถูกต่อยตี จนเทพอาเรสต้องหลบหนีไปยังโอลิมปัสแทบไม่ทัน เมื่อเรื่องดังกล่าวถึงหูเทพซูส พระองค์ก็ตัดสินให้เลิกลากันไป เพราะ เฮอร์คิวลิสก็ถือเป็นโอรสของเทพซูสเช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่าเขานั้นมีมารดาเป็นเพียงแค่มนุษย์สามัญเท่านั้น

เทพอาเรสเดินทางไปไหนต่อไหนได้โดยรถศึกเทียมม้าที่มีฝีเท้าจัด และมีแสงเกราะและแสงศาตราวุธของเธอเป็นอาวุธคู่กาย ที่คอยส่องแสงสว่างเจิดจ้าบาดตาบุคคลผู้พบเห็นเป็นอย่างมาก นอกจากนี้เทพอาเรสยังมีบริวารคู่ใจที่คอยตามติดอยู่ 2 คน ได้แก่ เดมอส (Deimos) ที่หมายความว่าความกลัว กับ โฟบอส (Phobos) ที่หมายความว่า น่าสยองขวัญ บางตำนานกล่าวว่าบริวารทั้งสองนี้ถือเป็นโอรสของเทพอาเรส ส่วนในเชิงดาราศาสตร์ หากตั้งชื่อดาวอังคารว่า มาร์ส ตามชื่อเทพแห่งสงครามแล้ว จึงมีการก็ตั้งชื่อดวงจันทร์ที่เป็นบริวารที่โคจรอยู่รอบดาวอังคารทั้งสองดวงว่า เดมอส กับ โฟบอส ตามไปด้วย

อาเรสก็มีตำนานด้านความรักเหมือนเทพองค์อื่นๆ เขาได้เร่ร่อนหารักไปเรื่อยๆในโอลิมปัส แต่ไม่ได้ยกย่องให้ใครเป็นชายา อย่างไรก็ตาม มีเรื่องราวความรักของอาเรสที่สำคัญอยู่ครั้งหนึ่ง เรื่องราวนี้เกิดขึ้นตอนที่ได้ลักลอบไปเป็นชู้กับเทวีแห่งความงามและความรัก ที่มีชื่อว่า อโฟรไดท์

การที่เทพอาเรสเป็นที่รังเกียดของเทพและมนุษย์ชาวกรีก พฤติการณ์ความรักการลอบเป็นชู้กับเทวีอโฟรไดท์ครั้งนี้ จึงเป็นที่ดูถูกดูแคลนและถูกกล่าวหาอย่างรุนแรงจากมวลเทพที่คิดจะจ้องจับผิดด้วย เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก็เพราะความมืดในราตรีกาล หากยังไม่มีใครทราบเรื่องหรือจับผิดได้แบบคาหนังคาเขา พฤติการณ์ลักลอบเป็นชู้ของอาเรสและอโฟรไดท์ก็จะยังคงถูกเก็บเป็นความลับเรื่อยมา แต่เหตุเพราะเธอเกรงกลัวแสงสว่าง ซึ่งเปรียบได้กับนักสืบของเทพอพอลโล ถ้านักสืบผู้นี้แฉพฤติการณ์ความผิดของเธอให้เทพอพอลโลรับรู้ เทพอพอลโลก็คงจะนำเรื่องราวไปทูลบอกแก่เทพฮีฟีสทัสซึ่งเป็นสวามีของอโฟรไดท์อย่างแน่นอน เธอจึงได้จ้างยามหนุ่มน้อยไว้คนหนึ่ง เขามีนามว่า อเล็กไทรออน (Alectryon) เพื่อให้คอยปลุกเธอเมื่อตอนใกล้รุ่งนั่นเอง

แต่เมื่อครั้งที่ความแตก ก็เป็นเพราะอเล็กไทรออนเผลอหลับเพลินจนถึงรุ่งเช้า ทำให้เทพอพอลโลได้เห็นความจริงว่าอาเรสกับอโฟรไดท์ได้หลับอยู่ด้วยกัน เทพอพอลโลโกรธมาก จึงนำเรื่องนี้ไปบอกแก่เทพฮีฟีสทัส ฮีฟีสทัสจึงลงโทษทั้งสองโดยการนำร่างแหเหล็กที่เคยเตรียมสานไว้ก่อนหน้านี้  มาทอดครอบไปยังอาเรสกับอโฟรไดท์ แล้วให้เทพทั้งปวงมาร่วมกันดูแคลน และหัวเราะร่วนกันอย่างสนุกสนานครื้นเครง ก่อนจะปล่อยตัวทั้งสองไป

ฝ่ายอาเรสรู้สึกอัปยศอดสูกับการโดนประจานต่อหน้าธารกำนัลครั้งนี้ยิ่งนัก จึงสาปให้อเล็กไทรออนกลายเป็นไก่ เพื่อทำหน้าที่คอยขันปลุกคนในยามใกล้รุ่งทุกเช้า เพื่อเป็นการลงโทษที่เขาแอบหลับยามจนนำความพินาศมาสู่เทพอาเรสนั่นเอง ด้วยเหตุนี้จึงเชื่อกันว่า ไก่ตัวผู้ทุกตัวที่เกิดขึ้นบนโลก ได้รับการสืบสกุลมาจากไก่อเล็กไทรออนตัวนี้ทั้งสิ้น ส่วนเทวีอโฟร์ไดท์ ก็ได้ประสูติธิดาออกมาองค์หนึ่งมีชื่อว่า อาร์โมเนีย ซึ่งเกิดกับอาเรส ในเวลาต่อมา นางก็ได้เป็นราชินีแห่งนครธีบส์

ชาวกรีกมีความรู้สึกไม่ชัดเจนต่ออาเรส เนื่องจากเทพอาเรสเป็นสัญลักษณ์ของความพ่ายแพ้เช่นเดียวกับความสามารถในสงครามแม้พระองค์จะทรงมีความกล้าทางกายซึ่งจำเป็นต่อความสำเร็จในสงคราม แต่เป็นพลังที่อันตราย "ท่วมท้น ละโมบในการยุทธ์ ทำลายล้างและฆ่าคน" ความกลัว (โฟบอส) และความสยองขวัญ (ไดมอส) พระโอรส และความแตกสามัคคี (เอนีโอ) คนรักและพระกนิษฐภคินี เดินทางไปกับพระองค์ด้วยบนรถม้าศึกในมหากาพย์อีเลียด

ซูสพระบิดาตรัสแก่อาเรสว่า พระองค์ทรงเป็นเทพที่ซูสเกลียดที่สุด สถานที่หรือวัตถุที่สัมพันธ์กับอาเรสทำให้สถานที่หรือวัตถุนั้นมีคุณภาพโหดร้าย อันตรายหรือเกี่ยวกับทหาร คุณค่าของพระองค์ในฐานะเทพแห่งสงครามกลายเป็นที่กังขา เพราะในสงครามกรุงทรอย อาเรสทรงอยู่ข้างที่ปราชัย ขณะที่อะธีนา ซึ่งมักพรรณนาในศิลปะกรีกโดยถือชัยชนะ (ไนกี) อยู่ในพระหัตถ์ อยู่ฝ่ายกรีกผู้ชนะ

แต่อย่างไรก็ตามชาวโรมันนั้นได้นับถือเทพเจ้าอาเรสเป็นอย่างมาก เพราะชาวโรมันโปรดปรานในการรบถึงกับแต่งให้แอรีสเป็นบิดาของรอมิวลุส (Romulus) ผู้สร้างกรุงโรมเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตามเราจึงได้เห็นว่าความรุนแรงหรือปัญหาไม่ใช่ทางออกของทุกสิ่ง ผู้คนย่อมเชิดชูในสิ่งที่ทำให้ตนเกิดประโยชน์มากที่สุด และหากตนเองนั้นมีความคิดที่ไม่ดีหรือกระทำสิ่งไม่ดีจะเห็นได้ว่าผลของการกระทำนั้นจะส่งผลกระทบต่อเราในแง่ที่ไม่ดีเช่นกันอย่างที่เหตุการที่ได้เกิดกับอาเรส


อ้างอิง  

ตำนานเทพ,เจ้ากรีกเทพาอาเรส (Ares) หรือ Mars แทพแห่งสงคราม. สืบค้นเมื่อ  29 กรกฎาคม พ.ศ.2561, จาก:  http://www.tumnandd.com/%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%9E%E0%B8%B2%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%AA-ares-%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD-mars/

ศาสนาและความเชื่อ,อาเรส เเอรีส (Ares) มาร์ส (Mars) เทพเจ้าแห่งสงครามและอาวุธ. สืบค้นเมื่อ  29 กรกฎาคม พ.ศ.2561, จาก: http://variety.phuketindex.com/faith/%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%AA-ares-%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%AA-mars-2907.html

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, เเอรีส. สืบค้นเมื่อ  29 กรกฎาคม พ.ศ.2561, จาก: https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%81%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%AA

1 ความคิดเห็น:

  1. การใช้ aktop1 ในการวิเคราะห์และปรับปรุงกระบวนการผลิต pg slot การรับประกันสินค้าเป็นเรื่องที่สำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าที่ซื้อสินค้าของอะแคทอป 1 ซึ่งอะแคทอป 1 จะยอมรับการรับประกันได้โดยมีขั้นตอน

    ตอบลบ