นโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte) มหากษัตริย์แห่งฝรั่งเศสผู้ขยายอำนาจไปทั่วยุโรป

โดย  ธินิดา ห้วยจันทร์

ผู้มีชัยชนะในเกือบทุกสมรภูมิรบ...มีกลยุทธที่ไม่เหมือนใคร...แม้บางครั้งที่มีกองกำลังทหารน้อยกว่าข้าศึก แต่ก็ยังได้คงรับชัยชนะ จนได้ครอบครองแผ่นดินส่วนใหญ่ในทวีปยุโรป...ความอัจฉริยภาพในการทำสงครามนี้ ทำให้เขาเป็นที่รู้จักและจดจำในนาม จักรพรรดิ นโปเลียนที่ 1 หรือ นโปเลียน โบนาปาร์ตแห่งฝรั่งเศส


napoleon bonaparte
ที่มา : https://www.thoughtco.com/

นโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte) หรือ นโปเลียนมหาราช เกิดเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ.1769 ณ เมืองอาฌัคซีโอ หรือ อายาชโช (ในภาษาอิตาลี) บนเกาะคอร์ซิกา ซึ่งเป็นเวลาเพียง 1 ปี ภายหลังจากที่ฝรั่งเศสได้ครอบครองเกาะนี้จากสาธารณรัฐเจนัวใน ค.ศ. 1768 ครอบครัวของเขาเป็นหนึ่งในตระกูลผู้ดีจำนวนน้อยนิดบนเกาะคอร์ซิก้า บิดาของเขาชื่อ ชาร์ลส์ มาเรีย โบนาปาร์ตหรือ คาร์โล มาเรีย บัวนาปาร์เต (สำเนียงอิตาลี) นโปเลียนถูกมองว่าไม่ใช่ชาวฝรั่งเศสโดยแท้ เมื่อเยาว์วัยได้ย้ายเข้าไปรับการศึกษาวิชาทางทหาร ที่โรงเรียนนายร้อยทหาร กรุงปารีส และได้เข้าร่วมกองพลปืนใหญ่ ภายใต้กองกำลังของลาแฟร์ ทำให้ในปี 1787 เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นร้อยตรี นโปเลียนเป็นคนที่มีความถนัดในการใช้สติปัญญามากกว่าทางใช้กำลัง

ต่อมาเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศสขึ้นในปี 1789 นโปเลียนได้เดินทางกลับไปปฏิบัติหน้าที่ที่เกาะคอร์ซิกา ในตำแหน่งพันโทและได้ต่อสู้กับขบวนการกู้ชาติคอร์ซิกา โดยมี ปาสกาล ดิเพาลี เป็นหัวหน้ากองทัพ ผลปรากฏว่ากองทัพฝั่งของนโปเลียนเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ จึงเป็นเหตุให้ครอบครัวโบนาปาร์ตต้องอพยพออกจากเกาะคอร์ซิกาไปอาศัยอยู่ในฝรั่งเศสกลายเป็นโอกาสที่ทำให้นโปเลียนได้เข้าร่วมกับขบวนการปฏิวัติ


ภาพเหตุการณ์การปราบปรามการก่อความไม่สงบในกรุงปารีส

เมื่อหลังการปฏิวัติใหญ่ในประเทศฝรั่งเศส ในยุคที่ฝรั่งเศสกำลังระส่ำระสาย และถูกข้าศึกรุมล้อมรอบด้าน นโปเลียนได้รับมอบหมายให้ยกกองทหารไปตีเมืองตูลอง (Toulon) ซึ่งอังกฤษยึดได้ ในปี 1793 ผลสุดท้ายคือนโปเลียนสามารถยึดเมืองตูลองคืนกลับมา ถือเป็นความดีความชอบ ส่งผลให้ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายพลปืนใหญ่ในเวลาต่อมา

ในปี 1795 ปอล บาร์ราส์ ผู้บัญชาการรักษาความสงบแห่งชาติของฝรั่งเศสในขณะนั้น ได้สั่งการให้นโปเลียนผู้ที่มีผลงานดีเด่นจากชัยชนะที่ตูลอง กลับมาปราบปรามกลุ่มผู้สนับสนุนราชวงศ์ที่ลุกฮือขึ้นมาต่อต้านสมัชชาแห่งชาติของฝรั่งเศส วิธีการของนโปเลียนคือการนำปืนใหญ่มาใช้เพื่อให้เกิดความเด็ดขาดและรุนแรงทำให้ยุติการก่อความไม่สงบได้ทันที มีผลให้ชื่อเสียงของนโปเลียนเป็นที่นิยมอย่างมากในกลุ่มประชาชน 

ในช่วงเวลานี้เอง บาร์ราส์ก็ได้แนะนำให้เขารู้จักกับ “โจเซฟิน โบฮาร์เนส” หญิงหม้ายวัย 33 ปี ซึ่งมีลูกติด 2 คน และมีอายุมากว่านโปเลียนถึง 6 ปี นโปเลียนได้ตกหลุมรักโจเซฟินตั้งแต่ครั้งแรกที่พบเห็น ต่อมาในค.ศ. 1796 นโปเลียนจึงได้แต่งงานกับโจเซฟิน เนื่องจากโจเซฟิน เป็นหญิงสาวที่อยู่ในสังคมชั้นสูงและได้รู้จักกับบุคคลในทางการเมืองเป็นจำนวนมาก จึงทำให้นโปเลียนมีความก้าวหน้าในหน้าที่ราชการเร็วยิ่งขึ้น

ผลของการปราบปรามกลุ่มก่อความไม่สงบในครั้งก่อนทำให้นโปเลียนได้รับการขนานนามว่าเป็นวีรบุรุษและได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแม่ทัพแห่งกองกำลังอิตาลี ในเดือนมีนาคม ค.ศ.1796 (หลังจากแต่งงานกับโจเซฟินได้ไม่นาน) เพื่อยึดอิตาลีกลับคืนมาจากออสเตรีย 

การทำสงครามของนโปเลียนในขณะนั้น กองกำลังของเขาได้ประสบกับปัญหามากมายทั้งเรื่องของอาวุธที่ไม่เพียงพอและเสบียงอาหารมีน้อย ทำให้ต้องอดมื้อกินมื้อแต่ด้วยการที่ทหารและตัวของนโปเลียนถูกฝึกฝนมาเป็นอย่างดี ทำให้การรบกับอิตาลีในครั้งนี้ ได้รับชัยชนะในที่สุด และนโปเลียนก็ยังสามารถทำให้อิตาลียอมทำสนธิสัญญาสงบศึก ที่เสียเปรียบต่อฝรั่งเศสได้นั่นก็คือสนธิสัญญา “กัมโป-ฟอร์มิโอ”  ว่าด้วยเรื่องการให้ฝรั่งเศสเข้าครอบครองเบลเยียม และยึดพรมแดนไปติดแม่น้ำไรน์ ส่วนออสเตรียได้ถือครองแคว้นเวเนเซีย (มหาราชผู้ครองโลก.2554:270)

ในปี 1798 สมัชชาแห่งชาติฝรั่งเศส ได้มีความกังวลต่อกระแสความนิยมที่ประชาชนมีต่อนโปเลียนเพิ่มสูงขึ้น จึงได้บัญชาให้นโปเลียนนำทัพเข้าบุกอียิปต์โดยอ้างว่าฝรั่งเศสต้องการเข้าครอบครองดินแดนตะวันออกใกล้และตะวันออกกลางเพื่อตัดเส้นทางลำเลียงของอังกฤษไปยังอินเดีย ในช่วงเวลานั้นถือว่าประเทศอังกฤษกับฝรั่งเศสเป็นศัตรูกัน เพราะอังกฤษถือเป็นประเทศที่มีอำนาจและมีเครื่องมือในการรบที่เหนือกว่าฝรั่งเศสก็ว่าได้ (นโปเลียนเคยคิดจะทำสงครามเพื่อยึดอังกฤษอยู่หลายครั้งแต่ไม่เป็นผลสำเร็จ) สุดท้ายนโปเลียนก็ยึดอียิปต์มาเป็นของฝรั่งเศสได้ เมื่อยึดอียิปต์ได้นโปเลียนก็ไม่ได้เดินทางกลับปารีสโดยทันที แต่ยังคงอยู่ปกครองที่อียิปต์ต่อ

มาในปี 1799 นโปเลียนได้ทราบข่าวความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศส ทำให้นโปเลียนตัดสินใจเดินทางกลับไปยึดอำนาจในฝรั่งเศสทันทีโดยการล้มรัฐบาล ไดเรคทอรี่ ในขณะนั้น และได้เปลี่ยนแปลงการปกครอง มาเป็นระบอบกงสุล นโปเลียนได้แต่งตั้งตนเองเป็นกงสุลที่ 1 ปกครองประเทศร่วมกับกงสุลอีก 2 คน คือ โรเจอร์ ดูโกส์ และ ซีแยส์

ใน ค.ศ. 1802 มีการวางแผนล้มอำนาจของนโปเลียนจากกลุ่มนิยมกษัตริย์ โดยคนกลุ่มนี้ได้ร่วมมือกับอังกฤษบุกเข้ามาในปารีสแต่ผลสุดท้ายก็กระทำการไม่สำเร็จ เพื่อไม่ให้ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก นโปเลียนจึงใช้เหตุผลนี้เป็นข้ออ้างในการจัดตั้งจักรวรรดิขึ้นในฝรั่งเศส เพื่อให้กลุ่มนิยมกษัตริย์เหล่านี้หมดโอกาสขึ้นมามีอำนาจอีกครั้ง สองปีต่อจากนั้น สภานิติบัญญัติจึงได้มีมติเห็นชอบ มีผลให้สาธารรัฐฝรั่งเศสที่ 1 เปลี่ยนมาเป็นจักรวรรดิฝรั่งเศส และนโปเลียนก็ได้เปลี่ยนสถานภาพของตนมาเป็นจักรพรรดินโปเลียนที่ 1



ในเดือน ธันวาคม ค.ศ. 1804 สันตะปาปาไพอัสที่7 เสด็จไปกรุงปารีสเพื่อทำพิธีราชาภิเษกอย่างเป็นทางการเพื่อเปลี่ยนสถานภาพให้นโปเลียนและโจเซฟิน (จักรพรรดิและราชินี) จากเดิมที่พระสันตะปาปาจะเป็นคนที่สวมมงกุฎให้กษัตริย์ แต่ปรากฏว่า นโปเลียนทรงรับมงกุฎจากสันตะปาปามาสวมด้วยพระหัตถ์ของพระองศ์เองทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า นโปเลียนให้ความสำคัญของศาสนจักรลดน้อยลง

ในยุคจักรพรรดินโปเลียน ได้ทำสงครามกับดินแดนต่างๆ มากมายจนสามารถเข้าปกครองดินแดนส่วนใหญ่ของยุโรปได้ แล้วแต่งตั้งให้แม่ทัพและญาติพี่น้องของตนขึ้นครองบัลลังก์ในราชอาณาจักรยุโรปหลายแห่ง ประเทศอื่นเมื่อเห็นว่า นโปเลียนได้ครอบครองหลายประเทศ ก็เกิดความต้องการที่จะหยุดยั้งอำนาจของนโปเลียน ทำให้ในประเทศที่มีอำนาจได้ร่วมมือกัน (เกิดเป็นฝ่ายพันธมิตร) และเข้าบุกกรุงปารีสในเวลาต่อมา ใน ค.ศ. 1814 ประเทศที่เป็นฝ่ายพันธมิตรของฝรั่งเข้ายึดครองกรุงปารีสได้สำเร็จ ผลของการแพ้สงครามในครั้งนี้ทำให้ นโปเลียนถูกบังคับให้สละราชบัลลังก์ที่พระราชวังฟ่อนเทนโบ

เมื่อสละราชบัลลังก์ได้ไม่นานนโปเลียนก็ถูกเนรเทศไปอยู่ที่เกาะเอลบา (ELBA) ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน พร้อมทหารรักษาพระองศ์ ก่อนจะหวนคืนสู่อำนาจอีกครั้ง แต่อยู่ได้ไม่นานก็พ่ายแพ้ในสงครามอีกครั้ง สงครามสุดท้ายของนโปเลียนก็คือ “สงครามวอเตอร์ลู” เป็นที่รู้จักกันในนามของสมัยร้อยวันแห่งการกลับคืนสู่อำนาจของนโปเลียน (Hundred Days) สุดท้ายนโปเลียนก็ถูกเนรเทศไปอยู่ที่เกาะเซนต์ เฮเลนนา (Saint Helena) และได้สิ้นพระชนม์ด้วยโรคแผลในกระเพาะอาหาร เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ค.ศ. 1821

จากบุคคลธรรมดา ที่เกิดอยู่ภายในเกาะเล็กๆแห่งหนึ่งของฝรั่งเศส สู่การเป็นจักรพรรดิที่ยิ่งใหญ่และได้ปกครองยุโรปเกือบทั้งหมด ทำให้วีรประวัติที่พระองค์ทรงปฏิบัติมาตลอด รัชสมัยนั้นได้รับการสรรเสริญและยกย่องให้พระองค์ เป็นมหาราช ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกตะวันตกในเวลาต่อมา

นโปเลียนมหาราช ได้รับการยกย่องว่าเป็นแม่ทัพที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์แม้ด้านหนึ่งจะได้ชื่อว่าทรงเป็นผู้ที่กระหายในอำนาจและ ชัยชนะ แต่นโปเลียนก็เป็นที่ยอมรับว่าในสมัยของพระองค์ พระองค์ได้ทรงทำให้ประเทศฝรั่งเป็นประเทศที่มีอำนาจอย่างมาก และเป็นที่เกรงกลัวของประเทศอื่นๆ นอกจากการขยายอำนาจของพระองค์แล้ว พระองค์ก็ยังได้สร้างรัฐธรรมนูญและปฏิรูประบบกฎหมายฝรั่งเศสขึ้นอย่างเป็นระบบ ให้การอุปถัมภ์ทางด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ ศิลปะและวรรณคดี...นโปเลียนเคยกล่าวไว้ว่า

“I love power. But it is as an artist that I love it. I love it as a musician loves his violin, to draw out its sounds and chords and harmonies.” (ฉันรักอำนาจ แต่รักแบบที่ศิลปินรักดนตรี รักแบบที่นักดนตรีรักไวโอลิน)


อ้างอิง 

ปัญญา วิวัฒนานันต์.มหาราชผู้ครองโลก.พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : ยิปซี สำนักหิมพ์,2554
 
สิริ เปรมจิตต์.นโปเลียนมหาราช.พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ :โรงพิมพ์เฟื่องอักษร,2509

เอี่ยม ฉายางาม.ประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส ค.ศ 1789-1884.พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพาณิช, 2523

NapoleonBonaparteQuotes.[ออนไลน์]. เข้าถึงเมื่อ 20 กันยายน 2561, จาก: https://www.brainyquote.com/quotes/napoleon_bonaparte_15018

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น