ดวงตาแห่งโฮรุส (The Eyes of Horus) : สัญลักษณ์แห่งมหาเทพ ‘โฮรุส’

โดย ศิรินภา เฉื่อยไธสง

ไอคุปต์ ดินแดนอียิปต์โบราณที่ซึ่งมีอารยธรรมเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีตำนานและเรื่องเล่ามากมายได้ถูกบันทึกและเล่าขานสืบต่อมา ซึ่งล้วนแล้วแต่น่าสนใจทั้งสิ้น ชาวไอคุปต์นับถือเทพเจ้าหลายองค์ และหนึ่งในสามเทพที่ได้รับการนับถือมากที่สุดในอียิปต์โบราณ ผู้ซึ่งนำความสันติยาวนานมาสู่ดินแดนอียิปต์  “เทพโฮรุส” ผู้มีดวงตาที่รู้แจ้ง ผู้ทิ้งไว้ซึ่งสัญลักษณ์อันได้รับการนับถือประหนึ่งเป็นตัวแทนพระองค์ พบมากในศิลปะโบราณและยังคงได้รับการเคารพในปัจจุบัน นั่นคือ “ดวงตาแห่งโฮรุส  (The Eyes of Horus)”
           
เทพโฮรุส (Horus) ทรงเป็นโอรสของเทพโอซีริส (Osiris) เทพแห่งชีวิตหลังความตาย ผู้ซึ่งปกครองยมโลกอันเป็นดินแดนแห่งวิญญาณ เทพโอซีริสทรงเปี่ยมด้วยเมตตาและต่อต้านความรุนแรงทุกรูปแบบ อีกทั้งเป็นผู้นำพาดินแดนอียิปต์โบราณหลุดพ้นจากความป่าเถื่อนสู่ดินแดนแห่งอารยธรรม  และ เทพีไอซิส (Isis) เทพีแห่งความรัก  ความอุดมสมบูรณ์และการรักษา นอกจากนี้ชาวอียิปต์ยังมีความเชื่อว่าพระนางเป็นผู้สอนชาวอียิปต์ให้รู้จักการปั่นด้ายและทอผ้า ทำแป้งสาลี รวมถึงการกสิกรรมต่างๆ เทพและเทพีทั้งสองได้รับการนับถืออย่างมาก ไม่ต่างจากโฮรุสบุตรของพระองค์ ด้วยเชื่อว่าดินแดนไอคุปต์รุ่งเรือง และมากด้วยสันติสุขนับคณาในช่วงเวลานั้น


ที่มา: https://writer.dek-d.com/

เทพโฮรุส (Horus) เป็นหนึ่งในเทพที่ได้รับการนับถือสูงสุดในอียิปต์ มีเทพีฮาธอร์ (Hathor) เทพีแห่งความรัก ความสุข การแต่งงาน การเต้นรำ และความงดงาม เป็นพระชายา รูปลักษณ์เทพโฮรุสอันเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปคือชายหนุ่มที่มีพระเศียรเป็นเหยี่ยว มีพระเนตรทั้งสองเป็นดวงอาทิตย์และดวงจันทร์  ชาวไอยคุปต์ต่างสรรเสริญพระองค์ในฐานะเทพผู้กล้า ราชันย์แห่งชัยชนะและการแก้แค้น เทพแห่งแสงสว่างและเทพแห่งความหวัง พระองค์ทรงพิชิตเทพเสต (Seth) เทพแห่งความมืดและการทำลายล้าง ซึ่งเป็นพระปิตุลาของพระองค์เอง และได้ทวงคืนราชบรรลังก์อันเป็นของพระองค์โดยชอบธรรมกลับคืน ซึ่งนั่นเป็นการทำให้ความมืดดำหายไปจากโลก โฮรุสจึงถือเป็นผู้นำความสงบและสันติกลับคืนสู่ดินแดนอียิปต์โบราณ  พระองค์คือฟาโรห์ผู้ปกครองไอคุปต์ให้สงบสุขเป็นเวลายาวนานหลายร้อยปี นอกจากนี้ชาวอียิปต์โบราณต่างเชื่อว่าฟาโรห์องค์สุดท้ายคือเทพโฮรุสที่ในภาคมนุษย์ที่สถิตลงมาเพื่อปกครองแผ่นดิน โดยมีคำเรียกแทนฟาโรห์ว่า ‘Living Horus’
   
บทสรรเสริญเทพโฮรุส
“...ขอให้เทพเจ้าโฮรุสผู้กล้าหาญ โอรสแห่งเทพเจ้าโอซิริสทรงพระเจริญ...
...ขอความรุ่งเรืองจงบังเกิดแด่ เทพโฮรุส ผู้แข็งแกร่ง ครองฉมวกเป็นอาวุธ ผู้กล้าผู้พิชิตเสต
ราชบุตรองค์เดียวในโอซิริส เทพโฮรุสแห่งเอดฟู เทพแห่งการล้างแค้น!...” (ชลิตดา. ตำนานอียิปต์โบราณ (ฉบับสมบูรณ์).  กรุงเทพฯ : พิมพ์คำ. 2548. หน้า 95)


ที่มา: https://io9.gizmodo.com/
           
ดวงตาแห่งโฮรุส สัญลักษณ์จากอียิปต์โบราณ เป็นพระนามของเทพโฮรุส หนึ่งในเทพผู้มีอำนาจมากที่สุดและโดดเด่นที่สุดแห่งไอคุปต์ เดิมชาวอียิปต์เรียกสัญลักษณ์นี้ว่า ‘Wedjat’ หรือ ‘Udjat’ ตามพระนามของเทพธิดาวัดเจต (Wadjet) เทพีผู้ปกครองอียิปต์ล่าง แต่โดยมากเรื่องราวของสัญลักษณ์นี้มักถูกโยงเข้ากับเทพโฮรุสเสียมากกว่า ดวงตาแห่งโฮรุส มีลักษณะคล้ายดวงตามนุษย์แต่มีหางตาอย่างเหยี่ยว ตามลักษณะพระเศียรของเทพโฮรุส บ้างก็ปรากฏหยดน้ำตาบริเวณด้านล่างของดวงตาด้วย

สัญลักษณ์นี้คาดว่าเป็นดวงตาข้างซ้ายของเทพโฮรุส โดยอ้างจากตำนานหนึ่ง อันเป็นเรื่องราวการแย่งชิงราชบัลลังก์ภายหลังเทพโอซีริส (Osiris) สิ้นพระชนม์ เทพเสต (Seth) และเทพโฮรุส (Horus) ได้ต่อสู้กันทั้งทางการศึกและการใช้เล่ห์อุบาย  และระหว่างการต่อสู้ เทพเสต ได้ควักลูกตาซ้ายของโฮรุสออก แต่ภายหลังดวงตานั้นก็ถูกฟื้นฟูจนเกือบสมบูรณ์ โดยมีเทพีฮาธอร์ (Hathor) ผู้เป็นชายาช่วยรักษา และเมื่อดวงตาของตนหายดีแล้ว โฮรุสก็นำดวงตามอบให้แด่โอซิริสผู้เป็นพระบิดา เพื่อให้ดวงตานั้นฟื้นฟูพลังชีวิตของบิดาตน ด้วยตำนานดังกล่าวดวงตาของโฮรุสจึงมักถูกใช้เป็นสัญลักษณ์แห่งการเสียสละ การฟื้นฟู และการปกป้อง

ชาวอียิปต์โบราณเชื่อถือว่า ดวงตาแห่งโฮรุส เป็นสัญลักษณ์แห่งการปกป้องคุ้มครอง โดยมีเรื่องเล่าถึงความเชื่อนี้ว่า ลูกเรือชาวอียิปต์คนหนึ่งได้วาดสัญลักษณ์ดวงตาแห่งเทพโฮรัสไว้บนคันธนูของตน ก่อนแล่นเรือไปบนเส้นทางที่เต็มไปด้วยอันตราย เป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งที่ชายหนุ่มคนนั้นสามารถเดินทางผ่านน่านน้ำที่ไม่คุ้นเคยได้อย่างปลอดภัย ต่างเชื่อกันว่า ดวงตาแห่งโฮรุส ที่เขาวาดไว้บนบนคันธนู ได้ช่วยนำทางเรือและคุ้มครองเขาให้ปลอดภัย เสมือนมีเทพโฮรุสผู้ฉลาดหลักแหลม และมีดวงตาที่มองทะลุได้อย่างรู้แจ้งเห็นจริงคอยช่วยเหลือนั่นเอง ทั้งนี้ ดวงตาแห่งโฮรุส ยังได้รับการเปรียบว่าเป็นสัญลักษณ์ของความรอบรู้ สุขภาพดี และความมั่งคั่ง มีพลังอำนาจที่ส่งผลต่อการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันให้กับโลกที่ไม่มีความมั่นคง และแก้ไขสิ่งที่ไม่เที่ยงธรรมอีกด้วย

ดวงตาแห่งโฮรุส ยังถือเป็นสัญลักษณ์ของการเกิดใหม่กลับมาอีกครั้ง อาจเชื่อมโยงไปถึงเทพโฮรัสผู้ซึ่งไม่มีวันตาย แม้จะถูกลอบปลงพระชนม์หรือสิ้นชีพไปกี่ครั้งคราพระองค์ก็ยังคงคืนชีพกลับมาเสมอ สัญลักษณ์นี้จึงถูกพบว่าเป็นสัญลักษณ์ที่ถูกจารึกลงบนหีบศพ ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันสุขภาพของผู้วายชนม์ และเพื่อให้ร่างฟื้นคืนขึ้นมาได้ เมื่อ ‘คา’ กลับมา และสัญลักษณ์นี้ยังมีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นทางให้แก่ฟาโรห์ในยามที่เดินทางจากดินแดนแห่งชีวิตไปสู่ดินแดนแห่งความตาย คนโบราณจึงเคารพดวงตาของฮอรัสเป็นดังตัวแทนของอาณาจักรใหม่อันเป็นนิรันดร์จากฟาโรห์องค์หนึ่งไปสู่ฟาโรห์อีกองค์หนึ่ง


ที่มา: https://www.imdb.com/

สัญลักษณ์ ดวงตาแห่งโฮรุส นี้ ยังคงได้รับความนิยมและนับถืออย่างมากในปัจจุบันดังจะเห็นได้จากภาพยนตร์ เทพนิยาย รวมไปถึงวงการต่างๆที่ได้นำไปเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงออกถึงความเชื่อนี้ ปัจจุบันผู้คนนิยมนำดวงตาแห่งโฮรุสไปดัดแปลงเป็นเครื่องรางและเครื่องประดับต่างๆ เพื่อง่ายต่อการพกพา แต่ยังคงยึดถือตามความหมายเดิมของอียิปต์โบราณ คือเป็นเครื่องหมายแห่งการปกป้องคุ้มครอง ความอุดมสมบูรณ์ ความรู้ พลังอำนาจ และสุขภาพที่ดี

ถึงแม้ว่าความเชื่อและศรัทธาใน ดวงตาแห่งโฮรุส จะมิได้มากล้นเหลือดังในอดีต หากแต่ยังคงไว้ซึ่งความขลังดังตำนานที่มีมาอย่างยาวนาน และประวัติศาสตร์แห่งทวยเทพที่ยังคงถูกเล่าขานสืบต่อมาผ่านสัญลักษณ์นี้ เพียงแต่รูปแบบการเคารพอาจแตกต่างออกไป หรือคงเหลือศรัทธาอยู่ในชนเฉพาะกลุ่มมิสิ่งเคารพของคนส่วนใหญ่เช่นในอดีต แต่ถึงอย่างไรความเชื่อในสัญลักษณ์แห่งมหาเทพนี้ ก็ยังคงสืบต่อมาจวบจนปัจจุบันมิได้สูญหายไปตามกาลเวลาแต่อย่างใด


อ้างอิง

etatae333.  (2557).    เทพฮอรัส (Horus) โอรสแห่งโอซิริส. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 28 กันยายน 2561, จาก: http://www.cmxseed.com/cmxseedforumn/index.php?topic=96175.0

Eye of Horus.  [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 24 ธันวาคม 2561, จาก :  https://en.wikipedia.org/wiki/Eye_of_Horus

Mythologian NET.  (ม.ป.ป.) The Eye of Horus (The Egyptian Eye) and Its Meaning. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 28 กันยายน 2561, จาก : http://mythologian.net/eye-horus-egyptian-eye-meaning/

ชลิตดา. ตำนานอียิปต์โบราณ (ฉบับสมบูรณ์). (2548).  กรุงเทพฯ : พิมพ์คำ.

สมฤทธี บัวระมวล, บก.เรียบเรียง.  ตำนานอียิปต์โบราณ ยุครุ่งอรุณแห่งอารยธรรมโลก.  (2542).  กรุงเทพฯ : คุ้มคำ.
         

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น