นิโคลา เทสลา (Nikola Tesla)

โดย ณัฐฐิญา สุทธิโสมสุข

ชะตาชีวิตของมนุษย์เราไม่มีความแน่นอน บางคนมีสติปัญญาล้ำเลิศเข้าขั้นอัจฉริยะ แต่แทนที่จะมีความมั่งคั่งสุขสบายจากความสามารถ กลับถูกโชคชะตาเล่นตลกเพราะถูกโกง หรือหักหลังจนสิ้นเนื้อประดาตัว อย่างอัจฉริยะที่ถูกโลกลืมคนหนึ่งที่ชื่อว่า นิโคลา เทสลา (Nikola Tesla) นักวิทยาศาสตร์ร่วมสมัยกับ โทมัส เอดิสัน เขาเป็นนักประดิษฐ์ที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของอเมริกา แต่ถ้าถามว่าใครเป็นนักประดิษฐ์และนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียง ทุกคนคงตอบว่าโทมัส เอดิสัน น้อยคนนักที่จะรู้จักกับนิโคลา เทสลา

นิโคลา เทสลา เกิดเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ค.ศ. 1886 ที่เมืองสมิลจาน เดิมคือออสเตรีย - ฮังการี ซึ่งปัจจุบันคือสาธารณรัฐโครเอเชีย (Croatia) และถึงแก่กรรมวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2486 (86 ปี) เป็นนักประดิษฐ์ นักฟิสิกส์ วิศวกรเครื่องกล และวิศวกรไฟฟ้า เขาไม่เพียงเป็นอัจฉริยะเจ้าของสิทธิบัตรกว่า 300 รายการ แต่ยังเป็นบิดาแห่งวงการวิศวกรรมศาสตร์ไฟฟ้า มีชื่อเสียงโด่งดังทัดเทียมเอดิสันในครึ่งแรกของชีวิต



เทสลาได้ประดิษฐ์ขดลวดเทสลา หรือ Tesla coil และค้นพบมอเตอร์เหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้าที่สามารถใช้งานได้เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1888 และเขาก็ได้พยายามขายสิทธิบัตรมอเตอร์ไฟฟ้านี้ แต่ก็ถูกปฏิเสธครั้งแล้วครั้งเล่ากว่าจะสามารถทำให้มอเตอร์เหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้าได้รับการยอมรับ จึงทำให้ชื่อของเขาถูกนำมาใช้เป็นหน่วยหลักของแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อเป็น เกียรติในเวลาต่อมา อีกทั้งเขายังเป็นผู้ค้นพบวิธีการสื่อสารแบบไร้สาย ซึ่งเป็นที่มาของเทคโนโลยี wireless ที่เราใช้กันในปัจจุบัน

ในปี ค.ศ.1899 เทสลาสร้างห้องแล็บที่ Colorado Springs สร้างคอยล์ขนาดยักษ์เพื่อสร้างสนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีความถี่สูงมากจนสามารถส่งกระแสไฟ 10,000 วัตต์ ผ่านอากาศไปจุดดวงไฟ 200 ดวง ที่อยู่ไกลถึง 40 กิโลเมตรได้ เทสลาเชื่อว่าเขาได้ค้นพบความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ครั้งสำคัญ และเพื่อจะพิสูจน์ความจริงดังกล่าว เขาก็ต้องการเงินทุนมากขึ้น ซึ่งในปี ค.ศ. 1900 เขาก็ได้นายทุนชื่อ John Pierpont Morgan มาเป็นผู้สนับสนุนและให้เงินทุน ซึ่งเทสลาต้องตอบแทนโดยการมอบการควบคุมสิ่งที่เขาได้จดลิขสิทธิ์เอาไว้ ทำให้เทสลาตกเป็นเหยื่อของกฎหมายทางธุรกรรมที่ผูกมัดเขา เพราะมอร์แกนได้ลงทุนไปกับบริษัทที่ใช้กระแสไฟฟ้าสลับ และเขาก็ไม่ต้องการจะให้ระบบไฟฟ้าไร้สายของเทสลามาเป็นคู่แข่ง เมื่อถูกขโมยเอาลิขสิทธิ์ต่างๆ รวมทั้งขาดการอุดหนุนทางการเงิน ความฝันของเทสลาเกี่ยวกับพลังงานที่ไร้สายก็ถึงจุดจบ เขาต้องเริ่มต้นใหม่โดยขาดทั้งเงินและงานเมื่ออายุได้ 50 ปี

เทสลาไม่เข้าใจหลักมนุษยสัมพันธ์ หรือการวางตัวกลางฝูงชน เทสลามักอธิบายความคิดของเขาโดยใช้เหตุผลทางทฤษฎี และหวังให้คนฟังต้องเข้าใจและยอมรับทุกอย่างที่เขาพูด เทสลาชอบอ้างว่า เขาสาบานตอนเป็นเด็กว่าจะทุ่มเทเวลาทั้งหมดให้กับงาน และจะไม่เสียเวลากับการแต่งงาน แต่เมื่อเขาแก่ตัวลง ปากจัดมากขึ้นและมีคนนับถือน้อยลง เขาจึงไม่มีคนใกล้ชิดคอยฟังหรือเป็นกำลังใจให้ สมาชิกในครอบครัวเพียงคนเดียวที่เขาติดต่อด้วยในช่วงบั้นปลายชีวิตคือหลานชายชื่อ ซาวา โคซาโนวิช (Sava Kosanovich)

ในวันที่ 5 มกราคม 2586 เทสลาโทรศัพท์ไปหาพันเอกเออร์สไกน์ (Erskine) รัฐมนตรีสงครามของอเมริกาเสนอยกความลับของขีปนาวุธ 'โทรกำลัง' ให้ทั้งหมด เออร์สไกน์ไม่รู้ว่าเทสลาคือใครคิดว่าเขาเป็นแค่คนบ้าจึงพูดบอกเขาว่าจะติดต่อกลับแต่ก็ลืม ซึ่งนั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่เทสลาติดต่อกับโลกภายนอก เทสลาเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจล้มเหลวในห้องโรงแรมที่ New York City เมื่อวันที่ 7 มกราคม ค.ศ. 1943 ถึงแม้ว่าเขาจะมีชื่อเสียงและมีอิทธิพลต่อโลกของเรามาก เขากลับเสียชีวิตทั้งที่มีหนี้สินมากมายและอย่างโดดเดี่ยว

หลังจากที่เขาเสียชีวิตลงFBIได้สั่งการให้สำนักงานทรัพย์สินคนต่างชาติ หรือ The Office of Alien Property เข้ายึดทรัพย์สินทุกชิ้นของเขา บั้นปลายชีวิตของเขาจึงแตกต่างจากโทมัส เอดิสันมาก ในขณะที่เอดิสันเป็นที่รู้จักกันในนามนักประดิษฐ์แห่งศตวรรษ ส่วนเรื่องราวของเทสลากลับมีความยาวเพียงแค่หนึ่งย่อหน้าในหนังสือประวัติศาสตร์ ได้รับการจดจำเพียงหน่วยวัดสนามแม่เหล็กที่เรียกว่าเทสลาเท่านั้น ซึ่งดูไม่เหมาะสมเลยกับอัจฉริยะที่นำแสงสว่างและพลังงานมาให้กับคนเป็นล้านๆ คน ได้ใช้เพียงแค่กดสวิตซ์ไฟฟ้าเท่านั้น


อ้างอิง

ทีมงานทรูปลูกปัญญา. (2556). นิโคลา เทสลา อัจฉริยะสติเฟื่อง ที่โลกลืม. เข้าถึงเมื่อ 18 กันยายน 2558, จาก http://www.trueplookpanya.com/new/cms_detail/knowledge/25171-037137/

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. (2558). นิโคลา เทสลา. เข้าถึงเมื่อ 18 กันยายน 2558, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/นิโคลา_เทสลา

myfirstbrain.com. (n.d.). นักวิทยาศาสตร์ของโลกนิโคลา เทสลา. เข้าถึงเมื่อ 18 กันยายน 2558, จาก http://www.myfirstbrain.com/student_view.aspx?id=56580

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น