ปราสาทหินนครวัด (Angkor Wat)

โดย สถิต  แสนบุญ
       
อารยธรรมเขมรเคยมีความรุ่งเรืองสูงสุดมาแต่สมัยโบราณ ทำให้มีสิ่งก่อสร้างที่เป็นตัวแทนของแต่ละยุคสมัยจำนวนมาก กระทั่งในปัจจุบันนี้ก็ยังมีการค้นพบปราสาทหินใหญ่น้อยจำนวนมากมายในหลายๆ พื้นที่ด้วยกัน ซึ่งแต่ละที่ต่างมีความสำคัญต่อการศึกษาเชื่อมโยงเรื่องราวและชีวิตความเป็นอยู่ของคนในอดีตได้เป็นอย่างดี และโดยเฉพาะสิ่งก่อสร้างที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ของโลกแห่งหนึ่ง นั่นคือ ปราสาทหินนครวัด

ปราสาทนครวัด  ตั้งอยู่ในเมืองพระนคร จังหวัดเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา สร้างในรัชสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2  ผู้ครองอาณาจักรขอมช่วง พ.ศ.1656-1693  ได้ทรงสร้างปราสาทนครวัดเพื่อเป็นเทวาลัยบูชาและให้เป็นที่เก็บพระศพของพระวิษณุ ซึ่งเป็นมหาเทพรุ่งเรืองของพราหมณ์ฮินดูไวษณพนิกาย ปราสาทหินนครวัดจึงหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ซึ่งเป็นทิศของผู้ตาย  และภายการหลังสิ้นพระชนม์ ทรงได้พระนามว่า “บรมวิษณุ” ปราสาทนครวัดจึงมีอีกชื่อว่า “บรมวิษณุมหาปราสาท”

นครวัดเป็นปราสาทที่มีขนาดใหญ่จนเรียกได้ว่าเป็น “มหาปราสาท”  มีพื้นที่ครอบคลุมกว่า 20,000 ตารางเมตร มีเสาจำนวนมากถึง 1,800 ต้น แต่ละต้นทำจากหินมีน้ำหนักราว 10  ตัน  และมีหอที่สูงที่สุดของปราสาทซึ่งอยู่ศูนย์กลางของกลุ่มปราสาทมีความสูงราว 60 เมตร นับเป็นสิ่งก่อสร้างที่มีขนาดใหญ่ที่ถูกสร้างขึ้นด้วยกำลังแรงจากคนและสัตว์ล้วนๆ  ปราศจากเครื่องจักรสำหรับช่วยยกหรือทุ่นแรงใดๆ เนื่องจากในอดีตยังไม่มีเทคโนโลยี

ที่มา : https://upload.wikimedia.org/

การสร้างปราสาทนครวัดที่ต้องใช้หินเป็นหลายล้านลูกบาศก์เมตรนี้มีการสันนิษฐานว่า ต้องใช้แรงงานช้างนับหมื่นเชือก แรงงานคนนับแสน เพื่อขนและชักลากหินมาจากเขาพนมกุเลน ซึ่งอยู่ห่างออกไปกว่า 50 กิโลเมตร  เพื่อมาสร้างมหาปราสาท นอกจากความยิ่งใหญ่อลังการแล้วยังมีด้านสถาปัตยกรรมตกแต่ง ที่แสดงออกถึงความประณีตความชดช้อยงดงามด้วยการนำเอารูปแบบทางวัฒนธรรมมาผสมผสานในออกแบบ กำแพงชั้นนอกรอบๆปราสาทตกแต่งด้วยงานแกะสลักหินประกอบด้วย ภาพเล่าวรรณคดีรามายณะ ภาพเทวดากับอสูรกวนเกษียรสมุทรด้วยเขาพระ สุเมรุ รวมถึงภาพนางอัปสร หรืออัปสรากว่า 1,635 นาง ที่ทั้งหมดทรงเครื่องและทรงผมไม่ซ้ำกันเลย ด้วยความอลังการหลายๆอย่างของปราสาทหินนครวัดจึงทำให้ได้รับการขนานนามว่า “เป็นปราสาทที่มีความยิ่งใหญ่และงดงามดั่งสวรรค์บนแดนดิน”

ต่อมาเมื่อถึงสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้ทรงเปลี่ยนปราสาทนครวัดให้เป็นศาสนสถานของพุทธนิกายมหายาน แต่ไม่นานพวกจามก็ได้เข้ามาบุกขอม ทำให้พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ต้องทรงย้ายไปตั้งเมืองใหม่ที่เมืองนครหลวง ห่างจากปราสาทนครวัดไปทางเหนือและได้ทรงสร้างเมืองนครธมและปราสาทบายนขึ้น

ภาพสลักนูนสูงรูปนางอัปสรฟ้อนรำ
ที่มา : https://upload.wikimedia.org/
                                              
และในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 8 เขมรได้เปลี่ยนกลับมานับถือศาสนาฮินดูอีกครั้ง แต่เป็นลัทธิไศวนิกาย ที่บูชาพระศิวะ หรือพระอิศวร  จนถึงสมัยนักองค์จันทร์ (พ.ศ.2059-2099) อาณาจักรเขมรยุคเมืองพระนครได้ล่มสลายไปโดยสิ้นเชิงเมื่อตกเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยา จากนั้นมาชาวเขมรก็หันกลับมานับถือพระพุทธศาสนาอีกครั้ง เป็นพุทธหินยานแบบอยุธยา และเมืองหลวงถูกย้ายลงไปทางใต้เรื่อยๆ ทำให้ปราสาทโบราณต่างๆ ถูกทิ้งร้างไป

ต่อมาชนนีนักองค์จันทร์เดินทางขึ้นเหนือไปทำบุญ มาพบปราสาทโบราณถูกทิ้งร้าง นักองค์จันทร์จึงได้บัญชาให้คนไปสร้างต่อสำหรับบางส่วนสร้างไม่เสร็จ จนได้กลายเป็นวัดในพุทธศาสนาที่ชื่อ “นครวัด” ซึ่งมาจาก นอกอร์ หมายถึง นคร บวกกับคำว่า วัด เดิมฝรั่งเศสเรียกชื่อ นอกอร์วัด ได้เพี้ยนเป็น อังกอร์วัด ที่ใช้มาจนทุกวันนี้ และนครวัดก็ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกภายใต้ชื่อ เมืองพระนคร      

เวลาล่วงเลยผ่านมาหลายศตวรรษ เมื่อกษัตริย์รุ่นต่อๆ มาย้ายเมืองหลวงลงไปทางใต้ ทำให้นครวัดถูกทิ้งร้าง กลายเป็นป่ารกขึ้นปกคลุม หลังจากสมัยที่นักองค์จันทร์ให้บูรณะปราสาทนครวัดไปแล้ว ปราสาทต่างๆถูกปล่อยร้างและถูกกลืนหายไปจากสายตาไปเป็นส่วนหนึ่งของป่าดงพงไพร        

ปัจจุบันนครวัดจึงเป็นสิ่งก่อสร้างทางศาสนาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก เป็นสัญลักษณ์สำคัญของประเทศกัมพูชา โดยปรากฏอยู่ในธงชาติ และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวหลักของประเทศ และเป็นสมบัติร่วมกันของชาวโลก ที่ต้องช่วยกันอนุรักษ์ไว้ สำหรับคนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไป


อ้างอิง

น้าชาติ ประชาชื่น / หนังสือพิมพ์ข่าวสด. นครวัด ตำนานนครวัด ประวัตินครวัด ปราสาทนครวัด. สืบค้นเมื่อ 27 สิงหาคม 2558, สืบค้นจาก  http://www.siamganesh.com/hindu/archives/306

นครวัด. สืบค้นเมื่อ 27 สิงหาคม 2558, สืบค้นจาก https://th.wikipedia.org/wiki/นครวัด

Dooasia. นครวัดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่. สืบค้นเมื่อ 27 สิงหาคม 2558, สืบค้นจาก http://www.dooasia.com/trips/detail.php?id=510

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น