เขมรแดง : การปฏิวัติของประชาชน

โดย มัทนียา เสาสูง

พูดถึงโศกนาฏกรรมในดินแดนของ “ประเทศกัมพูชา” หลายคนจะต้องนึกถึงตำนานการสังหารประชนชนผู้บริสุทธิ์ด้วยความอำมหิต ที่เกินกว่าจะเรียกได้ว่าเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองในช่วงที่เขมรแดงเรืองอำนาจ

ย้อนรอยไปเมื่อกัมพูชายุคใหม่เริ่มต้นขึ้นใน พ.ศ.2497 หลังจากได้รับเอกราชตามข้อตกลงเจนีวา สมเด็จเจ้านโรดมสีหนุขึ้นปกครองประเทศ แต่เนื่องจากในช่วง พ.ศ.2508 ประเทศกัมพูชาได้รับผลกระทบจากสงครามเย็น เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ความวุ่นวายทางการเมือง และการเดินขบวนประท้วงของนักศึกษา ประชาชน ที่ก่อจลาจลขึ้นที่อำเภอซัมลูด จังหวัดพระตะบอง ทำให้รัฐบาลที่นำโดย นายพลลอน นอล ได้นำทหารเข้าปราบปรามในพื้นที่ ประชาชนและกลุ่มปัญญาชนปารีสที่ถูกเรียกว่า ฝ่ายซ้าย จึงหนีเข้าป่าไปรวมกับกลุ่มเขมรแดง

กลุ่มปัญญาชนปารีส (Paris Student Group) เป็นกลุ่มนักศึกษาชาวกัมพูชาที่ได้ทุนการศึกษาไปศึกษาต่อยังกรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยมีบุคคลสำคัญต่างๆ ที่เป็นสมาชิก ได้แก่ พล พต (ซาลอธซาร์) เอียง ซารี  เขียว สัมพันธ์ ซอน เซน ฮูนิม บุคคลเหล่านี้ได้ร่วมกันจัดตั้งขบวนการคอมมิวนิสต์ ลัทธิมาร์กซิกสต์-เลนินนิสต์ แล้วเดินทางกลับสู่ประเทศกัมพูชา ในพ.ศ.2518 และหลังจากนั้นได้มีการรวมเข้ากับพรรคคอมมิวนิสต์เขมร (กลุ่มเขมรแดง) เพื่อล้มล้างกลุ่มรัฐบาลลอน นอล


นายพล พต ผู้นำกลุ่มเขมรแดง

หลังจากการปราบปรามจลาจล นายพลลอน นอล ได้ทำการรัฐประหาร แต่แล้วก็ถูกกลุ่มเขมรแดงทำการยึดอำนาจการปกครองได้สำเร็จ ในวันปีใหม่ของกัมพูชา คือ วันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2518 ทำให้ประเทศตกอยู่ภายใต้อำนาจของพล พตในขณะนั้น

ในช่วงปี พ.ศ. 2518 - 2522 กัมพูชาตกอยู่ในอำนาจของการใช้ความรุนแรง โดย นายพล พต ผู้นำกลุ่มเขมรแดง ได้ทำการปรับปรุงระบบเศรษฐกิจของกัมพูชาให้อยู่ในแบบสังคมนิยม พึ่งพาตัวเองโดยไม่รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ และไม่เป็นพันธมิตรกับชาติใดๆ กลายเป็นประเทศโดดเดี่ยว ปิดโรงเรียน โรงพยาบาล โรงงานต่างๆ ยกเลิกระบบธนาคาร การเงิน โดยเชื่อว่าอุดมการณ์นี้จะนำพาประเทศไปสู่ความรุ่งเรืองเหมือนในอดีต

กลุ่มเขมรแดงได้กวาดต้อนประชาชนในเมืองหลวงออกไปยังชนบทเพื่อทำเกษตรกรรม โดยต้องการให้ทั้งประเทศมีแต่ชนชั้นกรรมาชีพ ทุกคนเป็นชาวไร่ชาวนา ทำเกษตรกรรมโดยไม่ใช้เครื่องทุ่นแรง ทำงานวันละ 12 ชั่วโมงโดยไม่หยุดพัก และกวาดล้างคนที่เป็นปฏิปักษ์ทางความคิดอย่างไร้เหตุผล เช่น คนที่สวมแว่นตาที่ดูเหมือนมีความรู้ นักปราชญ์ ปัญญาชน อาจารย์ นักศึกษา แพทย์ วิศวกร ศิลปิน ราชวงศ์ ฯลฯ ทำให้ประชาชนล้มตายเป็นจำนวนมาก จากความอดอยาก การทารุณกรรมที่โหดร้าย การถูกจองจำในคุก ‘ตรวล สแลง’ และการถูกฆ่าเนื่องจากลัทธิชาตินิยมที่กลุ่มเขมรแดงต้องการรักษาไว้แต่คนเชื้อสายกัมพูชาอย่างเดียวเท่านั้น ทำให้เกิด ‘ทุ่งสังหาร’ ที่มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ประชาชนผู้บริสุทธิ์มากถึง 2 ล้านคน


ที่มา: http://www.baanmaha.com/

ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2522 เขมรฝ่ายเวียดนามบุกยึดเข้ากรุงพนมเปญ เขมรแดงแตกแยกไปอยู่ตามตะเข็บชายแดน หลังจากมีการต่อสู้ในกลุ่มเขมรแดงเพื่อแย่งชิงอำนาจกันเองนั้น ในปีพ.ศ. 2536 เขมรแดงได้หมดอำนาจลงหลังจากUNสนับสนุนให้มีการจัดเลือกตั้งใหญ่ กลุ่มกองกำลังเขมรแดงถูกจับกุม และนายพล พตสิ้นใจตายในกระท่อมคุมขัง ในวันที่ 15 เมษายน พ.ศ.2541

ในระยะเวลา 4 ปีที่กลุ่มเขมรแดงได้เรืองอำนาจในระบอบเผด็จการ จนเกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไปเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ประชาชนกว่าสามล้านคนได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนระบอบการปกครองนี้ และถึงแม้ว่าวันเวลาจะผ่านไปกว่า 40 ปีแล้ว แต่อย่างไรก็ตามเหตุการณ์นี้ก็ยังเป็นที่สะเทือนใจและถือเป็นบทเรียนทางประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของโลกมาจนทุกวันนี้


อ้างอิง

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์. (2014). พล พต เขมรแดงผู้จุดไฟนรกในกัมพูชา. ค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2558, จาก http://www.prachatai.com/journal/2014/01/51483.

Namretteb. (นามแฝง). พอล พต:ย้อนอดีตทุ่งสังหาร. ค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2558, จาก https://lonesomebabe.wordpress.com/2009/12/11/พอล-พต-ทุ่งสังหาร-นรกบนด/

ThaiPX2012. (นามแฝง). (2555). เขมรแดง. ค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2558, จาก http://kritanut.blogspot.com/2012/04/blog-post.html.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น