ระบบฟิวดัล (Feudalism)

โดย ภัทรธร ฉันทวรภาพ

เนื่องจากยุโรปยุคกลางมีสภาพเสื่อมโทรม กษัตริย์ไม่มีความสามารถ เกิดการรุกรานจากพวกอนารยชนโจรผู้ร้ายชุกชุม ทำให้ประชาชนเกิดความเดือดร้อน ทำให้ต้องไปพึ่งพาพวกขุนนาง ระบบฟิวดัลจึงเกิดขึ้น โดยได้รับเอาแบบอย่างมาจากประเพณีเดิมของทั้งโรมและเยอรมัน

ระบบฟิวดัลมีพัฒนาการมาตั้งแต่จักรวรรดิโรมันเสื่อมอำนาจ และปรากฏชัดเจนในปลายสมัยราชวงศ์คาโรแลงเจียน (Carolingian) ของพวกแฟรงค์ เมื่อกษัตริย์เสื่อมอำนาจลงได้เกิดการแย่งชิงอำนาจระหว่างกลุ่มผู้ปกครอง ทำให้พวกเยอรมันเผ่าอื่นรุกราน ส่งผลให้ประชาชนขาดความมั่นคงและหันไปพึ่งขุนนางที่ปกครองท้องถิ่นของตนซึ่งมีอำนาจสิทธิ์ขาดในการจัดตั้งกองทัพและออกกฎหมายของตนเอง

ต่อมาจักรพรรดิชาร์ลมาญ (Charlemagne ค.ศ. 768-814) แห่งราชวงศ์คาโรแลงเจียนสิ้นพระชนม์ อาณาจักรของพวกแฟรงค์ถูกแบ่งแยกเป็น 3 ส่วนและมีการแย่งชิงอำนาจกันระหว่างผู้ปกครองทั้งสาม ซึ่งต้องอาศัยความช่วยเหลือจากขุนนางที่มีอำนาจปกครองเขตต่างๆ ส่วนราษฎรที่อาศัยอยู่ในแต่ละเขตก็ต้องพึ่งพาขุนนางของตนด้วย ทำให้ขุนนางแต่ละเขตปกครองมีอำนาจมาก ส่วนกษัตริย์หรือประมุขของดินแดนต่างๆ ไม่มีอำนาจที่แท้จริง

ระบบฟิวดัลหรือระบบศักดินาสวามิภักดิ์ หมายถึง ระบบความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ระหว่างเจ้าหรือผู้มีที่ดินจำนวนมากกับ ข้าหรือผู้ทำประโยชน์ในที่ดิน โดยมีที่ดินเป็นพื้นฐานสำคัญของความสัมพันธ์และมีหน้าที่สัมพันธ์กันด้วย มีที่ดิน (fief) เป็นสิ่งกำหนดฐานะและความสัมพันธ์ของคนในสังคม โดยเป็นการตกลงร่วมกันระหว่างลอร์ด (lord) หรือ “เจ้า” หรือผู้ให้ถือครองที่ดินกับ “ข้า” หรือ วาสซาล (vassal) หรือผู้ถือครองที่ดินว่า แต่ละฝ่ายมีพันธะหน้าที่ต่อกัน โดยเจ้าจะให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแก่ข้าเพื่อทำประโยชน์ในที่ดินนั้น รวมทั้งให้ความคุ้มครองดูแลเมื่อเกิดภัยสงคราม ส่วนข้าต้องสาบานว่าจะจงรักภักดีต่อเจ้า รวมทั้งส่งเงินและกองทัพไปร่วมรบในสงครามด้วย

ในทางปฏิบัติ กษัตริย์มีสถานะเป็น “เจ้า” ของขุนนางทั้งหลาย เนื่องจากในสมัยกลางถือว่าที่ดินทั้งหมดเป็นของกษัตริย์ ดังนั้นขุนนางที่ครอบครองดินแดนต่างๆ ในเขตของตน จึงเป็น “ข้า” ของกษัตริย์ และนำที่ดินทั้งหมดไปแบ่งให้แก่ “ข้า” ของตน คือ ขุนนางลำดับรองๆ ลงไปอีกทอดหนึ่ง ขุนนางแต่ละคนซึ่งรับที่ดินไปจะเป็นเจ้าของหน่วยปกครองหรือแมเนอร์ (manor) ของตน และมีฐานะเป็น “เจ้า” ของราษฎรที่เข้าอาศัยอยู่ในเขตปกครองของตน อนึ่ง พระซึ่งดูแลวัดในเขตปกครองต่างๆ ก็มีสถานะเป็น “ข้า” ของขุนนางด้วยเพราะวัดก็รับที่ดินจากขุนนาง ในสังคมระบบฟิวดัลยังมีทาสติดที่ดิน (serf) ซึ่งต้องทำงานในที่ดินของเจ้า และไม่สามารถเดินทางออกนอกเขตปกครองโดยไม่ได้รับอนุญาต นอกจากนี้ยังมีพวกเสรีชนซึ่งเช่าที่ดินจากเจ้าของแมเนอร์และสามารถเดินทางออกนอกเขตแมเนอร์ได้โดยอิสระ

จากการที่ในสมัยยุคกลางกษัตริย์ไม่มีความสามารถในการปกครองประชาชน จึงส่งผลขุนนางเข้ามามีบทบาทในการบริหาราชการแผ่นดิน ระบบฟิวดัลจึงเกิดขึ้น เพื่อที่จะได้ทำให้ประชาชนในประเทศนั้น มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยในสังคม ซึ่งขุนนางเหล่านั้นได้รับหน้าที่ในการปกครองมาจากกษัตริย์อีกทอดหนึ่ง

เอกสารอ้างอิง

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.คณะอักษรศาสตร์. อารยธรรมสมัยโบราณ-สมัยกลาง. กรุงเทพมหานคร:      สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2540. from www.mwit.ac.th/~daramas/FEUDUM.doc 
        
ระบบฟิวดัลในสมัยกลาง. (2013). Retrieved 7 มกราคม 2557 from http://metricsyst.wordpress.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น