ยูโทเปีย (Utopia) แนวคิดโลกในอุดมคติของ โทมัส มอร์ (Thomas More)

โดย จุลลดา  สีน้อยขาว

ผู้คนมากมายใฝ่ฝันถึงสังคมที่สมบูรณ์แบบ ยิ่งกับสถานการณ์บ้านเมืองที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย แตกแยกคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ยูโทเปีย จึงเป็นคำตอบที่ชัดเจนและตอบโจทย์ยิ่งสำหรับพวกเขา กระนั้นหากขึ้นชื่อว่าเป็นสังคมในอุดมคติก็ย่อมไม่เคยมีมันอยู่จริง ยูโทเปียเป็นเพียงเมืองในจินตนาการ เสมือนเป็นแบบแผนชีวิตในสังคมอันสวยงามที่ไร้ความขัดแย้ง คนในสังคมมีความคิดไปไหนทิศทางเดียวกันอีกทั้งยังใช้ชีวิตอย่างสงบสุข โดยเจ้าของแนวคิดนี้ก็คือ โทมัส มอร์ ซึ่งเป็นทั้งนักเขียน นักกฎหมาย นักปรัชญาสังคม รัฐบุรุษ และนักมนุษยนิยมสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา มีชีวิตอยู่ในช่วง ค.ศ. 1477 -1535 (รวมอายุ 58 ปี) เคยได้รับราชการในตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8

โทมัส มอร์ (Thomas More) มีแนวคิดต่อต้านการปฏิรูปศาสนาฝ่ายโปรเตสแตนต์และการปกครองในสมัยนั้น เขาได้เขียนวิพากษ์วิจารณ์สังคมว่าเต็มไปด้วยเรื่องราวอันเลวร้าย ผู้คนไม่ได้รับความยุติธรรม ขาดความเท่าเทียม ชาวบ้านประชาชนใช้ชีวิตอย่างยากลำบากจากการเก็บภาษีอันสูงลิ่ว นอกจากนี้มอร์ได้รับแรงบันดาลใจจากหนังสือเรื่อง Republic ของเพลโตที่ว่าด้วยการปกครองที่ดี เป็นผลให้เขาได้ตกผลึกความคิดจนกระทั่งจุดกำเนิดเป็นหนังสือเรื่อง ยูโทเปีย (Utopia) โดยตั้งใจเขียนให้เป็นวรรณกรรมที่ล้อเลียน ส่อเสียดสังคม ความโง่เขลาของมนุษย์ สังคมอันย่ำแย่ นอกจากนี้ยูโทเปียยังมาจากภาษากรีกซึ่งหมายถึงเมืองที่ดีหรือเมืองที่ไม่มี ณ แห่งหนใด การตั้งชื่อเรื่องเช่นนี้เสมือนเมืองยูโทเปียเป็นแค่เรื่องสมมติโดยทั้งสิ้น ไม่เคยมีอยู่จริงแต่อย่างใด

ในเนื้อเรื่องจะกล่าวถึงยูโทเปียซึ่งเป็นประเทศตั้งบนเกาะกลางน้ำขนาดใหญ่ มีแม่น้ำล้อมรอบและมีแผ่นดินล้อมรอบอีกชั้นเพื่อป้องกันพายุและการบุกรุกของผู้คนจากดินแดนอื่น อีกทั้งยูโทเปียใช้การปกครองแบบสาธารณรัฐ มีทั้งหมด 54 เมือง แต่ละเมืองมีระยะการเดินทางใช้เวลาไม่เกิน 1 วัน อาคารบ้านเรือนในยูโทเปียมีความสวยงามเรียบง่าย ด้านหลังของทุกบ้านเป็นสวนปลูกดอกไม้ ผลไม้หรือพืชผัก และมีถนนอยู่ด้านหลังของสวน ประตูบ้านมีสองทาง ปราศจากกลอนเพราะไม่มีความจำเป็น เนื่องจากทรัพย์สินในยูโทเปียเป็นของส่วนรวมทั้งหมด จึงไม่มีอะไรต้องปิดบังหรือปิดกั้นไม่ให้ผู้อื่นใช้ ถือเป็นการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ นอกเมืองมีการทำอาชีพเกษตรกรรมอย่างเฟื่องฟู

ชาวยูโทเปียมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี หรืออาจเรียกได้ว่า กินดีอยู่ดี ไม่มีการแก่งแย่งกัน มีการแบ่งสันปันส่วนให้แก่กันอย่างเป็นระบบระเบียบ ชาวเมืองทุกคนมีหน้าที่การงานเป็นของตนเอง ไม่มีใครสักคนที่เกียจคร้านแทบไม่มีใครมีเวลาว่างแต่ก็ใช่ว่าจะทำงานจนห่ามรุ่งห่ามค่ำ พวกเขาทำงานเพียงสามชั่วโมงตอนเช้า พักรับประทาอาหารกลางวัน แล้วทำงานอีกสามชั่วโมงตอนบ่าย เข้านอนตอนสองทุ่ม โดยนอนไม่ต่ำกว่าวันละแปดชั่วโมง อีกทั้งที่ยูโทเปียก็ไม่มีสิ่งอบายมุขยั่วยุแต่อย่างใดไม่ว่าจะเป็นการพนันหรือร้านเหล้าร้านสุรา สำคัญที่สุดคือชาวยูโทเปียชอบที่จะค้นคว้าหาความรู้ เพิ่มความชำนาญต่างๆ ให้แก่ตนเอง รักการอ่านและการถกเถียงกันเพื่อเพิ่มพูนความรู้ใหม่ๆ พวกเขาไม่ให้ความสำคัญกับวัตถุ นั่นเพราะมีค่านิยมในเรื่องการรักษาคุณธรรมและความพึงพอใจในการใช้ชีวิต

หนังสือเรื่อง ยูโทเปียถือเป็นวรรณกรรมอมตะอีกเรื่องหนึ่งเพราะสื่อเนื้อหาในรูปแบบสังคมที่สมบูรณ์แบบ ไม่มีใครเห็นแก่ตัว แบ่งปันความรักซึ่งกันและกัน มนุษย์ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพอันเท่าเทียมกัน เสนอรูปแบบการจัดระเบียบสังคมในแบบสังคมนิยม อย่างไรก็ดีเนื่องจากหนังสือเล่มนี้จัดเป็นหนังสือที่ต่อต้านการเมืองภายใต้การปกครองของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 โทมัส มอร์จึงถูกประหารชีวิตด้วยการตัดศีรษะ

โดยสรุปแล้ว ขึ้นเชื่อว่าเป็นยูโทเปียก็ย่อมไม่มีวันเป็นจริงตราบใดที่ผู้คนในสังคมปราศจากซึ่งความเห็นอกเห็นใจ ความเท่าเทียมจะไม่มีวันเกิดขึ้นหากอำนาจต่างๆ ยังคงครอบงำความคิดของสังคมอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และมันก็เป็นการยากที่ความใฝ่ฝันทั้งหมดจะก้าวสู่โลกความเป็นจริงอย่างที่โทมัส มอร์ได้เคยกล่าวไว้นั่นเอง

อ้างอิง

ชำนาญ  จันทร์เรือง. ยูโทเปีย (Utopia) สืบค้นเมื่อ 28 มกราคม 2557 จาก http://prachatai.com/journal/2008/09/18284

นราพันธ์ บรรจงแก้ว. ลัทธิเศรษฐกิจการเมืองแบบสังคมนิยมยูโทเปีย Utopian socialism สืบค้นเมื่อ 28 มกราคม 2557 จาก http://203.155.220.175/newweb/index.php?option=com_content&view=article&id=765:-utopian-socialism&catid=98:2013-05-21-01-48-58&Itemid=189

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น