คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus)

 โดย ปกครอง มีสมบัติเลิศ

แต่โบราณกาลเป็นต้นมามนุษย์ไม่รู้จักทวีปอเมริกาและออสเตรเลียเลย ในแผนที่ของสมัยนั้นไม่มีสองทวีปนี้ปรากฏอยู่ นอกจากนั้นแล้วยังมีความเชื่อว่าโลกของเรามีลักษณะแบน หากล่องเรือออกไปไกลจะตกขอบโลก จนกระทั้งราวคริสต์ศตวรรษที่ 15 - 17 เป็นยุคที่มีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเป็นยุคแห่งการค้นหา การสำรวจ ชาวยุโรปต่างออกเดินทางสำรวจทะเล เพื่อหาคู่ค้าขายใหม่ โดยเฉพาะเพื่อการแสวงหาสินค้าสนองความต้องการของตลาด มีการแสวงหาเส้นทางใหม่ไปยังเอเชีย

แต่การเดินทางในตอนนั้นเป็นการเดินทางทางบกจึงมีอุปสรรคมากมายประกอบกับต้องใช้ระยะเวลายาวนาน บวกกับไม่ต้องการใช้ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเพราะขณะนั้นอยู่ภายใต้การควบคุมของต่างประเทศ แต่ในขณะเดียวกันชาวโปรตุเกสซึ่งกำลังรุ่งเรืองด้านแสนยานุภาพทางทะเล พยายามค้นหาเส้นทางเดินเรืออ้อมทวีปแอฟริกา แต่ก็ไม่สำเร็จเพราะมีพายุปั่นป่วน ด้วยเหตุทั้งหมดนี้จึงมีนักเดินเรือมากมายเกิดขึ้น หนึ่งในนั้นคือ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส

คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส เป็นชาวเจนัว เกิดราว ค.ศ. 1451 เติบโตที่เมืองเจนัว เมืองท่าสำคัญทางการค้าของประเทศอิตาลีในเวลานั้น เขาเชื่อว่าโลกมีรูปร่างเป็นทรงกลม เราสามารถเดินทางไปเอเชียโดยมุ่งหน้าไปทางตะวันตกได้ ซึ่งขัดแย้งกับความเชื่อในยุคนั้นว่าโลกมีรูปทรงแบน เขาออกทะเลเป็นตั้งแต่อายุ 14 ปี เมื่อมีอายุ 30 ปีก็เป็นนักเดินเรือและผู้นำร่องที่เชี่ยวชาญมากคนหนึ่ง เขาวางแผนการเดินทางใหม่ขึ้นมาซึ่งต่างจากนักสำรวจคนอื่นโดยสิ้นเชิง เขาศึกษาการเดินเรือจากแหล่งความรู้ต่างๆ เท่าที่พอจะหาได้ และขอเข้าพบกษัตริย์โปรตุเกสเพื่อขอให้เป็นองค์อุปถัมภ์ ในเวลานั้นกษัตริย์โปรตุเกสคือพระเจ้าจอห์นที่ 2 ซึ่งใส่พระทัยรับฟังข้อเสนอจากเหล่านักเดินเรือที่มาเสนอแผนการเดินเรือเป็นจำนวนมาก และทรงมีพระประสงค์ที่จะเผยแพร่ศาสนาคริสต์ไปยังดินแดนที่ค้นพบใหม่

แต่หลังจากที่พระองค์และคณะราชสภาได้อ่านแผนการเดินเรือของโคลัมบัสแล้ว ก็ไม่มีใครเชื่อว่าแผนการเดินเรือเช่นนั้นของเขาจะเป็นไปได้ ในตอนนั้นโคลัมบัสรู้สึกเสียใจมาก ซ้ำร้ายภรรยาของเขาก็เสียชีวิตลงอย่างกระทันหัน เขาและดีเอโก บุตรชายวัย 5 ขวบ เดินทางออกจากโปรตุเกสเพื่อไปอยู่กับญาติที่เมืองอัวล์บา เมืองท่าแห่งหนึ่งของสเปน และที่เมืองแห่งนี้โคลัมบัสได้เสาะหาความรู้เพิ่มเติมใหม่ๆ และหาช่องทางการสนับสนุนแผนเดินทางของเขา และเดินทางไปขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าเฟอร์ดินานด์แห่งอรากอน และพระนางอิสซาเบลลาแห่งกัสตีญา ซึ่งปกครองประเทศสเปนร่วมกัน แต่ในตอนแรกก็ได้รับการปฏิเสธด้วยเหตุผลเช่นเดียวกับพระเจ้าจอห์นที่ 2 แต่โคลัมบัสไม่ละความพยายาม เขาติดตามราชสำนักเพื่อขอให้ดำเนินการตรวจสอบแผนการเดินทางของเขา และรอคอยคำตอบจากราชสำนัก ในเวลานั้นเขาก็ได้แต่งงานกับเบียทริซ เดอรานา และให้กำเนิดบุตรคนที่สองคือ เฟอร์นานโด

จนในที่สุดวันที่ 19 เมษายน ค.ศ. 1492 เขาก็ได้รับความช่วยเหลือพระเจ้าเฟอร์ดินันด์และพระนางอิสซาเบลลา โคลัมบัสจากบุตรชายช่างทอผ้าก็ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ขุนนางแห่งเมืองกัสตีญา และได้รับตำแหน่งนายพลเรือ ทั้งสองพระองค์ได้พระราชทานเรือ 3 ลำและลูกเรือพร้อมเรือลำที่มีดาดฟ้ามีชื่อว่า “มารีกาลองค์” เขาได้ตั้งชื่อใหม่ว่า “ซานตามาเรีย” เป็นเรือขนาด 233 ตัน มีลำเรือยาว 39 เมตร ส่วนเรือเล็กอีกสองลำชื่อว่า นิญา และปินตา ซึ่งมีระวางขับน้ำประมาณ 50 และ 60 ตันตามลำดับ  ลูกเรือในคณะของโคลัมบัสมีจำนวนไม่มาก บางคนเป็นเพื่อนของโคลัมบัส แต่ส่วนใหญ่เป็นชาวชนบทจากแคว้นอันดาลูเซีย บ้างก็เป็นนักโทษประหารที่ได้รับการอภัยโทษแลกกับการเดินทางเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายในครั้งนี้

เรือทั้งสามลำออกจากท่าเล็กๆ ในเขตปาโลส เด ลา ฟรอนเตรา ซึ่งอยู่ตอนใต้ของสเปน ในวันที่ 3 สิงหาคม ค.ศ. 1492 ซึ่งตรงกับช่วงสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ในกรุงศรีอยุธยาตอนต้น เรือทั้งสามลำพร้อมลูกเรือนับ 90 คน มีลูกเรือและคนใกล้ชิดของโคลัมบัส รวมทั้งคนในราชสำนัก อาทิตัวแทนของสมเด็จพระราชินี ผู้ควบคุมการเดินทาง นายสันติบาลเรือซึ่งทำหน้าที่เหมือนตำรวจ คนทำหน้าที่เขียนบันทึกการเดินทาง ล่ามประจำเรือ ฯลฯ นอกจากนี้ยังชาวยิวไปด้วยราว 30 คน ซึ่งฉวยโอกาสขึ้นเรือมาเพื่อเลี่ยงการถูกไต่สวนทางศาสนา เพราะในช่วงนั้นกษัตริย์สเปนบังคับให้ชาวยิวเปลี่ยนมานับถือคริสต์

การเดินทางในครั้งนั้นเขาและลูกเรือประสบกับความน่ากลัว เพราะคนยังเชื่อว่าใต้ท้องทะเลมีสัตว์ร้ายอาศัยอยู่  พอโคลัมบัสออกเดินเรือเขาเริ่มเขียนบันทึกว่า “แม้จะเฝ้ารอคอยปานใดก็ไม่มีอสุรกายแห่งท้องทะเลโผล่มาให้เห็น” โคลัมบัสมีเครื่องมือช่วยในการเดินเรือมากมาย แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้คือเข็มทิศและเครื่องวัดตำแหน่งท้องฟ้า นอกจากนี้เขายังรู้จักวิธีคำนวณระยะทางโดยตำแหน่งดวงอาทิตย์และดวงดาวต่างๆ อีกด้วย เขาเดินเรือตามเส้นทางที่คำนวณไว้ได้ค่อนข้างตรง โดยอาศัยเครื่องวัดความสูงของท้องฟ้าและเข็มทิศ ส่วนการวัดความเร็วใช้วิธีโยนเศษไม้ลงน้ำตรงใกล้หัวเรือแล้วจับเวลาโดยใช้นาฬิกาทรายแล้วนำมาคำนวณ  เมื่อเวลาผ่านไป 3 อาทิตย์ ทุกคนอ่อนล้า สถานการณ์ตึงเครียด มีเค้าว่าลูกเรือจะลุกฮือขึ้นหลายครั้ง แต่ในที่สุดเมื่อย่างเข้าสัปดาห์ที่ 4 ลูกเรือเริ่มสังเกตเห็นนกที่กำลังโฉบเหยื่อในทะเล และเห็นเศษไม้กิ่งไม้ลอยอยู่ตามกระแส เมื่อเวลาตี 2 ของวันที่ 12 ตุลาคม ยามบนหอคอยเรือปินตาเห็นฝั่งทะเลอยู่ห่าง 10 กิโลเมตร เป็นเงาตะคุ่มในแสงจันทร์ ดินแดนแห่งนี้คือบาฮามาส และมีชาวพื้นเมืองที่มีผิวสีแดงอาศัยอยู่ เขาขึ้นฝั่งและสำรวจประกาศเอาเป็นเมืองขึ้นของสเปน

หลังจากนั้นเขาออกเรืออีกครั้ง ใช้เวลา 36 วันจึงได้พบแผ่นดินใหม่แต่เขาเชื่ออย่างสนิทใจว่าที่นี่คือหมู่เกาะที่มาร์โคโปโลเขียนถึงว่าคือเอเชียนั้นเอง การพบเกาะครั้งนี้เขาเชื่อว่ามาใกล้ประเทศจีนมากแล้ว เขาจึงออกเดินทางสำรวจจากเกาะหนึ่งไปอีกเกาะหนึ่งเพื่อหาทางไปสู่จีนให้ได้ โดยคิดว่าตนเองพบเกาะที่อยู่ใกล้ญี่ปุ่นแล้ว จากนั้นก็เดินเรือต่อไปจนถึงคิวบา จนได้พบผู้คนผิวคล้ำและเข้าใจว่าเป็น ชาวอินเดีย  เพราะคิดว่าแล่นเรือมาถึงมหาสมุทรอินเดียแล้ว เมื่อเสบียงอาหารจวนหมด เขาค่อยยกกองเรือกลับสเปนและนำเอาตัวอย่างทองคำ ทรัพย์สมบัติอื่นๆและคนที่เขาเข้าใจว่าเป็นอินเดียพื้นเมือง 7 คน กลับไปด้วย โคลัมบัสได้รับการต้อนรับอย่างมีเกียรติ พระราชินีอิซาเบลลาประกาศถึงความสำเร็จนี้ว่า "มีความสำคัญยิ่งใหญ่เหลือคณา" และเชิญให้โคลัมบัสอยู่ในแถวหน้าสุดของคณะผู้ติดตามราชวงศ์ในงานราชพิธี

การเดินทางครั้งสุดท้ายของโคลัมบัสสิ้นสุดลงเมื่อเขาเดินทางกลับมาถึงเมืองซานลูกา เด บาร์ราเมดา วันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ. 1504  ด้วยร่างกายที่อ่อนล้าและนัยน์ตาใกล้บอด เขาเสียชีวิตลงในวันที่ 20 พฤษภาคม ปี ค.ศ. 1506  ที่เมืองบาญาโดลิด ไปพร้อมกับความเข้าใจที่ผิด แม้จะได้กลับไปดินแดนที่เขาพบอีกถึงสามครั้ง แต่ไม่ได้ฉุกคิดเลยว่า ดินแดนนี้คือดินแดนแห่งใหม่หรืออเมริกาในปัจจุบัน โดยเขาเชื่อสมัครใจว่าคือ เอเชีย ศพของเขาถูกฝังที่อารามใกล้เซวิลล์ โดยทิ้งให้ดีเอโก บุตรชายคนโตสืบบรรดาศักดิ์ต่อจากเขา หลังการสิ้นชีวิตของเขา พระเจ้าเฟอร์ดินานด์ได้ทรงสร้างรูปอนุสรณ์เพื่อเป็นการรำลึก โดยจารึกคำอุทิศว่า “โคลัมบัส ผู้คนพบโลกใหม่ให้กับราชวงศ์กัสตีญาและเลออง”  ต่อมาในค.ศ. 1536 ศพของเขาถูกย้ายไปที่ฮิสปานิโอล่า และในปี 1902 ถึงได้กลับมายังที่พักสุดท้ายในวิหารเซวิลล์

การที่โคลัมบัสค้นพบโลกใหม่นั้นแสดงให้เห็นทั้งในด้านบวกและลบด้วยกัน คือเกิดความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงทางความคิดของมนุษยชาติที่ไม่งมงายอยู่กับเรื่องที่ไม่มีหลักฐาน หันมาเชื่อในข้อพิสูจน์ มีอิสระทางความคิด ตลอดจนเปลี่ยนโฉมหน้าใหม่ของยุโรปและอเมริกาเอง เช่น การค้าขาย หาวัตถุดิบ ค้าทาส และขยายจักรวรรดิที่มีผลต่อโลก สเปนมีอำนาจและทำลายวัฒนธรรมเก่าในทวีปอเมริกา ชาวยุโรปที่อพยพเข้าไปตอนหลังมีปัญหากับชนพื้นเมืองที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ก่อน สิ่งที่ชาวยุโรปเข้ามายึดครองนั้นกลับได้เปรียบกว่าชนพื้นเมืองหลายประการ และยังนำเชื้อโรคใหม่เข้าไปทำให้ให้จำนวนประชากร พื้นเมืองที่ไม่เคยประสบกับเชื้อโรคใหม่นี้ต้องเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมหาศาล

อ้างอิง

บ้านจอมยุทธ. (ม.ป.ป.). โคลัมบัส. สืบค้นเมื่อ 29 มกราคม, 2557, จาก http://www.baanjomyut.com/library_2/extension-1/christopher_columbus/index.html

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. (2556). ทวีปอเมริกา. สืบค้นเมื่อ 29 มกราคม, 2557, จาก http://th.wikipedia.org/wiki/ทวีปอเมริกา

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. (2556). ยุคแห่งการสำรวจ. สืบค้นเมื่อ 29 มกราคม, 2557, จาก http://th.wikipedia.org/wiki/ยุคแห่งการสำรวจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น