“บายน” ปราสาทยิ้มแห่งนครธม

โดย จิราธร ผลสมหวัง

“บายน” ปราสาทหลักใจกลางเมืองนครธม นอกจากเมืองนครธมหรือเมืองนครหลวงแห่งอาณาจักรพระนครจะมีปราสาทนครวัดที่มีชื่อเสียงโด่งดังแล้ว ยังมีปราสาทอีกแห่งหนึ่งที่มีชื่อเสียงพอกันเมื่อพูดถึงเมืองนครธม นั่นก็คือ”ปราสาทบายน” ปราสาทที่มีทั้งความแปลกและลึกลับทางด้านศิลปะและการก่อสร้าง

ปราสาทบายนเป็นจุดศูนย์กลางของนครธม เป็นเมืองรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส มีความยาวด้านละ 3 กิโลเมตร ตั้งอยู่ภายในเมืองพระนคร สร้างในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ระหว่างปลายคริสต์ศตวรรษที่ 12 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 13 ( AD 1180-1120 ) ก่อสร้างหลังจากที่พระเจ้าชัยวรมัน ทรงได้รับชัยชนะจากการขับไล่กองทัพอาณาจักรจามปา


ที่มา :  https://commons.wikimedia.org/

ปราสาทบายนนับเป็นศาสนสถานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีความซับซ้อนทั้งในแง่โครงสร้างและความหมาย เนื่องจากผ่านความเปลี่ยนแปลงด้านศาสนาและความเชื่อมาตั้งแต่คราวนับถือเทพเจ้าฮินดูและพุทธศาสนา

ปราสาทถูกสร้างโดยการนำหินมาวางซ้อนๆกันเป็นรูปร่าง ประกอบด้วยองค์ปราสาท ตั้งอยู่บนฐานซ้อนสามชั้น สมมติให้เป็นทิพยสถานของเทพเจ้าบนยอดเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของจักรวาลตามความเชื่อดั้งเดิม ตัวปราสาทหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ประกอบด้วยปรางค์น้อยใหญ่ 54 ปรางค์ และแต่ละปรางค์สลักรูปใบหน้าขนาดใหญ่อยู่ 4 ทิศ เฉพาะปรางค์ประธานองค์กลางขนาดใหญ่สูงถึง 42 เมตร มีรูปใบหน้าอยู่ทั้ง 8 ทิศ รวมใบหน้าในปราสาทบายนทั้งหมดกว่า 216 หน้า รอบๆปรางค์ประธานประกอบด้วยระเบียงคต 2 ชั้น รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าและมักมีรูปสลักนูนต่ำของนางอัปสรอยู่  หน้าโคปุระทุกด้านมีภาพประติมากรรมลอยตัวรูปสิงค์ทั้งสองข้างของบันได และระเบียงคตชั้นในส่วนมากมักสลักภาพในพระราชพิธี ภาพบางตอนเล่าถึงกฤษดาภินิหารต่างๆ ของพระเจ้าชัยวรมันก่อนขึ้นครองราชย์ ระเบียงคตชั้นนอกแต่เดิมมีหลังคาหินทรายมุงอยู่ แต่สงครามหลายทศวรรษรวมทั้งธรรมชาติและป่าที่บดบังปราสาทนับร้อยปี ทำให้หลังคาส่วนใหญ่พังทลายลงหมด ลักษณะพิเศษอีกอย่างของปราสาทคือไม่มีกำแพงล้อมรอบเหมือนกับหลายๆปราสาท เนื่องจากมีกำแพงของนครธมอยู่แล้ว  

ถึงแม้ว่าปราสาทบายนจะไม่ใหญ่โตเท่านครวัด แต่กลับมีความแปลกและลี้ลับที่ดึงดูดให้ผู้คนเข้าไปสัมผัสสิ่งก่อสร้างที่น่าอัศจรรย์ใจนี้  เพราะทั้งปราสาทมีแต่ใบหน้าคน หากขึ้นไปยืนอยู่ภายในปราสาทไม่ว่าจะยืนมุมไหนก็ไม่สามารถที่จะพ้นจากสายตาของรูปสลักเหล่านี้ได้เลย ใบหน้าที่ถูกสลักนั้น นักโบราณคดีพยายามสันนิษฐานว่าใบหน้าเหล่านั้นเป็นของใคร จนในที่สุดก็ได้ข้อสรุปที่ว่า เนื่องจากพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงหันมานับถือพุทธศาสนาและทรงสถาปนาพระองค์เองเป็นพุทธราชาแห่งนิกายมหายาน ดังนั้นอาจเป็นไปได้ว่าใบหน้าบนยอดพระปรางค์ของปราสาทบายนคือรูปพระพักตร์ของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร อีกนัยนึงก็สันนิษฐานได้ว่าเป็นพระพักตร์ของพระเจ้าชัยวรมันนั่นเอง เป็นการแสดงถึงพระราชอำนาจของพระองค์ที่มีไปทั่วทุกสารทิศ ด้วยทรงถือว่าพระองค์เป็นอวตารของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรบนโลกมนุษย์


ที่มา : http://chill.co.th/Cambodia/

รูปสลักหินหันหน้าออกไปทั้งสี่ทิศเพื่อสอดส่องดูแลทุกข์สุขของเหล่าพสกนิกรให้อยู่เย็นเป็นสุข รอยยิ้มบนพระพักตร์พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเรียกว่า “ยิ้มแบบบายน” รูปสลักมองด้วยสายตาที่ทอดลงมายังที่ต่ำและเป็นรอยยิ้มที่เป็นสุขแบบบายน ที่เปี่ยมด้วยความเมตตา ทำให้ผู้ที่พบเห็นไม่สามารถที่จะละสายตาออกไปได้ง่าย  
 
ตัวเลขดวงตา 432 ดวง จากพระพักตร์ 216 หน้า ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในมิติของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรที่ปราสาทบายน เป็นนัยสื่อให้รู้ว่า “เราๆ ท่านๆ มนุษย์ตาดำๆ กำลังตกอยู่ในยุคแห่งความขัดแย้ง ฉะนั้นต้องรีบสร้างกุศล” ดังตัวอย่างที่พระองค์ได้ปฏิบัติในการสร้างโรงพยาบาล 102 แห่ง ทั่วพระราชอาณาจักรและทรงเป็นพุทธนิกายมหายานอย่างเคร่งครัด รูปสลักของพระองค์จึงแสดงออกถึงการยิ้มอย่างมีเมตตาปราณี

ปราสาทบายนภายหลังสิ้นบุญของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ก็ถูกกษัตริย์ในยุคต่อมาทำการดัดแปลง ต่อเติมและแก้ไข ภาพสลักพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรถูกสกัดออกเกือบหมด และพระพุทธรูปมหายานก็ถูกแทนที่ด้วยศิวะลึงค์ และเมื่อมาถึงยุคที่กษัตริย์เปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธนิกายหินยานก็เอาพระพุทธรูปนิกายนี้เข้าไปตั้งแทนของเดิม

เมืองพระนครได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางด้านวัฒนธรรมภายใต้ชื่อ “พระนคร” เมื่อปี พ.ศ. 2535 หลังจากสงครามกลางเมืองในเขมรได้ยุติลงแล้ว องค์การยูเนสโกได้เข้ามาช่วยบูรณะฟื้นฟูปราสาทและจัดตั้งโครงการเพื่อช่วยดูแลป้องกันสถานที่และบริเวณโดยรอบของเมืองพระนคร ปัจจุบันรูปสลักได้สึกกร่อนพังทลายลงไปหลายหน้า ภาพจิตรกรรมฝาผนังไม่ค่อยสมบูรณ์ ไม่ค่อยมีการดูแลและบูรณะจิตรกรรมฝาผนังเท่าที่ควรและหลังคาหินทรายจากระเบียงคตชั้นนอกกองอยู่ในบริเวณปราสาทหลายกอง พบแต่เสาศิลาทรายที่ทั้งสี่ด้านของเสามีภาพสลักนูนต่ำของนางอัปสรกำลังร่ายรำ
 
ถึงแม้ว่าปราสาทจะสร้างจากหินและมีขนาดใหญ่มหึมาแต่ก็ไม่สามารถหนีวัฏจักรแห่งความเสื่อมไปได้ หินที่แข็งแกร่งเมื่อผ่านกาลเวลาและธรรมชาติก็ย่อมสึกกร่อนเป็นธรรมดา มนุษย์เราก็หนีวัฏจักรแห่งความเสื่อมไปไม่ได้เช่นกัน คงจะมีแค่ความดีที่ได้ทำไว้ยังคงเหลือไว้ให้คนรุ่นหลัง ดังเช่นที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้ทรงปฏิบัติให้มีการสร้างอโรคยาศาลาเพื่อเป็นการบำเพ็ญเพียรบารมีและบุญกุศล ทำให้เป็นที่กล่าวขานถึงความมีเมตตาของพระองค์ ฉะนั้นแล้วเราเองก็ควรหมั่นทำความดี สร้างกุศลแม้ว่าตัวจะจากไปแต่ก็ยังคงเหลือไว้ซึ่งความดีที่จะคงอยู่ต่อไป.


อ้างอิง

วิจัย กองสานะ.(2542). ย้อนอดีตพันปีนครวัด นครธม. ค้นเมื่อ 24 กันยายน 2559, จาก http://www.thailandoutdoor.com/JungleandSea/AnkorWat/AnkorStory/ankorstory.html

สรรค์สนธิ บุณโยทยาน.(2550).ปริศนา”ปราสาทบายน”ฤา...มนุษยชาติจะผ่านพ้นความขัดแย้ง. ค้นเมื่อ 23 กันยายน 2559, จาก http://www.yclsakhon.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=539707368

อุบล มีโชค.(2557).มรดกโลกในกัมพูชา 1:เมืองพระนคร.ค้นเมื่อ 23 กันยายน 2559, จาก http://aseannotes.blogspot.com/2014/07/1_20.html?m=1

JinnyTent. (2556). ปราสาทบายน มนตราศิลาทราย @ นครวัด นครธม : กัมพูชา. ค้นเมื่อ 26 ธันวาคม 2559, จาก http://m.pantip.com/topic/30432009?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น