เชอร์โนบิล (Chernobyl)

โดย ปาลิตา พิทักษ์พงษ์กุล

การทดลองมีขึ้นเพื่อพิสูจน์ หรือยืนยันความเชื่อของผู้ทดลอง หากการทดลองเป็นไปตามความเชื่อของผู้ทดลอง การทดลองนั้นก็จะกลายไปเป็นทฤษฏีเพื่อนำไปใช้ซ้ำหรือพัฒนาต่อยอด แต่ใช่ว่าการทดลองจะสำเร็จทุกครั้งไป หากผู้ทดลองไม่มีความรอบคอบ ระมัดระวังให้มาก ก็จะเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงเหมือนกับ “เชอร์โนบิล” ที่สร้างความเสียหายในระยะยาวต่อผู้ทดลอง สังคม และสิ่งแวดล้อม
           
เชอร์โนบิล เป็นอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ขั้นร้ายแรงที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 เมษายน ค.ศ. 1986 (2529) เวลา 01:23 น. ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล ตั้งอยู่ที่นิคมเชอร์โนบิล ริมฝั่งแม่น้ำนีเปอร์ ใกล้เมืองพริเพียต จังหวัดเคียฟ ทางตอนเหนือของยูเครน ใกล้ชายแดนเบลารุส (ตอนนั้นยูเครนและเบลารุสยังเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต) เป็นสถานีไฟฟ้านิวเคลียร์ปลดประจำการแล้ว สถานีไฟฟ้าวี.ไอ. เลนิน ตามที่รู้จักกันในสมัยโซเวียต ประกอบด้วยเครื่องปฏิกรณ์ประเภท อาร์บีเอ็มเค-1000 สี่เครื่อง แต่ละเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้า 1,000 เมกะวัตต์ (พลังงานความร้อน 3.2 จิกะวัตต์) และเครื่องปฏิกรณ์ทั้งสี่เครื่องรวมกันผลิตกระแสไฟฟ้า 10% ของยูเครน


โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลในปัจจุบัน  

โดยเชอร์โนบิล ก่อสร้างขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ. 2513 เป็นสถานีไฟฟ้านิวเคลียร์ประเภทอาร์เอ็มบีเคแห่งที่สามในสหภาพโซเวียต(หลังเลนินกราดและเคิสก์) และเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกของยูเครน อุบัติเหตุเกิดขึ้นเมื่อวิศวกรทำการทดสอบการทำงานของระบบหล่อเย็น และระบบทำความเย็นฉุกเฉินของแกนปฏิกรณ์นิวเคลียร์ แต่ว่าการทดสอบระบบได้ล่าช้ากว่ากำหนดจนต้องทำการทดสอบโดยวิศวกรกะกลางคืน  จู่ๆก็เกิดแรงดันไอน้ำสูงขึ้นกะทันหัน แต่ระบบตัดการทำงานอัตโนมัติไม่ทำงาน ทำให้เกิดความร้อนสูงขึ้นจนทำให้แกนปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข  4 หลอมละลาย และเกิดการระเบิดขึ้น ผลจากการระเบิดทำให้เกิดขี้เถ้าปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีลอยขึ้นสู่บรรยากาศ ปกคลุมทางตะวันตกของสหภาพโซเวียต ยุโรปตะวันออก ยุโรปตะวันตก และยุโรปเหนือ ทางการยูเครน เบลารุส และรัสเซีย ต้องอพยพประชากรมากกว่า 336,000 คน ออกจากพื้นที่ทันที
               


 นักกู้ภัยขึ้นไปบนหลังคาของโรงงาน เพื่อจะหยุดเพลิงที่ลุก ขณะเดียวกันเฮลิคอปเตอร์หลายลำก็ทยอยขนทรายมาใส่ในเตาเพื่อลดแรงไฟ และกัมมันตรังสีที่แผ่ออกมา แต่ก็ไม่สำเร็จ กลับทำให้สถานการณ์แย่ลง เพราะความร้อนได้ทับถมใต้วัสดุที่ถูกทิ้งลงไป ทำให้อุณหภูมิของเครื่องปฏิกรณ์เพิ่มขึ้นอีกครั้ง ช่วงสุดท้ายของการดับไฟ แกนของเครื่องปฏิกรณ์ถูกทำให้เย็นลงด้วยไนโตรเจน ไฟที่ลุกไหม้และการปล่อยกัมมันตภาพรังสีไม่สามารถถูกควบคุมได้จนถึงวันที่ 6 พฤษภาคม

การต่อสู้กับการปนเปื้อนและป้องกันไม่ให้เกิดการสูญเสียมากไปกว่านี้เกี่ยวข้องกับคนงานทั้งทหารและพลเรือนกว่า 500,000 คน และค่าใช้จ่ายประมาณ 18 พันล้านรูเบิ้ล (เกือบ 1,000 ล้านบาทไทย) ขณะที่เกิดอุบัติเหตุขึ้น มีผู้เสียชีวิตทันที 31 ราย และผลกระทบระยะยาว เช่น มะเร็ง คาดว่ามีผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงมากกว่า 600,000 คน เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งจากการสัมผัสกัมมันตรังสีถึง 4,000 คน ไม่ใช่แค่มนุษย์ที่ได้รับผลกระทบ ยังมีสิ่งมีชีวิตในบริเวณใกล้เคียงก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน และสัตว์ในบริเวณนั้นยังมีอายุที่สั้นกว่าปกติ ลักษณะไม่เป็นไปตามธรรมชาติ  พื้นที่ขนาดใหญ่ในยุโรปได้รับผลกระทบจากอุบัติเหตุ เมฆรังสีแผ่ไปไกลถึงนอร์เวย์ในสแกนดิเนเวีย


ปลาดุกในแม่น้ำ Pripyat รอบๆโรงไฟฟ้ายาวถึง 2 เมตร
แต่ไม่สามารถทานได้ เพราะในกระดูกปลายังพบรังสีที่สูงเกินค่ามาตรฐาน

ในวันที่ 22 ธันวาคม 2531 นักวิทยาศาสตร์ของโซเวียตประกาศว่า "โลงศพโบราณ" หรือโลงหินและคอนกรีต ที่ปัจจุบันใช้ห่อหุ้มเครื่องปฏิกรณ์นั้นถูกออกแบบให้มีอายุแค่เพียง 20-30 ปี และ 3 ปีหลังเกิดอุบัติเหตุนิวเคลียร์ที่เชอร์โนบิล รัฐบาลโซเวียตสั่งหยุดสร้างเครื่องปฏิกรณ์หน่วยที่ 5 และ 6 ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ครบวงจรเชอร์โนบิล และหลังการเจรจาระหว่างประเทศที่ยืดเยื้อหลายครั้ง โรงไฟฟ้าทั้งพื้นที่ถูกปิดตัวลง 14 ปี หลังเกิดอุบัติเหตุในวันที่ 12 ธันวาคม 2543

จากเหตุการณ์การระเบิดที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลทำให้ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) ตัดสินใจตั้งหน่วยรับมือฉุกเฉินที่กรุงเวียนนา ของประเทศออสเตรีย เมื่อปี พ.ศ.2529 จัดอุปกรณ์การสื่อสารและคอมพิวเตอร์ รวมไปถึงเอกสารและฐานข้อมูลที่จำเป็นหากเกิดอุบัติเหตุสารกัมมันตภาพรังสีรั่วไหล จัดเจ้าหน้าที่ประจำการตลอด 24 ชั่วโมง และมีผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยนิวเคลียร์ที่พร้อมเดินทางไปยังที่เกิดเหตุในประเทศต่างๆ

ถึงแม้ว่าพลังงานของนิวเคลียร์จะมีประโยชน์ต่อมวลมนุษย์ชาติในหลายๆ เรื่อง ในขณะเดียวกันก็ยังเป็นมหันตภัยของมนุษย์ทั้งโลกเช่นกัน  เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นอุบัติเหตุที่ร้ายแรงอย่างมาก ทั้งในด้านของทรัพย์สินและชีวิต นอกจากนี้ความผิดพลาดในครั้งนี้ยังเป็นบทเรียนครั้งใหญ่สำหรับมนุษยชาติในการที่จะทำการทดลอง โดยต้องระมัดระวัง รอบคอบมากขึ้น และมีวิธีป้องกันหรือรับมือได้เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก


อ้างอิง

เหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลระเบิดเมื่อ 20 ปีก่อน. สืบค้นเมื่อ วันที่ 4 กันยายน 2559, จาก: http://www.neutron.rmutphysics.com/science-news/index.php?option=com_content&task=view&id=1903&Itemid=4

เกิดอะไรขึ้นที่เชอร์โนบิล. สืบค้นเมื่อ วันที่ 4 กันยายน 2559, จาก: http://www.greenpeace.org/seasia/th/campaigns/nuclear/nomorechernobyls/what-happened-in-chernobyl/

ภัยพิบัติเชียร์โนบีล. สืบค้นเมื่อ วันที่ 4 กันยายน 2559, จาก: https://th.wikipedia.org/wiki/

25 ปีเมืองร้างเมืองผีเชอร์โนบิล. สืบค้นเมื่อ วันที่ 4 กันยายน 2559, จาก:
http://pantip.com/topic/30669881

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น