วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์

โดย ชัยวัฒน์ กุลพาณิชย์

ในช่วงเวลากว่าหลายทศวรรษที่ผ่านมานับตั้งแต่สิ้นสุดยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ต้องยอมรับว่าประเทศสหรัฐอเมริกานั้นคือ พี่ใหญ่ของโลก ตัวจริงเสียงจริง ที่มีทั้งบทบาททางเศรษฐกิจ ทางการทหาร ความมั่นคงและนวัตกรรมเทคโนโลยีต่างๆ เสมือนอเมริกานั้นคือเสาหลักของโลกใบนี้ ทั้งหลายเหล่านี้เองจึงเป็นเหตุให้ทุกๆ ครั้งที่สหรัฐอเมริกาจะทำอะไร มีนโยบายแบบไหนหรือจะเดินก้าวไปในทิศทางใด ที่ทุกสายตาของทุกประเทศในโลกนี้ต้องจับจ้องไปที่อเมริกาเป็นที่แรกก่อนสมอ แม้ว่าจะเป็นการก้าวไปในทิศทางที่ผิดพลาดก็ตาม อย่างกรณีเหตุการณ์ครั้งสำคัญทางประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของโลกเมื่อปี 2008 ที่ประเทศไทยจะรู้จักกันในชื่อ “วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์” ก็มีต้นเหตุมาจากสหรัฐอเมริกาที่นี้เอง


สาเหตุ

สภาพเศรษฐกิจและสังคมในช่วงก่อนเกิดวิกฤตการณ์

เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา เริ่มตกต่ำตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ.1999-2000 หลังเกิดภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ในภาคธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศในประเทศสหรัฐแตก เป็นผลให้ตลาดหุ้นนาสแด็ก (Nasdaq) ซึ่งเป็นตลาดหุ้นของบริษัทด้านเทคโนโลยีสารสนเทศตกต่ำ ประกอบกับผลกระทบจากเหตุการณ์วินาศกรรม 9/11 ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน จึงนําไปสู่การหดตัวของผลผลิตมวลรวมของสหรัฐ

วิธีการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ที่นำมาสู่วิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์

นับแต่ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำตั้งแต่ปี ค.ศ.2000 เป็นต้นมา สหรัฐอเมริกาจึงต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการออกนโยบายลดดอกเบี้ยต่ำสุดจากร้อยละ 6 เหลือเพียงร้อยละ 1 ในปี ค.ศ.2003 เพื่อเป็นการจูงใจและเรียกความเชื่อมั่นให้มีการลงทุนจากภาคเอกชน ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยพยุงเศรษฐกิจของสหรัฐให้ดีขึ้นได้

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น

ผลจากนโยบายการลดดอกเบี้ย ส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาในช่วงปี ค.ศ. 2000-2006 ดังนี้

ผลต่อภาคประชาชนและเอกชน

ประชาชนและภาคเอกชนมีการลงทุนและเก็งกำไรในสินทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยกันอย่างบ้าระห่ำ โดยมีธนาคารพาณิชย์จำนวนมากเป็นผู้ปล่อยสินเชื่อให้กับผู้กู้แบบง่ายดาย โดยเกือบทั้งหมดเป็นสินเชื่อแบบซับไพร์ม (Subprime) ซึ่งถือเป็นสินเชื่อคุณภาพต่ำเพราะเป็นการปล่อยกู้ให้กับลูกค้าที่มีสินทรัพย์มาค้ำประกันที่น้อยการเงินที่กู้ไป รวมถึงลูกค้าที่มีประวัติเสียทางการเงิน โดยรวมก็คือสินเชื่อนั้นมีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นหนี้เสีย NPL (หนี้ที่ลูกหนี้ไม่สามารถชำระเงินและดอกเบี้ยคืนแก่ผู้ปล่อยกู้ได้)

ผลต่อภาคอสังหาริมทรัพย์

บริษัทรับเหมาก่อสร้างต่างๆ ในอเมริกาต่างทำหน้าที่แข่งขันกันก่อสร้างลงทุนอสังหาริมทรัพย์ตามปริมาณความต้องการด้านที่อยู่อาศัยที่เพิ่มพูนอย่างมหาศาล จนปริมาณด้านอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยมีมากกว่าความต้องการของตลาด ส่งผลให้ราคาที่อยู่อาศัยที่แต่เดิมมีราคาสูงนั้น ร่วงตกลง

ผลต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวม

การก่อตัวของภาวะเงินเฟ้ออันเกิดจากการมีเงินหมุนเวียนอยู่ในระบบมากเกินไป (เงินนี้จำนวนมากก็เป็นเงินที่เกิดจากการปล่อยกู้) และปัญหาราคาน้ำมันสูงในช่วงค.ศ.2000-2008 เป็นเหตุให้ธนาคารกลางสหรัฐประกาศเพิ่มอัตตราดอกเบี้ยให้สูงกว่าเดิม ซึ่ง 2 ปัจจัยหลังนี้เองที่เปรียบเสมือนเข็มแหลมที่ไปไล่จิ้มฟองสบู่ให้แตกและทำให้วิกฤติสินเชื่อนี้เริ่มปรากฎชัดเจนและลุกลามบานปลาย


ภาพธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา

ปัญหาและผลกระทบของวิกฤติเศรษฐกิจหลังฟองสบู่แตก

จากราคาที่อยู่อาศัยที่ตกลงและดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ความต้องการของอสังหาริมทรัพย์ลดลงอย่างมาก จึงยิ่งซ้ำเติมให้ราคาที่อสังหาริมทรัพย์ที่แต่เดิมตกลงไปบ้างแล้ว ตกหนักเข้าไปอีกและความรวดเร็วของราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ตกลงนั้นจึงเรียกได้ว่าเกิดสภาวะฟองสบู่แตกแล้ว

ผลกระทบต่อภาคประชาชน

ราวเดือนกุมภาพันธ์ปี ค.ศ. 2007 วิกฤติจึงเริ่มปรากฎให้เห็นจาการที่มีปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ของลูกหนี้สินเชื่อซับไพร์มซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมหาศาลราว 10 ล้านคน เพราะไม่มีเงินมาชำระคืนบ้าง รวมถึงผู้ที่กู้เงินมาซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อเก็งกำไร ไม่สามารถคืนเงินกู้ได้จึงเกิดหนี้เสียเป็นจำนวนมากบ้าง ตลอดจนราคาบ้านที่อยู่อาศัยที่ตกต่ำลงก็ทำให้ผู้กู้บางส่วนเองยอมให้ ธนาคารมายึดอสังหาริมทรัพย์นั้นๆ แทนที่จะต้องไปยอมชำระเงินกู้พร้อมอัตราดอกเบี้ยซึ่งอาจมีมูลค่าที่สูงกว่าเงินที่กู้มาลงทุนเสียอีก

ผลกระทบต่อภาคเอกชน

ผลการผิดนัดชำระหนี้ของประชาชนส่งผลให้ธนาคารขาดสภาพคล่องจากหนี้เสียที่ปล่อยกู้ไปเหล่านี้ ปัญหาสินเชื่อได้ลุกลามขยายตัวอย่างรวดเร็ว จนเดือนตุลาคมปีเดียวกัน (ค.ศ.2007) สัญญาณของหายนะเริ่มชัดเจนมากขึ้นจากการที่ธนาคารเพื่อการลงทุน Bear Stearns เกิดภาวะขาดทุนจนธนาคารกลางสหัฐต้องเข้ามาช่วยเหลือ แต่นั่นก็ไม่ทำให้ปัญหาหมดไปเพราะปัญหานี้เกิดมาจากประชาชนซึ่งเป็นฐานราก แต่รัฐกลับไปช่วยเหลือภาคเอกชนและกลุ่มคนรวยแทน จึงทำให้ปัญหานี้แผ่วงกว้างออกไปไม่หยุด ธนาคารหรือสถาบันทางการเงินหลายแห่งที่ปล่อยกู้กับประชาชนจำนวนมากต้องปิดตัวลงหรือขายกิจการ โดยเฉพาะในกรณีของ Lehman Brothers ที่เป็นธนาคารเพื่อการลงทุนที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของสหรัฐต้องล้มละลาย

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐและของโลก

เมื่อธนาคารที่เป็นสถาบันการเงินมีปัญหา ก็ส่งผลไปยังธุรกิจอื่นๆ ต่างได้รับผลกระทบต่อกันเป็นลูกโซ่ โดยระหว่างปี ค.ศ.2008  นายจ้างบริษัทหรือธุรกิจเลิกจ้างงานกว่า 2.6 ล้านตำแหน่ง ซึ่งเป็นจำนวนที่มากที่สุดนับตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจ Great Depression เมื่อปี ค.ศ. 1929 ในเดือนกันยายนปีค.ศ. 2008 จำนวนคนตกงานในสาขาการเงินสูงถึง 65,400 คน เศรษฐกิจสหรัฐได้รับความเสียหายจำนวนมากจากวิกฤติครั้งนี้ โดยเฉพาะเรื่องความน่าเชื่อถือในการลงทุน ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐจึงตกอยู่ในสภาวะถดถอยจากความไม่เชื่อมั่นของนักลงทุน ผลกระทบจากสถาบันการเงินไปการค้าการลงทุน กระทบจากสหัฐอเมริกาแผ่ขยายไปทั่วทุกมุมโลกโดยเฉพาะยุโรป ที่มีการค้าการลงทุนกับอเมริกาเป็นจำนวนมาก จึงรับผลกระทบไปเต็มๆ ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญ ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดเป็นวิกฤติการเงินของกลุ่มยูโรโซนที่มีกรีซ เป็นจุดเริ่มต้นตามมา

การแก้ไขปัญหา

มีหลายวิธีที่สหรัฐเลือกนำมาใช้ตัวอย่างเช่น การกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้นโยบายการคลัง ให้ภาครัฐมีนโยบายใช้จ่ายเพิ่มขึ้นทางด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ช่วยเหลือการว่างงานและการลดภาษี เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคเอกชนให้มีการบริโภค โดยเฉพาะการลงทุนและการจ้างงาน ตลอดจนการฟื้นฟูสถาบันการเงิน ช่วยเหลือบริษัทอุตสาหกรรมที่ประสบปัญหา การจัดตั้งองค์กรเพื่อทำหน้าที่ซื้อหนี้เสียจากสถาบันการเงิน หรือการเข้าช่วยเหลือสถาบันการเงินในการขยายการปล่อยกู้ ซึ่งธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาแทบจะแปลงสภาพ รับบทเป็นธนาคารพาณิชย์ผู้ทำหน้าที่ปล่อยกู้โดยตรง ทั้งนี้เนื่องจากวงเงินเครดิตที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ได้กู้กันเต็มที่และเต็มวงเงินแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถชำระหนี้ได้ จึงต้องขยายการปล่อยกู้ต่อไปเพื่อให้สถาบันการเงินเหล่านั้นอยู่ต่อได้ เป็นต้น

แม้ว่าจะเป็นประเทศที่ที่มีความเชี่ยวชาญในระบบเศรษฐกิจอย่างสหรัฐอเมริกาเองก็มีการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดได้เช่นกัน เพียงแต่ด้วยฐานะที่อเมริกาเป็นพี่ใหญ่ของโลก เมื่อพี่ใหญ่เกิดปัญหาย่อมจะทำให้ประเทศอื่นๆ ที่เปรียบเสมือนน้องเล็กได้รับผลกระทบไปด้วย ซึ่งวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ก็อาจกล่าวได้ว่า เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของหลายฝ่ายๆ ตั้งแต่ภาคประชาชน ภาคธุรกิจ ตลอดจนภาครัฐอย่างขันแข็ง ความเสียหายจากวิกฤตินี้จึงเป็นลูกโซ่ที่ฟาดไปทุกหย่อมหญ้าและแผ่ขยายไปทั่วทุกระดับชั้นเศรษฐกิจ และแม้วิกฤติสินเชื่อด้อยคุณภาพหรือวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์นี้จะผ่านมาแล้วกว่า 7 ปีแต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากวิกฤตินี้ก็ยังคงมีอยู่ให้เห็นในปัจจุบัน ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ทุกประเทศทั่วโลกจะต้องให้ความสำคัญและตระหนักต่อวิกฤติครั้งนี้อย่างจริงจัง เพื่อหาทางแก้ปัญหาที่แทรกซ้อนขึ้นมาจากวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์นี้ รวมถึงการป้องกันไม่ให้เกิดหายนะทางเศรษฐกิจเฉกเช่นนี้อีกต่อไป


อ้างอิง


วิกฤติสินเชื่อซับไพรม์. สืบค้นเมื่อ 23 กันยายน พ.ศ. 2559 , จาก : https://th.wikipedia.org/wiki/วิกฤติสินเชื่อซับไพรม์

วิกฤติเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์. สืบค้นเมื่อ 23 กันยายน พ.ศ. 2559 , จาก : https://www.scribd.com/doc/วิกฤตเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์

วิกฤติเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา. สืบค้นเมื่อ 23 กันยายน พ.ศ. 2559 , จาก : http://www.stou.ac.th/stouonline/lom/data/sec/Lom6/04-01.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น