จัณฑาล

โดย ทิชากร  โพธิ์นรินทร์

มนุษย์ทุก ๆ หกคนบนโลก  จะเป็นชาวอินเดียหนึ่งคน  และในชาวอินเดียทุก ๆ หกคน  จะเป็นคนที่ถูกเรียกว่า จัณฑาล หนึ่งคน  คนอินเดียมากกว่า 170 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรในสหรัฐอเมริกา  เป็นคนจัณฑาล (นเรนทรา จาดฮาฟ, 2558)  พวกเขาต่างก็มีชีวิตที่ยากลำบาก ถูกรังเกียจและถูกเลือกปฏิบัติมากที่สุดในสังคมอินเดีย  ซึ่งเป็นผลมาจากระบบวรรณะที่ถูกกล่าวหาว่าไร้มนุษยธรรมและนำมาซึ่งความโหดร้ายต่อมนุษย์ด้วยกันเอง

ระบบวรรณะในอินเดียถูกฝังรากลึกมายาวนานกว่า 3500 ปี  มีการตั้งสมมุติว่าด้วยการกำเนิดวรรณะ  บางข้อเสนอกล่าวว่า  คนโบราณนั้นให้ความสำคัญของงานว่ามี 4 อย่าง  ต้องการแบ่งแยกความสำคัญ  ความยากของงานและลำดับชนชั้นในสังคม  จึงได้แบ่งวรรณะออกเป็น 4 วรรณะเพื่อให้จัดการได้ง่ายและเพื่อให้มีความต่อเนื่องในการถ่ายทอดทักษะความรู้ความสามารถของงาน  แต่สมมุติฐานนี้กลับไม่ได้รับความเชื่อถือเท่าที่ควร


ที่มา: http://news.mthai.com/

ยังมีอีกสมมุติฐานหนึ่งที่กล่าวถึงการกำเนิดวรรณะและได้รับความเชื่อถือมากกว่า  สมมุติฐานนี้กล่าวว่า  ระบบวรรณะนี้เกิดจากกษัตริย์และพราหมณ์ร่วมมือกันสร้างสิ่งที่จะใช้กีดกันประชาชนที่เป็นคนนอกสายเลือดของพวกตน  พวกกษัตริย์และพราหมณ์ที่เป็นคนมีความรู้นั้นเข้าใจว่า  ยิ่งมีคนมากเท่าไรก็ยิ่งปกครองได้ยากขึ้นเท่านั้น  จึงได้ใช้ศาสนาซึ่งเป็นสิ่งที่คนโบราณให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมากมากล่าวอ้างและนำระบบวรรณะเข้าไปหลอมรวมเพื่อให้ประชาชนที่เป็นคนนอกสายเลือดของตนนั้นไม่กล้าคิดแข็งข้อขึ้นมาชิงบัลลังก์  หรือระบบวรรณะนั้นอาจจะเป็นเพียงแค่การเหยียดเพศ  เหยียดสีผิว  เหยียดเชื้อชาติของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง  เพื่อยกคุณค่าตัวเองให้สูงขึ้นก็เป็นได้

วรรณะของคนอินเดียสามารถแบ่งโดยกว้างออกเป็น  วรรณะ ตามหลักความเชื่อของศาสนาฮินดู  ได้แก่  1) วรรณะพราหมณ์ เกิดจากโอษฐ์ของพระพรหม  2) วรรณะกษัตริย์ เกิดจากพระอุระของพระพรหม  3) วรรณะแพศย์ เกิดจากพระเพลา (ตัก) ของพระพรหม และ 4) วรรณะศูทร เกิดจากพระบาท (เท้า) ของพระพรหม  ส่วน จัณฑาล นั้น คือ ลูกที่เกิดจากการภรรยาที่เป็นวรรณะพราหมณ์กับสามีที่เป็นวรรณะศูทร  แต่ในทางปฏิบัติไม่ได้ยึดถือตามนี้  และมักถือกันมาตลอดว่าถ้าแต่งงานข้ามวรรณะ ลูกที่ออกมาจะเป็นจัณฑาลหมด (ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์, 2558) แต่ละวรรณะจะมีบทบาทความสำคัญทางสังคมแตกต่างกันไปตามลำดับ  สำหรับวรรณะจัณฑาลนั้นจะถือเป็นคนต่ำทรามและมีสถานะต่ำที่สุดในระบบวรรณะของอินเดีย

คนจัณฑาลส่วนใหญ่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก  อาศัยอยู่ในที่แออัดสกปรกหรือข้างกองขยะ  ทั้งยังถูกบังคับให้ทำงานสกปรกที่คนอินเดียวรรณะอื่นไม่ทำ  เช่น การล้างท่อระบายน้ำ  กวาดอุจจาระ  ล้างส้วม  หรืองานขนศพ  ซึ่งการทำงานนี้บางครั้งนายจ้างจะเลี่ยงไม่จ่ายเงินให้โดยการยกความเชื่อทางศาสนามาอ้างว่าสิ่งนี้เป็นการสะสมบุญที่เอาไว้ใช้ในชาติหน้า  ถ้าทำไม่ดีหรือเรียกร้องให้ตัวเองมากเกินไปจะทำให้ชาติหน้าเกิดมาเป็นจัณฑาลอีก  ทำให้คนจัณฑาลหลายคนไม่กล้าเรียกร้องความเป็นธรรม หรืออาจจะเรียกร้องไปแต่รัฐไม่ให้ความสนใจก็มี



โรงเรียนรัฐบาลมากกว่าร้อยละ 38 ที่เด็กจัณฑาลต้องนั่งแยกโต๊ะรับประทานอาหารกับเด็กวรรณะอื่น  และโรงเรียนอีกร้อยละ 20 ที่เด็กจัณฑาลไม่ได้รับอนุญาตให้ดื่มน้ำแหล่งเดียวกันกับเด็กวรรณะอื่น  การนั่งเรียนก็ต้องไปนั่งเรียนอยู่ข้างหลังสุด (ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์, 2558) และไม่มีโต๊ะเก้าอี้สำหรับเรียนหนังสือ  เด็กจัณฑาลมักไม่ได้รับความสนใจจากครูผู้สอน  ถูกปล่อยปละละเลย  และอาจถูกลงโทษอย่างรุนแรงมากกว่าเด็กในวรรณะอื่นจากการกระทำความผิดระดับเดียวกัน  ทำให้มีเด็กหลายคนลาออกเพราะไม่ได้รับความเป็นธรรม  นั่นยิ่งส่งผลให้เด็กจัณฑาลจำนวนมากไร้การศึกษาและไม่สามารถเรียกร้องสิทธิ์ของตนได้

ร้านค้าบางร้านประกาศไม่รับเงินโดยตรงจากลูกค้าจัณฑาล  ในบางหมู่บ้าน คนจัณฑาลถูกรังควานเพียงเพราะสวมเสื้อผ้าใหม่  บางคนถูกบังคับให้เหน็บกิ่งไม้ไว้ที่หลังเพื่อให้กิ่งไม้ช่วยลบรอยเท้าที่เขาเดิน  บางคนมีกะลาห้อยที่คอเพื่อไม่ให้น้ำลายของพวกเขาหยดลงบนพื้น  เมื่อจะแต่งงาน บางครั้งคนจัณฑาลก็ถูกคนวรรณะอื่นในหมู่บ้านกดดันให้เลิกจัด  ด้วยเหตุผลที่ว่าคนจัณฑาลไม่ควรมีงานแต่งงานที่เอิกเริก  และแม้จะเป็นช่วงเวลาที่อินเดียประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ  คนจัณฑาลก็ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐอย่างเพียงพอในสิ่งที่พวกเขาควรได้  เพียงเพราะคำว่า จัณฑาล ไม่ควรได้รับเท่ากับวรรณะอื่น

ในช่วงแรกที่อินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษ  ดร.บาบาสาเฮบ อัมเบดการ์  ซึ่งเป็นชนชั้นจัณฑาล ทนายความ และนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของคนจัณฑาล  ได้ถูกรับเชิญให้มามีบทบาทนำในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศ  โดยร่างรัฐธรรมนูญของ ดร.อัมเบดการ์ นี้ มีความชัดเจนในการมุ่งสร้าง “การปฏิวัติทางสังคม” ในอินเดียเหนือสิ่งอื่นใด  ด้วยการประกันและคุ้มครองสิทธิพลเมืองนานัปการ ตั้งแต่เสรีภาพในการนับถือศาสนา การยกเลิกวรรณะจัณฑาล และประกาศให้การเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบเป็นพฤติกรรมที่ผิดกฎหมาย (สฤณี อาชวานันทกุล, 2554)



แม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2492 และถูกบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้วก็ตาม  แต่กฎหมายเหล่านั้นก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงความเชื่อที่มีมาอย่างยาวนานได้  คนจัณฑาลยังคงถูกเลือกปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง  อย่างเช่นปัจจุบันที่แม้จะมีบริการของรัฐที่เข้าถึงสถานที่ต่าง ๆ มากขึ้น  แต่การจะเข้าถึงสิทธิ์ดังกล่าว ชาวอินเดียยังต้องระบุชนชั้นวรรณะของตนในทะเบียนพลเมืองอยู่ดี บางคนเลือกที่จะหลุดพ้นจากวรรณะจัณฑาลโดยการเปลี่ยนศาสนา  แต่สุดท้ายคนในสังคมก็ยังเข้าใจว่าคนที่เปลี่ยนศาสนานั้นมาจากพวกจัณฑาลเหมือนเดิม

ทุกคนต่างก็ยอมรับว่าการเรียกร้องสิทธิให้คนจัณฑาลนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย  แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม  ตามหมู่บ้านหรือเมืองใหญ่ ๆ ก็มีการรณรงค์เรียกร้องสิทธิให้คนจัณฑาลได้เรียนหนังสือและมีสิทธิพื้นฐานในการรับบริการจากรัฐ  ให้คนจัณฑาลได้มีชีวิตที่ดีขึ้น  ให้เด็ก ๆ ได้รับการศึกษา  เพื่อให้คนจัณฑาลเชื่อว่า การศึกษาคือกุญแจสำคัญที่จะปลดแอกตัวเองจากความยากลำบาก  ความพยายามเหล่านี้ไม่ง่ายเลยที่จะประสบความสำเร็จเมื่อไม่ได้รับความร่วมมือจากคนในวรรณะอื่น ที่จะมองและปฏิบัติต่อพวกเขาเหมือนเป็นมนุษย์คนหนึ่ง  และเมื่อไม่ได้รับความร่วมมือจากคนในวรรณะเดียวกัน ที่ความเชื่อเรื่องวรรณะฝังรากลึกเกินไปจนยากจะเปลี่ยนแปลง

แม้เทคโนโลยีของอินเดียจะก้าวหน้าไปไกลในระดับโลก  แต่ชีวิตของคนจัณฑาลกลับยังคงได้รับความยากลำบากและถูกเหยียดหยามจากคนในสังคมเหมือนเดิมนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  ระบบชนชั้นที่ถูกกล่าวหาว่าขาดมนุษยธรรมยังคงดำเนินต่อไป  สิ่งนี้ทำให้ปฏิเสธไม่ได้ว่าความเชื่อทางศาสนานั้นมีอิทธิพลต่อทั้งปัจเจกและสังคมได้อย่างลึกซึ้งและยาวนาน  ซี่งท้ายที่สุดแม้จะเป็นความพยายามที่มุ่งสร้างความเท่าเทียมและเพื่อให้ได้มาซี่งความเสมอภาค  แต่พลเมืองกลับยังคงถูกตีตราให้อยู่ภายใต้กรอบวัฒนธรรมแบบเดิม  แม้โลกจะเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปมากแล้วก็ตาม


อ้างอิง

นเรนทรา จาดฮาฟ.  (2558).  จัณฑาล (พิมพ์ครั้งที่ 9).  กรุงเทพมหานคร: สันสกฤต.

ปิยณัฐ สร้อยคำ. ความทุกข์ของจัณฑาล เมื่อต้องมาร่างรัฐธรรมนูญ.  สืบค้นเมื่อ 18 ตุลาคม 2558, จาก http://m.matichon.co.th/

ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์.  จัณฑาล: ระบบชนชั้นของศาสนาที่กลายเป็นปัญหาสังคม. สืบค้นเมื่อ 29 กรกฎาคม 2556, จาก https://www.facebook.com/

สฤณี อาชวานันทกุล. ดร. บาบาสาเฮบ อัมเบดการ์ จัณฑาลผู้เปลี่ยนโฉมหน้าอินเดีย. สืบค้นเมื่อ 29 มีนาคม 2554, จาก http://www.sarakadee.com/2011/03/29/babasaheb/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น