แง่มุมที่ถูกสะท้อนในมหากาพย์โอดิสซี

โดย กานต์พิชชา บุญมาก

ทางกลับบ้านของมหาบุรุษผู้ยิ่งใหญ่จากสงครามกรุงทรอย ถูกกล่าวขานอยู่ใน มหากาพย์โอดิสซี วรรณกรรมที่สะท้อนอารยธรรมกรีกโรมันโบราณได้อย่างละเอียด ทั้งยังเป็นเรื่องเล่ายาวเหยียดที่ต้องใช้เวลานานในการอ่าน แต่นอกเหนือจากความสนุกสนานก็ยังมีแก่นสารที่น่าสนใจแฝงไว้มากเช่นกัน

โอดีสซีย์ (อังกฤษ: Odyssey; กรีก: Ὀδύσσεια, Odusseia) เป็นบทประพันธ์มหากาพย์กรีกโบราณหนึ่งในสองเรื่องของโฮเมอร์ คาดว่าประพันธ์ขึ้นในราว 800 ปีก่อนคริสตกาล ที่แคว้นไอโอเนีย ดินแดนชายทะเลฝั่งตะวันตกของตุรกีซึ่งอยู่ในอาณัติของกรีก  บทกวีเล่าเรื่องราวต่อจากอีเลียด ว่าด้วยการเดินทางกลับบ้านที่อิธาคาของวีรบุรุษกรีกชื่อ โอดิซูส (หรือยูลิซีส ตามตำนานโรมัน) หลังจากการล่มสลายของทรอย โอดิซูสใช้เวลาเดินทางกลับบ้านนานถึง 10 ปี หลังจากที่ใช้เวลาไปในศึกเมืองทรอยแล้วถึง 10 ปี ระหว่างเวลาเหล่านั้น เทเลมาคัส บุตรของเขา และ พีเนโลปผู้ภรรยา ต้องต่อสู้กับกลุ่มคนพาลที่พยายามจะขอวิวาห์กับพีเนโลป เพราะต่างคิดว่าโอดิซูสเสียชีวิตแล้ว ในท้ายที่สุดยูลิซีสสามารถเดินทางกลับถึงเมืองบ้านเกิดและยึดอำนาจคืนจากพวกกบฏได้สำเร็จ ผลงานชิ้นสำคัญนี้ได้สะท้อนแง่มุมความคิดความเชื่อต่างๆดังนี้ (gradesaver,1999)



1. การพลัดพรากจากบ้านเกิด

ในฉากเปิดเรื่องตัวละครหลักอย่างยูลิซีสถูกแสดงออกมาในลักษณะชายผู้พลัดพราก ให้ความรู้สึกโดดเดี่ยว และเศร้าโศกเสียใจของการที่มิตรหายและลูกเรือผู้ร่วมเดินทางไม่สามารถรอดชีวิตมาด้วยกัน ในตัวเรื่องจะเน้นให้เห็นถึงความรู้สึกผิดและเสียใจอย่างมากของยูลิซีสโดยการพรรณาถึงการที่พระองค์อยากจะร้องไห้ทุกครั้งเมื่อนึกถึงมิตรสหายและแผ่นดินเกิด มีการบรรยายเน้นย้ำในฉากที่พระองค์ไม่สามารถกลั้นน้ำตาไว้ได้เมื่อฟังการขับลำนำเกี่ยวกับสงครามกรุงทรอยของชาวเฟเนเซียนในวังของพระเจ้าอัลสินูส

2. ความจงรักภักดี

ในเรื่องความจงรักภักดีถูกแสดงออกผ่านทางเหล่าขุนนางที่หลงในอำนาจทรยศต่อพระเจ้ายูลิซีสต้องการเมืองและทรัพย์สมบัติมาเป็นของพวกตน ซึ่งตรงข้ามกับข้ารับใช้เก่าที่มีความซื่อสัตย์คอยระลึกถึงพระเจ้ายูลิซิสอยู่เสมอ ดังเช่น ยูเมอัสคนเลี้ยงสุกรซึ่งเป็นข้าเก่า และแม่นมของพระองค์

3. ความแตกต่างระหว่างความซื่อสัตย์ของผู้หญิงและผู้ชาย

จะเห็นว่าโฮเมอร์ไม่ได้กล่าวตำหนิยูลิซิสมากนักในการที่พระองค์มีความสัมพันธ์กับผู้หญิงอื่นที่ไม่ใช่พระนางพีเนลโลป แต่กลับมีการบรรยายเชิงวิจารณ์ถึงการคิดไม่ซื่อของผู้หญิง ดังตอนที่นางไม้คาลิปโซไม่พอใจความสองมาตรฐานในเรื่องของการครองคู่รัก เทพเจ้าที่เป็นผู้ชายสามารถรักกับคู่ครองที่ไม่ได้มีชีวิตเป็นอมตะได้ แต่เทพเจ้าผู้หญิงไม่ได้รับการอนุญาต นอกจากนั้นพระนางพีเนลโลปและตัวละครผู้หญิงอีกหลายคนในเรื่องยังถูกตำหนิเกี่ยวกับความเคร่งครัดในการถือพรหมจรรย์

4. ความฉลาดหลักแหลมของพระเจ้ายูลิซีส

ผู้ที่ได้อ่านวรรณกรรมกรีกของโฮเมอร์ล้วนชื่นชมในความเก่งกาจของยูลิซิส ทั้งการวางแผนที่แยบยล กลอุบายหลายอย่างในการพิชิตเมืองทรอย การลอบหนีออกจากคุกของพระองค์ และการที่พระองค์ปลอมแปลงตนเป็นชายชรายาจกเพื่อตบตาและทดสอบเหล่าขุนนางที่คิดไม่ซื่อโดยทำตามแผนจนสามารถยึดอำนาจคืนได้

5. อันตรายจากความงามของสตรี

เห็นได้ในตอนแม่มดเซอร์ซีล่อลวงเหล่าลูกเรือเข้าไปในบ้านของนางแล้วสาปให้กลายเป็นหมูได้อย่างง่ายดาย การที่ยูลิซิสถูกคุมขังให้มาเป็นทาสรักของนางไม้คาลิปโซ การเอาชีวิตของผู้คนที่เดินเรือผ่านมาด้วยการหลอกล่อโดยเสียงที่ไพเราะยั่วยวนของพวกไซเรน

6. ข้อบกพร่องของยูลิซีส

แม้ภาพรวมในมหากาพย์ยูลิซีสจะดูเป็นผู้เก่งกาจในทุกเรื่อง แต่เขาก็ไม่ได้สมบูรณ์แบบดังจะเห็นได้จากนิสัยในการทำตามอารมณ์ของยูลิซีสในตอนที่หนีจากยักษ์ไซคอปถ้าเขาควบคุมอารมณ์โกรธไม่พุ่งหอกไปแทงตาของยักษ์ไซคอปที่เป็นลูกของเทพโพไซดอน เรือของเขาก็จะไม่อับปางเพราะความโกรธเคืองของเทพโพไซดอน ลูกเรือของเขาก็จะไม่ตาย แต่ก็เห็นได้ว่าเป็นบทเรียนสำหรับเขา โดยเนื้อเรื่องตอนหลังเขาพยายามทำตัวให้สุขุมมากขึ้น ไม่ทำตามอารมณ์ในทันที

7. อิทธิฤทธิ์ของเทพเจ้า

ชาวกรีกมีความเชื่อที่ว่าเทพเจ้าเป็นผู้กำหนดสรรพสิ่ง กำหนดชะตากรรมและความเป็นไปของมนุษย์ เริ่มตั้งแต่การขัดขวางไม่ให้ยูลิซีสเดินทางกลับแผ่นดินเกิดได้หลังจบสงครามกรุงทรอย การล่มเรือของยูลิซีสของเทพโพไซดอน การที่เทพีเอธีนาคอยลงมาช่วยเหลือยูลิซีสตลอดทาง และในการสู้รบกับเหล่าขุนนางในตอนท้าย เทพีเอธีนาก็ต้องไปขอซุสที่มีสิทธิอนุญาตให้ยูลิซีสเป็นฝ่ายชนะ เทพเจ้าและชาวกรีกนั้นมีความสัมพันธ์ที่ส่งผลต่อกันและกันอยู่เสมอ ชาวกรีกจึงมีการทำพิธีบูชาเทพเจ้าเพื่อให้เทพเจ้าประทานสิ่งที่ดี

8. การต้อนรับผู้มาเยือนด้วยไมตรีจิตร

การเดินทางตามหาบิดาของเจ้าชายเทเลมาคัสและการร่อนเร่ไปเมืองต่างๆของยูลิซีสนั้นทุกเมืองที่เข้าไปขอพึ่งพาความช่วยเหลือจะได้รับการต้อนรับจากเจ้าเมืองอย่างดี โดยถึงแม้ยูลิซีสจะไม่ยอมเปิดเผยชื่อตนตอนอยู่ที่เมืองเฟเนเซียน พระเจ้าอัลสินูสก็ให้การต้อนรับและช่วยเหลือเป็นอย่างดี ปฎิบัติต่อยูลิซิสเหมือนแขกคนสำคัญ ซึ่งอาจจะมาจากความเชื่อที่ว่าบางครั้งผู้ที่มาเยือนนั้นคือเทพเจ้าปลอมตนลงมา

9. การแก้แค้น

ในตอนท้ายเปรียบเหมือนการระบายของยูลิซีสในการกำราบเหล่าผู้ที่คิดทรยศต่อเขา จากการอดทนปลอมตัวเป็นชายชรายอมต่อการโดนดูถูกกลั่นแกล้งโดยเหล่าคนทรยศมานาน โดยยูลิซีสและเจ้าชายเทเลมาคัสรวมทั้งข้าบริวารเก่าร่วมกันสังหารเหล่าขุนนางที่ไม่จงรักภักดี แสดงให้เห็นถึงการลงโทษเหล่าคนทรยศ

แง่มุมต่างๆเหล่านี้สะท้อนถึงความคิดความเชื่อที่ถูกส่งผ่านถ่ายทอดโดยการขีดเขียนของผู้แต่ง กวีโฮเมอร์เป็นมหากาพย์ยิ่งใหญ่ที่มีอิทธิพลจากยุคอารยธรรมกรีกโรมันโบราณ บางบรรทัดเมื่อนักวิเคราะห์ได้ลองทำการสกัดออกมาแล้วกลายเป็นแง่มุมมองสำคัญของประวัติศาสตร์ มุมสะท้อนถึงวิถีชีวิตคติความเชื่อของผู้คนกลุ่มหนึ่ง มนุษย์กลุ่มหนึ่งที่เรามิได้อยู่ร่วมในช่วงเวลาที่พวกเขายังมีชีวิตอยู่ด้วยได้ การที่ได้รับรู้ถึงกลิ่นอายแห่งคติความเชื่อของพวกเขาจากกระดาษบันทึกบางบางแผ่นหนึ่งถือเป็นสิ่งที่มีคุณค่า


อ้างอิง

GradeSaver LLC. (1999).The Odyssey Summary and Analysis. September, 18, 2016 from GradeSaver.com: http://www.gradesaver.com/the-odyssey/study-guide/summary-books-1-4

Joel Skidmore. (1997).Odysseus. September, 18, 2016 from Mythweb: http://www.mythweb.com/odyssey/index.html

Marcel Bas. (2006).The meaning of Tradition in Homer's Odyssey. September, 18, 2016 from roepstem.net: http://roepstem.net/odyssey.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น