เจดีย์สี่พันองค์แห่งพุกาม

โดย ภากร  มณีอินทร์

ซากปรักหักพังของโบราณสถานต่างๆ คือร่องรอยที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรโบราณ หากมองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายคนคงนึกถึง ปราสาทนครวัดและหมู่ปราสาทหินต่างๆ แห่งอาณาจักรเขมร แต่ยังมีอีกหนึ่งอาณาจักรที่สิ่งก่อสร้างยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน นั่นก็คือ “พุกาม” ดินแดนแห่งเจดีย์สี่พันองค์ เพราะทั่วทั้งบริเวณในเขตอาณาจักรเต็มไปด้วยหมู่เจดีย์น้อยใหญ่กว่าสี่พันองค์ แต่ละองค์ล้วนมีเอกลักษณ์ มีตำนานเรื่องเล่าและมีความวิจิตรบรรจงเป็นอย่างยิ่ง

พุกาม (Pagan) คือชื่ออาณาจักรโบราณของพม่าสถาปนาโดยพระเจ้าอโนรธามังช่อ หรือ พระเจ้าอโนรธา คนไทยรู้จักในนามพระเจ้าอนิรุทธ์ ปฐมกษัตริย์พม่าแห่งราชวงศ์พุกาม ดังนั้นพุกามจึงถือเป็นราชธานีแห่งแรกของพม่าด้วย โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ เมืองพุกาม หรือที่ทางการพม่าเรียกว่า บากัน(Bagan) อยู่ในเขตมัณฑะเลย์ในปัจจุบัน ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของแม่น้ำอิระวดีในเขตภาคกลางของประเทศพม่า  มีอายุอยู่ในช่วง พ.ศ. 1587 - พ.ศ. 1830 ปกครองโดยกษัตริย์ 14 พระองค์ และค่อยๆ เสื่อมอำนาจลงหลังจากกองทัพมองโกลรุกรานก่อนจะถูกผนวกดินแดนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิจีนในสมัยราชวงศ์หยวน สภาพภูมิอากาศโดยทั่วไปจัดเป็นเขตแห้งแล้ง มีระดับน้ำฝนต่ำกว่า 30 นิ้วต่อปี สภาพภูมิอากาศดังกล่าวนี้เองที่เอื้อต่อการคงอยู่ของหมู่เจดีย์น้อยใหญ่ที่ก่อด้วยอิฐกว่าสี่พันองค์ ถึงแม้ในปัจจุบันจะเหลือเพียงสองพันกว่าองค์ที่รอดพ้นมาจากภัยพิบัติทางธรรมชาติแผ่นดินไหว จากสงคราม และจากการรื้อทำลายของมนุษย์ แต่นั่นก็เพียงพอแล้วที่จะสร้างความประทับใจให้แก่ผู้คนที่มาเยี่ยมชมสถานที่แห่งนี้ไม่รู้ลืม


ภาพหมู่เจดีย์น้อยใหญ่บางส่วนของอาณาจักรพุกาม
ที่มา : http://www.taladtours.com/

อาณาจักรพุกามถือเป็นอาณาจักรที่มีพัฒนาการความเจริญรุ่งเรืองควบคู่มากับพุทธศาสนานิกายเถรวาท อันเนื่องมาจากสถานการณ์ความสั่นคลอนของพุทธศาสนาในอินเดียจากการแผ่อิทธิพลเข้ามาของศาสนาอิสลามทำให้พุกามกลายเป็นจุดหมายของผู้อพยพในสมัยนั้น เพราะจากชัยภูมิที่ตั้งที่เหมาะเป็นศูนย์กลางทางการปกครองและทางการค้า การอพยพเข้ามาของชาวพุทธในช่วงเวลานั้นทำให้อาณาจักรแห่งนี้พัฒนากลายเป็นศูนย์กลางทางพุทธศาสนาในเวลาต่อมา ด้วยความศรัทธาในพระพุทธศาสนาของทั้งกษัตริย์ ขุนนางและชาวเมืองส่งผลให้พุกามมีความก้าวหน้าทางด้านศิลปะกรรมเพื่อการบูชาพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง โดยรังสรรค์สถาปัตยกรรมออกมาในรูปแบบเจดีย์ที่มีความสวยงามโดดเด่นเพื่อใช้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุหรือพระพุทธรูปสำคัญตามความประสงค์ของผู้สร้างและจึงถวายเป็นพุทธบูชา นั่นทำให้อาณาจักรแห่งนี้เต็มไปด้วยเจดีย์โบราณจากการสำรวจพบกว่า 2,217 องค์  จากทั้งหมด 4,446 องค์ที่ปรากฏในเอกสารทางประวัติศาสตร์

เจดีย์ศิลปะแบบพุกาม นิยมก่อสร้างจากอิฐดินเผา นำมาก่อและฉาบด้วยปูน ภายนอกมีการประดับตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้น ส่วนภายในมีการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับพุทธประวัติ ซึ่งความรุ่งเรืองของสถาปัตยกรรมในรูปแบบเจดีย์นี้ นอกจากปรากฏอยู่ทั่วไปในเขตอาณาจักรกว่าสี่พันองค์แล้วนั้น นักโบราณคดียังเชื่อว่ารูปแบบเจดีย์ต่างๆ นั้นยังส่งอิทธิพลต่อการสร้างเจดีย์ในอาณาจักรใกล้เคียงอื่น ๆ ด้วย รวมถึงอาณาจักรโบราณของไทยอย่างหริภุญชัยที่ส่งผลมาถึงล้านนา หรือ สุโขทัย ที่ส่งผลมาถึงอยุธยา ทั้งหมดล้วนมีสถาปัตยกรรมที่ส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพลมาจากเจดีย์แบบพุกาม เช่น วัดเจดีย์เจ็ดแถวของศรีสัชนาลัย หรือ เจดีย์เชียงยืน วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

ในปัจจุบันดินแดนเจดีย์แห่งพุกามได้กลายเป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก โดยเจดีย์ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวที่สุด คือ เจดีย์ชเวซันดอที่ถือเป็น 1 ใน 5 มหาเจดีย์แห่งพม่า และมีความสนใจอยู่ที่ภาพพุทธชาดกที่บริเวณผนังภายในเจดีย์และการก่อสร้างเจดีย์องค์นี้ยังมีความประณีตในการเรียงอิฐที่ว่ากันว่าไม่สามารถใช่เข็มสอดเข้าไประหว่างรอยต่อของอิฐแต่ละก้อนได้ รวมถึงยังเป็นจุดชมวิวพระอาทิตย์ตกดินอีกจุดหนึ่งที่สวยที่สุดของเมืองพุกามอีกด้วย หรือเจดีย์ตะเบียงนิวที่เป็นเจดีย์ที่สูงที่สุดของพุกามและมีลวดลายปูนปั้นที่สวยงามและสมบูรณ์ ส่วนกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวนิยมกันคือการนั่งรถม้าและการปั่นจักรยานชมเจดีย์ต่างๆ ในเขตโบราณสถาน ซึ่งแต่ละองค์จะอยู่ไม่ห่างกันมาก โดยระหว่างทางจะมีบรรยากาศไร่นาของชาวพม่า และแต่ละเจดีย์จะมีจุดขายของที่ระลึก รวมถึงมีไกด์คอยให้ความรู้ และให้คำแนะนำในการท่องเที่ยวด้วย โดยความงามของพุกามนี้มีคำกล่าวของอาร์โนลด์ ทอยน์บี นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษได้กล่าวไว้ว่า “See Angkor Wat and Die,  See Pagan and live” หรือ “การได้เห็นนครวัดย่อมนอนตายตาหลับ และการได้เห็นพุกามย่อมมีชีวิตเป็นอมตะ ”


ภาพการนั่งรถม้าชมหมู่เจดีย์ในเขตโบราณสถานเมืองพุกาม

สถานการณ์ปัจจุบัน หลังจากที่พม่าเปิดประเทศมีการจัดการเลือกตั้งตามหลักประชาธิปไตย นั่นทำให้ทางการพม่าต้องการผลักดันโบราณสถานเมืองพุกามที่ยิ่งใหญ่แห่งนี้เป็นมรดกโลก มีการจัดทำ “แผนแม่บทการรักษาเมืองพุกาม (Master Plan For The Preservation Of Bagan )” อีกทั้งความสมบูรณ์ยิ่งใหญ่และความเก่าแก่ของโบราณสถานแห่งนี้คงเพียงพอแล้ว แต่คณะกรรมการมรดกโลก องค์การยูเนสโก (UNESCO) ยังมีความกังวลในเรื่องการปรับปรุงซ่อมแซมของทางการพม่าที่อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของสถาปัตยกรรมดั้งเดิม เช่นการสร้างยอดเจดีย์ขึ้นใหม่ทดแทนของเดิมที่เสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว  หรือการประดับตกแต่งด้วยการปิดทองและทาสีใหม่ให้ดูสวยงาม นั่นทำให้ยูเนสโกยังไม่สามารถประกาศให้โบราณสถานในเมืองพุกามเป็นมรดกโลกได้ แต่ใช่ว่าพม่าจะไม่มีมรดกโลก เพราะในกลางปี 2557 ที่ผ่านมา คณะกรรมการมรดกโลกได้ประกาศให้กลุ่มเมืองโบราณในอาณาจักรพะยูของพม่าให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ดังนั้นที่นี่จึงกลายเป็นมรดกโลกแห่งแรกของพม่าด้วย

ตลอดระยะเวลาเกือบสามร้อยปีแห่งความรุ่งเรืองที่อาณาจักรแห่งนี้ได้สะสมความมั่งคั่งทางประเพณีวัฒนธรรม ตำนาน ความเชื่อ ศาสนา และภูมิปัญญาทางสถาปัตยกรรม จนถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งอู่อารยธรรมที่มีอิทธิพลต่อการก่อตั้งและพัฒนาการของอาณาจักรใกล้เคียงอื่นๆ ในสมัยต่อมา โดยเฉพาะในด้านภูมิปัญญาทางสถาปัตยกรรม และในปัจจุบันยังมีความสำคัญทั้งในด้านการท่องเที่ยว ด้านการเป็นแหล่งประกอบอาชีพของคนในพื้นที่ และสำคัญที่สุดคือด้านการศึกษาทางประวัติศาสตร์ที่จะช่วยเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของคนในภูมิภาคแถบนี้ให้มีความรักความเข้าใจกันมากขึ้นในแง่ของการมีวัฒนธรรมร่วมกัน และเมื่อทุกภาคส่วนทั้งคนในท้องถิ่น คนในภูมิภาคเดียวกัน ภาครัฐ และองค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงนักท่องเที่ยวที่แวะเวียนมาเยี่ยมชมโบราณสถานแห่งนี้ล้วนเห็นคุณค่าร่วมกัน ทั้งหมดนั้นจะช่วยต่อลมหายใจของดินแดนเจดีย์สี่พันองค์แห่งนี้ให้คงอยู่อย่างมั่นคงและงดงามคู่โลกใบนี้ต่อไป


อ้างอิง

ASTVผู้จัดการออนไลน์. 2559. ยูเนสโกประกาศ “กลุ่มเมืองอาณาจักรพะยู” ของพม่าเป็นมรดกโลกแห่งใหม่. (ออนไลน์). ค้นเมื่อ 23 กันยายน 2559, จาก : http://www.manager.co.th/Indochina/ViewNews.aspx?NewsID=9570000070887

เกรียงไกร เกิดศิริ.  (2550, กันยายน).  สถานการณ์การจัดการมรดกทางวัฒนธรรมในเมืองโบราณพุกาม.  หน้าจั่ว, 5(1), 112-125.  ค้นเมื่อ 23 กันยายน 2559, จาก :   https://www.tci-thaijo.org/index.php/NAJUA/article/view/16511/14933

มูลนิธิวิกิมีเดีย. 2558 . อาณาจักรพุกาม. (ออนไลน์). ค้นเมื่อ 23 กันยายน 2559, จาก : https://th.wikipedia.org/wiki/

สุจิตต์  วงษ์เทศ. (2545). เที่ยวดงเจดีย์ที่พม่าประเทศ. กรุงเทพฯ : บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน).

สำนักวิชาการ สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. 2556 . พุกาม : เส้นทางสู้ความเป็นมรดกโลก. (ออนไลน์). ค้นเมื่อ 23 กันยายน 2559, จาก :  http://library2.parliament.go.th/ejournal/content_af/2556/oct2556-3.pdf.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น