ขงจื้อ ปรมาจารย์แห่งแผ่นดินจีน

โดย นิรันดร์ มีไพฑูรย์

ในบรรดานักปราชญ์จีนผู้มีความสามารถและเป็นนักคิดนักปรัชญา อันเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนแล้ว มีมากมายไม่ว่าจะเป็น เล่าจื๊อ ม่อจื๊อ เม่งจื๊อ ซุนจื๊อ กว๋อฉาง ซุนวู ซือหม่าเซียน และอีกบุคคลที่มีชื่อเสียงและยังเป็นอาจารย์ของนักปราชญ์คนอื่นๆ ก็คือ ขงจื๊อ

ขงจื๊อมีชื่อเดิมว่า ข่งชิว เป็นบุตรชายที่เกิดจากการแต่งงานใหม่ ของจูเหลียงโฮผู้เป็นพ่อ อายุ 70 ปี และมารดาชื่อจินไจ อายุ 17 ปี ในแคว้นลู่ ปัจจุบันคือจังหวัดฉู่ฝู มณฑลซานตง ทางภาคเหนือของประเทศจีน ตามประวัติกล่าวว่ามารดาได้ให้กำเนิดขงจื๊อในถ้ำที่ภูเขาแห่งหนึ่ง ในสมัยชุนชิวและจั้นกั๋ว รัชสมัยของโจวหลิงหลาง แห่งราชวงศ์โจว

เมื่อบิดาเสียชีวิตไป ผู้เป็นแม่จึงได้เล็งเห็นว่าหนทางเดียวที่จะทำให้ขงจื๊อมีความเจริญก้าวหน้าในอนาคตได้คือการเป็นขุนนางในราชวัง และหนทางที่จะทำให้บรรลุได้ก็คือการได้รับการศึกษาเรียนหนังสือ อาจารย์ผู้ประสิทธ์ประสาทความรู้ให้แก่ขงจื๊อเมื่อยังเยาว์วัยนั้นคือมารดาและผู้เป็นตา สิ่งที่เล่าเรียนคือ จารีต ประเพณี ธรรมเนียมปฏิบัติ และพิธีกรรมของชนชั้นสูงและผู้มีฐานะในสังคมสมัยราชวงศ์โจว ด้วยลักษณะนิสัยของขงจื๊อที่หมั่นขวนขวายหาความรู้มาตั้งแต่เด็ก ฉลาด  ซื่อตรง ถ่อมตน  ตั้งใจศึกษาอย่างจริงจังและขยันขันแข็งทำให้เรียนรู้ได้รวดเร็วและลึกซึ้ง

ด้วยอุปนิสัยที่ใฝ่ศึกษาหาความรู้อยู่ตลอด เมื่อขงจื๊ออายุ 20 กว่าก็สนใจเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง มักถกปัญหาให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับบ้านเมืองแก่บรรดานักปกครอง จนได้รับยกย่องให้เป็น “ผู้รอบรู้และสันทัดในนิติธรรมเนียม” ครั้นเมื่อเจ้าผู้ครองแคว้นฉี พระนามว่า ฉีจิ่งกง  เดินทางมาเยือนแคว้นหลู่ พร้อมเสนาบดีผู้กระเดี่ยงนามในประวัติศาสตร์ นามว่า เยี่ยนอิง ทั้งสองได้เชิญขงจื๊อเข้าพบและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมือง


ภาพวาดท่านขงจื๊อ
ที่มา: http://www.thongkasem.com/

ในวัยกลางคนของขงจื๊อ ทุ่มเทให้กับการปกครองบ้านเมืองอย่างมาก ปรารถนาให้บ้านเมืองสงบสุขมีการปกครองที่ดี แต่ก็ผิดหวังกับการเมืองภายในแคว้น ด้วยเหตุนี้จึงกลายเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตของขงจื๊อ โดยลาออกจากราชการและออกเผยแพร่แนวคิดทางการปกครองแก่แคว้นต่างๆ ด้วยความมีความรู้ความสามารถในการสร้างระบบแนวคิด ทำให้ขงจื๊อเป็นผู้รอบรู้ในสมัยนั้น ด้วยท่านเป็นอาจารย์ทำให้มีศิษย์เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนมีชื่อเสียงเลื่องลือไปทั่ว

ลัทธิขงจื๊อเกิดเมื่อประมาณ 8 ปีก่อนพุทธศักราช โดยคิดตามปีเกิดของขงจื๊อ ท่านไม่เคยคิดว่าท่านเป็นศาสดาและไม่เคยคิดตั้งศาสนา แต่ได้กลายเป็นศาสดาก็เพราะมีผู้ตั้งให้แบบเดียวกับเล่าจื๊อ

ในขณะที่ขงจื๊อเป็นอาจารย์นั้น เป็นคนที่เปิดกว้างด้านการศึกษาเป็นอย่างมาก โดยมีคำกล่าวว่า มีเพียงเนื้อเป็นค่าเล่าเรียนก็เพียงพอแล้ว การสอนศิษย์ของขงจื๊อนั้นเป็นไปอย่างเข้มงวดกวดขันทีเดียว

ผลงานด้านการเขียนที่สำคัญของขงจื๊อ ที่เขียนโดยขงจื๊อโดยตรง เรียกว่า เก็ง หรือ กิง ทั้ง5 หมายถึงวรรณคดีชั้นสูงทั้ง 5 มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. ชุนชิว เป็นบันทึกเหตุการณ์กิจการทางการเมืองของแคว้นหลู่ อุปนิสัยข้าราชการ และแจกแจงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์

2. ซือจิง เป็นหนังสือเกี่ยวกับบทกวีนิพนธ์เก่าแก่ของจีน มีจำนวน 305 บท

3. ซูจิง กล่าวถึงเหตุการณ์และรัฐศาสตร์ย้อนหลังไป ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถึง ถึงรัชสมัย
จักรพรรดิมุกุง แห่งราชวงศ์จิ้น

4. อี้จิง เป็นการให้ความรู้ทางจักรวาล-วิทยา แสดงความเป็นมาของโลกและอภิปรัชญาตามทัศนะของชาวจีนโบราณ

5. หลี่จี้ กล่าวถึงจารีตพิธีเกี่ยวกับชีวิต 2 ประการ ดังนี้
5.1 พิธีการในการติดต่อกันทางสังคม การรับรองบุตร การแต่งงาน การไว้ทุกข์
5.2 สถาบันทางสังคมและทางประเทศชาติ
ในบั้นปลายชีวิตของท่านนั้น ก็ต้องเผชิญกับความสูญเสียและความเศร้าโศกเป็นอย่างยิ่ง เมื่อลูกชายของท่านได้ถึงแก่กรรม รวมถึงศิษย์รักที่สุดของท่าน คือ เหยียนหุย และ จื่อลู่ ซึ่งแต่ละคนห่างกันเพียง 2 ปีเท่านั้น ท่านจึงเร่งรัดเขียนตำราอย่างหนัก จนล้มป่วยลง และถึงแก่กรรมในปี 479 ก่อนคริสต์ศักราช ด้วยอายุ 73 ปี


ภาพสุสานตระกูลข่ง หรือสุสานจื้อเซิ่ง

ศพของขงจื๊อถูกฝังอยู่ที่ สุสานตระกูลข่ง ตั้งอยู่ที่เมือง ชวีหู่ มณฑลซานตง รวมถึง ศาลเจ้าขงจื๊อ และคฤหาสน์ตระกูลข่ง โดยเรียกรวมกันว่า “ซานข่ง” มีพื้นที่ขนาดกว่า 14,175 ตารางกิโลเมตร มีขนาดใหญ่เป็นรองเพียงพระราชวังต้องห้ามเท่านั้น สุสานตระกูลข่ง เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “สุสานจื้อเซิ่ง” เป็นสถานที่ที่ฝังทั้งศพของขงจื๊อและลูกหลานรวมกว่าหนึ่งแสนคน เป็นเวลากว่าสองพันปีล่วงมา

แม้ว่าขงจื๊อได้ตายจากไป แต่ปรัชญาและคำสอนแนวทางในการใช้ชีวิตเหล่านั้นยังคงอยู่ กลายเป็นลัทธิแห่งปรัชญาการดำเนินชีวิตที่ฝังรากลึกในจิตใจผู้คนมายาวนานกว่า 20 ศตวรรษ และได้รับการขนานนามว่า “ขงจื๊อ ปรมาจารย์แห่งแผ่นดิน” จวบจนถึงปัจจุบัน


อ้างอิง

ชูเกียรติ  มุ่งมิตร.  (2545).  ประวัติย่อขงจื๊อ. (ออนไลน์), สืบค้นเมื่อ 24 กันยายน 2558 จาก: http://www.rta.mi.th/chukiat/story/khongjue.html

โรงเรียนสอนภาษาจีนหอการค้าไทย-จีน.  2553.  ประวัติขงจื๊อ.  (ออนไลน์).  สืบค้นเมื่อ 26 กันยายน 2558, จาก: http://www.tcbl-thai.net/index.php?lay=show&ac=article&Id=538845762

สำนักพิมพ์ทองเกษม. 2555.  ขงจื๊อ ปรมาจารย์แห่งแผ่นดิน.  (ออนไลน์).  สืบค้นเมื่อ 23 กันยายน 2558, จาก: http://www.thongkasem.com/knowledge.php?kid=32

วิกิพีเดีย สาราณุกรมเสรี. ขงจื๊อ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 23 กันยายน 2558, จาก: https://th.wikipedia.org/wiki/ขงจื๊อ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น