อองซาน ซูจี (Aung San Suu Kyi)

โดย อรชา อุทิศธรรม

ในบรรดาบุคคลสำคัญต่างๆ มายมายในโลก อองซาน  ซูจี นับเป็นสตรีเหล็กผู้หนึ่งที่มากไปด้วยความสามารถ และยืนหยัดต่อสู้เรียกร้องเพื่อความเป็นธรรมให้กับประชาชนชาวพม่ามายาวนาน จนประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ.2558 ชื่อของนางอองซาน  ซูจี  ได้โด่งดังไปทั่วโลกจากเส้นการดำเนินชีวิตและการต่อสู้ที่เต็มไปด้วยขวากหนามของเธอ

อองซาน  ซูจี (Aung San Suu Kyi) เกิดเมื่อ  วันที 19  มิถุนายน พ.ศ. 2488  ที่เมืองย่างกุ้ง  ประเทศพม่า เป็นธิดาของ นายพลอองซาน  และนางดอว์ขิ่นจี บิดาของซูจีนับได้ว่าเป็นวีรบุรุษของพม่า  ผู้นำการต่อสู้เรียกร้องเอกราชจากประเทศญี่ปุ่นและสหราชอาณาจักร  จนนำไปสู่การได้รับอิสรภาพเป็นรัฐเอกราช ซึ่งไม่น่าแปลกใจเลยที่เธอจะเลือกเดินในเส้นทางเดียวกับบิดา



แต่บิดาของเธอได้ถูกลอบสังหารตั้งแต่เธอมีอายุเพียง 2 ขวบ  มารดาของเธอในขณะนั้นเป็นทูตและได้รับการแต่งตั้งไปดำรงตำแหน่งที่อินเดีย  เลยทำให้ซูจี ต้องเข้ารับการศึกษาที่ประเทศอินเดีย เมื่อจบการศึกษาจึงได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ  และได้พบรักกับนายนาย ไมเคิล อริส  จนได้แต่งงานและมีบุตรชายด้วยกัน 2 คน  แต่ในระหว่างปี พ.ศ. 2516-2529 ซูจี ได้มีการย้ายไปทำงานในหลายประเทศพร้อมกับสามีของเธอ  โดยจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิตทางการเมืองของเธอเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2531

นางซูจีได้กลับบ้านเกิดที่กรุงย่างกุ้ง เพื่อมาดูแลมารดา ที่ป่วยหนักในขณะนั้น ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ประเทศพม่ากำลังประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ  และมีความวุ่นวายทางการเมือง  ประชาชนจำนวนมากโดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาได้มีการชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อกดดันให้นายพลเนวิน  ที่ยึดอำนาจการปกครองประเทศพม่าให้ลาออกจากตำแหน่งประธานพรรคสังคมนิยมพม่าขณะนั้นจนกระทั่งสำเร็จ  จนเป็นเหตุให้ผู้นำทหารได้สั่งการให้ใช้กำลังอาวุธในการสลายการชุมนุมจนนำมาสู่การเสียชีวิตของผู้ชุมนุมหลายพันคน ซูจี ได้เข้าร่วมชุมนุมกิจกรรมทางการเมืองครั้งนี้เป็นครั้งแรกโดยการส่งจดหมายถึงรัฐบาลเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งเพื่อให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย

เธอได้ร่วมจัดตั้งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD ขึ้น แต่รัฐบาลพม่าได้ใช้อำนาจตามกฏอัยการศึกกักกันบริเวณเธอให้อยู่แต่ในบ้านเป็นครั้งแรกโดยไม่มีข้อหา เป็นเวลาถึง 3 ปี และได้กักบริเวณสมาชิกพรรค NLD ไว้ที่เรือนจำ  และนี่คือจุดเริ่มต้นบทบาททางการเมืองของซูจี


ที่มา: http://variety.teenee.com/

ซูจีได้อดอาหารเพื่อประท้วงเรียกร้องให้นำตัวเธอไปขังรวมกับสมาชิกพรรคของเธอ  และในขณะนั้นเองได้มีการเลือกตั้งครั้งใหม่ในพม่า และพรรคของเธอได้รับการชนะในการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น  แต่รัฐบาลเผด็จการของพม่าปฏิเสธที่จะถ่ายโอนอำนาจให้แก่ผู้ชนะการเลือกตั้ง แต่ได้ยื่นข้อเสนอให้เธอออกนอกประเทศเพื่อไปใช้ชีวิตกับครอบครัวที่อังกฤษ  แต่ซูจี ได้ปฏิเสธ ข้อเสนอนั้น

ต่อมาในปี 2538 ซูจี  ได้รับอิสรภาพจากการถูกกักบริเวณ  แต่ถูกห้ามให้ดำเนินกิจกรรมใดๆเกี่ยวกับการเมือง  และถูกจำกัดเสรีภาพต่างอีกมากมายทั้งไม่ให้พบปะกับประชาชน  และสมาชิกพรรคของซูจีเองและแม้ต่อมาเธอจะถูกปล่อยให้ได้รับอิสรภาพแต่เธอก็ยังถูกทหารติดตามเธอไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม

ต่อมาในปี 2542 สามีของเธอก็ได้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งที่ประเทศอังกฤษ และตั้งแต่ปี 2543-2552  เธอก็ยังมีบทบาททางการเมืองโดยสันติวิธีเพื่อการนำประเทศมาสู่ประชาธิปไตยอยู่เรื่อยมาปัญหาการพัฒนาประชาธิปไตยในพม่า จะยังคงเป็นปัญหาที่ยุ่งยากซับซ้อนอีกยาวไกล แต่บทบาทของเธอยังถูกทางการทหารของพม่าควบคุมดูแลนางซูจีอยู่ตลอดเรื่อยๆ มา

ล่าสุดเมื่อ 13 พ.ย.2558 ที่มีการเลือกตั้งของพม่า ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของนางออง ซาน ซูจี ได้คะแนนเสียงเพิ่มขึ้นอีก 15 ที่นั่ง และยิ่งเสริมความแข็งแกร่งให้พรรคเอ็นแอลดี ถือเป็นการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลชุดใหม่ของประวัติศาสตร์การเมืองในพม่ามานับแต่กองทัพทหารพม่ามาปกครองประเทศมายาวนานกว่า 50 ปี ขณะเดียวกันก็มีทั้งผู้นำในระดับโลกและผู้มีชื่อเสียงอีกมากมายออกมาร่วมแสดงความยินดีกับชัยชนะอย่างถล่มทลายของนางซูจี ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดนี้ที่เธอได้รับชัยชนะมา อองซาน ซูจี ยังได้รับเกียรติเข้ารับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เมื่อปีพ.ศ. 2534

และนี่คือเรื่องราวชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย  เพื่อประชาชน และเพื่อประเทศของเธอเอง   จากสถานะหญิงแม่บ้านคนหนึ่งสู่ผู้มีบทบาททางการเมืองที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก  และเชื่อว่าไม่มีใครที่ไม่รู้จักชื่อ อองซาน  ซูจี


อ้างอิง

https://www.thairath.co.th/content

หนังสือ AUNG SAN SUU KYI วีรสตรีประชาธิปไตยพม่า โดย ดร.กุลธิดา  บุณญะกุล

ประวัติ อองซานซูจี เส้นทางชีวิตและการต่อสู้ของอองซานซูจี –highlight.kapool.com

สืบค้นเพิ่มเติมเมื่อ 22  พ.ย. 2558 ผลการเลือกตั้งพม่าครั้งล่าสุด

http://news.mthai.com/hot-news/world-news/468465.html


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น