ชีเชน อิตซา (Chichen itza)

โดย ศิลาวดี มะสุนี

ถ้าหากจะกล่าวถึงเมืองโบราณในอารยธรรมเมโสอเมริกาหลายๆคนคงนึกถึงเมืองมาชูปิชูที่ยิ่งใหญ่ของชนเผ่าอินคา แต่ก็มีอีกหนึ่งเมืองโบราณที่สำคัญและยิ่งใหญ่ไม่แพ้กันนั่นก็คือ ชีเชน อิตซา

ชีเชน อิตซา เป็นเมืองโบราณสถานที่สร้างขึ้นระหว่างศตวรรษที่ 10 - 15  ปัจจุบันตั้งโดดเด่นเป็นสง่าอยู่เหนือคาบสมุทรยูคาตัน ทางตอนกลางของประเทศเม็กซิโก ชีเชน อิตซา เป็นวิหารที่โด่งดังที่สุดของชนเผ่ามายัน และถือเป็นศูนย์กลางด้านการเมืองและเศรษฐกิจของอารยธรรมมายาด้วย เป็นส่วนหนึ่งของเมืองจำนวนมากมายซึ่งพวกมายาได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ของเทพเจ้าผู้ทรงกระหายพระโลหิต

ชนเผ่ามายาแห่งเม็กซิโกสืบสายมาจากคนพวกแรกที่เดินทางจากทวีปเอเชียเข้ามายังทวีปอเมริกาทางช่องแคบเบริง ได้มีการพัฒนาทางวัฒนธรรมทั้งในด้านเหี้ยมโหดอันป่าเถื่อนและความมีสติปัญญาอันสูงส่งในขณะเดียวกันพวกมายาฝึกความเสียสละด้านมนุษยชาติ ควักหัวใจผู้ที่รับการบูชาออกสังเวยพระเจ้า ขณะเดียวกันก็มีการพัฒนาความรู้ด้านดาราศาสตร์ ศิลปะของสถาปัตยกรรม ทางอักษรศาสตร์ ด้านการเขียนบันทึกด้วยตัวอักษรพิเศษ และการค้นพบค่าของเลข 0 ทางคณิตศาสตร์ แต่ก็น่าแปลกที่พวกเขามิได้ค้นพบประโยชน์อันเกิดจากล้อเลื่อน พวกเขาได้สร้างสิ่งต่างๆมากมายหนึ่งในนั้นก็คือ ชีเชน อิตซา


ชิเชน อิทซ่า (Chichen Itza) 

สถานที่สำคัญในชีเชนอิตซาซึ่งโดดเด่น ได้แก่

วิหารแห่งกูกัลคัน หรือ เอลกาสตีโย (El Castillo) ซึ่งเป็นพีระมิดขั้นบันไดยักษ์ที่ตั้งตระหง่านอยู่กลางโบราณสถานดังกล่าว โดยพีระมิดแห่งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความฉลาดหลักแหลมของชาวมายันในด้านดาราศาสตร์ เพราะบันไดทางขึ้นของที่นี่ มีทั้งหมด 4 ด้าน ด้านละ 91 ขั้น เมื่อรวมกันจะได้ 364 ขั้น และเมื่อนับรวมแท่นที่อยู่ด้านบนสุด ก็จะเป็น 365 ขั้นพอดี ซึ่งสื่อถึงจำนวนวันในรอบ 1 ปีพีระมิดเอลกัสตีโย (el castillo) มีลักษณะคล้ายพีระมิดแห่งอียิปต์ แต่มียอดหัวตัดเป็นสี่เหลี่ยม และไม่ได้ใช้บรรจุพระศพของกษัตริย์เหมือนพีระมิดแห่งอียิปต์ แต่ใช้สำหรับบวงสรวง เทพเจ้าคูคุลคาน เทพเจ้างูผู้สร้างบรรพบุรุษของมนุษย์ขึ้นมาตามความเชื่อของชาวมายา พีระมิดเอลกัสตีโยทำจากหิน มีความสูงจากพื้นดิน 24 เมตร รวมกับความสูงของวิหารด้านบนอีก 6 เมตร เป็น 30 เมตร มีฐานกว้างด้านละ 55 เมตร ใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีบูชายัญเทพเจ้าด้วยชีวิตของหญิงสาวพรหมจรรย์ ตามความเชื่อของชาวมายาว่าเทพเจ้าทรงโปรดการเสวยเลือดสด



ภาพ พีระมิดเอลกัสตีโย (el castillo)   

วิหารจากัวร์ (Temple of the Jaguars) ตั้งฟากตะวันตกของโบราณสถาน ชื่อของสิ่งปลูกสร้างนี้มาจากรูปสลักขบวนเสือจากัวร์ที่อยู่บนอาคารด้านหน้า วิหารที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมมายา-โทลเท็ลนี้สร้างขึ้นในราวปี 900-1100 ภายในวิหารมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เป็นต้นว่าบอกเล่าการยุทธ์ระ หว่างชาวมายากับชาวโทลเท็ล

วิหารแห่งนักรบ (temple of the warriors) เป็นพีระมิดยอดสี่เหลี่ยมลักษณะเดียวกับพีระมิดเอลกัสตีโย แต่มีขนาดเตี้ยกว่า มีวิหารด้านบนใหญ่กว่า และมีบันไดขึ้นด้านเดียว ที่ตั้งอยู่ทางฟากตะวันออกของเอลกาสตีโย

สนามบอล (Ball Court Complex) หรือ เฆโก เด เปโลตา (Juego de Pelota) สถานที่ตั้งอยู่ข้างๆ วิหารจากัวร์อันเป็น 1 ใน 7 แห่งที่ใช้สำหรับการละเล่นอย่างหนึ่ง (สนาม 544x223 ฟุต) ใหญ่โตที่สุด ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าเกมบอลที่เรียกกันว่า ป๊อก-ตา-ป๊อก (Pok-Ta-Pok) ของชาวมายานี้มีวิธีเล่นอย่างไร แต่เป็นไปได้ว่ามันอาจจะเป็นพิธีกรรมมากกว่าการละเล่นเพื่อนันทนาการ

เอลการากอล (el caracol) เป็นหอยอดโดม สันนิษฐานกันว่าเป็นหอสำหรับสังเกตการโคจรของดวงดาวในสมัยนั้น

ชีเชนอิตซารับเลือกให้เป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่ จากการลงคะแนนทั่วโลกทั้งทางอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือ ได้รับการขนานนามให้เป็นมรดกโลก และได้รับการจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2550  นักท่องเที่ยวที่สนใจจะไป ชีเชน อิตซา  ก็สามารถเดินทางไปได้ทุกวัน แต่ช่วงเวลาที่ดีที่สุด ในการเดินทางไปท่องเที่ยวชีเชน อิตซา นั้น ก็คือช่วงฤดูใบไม้ร่วงและฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่จะเกิดวิษุวัตพอดี โดยนักท่องเที่ยวจะได้เห็นปราฏการณ์ทางธรรมชาติของการตกกระทบของแสงอาทิตย์ กับพีระมิด บริเวณวิหารแห่งกูกัลคัน ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ที่หาชมได้ยากเป็นอย่างยิ่ง

ชีเชน อิตซา  เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความฉลาดของมนุษย์ในอดีตที่ไม่มีเทคโนโลยีหรือมีเครื่องมือที่ทันสมัยมากเท่ากับปัจจุบันแต่พวกเขาสมารถสร้างขึ้นมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจทำให้คนในสมันปัจจุบันอย่างเราอดที่จะชื่นชมไม่ได้และเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของอารยธรรมมายาที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้อารยธรรมอียิปต์ อินคาและอื่นๆ และการสร้าง ชีเชน  อิตซา  ของชาวมายานี้เพื่อเป็นอนุสรณ์ของเทพเจ้าผู้ทรงกระหายพระโลหิตสะท้อนให้เห็นว่าชาวมายามีความศรัทธาต่อเทพเจ้ามากถึงขนาดสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่นี้ได้ นับว่าเป็นอีกหนึ่งอารยธรรมที่สร้างสรรค์โดยมีแรงบันดาลใจมาจากความศรัทธา




อ้างอิง                                                                                                                                                            
ชีเชน อิตซา. (2557). ค้นเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2558,
จาก: http://013750.blogspot.com/2014_07_01_archive.html

เชนอิตซา:ร่องรอยอารยธรรมอันยิ่งใหญ่ของชาวมายัน. (2555).  ค้นเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2558,
จาก : http://news.voicetv.co.th/world/58983.html

ชีเชนอิตซา. (มปป). ค้นเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2558,
จาก: http://www.myfirstbrain.com/main_view.aspx?ID=94394

ชีเชนอิตซา. (2558). ค้นเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2558, จาก : https://th.wikipedia.org/

สถานที่สำคัญในชีเชน อิตซา. (มปป). ค้นเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2558,
จาก: http://www.ocac.go.th/article-detail-40.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น