สงครามเกาหลี

โดย ลัดดาวรรณ นามวงศ์

เกาหลี เป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน และมีสงครามเกิดขึ้นตลอดมาทั้งกับจีน และญี่ปุ่น เนื่องจากว่าภูมิประเทศของเกาหลีนั้นเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ทำให้เกาหลีโดนรุกรานเรื่อยมา จนในที่สุด ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เกาหลีก็ตกเป็นของญี่ปุ่น และเมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เกาหลีก็ถูกดึงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสงครามเย็น เพราะความแตกต่างทางด้านอุดมการณ์ทางการเมืองของสองประเทศมหาอำนาจที่เข้ามาดูแลทั้งสองฝั่ง ทำให้ต้องหันมาสู้รบกันเองเพื่อรวมประเทศ

เกาหลีได้รับเอกราช หลังจากญี่ปุ่นยอมแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ตามคำประกาศแห่งไคโรของฝ่ายพันธมิตรที่ประชุมก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะยุติ ทำให้เกาหลีถูกแบ่งออกเป็น 2 เขตการยึดครอง มีเส้นขนานที่ 38 เป็นเส้นแบ่งเขตแดน โดยเหนือเส้นขนานที่ 38 เป็นเขตยึดครองของสหภาพโซเวียต ส่วนใต้เส้นขนานที่ 38 เป็นเขตยึดครองของสหรัฐ หลังจากนั้นสหรัฐได้ยื่นข้อเสนอต่อสหประชาชาติเพื่อรวมเกาหลีทั้ง 2 เขต ให้เป็นประเทศเดียวกัน สหประชาชาติจึงมีมติให้มีการเลือกตั้งทั่วประเทศอย่างเสรี แต่สหภาพโซเวียตปฏิเสธ ทำให้มีการคัดเลือกแค่ในเขตทางใต้เท่านั้น และได้มีการสถาปนาสาธารณรัฐเกาหลีขึ้นในวันที่ 15 สิงหาคม 2490 โดยมีกรุงโซลเป็นเมืองหลวง มีนายซิงมันรี เป็นประธานาธิบดีคนแรก และสหภาพโซเวียตได้สถาปนาสาธารณรัฐแห่งประชาชนประชาธิปไตยเกาหลี ในเขตทางเหนือ โดยมีนาย คิม อุลซุง เป็นหัวหน้าคณะรัฐบาล จากนั้น ทั้งสหรัฐและสหภาพโซเวียตก็ได้ถอนกำลังออกจากทั้งสองประเทศนี้



จุดเริ่มต้นของสงคราม เกิดขึ้นเมื่อ วันที่ 25 มิถุนายน 2493 กองทัพของเกาหลีเหนือได้ข้ามเส้นขนานที่ 38 เข้ามาโจมตีเกาหลีใต้ เพื่อยึดกรุงโซลและดินแดนของเกาหลีใต้ทั้งหมด ทำให้สหประชาชาติเรียกประชุมสภาความมั่นคงโดยเร่งด่วน

วันที่ 27 มิถุนายน 2493 ประธานาธิบดีแฮร์รี่ เอส.ทรูแมน ประธานาธิบดีของสหรัฐ ได้ออกคำสั่งให้พลเอก ดักลาส  แม็คอาร์เธอร์ ผู้บัญชาการกองทัพสหรัฐภาคตะวันออกไกล ให้การสนับสนุนเกาหลีใต้ ถึงแม้ว่าเกาหลีใต้จะได้รับการสนับสนุนทางอากาศแล้ว แต่ก็ไม่สามารถต้านเกาหลีเหนือได้ กรุงโซลจึงโดนเกาหลีเหนือยึดครองในวันที่ 28 มิถุนายน 2493 ทำให้ประชาชนและกองกำลังของเกาหลีใต้ถอยร่นลงไปที่ปูซาน ซึ่งอยู่ทางใต้ของประเทศ

ต้นเดือน กรกฎาคม 2493 ฝ่ายสหรัฐได้โจมตีสนามบินของเกาหลีเหนือ โดยการทิ้งระเบิดทำลายเครื่องบินจนกองทัพอากาศของเกาหลีเหนือหมดสภาพ และขณะเดียวกันกองทัพที่ 8 นำโดยนายพลวอล์คเกอร์เริ่มเดินทางไปปูซานด้วยรถถังขนาดกลาง 92 คัน แล้วไปที่แนวรบเมืองเตจอนซึ่งเป็นหน้าด่านก่อนถึงปูซานทันที เพื่อทดแทนการแตกทัพของกองทัพเกาหลีใต้

วันที่ 8 กรกฎาคม 2493 แม็คอาร์เธอร์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของกองทัพสหประชาชาติ และเขาได้ขอกำลังพลเพิ่มอีก 5 กองพล และกำลังรถถังอีก 3 กองพัน เพื่อทำตามแผน “บุกอินชอน” คือ จะยกพลขึ้นบกหลังแนวทหารเกาหลีเหนือ แต่ได้รับการปฏิเสธ ทำให้แม็คอาร์เธอร์ หัวเสียมาก

ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2493 เมืองเตจอนถูกเกาหลีเหนือยึดได้ ทำให้เมืองปูซานเกิดความโกลาหล เพราะกำลังทหารและอาวุธไม่เพียงพอ ต้องการกำลังเสริมเป็นอย่างมาก และในที่สุดกำลังเสริมจากประเทศต่างๆเดินทางมาทันเวลาพอดี ทำให้สามารถยึดฐานที่มั่นไว้ได้ ในขณะที่เกิดการสู้รบกันอยู่ ทางฝ่ายแม็คอาร์เธอร์ก็ได้อภิปรายโต้แย้งกับประธานคณะเสนาธิการผสมของสหรัฐเรื่องแผนการบุกอินชอน จนในที่สุดได้รับการอนุมัติจาก เพนตากอน เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2493

ในวันที่ 5 กันยายน 2493 กองเรือรบจำนวน 260 ลำ ได้เริ่มออกเดินทางจากญี่ปุ่นโดยบรรทุกทหารจากนานาชาติ โดยยกพลขึ้นบกที่อินชอนในวันที่ 15 กันยายน 2493 และได้ต่อสู้กับทหารของเกาหลีเหนืออย่างดุเดือด จนสามารถขับไล่ทหารเกาหลีเหนือออกจากอินชอนได้หมดในวันที่ 16 กันยายน 2493 และบุกเข้ายึดกรุงโซลคืนได้ ในเวลา 2 สัปดาห์ และทำการคืนกรุงโซลให้แก่เกาหลีใต้ตามเดิม

ในวันที่ 27 กันยายน แม็คอาร์เธอร์ได้รับการอนุมัติสหประชาชาติให้ข้ามเส้นขนานที่ 38 เพื่อทำสงครามรวมเกาหลีเข้าด้วยกัน ขณะเดียวกันจีนก็ออกมาประกาศเตือนสหประชาชาติว่า จีนจะไม่อยู่เฉยหากจักรวรรดินิยมโจมตีเกาหลีเหนือ ทำให้ทรูแมนเชิญแม็คอาร์เธอร์ไปพบ ทรูแมนวิตกว่าสงครามจะขยายตัว ต้องการให้สงครามจบเร็วๆ โดยไม่ให้จีนและสหภาพโซเวียตเข้ามาร่วมกับเกาหลีเหนือ แต่แม็คอาร์เธอร์ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็น ทำให้การเจรจาล้มเหลว แม็คอาร์เธอร์ได้ทำการบุกยึดเมืองเปียงยาง เมืองหลวงของเกาหลีเหนือ และประกาศว่า “การทำสงครามเกาหลีสิ้นสุดแล้ว” แต่กองกำลังของจีนได้เข้ามาช่วยเหลือเกาหลีเหนือโดยข้ามแม่น้ำยาลู และต่อสู้กับกองทัพสหประชาชาติจนต้องถอยทัพลงมาทางใต้เรื่อยๆ

พอวันที่ 5 พฤศจิกายน  2493 เมืองเปียงยางก็เป็นของเกาหลีเหนือดังเดิม แม็คอาร์เธอร์ต้องการให้กองทัพตั้งหลักบริเวณเส้นขนานที่ 38 ซึ่งทรูแมนก็เห็นด้วย แต่ไม่ส่งกองกำลังมาเพิ่มอีกแล้ว เพราะเกรงว่า แม็คอาร์เธอร์จะเดินทัพขึ้นเหนือไปอีก จากนั้นทรูแมนก็ตัดสินใจปลดแม็คอาร์เธอร์ออกจากตำแหน่ง และแต่งตั้งนายพลริดจ์เวย์แทน



ในวันที่ 11 เมษายน 2494 ในเวลาต่อมาผ่ายเกาหลีเหนือได้ทำการรุกใหญ่ถึง 2 ครั้ง ในปลายเดือน เมษายน และปลายเดือนพฤษภาคม แต่กองทัพสหประชาชาติก็ยังรักษากรุงโซลไว้ได้อยู่ และหลังจากนั้นก็สามารถยึดพื้นที่คืนจากการถูกรุกครั้งใหญ่ทั้ง 2 ครั้งคืนมาได้ และเคลื่อนทัพข้ามเส้นขนานที่ 38 อีกครั้ง

วันที่ 10 กรกฎาคม 2594 ก็ได้มีการเจรจาสงบศึกกัน ใช้เวลาต่อเนื่องถึง 2 ปี แต่ก็ยังมีการปะทะกันเรื่อยๆ ไม่รุนแรงนัก และสุดท้ายก็ได้มีการลงนามใน “ข้อตกลงสงบศึกเกาหลี” ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2496 ที่ปันมุนจอม ทางตอนเหนือของกรุงโซล ข้อตกลงนี้ ทำให้เกิดการแบ่งเขตพรมแดนความยาว 250 กิโลเมตร และกำหนด “เขตปลอดทหารเกาหลี” เป็นความกว้าง 4 กิโลเมตร เพื่อเป็นแนวกันชน

สงครามเกาหลีในครั้งนี้ทำให้สูญเสียชีวิตผู้คนมากมาย ทั้งคนเกาหลีทั้ง 2 ประเทศเอง หรือจากประเทศต่างๆ ที่เข้ามาช่วยรบ เนื่องจากการขัดแย้งทางความคิดในการปกครองประเทศ หรือหากมองอีกมุมหนึ่ง อาจดูเหมือนว่าสงครามครั้งนี้เป็นสงครามของ 2 มหาอำนาจที่ต้องการเอาชนะกันโดยใช้เกาหลีเป็นตัวแทนของทั้งสองประเทศ โดยที่เกาหลีทั้งสองประเทศไม่มีส่วนได้เสียใดๆเลย นอกจากเกิดความสูญเสียบุคลากรและทรัพย์สินเท่านั้นเอง

อ้างอิง

ธนู   แก้วโอภาส. 2538. สงครามแห่งศตวรรษที่ 20. กรุงเทพฯ: ลอจิก.

ปรีชา   ศรีวาลัย. 2530. สงครามโลกครั้งที่ 1-2 และสงครามเกาหลี. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.

Aurapin   Homsanitteesakul6. 2556. สงครามเกาหลี. สืบค้นเมื่อ 25 กันยายน 2558, จาก: http://aurapinjwy.blogspot.com/2013/09/blog-post.html

Myfirstbrain.com. (ม.ป.ป.). สงครามเกาหลี (Korea war). สืบค้นเมื่อ 25 กันยายน 2558, จาก:  http://www.myfirstbrain.com/student_view.aspx?id=91872

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น