อักษรรูน (Runes)

โดย อาภาพร พิลาวงษ์

เมื่อกล่าวถึง “อักษรรูน” หลายคนอาจไม่อยากเชื่อว่าสิ่งที่ได้ยินนั้นเคยมีใช้จริงในโลกของเราเพราะอาจจะเคยได้ยินแค่เพียงจากเทพนิยายต่างๆ แต่ความเป็นจริงแล้ว อักษรรูนนั้นเคยถูกประดิษฐ์ขึ้นใช้จริงในสมัยโบราณโดยใช้กันในแถบยุโรบเหนือ เช่น อังกฤษ สแกนดิเนเวีย และไอช์แลนด์ เมื่อพันกว่าปีมาแล้ว และถูกพัฒนาตามภาษาและวัฒนธรรมในสมัยต่างๆ เช่น Elder Futhark Runes ในสมัย Proto – Norse , Futhore Runes ของ Anglo – Saxon และ Younger Futhark Runes ในสมัยของนอร์สโบราณหรือไวกิ้ง

จากร่องรอยอักขระโบราณที่หลงเหลืออยู่นักวิชาการพบว่ามันไม่ได้มีเพียงรอยสลักของตัวอักษรรูนเท่านั้น แต่ยังพบลายเส้นแปลกๆ เหมือนจะเป็นข้อความบางอย่าง แต่มันไม่ใช่ตัวอักษร โดยต่อมาพบว่ามันคือ “รหัสลับอักษรรูน”

แต่โบราณกาล “อักษรรูน” เป็นภาษาพื้นเมืองที่ถูกเรียกว่า “อักขระฟูธาร์ก” โดยนักวิชาการแบ่งออกให้เป็น 24 ตัวอักษร และมีความเชื่อกันว่าเป็นอักษรที่สามารถติดต่อสื่อสารกับเทพเจ้าได้ มีความลี้ลับและยังแฝงด้วยพลังเวทมนตร์

ในตำนานของอักษรรูนนั้น คำว่า “รูน” มาจากคำว่า รูน่า ในสมัยอธิคของยุโรป ซึ่งมีความหมายว่า “ความลับ หรือ ความเร้นลับ” โดยเริ่มมีการใช้อักษรรูนครั้งแรกในคริสต์ศตวรรษแรกในแถบตอนเหนือของทวีปยุโรป โดยเฉพาะในประเทศเยอรมณี การใช้อักษรรูนดำเนินมาเรื่อยๆ จนกระทั่งมาเลิกใช้ในสมัยยุคกลาง เพราะคริสต์ศาสนามีบทบาทมากขึ้น และมีการเผยแพร่คริสต์ศาสนาไปทั่วยุโรป ในขณะที่อักษรละตินมีการใช้มากขึ้น และอักษรรูนจึงกลายเป็นสิ่งต้องห้าม จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1639 ศาสนาจักรโรมันคาทอลิกได้ประกาศห้ามคริสต์ศาสนิกชนทุกคนศึกษาและใช้อักษรรูนในที่สุด


รูปภาพตัวอย่างตัวอักษรรูน

อย่างที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้าว่า บนรอยสลักของอักษรรูนที่ถูกค้นพบนั้นไม่ได้มีเพียงรอยสลักของตัวอักษรรูน แต่ยังพบลายเส้นแปลกๆ ด้วย หรือที่เรียกว่า “รหัสลับอักษรรูน”

รหัสลับอักษรรูน คือ สัญลักษณ์บางอย่างที่สามารถถอดรหัสเป็นข้อความได้ และดูเหมือนว่าลายเส้นที่กล่าวถึงนี้ สามารถพบได้ทั่วไปตามสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของชาวนอร์สโบราณ เช่น บนแผ่นไม้ บนกระดู บนเรือ เป็นต้น จากหลักฐานต่างๆ พบว่ารหัสลับอักษรรูนที่ว่านี้น่าจะมีอยู่หลายแบบ แต่ในปัจจุบันผู้เชี่ยวชาญสามารถถอดรหัสลับเหล่านี้ได้เพียงแค่ 3 แบบเท่านั้น ชื่อเรียกของรหัสเหล่านี้ได้แก่
1. Cipher Runes
2. Caesar
3. Jotunvillur
โดยรหัสลับแบบที่ 3 นั้นพึ่งจะถูกถอดรหัสออกได้เมื่อต้นปี 2014 นี้เอง โดยนักศึกษาปริญญาเอกชาวนอร์เวย์ชื่อ Jonas Nordby เดิมทีนักวิชาการเข้าใจว่ารหัสลับถูกใช้เพื่อเขียนความลับหรือสาระสำคัญ แต่จากการค้นคว้าล่าสุด Nordby มีแนวคิดว่า “บางทีมันอาจจะเป็นเกมส์อย่างหนึ่งของคนโบราณก็ได้เปรียบเหมือนเกมส์ Sudoku ของยุคโบราณเลยก็ว่าได้”


รูปภาพอักษรรูนแบบ Cipher Runes ที่ถูกค้นพบ

อักษรรูน จากที่หลายคนเคยคิดว่าเป็นเพียงสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อประกอบภาพยนตร์หรือนิยายเชิงเวทมนตร์นั้น มาถึงตอนนี้ก็ทำให้หลายคนคลี่คลายความเข้าใจผิดนั้นแล้วว่า อักษรรูน เคยถูกประดิษฐ์ขึ้นใช้จริงในสมัยก่อน และจากการวิเคราะห์ล่าสุดของ Nordby อักษรรูนอาจไม่ใช่อักษรที่มีความศักดิ์สิทธิ์หรือมีความลี้ลับใดๆอย่างที่เป็นความเชื่อต่อกันมา แต่เป็นเพียงแค่เกมส์ในสมัยก่อนเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามไม่มีใครอาจรู้ได้ว่า อักษรรูน แท้ที่จริงแล้วมีความเป็นมาอย่างไร สำหรับตัวผู้เขียนเองแล้วอักษรรูนที่เคยรู้จักและได้ยินมานั้นก็ยังเป็นสิ่งที่น่าทึ่งและน่าค้นหาอยู่เสมอ


อ้างอิง

ราชัย พ่อมดพยากรณ์. (2553). อักษรรูน. วันที่ค้นข้อมูล 20 กันยายน 2558 เว็บไซต์ : http://wizardhoro.blogspot.com/2010/10/blog-post_03.html

Duangdee MThai. (2554). อักษรรูน แฝงด้วยเรื่องลี้ลับ และพลังเวทมนตร์จากเทพ. วันที่ค้นข้อมูล 19 กันยายน 2558 เว็บไซต์ : http://lotto.mthai.com/lotto-content/result-1232.html

Panya’s Blog : Linguistic Aspects. (2557). รหัสลับอักษรรูน.วันที่ค้นข้อมูล 19 กันยายน 2558 เว็บไซต์ : https://lingaspect.wordpress.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น