เหตุการณ์สังหารหมู่ที่นานกิง

โดย สิรภัทร พงษ์พันธ์

“สงครามย่อมส่งผลกระทบต่อจิตใจ ความเจ็บปวดของผู้คนในยุคก่อนยังคงส่งผลต่อจิตใจของผู้คนในยุคหลัง…” (ปิยโชค ถาวรมาศ, 2556)

ย้อนกลับไปในยุคสงครามครั้งที่สอง เมื่อญี่ปุ่นต้องการสร้างจักรวรรดิญี่ปุ่นโดยการรวบรวมชาติใกล้เคียงเสียก่อน เคราะห์ร้ายจึงตกไปที่เกาหลี จีน ในช่วงนั้น จีน แตกฝ่ายเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายโลกเสรี กับ ฝ่ายคอมมิวนิสต์ จึงทำให้ญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรน้อยกว่ามาก หากเทียบกับจีน สามารถเข้าตีและทำการยึดจีนได้ไม่ยาก เพราะจีนต้องรับศึก 2 ด้าน คือ ต้องแย่งชิงอำนาจกันเอง แล้ว ยังต้องมารบกับญี่ปุ่น จากนั้นไม่นาน ญี่ปุ่นก็สามารถยึดเมืองจีนได้บางส่วนและยังรุกคืบไปยังเมืองต่างๆ รวมถึงเมืองนานกิงก็เป็นเป้าหมายต่อไป ในเวลาสั้นๆเพียง 6 สัปดาห์ ทหารญี่ปุ่นได้สังหารชาวนานกิงอย่างไร้เหตุผลไปกว่า 3 แสนคน

กองทัพญี่ปุ่นบุกนานกิง

เหตุการณ์เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ค.ศ.1937 กองทัพญี่ปุ่นสามารถเข้าประชิดกำแพงเมืองนานกิงแต่ได้ชะลอการบุกไว้ กองทัพญี่ปุ่นอยากให้กองทัพทหารจีนยอมถอยออกจากนานกิงอย่างสงบพร้อมกับชาติตะวันตกภายใน 24 ชม. แต่เจียงไคเซ็คปฏิเสธและออกคำสั่งให้ทหารป้องกันเมืองนานกิงจนสุดชีวิต แต่ก็ไม่สามารถต้านทานญี่ปุ่นได้เลย ภายในระยะเวลา 4 วัน ทหารญี่ปุ่นสามารถเข้ายึดพื้นที่นานกิงได้สำเร็จ จากการปะทะกันครั้งนั้นทหารจีนเสียชีวิตในสมรภูมิประมาณ 50,000 นาย นายทหารที่เหลือตกเป็นเชลยและถูกประหารในภายหลัง มีเพียงเขตปลอดภัยของชาวตะวันตกเท่านั้นที่ทหารไม่สามารถเข้าไปยุ่งได้


ที่มา: จากหนังสือสงครามจีน-ญี่ปุ่น มหาสงครามของสองยักษ์ใหญ่แห่งเอเชีย,2556

การดำเนินการกับเชลยจีน

แม้ทหารญี่ปุ่นจะปราศจากการต่อต้านของทหารจีนแล้วก็ตาม ความรุนแรงน่าจะหยุดตั้งแต่ตอนนั้น แต่กลับเป็นเพียงแค่การเริ่มต้น เนื่องจากการควบคุมฝูงชนจำนวนมากเป็นเรื่องที่ยากและยังขาดแคลนอาหาร ทหารญี่ปุ่นจึงต้องกำจัดเชลยทิ้งบางส่วนออก...ปฏิบัติการเกมสังหารเชลยของญี่ปุ่นจึงได้เริ่มต้นขึ้น

ในวันที่ 13 ธันวาคม ค.ศ.1937 เริ่มจากการสังหารเชลยด้วยการใช้ดาบแข่งกันให้ได้มากที่สุดโดยตั้งเป้าไว้ที่ 2,000 คน แต่การใช้ดาบนั้นอาจจะล่าช้าเกินไป ทหารญี่ปุ่นจึงเปลี่ยนมาใช้ปืนแทน

ในวันที่ 18 ธันวาคม ค.ศ. 1937 สังหารโหดได้เริ่มขึ้นอีกครั้ง เมื่อทหารญี่ปุ่นได้รับอนุญาตให้สังหารชาวจีนได้โดยไม่ต้องรอคำสั่ง ทหารญี่ปุ่นเริ่มไล่ล่าสังหารชาวจีนอย่างไม่เลือกหน้า การสังหารชาวจีนกลายเป็นสิ่งบันเทิงของทหารญี่ปุ่นในเวลานั้น การทรมานในรูปแบบพิสดารถูกคิดขึ้นมาแบบไม่มีที่สิ้นสุด เช่น


ที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/
- ทหารญี่ปุ่นเชลยศึกไปยืนหน้าแม่น้ำแยงซี และมัดเชลยศึกเหล่านั้นเข้าด้วยกันเป็นจำนวนหลายแถว และเปิดฉากยิงใส่ด้วย ปืนกล  และให้แถวต่อผลักศพลงแม่น้ำก่อนจะถูกยิงเป็นแถวต่อไป
- ตัดหัวหรือสับเหยื่อเป็นชิ้นๆแล้วโยนให้สุนัขกิน ตอกเชลยไว้กับแผ่นไม้แล้วให้รถถังแล่นทับ ใช้เป็นที่ซ้อมเสียบดาบปลายปืน ควักลูกตา หั่นจมูกและใบหูก่อนเผาทั้งเป็น
- การบังคับเหยื่อลงบ่อน้ำตื้นๆและทิ้งระเบิดมือจำนวนมากตามลงไป ยิ่งน้ำตื้นเท่าไหร่เป้าหมายยิ่งโดนสะเก็ดระเบิดได้มากเท่านั้น ทั้งเลือด เนื้อ อวัยวะถูกแรงระเบิดฉีกกระจายลอยเป็นชิ้นๆ   การขุดหลุมขนาดใหญ่เพื่อฝั่งทั้งเป็นบ้างก็ขุดหลุมฝั่งเหยื่อแล้วเหลือแต่หัวทิ้งไว้ปล่อยให้อดตาย   
การข่มขืน

เรื่องที่น่าสะเทือนใจอีกเรื่อง คือเรื่องการข่มขืนชาวจีน  ผู้หญิงจีนส่วนมากถูกทหารญี่ปุ่นข่มขืนแล้วฆ่าทิ้ง ซึ่งการฆ่าเหยื่อหลังข่มขืนเป็นคำสั่งของนายทหารใหญ่ในสมัยนั้นการข่มขืนถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ดังนั้นเมื่อข่มขืนเสร็จจึงจำเป็นต้องฆ่าปิดปากซะ

การข่มขืนเกิดขึ้นแทบทุกวันโดยไม่เลือกที่ เลือกเวลา  หญิงบางรายถูกข่มขืนแล้วบังคับให้คนในครอบครัวนั่งดูก่อนลงมือสังหาร บางรายถูกจับมัดกับเก้าอี้ เตียง เสาไฟ ในสภาพเปลือยเพื่อที่ทหารญี่ปุ่นจะได้กระทำชำเราเธอได้ทุกเวลา เฉลี่ยแล้วหญิงรายหนึ่งถูกทหารข่มขืนมากกว่า 20 นาย บ้างโดนซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนเสียชีวิต เด็กอายุ 12 จนถึงหญิงชราวัย 80 ก็หนีไม่พ้น แม้แต่แม่ชี ที่โหดร้ายไปว่านั้นคือ การข่มขืนและทารุณกรรมกับผู้หญิงท้องแก่ และทำการผ่าท้องแล้วเอาเด็กออกมา นำดาบปลายแหลมเสียบเล่น หรือไม่ก็ตัดหัวเด็กและเอามาเตะเล่นเป็นลูกฟุตบอล

การทดลอง

นอกจากนั้นเหยื่อชาวจีนยังถูกทารุณกรรมในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการถูกนำมาทดลองด้วยวิธีการต่างๆ เช่น
- นักโทษจะถูกตัดแขน ตัดขา แล้วปล่อยให้เลือดไหลจนหมดตัว เพื่อดูว่าร่างกายจะเป็นเป็นอย่างไร ทนได้แค่ไหน
- ตัดแยกชิ้นส่วนอวัยวะออกมา แล้วนำไปติดในส่วนอื่น ๆ เช่น สลับแขนซ้ายกับขวา สลับมือกับเท้า
- นำเชลยมาแช่แข็ง เพื่อศึกษาเรื่องเนื้อตายจากความเย็น
- ฉีดเชื้อโรคเข้าไปในร่างกาย แล้วเพาะเอาเชื้อเพื่อทดลองหาวัคซีนแก้
นี้เป็นเพียงตัวอย่างความโหดร้ายเพียงส่วนหนึ่ง ที่เกิดขึ้นตั้งแต่นานกิงแตกจนได้รับความช่วยเหลือจากมิตรตะวันตก

การช่วยเหลือจากมิตรตะวันตก

ในช่วงเดือนมกราคม ค.ศ.1938 มิตรชาติตะวันตกได้เข้ามาให้การช่วยเหลือชาวนานกิงทุกวิถีทาง มีภาพถ่ายและเหตุการณ์จริงมากมายที่ชาวตะวันตกในนานกิงได้ถ่ายไว้เป็นหลักฐานและออกมาเปิดโปงให้ชาวโลกได้เห็นถึงความโหดร้ายของญี่ปุ่น เมื่อเรื่องราวถูกเผยแพร่ออกไป ทำให้นายทหาร ญี่ปุ่นหลายนายได้รับโทษ ภายหลังสงครามสิ้นสุดลง แม้ญี่ปุ่นจะออกมายอมรับว่ามีการสังหารเชลยจริง ไม่ยอมรับว่าทหารญี่ปุ่นนั้นได้กระทำการทารุณกรรมใดกับเชลยจึงไม่ชดใช้ค่าเสียหายแต่อย่างใด
หลังสงคราม


รูปโฆษณาชวนเชื่อว่าทหารญี่ปุ่นใจดี ถูกติดทั่วบ้านทั่วเมือง โดยมีข้อความว่า "กลับบ้าน..เราจะให้ข้าวให้น้ำคุณ ขอให้เชื่อมั่นกองทัพญี่ปุ่น  เราจะช่วยเหลือคุณแน่นอน"
ที่มา : หนังสือสงครามจีน-ญี่ปุ่น มหาสงครามของสองยักษ์ใหญ่แห่งเอเชีย,2556

แม้ว่าสงครามโลกครั้งที่สองจบลงไปแล้วด้วยความพ่ายแพ้ของจักรวรรดิญี่ปุ่น แต่จากการกระทำสังหารหมู่ชาวจีนในนานกิงครั้งนั้นทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ญี่ปุ่นตกต่ำอย่างถาวรไม่อาจฟื้นฟูขึ้นมาได้เลย เพราะชาวจีนโกรธแค้นญี่ปุ่นเป็นอย่างมากจึงได้ทำการต่อต้านญี่ปุ่นตลอดมา ยิ่งในปัจจุบันประเทศจีนและสหรัฐต่างก็พร้อมใจกันละเลยต่อประวัติศาสตร์ในส่วนนี้ ทำให้ญี่ปุ่นถือโอกาสบิดเบือนความจริงของสงครามในหนังสือประวัติศาสตร์ไม่ให้คนรุ่งหลังได้รับรู้ถึงความโหดร้ายของชาติตนเอง  เป็นสาเหตุให้ประชนชาติเอเชียขาดความเชื่อถือทางด้านการเมืองและด้านความมั่นคงต่อญี่ปุ่น แม้ทั้งสองประเทศจะพยายามแสวงหามิตรภาพ แต่ก็ยังมีชาวจีนออกมาประณามและต่อต้านญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง


อ้างอิง : 

ปิยโชค ถาวรมาศ. สงครามจีน-ญี่ปุ่น มหาสงครามของสองยักษ์ใหญ่แห่งเอเชีย -- กรุงเทพฯ ก้าวแรก, 2556

HakkaPeople(Thai) ชุมชนชาวฮากกา 泰國客家. ประวัติศาสตร์จีน-การสังหารหมู่ที่นานกิง [ออนไลน์].สืบค้นเมื่อวันที่13กันยายน 2558  เข้าถึงได้จาก: http://hakkapeople.com/node/3600

Iris Chang. The rape of Nanking. แปลโดย ฉัตรนคร องค์สิงห์ -- กรุงเทพมหานครฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2546

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น