ประเพณีรัดเท้าดอกบัวของสตรีจีนโบราณ

โดย ณัฐยา กองบุญ

ในเรื่องของแฟชั่นและความสวยงามของรูปลักษณ์ หน้าตา เป็นเรื่องที่ผู้หญิงทุกคนๆ ทั่วโลกให้ความสนใจและใส่ใจในทุกยุคทุกสมัย  เพราะรูปร่าง หน้าตา ภายนอกเป็นสิ่งที่ดึงดูดให้บุคคลอื่นเห็นหรือชื่นชมเป็นอันดับแรก แม้กระทั่งการมีเรียวเท้าที่สวยงามก็เป็นที่นิยมตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบันเช่นกัน แต่แตกต่างกันที่มุมมองเกี่ยวกับเรื่องความงามที่เปลี่ยนไป เท้าที่เรียวงามของสตรีจีนโบราณนั้น คือ เท้ารูปดอกบัว จึงเป็นที่มาของประเพณีรัดเท้าดอกบัวที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้

ประเพณีการรัดเท้าดอกบัวของผู้หญิงจีนในสมัยโบราณนั้น มีตำนานเล่าขานมามากมายหลายตำนาน บ้างก็เล่าว่า ในสมัยราชวงศ์ถังประเทศเกิดการแตกแยกซึ่งพระมหากษัตริย์ราชวงศ์ถัง ทรงพระนามว่า “หวี่ โฮว จู่” พระองค์ทรงมีพระสนมองค์หนึ่งซึ่งนางนั้นได้รับการเอ็นดูเป็นที่รักใคร่ของกษัตริย์หวี่โฮวจู่เป็นอย่างมาก เนื่องจากนางเต้นรำได้อย่างอ่อนช้อยงดงาม ใช้ผ้าพันเท้าพันที่เท้าของนางซึ่งทำให้เท้าเล็กโค้งดั่งรูปร่างของพระจันทร์เสี้ยว เต้นระบำบนดอกบัวที่ทำด้วยทองสูงหกฟุต ทำให้ธรรมเนียมการรัดเท้าเกิดขึ้นเฉพาะในวัง   หรือในบางตำนานก็เล่าว่า การที่ให้ผู้หญิงจีนซึ่งเป็นนางสนมในวังรัดเท้านั้นเป็นการป้องกันการหนีออกนอกวังได้อย่างสะดวกเป็นแผนอันแยบยลของจักรพรรดิจีน


ที่มา: http://chinajapanplus.com/

การรัดเท้าในระยะแรกยังไม่ได้รับความนิยมมากนักเพราะมีแต่หญิงสาวที่อยู่ในวังเท้านั้นแต่ต่อมาการรัดเท้าจึงแพร่ขยายออกไปเป็นที่นิยมเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในหมู่หญิงสาวชาวจีน โดยการรัดเท้านั้นจะต้องมีรูปร่างคล้ายดอกบัวโดยลักษณะของเท้าดอกบัวที่สวยงามจะต้องมีลักษณะ 7 ประการสำคัญ คือ บาง เล็ก เรียว โค้ง หอม นุ่ม และต้องเท่ากัน ส่วนการรัดเท้านั้นต้องรัดเท้าให้เป็น “ดอกบัวทองคำสามนิ้ว” เพราะดอกบัวเป็นสัญลักษณ์แห่งความดีงามในพระพุทธศาสนา และขนาดสามนิ้วเป็นขนาดเท้าที่ได้รูปสวยงาม หากเกินกว่าสามนิ้วแต่ไม่เกินสี่นิ้ว เรียกว่า “ดอกบัวเงิน” หรือหากการรัดเท้าทำให้เท้ามีขนาดสี่นิ้วจะถูกเรียกว่า “ดอกบัวเหล็ก”  จากธรรมเนียมปฎิบัตินี้เองทำให้เกิดค่านิยมหรือความเชื่อว่า หากหญิงสาวชาวจีนคนใดมีเท้าที่เป็นรูปดอกบัวสวยงามจะเป็นที่รักใคร่ของสามีหรือจะมีผู้ชายร่ำรวยมาสู่ขอแต่งงานอีกด้วย

การรัดเท้านั้นจะเริ่มทำตั้งแต่เด็กๆ อายุประมาณ 4-5 ขวบ ส่วนขั้นตอนการทำเท้าดอกบัวนั้น เท้าของเด็กสาวจะถูกน้ำยาให้ความอุ่นสูตรพิเศษชโลมไปทั่วบริเวณ จากนั้นราดด้วยเลือดสัตว์สดๆ น้ำยาและเลือดสัตว์นี้จะมีปฎิกิยาทำให้เท้าอ่อนลงเพื่อง่ายต่อการมัด จากนั้นเล็บของเด็กสาวจะถูกดึงออกจนหมดรวมทั้งรากเล็บด้วยเพื่อไม่ให้เล็บยาวออกมาใหม่นอกจากนิ้วหัวแม่มือแล้ว นิ้วเท้าทั้งหมดจะถูกหักงองุ้มลงมาตามที่ต้องการ แล้วใช้ผ้าพันห่อรัดเข้าไว้ จากกระบวนการดังกล่าวทำให้หญิงสาวชาวจีนทุกข์ทรมานและไม่สามารถเคลื่อนได้อย่างสะดวก  จนเมื่อในศตวรรษที่ 20 พร้อมกับการล่มสลายของจักรพรรดิจีน    การรัดเท้าเป็นเรื่องผิดกฎหมายและห้ามทำในประเทศจีน ซึ่งในปัจจุบันยังมีหญิงชาวจีนที่ได้รับผลกระทบจากการรัดในสมัยก่อนส่งผลให้เท้ามีรูปร่างลักษณะผิดรูปและได้รับความทุกข์ทรมานจากการการเคลื่อนไหวในการเดินเป็นอย่างมาก


ที่มา: http://www.bloggang.com/

อย่างไรก็ตามประเพณีการรัดเท้าถือเป็นค่านิยมหรือแฟชั่นที่หญิงสาวชาวจีนในสมัยก่อนมีความเชื่อว่าดีงาม หากปฎิบัติจะเป็นผลดีแก่ตนเอง ส่วนในเรื่องของการรัดเท้านั้นทำด้วยความเต็มใจมิได้โดนบังคับแต่อย่างใดหากเราตัดสินจากรูปลักษณ์หรือเห็นว่าการรัดเท้าในอดีตเป็นธรรมเนียมปฎิบัติที่ทำให้หญิงสาวชาวจีนต้องทุกข์ทรมาน โดยนำค่านิยมในปัจจุบันไปวัดกับค่านิยมการรัดเท้าในสมัยอดีตของจีน ในทางตรงกันข้ามผู้คนในสมัยก่อนอาจจะมองค่านิยมในการลดความอ้วน มีหุ่นผอมบางมากเกินไป การมีผิวที่ขาว หรือการทำศัลยกรรมความงาม เป็นเรื่องที่ไม่สมควรซึ่งอาจมีการเกิดคำถามกลับมาว่า ค่านิยมในลักษณะเช่นว่านี้ จะทำไปเพื่ออะไร เฉกเช่นเดียวกับที่เรามีคำถามเกิดขึ้นเกี่ยวกับประเพณีการรัดเท้าของหญิงสาวชาวจีนในยุคโบราณได้เช่นกัน

อ้างอิง

Xieh. 2558. ประเพณีการรัดเท้าของจีนโบราณ เพื่อความสวยงาม. [ระบบออนไลน์].  สืบค้นเมื่อ 21 มีนาคม 2559, จาก:  http://chinajapanplus.com/

MGR Online. 2550. แม่เฒ่า “มัดเท้า” เล่าความปวดร้าวแห่งหญิงงาม.[ระบบออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 21 มีนาคม 2559, จาก:  http://www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9500000034014

ครูทิพย์.2550. ตีแผ่ประเพณีรัดเท้าความงามและเซกซ์ของสตรีจีนโบราณ. [ระบบออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 21 มีนาคม 2559, จาก:  http://www.oknation.net/blog/Tip2/2007/07/07/entry-1

sss28856_1.2556. ประเพณีการรัดเท้า ค่านิยมเรียกน้ำตาจากสาวจีน.[ระบบออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 21 มีนาคม 2559, จาก: http://www.thaigoodview.com/node/157296

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น