โศกนาฏกรรมในมิวนิค

โดย จารุวรรณ แก้วไทย

มิวนิค (Munich) เป็นเมืองหลวงของรัฐบาวาเรีย (Bavaria) ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่เป็นอันดับที่สามของเยอรมนี รองจากอันดับหนึ่งคือเบอร์ลิน และอันดับสองคือฮัมบูร์ก อีกทั้งยังเป็นเมืองที่มีความมั่งคั่งเป็นอันดับต้นๆในทวีปยุโรป จึงเป็นเมืองที่มีความสำคัญ และมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นมากมายในเมืองแห่งนี้ ซึ่งในบางเหตุการณ์ เรียกได้ว่าเป็นโศกนาฏกรรมที่นำความสลดใจสู่ผู้รับรู้เป็นอย่างยิ่ง

เหตุการณ์ที่ถือเป็นโศกนาฏกรรมครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้นที่มิวนิค อันเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้แฟนฟุตบอลทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ต้องจดจำความโศกเศร้าเสียใจ จากโศกนาฏกรรมที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้น  โศกนาฏกรรมอันเป็นเหตุให้ยอดทีมที่แข็งแกร่งและยิ่งใหญ่ที่สุดในขณะนั้น และเป็นทีมที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ถูกทำลายลงไป

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1958 ทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ต้องเดินทางโดยเครื่องบินอลิซาเบธัน จากกรุงเบลเกรด ประเทศเซอร์เบีย เพื่อไปแข่งขันฟุตบอลยูโรเปี้ยนคัพ รอบก่อนรองชนะเลิศ ในระหว่างการเดินทางต้องแวะเติมเชื้อเพลิงที่สนามบินกรุงมิวนิค แต่เนื่องจากในขณะนั้นมีพายุหิมะเกิดขึ้น ในขั้นตอนการนำเครื่องลงต้องเผชิญกับปัญหาทางทัศนวิสัย เนื่องจากเมฆลอยต่ำ มีหิมะตก นักบินสามารถนำเครื่องลงจอดได้หลังจากต้องขับวนอยู่เป็นเวลานาน และในขั้นตอนการนำเครื่องบินขึ้นสู่ท้องฟ้าก็ประสบกับปัญหานี้เช่นกัน รันเวย์เต็มไปด้วยหิมะ และมองไม่เห็นทัศนียภาพนอกกระจกเนื่องจากถูกปกคลุมไปด้วยหิมะ นักบินพยายามเร่งเครื่องเพื่อที่จะออกตัว แต่แทนที่หัวเครื่องจะเชิดขึ้นฟ้ากลับดิ่งลงละพุ่งไปข้างหน้า ทำให้เครื่องบินพุ่งชนแนวกั้นและบ้านเรือนในละแวกนั้น ปีกและหางของเครื่องบินได้รับความเสียหายและเกิดระเบิดขึ้น


ภาพนักเตะทีมแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ภาพถ่ายก่อนขึ้นเครื่อง

อุบัติเหตุในครั้งนี้ทำให้มีนักเตะเสียชีวิต 8 ราย ได้แก่วอลเตอร์ คริกเมอร์, ทอม เคอร์รี่, เบิร์ท วอลลี่ย์, ทอมมี่ เทย์เลอร์, เดวิด เพ็กก์, เจฟฟ์ เบนท์, เอ็ดดี้ โคลแมน, โรเจอร์ เบิร์น, มาร์ค โจนส์, เลียม วีแลน คนที่เสียชีวิตในเวลาต่อมา หลังเข้ารับการรักษาที่โรงพยายาบาลคือ ดันแคน เอ็ดเวิร์ดส์ ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็นตำนานที่ยิ่งใหญ่, ทอม แจ๊คสัน และ แฟร้งค์ สวิฟต์ นอกจากนี้ยังมีสื่อมวลชน ทีมงานของสโมสรและนักบิน นาฬิกาที่สนามโอลด์ แทรฟฟอร์ด ซึ่งเป็นสนามของสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ถูกหยุดไว้ในเวลา 15.03 น. เพื่อเป็นการไว้อาลัยและเป็นสิ่งย้ำเตือนให้ระลึกถึงความสูญเสียที่เคยเกิดขึ้น

อีกหนึ่งโศกนาฏกรรมที่เป็นที่น่าหวาดกลัวและน่าเศร้าอีกเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในมิวนิค คือ เหตุก่อการณ์ร้ายที่เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1972 กรุงมิวนิคได้เป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ครั้งที่ 20 ที่โอลิมปิก สเตเดียม ทั้งนี้วัตถุประสงค์ของการจัดการแข่งขันคือ เพื่อสร้างสัมพันธภาพทีดีต่อกันระหว่างประเทศในสังคมโลก แต่กลับเกิดโศกนาฏกรรมอันน่าเศร้าที่เกิดจากความแตกต่างทางด้านชาติพันธุ์ อุดมการณ์ ความเชื่อและศาสนา

ในวันที่ 5 กันยายน ค.ศ. 1972  เวลา 04.30 น. ตามเวลาเยอรมัน ได้เกิดการกลุ่มผู้ก่อการร้ายชาวปาเลสไตน์ที่เรียกตัวเองว่า ขบวนการกันยาทมิฬ หรือ Black September  จำนวน 8 คน พร้อมอาวุธปืนและระเบิดครบมือ บุกเข้าไปยังที่พักนักกีฬาชาวอิสราเอลในหมู่บ้านนักกีฬา เกิดการต่อสู้กันขึ้นทำให้ผู้ก่อการร้ายสังหารนักกีฬาอิสราเอลลงทันที 2 คน และมีผู้ก่อการร้ายตายไป 2 คน จากนั้นมีการจับตัวนักกีฬาและเจ้าหน้าที่รวม 9 คน เป็นตัวประกัน เพื่อใช้เป็นข้อเรียกร้องให้อิสราเอลปล่อยตัวนักโทษชาวปาเลสไตน์ 234 คน และอีก 2 คนที่ถูกคุมขังอยู่ที่เยอรมนี แต่รัฐบาลอิสราเอลปฏิเสธ

ในเวลา 15.30 น. ได้มีการยุติการแข่งขันกีฬาไว้ชั่วคราว กลุ่มผู้ก่อการร้ายต้องการนำตัวประกันไปที่อียิปต์เนื่องจากอียิปต์เป็นพันธมิตรกับโลกอาหรับ จึงได้ขอเฮลิคอปเตอร์ 2 ลำ เพื่อขนตัวประกันกับสมาชิกในกลุ่มขบวนการกันยาทมิฬไปลงที่สนามบินมิวนิค และขอเครื่องบินเจ็ทเพื่อไปยังสนามบินไคโร ประเทศอียิปต์ ซึ่งฝ่ายตำรวจประเทศเยอรมนีได้จัดให้ไปตามข้อเรียกร้อง

เมื่อล่วงเข้าวันที่ 6 กันยายน เวลา 00.30 น. ตำรวจเยอรมันได้วางแผนที่จะตลบหลังกลุ่มผู้ก่อการร้ายเพื่อจะชิงตัวประกัน มีการลงมืออย่างสะเปะสะปะเนื่องจากขาดประสบการณ์และไม่มีความเชี่ยวชาญในการรับมือกับการก่อการร้าย การช่วยเหลือและชิงตัวประกัน อีกทั้งยังไม่รับฟังคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ชาวอิสราเอล ทำให้เกิดการยิงต่อสู้กันระหว่างตำรวจและกลุ่มผู้ก่อการร้าย จนในที่สุด คนร้ายกราดยิงและได้ขว้างระเบิดใส่เฮลิคอปเตอร์ที่กักตัวประกันไว้ทั้งสองลำ ทำให้ตัวประกันเสียชีวิตทั้งหมด เวลาประมาณ 01.30 น. การยิงต่อสู้จบลง ผู้ก่อการร้ายเสียชีวิตไป 3 คน ซึ่งตายในการต่อสู้กับทีมนักกีฬาอิสราเอลที่บ้านพักนักกีฬา 2 คน  ถูกจับ 3 คน ฝ่ายตำรวจเยอรมันเสียชีวิต 1 นาย ส่วนอิสราเอลสูญเสียตัวประกันทั้ง 11 คนรวมกับนักกีฬาที่ต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายที่บ้านพักนักกีฬา

หลังจากเหตุการณ์นั้น อิสราเอลได้เรียกตัวนักกีฬาที่เหลือกลับประเทศ และได้มีการลดธงโอลิมปิกลงเป็นเวลา 34 ชั่วโมงเพื่อเป็นการไว้อาลัยแก่นักกีฬาและเจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิต นอกจากนี้ยังมีการเรียกร้องให้มีการจัดพิธีรำลึกขึ้นในสถานที่จัดโอลิมปิกทุกรบหลังจากนี้ เพื่อเป็นการระลึกถึงเหตุการณ์ความสูญเสีย และเป็นการประณามความชั่วร้ายของกลุ่มผู้ก่อการร้าย

เหตุการณ์ทั้งสองเหตุการณ์ข้างต้นเป็นโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นที่มิวนิค ประเทศเยอรมนี แม้สาเหตุของทั้งสองเหตุการณ์จะมีที่มาที่แตกต่างกัน แต่บทสรุปของเหตุการณ์คือความโศกเศร้าเสียใจของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและผู้ที่ได้รับรู้ แม้เหตุการณ์จะผ่านไปเป็นเวลานานแล้ว ความสูญเสียที่ไม่ควรเกิดขึ้นก็ยังคงเป็นที่จดจำและเป็นสิ่งย้ำเตือนให้ระลึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเสมอมา


อ้างอิง

มิวนิค 15.03 น. สืบค้นเมื่อ 25 มีนาคม 2559, จาก http://www.redarmyfc.com/content.php?id=153

โศกนาฏกรรมที่มิวนิค. สืบค้นเมื่อ 25 มีนาคม 2559, จาก  http://manuthailand.com/โศกนาฏกรรมที่มิวนิค/

ชาวอิสราเอล รำลึกเหตุฆ่าชาวยิวในโอลิมปิกที่มิวนิค. สืบค้นเมื่อ 25 มีนาคม 2559, จาก http://news.voicetv.co.th/world/46782.html

เกิดสังหารหมู่ในกีฬา โอลิมปิกที่ประเทศเยอรมนี. สืบค้นเมื่อ 25 มีนาคม 2559, จาก http://guru.sanook.com/26554/


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น