พันเอกโมอัมมาร์ กัดดาฟี (Muammar al-Gaddafi) ผู้ปกครองลิเบียยาวนานกว่าสี่ทศวรรษ

โดย  ปิยมล อรุณธีร์กิจ

โมอัมมาร์ กัดดาฟี (Muammar al-Gaddafi ) ชายผู้เกิดท่ามกลางทะเลทรายอันร้อนระอุในประเทศลิเบีย ก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำอันยาวนานของประเทศที่ร่ำรวยที่สุดประเทศหนึ่งในตะวันออกกลาง  และยังเป็นผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังและให้การสนับสนุนการก่อการร้ายต่างๆ จนอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ โรแนลด์ เรแกน เคยให้ฉายาเขาว่าเป็น “สุนัขบ้าแห่งตะวันออกกลาง-The mad dog of the Middle East.”


โมอัมมาร์ อัล กัดดาฟี (Muammar al-Gaddafi)

โมอัมมาร์ อัล กัดดาฟี  เกิดเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ค.ศ. 1942 ในกระโจมกลางทะเลทรายที่เมืองเซอร์ตี้ ประเทศลิเบีย เขาเป็นพวกหัวรุนแรงที่เคร่งศาสนา ผู้สืบเชื้อสายชาตินิยมอาหรับชนเผ่าเบอร์เบอร์ที่เรียกว่า บูโดอิน  ช่วงที่เขาเกิดประเทศลิเบียยังอยู่ในอาณานิคมของอิตาลี ซึ่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ลิเบียก็ได้รับเอกภาพจากอิตาลี โดยอยู่ภายใต้การปกครองของกษัตริย์อิดริสที่ 1 ( Idris al-Sanusi, Idris I ) กัดดาฟี  เขามักจะมีอุปนิสัยแปลกแตกต่างจากผู้นำคนอื่นๆ เช่น การแต่งตัวที่แปลกประหลาด สวมชุดคลุมยาวสีน้ำตาลหรือสวมหนังสัตว์ ชอบกางเต้นท์นอนแม้ยามไปต่างประเทศ และมักจะถูกรายล้อมด้วยองครักษ์ที่ล้วนเป็นสตรี   

ชีวิตในวัยเด็กของกัดดาฟีนั้น เขาสนใจทางด้านการเมือง เคารพนับถือ กามาล อับเดล นัสเซอร์( Gamal Abdel Nasser )  อดีตผู้นำอียิปต์ เขาชื่นชอบแนวคิดสังคมนิยมรูปแบบอาหรับของนัสเซอร์  กัดดาฟีได้จัดตั้งกลุ่มนักเรียนเพื่อสนับสนุนนัสเซอร์ ผู้เป็นดั่งแรงบันดาลใจ เขาเคลื่อนไหวทางการเมืองและเดินขบวนนัดหยุดเรียนจนถูกโรงเรียนไล่ออก จึงต้องจ้างครูมาสอนเองที่บ้านจนจบการศึกษา

ต่อมาใน ปี ค.ศ. 1961 เมื่อเขาอายุ 19 ปี ได้เข้าเรียนโรงเรียนนายร้อยที่เบงกาซี เขาได้ปลูกฝังแนวคิดเกี่ยวกับชาตินิยมอาหรับให้แก่เพื่อนนายร้อยด้วยกัน เมื่อจบจากโรงเรียนนายร้อยแล้ว เขาได้เป็นนายทหารในกองทัพบก และทำงานใต้ดินติดต่อกับเหล่าเพื่อนนายทหารของตน กลุ่มของพวกเขาล้วนใช้ชีวิตมัธยัสถ์อดออม  เคร่งศาสนาดั่งมุสลิมที่ดี โดยมีกัดดาฟีเป็นแบบอย่างการใช้ชีวิต

ในปี ค.ศ. 1966  กัดดาฟีได้เข้ารับการศึกษาวิชาสื่อสารที่ประเทศอังกฤษ เป็นเวลา 6 เดือน ต่อมาในปี ค.ศ. 1969  เขาเข้ารับราชการทหารสื่อสารในกองทัพบก ทำหน้าที่รักษาการในตำแหน่งนายทหารคนสนิทของผู้บัญชาการกองพลน้อยทหารสื่อสาร

ประเทศลิเบียเป็นประเทศแถบอาหรับที่มีแหล่งน้ำมันเป็นดั่งแหล่งทองคำเหลวคุณภาพดีที่ดึงดูดหลายชาติมหาอำนาจทางตะวันตก ซี่งบ่อน้ำมันถูกขุดค้นพบในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2  บริษัทน้ำมันต่างชาติต่างเข้ามาแย่งกันขอสัมปทาน และในปี ค.ศ. 1961 ลิเบียได้เริ่มมีการส่งออกน้ำมัน ทำให้ลิเบียเป็นประเทศที่ร่ำรวยมาก  ชนชั้นปกครองร่ำรวยขึ้นอย่างมหาศาล แต่ในทางกลับกันประชานชนต่างมีชีวิตความเป็นอยู่ที่อดอยากและยากจน

ความมั่งคั่งและร่ำรวยของชนชั้นปกครองท่ามกลางความอดอยากของประชาชนนี้เองที่ทำให้กัดดาฟีและเหล่าเพื่อนนายทหารลุกขึ้นมาทำรัฐประหารกษัตริย์อิดริสที่ 1  เมื่อวันที่ 1  กันยายน ค.ศ.1969 และเพื่อให้ง่ายต่อการปกครอง เขาจึงเลื่อนยศตัวเองขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด และดำรงตำแหน่งประมุขสูงสุดของลิเบีย รวมทั้งดำรงตำแหน่งประธานสภาปฏิวัติ รวมศูนย์อำนาจไว้ที่ตนแต่เพียงผู้เดียว แต่งตั้งคนในครอบครัว และมิตรสหายคนสนิทในทุกๆตำแหน่งของอำนาจ


ที่มา: https://www.news24.com/

พันเอกกัดดาฟีได้ตั้งระบบสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองขึ้นใหม่  มีการเปลี่ยนชื่อประเทศอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 1977 จาก สาธารณรัฐอาหรับลิเบีย เป็น สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาชนอาหรับลิเบีย ( The Great Socialist People's Libyan Arab Jamahiriyah ) และประกาศปฏิญญาการจัดตั้งอำนาจของประชาชนอย่างเป็นทางการ นโยบายเริ่มแรกที่คณะปฏิวัติเข้ามาปกครองลิเบีย คือ ปิดฐานทัพอากาศของอังกฤษและสหรัฐฯ ไม่ยินยอมให้ตั้งฐานทัพในลิเบียอีกต่อไป และขึ้นราคาค่าจัดเก็บน้ำมันอีก 120% ภายหลังจึงให้โอนมาเป็นของรัฐ ส่งผลให้ลิเบียเป็นประเทศที่มั่งคั่งร่ำรวยจากการค้าน้ำมัน

นอกจากนี้พันเอกกัดดาฟี ได้สั่งปิดสถานบันเทิงในตอนกลางคืนต่างๆ ห้ามชาวลิเบียทุกคนดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือมีไว้ในครอบครอง ห้ามสั่งเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เข้าประเทศและห้ามผลิตไวน์ จัดหาที่อยู่ให้แก่คนชรา และคนยากจน ลงโทษผู้กระทำผิดอย่างรุนแรงและเร่งรีบพัฒนาประเทศ พันเอกกัดดาฟีได้ตีพิมพ์หนังสือ สมุดปกเขียว (The Green Book) ที่อธิบายเกี่ยวกับหลักปรัชญาทางการเมืองการปกครองของเขา

การปกครองในยุคสมัยของพันเอกกัดดาฟีนั้นไม่เพียงแค่กดขี่ควบคุมประชาชน  แต่มีการคอรัปชั่นกันอย่างมากมาย ประชาชนเกิดความยากจน อีกทั้งลิเบียได้ถูกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติคว่ำบาตร เนื่องจากพันเอกกัดดาฟีถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังการก่อการร้ายต่างๆ เช่น ในวันที่ 5 เมษายน  ค.ศ. 1986 เกิดเหตุการณ์ลอบวางระเบิดสถานบันเทิงไนท์คลับ ในกรุงเบอร์ลินตะวันตก ทำให้มีทหารอเมริกันเสียชีวิต 2 นาย หญิงชาวตุรกี 1 คน และมีผู้บาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก

หลังจากนั้นไม่นานสหรัฐฯปฏิบัติการทิ้งระเบิดโจมตีลิเบียที่เมืองทริโปลีและเมืองเบงกาซี ในวันที่ 15 เมษายน 1986 ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 101 คน ซึ่งบุตรสาวบุญธรรมของกัดดาฟีได้เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้ไปด้วย และในวันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ. 1988 เหตุการณ์ระเบิดเครื่องบินของสายการบิน Pan Am เที่ยวบินที่ 103 เกิดระเบิดขึ้นเหนือเมืองล็อกเกอร์บี้ ประเทศสก็อตแลนด์ ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต  270 คน

ในภายหลังนั้นพันเอกกัดดาฟี ได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ครอบครัวของเหยื่อในเหตุการณ์ทั้งสองพร้อมทั้งประณามการก่อการร้ายและยุติโครงการพัฒนาอาวุธทำลายล้างมวลชน ส่งผลให้สหรัฐฯ รื้อฟื้นความสัมพันธ์กับลิเบียใหม่ มีการทำธุรกิจเกี่ยวกับการส่งออกน้ำมัน  อีกทั้งองค์การสหประชาชาติยังลดมาตรการคว่ำบาตรต่อลิเบีย

ช่วงต้นปี 2011  จากเหตุการณ์อาหรับสปริงในประเทศแถบตะวันออกกลาง โดยเฉพาะที่ตูนีเซียและอียิปต์ เป็นแรงผลักดันให้เกิดการประท้วงกระจายไปในพื้นที่ต่างๆ ทำให้ประชาชนชาวลิเบียต่างลุกฮือขึ้นต่อต้านระบอบการปกครองของพันเอกกัดดาฟี  โดยเขาตอบโต้ด้วยการปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรงและนองเลือด ทำให้สหประชาชาติมีมติให้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศต่อลิเบีย โดยกำหนดเขตพื้นที่ห้ามบิน และส่งกองกำลังนาโต้เข้าสนับสนุนฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ทางด้านพันเอกกัดดาฟีก็ยืนยันที่จะอยู่ต่อสู้กับฝ่ายกบฏจนลมหายใจสุดท้าย หลังจากที่เกิดการปะทะกันของทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้านกันอย่างรุนแรงมายาวนานหลายเดือน พันเอกกัดดาฟีก็ถูกยึดอำนาจและต้องหนีไปหลบซ่อนตัวอย่างยากลำบาก

ในที่สุดเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2011 เขาถูกจับได้และถูกสังหารที่เมืองเซอร์ตี้บ้านเกิดของเขา  ซึ่งนับว่าเป็นการสิ้นสุดการระบอบปกครองอันยาวนานกว่า 42 ปีของพันเอกโมอัมมาร์ กัดดาฟี หลังจากการเสียชีวิตของเขา ประเทศลิเบียเกิดสุญญากาศแห่งศูนย์อำนาจทางการเมือง ประสบปัญหาความขัดแย้งของกลุ่มการเมืองต่างๆที่ต้องการแย่งชิงอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศนี้       

พันเอกโมอัมมา อัล กัดดาฟี นับเป็นผู้สืบทอดอุดมการณ์ชาตินิยมอาหรับต่างๆของนัสเซอร์อย่างแท้จริง ภายหลังจากที่เขาทำการปฏิวัติสำเร็จ จึงก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำที่ปกครองลิเบียยาวนานที่สุด เขาเป็นดั่งวีรบุรุษของโลกอาหรับ แต่ในทางกลับกันนั้นเขายังเป็นผู้นำจอมเหี้ยมโหดที่สั่งสังหารประชาชนเป็นจำนวนมากในสงครามกลางเมืองของลิเบีย ชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาตั้งให้เขาเป็นบุคคลอันตรายคนหนึ่งที่สงสัยว่าอยู่เบื้องหลังการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆทั่วโลก อีกทั้งยังจัดให้เขาเป็นผู้นำที่มีความบ้าและมีความดันทุรังสูงอีกด้วย


อ้างอิง

BBC News. (2018). Libya profile – Timeline. Retrived September 12, 2018, from: https://www.bbc.com/news/world-africa-13755445

Biography.com Editors. (2017). Muammar al-Qaddafi Biography. Retrived September 12, 2018, from: https://www.biography.com/people/muammar-al-qaddafi-39014

ทรงพจน์ สุภาผล. (2011). ประวัติความเป็นมาของพันเอกโมอัมมาร์ กัดดาฟี่ “สุนัขบ้าแห่งตะวันออกกลาง”. สืบค้นเมื่อ  11 กันยายน  2561, จาก: https://www.voathai.com/a/gadhafi-obit-ss-20oct11-132285958/925086.html

 นันทนา กปิลกาญจน์. (2554). การปฏิวัติตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์(1), 176 หน้า

บ้านจอมยุทธ. (ม.ป.ป). กัดดาฟี. สืบค้นเมื่อ  11 กันยายน  2561, จาก: https://www.baanjomyut.com/library/leader/gaddafi.html

บุญชัย ใจเย็น. (2554). 3 ฆาตรกรโลก. กรุงเทพฯ: ปราชญ์(1), 160 หน้า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น