เกอิชา (GEISHA) สตรีผู้มีศาสตร์แห่งศิลป์

โดย รุ่งฟ้า บุญเจริญ

ประเทศญี่ปุ่น แดนอาทิตย์อุทัยที่เต็มเปี่ยมไปด้วยกลิ่นอายของวัฒนธรรมดั้งเดิม รวมถึงอาชีพหนึ่งของสตรีญี่ปุ่นในสมัยก่อนหรือที่เรียกว่า “เกอิชา” เขียนเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า 芸者 หมายถึง ศิลปิน เกอิชาเป็นอาชีพที่คอยให้ความบันเทิงและความเพลิดเพลินแก่ลูกค้าด้วยความสามารถและความชำนาญทางด้านศิลปะ ผ่านการฝึกฝนศิลปะในหลากหลายแขนง ซึ่งอาชีพเกอิชาเป็นที่แพร่หลายอย่างมากในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 และ 19 แต่ในปัจจุบันอาชีพเกอิชามีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากสภาพทางสังคมที่เปลี่ยนไป ทำให้ผู้หญิงญี่ปุ่นมีทางเลือกในประกอบอาชีพมากขึ้น

เกอิชา (Geisha)
ที่มา : https://designyoutrust.com/

ในอดีตนั้นสตรีที่ถูกฝึกให้เป็นเกอิชาจะถูกฝึกฝนตั้งแต่เด็ก โดยสำนักเกอิชาจะซื้อเด็กสาวที่เกิดในครอบครัวที่มีฐานะยากจนมาฝึกฝนและเลี้ยงดู ในช่วงวัยเด็กจะให้เป็นเด็กรับใช้เกอิชารุ่นพี่ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากมาก แต่เมื่อพ้นระยะแรกไปแล้ว ก็จะก้าวขึ้นเป็น เกอิชาฝึกหัดหรือ “ไมโกะ” เพื่อเข้าเรียนเป็นเกอิชา โดยเรียนรู้ศาสตร์แห่งศิลป์ในหลากหลายแขนง ได้แก่ การเล่นดนตรี การขับร้อง การเต้นรำ การชงชา การจัดดอกไม้ (อิเกะบะนะ) รวมถึงเรื่องบทกวีและวรรณคดี หลังจากมีความชำนาญมากขึ้น จะมีการเรียนรู้ศิลปะที่ซับซ้อนขึ้น เช่น การแต่งชุดกิโมโน รวมถึงการพนันหลายแบบ รู้จักการสนทนา และการโต้ตอบกับลูกค้า จากนั้นก็จะเริ่มติดตามเกอิชารุ่นพี่ไปยังโรงน้ำชา และงานเลี้ยงสังสรรค์ต่างๆ เพื่อให้เห็นสภาพแวดล้อมการทำงานของจริง โดยตามความเชื่อโบราณการฝึกฝนศิลปะให้ได้ผลที่ยอดเยี่ยมจะต้องเริ่มฝึกตั้งแต่อายุ 6 ปี 6 เดือน 6 วัน


เกอิชาขณะที่กำลังร่ำเรียนศิลปะแขนงต่างๆ
ที่มา : https://designyoutrust.com/

ต่างจากเกอิชาสมัยใหม่ที่จะไม่ถูกซื้อตัวหรือพามายังสำนักเกอิชาตั้งแต่เด็กเหมือนสมัยก่อน ซึ่งเกอิชาสมัยใหม่จะเป็นโดยสมัครใจ และจะถูกฝนฝึกตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นตอนปลาย แต่จะใช้ระยะเวลาในการฝึกฝนที่ยาวนานขึ้นเพราะฝึกเมื่อมีอายุมากแล้ว แม้ในปัจจุบันอาชีพเกอิชาจะมีจำนวนลดลงตามยุคสมัย แต่ก็มีอยู่บ้าง โดยอาศัยอยู่มากในสำนักเกอิชาในพื้นที่ที่เรียกว่า ฮะนะมะชิ หรือ คะเรียวไก คล้ายกับย่านโพนโทะโชในโตเกียว และเมื่อหญิงที่เป็นเกอิชาแต่งงานหรืออายุมากขึ้นก็จะเลิกทำอาชีพนี้ แต่อาจไปทำงานเป็นเจ้าของร้านอาหาร ครูสอนดนตรี หรือเป็นครูสอนเกอิชาต่อไป


เกอิชากำลังดูแลและให้ความบันเทิงแก่ลูกค้า
ที่มา : https://designyoutrust.com/

เกอิชามักจะถูกเข้าใจผิดว่าเป็นหญิงขายบริการ เนื่องจากหญิงขายบริการเหล่านั้นมักจะชอบกล่าวอ้างว่าตัวเองเป็นเกอิชา แม้ทั้งสองอาชีพนี้จะมีการแต่งกายที่คล้ายกัน แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือการผูกผ้าคาดเอวหรือโอบิ โดยเกอิชาจะผูกโอบิไว้ด้านหลัง ส่วนหญิงขายบริการจะผูกโอบิไว้ด้านหน้าเพื่อให้ง่ายต่อการถอดออก


หญิงขายบริการในญี่ปุ่นสมัยก่อน ประมาณปี 1865
ที่มา : https://designyoutrust.com/

เห็นได้ว่ากว่าจะเป็นเกอิชาได้นั้น จะต้องผ่านการฝึกฝนอย่างหนักเพื่อเป็นสตรีที่พรั่งพร้อมไปด้วยความสามารถในศาสตร์แห่งศิลป์ แม้สตรีเหล่านี้เมื่ออยู่ในงานรื่นเริงสังสรรค์ จะเป็นผู้ ให้ความสุขและความบันเทิงด้วยศิลปะที่ร่ำเรียนมาแก่ลูกค้า แต่ท้ายที่สุดแล้ว พวกเธอก็เป็นเพียงหญิงสาวที่ต้องทำหน้าที่เพื่อหาเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัว และพวกเธอก็ได้พิสูจน์แล้วว่าศาสตร์ศิลปะก็สามารถนำมาสร้างความสุขให้แก่ผู้คนและประกอบอาชีพได้อย่างสง่าผ่าเผยในสังคมได้เช่นกัน


อ้างอิง

“Memoirs Of The Geisha” – A Look Back At The Traditional Japanese Female Entertainers. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2561, จาก: https://designyoutrust.com/2017/03/memoirs-of-the-geisha-a-look-back-at-the-traditional-japanese-female-entertainers/

เกอิชา – วิกิพีเดีย. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2561, จาก: https://th.wikipedia.org/wiki/เกอิชา

ประวัติเกอิชา. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2561, จาก: https://pirun.ku.ac.th/~b5410855752/ประวัติเกอิชา.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น