เจสซี โอเวนส์ (Jesse Owens) บุรุษนักวิ่งลมกรดผิวสี ผู้สร้างความไม่พอใจแก่ ฮิตเลอร์

โดย พิมณภัทร์ เกตุแสง

“กีฬาโอลิมปิก” มหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่และตระการตาสำหรับมวลมนุษยชาติ แน่นอนว่าสำหรับนักกีฬาทั่วโลก เหรียญรางวัลที่ใหญ่ที่สุดหรือเรียกว่าเหรียญทอง เป็นสิ่งที่นักกีฬาจากทั่วทุกมุมโลกต่างใฝ่ฝัน เพราะมันเปรียบเสมือนรางวัลแห่งเกียรติยศและนำมาทั้งชื่อเสียงและเงินทองมากมายในอนาคตข้างหน้า เฉกเช่นเดียวกับนักกีฬากรีฑาชาวสหรัฐอเมริกาผิวสีจำนวนมาก ก็ต่างคาดหวังว่าทีมชาติของตนจะสามารถไปถึงยังจุดๆนั้นให้ได้ ดังเช่นวีรบุรุษของพวกเขา “เจสซี โอเวนส์ (Jesse Owens) ” ที่ปรากฏในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ปี 1936 ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี



เจมส์ คลีฟแลนด์ โอเวนส์ (James Cleveland Owens) คือชื่อเต็มๆ ของเจสซี โอเวนส์ เขาเกิดในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเมืองแดนวิลส์ รัฐอลาบามา ใน ค.ศ.1913 สำหรับฐานะทางครอบครัวของเขานั้น เรียกได้ว่าค่อนข้างมีฐานะยากจน โดยบิดาและมารดาของเขามีอาชีพทำไร่นา ช่วงชีวิตวัยเด็กของเขาจึงลำบากยากเข็ญพอสมควร จนกระทั่งต่อมาครอบครัวของโอเวนส์ มีเหตุจำเป็นต้องย้ายไปที่เมืองคลีฟแลนด์ ณ รัฐโอไฮโอ โดยโอเวนส์เรียนมหาวิทยาลัยที่นั่น ในระหว่างที่กำลังศึกษาระดับมหาวิทยาลัย เขาต้องทำงานพิเศษมากมายสารพัด ไม่ว่าจะเป็นการทำงานเป็นเด็กในปั๊มน้ำมันและยังทำงานในสถานรับเลี้ยงเด็ก เพื่อให้เพียงพอสำหรับการศึกษาและค่าเล่าเรียนของเขาเอง โอเวนส์เองไม่เคยใฝ่ฝันถึงการเป็นนักกีฬาทีมชาติมาก่อน แต่แล้วชีวิตเขากลับต้องมีการพลิกผันครั้งใหญ่

ช่วงเวลาที่เจสซี โอเวนส์กำลังศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย เขาได้กลายเป็นนักกรีฑาเบอร์ต้นๆ ของมหาวิทยาลัยและทีมชาติสหรัฐอเมริกา เขาได้ฝึกซ้อมเป็นอย่างหนักและยังสามารถทำลายสถิติในการแข่งขันวิ่งในระยะทาง 100 เมตร และวิ่งในระยะทาง 200 เมตร ไม่เพียงแต่การวิ่งเท่านั้น ในกีฬากระโดดไกล เขายังสามารถทำสถิติได้ถึง 8.13 เมตร ซึ่งสถิติของโอเวนส์นั้นไม่สามารถมีผู้ใดทำลายได้ถึง 25 ปี เห็นได้ชัดว่าเขามีพรสวรรค์ในตัวเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังมีพรแสวงจากการฝึกซ้อมอย่างหนัก

แต่ถึงแม้ว่าโอเวนส์จะมีทั้งพรสวรรค์และพรแสวงเป็นตัวเบิกทางและได้เฉิดฉายในการแข่งขันกรีฑาก็ตาม แต่สื่อมวลชนภายในประเทศของเขากลับเพิกเฉยและไม่ได้ให้ความสนใจแก่นักกีฬาอนาคตไกลของประเทศตนอย่างที่ควรจะเป็นนัก เพราะสำหรับอเมริกาฯในขณะนั้น ไม่มีใครอยากรับรู้ความเก่งกาจหรือความสามารถของนักกีฬานิโกร หนำซ้ำยังมีบางส่วนรู้สึกไม่พอใจเสียด้วยซ้ำ

สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากในทศวรรษช่วงปี 1930-1939 ประเด็นการเหยียดสีผิวในสหรัฐอเมริกาถือได้ว่ากำลังร้อนระอุและกระจายขยายเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะในทางตอนใต้ของประเทศ กลุ่มชาวผิวขาวได้แบ่งแยกในส่วนของบริการสาธารณะในประเทศ และมองว่าชาวผิวสีว่ามีค่าด้อยกว่าพวกของตน ไม่ว่าจะเป็นการที่ร้านอาหาร โรงแรม หรือแม้แต่โรงเรียนและโรงพยาบาลหลายแห่งนั้น มีนโยบายห้ามคนผิวสีใช้พื้นที่บางส่วนในสถานที่เหล่านั้น หรือบางสถานที่ก็ห้ามมิให้ชาวผิวสีใช้บริการในสถานที่นั้นเลย

ในช่วงปี ค.ศ. 1936 สถานการณ์ทางการเมืองในเยอรมนีได้ทวีความรุนแรงและความขัดแย้งในหลายๆ ด้าน สังคมเยอรมันยังมีค่านิยมความเกลียดชังและต่อต้านชาวยิวของนาซี ซึ่งนำโดยอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) หรือการใช้ความรุนแรงแก่กลุ่มบุคคลที่มีความคิดหรือสีผิวแตกต่างกับตน ซึ่งก็คือชาวผิวสี ได้ถูกต่อต้านอย่างหนัก เพราะนาซีถือว่าคนชนชาติเยอรมันเป็นชนชาติชั้นสูง เหนือกว่าชาวยิวและชาวผิวสี สถานการณ์นี้ส่งผลให้คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งสหรัฐอเมริกา (USOC) เกิดความหนักอกหนักใจเป็นอย่างมาก เพราะเยอรมนีจะได้เป็นผู้จัดการแข่งขันหรือเจ้าภาพของงานโอลิมปิกในปีนั้นเอง ต่อมาจึงมีการหารือพิเศษว่า ในเมื่อสถานการณ์ในเยอรมนีเป็นเช่นนี้ จะยังเหมาะสมที่จะจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกได้หรือไม่ จนกระทั่งไม่นานก็ได้ข้อสรุป หลังจากมีการโต้เถียงกันหลายฝ่าย และมีบางฝ่ายได้มีการบอยคอตต์เสียด้วยซ้ำ แต่ท้ายที่สุดคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งสหรัฐอเมริกาก็ได้ตกลงยอมให้มีการจัดกีฬาโอลิมปิกที่เยอรมนี โดยเอเวอรี บรันเดจ(Avery Brandage) สมาชิกอาวุโสในคณะกรรมการของ USOC ให้เหตุผลในการคัดค้านการบอยคอตต์ไว้ว่า

"กีฬาโอลิมปิกเป็นเรื่องของนักกีฬา ไม่ใช่นักการเมือง"

หลังจากนั้นไม่นาน สหรัฐอเมริกาจึงยอมส่งนักกีฬาให้เดินทางไปยังกรุงเบอร์ลิน โดยจำเป็นจะต้องยอมรับกฎกติกาของนาซีในบางเรื่อง แต่ก็มีหลายประเทศเช่นกันที่ไม่ได้ให้ความไว้วางใจ และเลือกจะไม่ส่งนักกีฬาในการแข่งขันครั้งนี้

ในช่วงนั้นเอง โอเวนส์ยังคงคว้าชัยและรับเหรียญรางวัลอย่างต่อเนื่อง เขายังสามารถสร้างสถิติโลกใหม่ในการวิ่งระยะทาง 100 เมตร ในการแข่งขันทีมกรีฑาของมหาวิทยาลัยในรัฐชิคาโก ค.ศ. 1936 ทำให้โอเวนส์ กลายเป็นตัวเต็งหลักในรายชื่อนักกีฬาของทีมชาติสหรัฐอเมริกา สำหรับการแข่งขันโอลิมปิก ณ กรุงเบอร์ลิน จนในที่สุดเขาก็ได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนของทีมชาติอเมริกาฯ ถึงแม้ว่าเขาเองจะมิได้ปรารถนาว่าจะติดทีมชาติเลยสักนิด เนื่องจากกังวลถึงสถานการณ์ในเยอรมนี แค่คณะกรรมการฯและชาวแอโฟรอเมริกันหลายคนกลับมองว่าการมีส่วนร่วมของเขาจะส่งผลดีต่อชาวผิวสีทุกคน สิ่งนี้ยิ่งทำให้โอเวนส์รู้สึกกดดันและเครียดอย่างมาก แต่ในที่สุดเขาก็ตัดสินใจที่จะรับใช้ชาติของเขา

อาณาจักรไรซ์ หรือประเทศเยอรมนีโดยนาซี ได้ประกาศแก่นานาชาติต้อนรับนักกีฬาจากทั่วทุกมุมโลก โดยกล่าวว่า การแข่งขันในครั้งนี้มีความเท่าเทียมและเสมอภาคกัน ไม่ว่าจะเป็นชนชาติหรือสีผิวใด แต่ว่าทั้งหมดนั้น กลับกลายเป็นเพียงเรื่องหลอกลวงและเป็นการจัดฉากโดยอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เพื่อใช้ตบตาผู้คนทั้งโลก โดยในความเป็นจริงนั้น ความโหดเหี้ยมและอำมหิตของนาซีคือไกลออกไปทางเหนือของสนามโอลิมปิก ณ กรุงเบอร์ลิน ราวๆ 4 กิโลเมตร กลับมีค่ายกักกันสำหรับนักกีฬาเชื้อสายยิวโดยเฉพาะ เรียกค่ายกักกันนั้นว่าซักเซนเฮาเซน

โอเวนส์เตรียมตัวและเตรียมใจสำหรับการเข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ดี เขารู้ดีว่าอาจถูกกลั่นแกล้งมากมายสารพัด ทว่าสิ่งนั้นก็ไม่อาจที่จะเปลี่ยนแปลงพลังและความมุ่งมั่นที่จะคว้าชัยเหนือเยอรมันและนาซีของเขาเอง แล้วก็เป็นดั่งที่เขาคาการณ์ไว้ เนื่องจากในวันที่ 2 สิงหาคม 1936 เขาได้ลงทำการแข่งขันวิ่งในระยะ 100 เมตร และได้ทำลายสถิติโลกอีกครั้ง แต่เหล่าคณะกรรมการกลับเล่นตลกและไม่ยอมรับว่าสถิติที่ทำโดยนักวิ่งลมกรดผิวสีคนนี้เป็นคนสร้างโดยเหตุผลใดก็ไม่อาจทราบได้ แต่ถึงจะเป็นเช่นนั้น เจสซี โอเวนส์ ก็ยังสามารถคว้าเหรียญทองเหรียญแรกมาได้เป็นผลสำเร็จ หลังจากนั้นไม่นาน เพื่อนนักกีฬาร่วมชาติของเขาก็ยังสามารถคว้าเหรียญทองมาได้อีก 2 เหรียญ และเหรียญเงินอีก 1 เหรียญ



ในปีนั้นเองไม่พบรายงานจากสื่อสำหนักใดที่รายงานว่า เจสซี โอเวนส์ ได้รับการแสดงความยินดีหรือได้จับมือกับอดอล์ฟ ฮิตเลอร์หรือไม่ แต่ที่ทราบได้แน่ๆ คือ ฮิตเลอร์และนาซีเอง รู้สึกไม่พอใจและโมโหเป็นอย่างมากที่นักกีฬาชาวอเมริกัน อีกทั้งยังเป็นชาวผิวสีได้รับชัยชนะเหนือทีมชาติเยอรมัน ที่ตนมีความมั่นใจและภูมิใจว่าเป็นชาติที่สูงศักดิ์และมีเกียรติที่สุด และอีกคนที่ก็รู้สึกอับอายในชัยชนะครั้งนี้ไม่แพ้กันก็คือ แฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ (Franklin D. Roosevelt) ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา เนื่องจากเขาไม่อยากที่จะแสดงความยินดีแก่นักกีฬาชาวผิวดำที่ตนเองรู้สึกเหยียดและมองว่าด้อยกว่ากลุ่มชาวผิวขาว

ชัยชนะเหนือเยอรมนีของอเมริกาฯในกีฬาโอลิมปิก ณ ปีนั้น ยังได้ถูกกล่าวถึงในบันทึกส่วนตัวของโยเซฟ เกิบเบลส์ (Joseph Goebbels) ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงโฆษณาการในขณะนั้น เกิบเบลส์ ได้เขียนระบายความอัดอั้นและเขียนถ้อยคำที่แสดงถึงความรู้สึกเหยียดหยามในตัวชาวผิวสีของตนเอาไว้ ใจความตอนหนึ่งว่า

“ ทีมชาติเยอรมันของเราสามารถคว้าเหรียญทองได้หนึ่งเหรียญ สหรัฐอเมริกาได้ไปสามเหรียญ และในจำนวนนั้นสองในสามเหรียญเป็นฝีมือของพวกนิโกร นับเป็นความอัปยศ ที่ชนผิวขาวจะต้องสมควรละอายจริงแท้ ”

ในด้านครอบครัวของโอเวนส์ เขาแต่งงานตั้งแต่เมื่อเขาอายุ 18 ปี กับภรรยาของเขา นามว่า รูธ โซโลมอน (Root Solomon) เธอได้ให้กำเนิดบุตรของโอเวนส์ 3 คน และมีหลานทั้งหมด 5 คน ในช่วงชีวิตยามบั้นปลาย โอเวนส์ได้อาศัยอยู่ ณ รัฐเอริโซนา โดยทำธุรกิจร่วมกับลูกเขย จนกระทั่งปี 1979 เขาได้ล้มป่วยลงด้วยโรคมะเร็งปอด เขารักษาตัวอยู่หนึ่งปีเต็ม ในที่สุดก็เสียชีวิตลงในปีถัดมา รวมอายุได้ 67 ปี

จากเรื่องราวชัยชนะเหนือนาซีเยอรมันและสามารถหักหน้าของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ได้โดยนักกีฬาผิวสีลมกรดนามว่า “ เจสซี โอเวนส์ ” สะท้อนให้เห็นถึงความกล้าหาญอย่างยิ่งของตัวเขาเอง และได้บทสรุปว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่สมควรเลยสักนิดที่เราทุกคนจะแบ่งแยกความเป็นมนุษย์ออกจากกัน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องความต่างของเชื้อชาติและสีผิว และค่านิยมผิดๆที่ว่าคนผิวขาวนั้นสูงส่งกว่าชาวผิวสี แต่สิ่งสำคัญที่เราทุกคนสมควรที่จะกระทำ คือเราทุกคนเป็นมนุษย์เหมือนกัน เราทุกคนเท่าเทียมกัน เราไม่สามารถตีค่าความเป็นคนและปฏิบัติต่อคนที่แตกต่างกับเราอย่างไม่ยุติธรรมและเราควรเคารพและรับฟังในความต่างของกันและกัน เพื่อให้เกิดความสงบสุขในโลกของพวกเรา


อ้างอิง

เพจรีวิวเรื่อยเปื่อย. (2559). เด็กหนุ่มเพียงคนเดียวที่หักหน้าฮิตเลอร์กลางคนนับหมื่น เจสซี่ โอเว่นส์. สืบค้นเมื่อ 28 มกราคม 2561, จาก: https://www.facebook.com/Universalreviews/photos/a.1582452
788706269.1073741829.1582134785404736/1699995900285290?type=3&theater

บุญโชค พานิชศิลป์. (2561). เจสซี โอเวนส์นักวิ่งผิวสีที่กระตุกหนวดนาซี. สืบค้นเมื่อ 28 มกราคม 2561, จาก: https://themomentum.co/something-between-jesse-owens/

ดาราเดลี่. (2559). เด็กหนุ่มหักหน้าฮิตเลอร์ “เจสซี่ โอเว่นส์” ฮีโร่โอลิมปิกตัวจริงใน “RACE ต้องกล้าวิ่ง." สืบค้นเมื่อ 28 มกราคม 2561, จาก:  https://www.daradaily.com/news/53701/read

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น