การจำลองเรือนจำสแตนฟอร์ด

โดย ฌานพิชชา  ลุพรหมมา

การทดลองมักมีจุดประสงค์เพื่อยืนยันสมมุติฐานที่ผู้ทำวิจัยคิดทฤษฎีขึ้นมาหรือยืนยันสมมุติฐานก่อนหน้าขึ้นมา จาก “ความสงสัย” นำมาสู่บทเรียนที่ยิ่งใหญ่แก่คนรุ่นหลังต่อไป แต่การกระทำทุกอย่างจะต้องดำเนินตามควบคู่กับศีลธรรมอันดีงามเสียด้วย ซึ่งเรื่องที่จะกล่าวต่อไปนี้คือการทดลองจิตวิทยาที่ปรากฏในวงการจิตวิทยาว่า ไม่ถูกหลักของมนุษยธรรม นั่นคือ “การทดลองจำลองเรือนจำสแตนฟอร์ด”

“จิตวิทยาเป็นศาสตร์ที่ศึกษาค้นคว้าเพื่อนำข้อมูลต่าง ๆ ความรู้ที่ได้จากแนวคิดทฤษฎี และการทดลองนำมาเสนอเพื่ออธิบายและควบคุมพฤติกรรมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของมนุษย์”  (สุปราณี สนธิรัตน์ และคณะ, 2537)


ภาพ คณะผู้ร่วมวิจัยกำลังสร้างสถานที่จำลองเรือนจำ

การทดลองจำลองเรือนจำสแตนฟอร์ดนั้นมีจุดประสงค์ของการทดลองเพื่อการศึกษาการตอบสนองของมนุษย์และจะนำผลการทดลองมาเป็นหลักการลดความขัดแย้งระหว่างผู้คุมกับนักโทษ ดำเนินการทดลองนี้โดยนักจิตวิทยา ฟิลิป ซิมบาโด (Philip Zimbardo) และคณะของมหาลัยสแตนฟอร์ด รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา กลุ่มเป้าหมายคือนักศึกษาในมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเอง ระยะเวลาทำการทดลองในกำหนดการคือ 2 สัปดาห์เริ่มจากวันที่ 14 สิงหาคม ค.ศ. 1971 และขอบเขตการทดลองคือชั้นใต้ดินของคณะจิตวิทยามหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเป็นที่จำลองเรือนจำ แต่ถึงกระนั้นการทดลองถูกระงับกลางคันเสียก่อนด้วยระยะเวลาเพียง 6 วันในภายหลัง เนื่องจากความรุนแรงของการทดลองกระทบถึงสภาพจิตใจของผู้ทดลองและคณะวิจัยเสียจนถือว่าเป็นการทดลองผิดศีลธรรม ซึ่งรายละเอียดที่ถูกระงับนั้นอยู่ในเนื้อหาของการทดลอง

เริ่มแรกของการทดลองจะต้องมีตัวแปรต้นคือ นักโทษ และตัวแปรตามคือ ผู้คุม เสียก่อนในการสังเกตการณ์เพื่อบันทึกผล จึงได้มีการจัดสรรหาผู้เข้าร่วมการทดลองโดยตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์หางาน พาร์ท-ไทม์ (Part-time job) มีค่าตอบแทนเป็น 15 เหรียญต่อวัน ซึ่งมีผู้สมัครเป็นผู้ร่วมทดลองมีถึง 70 คนแต่คัดสรรเพียง 24 คน โดยหลักการคัดสรรคือการเลือกผู้ร่วมทดลองไม่มีประวัติการเข้าสถานที่คุมขังหรือก่อการกระทำความผิดเข้าเรือนจำมาก่อนพร้อมทั้งมีร่างกายและสุขภาพจิตที่ดี อีกทั้ง 24 คนนั้นแบ่งอีกเป็น 2 ฝ่ายคือ ผู้คุม และนักโทษ โดยเกณฑ์การแบ่งเป็นผู้คุมและนักโทษนั้นใช้หลักการสุ่มเหรียญ(การโยนเหรียญหัวและก้อย) ผลสุดท้ายจำนวนที่ใช้จริงในการทดลองมีเพียง 18 คนอีก 6 คนที่เหลือนั้นเป็นคนสำรองโดยแบ่งนักโทษ 9 คนและผู้คุม 9 คน ซึ่งผู้คุม 9 คนนั้นผลัดเฝ้านักโทษละคน 3 คนต่อ 8 ชั่วโมง

เมื่อมีผู้ร่วมทดลองแล้วสถานที่ทดลองและผู้ที่ให้คำปรึกษาจะต้องมีความพร้อมเช่นกัน การจัดเตรียมนั้นเป็นหน้าที่ของคณะวิจัยและอดีตนักโทษในการจำลองเรือนจำ โดยเตรียมห้องขังทั้งหมด 3 ห้องเอามาจากห้องเเลปและใส่ประตูลูกกรงแทน  มีห้องขังเดี่ยวขนาดเล็กทำมาจากห้องเก็บของ เรียกว่า

“The hole”  สำหรับนักโทษที่ประพฤติไม่ดี  นอกจากนี้ยังมีทางเดินหน้าห้องขังที่เรียกว่า “The Yard” เป็นสถานที่ให้นักโทษเดินเล่น ออกกำลังกายและรับประทานอาหาร  ส่วนห้องน้ำถูกเเยกออกที่หนึ่ง เวลานักโทษจะไปห้องน้ำมีการปิดตาพาไป เพื่อป้องกันการจำทางหลบหนีของนักโทษ ห้องขังและทางเดินมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดเเละเครื่องดักฟัง


ภาพ คณะผู้ร่วมวิจัยติดเครื่องดักฟัง

ลักษณะของผู้ร่วมทำทดลองที่เป็นผู้คุมนั้นไม่ได้รับการฝึกสอนมาก่อน แต่เพียงฟังคำสั่งว่าทำอย่างไรให้คุมนักโทษได้และให้นักโทษเชื่อฟัง หัวหน้าผู้คุมเป็นนักศึกษาปริญญาตรีจากมหาลัยสเเตนฟอร์ดชื่อ เดวิด เจฟฟี่ (David Jaffe) ผู้คุมเเต่งกายในชุดกากีเเละสวมเเว่นตาดำ เพื่อป้องกันไม่ให้อ่านอารมณ์จากสายตาผู้คุมได้  ส่วนนักโทษแต่งกายด้วยเสื้อคลุมยาวสีขาว โดยที่ด้านหน้าเเละด้านหลังเป็นเลขไอดีนักโทษ ซึ่งนักโทษทุกคนต้องเรียกด้วยเลขไอดีเเทนชื่อ ไม่สวมท่อนล่าง มีโซ่ตรวนหนามัดไว้ที่ข้อเท้า ใส่หมวกที่ทำมาจากถุงน่องผู้หญิง

วันแรกของการทดลองมีการเข้าจับกุมผู้ร่วมทดลองที่เป็นนักโทษขณะอยู่บ้านทำให้ผู้ร่วมทดลองนั้นไม่รู้ตัวว่าเริ่มการทดลองแล้ว แต่หลังจากนั้นก็ผ่านไปอย่างราบรื่นเพราะนักโทษและผู้คุมไม่กล้าทำอะไรรุนแรงในวันแรก

เมื่อถึงวันที่สองของการทดลองเริ่มมีการใช้ความรุนแรงเกิดขึ้นโดยนักโทษนำเตียงนอนขวางประตูไว้ จนสุดท้ายผู้คุมวางแผนกับคณะวิจัยในการคุมสถานการณ์นี้และได้พังประตูเข้าไปพร้อมยึดเตียงนอนในห้องขังอีกทั้งจับกุมนักโทษที่เป็นคนต้นเรื่องไปไว้ในห้องขังเดี่ยว ( The hole)  ต่อมาผู้คุมกำหนดห้องขังพิเศษและห้องขังธรรมดา โดยห้องขังพิเศษจะถูกปฏิบัติจากผู้คุมและเครื่องใช้ดีกว่าห้องขังอื่น และนั่นสร้างความแตกแยกในหมู่นักโทษ พร้อมทั้งการลงโทษที่รุนแรงแสดงให้เห็นถึงความโกรธของผู้คุมเป็นสัญญาณว่าผู้ร่วมทดลองที่รับบทผู้คุมและคณะผู้วิจัยมีความคิดเสมือนว่าเป็นเรือนจำของจริงไม่ใช่การทดลอง จนนับจากวันนี้เหตุการณ์ในการทดลองจะเทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น จนถึงขั้นมีนักโทษคนหนึ่งไม่มีสติที่จะคุมเสียได้แล้วเลยต้องถูกถอนออกจากการทดลองไป ซึ่งนั้นเป็นชนวนการสร้างความรุมแรงของผู้คุมต่อนักโทษยิ่งขึ้นเนื่องจากข่าวลือที่นักโทษที่ถูกถอนจากการทดลองนั้นจะทำการบุกเข้ามาช่วยเหลือนักโทษคนอื่นและบอกความจริงให้คนอื่นนั้นรับรู้ แต่ก็เป็นเพียงข่าวลือนั่นทำให้ผู้คุมและคณะวิจัยมีความโมโหเป็นอย่างมากจนสั่งลงโทษนักโทษรุนแรงมากขึ้นอาทิ การขัดโถส้วมโดยใช้มือเปล่าขัดแทน เป็นต้น

ในช่วงของวันที่ 4 ในการทดลองได้มีการเชิญบาทหลวงเข้ามาพูดคุยกับนักโทษ โดยคณะวิจัยให้บาทหลวงประเมินเรือนจำนี้เหมือนของจริงมากเพียงใด บาทหลวงกล่าวว่า เรือนจำนี้ไม่น่ามีความเป็นไปได้ที่จะสร้างอิทธิพลให้กับนักโทษได้แต่ผลลัพธ์กลับน่าตกใจที่สร้างความกดดันแก่นักโทษและผู้คุมได้อย่างมหาศาลเมื่อบาทหลวงถามชื่อนักโทษ นักโทษตอบกลับเลขไอดีแทนชื่อตนเองไปเสียแล้ว อีกทั้งเมื่อบาทหลวงถามว่าทำอย่างไรนักโทษถึงจะออกจากเรือนจำนี้ได้นักโทษตอบว่าหาทนาย บาทหลวงจึงยื่นข้อเสนอว่าจะติดต่อพ่อแม่ของนักโทษให้หาทนาย มีนักโทษบางส่วนตอบตกลงกับข้อเสนอนั้น

ผลสุดท้ายผู้ปกครองของนักโทษบางคนมาพบคณะวิจัยเเละบอกว่ามีบาทหลวงมาพูดถึงการติดต่อทนายแก่ผู้ร่วมทดลองที่รับบทนักโทษหากจะออกจากเรือนจำ  ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นให้ ฟิลิปมีสติกลับมาคิดว่างานวิจัยควรหยุดได้เสียแล้วเพราะผลลัพธ์ร้ายเเรงเเละผู้คุมใช้อำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งในวันที่ 6  ได้หยุดงานวิจัยลง เหตุการณ์ต่อจากนั้นคือทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นทั้ง ผู้ร่วมการทดลอง คณะผู้วิจัย ได้มีการพูดคุยกันระหว่างกันและกันเพื่อปรับทัศนคติต่อกันหลังจบการทดลองผู้ร่วมทดลองทุกคนก็แยกย้ายกันมีบางส่วนได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการทดลองและฟิลิปได้เขียนหนังสือชื่อ “The Lucifer effect”ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการทดลองนี้อีกด้วย

ซึ่งสุดท้ายนี้ ความรู้สึกของมนุษย์มีอารมณ์หลากหลายและแสดงถึงความรู้สึกดิบของตนเมื่อสิ่งแวดล้อมมีแรงกดดัน นั้นหมายความว่ามนุษย์มีความอ่อนไหวสูงมาก ไม่ว่าจะใครก็ตามย่อมมีความรู้สึกแท้จริงให้เห็นเมื่อยามที่สิ้นหวังที่สุด จะเป็นคนฉลาด ไหวพริบดีหรือเก่งรอบด้าน ก็ล้วนมีความรู้สึกดิบของตนทั้งนั้น จากการทดลองนี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงสถานการณ์เลวร้ายต่อความมืดมิดในจิตใจของมนุษย์สามารถมีอิทธิพลเปลี่ยนคนดีเป็นคนที่ร้ายได้เช่นกัน  เพราะฉะนั้นไม่ว่าคนเราจะอยู่ที่ไหนหากมีความยึดมั่นในคุณความดีอย่างแรงกล้าและมีสติกับสถานการณ์หรือสิ่งเลวร้ายเพียงใด ก็จะแปรรูปผลลัทธ์นั้นได้อย่างแน่นอน


อ้างอิง

สุปราณี สนธิรัตน์ และคณะ. จิตวิทยาทัวไป. กรุงเทพฯ : เนติกุลการพิมพ์, 2537.

Stanford University.(1999). Stanford Prison Experiment .Retrieved 27 March 2016, from http://www.prisonexp.org/

นิติจิตวิทยา. stanford prison experiment งานวิจัยจิตวิทยาผิดจรรยาบรรณ.(ออนไลน์).สืบค้นเมื่อ 27 มีนาคม 2559, จาก http://pantip.com/topic/32483707


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น