ย้อนรอยประวัติสะพานข้ามแม่น้ำแคว

โดย ศรายุทธ เกียรติศิริกุล

“สงคราม” เป็นคำที่มนุษย์ใช้เรียกในยามที่เกิดความขัดแย้งต่อกัน โดยใช้กำลัง อาวุธ และยุทโธปกรณ์ต่างๆในการแก้ไขปัญหา โดยเมื่อหลักการเจรจาอย่างสันตินั้นไม่เป็นผล หรือไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้ การเกิดสงครามนั้นจะส่งผลกระทบในด้านต่างๆ อาทิเช่น เศรษฐกิจ การสูญเสียจำนวนประชากร หรือ การแลกเปลี่ยน ทางวัฒนธรรม ต่อประเทศคู่สงคราม และประเทศรอบข้างหรือใกล้เคียงที่อาจอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งประเทศไทยก็นับเป็นหนึ่งในจุดยุทศาสตร์สำคัญในการเดินทางของ กองทัพญี่ปุ่น โดยสร้างเป็นทางรถไฟเพื่อเชื่อมต่อเส้นทางไปสู่ประเทศพม่าในสงครามโลกครั้งที่ 2 การสร้างทางรถไฟในครั้งนั้นทำให้เกิดสะพานข้ามแม่น้ำแควขึ้น ซึ่งเป็นทั้งอนุสรณ์สถานสำคัญที่ถูกยกย่องให้เป็นสัญลักษณ์แห่งสันติภาพ และในอีกแง่มุมหนึ่งก็เป็นอนุสรณ์แห่งความโหดร้ายทารุณและความเศร้าสลดต่อการสูญเสียของเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2



ประวัติสะพานข้ามแม่น้ำแคว

สะพานข้ามแม่น้ำแควตั้งอยู่ในตำบลท่ามะขาม อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เป็นสะพานข้ามทางรถไฟที่เชื่อมต่อกับทางรถไฟสายมรณะ โดยมีจุดเริ่มต้นจากสถานีหนองปลาดุก อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรีและทอดยาวผ่านจังหวัดกาญจนบุรี ผ่านด่านเจดีย์สามองค์ ชายแดนไทย-พม่า ไปสู่เมืองตันบีอูซายัด ในประเทศพม่า เส้นทางสายนี้กองทัพญี่ปุ่นได้พิจารณาไตร่ตรองและคัดเลือกจากเส้นการเดินทางจากทั้งหมดแปดสาย โดยศึกษาประวัติศาสตร์การเดินทัพของไทย-พม่าในอดีต มีวัตถุประสงค์เพื่อหลีกเลี่ยงการลำเลียงอาวุธทางเรือที่มีความเสี่ยงต่อการโจมตีของฝ่ายสัมพันธมิตรและลดระยะทางในการเดินทางและการก่อสร้างทางรถไฟ

การสร้างสะพาน

สะพานข้ามแม่น้ำแควเริ่มต้นก่อสร้างในเดือนตุลาคม พ.ศ.2485-2486 ในระยะแรกเริ่มกองทัพญี่ปุ่นได้วางแผนที่จะสร้างสะพานบริเวณแม่น้ำแม่กลองอันมีแม่น้ำแควน้อยและแม่น้ำแควใหญ่มาบรรจบกัน แต่เนื่องด้วยบริเวณตัวเมืองนั้น มีดินที่มีสภาพอ่อนตัวและเป็นจุดที่มีขนาดความกว้างของแม่น้ำอยู่มาก กองทัพญี่ปุ่นจึงสร้างทางรถไฟให้เลยขึ้นผ่านทางท่ามะขาม ซึ่งเป็นบริเวณที่แม่น้ำแควใหญ่ไหลผ่าน สะพานชั่วคราวถูกสร้างด้วยไม้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลำเลียงสัมภาระ อาหาร ยารักษา และยุทธปัจจัยต่างๆที่จำเป็นต่อกองทัพและเชลยศึก โดยใช้เวลาการสร้างแล้วเสร็จประมาณ 3 เดือน ต่อมาได้มีการสร้างสะพานเหล็กถาวร ซึ่งห่างจากสะพานไม้เดิม100 เมตร และได้กลายมาเป็นที่ตั้งของสะพานข้ามแม่น้ำแควในปัจจุบัน

 ตัวสะพานข้ามแม่น้ำแควแบบถาวรมีความยาวทั้งหมด 300 เมตร ประกอบไปด้วยคานสะพานเหล็กจำนวน 11คาน ซึ่งเหล็กที่ใช้นั้นได้นำเข้ามาจากมลายู โดยลำเลียงผ่านทางเรือเข้ามาสู่แม่น้ำแม่กลองจนถึงแม่น้ำแควใหญ่ ส่วนตัวเสาสะพานสร้างด้วยคอนกรีตรับน้ำหนัก วัสดุที่ใช้สร้างสะพานนำเข้ามาจากชวา การสร้างล้วนแต่ใช้แรงงานจากเชลยศึก โดยเปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2486 และสะพานแห่งนี้เป็นสะพานเหล็กเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยที่ญี่ปุ่นได้สร้างไว้


ที่มา: http://www.sarakadee.com/

ชีวิตเชลยศึก กับความโหดร้ายทารุณ

เชลยศึกที่ถูกเกณฑ์แรงงานมาก่อสร้างทางรถไฟสายมรณะและสะพานข้ามแม่น้ำแคว ส่วนหนึ่งเป็นทหารอังกฤษที่ประจำอยู่ที่ท่ามะขาม เชลยฝ่ายสัมพันธมิตรที่จับได้จากการรบในเอเชียแปซิฟิก อเมริกัน ออสเตรเลีย ออลันดา และนิวซีแลนด์ ประมาณ 61,700 คน และกรรมกรชาวจีน ยวน ชวา มลายู ไทย อินเดีย และพม่าจำนวนมาก ซึ่งในการสร้างสะพานนั้นมีความลำบากยากเข็ญเป็นอย่างมาก เชลยศึกต้องลงไปอยู่ในน้ำที่มีความลึกและเชี่ยวกรากเป็นอย่างมากเพื่อก่อสร้างสะพานเป็นระยะเวลานาน ซึ่งสภาพอากาศในพื้นที่นั้น กลางวันจะมีสภาพอากาศที่ร้อนจัด ส่วนตอนกลางคืนก็จะหนาวเย็น เมื่อทางกองทัพเร่งกำหนดการสร้างให้แล้วเสร็จเร็วขึ้น เชลยศึกจึงต้องทำงานทั้งกลางวันและกลางคืนผลัดกัน 24 ชั่วโมง บางวันก็ไม่หยุดพัก รวมถึงการขาดแคลนอาหารและยารักษาโรค เนื่องจากบริเวณที่ก่อสร้างนั้นอยู่ในถิ่นทุรกันดารและเต็มไปด้วยสัตว์ร้ายนานาชนิด ทำให้เกิดการล้มตายของเชลยศึกตลอดเวลาดั่งคำเปรียบเทียบที่ว่า “หนึ่งชีวิตเท่ากับหนึ่งไม้หมอนรถไฟ”

โรงนอนของเชลยศึกต้องสร้างด้วยพละกำลังของเชลยศึกเอง โดยมีเพียงไม้ไผ่ทำเป็นแคร่นอนเบียดเสียดกัน ไม่มีทั้งเครื่องนุ่งห่ม ไม่มีการแจกจ่ายเครื่องหลับนอนหรือหมอนมุ้ง มีเพียงแต่สิ่งที่ตนเองได้นำติดตัวมาเท่านั้น และมีการเกิดโรคระบาดร้ายแรงติดต่อกัน โดยเฉพาะโรคมาลาเลียที่ติดต่อกันอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในโรงนอน ซึ่งไม่มียารักษาเฉพาะ และอหิวาตกโรค หรือ ที่เรียกว่า “โรคห่า” เนื่องจากน้ำดื่มกินของเชลยศึกนั้นต้องใช้น้ำในแม่น้ำแควเป็นหลักในการดำรงชีพ ซึ่งเป็นบริเวณเดียวกับที่ทหารญี่ปุ่นโยนศพที่ติดเชื้อโรคอหิวาลงแม่น้ำ จึงเกิดเป็นจักรของโรคร้ายต่างๆนาๆ และเกิดการล้มตายมากขึ้นทุกวัน


ที่มา: https://th.wikipedia.org/

นายบุญผ่อง  สิริเวชพันธ์ 

วีรบุรุษคนไทย ผู้ช่วยชีวิตเชลยศึกในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ได้รับการยกย่องนับถืออย่างมาก ก็คือ นายบุญผ่อง สิริเวชพันธ์  ท่านเป็นนายกเทศมนตรีและพ่อค้าไทย ณ.ตำบล ปากแพรก อำเภอ เมืองกาญจน์ จังหวัด กาญจนบุรี ได้รับสัมปทานในการส่งอาหารให้แก่แคมป์เชลยศึกของกองทัพญี่ปุ่น ท่านรับรู้ถึงความยากลำบากของเชลยศึก จึงให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ ทั้งเรื่องเสบียงอาหาร หรือ แบตเตอรี่ โดยเฉพาะยารักษาโรคที่ซ่อนอยู่ด้วยวิธีการหลากหลายรูปแบบอาทิเช่น ซ่อนยาในหัวกะหล่ำ บุหรี่  กระป่องนม หรือ ตามตัว ให้แก่  “ พันโท อี.อี. เวียรี ดันลอป” นายแพทย์ชาวออสเตรเลีย จากการช่วยเหลือของนายบุญผ่องนั้นทำให้สามารถช่วยเหลือชีวิตของเชลยศึกได้นับร้อยนับพันชีวิต

เหตุการณ์การทิ้งระเบิด

ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2487 สะพานข้ามแม่น้ำแควถูกฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตี โดยได้มีการทิ้งระเบิดอย่างหนักและต่อเนื่องกันหลายสิบครั้ง  จนในที่สุดสะพานข้ามแม่น้ำแควก็ได้พังลงและเกิดความเสียหายอย่างหนักในช่วงที่ 4-6 ของตัวสะพานและไม่สามารถใช้การได้ จนกระทั่งภายหลังสงครามสิ้นสุดลง รัฐบาลไทยได้ทำการซ่อมแซมใหม่และใช้งานได้ดังเดิมเมื่อปี พ.ศ.2489

สงครามในอดีตเป็นบทเรียนชั้นเลิศที่สอนให้บรรพชนรุ่นหลังได้เรียนรู้และตระหนักถึงความโหดร้าย และความทารุณที่เกิดขึ้นจากฝีมือมนุษย์ ความขัดแย้งจากสงครามย่อมส่งผลให้เกิดความสูญเสียเรื่อยมา วิบากกรรมของเชลยศึกในทางรถไฟสายมรณะนั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน และยังเป็นแบบอย่างสำคัญที่ทำให้เห็นถึงการสร้างมิตรไมตรี ความมีน้ำใจของเพื่อนมนุษย์ โดยไม่มีเรื่องสัญชาติ เผ่าพันธุ์ หรือภาษามาเกี่ยวข้อง ดั่งเช่น นายบุญผ่อง  สิริเวชพันธ์ ให้ความช่วยเหลือแก่เชลยศึก โดยที่ตนเองนั้นไม่ได้รับผลประโยชน์แต่อย่างใด เพียงเพื่อต้องการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้หลุดจากความทารุณและความโหดร้ายจากสงคราม  จึงเห็นได้ว่าการที่พยายามหาทางออกด้วยกำลังนั้น ล้วนแต่เกิดความสูญเสีย แต่หากลองเปิดใจหันหน้าเข้าหากัน ยอมรับความคิดบนพื้นฐานแห่งความเท่าเทียมของการเป็นมนุษย์ ก็จะสามารถร่วมกันสร้างประตูทางออกที่มีแต่ความสันติสุขร่วมกันได้


อ้างอิง

กลุ่มงานข้อมูลสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานจังหวัดกาญจนบุรี ๒๕๕๖. ประวัติความเป็นมา (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๙, จาก : http://www.kanchanaburi.go.th/au/sapanfestival2556/history.php.

วันชัย ตัน. ๒๕๕๖. บุญผ่อง สิริเวชพันธ์ “หนี้ที่ใช้คืนไม่หมด” (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๙, จาก : http://www.sarakadee.com/blog/oneton/?p=1338.

สงศักดิ์ ๒๕๕๑. ประวัติรถไฟสายมรณะ (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๙, จาก : http://allknowledges.tripod.com/deadrailway.html

Amazing Thailand ๒๕๕๙. สะพานข้ามแม่น้ำแคว (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๙, จาก : http://www.kanchanaburi-info.com/th/muang.html

Paiduaykan.com ๒๕๕๑. ทางรถไฟสายมรณะ (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๙, จาก : http://www.paiduaykan.com/province/central/kanjanaburi/railway.html

Yuttachai Supkham ๒๕๕๕. ประวัติสะพานข้ามแม่น้ำแคว (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๙, จาก : https://sites.google.com/site/yuttachaisupkham2/2

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น