สนธิสัญญาแวร์ซายส์ (The Treaty of Versailles)

โดย เนติกร  สุทธิประภา

เป็นสนธิสัญญาสันติภาพ ที่ทำขึ้น ณ พระราชวังแวร์ซายส์ ประเทศฝรั่งเศส หลังจากที่เยอรมนีพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ข้อตกลงสงบศึกได้ถูกลงนามในวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918 อย่างไรก็ตาม ฝ่ายสัมพันธมิตรและประเทศเยอรมันยังต้องใช้เวลาหลังจากนั้นถึงกว่าครึ่งปี จึงจะสามารถตกลงกันและยุติสภาวะสงครามอย่างเป็นทางการได้

การเจรจาเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 18 มกราคม ค.ศ.1919 ในกรุงปารีส ในขั้นต้น มี 27 ประเทศในกลุ่มสัมพันธมิตรเข้าร่วมในการเจรจานี้ ซึ่งหนึ่งในประเทศสำคัญที่ไม่ได้เข้าร่วมคือประเทศรัสเซีย เนื่องจากได้ลงนามในสนธิสัญญาอีกฉบับกับเยอรมนีไปแล้วก่อนหน้านั้นหนึ่งปี ส่วนประเทศเยอรมนีและประเทศที่เพิ่งแตกตัวออกมาจากจักรวรรดิเดิมอย่างประเทศออสเตรีย และประเทศฮังการีนั้นไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วม เนื่องจากเป็นหมู่ประเทศผู้แพ้สงคราม

ผู้ชนะในสงครามครั้งนี้คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศอังกฤษ ประเทศฝรั่งเศส ประเทศญี่ปุ่น และประเทศอิตาลี ดังนั้นห้าประเทศดังกล่าวจึงรับผิดชอบในการร่างส่วนที่สำคัญที่สุดของสนธิสัญญา อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนการร่างสนธิสัญญานั้นเป็นไปอย่างเชื่องช้าและยากลำบาก เนื่องจากแต่ละประเทศต่างก็จุดมุ่งหมายของตัวเอง ผู้แทนจากประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกที่ถอนตัว จากนั้นประเทศอิตาลีจึงถอนตัวจากการเจรจาเป็นอันดับต่อมา เนื่องจากการอ้างสิทธิ์ครอบครองดินแดนใน “แคว้นฟิวเม่” (Fiume Region) ของอิตาลีถูกปฏิเสธ ประเทศที่ยังคงเหลืออยู่ในตอนนี้คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศอังกฤษ และประเทศฝรั่งเศส ซึ่งถึงแม้จะมีจุดประสงค์ที่ขัดแย้งกัน แต่ในที่สุด ทั้งสามประเทศก็ตกลงเนื้อหาในสนธิสัญญาได้ในวันที่ 28 มิถุนายน หลายคนเห็นว่าบทลงโทษที่กำหนดรุนแรงเกินไป ในขณะที่อีกหลายคนบอกว่ายังเบาไป แต่ไม่ว่าจะเป็นทางไหน สนธิสัญญาแวร์ซายส์ก็มีเนื้อหาบีบให้ประเทศเยอรมนีเป็นฝ่ายยอมรับผิดในฐานะผู้ก่อสงครามแต่เพียงผู้เดียว กล่าวคือ เยอรมนีจำต้องชดใช้ค่า “ปฏิกรรมสงคราม” (War Reparation) เป็นเงินถึงสามหมื่นสองพันล้านดอลลาร์ในสมัยนั้น ซึ่งเทียบเป็นเงินประมาณสามแสนเก้าหมื่นสามพันล้านในปัจจุบัน

ยิ่งไปกว่านั้น เศรษฐกิจหลังสงครามของเยอรมนีก็อยู่ในสภาพที่สับสนยุ่งเหยิงอยู่แล้ว ด้วยเหตุนี้ การชดใช้ส่วนใหญ่จึงจำต้องมาในรูปแบบทรัพยากร เช่น ถ่านหิน เหล็ก และผลิตผลทางการเกษตรแทนการชดใช้ด้วยเงินตรา เยอรมนียังถูกบีบให้ยอมเสียดินแดนขนาดใหญ่ของประเทศไป และต้องสละการปกครองเหนือประเทศอาณานิคมทั้งหมดด้วย หลายฝ่ายไม่พอใจสนธิสัญญานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยอรมนีเอง ซึ่งได้ปฏิเสธการลงนามในสนธิสัญญาในตอนแรก โดยกล่าวว่าเนื้อหาใน“อนุประโยคความผิดในอาชญากรรมสงคราม” (War Guilt Clause) นั้นเป็นการทำให้ตน “เสื่อมเสียเกียรติยศ” (Violation of Honor) อย่างไรก็ตาม เยอรมนีไม่ได้รับทางเลือกอย่างอื่น และสุดท้าย ภายใต้การนำของรัฐบาลใหม่ เยอรมนีก็จำต้องยอมลงนามในสนธิสัญญา  

มีคนมากมายลงความเห็นว่า การที่ประชาชนชาวเยอรมันไม่ให้การสนับสนุนสงครามครั้งนี้ ก็คล้ายกับเป็นการหักหลังประเทศของตัวเอง และชาวยิวในประเทศก็เป็นกลุ่มคนที่ถูกกล่าวโทษเป็นส่วนใหญ่ หลายคนอ้างว่าชาวยิวนี่เองเป็นผู้ที่ขายเยอรมนีให้กลุ่มชาติสัมพันธมิตร“แนวคิดการลอบแทงข้างหลัง” (The Stab-in-the-back Legend) นี้เป็นชิ้นส่วนสำคัญที่ทำให้ “พรรคนาซี” (The Nazi Party) รุ่งเรือง และทำให้ “อดอล์ฟ ฮิตเลอร์” (Adolf Hitler) ขึ้นมามีอำนาจในเยอรมนีในช่วงระยะเวลาหลายปีหลังจากนั้น

ตอนที่ลงนามนั้น มีหลายคนเชื่อว่าสนธิสัญญานี้ไม่อาจทำให้เยอรมันสงบหรืออ่อนแอลงได้อย่างถาวร ด้วยเหตุนี้จึงคาดกันว่าสนธิสัญญาแวร์ซายส์จะต้องนำมาซึ่งความขัดแย้งอื่นๆในอนาคต เฟอร์ดินานด์ ฟอช (Ferdinand Foch) ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของประเทศฝรั่งเศสในขณะนั้น ได้กล่าวคำพูดที่โด่งดังเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “นี่มิใช่สันติภาพ แต่เป็นสัญญาพักรบที่มีอายุยี่สิบปีเท่านั้น” (“This is not peace.  It is an armistice for twenty years.”)

และก็เป็นไปตามคำกล่าวของ เฟอร์ดินานด์ ฟอช เมื่อสนธิสัญญาดังกล่าวมีเงื่อนไขและความไม่ยุติธรรมต่อประเทศผู้แพ้สงคราม ส่งผลให้เกิดลัทธิชาตินิยมต่างๆนานา ผนวกกับความอ่อนแอขององค์การสันนิบาตชาติ และอีกหลายๆประการ ทำให้สนธิสัญญานี้เป็นเหมือนสัญญาพักรบ เมื่อสิ้นสัญญายี่สิบปีก็ได้เกิดมหาสงครามขึ้นอีกครั้ง นั่นก็คือ สงครามโลกครั้งที่ 2(World War II) นั่นเอง

อ้างอิง                                                                                                                                                                    
สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ตอนที่ 4: สนธิสัญญาแวร์ซายส์.สืบค้นเมื่อ 4 มีนาคม 2557.จาก http://www.trueplookpanya.com/true/knowledge_youtube.php?youtube_id=189                                              
มหาสงครามโลกครั้งที่ 2.สืบค้นเมื่อ 4 มีนาคม 2557.จาก http://www.baanjomyut.com/library_2/world_war_2/01.html


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น