กระบวนการของการฟื้นฟูศิลปวิทยาการ

โดย วิชุดา พรพยุหะ

กระบวนการของการฟื้นฟูศิลปวิทยการนั้นเริ่มต้นด้วยความสนใจ ตื่นตัวที่จะศึกษาภาษาโบราณต่างๆ ได้แก่ กรีก ละติน และฮิบรู บรรดาพวกนักมนุษยศาสตร์ส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนยุโรปหันมาสนใจภาษาโบราณแล้วยังกระตุ้นให้พวกเขาได้สนใจในภาษาท้องถิ่นของตัวเองด้วย มีการคิดประดิษฐ์เครื่องพิมพ์ชนิดแท่นเคลื่อนที่ได้ (movable type) โดยนักคิดชาวเยอรมันชื่อ โยฮัน กูเตนเบอร์ก เครื่องพิมพ์ชนิดนี้ พิมพ์ได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ทำให้ความรู้ทางศิลปะวิทยาการต่างๆเผยแพร่ออกไปได้อย่างรวดเร็ว

แนวคิดของประชาชนนั้นมีเหตุผล ไม่งมงาย หรือถูกครอบงำโดยความเชื่อทางศาสนาแบบลืมหูลืมตาไม่ขึ้นดังเช่นในยุคกลางอีกต่อไป จนเกิดมีการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆตามมา ไม่ว่าจะเป็นด้าน ภาษา วรรณกรรม ศิลปกรรม วิทยาศาสตร์ การดนตรีและนาฏกรรม และการค้นพบทางด้านภูมิศาสตร์

ด้านภาษา ชาวยุโรปหันมาสนใจใช้ภาษาถิ่นของตนเองมากยิ่งขึ้น แทนที่จะใช้ภาษาลาตินเป็นภาษาทางการเพียงภาษาเดียวเช่นสมัยก่อน ภาษาถิ่นที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาใช้อย่างเป็นระบบ ได้แก่ภาษาอังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส สเปน โปรตุเกส และอิตาเลียน  ภายหลังมีการใช้ภาษาถิ่นมากขึ้น ภาษาละตินก็ถูกลดความสำคัญลง

ด้านวรรณกรรม จากที่เคยอิงอยู่กับศาสนา มาเป็นการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ หรือไม่ก็เป็นการแสดงออกซึ่งอารมณ์ ความรู้ศึกซาบซึ้งในความงดงามของสิ่งธรรมชาติทั้งหลาย ละเมียดละไม มีความไพเราะมากยิ่งขึ้น แสดงความเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น

ด้านวิทยาศาสตร์

มีนักคิดประดิษฐ์ผู้ซึ่งค้นพบหลักทฤษฏีและสิ่งประดิษฐ์แปลกๆใหม่ๆเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก

คอเปอร์นีคัส (Copernicus) นักวิทยาศาสตร์ชาวโปแลนด์ ค้นพบทฤษฏีเกี่ยวกับสุริยจักรวาลใหม่ขึ้นมาที่มีชื่อว่า ทฤษฏีเฮลโอเซนตริก (Heliocentric Theory) โดยกล่าวว่าดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของจักรวาลไม่ใช่โลก

กาลิเลโอ (Galileo)นักวิทยาศาสตร์และนักประดิษฐ์ชาวอิตาเลียน ประดิษฐ์กล้องโทรทัศน์ขึ้นมาเพื่อพิสูจน์ว่าโลกมีสัณฐานกลม

เซอร์อแซค นิวตัน (Sir Isaac Newton) นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษซึ่งค้นพบกฎของแรงโน้มถ่วง (Law of Gravitation)

ทางด้านดนตรีและนาฏกรรม เกี่ยวพันกับศาสนาอยู่มากเพราะว่าเพลงส่วนใหญ่ยังเป็นเพลงที่ร้องหรือบรรเลงในโบสถ์ มีการคิดประดิษฐ์เครื่องดนตรีแปลกๆใหม่ๆเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสาย ได้แก่ พวกเครื่องดนตรีต้นแบบของไวโอลิน เปียโน และออร์แกน

ด้านนาฏกรรม ในยุคนี้ สะท้อนให้เห็นลักษณะของการฟื้นฟูศิลปวิทยา ลักษณะนั้นก็คือการพยายามรื้อฟื้นผลงานในยุคคลาสสิคมาแสดงกันในรูปแบบของอุปรากร(Opera) เรื่องที่เป็นที่นิยมกันมากก็คือ ตำนานของยูรีไคส (Eurydice)

การค้นพบทางภูมิศาสตร์ ประการแรกก็คือความรู้สึกท้าทายอันเกิดจากแนวความคิดและสิ่งประดิษฐ์ที่ค้นพบใหม่ เป็นต้นว่า แนวความคิดที่ว่าโลกกลม การคิดประดิษฐ์เข็มทิศ เครื่องบอกระยะรุ้ง แวง หรือ ละติจูด ลองจิจูด ซึ่งมีประโยชน์ต่อการเดินเรือ สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ความต้องการสินค้าจากทางตะวันออกหรือเอเชียในปริมาณที่มากขึ้น  ทำให้พบดินแดนต่างๆอย่างมากมาย คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus) ชาวสเปน ผู้เดินทางไปถึงทวีปอเมริกาคนแรกแห่งยุคโดยบังเอิญ ทั้งที่จริงเขาตั้งใจจะไปทวีปเอเชีย เลยทำให้สเปนกลายเป็นผู้บุกเบิกทวีปอเมริดา และดินแดนในภูมิภาคแถบนี้ไว้ครอบครองอย่างมากมายมหาศาล ถึงแม้ว่าการตื่นตัวในการสำรวจทางทะเลจะก่อให้เกิดความขัดแย้งกันเรื่องผลประโยชน์ แต่ผลที่ตามมามีประโยชน์ต่อมวลมนุษย์อย่างมาก ทำให้เกิดเส้นทางการค้าใหม่เกิดขึ้น คือ เส้นทางมหาสมุทรแอตแลนติก

โดยสรุปทั่วๆไปแล้ว การฟื้นฟูศิลปวิทยาที่เกิดขึ้นในยุโรป ในช่วง คริสศตวรรษที่ 15-18 นั้นยังผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปจากความคิดที่เชื่องมงาย มาเป็นความก้าวหน้าเป็นอิสระ กล้าคิดกล้าทำ ยังผลให้เกิดการคิดประดิษฐ์และการค้นพบที่สำคัญต่างๆ ทำให้สภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวยุโรปเปลี่ยนแปลงตามไปด้วยเป็นอันมาก

ผลงานที่โดเด่นในสมัยฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ ได้แก่ วรรณกรรมและศิลปกรรม

ด้านวรรณกรรม ผู้บุกเบิกแนวคิดด้านมนุษย์นิยมในแหลมอิตาลีคือ เพราช (Petrarch) ซึ่งรับรูปแบบจากวรรณกรรมโรมันและถ่ายทอดเป็นผลงานประเภทกวีนิพนธ์ที่มีอิทธิพลต่อความคิดของนักมนุษย์นิยมรุ่นต่อมา ส่วนนักเขียนที่มีชื่อเสียงที่สุดในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการของแหลมอิตาลี คือ มาคิอาเวลลี (Machiavelli) ผลงานที่สำคัญของเขาคือหนังสือเรื่อง The Prince ซึ่งสะท้อนแนวคิดในการบริหารและการปกครอง ที่เน้นด้านปฏิบัติมากกว่าอุดมการณ์ของผู้ปกครอง นอกจากนี้ นอกแหลมอิตาลีก็มีนักมนุษย์นิยมที่มีผลงานโดเด่นได้แก่ อีรัสมัส (Erasmus)  ชาวเนเธอร์แลนด์ ซึ่งประยุกต์แนวคิดแบบกรีกและโรมันในการวิเคราะห์คัมภีร์ไบเบิล โดยใช้หลักเหตุผลประกอบความศรัทธาในศาสนาแทนความเชื่อแบบงมงาย และนักมนุษย์นิยมชาวอังกฤษชื่อ เซอร์ ทอมัส มอร์ (Sir Thomas More) เขียนหนังสือเกี่ยวกับรัฐในอุดมคติชื่อ Utopia (ยูโทเปีย) ซึ่งมีชื่อเสียงแพร่หลายจนกระทั่งปัจจุบันและคำว่า “ยูโทเปีย” ได้กลายเป็นคำศัพท์ที่หมายถึงรัฐในอุดมคติ

ด้านศิลปกรรม ศิลปกรรมที่โดดเด่นในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการ ได้แก่ ผลงานด้านจิตรกรรม ซึ่งเริ่มในแหลมอิตาลีก่อนแพร่หลายไปในดินแดนอื่น ลักษณะเด่นของงานจิตรกรรมสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการ ได้แก่ การสะท้อนลักษณะที่เหมือนจริงทั้งมนุษย์และธรรมชาติ จิตรกรอิตาลีที่มีชื่อเสียงในสมัยนี้ เช่น เลโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo da Vinci) หรือไมเคิลแองเจโล (Michelangelo)  ผลงานจิตรกรรมที่โดดเด่น ได้แก่ จิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับการสร้างโลกบนเพดานของวิหารน้อยซิสตีน  ในนครวาติกัน และราฟาเอล ซาานซิโอ (Raphael Sanzio) ซึ่งวาดภาพ “School of Athens” บนฝาผนังห้องสมุดของสันตะปาปา

นอกจากนี้ในแคว้นแฟลนเดอร์ยังมีผลงานจิตรกรรมของกลุ่ม “เฟลมิส” (Flemish) ซึ่งได้รับอิทธิพลจากผลงานของจิตรกรในแหลมอิตาลี ลักษณะเด่นของงานจิตรกรในแหลมอิตาลี ลักษณะเด่นของงานจิตรกรรมแบบเฟลมิสคือ การวาดภาพสีน้ำมันบนผืนผ้าใบที่สะท้อนทิวทัศน์และวิถีชีวิตของชนบท อนึ่ง ในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการนี้ จิตรกรชาวเยอรมันได้คิดค้นวิธีทำภาพพิมพ์ และมีการทำภาพพิมพ์ประกอบในหนังสือ


อ้างอิง

ยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ "Renaissance" | History_Southeast Asia. (2012) สืบค้นเมื่อ 31 มกราคม พ.ศ.2557, จาก http://history-ofthailand.blogspot.com/2012/07/renaissance.html

การฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ (Renaissance) | HISTORY. (2013) สืบค้นเมื่อ 31 มกราคม พ.ศ.2557, จาก
http://metricsyst.wordpress.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น