คาซัคสถาน (Kazakhstan) ประเทศหลังม่านเหล็ก

โดย กนกวรรณ ทองเกษม

มิคาอิล กอร์บาชอฟ ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำสหภาพโซเวียตในปีค.ศ. 1985 เขาได้ประกาศนโยบายปฏิรูป “กลาสนอสต์ และเปเรสตรอยก้า” ซึ่งทำให้สหภาพโซเวียตล่มสลายลงในวันที่ 26 ธันวาคมปี ค.ศ. 1991 หลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลายลงไป มีประเทศเกิดใหม่ 15 สาธารณรัฐ และ คาซัคสถาน (Kazakhstan) เป็น 1 ใน 5 ประเทศในกลุ่ม “สถาน” ที่แยกตัวออกมา

ที่มา: http://adevarul2012.blogspot.com/
คำว่า “สถาน” ในรากศัพท์ภาษาตระกูลอินโด-ยูโรเปียน และภาษาเปอร์เชียน หมายถึง ค่าย หรือปัจจุบันก็คือ หมู่บ้านหรือประเทศ ส่วนภาษาในตระกูลสลาวิก (Slavic) คำว่า สถาน หรือ สตาน (Ctan/ CTAH) ได้ให้ความหมายอย่างเดียวกัน หมายถึง หน่วยการปกครองดินแดนของแต่ละท้องที่ในสมัยจักรวรรดิรัสเซียเรืองอำนาจ

คาซัคสถานในอดีต คือ ดินแดนที่เต็มไปด้วยชนเผ่า นอร์มาดิค ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางทุ่งหญ้าสเต็ปป์ (Steppe) อันกว้างใหญ่ควบคู่ไปกับการล่าสัตว์ แต่ละเผ่าจะคงความเป็นเอกเทศไม่ขึ้นกับเผ่าอื่นๆ โดยในช่วงประมาณศตวรรษที่ 13 ดินแดนทั้งหมดในบริเวณดังกล่าวถูกปกครองโดยเจงกีสข่าน ต่อมาเมื่อจักรวรรดิรัสเซียเข้ามาในช่วงศตวรรษที่ 18 และตามมาด้วยอิทธิพลของสหภาพโซเวียต คาซัคสถานจึงเปลี่ยนสถานะมาเป็นสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตคาซัคสถาน (The Kazakh Soviet Socialist Republic – Kazakh SSR) นับแต่ปี 1936 เป็นต้นมา

ทุ่งหญ้าสเตปป์ในคาซัคสถาน
ที่มา : https://th.wikipedia.org/
สภาพความเป็นอยู่แบบดั้งเดิมของคนท้องถิ่นได้ถูกแทนที่ด้วยการก้าวเข้าสู่กระบวนการผลิตเพื่อการเกษตรและอุตสาหกรรม ขณะที่อำนาจการปกครองของแต่ละเผ่าพันธุ์ถูกตัดทอนลงให้ทุกคนมีฐานะเท่าเทียมกัน อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของแต่ละเผ่าจึงถูกแทนที่ด้วยอุดมคติความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ภายใต้นโยบาย Virgin Lands Campaign ของสหภาพโซเวียตที่พยายามสร้างความเป็นรัสเซียให้กับคนคาซัค

นับจากช่วงปี 1954 คาซัคสถานจึงเริ่มปะปนไปด้วยคนโซเวียตหลายชาติพันธุ์ เช่น เยอรมัน เชชเชน ตาต้าร์ คาลมิค เป็นต้น และกลุ่มชาติพันธุ์อื่นที่ถูกเนรเทศเข้ามาในค่ายกักกันแรงงานในหลายเมือง ส่วนคนรัสเซียได้กลายเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่มีอิทธิพลในทุกด้านของประเทศ ปัจจุบันสาธารณรัฐคาซัคสถานมีประชากรจำนวน 17.7 ล้านคน (ข้อมูลปีค.ศ. 2015) โดยประชากรส่วนใหญ่ของประเทศเป็นประชากรเชื้อสายคาซัค

ที่มา: https://sites.google.com/
ในปัจจุบันสาธารณรัฐคาซัคสถานตั้งอยู่ในเขตเอเชียกลาง ทางตอนกลางของที่ราบยูเรเซีย ระหว่างประเทศรัสเซียและอุซเบกิสถาน โดยทิศตะวันออกติดกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ทิศตะวันตกติดทะเลสาบแคสเปียน ทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดสาธารณรัฐคีร์กีซ และทิศตะวันตกเฉียงใต้ติดกับเติร์กเมนิสถาน เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล มีพื้นที่ 2,717,300 ตารางกิโลเมตร

เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ. 1998 รัฐบาลคาซัคสถานได้ทำการย้ายเมืองหลวงจากอัลมาตีไปยังกรุงอัสตานา เนื่องจากประธานาธิบดี นูร์ซุลตาน นาซาร์บาเยฟ เห็นว่าที่ตั้งของอัลมาตีอยู่ติดชายแดนทางใต้มากเกินไป และอยู่ในแนวแผ่นดินไหว ต่างกับอัสตานาที่เป็นที่ราบ สามารถขยายเมืองออกไปได้เรื่อย ๆ อีกทั้งอัลมาตีเป็นเมืองที่เกิดในยุคพระเจ้าซาร์ของรัสเซีย ยังมีกลิ่นอายความเป็นรัสเซียสูง การจะสร้างความเป็นอัตลักษณ์ของประเทศจำเป็นต้องหลุดพ้นออกจากความเป็นรัสเซียให้ได้ ส่วนคำว่า “อัสตานา” เป็นภาษาคาซัค แปลว่า “เมืองหลวง”

สาธารณรัฐคาซัคสถานมีระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นประมุข (Presidential Republic) ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดและมีอำนาจยับยั้งกฎหมายที่ได้รับการเห็นชอบจากรัฐสภา มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะรัฐมนตรี และหัวหน้ารัฐบาล คาซัคสถานแบ่งออกเป็น 14 จังหวัด และ 3 เทศบาลนคร โดยทุกจังหวัดจะมีผู้ว่าราชการจังหวัดที่แต่งตั้งโดยประธานาธิบดี

อัสตานา เมืองหลวงของคาซัคสถาน
ที่มา : http://2g.pantip.com/cafe/
คาซัคสถานมีภาษาคาซัคเป็นภาษาประจำชาติ (state language) ตามนโยบายการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของรัฐบาลนายนาซาร์บาเยฟ คือ การส่งเสริมการใช้ภาษาคาซัค ซึ่งเป็นภาษาตระกูล            เตอร์กิค (Turkic) โดยรัฐธรรมนูญฉบับแรกแห่งสาธารณรัฐคาซัคสถานปี 1993 ระบุให้ภาษาคาซัคเป็นภาษาประจำรัฐ (State Language) ขณะที่ภาษารัสเซียยังคงเป็นภาษาทางการที่ใช้ในการสื่อสารระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ (Inter-Ethnic Communication) ส่วนศาสนา ประชากรชาวคาซัคสถานนับถือศาสนาอิสลามมากถึง 70.2% ส่วนใหญ่นับถือนิกายสุหนี่ รองลงมานับถือศาสนาคริสต์นิกายออร์โธดอกซ์ 26.2% และศาสนาอื่น ๆ

โครงสร้างทางเศรษฐกิจของสาธารณรัฐคาซัคสถาน รายได้หลักของประเทศมาจากการส่งออกน้ำมัน อีกทั้งยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ ได้แก่ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ยูเรเนียม โครเมียม เหล็ก ทองแดง ทองคำ และเงิน มีขีดความสามารถทางการเกษตรเนื่องจากมีพื้นที่สำหรับเพาะปลูกและทำปศุสัตว์ที่กว้างขวาง ส่วนหน่วยเงินตราใช้เป็นเทงกี้ หรือ เต็งเง (Kazakhstan Tenge) ทั้งนี้แม้ว่าคาซัคสถานจะเป็นประเทศที่มีความมั่งคั่งที่สุดในภูมิภาคเอเชียกลาง แต่ก็ยังประสบปัญหาช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนเช่นเดียวกันกับอีกหลายๆ ประเทศ

คาซัคสถานเป็นประเทศเกิดใหม่ได้ไม่นานหลังจากโซเวียตล่มสลายในปีค.ศ. 1991 อดีตก่อนที่คาซัคสถานจะถูกโซเวียตเข้าปกครองมีวิถีชีวิตแบบชนเผ่าเร่ร่อนควบคู่ไปกับการเลี้ยงสัตว์ในทุ่งหญ้าสเตปป์ภายหลังเมื่อแยกตัวออกมาเป็นประเทศจึงพยายามสร้างอัตลักษณ์ความเป็นคาซัคออกมา และหนึ่งใน อัตลักษณ์ที่สำคัญ คือ ภาษาคาซัคที่รัฐบาลได้ผลักดันให้ขึ้นมาเป็นภาษาประจำชาติแทนที่ภาษารัสเซีย ส่วนโครงสร้างทางเศรษฐกิจสืบเนื่องมาจากการค้นพบทรัพยากรทางธรรมชาติที่สำคัญมากมายทำให้เศรษฐกิจของคาซัคสถานเจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดด รัฐบาลมีงบประมาณสนับสนุนในการสร้างสิ่งปลูกสร้างมากมายทั้งที่ทำการรัฐบาล กระทรวงและหน่วยงานต่างๆ ทำเนียบประธานาธิบดี หอประชุม โรงละคร อาคารธุรกิจพาณิชย์ และศูนย์การค้าขนาดใหญ่ ซึ่งถูกออกแบบโดยดีไซเนอร์ที่มีชื่อเสียง และมีลักษณะแปลกตาจนเป็น ที่ดึงดูดใจของนักท่องเที่ยว แม้ว่าคาซัคสถานจะจัดตั้งเป็นสาธารณรัฐ มีเอกราชเป็นของตนได้ไม่นาน  แต่ก็สามารถสร้างอัตลักษณ์ความเป็นคาซัคสถาน และพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าทางด้านเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก


อ้างอิง

กุลจิรา ฟองเหม. 2557. คาซัคสถาน : อัตลักษณ์และวัฒนธรรมแห่งชาติ. สืบค้น 9 กันยายน 2560, จาก http://www.thaiworld.org/thn/thailand_monitor/answera.php?question_id=1331

กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา. 2559. สาธารณรัฐคาซัคสถาน. สืบค้น 9 กันยายน 2560, จาก http://www.thaiembassy.org/astana/th/thai-people

Cherokee1 (นามแฝง). 2554. คาซัคสถาน ตอนที่ 2 อัสตานา (Astana) นี่มันดาวดวงไหนกันเนี่ย. สืบค้น 9 กันยายน 2560, จาก http://2g.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E10138761/E10138761.html

Wikitravel. 2017. Kazakhstan. สืบค้น 9 กันยายน 2560, จาก http://wikitravel.org/en/Kazakhstan

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น