คนญี่ปุ่นกับการฆ่าตัวตาย

โดย กิ่งกาญจน์  ปราชญ์กระโทก

หลายท่านคงเคยได้ยินมาบ้างว่าคนญี่ปุ่นนั้นมักฆ่าตัวตายกันบ่อยครั้ง ซึ่งนั่นทำให้สังคมญี่ปุ่นมีภาพลักษณ์ที่น่าอึดอัด เคร่งเครียด และไม่มีการยืดหยุ่นต่อความผิดพลาดใดๆ สิ่งนี้ทำให้เหล่าคนญี่ปุ่นที่ถูกกดดันนั้น จบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย

“เมื่อโลกนี้ไม่น่าอยู่ ก็ขอไปโลกหน้าเสียดีกว่า” 

ที่มา: http://petmaya.com/18-japanese-suicide-facts
ที่กล่าวไปข้างต้นเป็นเพียงสิ่งที่ผู้เขียนจินตนาภาพเอง ไม่ได้ศึกษาข้อมูลอย่างลึกซึ้งในเรื่องนี้มาก่อนแต่อย่างใด ทว่าจากมรสุมชีวิตที่ผ่านเข้ามา ความคิดที่จะจบชีวิตตัวเองก็เข้ามาในหัวให้พอรำคาญใจบ้างเช่นกัน ด้วยความคิดชั่ววูบนั้นทำให้ผู้เขียนคิดอย่างจริงจังว่าแท้จริงแล้วสังคมญี่ปุ่นนั้นเป็นอย่างไร

"จริงหรือไม่ ณ ที่แห่งนั้น ไม่มีที่ว่างสำหรับผู้แพ้ " 

ประชากรญี่ปุ่นมีอยู่ราว 126 ล้านคน (1 เมษายน 2017) โดยการฆ่าตัวตายของผู้ใหญ่นั้น มักมีสาเหตุมาจากเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ความกดดันที่ต้องเลี้ยงดูคนในบ้าน ปัญหาสุขภาพ และการทำงานหนักจนตาย โดยผู้ชายจะฆ่าตัวตายมากกว่าผู้หญิง พวกเขาใช้วิธีต่างๆในการฆ่าตัวตาย เช่น การแขวนคอ

สถานที่ที่คนญี่ปุ่นนิยมไปฆ่าตัวตายคือ “ป่าอะโอกิงะฮะระ” เป็นป่าทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของภูเขาไฟฟูจิ นับตั้งแต่ ค.ศ. 1950 พบศพในป่าแห่งนี้กว่า 500 ศพ เฉลี่ยแล้วมีผู้ฆ่าตัวตายในป่าแห่งนี้ประมาณปีละ 30 ราย ในปี ค.ศ. 2002 พบร่างผู้เสียชีวิต 78 ศพ แม้ว่าในป่าจะมีป้ายทั้งในภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่นที่มีเนื้อหาเกลี้ยกล่อมให้เปลี่ยนใจแล้วก็ตาม


ป่าอะโอกิงะฮะระ

นอกจากการแขวนคอแล้ว ก็ยังมีวิธีอีกมากมายที่ใช้จบชีวิตตัวเอง อย่างเช่น การกินยาฆ่าแมลง และวิธีที่เป็นที่นิยมคือการกระโดดจากชานชะลาให้รถไฟเหยียบ แต่วิธีนี้จะเป็นการผลักภาระให้ครอบครัวที่ยังอยู่ต้องชดใช้หนี้สินแก่บริษัทรถไฟ จึงทำให้การฆ่าตัวตายโดยวิธีนี้ลดลง

ทว่าสิ่งที่น่าตกใจมากกว่านั้น คืออัตราการฆ่าตัวตายของเด็กชาวญี่ปุ่น การกลั่นแกล้งกันในวัยเด็กเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปในประเทศญี่ปุ่น ด้วยสังคมที่เน้นสั่งสอนให้มีความกลมเกลียวและปฏิบัติตัวให้เหมือนกันกัน ทำให้เด็กที่ค่อนข้างพิเศษหรือปรับตัวเข้ากับเพื่อนไม่ได้ถูกกลั่นแกล้งอย่างรุนแรง และปัญหานี้ผู้เป็นครูเองก็ไม่สามารถแก้ไขได้

จากการสอบถามนักศึกษาชาวญี่ปุ่นที่ไม่ประสงค์ออกนาม ทราบว่าในช่วงมัธยมของประเทศญี่ปุ่นนั้นมีการกลั่นแกล้งจริง แต่ที่อาจารย์ไม่เข้าไปห้ามเพราะกลัวอำนาจของเด็กนักเรียนและกลัวตนเองถูกไล่ออก นอกจากการฆ่าตัวตายของเด็กจากการถูกกลั่นแกล้งแล้ว ยังมีอีกหลายสาเหตุ เช่น ปัญหาทางบ้าน (ถูกพ่อแม่ทุบตี) และโรคซึมเศร้า การฆ่าตัวตายในเด็กยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆโดยที่ผู้ปกครองเด็กก็ไม่ทราบและแก้ปัญหาไม่ทัน


ข้อความในสมุดพกที่นักเรียนประถมเขียนว่า
“ผมรู้ว่าผมจะตายที่ไหน”
แต่อาจารย์กลับเขียนด้วยปากกาแดงว่า
“พรุ่งนี้มาสนุกกับกิจกรรมที่โรงเรียนกันเถอะ”
และไม่ได้แจ้งอะไรต่อผู้ปกครอง

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 2017 กรมสาธารณสุขของประเทศญี่ปุ่นได้ออกมาประกาศว่าอัตราการฆ่าตัวตายลดลง เพราะญี่ปุ่นมีการจัดตั้งศูนย์แก้ปัญหาคนคิดสั้นทางโทรศัพท์ คอยให้คำปรึกษาแก่ผู้คน นี่อาจจะเป็นเวลาอันดีของประเทศญี่ปุ่น ที่จะก้าวลงจากบัลลังก์ประเทศที่มีคนฆ่าตัวตายเป็นอันดับต้นๆ ของโลกก็เป็นได้


อ้างอิง

อะโอกิงะฮะระ. สืบค้นเมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2560, จาก : https://th.wikipedia.org/wiki/อะโอะกิงะฮะระ

ตายดีกว่าอยู่ เมื่อการฆ่าตัวตายกลายเป็นเรื่องธรรมดาในญี่ปุ่น. สืบค้นเมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2560, จาก : http://anngle.org/th/news/suicidaljapan.html

คนญี่ปุ่นทำงานหนักจนฆ่าตัวตาย. สืบค้นเมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2560, จาก : http://www.posttoday.com/social/think/459292

รายงานสถิติการฆ่าตัวตายของเด็กญี่ปุ่น. สืบค้นเมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2560, จาก : http://www.marumura.com/japanese-children-suicide/

อัตราการฆ่าตัวตายญี่ปุ่นลดลง. สืบค้นเมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2560, จาก : http://www.tnamcot.com/view/58d3843fe3f8e480f98c8bf8

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น