บุเรงนอง

โดย เจมนุวัน หมื่นศรี

ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์การสู้รบกับพม่ามาอย่างยาวนาน ซึ่งตามหนังสือประวัติศาสตร์เราก็ทราบกันดีว่าสยามเสียเอกราชให้แก่พม่าถึงสองครั้ง แต่ทราบไม่ว่าพม่ามีกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่อยู่หลายพระองค์ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือผู้ที่ทำให้อยุธยาต้องเสียเอกราชเป็นครั้งแรก และทรงปราบกษัตริย์ราชธานีน้อยใหญ่จนได้รับขนานพระนามว่า “ผู้ชนะสิบทิศ”



พระเจ้าบุเรงนองกะยอดินนรธามหาราชาธิราช ประสูตรในวันพุธที่ 3 (เดือนกุมภาพันธ์) ขึ้น 12 ค่ำ พ.ศ. 2058 เดิมมีชื่อว่า “จะเด็ต” เป็นลูกของคนปาดตาล มีนามปรากฎภายหลังเมื่อได้เป็นเจ้าเมืองตองอูว่า “สิงคะสุ” อาศัยอยู่กับภรรยาที่บ้านงะสะยอก แขวงเมืองภุกาม ต่อมาย้ายไปอยู่ที่เมืองสองดวิงญี วันหนึ่งบิดากำลังปีนต้นตาลเพื่อจะรองน้ำตาลไปเคี่ยวขาย มารดาวางจะเด็ตไว้กลางดิน มีงูเลื้อยมารัด เมื่อมารดาเห็นก็ตกตะลึงจึงไปตามสามีมา เมื่อมาถึงก็มิรู้จะทำประการใดจนงูนั้นเลื้อยลับไปเองโดยมิได้ทำรายทารกจึงพาไปหาพระมหาเถร เมื่อขับดวงชะตาจะเด็ต จึงบอกว่าให้ตรงไปเมืองตองอู เพราะเด็กมีดวงชะตาจะได้เป็นใหญ่ เมื่อได้ฟังสิงคะสุก็พาบุตรภรรยาไปยังเมืองตองอู ไปอาศัยอยู่ในวัดอันเจ้าวัดเป็นพระอาจารย์ของพระมหากษัตริย์ ซึ่งไม่กี่วันต่อมาพระราชกุมารก็ประสูติในพระราชวัง ขุนวังสั่งให้หานางนมที่แข็งแรง ปราศจากโรคภัย

พระมหาเถรวาทก็พาภรรยาสิงคะสุไปสู่พระราชวัง เมื่อแพทย์หลวงตรวจเห็นชอบแล้ว พระราชเทวีก็โปรดรับนางไว้เป็นพระนม ในพระราชวัง พระราชกุมารมังตรา ราชกุมารีและจะเด็ต ทั้ง 3 ก็เล่นหัวสนิทสนมโตมาด้วยกันในพระราชวังตองอู

อยู่มาวันหนึ่งพระราชเทวีทรงสังเกตเห็นอาการสนิทสนมกันอย่างไม่ชอบกลของราชกุมารีและจะเด็ต จึงนำความไปกราบทูลพระมหากษัตริย์ๆ ทรงกริ้ว พระมหาเถรขัติยาจารย์ขอพระราชทานอภัยโทษ จึงโปรดอภัยให้ แล้วให้ไปรับราชการเป็นเจ้าพนักงานผู้น้อยอยู่ในกรมวัง ด้วยความพากเพียร เอาใจใส่ในราชการ โดยจงรักภักดี จึงได้เลื่อนยศขึ้นโดยลำดับ จนได้เป็นนายทหารมีตำแหน่งและยศสูง เมื่อพระเจ้าเมงกะยินโย

ทิวงคตแล้ว พระราชกุมารมังตราได้เถลิงราชสมบัติทรงพระนาม “พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี” จะเด็ตได้ออก
พระราชสงครามสนองพระเดชพระคุณ จึงโปรดให้ดำรงยศเป็นบุเรงนองกะยอดินนรธา และพระองค์ได้ประทานพระพี่นางให้สมรสด้วย ต่อมาไม่นานพระเจ้าตะเบ็งชะเวติ้ติดสุรากลาย เมามายจนทำให้เกิดกบฏและในที่สุดพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ก็เสด็จสวรรคต บุเรงนอจึงก็นำทัพน้อยๆ กลับไปยังเมืองตองอูเพื่อรวบรวมอำนาจ

แต่เจ้าเมืองตองอูไม่ยอมให้เข้าเมืองจึงรวบรวมกำลังอยู่ชายเขาแห่งหนึ่ง จนมีกำลังมากพอจึงตีเมืองตองอู จากนั้นก็คัดผู้สมัครที่ชำนาญการศึกลงมาตีหงสาวดี และองค์บุเรงนองก็เฉลิมนามาภิไชยเป็นพระมหากษัตริย์ทรงพระสมมตินามว่า “พระเจ้าสิริสุธรรมราชา”


พ.ศ. 2097 พระเจ้าบุเรงนองตระเตรียมทัพใหญ่ไปตีเมืองอังวะ จนกรุงอังวะก็เสียแก่ผู้รุกราน

พ.ศ. 2100 พระเจ้าบุเรงนองก็ปราบหัวเมืองเงี้ยวทั้งปวง ในเวิ้งแม่น้ำอิระวดีตอนบนกระทั่งถึงเทือกเขาปัตกอย และมีการแก้ไขพระศาสนา เพื่อให้เงี้ยวทั้งหลายนับถือพระรัตนตรัยเป็นสรณาคม ปฏิบัติสักการะบูชาตามแบบพระพุทธศานาในเมืองพม่า

พ.ศ. 2101 พระเจ้าบุเรงนองกรีฑาทัพไปสู่เมืองเชียงใหม่ เหยียบชานนครได้ ไม่เกิน 45 วัน พระนครเชียงใหม่ก็ได้จำยอม จึงออกมาเฝ้าอ่อนน้อมถวายเมือง

พ.ศ. 2106 พระเจ้ากะยอดินนรธาทรงพิโรธสยามเรื่อง “ช้างเผือก” ส่งผลให้มหาพยุหโยธากว่าครึ่งล้านก็ยาตราจากกรุงหงสาวดีไปตีเมืองกำแพงเพชร สุโขทัย พิษณุโลก สวรรคโลก และพิชัย เพื่อทำให้พระเจ้ากรุงสยามกลายเป็นนกปีกหัก จากนั้นก็ยกทัพไปปิดล้องกรุงศรีอยุธยานาน 7 วัน สมเด็จพระเจ้ากรุงสยามก็จำยอมและนำช้างเผือกไปถวาย

พ.ศ. 2107 ฝ่ายพระมหายุวราชาขึ้นไปปราบหริภุญชัย และไปว่าราชการทางเชียงใหม่ก่อนที่จะทราบข่าวว่าเกิดกบฏในหงสาวดีจึงได้ยกทัพกลับไปปราบปราม

พ.ศ. 2108 กองทัพพม่าตีกรุงล้านช้างสำเร็จ และบ้านเมืองก็อยู่อย่างสงบเป็นเวลา 3 ศก พระเจ้า
กะยอดินนรธาได้ทรงสร้างและซ่อมแปลงพระนคร

พ.ศ. 2111 พระเจ้ากะยอดินนรธาทราบข่าวเรื่องที่พระเจ้ากรุงสยามสลัดไมตรีต่อพม่าอย่างเปิดเผย ก็ทรงพิโรธ และได้ยกทัพไปช่วยเมืองพิษณุโลกทำสงครามกับสยาม ทำให้ทัพไทยและลาวที่ร่วมมือกันก็ไม่สามารถตีเมืองพิษณุโลกได้ จากนั้นทัพพม่าก็ได้ยกทัพไปล้อมกรุงศรีอยุธยา กว่า 5 เดือน แต่ไม่สามารถตีได้

พ.ศ. 2112 พระเจ้ากะยอดินนรธา มีดำริใช้พระราโชบาย ทำกลปล่อยพระยาจักรี ซึ่งทำสัญญาว่าหากช่วยงานพระราชสงครามจนสุดกำลัง จะทรงชุบเลี้ยงให้เป็นมหาอุปราชสยาม และทำทีหนีออกไปได้ ด้วยความไว้พระราชหฤทัยเหมือนพระราชบิดาได้ทรงมอบการรักษาพระนครทั้งสิ้นให้แก่ออกยาจักรี ออกยาจักรีได้ส่งสาส์นลับกำหนดคืนที่จะให้พม่าปล้นนครจนพระนครศรีอยุธยาเสียแก่พม่า

เบื้องนั้นพระเจ้าชนะสิบทิศราชาธิราชพม่า ได้ชัยชนะเหนือเมืองน้อยใหญ่เป็นเวลาหลายปี แต่พระองค์ก็ยังมิได้คิดที่จะหยุดไว้เพียงเท่านั้น ยังจ้องที่จะตีเมืองยะข่ายถึงแม้จะทรงมีอาการประชวร พระองค์ก็ส่งทหารกองหนุนไปตีเมืองยะข่าย จนพระเจ้าบุเรงนองกะยอดินนรธามหาราชาธิราชพม่าเสด็จทิวงคตในวันอังคารเพ็ญเดือน 12 (พฤศจิกายน) พ.ศ. 2124 โดยฉุกเฉิน ครองราชสมบัติมาได้ 30 ศก

จากพระราชประวัติของพระเจ้าบุเรงนองจะเห็นได้ว่าก่อนที่พระองค์จะกลายเป็นมหาอุปราชผู้ยิ่งใหญ่ พระองค์ก็เคยทรงเป็นเพียงลูกของคนปาดตาลเท่านั้น คุณค่าชีวิตของคนเรามิได้ตัดสินเพียงชาติกำเนิดแต่หากเกิดจากผลงานความดีที่ได้สั่งสมในช่วงเวลาที่คนเรามีชีวิตอยู่

อ้างอิง

แสงเทียน ศรัทธาไทย. (ผู้รวบรวม). (ม.ป.ป.). พระเจ้าหงสาวดี สามอริราชศัตรูแห่งกรุงศรีฯ (พิมพ์ครั้งที่ 2).  กรุงเทพฯ: บริษัท ก.พล (๑๙๙๖) จำกัด.

แสงเทียน ศรัทธาไทย. (ผู้รวบรวม). (ม.ป.ป.). ยอดมหาราช แห่งเอเซีย (อธิราชเอเซีย) (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : บริษัท ก.พล (๑๙๙๖) จำกัด.

บุญเทียม พลายชมภู.  (2548). พม่า: ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ: โอ.เอส. พริ้นติ้ง เฮ้าส์.  


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น